ข้ามไปเนื้อหา

เต่าปูลู

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Platysternidae)
เต่าปูลู
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Reptilia
อันดับ: Testudines
อันดับย่อย: Cryptodira
วงศ์: Platysternidae
Gray, 1869
สกุล: Platysternon
Gray, 1831
สปีชีส์: P.  megacephalum
ชื่อทวินาม
Platysternon megacephalum
Gray, 1831
ชนิดย่อย
  • P. m. pequense Gray, 1831
  • P. m. megacephalum Gray, 1870
  • P. m. shiui Ernst & McCord, 1987
ชื่อพ้อง[2]
  • Platysternon megacephalum megacephalum
    • Platysternon megacephalum Gray, 1831
    • Platisternon megacephalus Gray, 1834
    • Platysternon megacephalus Gray, 1835
    • Emys megacephala Schlegel, 1838
    • Platysternon magacephalum Fitzinger, 1843 (ex errore)
    • Platysternum megacephalum Boulenger, 1889
    • Platysternon platycephalum Mertens, 1959 (ex errore)
    • Platysternum megalocephalum Stanek, 1959 (ex errore)
    • Platysternon megacephalum megacephalum Wermuth, 1960
    • Platysternon magacephalum megacephalum Pritchard, 1979
    • Platysternon megacephalum tristernalis Schleich & Gruber, 1984
    • Platysternon megacephalum tristornalis Alderton, 1988 (ex errore)
  • Platysternon megacephalum peguense
    • Platysternon peguense Gray, 1870
    • Platysternon megacephalum peguense Wermuth, 1960
    • Platysternon megacephalum vogeli Wermuth, 1969
    • Platysternon megacephalum penguense Nutaphand, 1979 (ex errore)
    • Platysternon megacephalum penuense Nutaphand, 1979 (ex errore)
    • Platysternon megacephalum peguensis Sharma, 1998 (ex errore)
  • Platysternon megacephalum shiui
    • Platysternon megacephalum shiui Ernst & McCord, 1987

เต่าปูลู เป็นเต่าน้ำจืดกินเนื้อเป็นอาหารชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Platysternon megacephalum (เป็นภาษาละตินแปลว่า "หัวโต อกแบน"[3]) ในสกุล Platysternon วงศ์ Platysternidae ซึ่งมีเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในวงศ์และสกุลนี้[4]

มีรูปร่างที่แปลกไปจากเต่าชนิดอื่น ๆ กล่าวคือ มีหัวที่โต ปากงุ้มแหลม เล็บที่ทั้ง 4 ข้างแหลมคมมาก มีหางที่ยาวมาก และไม่สามารถหดหัวเข้ากระดองที่เรียวยาวได้ เป็นเต่าที่พบในลำธารน้ำตกบนภูเขาสูงหรือป่าดิบชื้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตอนบนที่ติดกับตอนใต้ของประเทศจีน

กายวิภาค

[แก้]

มีหัวว่าวใหญ่มาก มีขนาดกว้างหัวประมาณครึ่งหนึ่งของความกว้างกระดองหลัง มีปากงุ้มแหลมคล้ายปากนกแก้ว หัวหดเข้ากระดองไม่ได้ แต่มีคอยาวยื่นออกมาได้มาก เคลื่อนไหวได้รวดเร็ว มีความสามารถในการปีนต้นไม้และก้อนหิน ขาและเท้าของเต่าปูลูมีขนาดใหญ่และแข็งแรงหดเข้ากระดองไม่ได้ ขาหน้าและขาหลังของเต่าปูลูมีเกล็ดหุ้มทั้งหมด ตั้งแต่โคนขามีเกล็ดขนาดใหญ่ ฝ่าเท้ามีเกล็ดขนาดเล็กลงมา นิ้วมีเกล็ดหุ้ม มีเล็บแหลมคม ขาหน้ามี 5 นิ้ว ขาหลังมี 4 นิ้ว มีเยื่อพังผืดเล็กน้อยยึดระหว่างนิ้วเกือบถึงโคนเล็บ หางมีขนาดใหญ่และแข็งแรง มีเกล็ดขนาดใหญ่หุ้มเกล็ดหางด้านบนมี 1 แถว ๆ ละ 1 เกล็ด เรียงจากโคนหางมีประมาณ 11 ถึง 14 แถว เกล็ดหางด้านล่างแถวที่ 1 ถึง 4 มีสี่เกล็ดจากแถวที่ห้าถึงปลายหางมีแถวละสองเกล็ดบริเวณโคนหางและโคนขาหลังมีเดือยหนังแหลมยื่นออกมาจำนวนมาก หางของเต่าปูลูยาวมาก มีความยาวมากกว่าความยาวกระดองหลังในอัตราเฉลี่ยความยาวกระดองหลังต่อความยาวหาง มีค่าเท่ากับ 1:1.34 เต่าปูลูจึงจัดว่าเป็นเต่าที่มีหางยาวที่สุดในโลก

ส่วนหัว
ปีนป่ายในธรรมชาติ

เต่าปูลูขนาดเล็ก ที่ยังไม่โตเต็มวัย เกล็ดสันหลัง มีลักษณะเป็นสันแนวกลางหลังทั้ง 5 แผ่น เกล็ดชายโครง ทั้ง 4 คู่ มีปุ่มหนาที่บริเวณกลางของแต่ละเกล็ด เกล็ดขอบกระดอง มีหยักปลายแหลมเล็กน้อย ส่วนกระดองท้องมีลักษณะดาร์ก ซิมเมตริคอล มาร์กิ้งส์ กระดองหลังสีน้ำตาลแดง กระดองท้องสีเหลือง ผิวหนังด้านท้องสีเหลือง ด้านข้างของหัวทั้งสองด้านจากท้ายตามีเส้นสีดำ 1 คู่ พาดยาวไปทางด้านหลัง ระหว่างกลางเส้นสีดำมีสีเหลือง ขาทั้ง 4 ด้านบนสีดำด้านล่างสีเหลือง แต่เมื่อโตเต็มวัย ลักษณะสันกลางหลัง ปุ่มหนามที่เกล็ดชายโครงและรอยหยักที่เกล็ดขอบกระดอง จะหายไปจนหมด ส่วนลักษณะดาร์ก ซิมเมตริคอล มาร์กิ้งส์ ที่กระดองท้องสีทั้งหมดจะหายไป หรือจางลงจนสังเกตเห็นไม่ชัด เส้นคู่สีดำข้างหัวจะหายไปด้วย

เต่าปูลูตัวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่พบในประเทศไทย พบที่จังหวัดลำปางมีน้ำหนัก 910 กรัม ความยาวกระดองหลัง 18.7 เซนติเมตร ความกว้างกระดองหลัง 14.5 เซนติเมตร ความกว้างหัว 6.5 เซนติเมตร ความยาวหาง 23 เซนติเมตร[5]

ชนิดย่อยและพฤติกรรม

[แก้]

เต่าปูลู ยังแบ่งเป็นชนิดย่อย ได้ 3 ชนิด คือ

  • เต่าปูลูเหนือ หรือ เต่าปูลูจีน (P. m. megacephalum) เป็นเต่าปูลูขนาดเล็ก มีขนาดเล็กกว่าชนิด P. m. pequense มาก มีลักษณะคล้ายคลึงกันแต่มีความความแตกต่างที่ชัดเจนมากที่สุดมีเพียงแห่งเดียว คือเกล็ดเหนือโคนหาง เกล็ดขอบกระดอง มีจำนวน 11 คู่ เท่ากัน (วิโรจน์, 1979 รายงานว่ามี 9 คู่[5]) กระดองท้องของเต่าปูลูเหนือจะเป็นสีเหลืองส้ม ผิวหนังใต้คางสีเหลืองทอง ผิวหนังบริเวณโคนขาจนถึงโคนหางเป็นสีเหลืองอมชมพูเกล็ดเหนือโคนหางซึ่งมี 1 อัน มองเห็นไม่ชัดเจน เมื่อโตเต็มที่ เกล็ดเหนือโคนหาง จะมองเห็นชัดเจน เต่าปูลูเหนือพบในจีน ส่วนในประเทศไทยพบน้อยมาก โดยจะพบเฉพาะจังหวัดที่อยู่เหนือสุดเท่านั้น ตัวที่ใหญ่สุดที่พบที่จังหวัดลำปางมีน้ำหนัก 570 กรัม ความยาวกระดองหลัง 14.5 เซนติเมตร ความยาวกระดองท้อง 11.3 เซนติเมตร ความกว้างหัว 5.4 เซนติเมตร ความกว้างกระดองหลัง 11 เซนติเมตร ความยางหาง 24 เซนติเมตร [6]
  • เต่าปูลู (P. m. pequense) พบในพม่า, ไทย[6]
  • เต่าปูลู (P. m. shiui) พบที่เวียดนามเหนือ, กัมพูชา และลาว[6]

เต่าปูลู เป็นเต่าที่อาศัยอยู่ในลำธารน้ำบนภูเขาสูงเท่านั้น พบในประเทศจีนตอนใต้และในชายแดนที่ติดกับไทย, ลาว และพม่า มีนิสัยดุ กินเนื้อและลูกไม้เปลือกแข็งเป็นอาหาร รวมถึงลูกนกด้วย กินอาการโดยวิธีการฉกงับ มีความสามารถปีนป่ายขอนไม้ หรือโขดหินได้เก่ง หากินในเวลาตอนเย็นหรือกลางคืน ส่วนกลางวันจะหลบซ่อนตามซอกหิน[3] ความแตกต่างระหว่างเพศผู้และเพศเมีย คือ ตัวผู้มีหางยาวมากกว่า และรูเปิดก้น ของตัวผู้จะอยู่ไปทางปลายหางมากกว่า และตัวผู้จะมีอวัยวะเพศ อยู่ภายในรูเปิดก้น เต่าปูลูเมื่อยังเล็ก กระดองจะมีลายสีเหลืองและสีน้ำตาล ส่วนตัวเต็มวัยสีเปลี่ยนไปเป็นสีน้ำตาลเขียวมะกอก ผสมพันธุ์ในน้ำ วางไข่คราวละ 3–5 ฟอง ไข่เปลือกแข็งสีขาว รูปทรงกระบอกหัวท้ายรี ยาวประมาณ 4 เซนติเมตร เชื่อว่ามีอายุยืนได้ถึง 200 ปี

สถานภาพในธรรมชาติ

[แก้]

สถานภาพปัจจุบัน เป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากถูกคุกคามถิ่นที่อยู่อาศัยและถูกจับเป็นสัตว์เลี้ยงและปรุงยาสมุนไพรด้วยเชื่อว่าเป็นยาที่ใช้บำรุงสมรรถนะทางเพศ โดยชาวจีนจะรับซื้อในราคาที่แพง นอกจากนี้แล้วยังมีการให้กัดกันเพื่อเป็นเกมการพนันอีกด้วย[7]

ในประเทศไทย นอกจากที่จังหวัดลำปางแล้ว เต่าปูลูยังพบได้ที่ จังหวัดอุตรดิตถ์ ที่อุทยานแห่งชาติคลองตรอน อำเภอน้ำปาด, จังหวัดพิษณุโลก พบที่อำเภอนครไทย, จังหวัดน่าน พบที่ป่าห้วยหลวง ตำบลเรือง อำเภอเมืองน่าน[8], อุทยานแห่งชาติขุนน่าน และ อุทยานแห่งชาตินันทบุรี[9] รวมถึงอีกหลายที่ในจังหวัดภาคเหนือ

ในปัจจุบันมีโครงการอนุรักษ์เต่าปูลูอยู่ที่ หมู่บ้านนาตอง ตำบลช่อแฮ จังหวัดแพร่ และ อุทยานแห่งชาติภูสวนทราย อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย

สำหรับการนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงนั้น เต่าปูลูมักไม่ค่อยรอด เนื่องจากเป็นเต่าที่อาศัยอยู่ในน้ำที่มีสภาพเป็นลำธารน้ำตกเท่านั้น อีกทั้งยังปีนป่ายเก่ง มีอุปนิสัยดุ จะฉกงับทุกอย่าง จึงทำให้เป็นเต่าที่เลี้ยงยากมาก[5]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Asian Turtle Trade Working Group 2000. Platysternon megacephalum เก็บถาวร 2008-09-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. 2006 IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on 29 July 2007.
  2. Fritz, Uwe (2007). "Checklist of Chelonians of the World" (PDF). Vertebrate Zoology. 57 (2): 264–265. ISSN 18640-5755. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-17. สืบค้นเมื่อ 29 May 2012. {{cite journal}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  3. 3.0 3.1 Untamed China with Nigel Marven ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส แก้ไขสิ่งนี้ที่วิกิสนเทศ
  4. ITIS
  5. 5.0 5.1 5.2 วารสารของกรมประมง พ.ศ. 2542
  6. 6.0 6.1 6.2 Rhodin, Anders G.J.; Paul van Dijk, Peter; Iverson, John B.; Shaffer, H. Bradley (2010-12-14). "Turtles of the World 2010 Update: Annotated Checklist of Taxonomy, Synonymy, Distribution and Conservation Status" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (pdf)เมื่อ 2010-12-15. สืบค้นเมื่อ 2010-12-15.
  7. "ครอบครัวข่าวเช้า". ช่อง 3. 2017-12-04. สืบค้นเมื่อ 2017-12-04.[ลิงก์เสีย]
  8. "สภาพและข้อมูลพื้นฐาน - องค์การบริหารส่วนตำบลเรือง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-11. สืบค้นเมื่อ 2022-11-11.
  9. พบ ‘เต่าปูลู’ เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกนันทบุรี ชี้ความสมบูรณ์ผืนป่า

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Platysternon megacephalum ที่วิกิสปีชีส์