เภสัชกรรม
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
เภสัชกรรม (อังกฤษ: Pharmacy) ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ได้ให้ความหมายไว้ว่าเป็นวิทยาศาสตร์แขนงที่ว่าด้วยการเตรียมเครื่องยา ตัวยาจากธรรมชาติหรือการสังเคราะห์ให้เป็นยาสำเร็จรูป[1] นอกจากการปรุงยาแล้วนั้น เภสัชกรรมยังครอบคลุมถึงด้านการบริบาลทางยาแก่ผู้ป่วย อาทิ การพิจารณายาที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วย การประเมินและทบทวนการใช้ยา การติดตามผลข้างเคียงจากการใช้ยา รวมไปถึงการกระจายยา การเก็บรักษายาที่ถูกต้องเหมาะสม และการบริหารเภสัชกิจ และเป็นที่ปรึกษาด้านยาแก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข
วิชาชีพเภสัชกรรมเป็นวิชาชีพโบราณ มีวิวิฒนาการของวิทยาการควบคู่กับการพัฒนาของมนุษย์ เริ่มตั้งแต่ในสมัยอาณาจักรเมโสโปเตเมียมีการรวบรวมเภสัชตำรับครั้งแรกของโลก โดยจารึกในก้อนดินเหนียวด้วยอักษรคูนิฟอร์ม และมีการพบเภสัชตำรับของชาวอียิปต์โบราณหรือ "ปาปิรุสอีเบอร์" เมื่อประมาณ 1,500 ปีก่อน นอกจากนี้ในสมัยกรีกและโรมันโบราณยังมีนักการแพทย์และนักปราชญ์ที่สำคัญที่วิจัยทางการแพทย์และเภสัชกรรม โดยเฉพาะกาเลน ซึ่งมักปรุงยาและคิดค้นเภสัชตำรับขนานใหม่ ๆ ด้วยตนเอง จนได้รับการขนานนามว่าเป็น "บิดาแห่งเภสัชกรรม" ครั้งเมื่อการปฏิวัติอุตสาหกรรม เภสัชกรได้ผันแปรบทบาทตนเองจากการปรุงยาให้ผู้ป่วยรายบุคคลาเป็นการเข้าสู่ระบบเภสัชอุตสาหกรรม การเลือกยาที่เหมาะสมและการรักษาทางเภสัชกรรมคลินิกจึงเป็นเรื่องสำคัญ อย่างไรก็ดี บทบาทของเภสัชกรยังคงมีหน้าที่ด้านการวิจัยพัฒนาตำรายาใหม่ ๆ และการเลือกสรรยาที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วยเพื่อเยียวยารักษาโรค
วิชาชีพเภสัชกรรมเป็นวิชาชีพที่มีการบูรณาการระหว่างศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ มีกฎหมายรองรับบทบาทวิชาชีพเภสัชกรรมโดยผู้ที่ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมต้องผ่านการทดสอบเพื่อเป็นเภสัชกร ในประเทศไทยเมื่อผ่านการทดสอบแล้วจะได้ใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะสาขาเภสัชกรรม และใช้คำนำหน้าว่า "เภสัชกร" สำหรับผู้ชาย และ "เภสัชกรหญิง" สำหรับผู้หญิง"
ปัจจุบันวิชาชีพเภสัชกรรมมีการแพร่ไปยังประเทศต่าง ๆ กว่า 50 ประเทศทั่วโลก และมีองค์กรทั้งในประเทศและต่างประเทศทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลกในการควบคุม วิจัย และปรึกษาทางเภสัชกรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วยในการรับการบริบาลทางยา
ประวัติ
[แก้]เภสัชกรรมเป็นศาสตร์ที่กำเนิดควบคู่มาพร้อมกับวิวัฒนาการของมนุษย์แต่ครั้งสมัยก่อนประวัติศาสตร์ มนุษย์สมัยนั้นเลียนแบบสัตว์ป่าและธรรมชาติในการรักษาและเยียวยาตนเอง การลองผิดลองถูกของมนุษย์โบราณทำให้เกิดการสั่งสมองค์ความรู้สืบมากจากรุ่นสู่รุ่น ต่อมาเมื่อเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ อาณาจักรเมโสโปเตเมียมีการบันทึกเภสัชตำรับฉบับแรกของโลก ในอียิปต์โบราณมีการค้นพบหลักฐานทางเภสัชกรรมสำคัญคือ "ปาปิรุสอีเบอร์" เมื่อประมาณ 1,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช เป็นหลักฐานการรวบรวมยาในสมัยนั้นกว่า 800 ขนาน
ในสมัยกรีกโบราณมีนักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงด้านการแพทย์คือ ฮิปโปเครตีส ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาการแพทย์ยุโรป ได้เขียนตำราทางการแพทย์และเภสัชกรรมกว่า 60 เรื่อง องค์ความรู้ที่เขาค้นพบนั้นถ่ายทอดมายังอาณาจักรโรมัน โดยเฉพาะกาเลน แพทย์ชาวโรมันที่มักปรุงยาต่าง ๆ ด้วยตนเอง ความสามารถของเขาได้รับการยอมรับและได้รับการแต่งตั้งเป็นแพทย์ประจำราชสำนัก เขาค้นพบยาขนานใหม่ ๆ ทำให้ได้รับการยกย่องให้เป็น "บิดาแห่งเภสัชกรรม" เขายังศึกษาความรู้ทางกายวิภาคศาสตร์ ศัลยศาสตร์ พยาธิวิทยา และเภสัชกรรม โดยภายหลังมีการตีพิมพ์ผลงานกว่า 22 เล่ม
ภายหลังอาณาจักรโรมันสูญสิ้นอำนาจแล้ว ความรู้ทางการแพทย์และเภสัชกรรมได้ถ่ายทอดไปยังชาวอาหรับที่แปลบทความภาษากรีกหลายเล่ม และถ่ายทอดความรู้เหล่านี้สู่ชาวยุโรปผ่านพ่อค้าที่เข้ามาค้าขาย เนื่องจากยุโรปในสมัยนั้นอยู่ในการปกครองของศาสนจักรที่ไม่สนับสนุนการค้นคว้าทางการแพทย์และเภสัชกรรม รวมถึงวิทยาการด้านอื่น ๆ ประชาชนชาวยุโรปสมัยนั้นต้องเข้ารับการรักษากับบาทหลวง ความรู้ทางการแพทย์ที่ดำรงในศาสนาจักรนั้นไม่ได้เผยแพร่ให้กับประชาชนโดยทั่วไป เนื่องจากป้องกันปัญหาการใช้ความรู้ในการเอาเปรียบประชาชน ทำให้ความรู้ทางการแพทย์และเภสัชกรรมไม่ได้รับการพัฒนา ต่อมาได้มีการตั้งร้านยาขึ้นในยุโรปเป็นครั้งแรก ณ เมืองโคโลญ ประเทศฝรั่งเศส และในสมัยสมเด็จพระจักรพรรดิฟรีดริชที่ 2 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ได้มีการแบ่งเภสัชกรรมออกจากการแพทย์โดยพระองค์ทรงประกาศกฎหมายวิชาชีพเภสัชกรรมเมื่อปี ค.ศ. 1240 ซึ่งควบคุมการดำเนินงานทางเภสัชกรรมภายใต้การควบคุมจากรัฐอย่างเข้มงวด ต่อมาชาวยุโรปได้มีการรวบรวมเภสัชตำรับอย่างเป็นทางการครั้งแรก เริ่มจากในเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี และมีการจัดตั้งองค์กรทางการค้าด้านเภสัชกรรมขึ้นในอังกฤษในปี ค.ศ. 1617 ในพระอุปถัมภ์ของพระเจ้าเจมส์ที่ 1
ในสมัยปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้การปรุงยาโดยเภสัชกรเปลี่ยนแปลงเป็นการผลิตยาจำนวนมากในระบบเภสัชอุตสาหกรรม เภสัชกรเปลี่ยนบทบาทจากผู้ปรุงยาเป็นควบคุมการผลิต ปรับปรุงสูตรยาและค้นพบแขนงยาใหม่ ๆ มีการจัดตั้งองค์กรทางเภสัชกรรมระหว่างประเทศขึ้น เริ่มจากความร่วมมือของสหรัฐอเมริกาและยุโรป และแพร่กระจายองค์ความรู้ด้านนี้ไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก อาทิ เอเชียแปซิฟิค เอเชียตะวันออก และออสเตรเลีย
ในประเทศไทยมีการศึกษาเภสัชกรรมในแบบตะวันตกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการจัดตั้งโรงเรียนแพทย์ปรุงยา (ปัจจุบันคือคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)ขึ้น โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร พระองค์จึงได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งวิชาชีพเภสัชกรรมไทย ภายหลังการจัดตั้งกองโอสถศาลา ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการจัดตั้งเภสัชกรรมสมาคมแห่งกรุงสยาม และการจัดตั้งองค์การเภสัชกรรมขึ้นโดยเภสัชกร ดร. ตั้ว ลพานุกรม แม้กระนั้น ความรู้ทางเภสัชกรรมไม่ได้เป็นที่สนใจของประชาชนนัก จนกระทั่งเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สอง การผลิตยาภายในประเทศไม่เพียงพอ จึงทำให้ศาสตร์นี้เริ่มเป็นที่รู้จักของประชาชนมากขึ้น และมีการจัดตั้งสถานศึกษาทางเภสัชศาสตร์เพิ่มเติมในเวลาต่อมา
สัญลักษณ์วิชาชีพ
[แก้]สัญลักษณ์ของวิชาชีพเภสัชกรรมมีความแตกต่างไปตามสถานที่และภูมิภาคเภสัชกรรมนั้น ๆ สัญลักษณ์สากลทั่วไปสำหรับเภสัชกรรมคือโกร่งบดยาและเรซิพี (℞) เภสัชกรรมในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษมักใช้โชว์โกลบซึ่งเป็นโคมไฟแขวนเป็นสัญลักษณ์ของร้านยาในสมัยโบราณ ปัจจุบันองค์กรทางเภสัชกรรมทั่วไปโลกใช้สัญลักษณ์สากลสำคัญได้แก่ ถ้วยตวงยา ถ้วยยาไฮเกีย และคทางูไขว้ แต่ในภูมิภาคหรือบางประเทศมีสัญลักษณ์ทางเภสัชกรรมท้องถิ่น อาทิ ประเทศฝรั่งเศส อาร์เจนตินา สหราชอาณาจักร เบลเยี่ยม และอิตาลีใช้สัญลักษณ์กากบาทเขียว ในประเทศเยอรมนีและออสเตรียใช้สัญลักษณ์คล้ายอักษร A ในภาษาอังกฤษซึ่งย่อมาจากคำว่า Apotheke ในภาษาเยอรมัน และในประเทศไทยใช้เฉลวเป็นสัญลักษณ์ของเภสัชกรรมไทย
สาขาวิชาชีพ
[แก้]สาขาวิชาชีพของเภสัชกรได้จำแนกออกตามสถานที่ปฏิบัติการของเภสัชกร อันได้แก่ ร้านยา โรงพยาบาล คลินิก อุตสาหกรรม และเภสัชกรนักการตลาด เภสัชกรในแต่ละสถานที่ปฏิบัติการจะมีความชำนาญแตกต่างกัน แต่ทุกสาขาจะมีความรู้พื้นฐานทางโลหิตวิทยา เนื้องอกวิทยา โรค ท่าทางที่เหมาะสม สารอาหารเสริม เภสัชสารสนเทศ กุมารเวชศาสตร์ เป็นต้น
เภสัชกรรมชุมชน
[แก้]สถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชนหรือร้านยา คือสถานที่ปฏิบัติการส่วนใหญ่ของเภสัชกรทางด้านเภสัชกรรม ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยคลังยาและการกระจายยา การจ่ายยาของเภสัชกรต้องอ้างอิงถึงใบสั่งแพทย์และการซักถามประวัติผู้ป่วยในเรื่องการใช้ยาเพื่อจ่ายยาได้อย่างถูกต้องเหมาะสมแก่ผู้ป่วย เภสัชกรทุกคนต้องอยู่ปฏิบัติการ ณ สถานที่ปฏิบัติการที่ตนสังกัดตลอดเวลาที่ให้บริการแก่ผู้ป่วย ทั้งนี้ครอบคลุมถึงแผนกเภสัชกรรมในห้างร้านต่าง ๆ ด้วย นอกจากสถานที่ปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชนจะจ่ายยาแล้ว บางสถานยังเพิ่มสินค้าทางด้านเวชสำอางค์และเวชภัณฑ์อื่น ๆ ตามความเหมาะสม
เภสัชกรรมโรงพยาบาล
[แก้]เภสัชกรที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลมีความแตกต่างกับสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน โดยมีหน้าที่ทางการจัดการด้านคลินิกการแพทย์ เนื่องจากภายในโรงพยาบาลมีงานที่ซับซ้อนกว่า อาทิ เภสัชวินิจฉัย รูปแบบการใช้ยาที่ปลอดภัยเนื่องด้วยยาที่ใช้ในโรงพยาบาลมีความซับซ้อนและมีปฏิกิริยาที่ต้องอยู่ในความควบคุมของเภสัชกร ดังนั้นในโรงพยาบาล เภสัชกรจึงมีความชำนาญเฉพาะด้าน อาทิ โลหิตวิทยา เนื้องอกวิทยา เอดส์ โรคเรื้อรัง บริบาลเภสัชกรรม การแพทย์ฉุกเฉิน พิษวิทยา เป็นต้น
เภสัชกรรมคลินิก
[แก้]งานเภสัชกรรมคลินิกเป็นอีกหนึ่งในบทบาทของเภสัชกร ที่มีหน้าที่โดยตรง ในดูแลผู้ป่วยด้านการใช้ยา เภสัชกรที่ปฏิบัติการในสาขานี้จะปฏิบัติทั้งในโรงพยาบาล ร้านขายยา และคลินิกทางเวชกรรมทั่วไป ซึ่งจะต้องทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลาการทางสาธารณสุขอื่น ๆ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ในการใช้ยาที่ดีขึ้น งานที่ถือว่าเป็นงานเภสัชกรรมคลินิก ได้แก่ การคัดเลือกยาที่ถูกต้องเหมาะสม การติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา การติดตามการใช้ยาของผู้ป่วย การให้คำปรึกษาด้านยาแก่ผู้ป่วย และการจัดการการใช้ยาอันตรายสูง จะต้องมีการควบคุมอย่างใกล้ชิดจากเภสัชกร
เภสัชอุตสาหกรรม
[แก้]เภสัชกรที่ปฏิบัติหน้าที่ทางด้านอุตสาหกรรมคือการผลิตยาให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพและการวิจัยคิดค้นยาขนานใหม่ ๆ การผลิตยาเพื่อให้ได้รูปแบบที่ใช้ง่ายและเหมาะสมกับช่องทางการรับยาของผู้ป่วย
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน เก็บถาวร 2009-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 เรียกข้อมูลวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2552
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]องค์กรวิชาชีพ
[แก้]- International Pharmaceutical Federation (FIP)
- American Pharmacists Association (APhA)
- American Society of Health-System Pharmacists (ASHP)
- Pharmaceutical Society of Australia (PSA)
- Pharmaceutical Society of New Zealand (PSNZ)
- Pharmacy Guild of Australia (PGA)
- Royal Pharmaceutical Society of Great Britain (RPSGB)
- Society of Hospital Pharmacists of Australia (SHPA)
หน่วยงานควบคุม
[แก้]- National Association of Boards of Pharmacy เก็บถาวร 2016-09-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Pharmacy Board of New South Wales เก็บถาวร 2017-02-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Pharmacy Board of Victoria (Australia) เก็บถาวร 2010-03-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
ประวัติ
[แก้]- Navigator History of Pharmacy เก็บถาวร 2005-11-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- RPSGB Museum Information Sheets
- History of Pharmacy Web Pages เก็บถาวร 2012-02-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน