อาการเจ็บหู
อาการเจ็บหู | |
---|---|
ชื่ออื่น | Otalgia, earache |
การตรวจช่องหูและแก้วหู | |
สาขาวิชา | ENT surgery |
อาการเจ็บหู (อังกฤษ: ear pain, earache, otalgia) เป็นความเจ็บปวดในหู[1][2] อาการเจ็บหูปฐมภูมิเป็นความเจ็บปวดซึ่งเกิดที่หู ส่วนอาการเจ็บหูทุติยภูมิเป็นรูปแบบหนึ่งของอาการปวดต่างที่ คือส่วนที่เป็นเหตุให้เจ็บจะต่างกับส่วนที่รู้สึกเจ็บ เหตุโดยมากของการเจ็บหูจะไม่มีอันตรายต่อชีวิต[3][4] อาการเจ็บหูปฐมภูมิจะสามัญกว่าอาการเจ็บหูทุติยภูมิ[5] และบ่อยครั้งเกิดจากการติดเชื้อหรือการบาดเจ็บ[3] ส่วนเหตุของอาการเจ็บหูทุติยภูมิค่อนข้างกว้างเริ่มตั้งแต่การทำหน้าที่ผิดปรกติของข้อต่อขากรรไกรจนกระทั่งถึงคออักเสบ[3] เหตุของความเจ็บปวดโดยทั่วไปจะหาด้วยการสอบประวัติคนไข้และตรวจร่างกาย โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือสร้างภาพต่าง ๆ เช่นเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์[3] อย่างไรก็ดี การตรวจเพิ่มอาจจำเป็นถ้ามีอาการน่าเป็นห่วง เช่น เสียการได้ยิน เวียนศีรษะ ได้ยินเสียงในหู หรือน้ำหนักลดโดยไม่มีเหตุ[6] การรักษาจะขึ้นอยู่กับเหตุ ถ้ามีการติดเชื้อแบคทีเรีย บางครั้งก็จะใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษา และยาแก้ปวดที่ซื้อหาได้เองอาจช่วยลดความไม่สบาย[7] เหตุบางอย่างจะต้องรักษาด้วยหัตถการ ไม่ว่าที่ทำในห้องตรวจหรือห้องผ่าตัด[7][8][9] งานทบทวนวรรณกรรมปี 2015 พบว่า เด็ก 83% จะติดเชื้อในหูชั้นกลางอย่างน้อยครั้งหนึ่งก่อนอายุจะเลย 3 ปี[10]
อาการ
[แก้]อาการเจ็บหูอาจเกิดที่หูข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง อาจเกิดร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น เป็นไข้ อาการรู้สึกหมุน คันหู หรือหูอื้อ อาจเจ็บมากขึ้นเมื่อเคี้ยว[3] และอาจเจ็บอย่างต่อเนื่องหรือเป็นหยุด ๆ หาย ๆ[11]
การเจ็บหูเพราะติดเชื้อสามัญที่สุดในเด็กและเกิดในทารกได้ด้วย[10] ผู้ใหญ่อาจต้องตรวจเพิ่มถ้าเสียการได้ยิน เวียนศีรษะ หรือได้ยินเสียงในหู[6] อาการที่น่าเป็นห่วงอื่น ๆ รวมทั้งโรคเบาหวาน ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ มีอาการบวมในหูชั้นนอกหรือตามขากรรไก[12]
พยาธิสรีรวิทยา
[แก้]การเจ็บหูปฐมภูมิ
[แก้]หูสามารถแบ่งโดยกายวิภาคออกเป็นหูชั้นนอก ช่องหูชั้นนอก หูชั้นกลาง และหูชั้นใน[13] แต่ความเจ็บก็ไม่ได้แตกต่างกันในส่วนเหล่านี้[2]
การเจ็บหูทุติยภูมิ
[แก้]เส้นประสาทสมองหลายเส้นวิ่งไปยังส่วนต่าง ๆ ของหู รวมทั้งประสาทสมองเส้นที่ 5 (trigeminal) เส้นที่ 7 (facial) เส้นที่ 9 (glossopharyngeal) เส้นที่ 10 (vagus) และเส้นประสาทคอระดับ C2-C3 (great auricular nerve)[13][14] แต่เส้นประสาทเหล่านี้ก็ยังดำเนินไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายอีกด้วยเริ่มตั้งแต่ปาก จนไปถึงหน้าอกและท้อง ดังนั้น ความระคายเคืองต่อเส้นประสาทเหล่านี้เพราะส่วนอื่น ๆ ของร่างกายอาจทำให้เจ็บหู[13] ซึ่งเป็นอาการปวดต่างที่อย่างหนึ่ง การระคายเคืองที่ประสาทสมองเส้นที่ 5 ซึ่งทำให้สามารถรู้สึกที่ใบหน้าและควบคุมกล้ามเนื้อต่าง ๆ เพื่อกัดและเคี้ยวเป็นต้น เป็นเหตุสามัญที่สุดของการเจ็บหูต่างที่[3]
เหตุ
[แก้]การเจ็บหูมีเหตุหลายอย่าง โดยมากไม่มีอันตรายต่อชีวิต[3][4] อาการอาจเริ่มมาจากบางส่วนของหูเอง คือเป็นการเจ็บหูปฐมภูมิ หรือจากโครงสร้างหรืออวัยวะนอกหูแต่กลับรู้สึกเจ็บที่หู คือเป็นการเจ็บหูทุติยภูมิ[3] ซึ่งเป็นอาการปวดต่างที่อย่างหนึ่ง คือส่วนที่เป็นปัญหาต่างกับส่วนที่รู้สึกเจ็บ การเจ็บหูปฐมภูมิจะสามัญกว่าในเด็ก และการเจ็บหูทุติยภูมิจะสามัญกว่าในผู้ใหญ่[15]
การเจ็บหูปฐมภูมิมีเหตุมากที่สุดจากการติดเชื้อและการบาดเจ็บที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของหู[3]
หูชั้นนอก
[แก้]ปัญหาที่หูชั้นนอกปกติจะเห็นได้ด้วยตาเปล่า เพราะเป็นส่วนที่เปิดรับสิ่งแวดล้อมมากที่สุดจึงบาดเจ็บได้ง่าย[16] การบาดเจ็บเนื่องกับวัตถุภายนอก เช่น มีอะไรมากระแทกหู อาจมีผลเป็น hematoma คือเลือดออกไปสะสมที่ระหว่างกระดูกอ่อนกับเยื่อหุ้มกระดูกอ่อน (perichondrium) ของหู ซึ่งสามัญเป็นพิเศษในการเล่นกีฬาที่กระทบกระทั่ง เช่น มวยปล้ำ หรือชกมวย[17] การบาดเจ็บเนื่องจากสิ่งแวดล้อมรวมทั้งถูกแดดเผา ถูกความเย็นจัด หรือผิวหนังอักเสบเหตุสิ่งที่แพ้หรือระคายเคือง (contact dermatitis)[16] เหตุที่สามัญน้อยกว่ารวมทั้ง[16][18]
- เซลล์เนื้อเยื่อในหูอักเสบ (auricular cellulitis) เป็นการติดเชื้อไม่รุนแรงของหูที่อาจเริ่มมาจากการบาดเจ็บ ถูกแมลงกัดต่อย หรือการเจาะหู
- เยื่อหุ้มกระดูกอ่อนอักเสบ (perichondritis) เป็นการติดเชื้อที่เยื่อหุ้มกระดูกอ่อน (perichondrium) หรือพังผืดรอบ ๆ กระดูกอ่อน ซึ่งอาจเกิดโดยเป็นภาวะแทรกซ้อนของเซลล์เนื้อเยื่อในหูอักเสบที่ไม่ได้รักษา การระบุและรักษาอาการนี้ด้วยยาปฏิชีวนะเป็นเรื่องสำคัญเพื่อไม่ให้หูเสียรูปอย่างถาวร
- relapsing polychondritis เป็นการอักเสบที่กระดูกอ่อนในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งบ่อยครั้งรวมกระดูกอ่อนที่หูทั้งสอง ความรุนแรงและพยากรณ์โรคจะต่างกันมากในบุคคลต่าง ๆ[19]
หูชั้นนอกอักเสบ (otitis externa)
[แก้]หูชั้นนอกอักเสบ ซึ่งเกิดบ่อย ๆ ในผู้ว่ายน้ำ เป็นการอักเสบของเซลล์เนื้อเยื่อที่ช่องหูชั้นนอก ในอเมริกาเหนือ 98% เกิดจากติดเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อโรคที่เป็นเหตุก็คือ Pseudomonas และ Staphylococcus aureus[20] ปัจจัยเสี่ยงรวมการได้รับความชื้นเกิน (เช่น จากการว่ายน้ำ หรืออยู่ในอากาศร้อน) และการขาดขี้หูที่เป็นตัวช่วยป้องกัน ซึ่งอาจเกิดได้ถ้าทำความสะอาดมากเกินไปหรือใส่สิ่งของต่าง ๆ เข้าในหู[21]
หูชั้นนอกอักเสบร้ายแรง (malignant otitis externa) เกิดน้อยแต่เมื่อมีก็เป็นภาวะแทรกซ้อนที่มีภัยต่อชีวิต เพราะการติดเชื้อจะกระจายไปจากช่องหูเข้าไปยังกระดูกศีรษะรอบ ๆ คือกลายเป็นโรคกระดูกอักเสบเป็นหนอง (osteomyelitis)[18] ซึ่งเกิดโดยมากในคนไข้โรคเบาหวาน[22] และเกิดน้อยมากในเด็ก แต่ก็พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง[21] โดยมีเชื้อโรค Pseudomonas เป็นเหตุอย่างสามัญที่สุด[22] และมักจะเจ็บมากกว่าหูชั้นนอกอักเสบธรรมดา งานวิจัยได้พบตัวบ่งชี้การอักเสบที่สูงขึ้น (คือ ESR และ CRP) เชื้ออาจจะกระจายไปถึงประสาทสมอง แต่น้อยมากที่จะไปถึงเยื่อหุ้มสมองหรือสมอง[22] การตรวจช่องหูอาจพบเนื้อเยื่อแกรนูเลชัน (เนื้อเยื่อผิวมะระ) ที่ด้านล่างของช่องหู อาการนี้รักษาด้วยยาปฏิชีวนะที่ให้ทางปากหรือทางเส้นเลือดดำ ปกติด้วยยา fluoroquinolones[22]
การอุดหู
[แก้]- ขี้หูอัดแน่น - นี่เป็นเหตุให้คนไปหาหมอ 12 ล้านครั้งต่อปีในสหรัฐ[23] แม้ขี้หูอาจจะทำให้หูเจ็บ แต่ความเจ็บปวดก็ยังอาจเกิดจากเหตุอื่น ๆ ซึ่งอาจไม่ตรวจเมื่อพบขี้หูอัดแน่นแล้ว
- มีของแปลกปลอมอุดอยู่ในหู ที่สามัญที่สุดคือแมลงและวัสดุเล็ก ๆ เช่น ลูกปัดเล็ก ๆ[5]
เหตุที่มีน้อยกว่า
[แก้]- โรคงูสวัด ซึ่งมีเหตุจากไวรัสวาริเซลลาซอสเตอร์ สามารถกำเริบเกิดขึ้นในเขตต่าง ๆ รวมทั้งหู ซึ่งทำให็เจ็บและก่อตุ่มพองภายในช่องหู และถ้าเกิดร่วมกับอัมพาตที่ใบหน้าเนื่องกับเส้นประสาทเฟเชียล นี่ก็จะเรียกว่า Ramsay Hunt syndrome (type 2)[24]
- เนื้องอก ที่เกิดบ่อยที่สุดเป็นมะเร็งเยื่อบุแบบ squamous cell อาการอาจคล้ายกับหูชั้นนอกอักเสบ ดังนั้น จึงควรพิจารณาว่าเป็นมะเร็งถ้าอาการไม่ดีขึ้นหลังจากรักษาอย่างถูกต้องแล้ว[18]
หูชั้นกลางและหูชั้นใน
[แก้]หูชั้นกลางอักเสบฉับพลัน (Acute otitis media)
[แก้]หูชั้นกลางอักเสบเกิดในเด็กเกิน 80% อย่างน้อยครั้งหนึ่งก่อนอายุจะเลย 3 ปี<[25] และสามัญที่สุดในเด็ก 3 ขวบและน้อยกว่า แม้ก็เกิดในเด็กที่โตกว่าเหมือนกัน[21] เชื้อแบคทีเรียที่เป็นเหตุสามัญที่สุดก็คือ Streptococcus pneumoniae, Haemophilus influenzae, และ Moraxella catarrhalis[21]
หูชั้นกลางอักเสบมักเกิดพร้อมกับหรือเกิดหลังจากเป็นหวัด[16] การวินิจฉัยจะทำอาศัยอาการต่าง ๆ และการตรวจแก้วหูว่าแดง บวม และ/หรือมีน้ำสะสมอยู่ในหูชั้นกลางหรือไม่[5] ภาวะแทรกซ้อนรวมทั้งการเสียการได้ยิน อัมพาตเส้นประสาทเฟเชียล การติดเชื้อกระจายไปยังโครงสร้างรอบ ๆ รวมทั้ง[26]
- Mastoiditis (ปุ่มกกหูอักเสบ) คือ การติดเชื้อของ air cell ในปุ่มกกหูที่ศีรษะหลังหู[21]
- Petrositis เป็นการติดเชื้อของส่วน petrous ในกระดูกขมับ
- หูชั้นในอักเสบ (labyrinthitis)
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
- ฝีใต้เยื่อดูรา
- ฝีในสมอง
การบาดเจ็บ
[แก้]- การบาดเจ็บจากแรงกดดัน เป็นผลของการเปลี่ยนแปลงความดันอากาศซึ่งเกิดเมื่อเครื่องบินลดความสูงหรือเนื่องจากการดำน้ำลึก คือ เพราะความดันอากาศภายนอกเพิ่มขึ้นเมื่อเครื่องบินลดความสูง ท่อหูจะแฟบเพราะความดันในหูชั้นกลางจะน้อยกว่าในหูชั้นนอก ซึ่งทำให้เจ็บ ในกรณีรุนแรง หูชั้นกลางอาจเลือดออกหรือแก้วหูอาจทะลุ[18]
- แก้วหูทะลุ ซึ่งอาจเกิดเพราะหูถูกกระทบอย่างรุนแรง เกิดเพราะระเบิด การบาดเจ็บจากแรงกดดัน หรือวัตถุที่เข้าไปในหูทะลุผ่านแก้วหู[5]
การเจ็บหูทุติยภูมิ
[แก้]สภาวะโรคหลายอย่างระคายเส้นประสาทที่วิ่งไปทางหู ภาวะที่ระคายประสาทสมองเส้นที่ 5 (trigeminal) รวมทั้ง[3]
- การทำหน้าที่ผิดปรกติของข้อต่อขากรรไกร (temporomandibular joint dysfunction) ซึ่งเป็นการอักเสบหรือการเคลื่อนไหวผิดปกติของข้อต่อขากรรไก เกิดบ่อยที่สุดในหญิงในวัยที่มีลูกได้ และไม่สามัญในเด็กอายุน้อยกว่า 10 ขวบ[27][28][16]
- Myofascial pain syndrome เป็นความเจ็บปวดที่กล้ามเนื้อซึ่งทำการเคี้ยวอาหาร โดยอาจจะมีบางส่วนของกล้ามเนื้อหรือเอ็น (ที่ยึดกล้ามเนื้อเข้ากับกระดูก) ที่เจ็บเป็นพิเศษเมื่อกด[27]
- อาการปวดประสาทไทรเจมินัล (trigeminal neuralgia) เป็นการเจ็บวิ่งลงที่ใบหน้าซึ่งอาจเริ่มโดยแตะใบหน้าหรืออุณหภูมิเปลี่ยนแปลง[29]
- ปวดฟันเนื่องจากฟันผุหรือฝี
- มะเร็งเยื่อบุในช่องปาก
ส่วนภาวะที่ระคายประสาทสมองเส้นที่ 7 (เส้นประสาทเฟเชียล) หรือเส้นที่ 9 (glossopharyngeal) รวมทั้ง[3]
- ทอนซิลอักเสบ
- ความเจ็บปวดหลังผ่าตัดเอาต่อมทอนซิลออก
- คอหอยอักเสบ
- โพรงอากาศอักเสบ
- ต่อมพารอทิดอักเสบ (ต่อมน้ำลายหน้าหูอักเสบ, Parotitis)
- มะเร็งเยื่อบุของคอหอยหลังช่องปาก (รวมทั้งโคนลิ้น เพดานอ่อน ผนังคอหอย และต่อมทอนซิล)
ภาวะที่ก่อความระคายเคืองให้แก่ประสาทสมองเส้นที่ 9 (vagus) รวมทั้ง[3]
- โรคกรดไหลย้อน
- myocardial ischemia - เป็นภาวะที่ไม่มีออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจพอ
ภาวะที่ระคายเคืองต่อเส้นประสาทคอระดับ C2-C3 รวมทั้ง[3][16]
- กระดูกสันหลังบาดเจ็บ ข้ออักเสบ หรือเนื้องอก
- หลอดเลือดแดง Temporal อักเสบ/Giant-cell arteritis - เป็นโรคภูมิต้านตนเองที่ทำให้เส้นเลือดแดง temporal ซึ่งเป็นหลอดเลือดขนาดใหญ่ในศีรษะ อักเสบ โดยมักเกินขึ้นในผู้มีอายุมากกว่า 50 ปี[18]
การวินิจฉัย
[แก้]ในขณะที่โรคบางอย่างอาจต้องอาศัยการทำภาพหรือการตรวจชนิดใดชนิดหนึ่งโดยเฉพาะ ๆ แต่มูลฐานที่ทำให้หูเจ็บโดยมากแพทย์สามารถวินิจฉัยได้เลย เพราะการวินิจฉัยแยกโรคของหูเจ็บมีมากมาย จึงไม่มีความเห็นพ้องว่าอะไรเป็นกรอบวินิจฉัยได้ดีที่สุด วิธีการหนึ่งก็คือแยกโดยเวลาที่เกิดอาการต่าง ๆ เพราะหูเจ็บปฐมภูมิมักจะเป็นแบบฉับพลัน ในขณะที่หูเจ็บทุติยภูมิมักจะเรื้อรัง
เหตุแบบฉับพลันอาจเแยกว่ามีไข้ (ซึ่งแสดงการติดเชื้อ) หรือไม่มีไข้ (แสดงปัญหาที่อวัยวะ/โครงสร้าง เช่น การบาดเจ็บ หรือการบาดเจ็บที่หู) สมุฏฐานที่ก่อความเจ็บเรื้อรังอาจแยกเป็นแบบมีหรือไม่มีอาการที่น่าเป็นห่วง
อาการน่าเป็นห่วงอย่างหนึ่งก็คือการมีปัจจัยเสี่ยงหนึ่งอย่างหรือมากกว่านั้นรวมทั้งการสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาก (มากกว่า 3.5 แก้วต่อวัน) โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ และอายุมาก (มากกว่า 50 ปี)[3] ปัจจัยเหล่านี้เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดเหตุร้ายแรงที่ทำให้หูเจ็บ เช่น มะเร็งหรือการติดเชื้อที่รุนแรง โดยเฉพาะก็คือ การอยู่ร่วมกับผู้สูบบุหรี่อาจเพิ่มความเสี่ยงหูอักเสบอย่างฉับพลันในเด็ก[30] อนึ่ง การว่ายน้ำเป็นปัจจัยเสี่ยงซึ่งสำคัญที่สุดสำหรับหูชั้นนอกอักเสบ แม้ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ รวมทั้งช่องหูชื้น ผิวหนังอักเสบออกผื่น (eczema) และ/หรือการบาดเจ็บที่หู[31]
ถ้ามีอาการน่าเป็นห่วง ก็อาจต้องตรวจเพิ่ม เช่น ใช้เอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์หรือการตัดเนื้อออกตรวจเพื่อกันว่ามีโรคที่ร้ายแรงกว่า ซึ่งรวมหูชั้นนอกอักเสบร้ายแรง (malignant) หรือแบบทำให้เนื้อตาย (necrotizing), ปุ่มกกหูอักเสบ, หลอดเลือดแดง Temporal อักเสบ/Giant-cell arteritis, และมะเร็ง ให้สังเกตว่า แม้อาการน่าเป็นห่วงอาจทำให้สงสัยโรค 4 อย่างเหล่านี้ แต่ก็ไม่ได้ยืนยันวินิจฉัยเพราะอาการเหล่านี้เห็นได้ในสถานการณ์อื่น ๆ อีกด้วย เช่น อาการปวดขากรรไกรเมื่อเคี้ยวอาจมีเพราะหลอดเลือดแดง Temporal อักเสบ แต่ก็มีในการทำหน้าที่ผิดปรกติของข้อต่อขากรรไกรด้วย[4] ดั้งนั้น ถ้าไม่มีอาการน่าเป็นห่วง เหตุอื่น ๆ ของการปวดหูต่างที่ก็มีโอกาสมากขึ้นและดังนั้นจึงสมควรตรวจดู
วินิจฉัย | Features[4][8][9] | ||
---|---|---|---|
หูชั้นกลางอักเสบฉับพลัน | ประวัติการติดเชื้อทางเดินลมหายใจส่วนบน (URI) ภายใน 10 วัน | เด็กดึงหู | เจ็บมากโดยอยู่ลึกในหู |
เป็นไข้ | เสียการได้ยิน | ความเจ็บอาจกวนการนอน | |
แก้วหูทะลุ | เมื่อน้ำ/หนองไหลออก จะลดอาการเจ็บ | ||
ปุ่มกกหูอักเสบ (mastoiditis)* | เป็นเด็ก | ประวัติมี URI มากกว่า 10 วัน | มี URI หรือติดเชื้อที่หูเร็ว ๆ นี้ |
เป็นไข้/หนาว | อาจเห็นอาการหูอักเสบเมื่อตรวจ | ความเจ็บอยู่หลังหู โดยส่วนหลังใบหู (postauricular) จะบวม (ใกล้กับปุ่มกกหู)* | |
ตรวจด้วยเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ | |||
หูชั้นกลางอักเสบมีหนองเรื้อรัง (CSOM) | การเสียการได้ยินเหตุกระดูกสื่อ | หนองออกซึ่งบรรเทาอาการแล้วเป็นอีก หรือหนองออกอย่างเรื้อรัง | อาจเห็นแก้วหูทะลุหรือ cholesteatoma[A] เมื่อตรวจ |
หูชั้นกลางอักเสบแบบสะสมน้ำ (serous otitis mediao/titis media with effusion) | ไม่มีอาการว่าติดเชื้อ | เสียการได้ยินอย่างชัดเจน | อาจมีประวัติ URI หรือหูชั้นกลางอักเสบแบบฉับพลัน |
หูชั้นนนอกอักเสบ | ว่ายน้ำ | โรคสะเก็ดเงิน | ผิวหนังที่มันอักเสบ (seborrhoeic dermatitis)[B] |
ปั่นหูด้วยไม้สำลี | เจ็บหูทั้งสองข้าง | มีเกล็ด (scaling) | |
คัน | เจ็บเพิ่มถ้าดึงหู | อาจเห็นเนื้อเยื่อแกรนูเลชันเมื่อตรวจช่องหู | |
หูชั้นนอกอักเสบร้ายแรง (malignant) หรือแบบทำให้เนื้อตาย (necrotizing)* | โรคเบาหวาน | ภูมิคุ้มกันบกพร่อง | เจ็บอย่างต่อเนื่องโดยเจ็บมากขึ้นตอนกลางคืน* |
หนองไหล* | รู้สึกเจ็บเกินอาการที่ตรวจพบ* | ตัดเนื้อเยื่อแกรนูเลชันเพื่อเพาะตรวจ | |
กระดูกอ่อนอักเสบ เทียบกับ เยื่อหุ้มกระดูกอ่อนอักเสบ | หูได้บาดเจ็บเร็ว ๆ นี้ (เช่น เจาะหู) | ใบหูปรากฏว่าอักเสบ | กระดูกอ่อนอักเสบมีโอกาสมากกว่าเยื่อหุ้มกระดูกอ่อนอักเสบ ถ้าหูมีรูปบิดเบือน |
วินิจฉัย | Features[4][8][9] | |
---|---|---|
โรคกรดไหลย้อน | เจ็บหูทั้งสองข้าง | |
อาการปวดประสาท (neuralgia) | คนไข้บอกว่าเจ็บแบบชา ๆ หรือแสบ โดยอาจเริ่มจากแตะหูเบา ๆ | |
แบบร้าย* | น้ำหนักลด* | |
ข้ออักเสบที่คอ | เจ็บมากขึ้นเมื่อขยับคอ | |
Eagle syndrome[C] | เจ็บเพิ่มเมื่อกลืน | |
ฟันกรามซี่สุดท้าย (3) ติดเชื้อ | อาหารเย็นร้อนทำให้เจ็บเพิ่ม | |
หลอดเลือดแดง Temporal อักเสบ* | อายุมากกว่า 50 ปี* | การเคี้ยวทำให้เจ็บเพิ่ม* |
การทำหน้าที่ผิดปรกติของข้อต่อขากรรไกร | คนไข้ขบ/บดฟัน | เจ็บหูทั้งสองข้าง |
เมื่อคลำตรวจที่ข้อต่อขากรรไกร เจ็บและมีเสียงกรอบแกรบ | ขากรรไกทำเสียงกริ๊ก ๆ |
- *บ่งอาการที่ไม่ควรพลาด ที่น่าเป็นห่วง หรือควรระวัง
วินิจฉัย | Features[4][8][9] | ||
---|---|---|---|
การบาดเจ็บจากแรงกดดัน | บาดเจ็บที่หูเมื่อเร็ว ๆ นี้ | ขึ้นเครื่องบินหรือดำน้ำเมื่อเร็ว ๆ นี้ (+/- อาการเจ็บเกิดร่วมกับเหตุการณ์) | เสียการได้ยิน |
ท่อหูทำงานผิดปกติ | คนไข้บอกว่าเหมือนมีอะไรกดที่หูหรือมีอะไรมาปิดหู | เสียการได้ยินที่หูข้างเดียว | ได้ยินเสียงกรอบแกรบ/เสียงน้ำไหล |
ประวัติโรคภูมิแพ้ตามฤดู | รีเฟล็กซ์ปรับรูม่านตารับแสงไม่ดีและข้อต่อขากรรไกรขยับได้ไม่ดี | เห็นเส้นน้ำที่แก้วหู (air-fluid level) / น้ำในหูชั้นกลาง | |
ขี้หูอัด | ใช้ไม้สำลีในช่องหู | คนไข้บอกว่าเหมือนมีอะไรกดหรือปิดหู | อาจต้องเอาขี้หูออกเพื่อกันว่านี่เป็นเหตุ |
การรักษา
[แก้]การรักษาหูเจ็บจะขึ้นอยู่กับเหตุ
ยาปฏิชีวนะ
[แก้]แม้การเจ็บหูทุกอย่างจะรักษาด้วยยาปฏิชีวนะไม่ได้ แต่ที่มีเหตุจากหูติดเชื้อแบคทีเรียทั่วไปก็จะรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ซึ่งรู้ว่าสามารถจัดการกลุ่มแบคทีเรียที่เป็นตัวการสามัญของการติดเชื้อในรูปแบบนั้น ๆ การติดเชื้อแบคทีเรียหลายอย่างจะรักษาด้วยการทำความสะอาดส่วนนั้น ให้ยาปฏิชีวนะแบบทาหรือแบบทาน/ฉีด และให้ยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาความเจ็บ[7][34][9] การประคบน้ำอุ่นอาจช่วยในการติดเชื้อหลายอย่าง[7]
เหตุเจ็บหูที่ปกติสามารถรักษาด้วยยาปฏิชีวนะแบบทาหรือแบบทาน/ฉีดรวมทั้ง
- หูชั้นนอกอักเสบฉับพลัน (AOE) ที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน[7][34] สำหรับอาการที่ไม่ตอบสนองภายใน 10 วัน แพทย์ก็ควรจะตรวจว่ามีหูชั้นนอกอักเสบแบบทำให้เนื้อตาย (necrotizing) หรือไม่[7]
- หูชั้นกลางอักเสบฉับพลัน (AOM) จะหายเองภายใน 24-48 ชม. ในกรณี 80%[34] ถ้าไม่หายเอง ก็จะสันนิษฐานว่ามีเหตุจากแบคทีเรียแล้วรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นหลังจากทานยา 1 อาทิตย์ แพทย์ก็จะตรวจดูว่ามีปุ่มกกหูอักเสบหรือไม่[34]
- ปุ่มรากผมอักเสบเฉียบพลัน (acute folliculitis)[34]
- เซลล์เนื้อเยื่อหูอักเสบ (auricular cellulitis)[9]
- หูชั้นกลางอักเสบมีหนอง (suppurative otitis media)[8] ซึ่งเสี่ยงต่อแก้วหูทะลุด้วย[8]
- Perichondritis - แพทย์หูคอจมูกควรตรวจว่ามีวัตถุแปลกปลอมอยู่ในกระดูกอ่อนหรือไม่ ถ้ามีก็จะต้องเอาออก[34][8] ถ้ามีปัญหาในเพราะเหตุกระดูกอ่อน อาจจะต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อให้รักษาได้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น[8]
- โพรงอากาศอักเสบ (sinusitis) สามารถก่อการเจ็บหูทุติยภูมิ (คือเจ็บต่างที่) การรักษาเหตุจะช่วยบรรเทาการเจ็บหู[34] การติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิดอาจต้องให้แพทย์หูคอจมูกรักษา ให้ยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือด และเข้าโรงพยาบาล
- หูชั้นนอกอักเสบแบบทำให้เนื้อตาย (necrotizing external otitis) อาจมีอันตรายถึงชีวิต และดังนั้น จึงควรให้แพทย์หูคอจมูกตรวจ อาจต้องเข้าโรงพยาบาลและให้ยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือด[34][8]
- ปุ่มกกหูอักเสบฉับพลันอาจรักษาด้วยการเข้าโรงพยาบาล ให้แพทย์หูคอจมูกตรวจ และการลองให้ยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือด[34][7][8][9] กรณีที่มีปัญหากระจายไปถึงกะโหลกศีรษะจะรักษาด้วยการตัดปุ่มกกหู (mastoidectomy) และการเจาะแก้วหูเอาหนองออก (myringotomy)[34][9]
- กระดูกอ่อนอักเสบ[34][8]
หัตถการ
[แก้]เหตุบางอย่างของการเจ็บหูต้องรักษาด้วยหัตถการแพทย์อย่างเดียว หรือเพิ่มนอกเหนือจากการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ
- Keratosis obturans คือเยื่อบุผิวสะสมที่ช่องหูชั้นนอก ซึ่งรักษาด้วยการเอาเศษเคอราทินที่ลอกหลุดแล้วอัดแน่นออกจากช่องหู[34]
- เยื่อหุ้มกระดูกอ่อนอักเสบเรื้อรัง (chronic perichondritis) และกระดูกอ่อนอักเสบ (chondritis) ที่คงยืนแม้จะรักษาด้วยยาปฏิชีวนะที่สมควรแล้วอาจจำเป็นต้องตัดเล็มออก[34] การเจาะใส่ท่อระบายน้ำ/หนองก็อาจจำเป็นด้วย[9]
- แก้วหูอักเสบแบบมีเม็ดพุพอง (bullous myringitis) ซึ่งก่อเม็ดพุพองบนแก้วหู สามารถเจาะบรรเทาความเจ็บปวด[34]
- สิ่งแปลกปลอมที่อยู่ในช่องหูอาจทำให้เจ็บ จะรักษาด้วยการเอาออกอย่างระมัดระวัง[8]
- sebaceous cyst[D] ที่ติดเชื้อสามารถรักษาด้วยการผ่าแล้วเอาหนองออกและให้ยาปฏิชีวนะ[8]
การรักษาอื่น ๆ
[แก้]เพราะมีเหตุการเจ็บหูมากมาย เหตุบางอย่างจึงต้องรักษาด้วยวิธีนอกเหนือจากยาปฏิชีวนะและหัตถการ
- relapsing polychondritis เป็นการอักเสบที่กระดูกอ่อนในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งบ่อยครั้งรวมกระดูกอ่อนที่หูทั้งสอง เป็นภาวะภูมิต้านตนเองที่รักษาด้วยยาควบคุมระบบภูมิคุ้มกัน[34]
- การทำหน้าที่ผิดปรกติของข้อต่อขากรรไกร (temporomandibular joint dysfunction) สามารถก่อการเจ็บหูทุติยภูมิ และเบื้องแรกจะรักษาด้วยการทานอาหารนิ่ม ๆ ยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตอรอยด์ การประคบด้วยความร้อน การนวดที่บริเวณนั้น และการไปหาทันตแพทย์[34][18]
- myofascial pain syndrome เป็นความเจ็บปวดที่กล้ามเนื้อซึ่งทำหน้าที่เคี้ยวอาหาร ซึ่งเบื้องแรกรักษาด้วยยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตอรอยด์และกายภาพบำบัด การฉีดยาระงับความรู้สึกเข้าไปในจุดสำคัญของกล้ามเนื้อ อาจพิจารณาใช้สำหรับคนไข้ที่อาการหนัก[34]
- อาการปวดประสาทลิ้นคอหอย (glossopharyngeal neuralgia) สามารถรักษาด้วยยารักษาโรคเส้นประสาท คือคาร์บามาเซพีน[18]
การระบาด
[แก้]2/3 ของคนไข้ที่เจ็บหูจะวินิจฉัยว่าเป็นการเจ็บหูปฐมภูมิและ 1/3 การเจ็บหูทุติยภูมิ[5]
เหตุสามัญของการเจ็บหูปฐมภูมิก็คือหูชั้นกลางอักเสบ ซึ่งหมายถึงการติดเชื้อในหูหลังแก้วหู[3] เด็กที่ได้วินิจฉัยนี้มากที่สุดอยู่ในวัย 6-24 เดือน งานทบทวนวรรณกรรมงานหนึ่งพบว่า เด็ก 83% จะมีหูชั้นกลางอักเสบฉับพลันอย่างน้อยครั้งหนึ่งก่อนอายุจะเกิน 3 ขวบ[10] ทั่วโลก มีกรณีคนไข้หูชั้นกลางอักเสบ 709 ล้านคนต่อปี[36] การเสียการได้ยินเนื่องจากการติดเชื้อประเมินที่ 30 คนต่อประชากร 10,000 คน[36] มีคนเสียชีวิตประมาณ 21,000-28,000 คนรอบโลกเนื่องจากภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อในหู[36] ภาวะแทรกซ้อนรวมทั้งฝีในสมองและเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
หูชั้นนอกอักเสบเกิดมากที่สุดในเด็กวัย 7-12 ขวบ และคนราว ๆ 10% ทั้งหมดเคยมีโรคนี้มาก่อน[10] ขี้หูอัดแน่นเกิดขึ้นในเด็ก 1 ใน 10 คน ผู้ใหญ่ 1 ใน 20 คน และผู้สูงอายุ 1 ใน 3 คน[10] การบาดเจ็บจากแรงกดดันเกิดกับคนราว ๆ 1 คนทุก ๆ 1,000 คน[5] ผู้ที่มาหาหมอเนื่องจากเจ็บหู เพียงแค่ 3% จะวินิจฉัยว่าท่อหูทำงานผิดปกติ[3]
ประวัติ
[แก้]มีข้อมูลเกี่ยวกับการเจ็บหูและหูชั้นกลางอักเสบฉับพลันก่อนคริสต์ทศวรรษที่ 17 น้อยมาก เป็นโรคที่สามัญและปกติไม่ได้รักษา[37] แล้วจึงได้เปลี่ยนไปเมื่อโสตแพทย์ชาวเยอรมัน Anton von Tröltsch ได้ประดิษฐ์กล้องส่องตรวจหู (otoscope) ขึ้นในคริสต์ทศวรรษที่ 1840[37] และก็เปลี่ยนไปอีกเมื่อประดิษฐ์ยาปฏิชีวนะขึ้น เพราะก่อนจะมียา การติดเชื้อที่แพร่ไปยังกระดูกรอบ ๆ หูเกิดในอัตราสูง แต่ปัจจุบันเป็นภาวะแทรกซ้อนที่มีน้อย[5]
สังคมและวัฒนธรรม
[แก้]เมื่อก่อนแพทย์มักจะรักษาหูชั้นกลางอักเสบด้วยอะม็อกซีซิลลิน[5] จนกระทั่งมีคำพูดจากคริสต์ทศวรรษ 1980 หนึ่งที่กล่าวว่า "เด็กที่หูเจ็บขาดอะม็อกซีซิลลินอย่างหนัก"[5] ต่อมาจึงรู้กันว่า การใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินไปทำให้แบคทีเรียดื้อยา[38] และการดื้อยาที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็ทำให้ยาปฏิชีวนะมีประสิทธิผลลดลง แล้วจึงเกิดโปรแกรมที่ทำอย่างเป็นระบบซึ่งแนะนำให้ผู้ที่สั่งยาปฏิชีวนะให้ยาเมื่อจำเป็นเท่านั้น โดยเฉพาะในเด็ก ที่การเจ็บหูโดยมากจะหายเองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนอะไร[36] มีแม้แต่แนวทางการรักษาที่ช่วยกำหนดว่าเมื่อไรควรใช้ยาปฏิชีวนะสำหรับอาการเจ็บหูในเด็ก[39]
หูมีบทบาทในการรักษาด้วยการฝังเข็ม ซึ่งเรียกในภาษาอังกฤษว่า auriculotherapy คือการฝังเข็มที่หูเชื่อว่าแก้ความไม่สมดุลในร่างกาย เป็นวิธีการที่มีมาตั้งแต่ยุคหินแล้ว ส่วนการรักษาเช่นนี้ในยุโรปมีบันทึกไว้เป็นครั้งแรกในคริสต์ทศวรรษที่ 1600 คือแพทย์คนหนึ่งกล่าวถึงการกระตุ้น (โดยเอาไฟเผาหรือทำแผล) หูเพื่อรักษาอาการปวดหลังร้าวไปที่ขา ส่วนแพทย์อีกคนหนึ่งใช้เพื่อรักษาการปวดฟัน ประสาทแพทย์ Paul Nogier รู้จักว่าเป็นบิดาของการฝังเข็มที่หู เพราะทฤษฎีของเขาว่า ส่วนต่าง ๆ ของหูสัมพันธ์กับส่วนต่าง ๆ ของร่างกายอย่างคงเส้นคงวา[40]
งานวิจัย
[แก้]ปัจจุบันมีงานวิจัยหาวิธีส่งยาปฏิชีวนะเข้าไปในหูชั้นกลางโดยตรง[36]
เชิงอรรถ
[แก้]- ↑ cholesteatoma เป็นการขยายตัวที่ก่อความเสียหายของเยื่อ squamous epithelium ซึ่งเปลี่ยนเป็นเคอราทินภายในหูชั้นกลางหรือปุ่มกกหู แม้จะไม่จัดว่าเป็นเนื้องอกหรือมะเร็ง แต่ก็ยังสร้างปัญาอย่างสำคัญเพราะขยายตัวและมีฤทธิ์กร่อนทำลายกระดูกหูในหูชั้นกลาง และสามารถกระจายเข้าไปยังศีรษะและสมอง บ่อยครั้งเยื่อยังติดเชื้อและมีผลให้หนองออกจากหูอย่างเรื้อรัง
- ↑ Seborrhoeic dermatitis หรือ seborrhoeic eczema หรือ seborrhea เป็นผิวหนังอักเสบเรื้อรังหรือกลับเกิดขึ้นอีก แต่ไม่รุนแรง ซึ่งเป็นที่หนังศีรษะ ใบหน้า และลำตัว ปกติจะปรากฏเป็นเกล็ด ๆ คัน และแดง โดยเกิดมากที่สุดในบริเวณที่บริบูรณ์ด้วยต่อมไขผิวหนัง (sebaceous gland) ในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ มันจะปรากฏเป็นเกล็ดหนังศีรษะ หรือเป็นสีแดง ๆ ที่รอยพับที่จมูกร่วมริมฝีปาก (nasolabial fold) ขี้รังแคก็เป็นรูปแบบของโรคอย่างหนึ่งโดยไม่มีอาการอักเสบ[32]
- ↑ Eagle syndrome เป็นภาวะที่มีน้อยซึ่งมีอาการเจ็บฉับพลันคล้ายที่เกิดทางประสาท ตรงกระดูกขากรรไกรและข้อ ที่หลังคอ และที่โคนลิ้น ซึ่งจุดชนวนโดยการกลืน การขยับขากรรไกร หรือการเอี้ยวคอ[33] โดยมีเหตุจากระดูกสไตลอยด์ โพรเซสที่ขมับซึ่งยาวหรือมีรูปร่างผิดปกติ หรือเกิดจากการมีแคลเซียมเกาะที่เอ็น Stylohyoid แล้วกวนการทำงานของโครงสร้างและอวัยวะที่อยู่ใกล้ ๆ กัน
- ↑ sebaceous cyst เป็นคำที่อาจหมายถึง[35]
- epidermoid cysts หรือ epidermal cysts หรือ infundibular cyst เป็นซิสต์ไม่ร้ายที่ปกติพบที่ผิวหนัง โดยงอกออกจากเนื้อเยื่อเอ็กโทเดิร์ม ทางมิชญวิทยา มันเป็นชั้นบาง ๆ ชั้นหนึ่งของเยื่อบุผิวแบบ squamous
- pilar cysts หรือ trichelemmal cysts หรือ isthmus-catagen cysts เป็นซิสต์สามัญที่เกิดจากปุ่มรากผม พบมากที่สุดบนหนังศีรษะ มีลักษณะเรียบ ขยับได้ และเต็มไปด้วยเคอราทิน ซึ่งเป็นโปรตีนที่พบในผม เล็บ ผิวหนัง และเขา
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Earache: MedlinePlus Medical Encyclopedia". medlineplus.gov (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2017-10-02.
- ↑ 2.0 2.1 Gross M, Eliashar R (2008). "Chapter 6: Otolaryngological aspects of orofacial pain". ใน Sharav Y, Benoliel R (บ.ก.). Orofacial Pain and Headache. Elsevier Health Sciences. p. 91. ISBN 9780723434122.
- ↑ 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 3.10 3.11 3.12 3.13 3.14 3.15 Earwood JS, Rogers TS, Rathjen NA (January 2018). "Ear Pain: Diagnosing Common and Uncommon Causes". American Family Physician. 97 (1): 20–27. PMID 29365233.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 4.7 Sullivan, Daniel J. (2012). "Chapter 17:Ear Pain". ใน Henderson, Mark C.; Tierney, Lawrence M.; Smetana, Gerald W. (บ.ก.). The Patient History: An Evidence-Based Approach to Differential Diagnosis (2nd ed.). New York, NY: The McGraw-Hill Companies.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 5.6 5.7 5.8 Conover K (May 2013). "Earache". Emergency Medicine Clinics of North America. 31 (2): 413–42. doi:10.1016/j.emc.2013.02.001. PMID 23601480.
- ↑ 6.0 6.1 "Position Statement: Red Flags-Warning of Ear Disease" (ภาษาอังกฤษ). American Academy of Otolaryngology–Head and Neck Surgery. 2014-03-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-14. สืบค้นเมื่อ 2018-03-13.
- ↑ 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 7.5 7.6 Coombs, Carmen (2016). "Chapter 118: Ear and Mastoid Disorders in Infants and Children". ใน Tintinalli, Judith E.; Stapczynski, J. Stephan; Ma, O. John; Yealy, Donald M.; Meckler, Garth D.; Cline, David M. (บ.ก.). Tintinalli’s Emergency Medicine: A Comprehensive Study Guide (8 ed.). New York, NY: McGraw-Hill Education. ISBN 978-0071794763.
- ↑ 8.00 8.01 8.02 8.03 8.04 8.05 8.06 8.07 8.08 8.09 8.10 8.11 8.12 8.13 8.14 Stallard TC (2017). "Chapter 32: Emergency Disorders of the Ear, Nose, Sinuses, Oropharynx, & Mouth". ใน Stone CK, Humphries RL (บ.ก.). CURRENT Diagnosis & Treatment: Emergency Medicine (8 ed.). New York, NY: McGraw-Hill Education.
- ↑ 9.00 9.01 9.02 9.03 9.04 9.05 9.06 9.07 9.08 9.09 9.10 Kasper DL, Fauci AS, Hauser SL, Longo DL, Jameson JL, Loscalzo J, บ.ก. (2016). "Chapter 58: Sore Throat, Earache, and Upper Respiratory Symptoms". Harrison's Manual of Medicine (19th ed.). McGraw-Hill Education. ISBN 978-0071828529.
- ↑ 10.0 10.1 10.2 10.3 10.4 Rosa-Olivares J, Porro A, Rodriguez-Varela M, Riefkohl G, Niroomand-Rad I (November 2015). "Otitis Media: To Treat, To Refer, To Do Nothing: A Review for the Practitioner". Pediatrics in Review. 36 (11): 480–6, quiz 487–8. doi:10.1542/pir.36-11-480. PMID 26527627.
- ↑ Harrison E, Cronin M (July 2016). "Otalgia". Australian Family Physician. 45 (7): 493–7. PMID 27610432.
- ↑ David M. Kaylie, Debara L. (October 2016). "Earache". Merck Manual, Professional Version (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ 13.0 13.1 13.2 Morton DA, Foreman KB, Albertine KH (2011). "Chapter 19. Ear". The Big Picture: Gross Anatomy. New York, NY: The McGraw-Hill Companies. ISBN 978-0071476720.
- ↑ Scarbrough TJ, Day TA, Williams TE, Hardin JH, Aguero EG, Thomas CR (October 2003). "Referred otalgia in head and neck cancer: a unifying schema". American Journal of Clinical Oncology. 26 (5): e157–62. doi:10.1097/01.coc.0000091357.08692.86. PMID 14528091. S2CID 35512999.
- ↑ Li, John (2017-09-21). "Otalgia: Background, Pathophysiology, Epidemiology". Medscape.
- ↑ 16.0 16.1 16.2 16.3 16.4 16.5 Greenes, David. "Evaluation of earache in children". www.uptodate.com. สืบค้นเมื่อ 2018-03-14.
- ↑ Leybell, Inna (2017-06-20). "Auricular Hematoma Drainage: Overview, Indications, Contraindications". Medscape.
- ↑ 18.0 18.1 18.2 18.3 18.4 18.5 18.6 Lustig LR, Schindler JS (2017). "Chapter 8: Ear, Nose, & Throat Disorders". ใน Papadakis MA, McPhee SJ, Rabow MW (บ.ก.). Current Medical Diagnosis & Treatment 2018. New York, NY: McGraw-Hill Education.
- ↑ Compton, Nicholas. "Relapsing Polychondritis Clinical Presentation: History, Physical, Causes". emedicine.medscape.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2018-03-14.
- ↑ Rosenfeld RM, Schwartz SR, Cannon CR, Roland PS, Simon GR, Kumar KA, Huang WW, Haskell HW, Robertson PJ (February 2014). "Clinical practice guideline: acute otitis externa". Otolaryngology–Head and Neck Surgery. 150 (1 Suppl): S1–S24. doi:10.1177/0194599813517083. PMID 24491310. S2CID 40005605.
- ↑ 21.0 21.1 21.2 21.3 21.4 Yoon PJ, Scholes MA, Friedman NR (2016). "Chapter 18: Ear, Nose, & Throat". ใน Hay WW, Levin MJ, Deterding RR, Abzug MJ (บ.ก.). CURRENT Diagnosis & Treatment Pediatrics (23rd ed.). New York, NY: McGraw-Hill Education. ISBN 978-0071848541.
- ↑ 22.0 22.1 22.2 22.3 Grandis, Jennifer; และคณะ (February 2018). "Malignant (necrotizing) otitis externa". www.uptodate.com. สืบค้นเมื่อ 2018-03-14.
- ↑ Schwartz S, และคณะ (January 2017). "Clinical Practice Guideline (Update): Earwax (Cerumen Impaction) Executive Summary". Otolaryngology–Head and Neck Surgery. 156 (1): 14–29. doi:10.1177/0194599816678832. PMID 28045632.
- ↑ Albrecht, Mary (August 2016). "Clinical manifestations of varicella-zoster virus infection: Herpes zoster". www.uptodate.com. สืบค้นเมื่อ 2018-03-14.
- ↑ Leung AK, Wong AH (2017). "Acute Otitis Media in Children". Recent Patents on Inflammation & Allergy Drug Discovery. 11 (1): 32–40. doi:10.2174/1874609810666170712145332. PMID 28707578.
- ↑ Klein, Jerome; และคณะ (September 2017). "Acute otitis media in children". www.uptodate.com. สืบค้นเมื่อ 2018-03-14.
- ↑ 27.0 27.1 Goddard, Greg (2012). "Chapter 26. Temporomandibular Disorders". ใน Lalwani, Anil K. (บ.ก.). CURRENT Diagnosis & Treatment in Otolaryngology—Head & Neck Surgery (3 ed.). New York, NY: The McGraw-Hill Companies.
- ↑ Tsai, Vivian (2018-01-02). "Temporomandibular Joint Syndrome: Background, Pathophysiology, Epidemiology". Medscape.
- ↑ Singh, Manish (2017-09-26). "Trigeminal Neuralgia: Practice Essentials, Background, Anatomy". Medscape.
- ↑ "Ear Infections in Children". NIDCD (ภาษาอังกฤษ). 2015-08-18. สืบค้นเมื่อ 2018-03-14.
- ↑ Schaefer P, Baugh RF (December 2012). "Acute otitis externa: an update". American Family Physician. 86 (11): 1055–61. PMID 23198673.
- ↑ "Seborrhoeic dermatitis and dandruff". www.dermnetnz.org. สืบค้นเมื่อ 2016-06-11.
- ↑ Waldman, SD (2013-06-06). Atlas of Uncommon Pain Syndromes. Elsevier Health Sciences. pp. 35–36. ISBN 1-4557-0999-9.
- ↑ 34.00 34.01 34.02 34.03 34.04 34.05 34.06 34.07 34.08 34.09 34.10 34.11 34.12 34.13 34.14 34.15 34.16 Neilan RE, Roland PS (September 2010). "Otalgia". The Medical Clinics of North America. 94 (5): 961–71. doi:10.1016/j.mcna.2010.05.004. PMID 20736106.
- ↑ "Epidermoid and pilar cysts (previously known as sebaceous cysts)". British Association of Dermatologists. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-02-05. สืบค้นเมื่อ 2014-04-02.
- ↑ 36.0 36.1 36.2 36.3 36.4 Qureishi, A; Lee, Y; Belfield, K; Birchall, JP; Daniel, M (Jan 2014). "Update on otitis media - prevention and treatment". Infection and Drug Resistance. 7: 15–24. doi:10.2147/IDR.S39637. PMC 3894142. PMID 24453496.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ 37.0 37.1 Altemeier, William A (2000-10-01). "A Brief History of Otitis Media". Pediatric Annals (ภาษาอังกฤษ). 29 (10): 599–599. doi:10.3928/0090-4481-20001001-03. ISSN 0090-4481.
- ↑ Fleming, Alexander (25 June 1945). "The Penicillin Finder Assays its Future". The New York Times: 21.
- ↑ "Otitis media (Clinical recommendations)". American Academy of Family Physicians. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-08. สืบค้นเมื่อ 2018-09-14.
- ↑ Gori L, Firenzuoli F (September 2007). "Ear acupuncture in European traditional medicine". Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine. 4 (Suppl 1): 13–6. doi:10.1093/ecam/nem106. PMC 2206232. PMID 18227925.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]การจำแนกโรค | |
---|---|
ทรัพยากรภายนอก |