แมงลัก
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
แมงลัก | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | พืช Plantae |
เคลด: | พืชมีท่อลำเลียง Tracheophyta |
เคลด: | พืชดอก Angiosperms |
เคลด: | พืชใบเลี้ยงคู่แท้ Eudicots |
เคลด: | แอสเทอริด Asterids |
อันดับ: | กะเพรา |
วงศ์: | วงศ์กะเพรา |
สกุล: | สกุลกะเพรา-โหระพา Lour. |
สปีชีส์: | Ocimum × africanum |
ชื่อทวินาม | |
Ocimum × africanum Lour. | |
ชื่อพ้อง[1] | |
|
แมงลัก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Ocimum × citriodorum) เป็นพืชล้มลุกในสกุลกะเพรา-โหระพา แมงลักมีใบเล็ก สีอ่อน บอบบาง ช้ำง่ายและเหี่ยวง่ายกว่า ชื่อสามัญเดิมเรียกกันว่า hoary basil (hoary แปลว่าผมหงอก) โดยนำมาจากลักษณะที่มีขนอ่อนสีขาว ๆ บริเวณก้านใบและยอดอ่อน ต่อมาก็เปลี่ยนมาเรียกว่า lemon basil ตามลักษณะกลิ่นที่คล้ายส้ม-มะนาว ส่วนแมงลักศรแดงของไทยเรียกว่า thai lemon basil
แมงลักนำไปใช้ได้ทั้งใบและเมล็ด ใบมีกลิ่นฉุน ใช้ประกอบอาหารเช่นเดียวกับกะเพราและโหระพา ส่วนมากจะใช้รับประทานกับขนมจีน หรือใส่เครื่องแกงต่าง ๆ ส่วนเมล็ดแมงลักใช้ทำเป็นขนมอื่น ๆ ได้ นอกจากนี้ เมล็ดแมงลักนำมาทำเป็นยาระบายและอาหารเสริมลดความอ้วนได้
แมงลักในประเทศไทยนั้น มี "ศรแดง" เป็นสายพันธุ์หลักเพียงสายพันธุ์เดียว ที่เหลือเป็นพันธุ์ผสมบ้าง พันทางบ้าง ลักษณะของพันธุ์ศรแดงที่ดีนั้น ใบต้องใหญ่พอดิบพอดี ไม่เล็กจนแคระแกร็น ดอกสีขาวเป็นชั้น ๆ คล้ายฉัตร
การใช้ประโยชน์
[แก้]แมงลัก ใบใช้เป็นส่วนผสมในอาหาร เช่น ห่อหมก แกงเลียง อ่อม แกงคั่ว ขนมจีนน้ำยา แกงหน่อไม้ พบมากในอาหารอีสาน เมล็ดแช่น้ำให้พอง ใช้ทำขนมหรือรับประทานกับน้ำแข็งใส ไอศกรีม ใบมีฤทธิ์ขับลมในลำไส้ แก้ท้องอืด ช่วยย่อยอาหาร เมล็ดช่วยย่อยอาหาร เป็นยาระบาย สกัดน้ำมันหอมระเหยจากใบไปใช้ในอุตสาหกรรมสบู่และเครื่องสำอาง กิ่งและใบทุบแล้ววางในเล้าไก่ ช่วยไล่ไรตัวเล็ก ๆ ได้[2]
คุณค่าทางโภชนาการ
[แก้]ข้อมูลจากกองโภชนาการ กรมอนามัย รายงานว่า แมงลัก 1 ขีด
- โปรตีน 3.8 กรัมต่อน้ำหนักใบสด 100 กรัม ซึ่งสูงกว่ากะเพราและโหระพา
- บีตา-แคโรทีนสูงถึง 590.56 ไมโครกรัม เทียบหน่วยเรตินัล สูงกว่ากะเพราและโหระพา
- แคลเซียม 140 มิลลิกรัม
กรมส่งเสริมการเกษตร ระบุว่า
- พลังงาน 0.032 กิโลแคลอรี
- วิตามินเอ 9,164 หน่วยสากล
- วิตามินบี2 ประมาณ 0.14 มิลลิกรัม ซึ่งน้อยกว่ากะเพราและโหระพา แต่แร่ธาตุอื่น ๆ มีสูงกว่า
- ไขมันสูงถึง 0.8 กรัม
- แป้งมากถึง 11.1 กรัม
- แคลเซียม 350 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 86 มิลลิกรัม
- เหล็ก 4.9 มิลลิกรัม
- วิตามินบี1 0.30 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 78 มิลลิกรัม
การปลูกเลี้ยง
[แก้]สามารถปลูกได้โดยใช้กิ่งชำหรือใช้เมล็ดเพาะเป็นต้นกล้าแล้วย้ายปลูก เมื่อเมล็ดงอกขึ้นมาได้อายุ 1 เดือน ลงแปลงที่เตรียมดินไว้ ระยะระหว่างต้นและระหว่างแถว 40 เซนติเมตร แต่ถ้าเมื่อถอนขึ้นมาก่อนนำไปปลูกลงดิน ต้องตัดยอดทิ้งก่อนหรืออาจตัดออกครึ่งต้นก็ได้ ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นควรตัดแต่งรากด้วย เพราะแมงลักที่ตัดแต่ง รากจะงอกงามกว่า แต่ทั้งนี้เวลานำไปปลูก ต้องรดน้ำด้วย ใช้ปลูก หลุมละ 2-3 ต้น เมื่อต้นแมงลักเติบโต กิ่งก้านใบก็จะคลุมถึงกันหมด
การเลือกพื้นที่ปลูก
[แก้]แมงลักเป็นพืชล้มลุกที่มีอายุเฉลี่ย 1-2 ปี ปลูกครั้งเดียวสามารถเก็บเกี่ยวไปได้เรื่อย ๆ ทุก 15-20 วัน การเลือกพื้นที่ปลูกควรเป็นที่ดอน แต่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ สามารถนำน้ำมาใช้รดได้สะดวก ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำท่วมขัง ปกติสามารถขึ้นได้ดีในดินทุกชนิด แต่แมงลักจะชอบดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ ร่วนซุย ระบายน้ำดี และปลอดจากลมแรง
การเตรียมดิน
[แก้]ไถดินให้ลึก 30-40 เซนติเมตร ตากดินไว้ 1-2 อาทิตย์ แล้วย่อยดินให้ละเอียด หว่านปูนขาว ในอัตรา 100-300 กิโลกรัม/ไร่ ใส่ปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอก อัตรา 2,000 กิโลกรัม/ไร่ ปุ๋ยสูตร 16-16-16 อัตรา 30 กิโลกรัม/ไร่ คลุกเคล้าให้ทั่วแล้วยกแปลง ให้สูง ประมาณ 30 เซนติเมตร
การดูแลรักษา
[แก้]ควรจะให้น้ำสม่ำเสมอ วันละ 1 ครั้ง ใส่ปุ๋ยสูตร 46-0-0 หลังเพาะกล้า 7 วัน และครั้งที่ 2 ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 20-11-11 ในอัตรา 25-30 กิโลกรัม/ไร่ หลังจากครั้งแรก 15 วัน
การเก็บเกี่ยว
[แก้]ใช้มีดตัดกิ่งที่เจริญเติบโตเต็มที่ มัดแล้วนำไปจำหน่าย สามารถเก็บเกี่ยวได้หลายครั้งแต่ถ้ายังไม่มีผู้รับซื้อเกษตรกรสามารถชะลอการเก็บเกี่ยวออกไปได้โดยการเด็ดยอดที่มีดอกทิ้ง จนถึงระยะเวลา 7-8 เดือน หลังจากนั้นผลผลิตจะลดลงเรื่อย ๆ เกษตรกรจึงควรทำการถอนทิ้งเพื่อปลูกใหม่
แหล่งเพาะปลูกแมงลักเชิงการค้า
[แก้]แหล่งเพาะปลูกแมงลักภายในประเทศไทย ให้ผลผลิตเพียง 112 กิโลกรัม ต่อพื้นที่เพียง 148 ไร่เท่านั้น ซึ่งเป็นอัตราส่วนผลผลิตต่อไร่ ที่น้อยมากเมื่อเทียบกับกะเพรา และโหระพา
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Ocimum africanum Lour". WCSP: World Checklist of Selected Plant Families. Catalogue of Life. สืบค้นเมื่อ 2021-06-27.
- ↑ อาหารจากสมุนไพร อร่อย สุขภาพดี. กทม. แม่บ้าน. มปป.หน้า 58 – 59