ข้ามไปเนื้อหา

ยุคเฮอัง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Heian period)

ยุคเฮอัง (ญี่ปุ่น: 平安時代โรมาจิHeian-jidaiทับศัพท์: เฮอังจิได) อยู่ในช่วง ค.ศ. 794 - 1185

ในปลายศตวรรษที่ 8 มีการย้ายเมืองหลวงไปที่ เฮอังเกียว (平安京 Heian-kyou) หรือเมืองเคียวโตะในปัจจุบัน นับเป็นยุคทองของประเทศญี่ปุ่น ที่ทั้งศิลปะและวัฒนธรรมรุ่งเรืองถึงขีดสุด มีการพัฒนาปรับปรุงวัฒนธรรมต่างๆ ที่หยิบยืมมาจากประเทศจีนในสมัยราชวงศ์ถัง และลัทธิขงจื้อ จนกลายเป็นวัฒนธรรมแบบเฉพาะตัวของญี่ปุ่น เฮอัง (平安,Heian) แปลว่า ความสงบสันติ

ประวัติ

[แก้]

ในช่วงปลายสมัยนะระ เกิดโรคระบาดภาวะข้าวยากหมากแพง ตามความเชื่อของชาวญี่ปุ่นในสมัยคลาสสิกว่าการย้ายที่อยู่เพื่อหลีบหนีวิญญาณชั่วร้ายจะช่วยให้รอดพ้นจากภัยพิบัติต่างๆ ในค.ศ. 784 พระจักรพรรดิคัมมุ (桓武, Kammu) ทรงย้ายราชสำนักจากเฮโจวเกียวไปยังนะงะโอะกะ-เคียว (長岡京, Nagaoka-kyō) แต่ก็เกิดเหตุการณ์นองเลือดในราชสำนักอีกพระจักรพรรดิคัมมุทรงเกรงกลัววิญญาณอาฆาตของพระอนุชาของพระองค์ จึงทรงย้ายราชสำนักมายังเฮอัง-เกียว (平安京, Heian-kyō) ที่เมืองเคียวโตะในปัจจุบัน ในค.ศ. 794 การย้ายเมืองหลวงในครั้งนี้เป็นเพียงการย้ายสถานที่เท่านั้น ระบอบการปกครองที่มีต้นแบบมาจากราชวงศ์ถังตั้งแต่ปลายสมัยอะสุกะและอิทธิพลของตระกูลฟุจิวะระก็ยังติดตามมาเช่นเดิม ในสมัยเฮอังตระกูลฟุจิวะระมีอำนาจในฐานะเป็นตระกูลเดียวที่พระจักรพรรดิจะอภิเษกพระจักรพรรดินี และเป็นผู้สำเร็จราชการแทนสำหรับพระจักรพรรดิที่ทรงพระเยาว์ เรียกว่า เซ็สโช (摂政, Sesshō) หรือเป็นที่ปรึกษาคนสำคัญของพระจักรพรรดิ เรียกว่า คัมปะกุ (関白, Kampaku) อำนาจในการปกครองตกอยู่แก่เซ็สโชโดยพระจักรพรรดิที่ทรงพระเยาว์นั้นเป็นเพียงหุ่นเชิด ในสมัยเฮอังสตรีสูญเสียบทบาทและอำนาจในการปกครอง[1] เนื่องจากอิทธิพลแนวความคิดตามแบบลัทธิขงจื้อจากจีนที่เน้นความสำคัญของบุรุษ จะเห็นได้จากการที่ในสมัยเฮอังและในสมัยต่อมาไม่มีพระจักรพรรดินีที่เป็นสตรีปกครองประเทศอีกเลยเป็นเวลานาน สตรีถูกแบ่งแยกจากบุรุษและถูกกีดกัดเข้าสู่ฝ่ายใน แต่กระนั้นสตรีในราชสำนักเฮอังก็ได้กลับขึ้นมามีอำนาจในฐานะ โคไทโง (皇太后, kōtaigō) หรือพระพันปี

ในค.ศ. 833 พระจักรพรรดิจุนนะ (淳和, Junna) ทรงสละราชสมบัติให้แก่พระโอรสบุญธรรมขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระจักรพรรดินินเมียว (仁明, Ninmyō) โดยแต่งตั้งให้พระโอรสของพระจักรพรรดิจุนนะคือองค์ชายซึเนะซะดะ (恒貞, Tsunesada) เป็นองค์ชายรัชทายาทรอคอยการสืบราชสมบัติ แต่อุไดจินฟุจิวะระ โยะชิฟุสะ (藤原 良房, Fujiwara no Yoshifusa) เข้าทำการยึดอำนาจปลดองค์ชายซึเนะซะดะจากตำแหน่งองค์ชายรัชทายาท และตั้งองค์ชายมิฉิยะสุ (道康, Michiyasu) ซึ่งเป็นพระโอรสของพระจักรพรรดินินเมียวและพระจักรพรรดินีฟุจิวะระที่เป็นน้องสาวของโยะชิฟุสะ หรือก็คือหลานของโยะชิฟุสะนั่นเอง เป็นองค์ชายรัชทายาทแทน เรียกว่า"เหตุการณ์ปีโจวะ" เป็นเหตุการณ์ที่นำฟุจิวะระโยะชิฟุสะสู่อำนาจและเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าครอบงำราชสำนักของตระกูลฟุจิวะระ องค์ชายมิฉิยะสุขึ้นครองราชย์เป็นพระจักรพรรดิมงโตกุ (文徳, Montoku) และในค.ศ. 858 พระจักรพรรดิมงโตกุสวรรคตในราชสมบัติ พระโอรสพระจักรพรรดิเซวะ (清和, Seiwa) ขึ้นครองราชสมบัติด้วยพระชนมายุเพียงเก้าชันษา ฟุจิวะระ โยะชิฟุสะจึงขึ้นเป็นเซ็สโชคนแรกในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น

พระจักรพรรดิอุดะ (宇多, Uda) ทรงเป็นจักรพรรดิพระองค์เดียวที่พระมารดาไม่ได้มาจากตระกูลฟุจิวะระ พระจักรพรรดิอุดะทรงสละราชสมบัติในค.ศ. 897 มอบราชสมบัติแก่พระโอรสคือพระจักรพรรดิไดโงะ (醍醐, Daigo) โดยให้ฟุจิวะระ โทะกิฮิระ (藤原 時平, Fujiwara Tokihira) และสุงะวะระ มิฉิซะเนะ (菅原 道真, Sugawara Michizane) คอยช่วยเหลือพระจักรพรรดิที่ทรงพระเยาว์ แต่ฟุจิวะระ โทะกิฮิระ เมื่อได้เป็นเซ็สโชแล้วก็ได้ใส่ร้ายป้ายสีซุงะวะระ มิฉิซะเนะคู่แข่งทางการเมืองของตน จนซุงะวะระถูกเนรเทศและเสียชีวิตในค.ศ. 903 ทันใดนั้นที่เมืองเฮอังก็เกิดภัยภิบัติต่างๆ พระโอรสของพระจักรพรรดิไดโงะรวมทั้งโทะกิฮิระต่างเสียชีวิตจากโรตระบาด จนพระจักรพรรดิไดโงะทรงต้องขอขมาต่อวิญญาณของสุงะวะระ ทำลายเอกสารบันทึกเกี่ยวกับความผิดของสุงะวะระ และยกย่องให้สุงะวะระเป็นเทพแห่งนักปราชญ์ตามศาสนาชินโต

การแบ่งช่วงในยุคเฮอัง

[แก้]

ยุคเฮอังตอนต้น ค.ศ. 782-967

[แก้]
  • ค.ศ. 782-833 ย้ายราชธานีมาสู่นครเฮอังเกียว สถาปนาหน่วยราชการใหม่ๆ เช่น สำนักพระราชเลขานุการส่วนพระองค์ และ สำนักราชองครักษ์หลวงส่วนพระจักรพรรดิ ก่อตั้งพุทธศาสนานิกายเท็นได (天台宗 Tendai-shuu) และ ชินงน (真言宗 Shingon-shuu) ที่ถือสันโดษ และไม่เป็นอันตรายต่อพระราชอำนาจ
  • ค.ศ. 833-877 พระราชอำนาจของพระจักรพรรดิเสื่อมถอยลง อำนาจการปกครองตกอยู่ในเมือขุนนางตระกูลฟุจิวะระ ที่มักจะมีตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการ และ มหาเสนาบดี
  • ค.ศ. 887-967 ช่วงการแย่งชิงอำนาจระหว่างพระจักพรรดิและตระกูลฟุจิวะระ

ยุคเฮอังตอนปลาย ค.ศ. 967-1167

[แก้]
  • ค.ศ. 967-1068 อำนาจการปกครองตกอยู่ในมือตระกูลฟุจิวะระอย่างสมบรูณ์
  • ค.ศ. 1068-1156 องค์พระจักรพรรดิผู้สละราชย์ชิงอำนาจการปกครองกลับคืนมา
  • ค.ศ. 1156-1167 การลุกฮือขึ้นแย่งชิงอำนาจของชนชั้นขุนศึก[2]

ศิลปวัฒนธรรม

[แก้]
ตัวอักษรคะตะนะ

วัฒนธรรมที่เป็นรูปแบบของญี่ปุ่นโดดเด่นมากในสมัยเฮอัง ในศตวรรษที่ 9 ญี่ปุ่นยังคงรับวัฒนธรรมของราชวงศ์ถังอยู่ พุทธศาสนานิกายมิเคียว (密教 Mikkyou) กับการเขียนรูปประโยคแบบจีนแพร่หลายมาก พอเข้าสู่ศตวรรษที่ 10 หลังจากที่ญี่ปุ่นไม่ได้ติดต่อโดยตรงกับภาคพื้นทวีปแล้ว ได้เกิดวัฒนธรรมชนชั้นสูงที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะของญี่ปุ่นเอง วรรณกรรมที่เด่นในเวลานี้ อาทิ “โคะคินวะกะชู” (古今和歌集 Kokinwakashuu) เป็นหนังสือรวมกวีนิพนธ์ญี่ปุ่นเล่มแรกตามพระราชโองการของจักรพรรดิ (ในต้นศตวรรษที่ 10) “ตำนานเก็นจิ” (源氏物語 Genji Monogatari) นวนิยายเรื่องยาวที่นับว่าเก่าแก่ที่สุดเรื่องหนึ่งโลก (ประมาณต้นศตวรรษที่ 11) และ “มะคุระโนะโซชิ” (枕草子 Makura-no-sōshi) หนังสือข้างหมอน[1] เก็บถาวร 2009-12-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (ประมาณ ค.ศ. 1000) วรรณกรรมเหล่านี้เขียนด้วยตัวอักษร คะนะ อีกด้วย ตั้งแต่ช่วงหลังศตวรรษที่ 10 เป็นต้นมา พุทธศาสนานิกายโจโดะ (浄土教 Joudo-kyo) ซึ่งมุ่งหวังความสุขในชาติหน้าเป็นที่นับถืออย่างแพร่หลายเช่นเดียวกับนิกายมิคเคียว ที่หวังผลประโยชน์เฉพาะในชาตินี้ และเราจะเห็นถึงความมีเอกลักษณ์แบบญี่ปุ่นปรากฏอยู่ในวรรณกรรมกับงานศิลปะ เช่น สถาปัตยกรรม การเขียนภาพ การแกะสลัก เป็นต้น

ศาสนา

[แก้]

ในยุคเฮอังพุทธศาสนานิกายวัชรยานจากจีนราชวงศ์ถังเผยแพร่เข้ามาสู่ประเทศญี่ปุ่น แต่เดิมพุทธศาสนาในญี่ปุ่นถูกปกครองโดยพุทธศาสนาหกสำนักแห่งเมืองนาระ (Six schools of Nara) ซึ่งเน้นการคิดวิเคราะห์และศึกษาพระธรรมมากกว่าการปฏิบัติ คณะสงฆ์เมืองนาระมีอำนาจมากทั้งในทางศาสนาและทางโลก ทำให้พระจักรพรรดิคัมมูมีพระประสงค์จะหลีกเลี่ยงอิทธิพลของคณะสงฆ์เมืองนาระ ราชสำนักญี่ปุ่นในยุคเฮอังจึงให้การสนับสนุนแก่พุทธศาสนานิกายวัชรยานใหม่ซึ่งมาจากประเทศจีนเพื่อคานอำนาจกันกับคณะสงฆ์เมืองนาระ ประกอบด้วยนิกายชิงงน (ญี่ปุ่น: 真言โรมาจิShingon) และนิกายเทงได (ญี่ปุ่น: 天台โรมาจิTendai) นิกายวัชรยานซึ่งเน้นเรื่องพิธีกรรมการบูชาทำให้เกิดการผสมผสานระหว่างพุทธศาสนาและศาสนาชินโตหรือความเชื่อดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่น เรียกว่า ชิมบูตสึ-ชูโง (ญี่ปุ่น: 神仏習合โรมาจิShinbutsu-shūgō)

นิกายเทงไดและนิกายชิงงน

[แก้]
หอคมปงชูโด (Konpon-chūdō, 根本中堂) ของวัดเองเรียกุบนเขาฮิเอ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาญี่ปุ่นนิกายเทงได

ในค.ศ. 804 พระภิกษุญี่ปุ่นสองรูปได้แก่ พระภิกษุไซโช (ญี่ปุ่น: 最澄โรมาจิSaichō) และพระภิกษุคูไก (ญี่ปุ่น: 空海โรมาจิKūkai) ลงเรือไปกับคณะทูตเดินทางไปยังประเทศจีนยุคราชวงศ์ถังเพื่อศึกษาพุทธศาสนา ภิกษุไซโชเดินทางไปศึกษาที่เขาเทียนไถในขณะที่ภิกษุคูไกเดินทางไปศึกษาพุทธศาสนาวัชรยานที่เมืองฉางอัน บนเขาเทียนไถพระภิกษุไซโชศึกษาพุทธศาสนานิกายมหายานเทียนไถซึ่งให้ความสำคัญแก่การศึกษาสัทธรรมปุณฑริกสูตร (Lotus Sutra) เป็นสำคัญ ในขณะที่ภิกษุคูไกศึกษาหลักการของพุทธศาสนาวัชรยานตันตระ หรือพุทธศาสนาคุยหยาน (Esoteric Buddhism) ในแบบราชวงศ์ถังเรียกว่าถังมี่ (จีน: 唐密; พินอิน: Tángmì) หรือภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า มิกเกียว (ญี่ปุ่น: 密教โรมาจิMikkyō) ซึ่งเน้นในเรื่องการปฏิบัติและพิธีกรรมเพื่อการบรรลุโพธิจิต หลักการปฏิบัติและพิธีกรรมของวัชรยานนั้นเป็นความลับไม่เปิดเผยแก่คนทั่วไป พระสงฆ์ผู้ซึ่งได้รับการ "อภิเษก" เข้าสู่พุทธศาสนาวัชรยานแล้วเท่านั้นจึงสามารถเข้าถึงหลักคำสอนของวัชรยานได้ ภิกษุคูไกเล่าเรียนกับภิกษุชาวจีนและได้รับการอภิเษกเข้าสู่พิธีกรรมของวัชรยาน เช่นเดียวกับพระภิกษุไซโชซึ่งนอกจากศึกษานิกายเทียนไถแล้วยังได้เรียนรู้พุทธศาสนาวัชรยานจากประเทศจีนอีกด้วย

พิธีโคมะ (Goma) หรือพิธีบูชาไฟ มาจากพิธีโหมกรรมของอินเดีย เป็นพิธีที่สำคัญของนิกายชิงงน เพื่อบูชาวิทยาราชอจละ (Acala) ผู้มีบทบาทในการทำลายสิ่งชั่วร้าย

ภิกษุไซโชศึกษาพุทธศาสนาที่จีนเป็นเวลาประมาณหนึ่งปีจึงเดินทางกลับญี่ปุ่นในค.ศ. 805 และก่อตั้งนิกายเท็งไดขึ้น ในค.ศ. 806 พระจักรพรรดิคัมมูพระราชทานภูเขาฮิเอ (ญี่ปุ่น: 比叡山โรมาจิHiei-zan) ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของนครหลวงเฮอังเกียวให้เป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนานิกายเท็งไดนำไปสู่การก่อตั้งวัดเองเรียกุ (ญี่ปุ่น: 延暦寺โรมาจิEnryaku-ji) ชาวญี่ปุ่นในยุคเฮอังเชื่อว่าทิศอีสานเป็นทิศอัปมงคลการตั้งวัดใหญ่ทางทิศนั้นจะเป็นการป้องกันสิ่งชั่วร้ายและปีศาจต่างๆไม่ให้เข้ามากล้ำกรายนครเฮอังเกียวได้ นิกายเทงไดของญี่ปุ่นมีความแตกต่างจากนิกายเทียนไถของจีน นิกายเทียนไถของจีนเน้นเรื่องการศึกษาสัทธรรมปุณฑริกสูตร แต่นิกายเทงไดมีพิธีกรรมเกี่ยวกับวัชรยานร่วมด้วย ราชสำนักญี่ปุ่นในต้นยุคเฮอังให้การสนับสนุนแก่นิกายเทงได ภิกษุไซโชปฏิรูปพระธรรมวินัยของคณะสงฆ์ในญี่ปุ่นใหม่ แต่เดิมนั้นพระสงฆ์ญี่ปุ่นรับศีลปาติโมกข์ในการอุปสมบทตามรูปแบบของเมืองนาระ พระภิกษุไซโชมีความเห็นว่าศีลปาติโมกข์นั้นเป็นของหีนยานและไม่ใช่มหายานที่แท้จริง พระสงฆ์ในสำนักของไซโชนั้นจึงรับศีลของพระโพธิสัตว์ (Bodhisattva precepts) ในการอุปสมบท ซึ่งการรับศีลของพระโพธิสัตว์แทนการรับศีลปาติโมกข์นั้นจะเป็นแบบอย่างให้แก่พุทธศาสนาญี่ปุ่นนิกายอื่นในอนาคต และเป็นเหตุให้พระสงฆ์ญี่ปุ่นบางนิกายสามารถมีครอบครัวได้

"ครรภธาตุมัณฑละ" เมื่อประกอบกับ "วัชรธาตุมัณฑละ" รวมกันเป็นทวิภพมัณฑละ (Mandala of Two Realms) เป็นมัณฑละที่สำคัญที่สุดในนิกายชิงงน มัณฑละเป็นเครื่องประกอบการเพิ่งจิตเข้าไปในรูปของพระโพธิสัตว์เพื่อการเข้าถึงโพธิจิต

พระภิกษุคูไกเดินทางกลับจากประเทศจีนในค.ศ. 806 ก่อตั้งนิกายชิงงนเป็นนิกายวัชรยานของญี่ปุ่น นิกายชิงงนต้องเผชิญกับการแข่งขันกับนิกายเทงไดซึ่งได้รับการสนับสนุนจากราชสำนักญี่ปุ่น พระภิกษุไซโชต้องการเรียนรู้หลักของพุทธศาสนาวัชรยานจึงแสวงหาความรู้จากพระภิกษุคูไก พระภิกษุคูไกทำพิธีอภิเษกให้แก่พระภิกษุไซโชแต่กระทำพิธีไม่ครบถ้วนและภิกษุคูไกปิดบังความรู้บางส่วนจากพระภิกษุไซโช ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างภิกษุไซโชและภิกษุคูไก เมื่อพระจักรพรรดิซางะประชวรพระภิกษุคูไกมีโอกาสได้ทำพิธีทางวัชรยานเพื่อรักษาอาการประชวรของพระจักรพรรดิซางะ ทำให้พระจักรพรรดิซางะทรงโปรดพระภิกษุคูไกอย่างมากและพระราชทานภูเขาโคยะ (ญี่ปุ่น: 高野山โรมาจิKōyasan) บนเทือกเขาคีอิให้เป็นศูนย์กลางของนิกายชิงงนในค.ศ. 816 นิกายชิงงนมีหลักคำสอนมาจากพระสูตรในนิกายตันตระต่างๆจากอินเดีย เน้นเรื่องการสวด "มนตรา" และการเพิ่งจิตไปที่ "มัณฑละ" เพื่อการบรรลุโพธิจิตและบูชาพระโพธิสัตว์และเทพต่างๆโดยเฉพาะพระไวโรจนพุทธะ มีการใช้อักษรสิทธัมในการจารมันฑละ นิกายชิงงนบูชาพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ต่างๆ รวมทั้งบูชาวิทยาราชท้าวจตุโลกบาลและเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์เช่นพระอินทร์หรือไทชากูเท็ง (ญี่ปุ่น: 帝釈天โรมาจิTaishaku-ten)

อย่างไรก็ตามในช่วงปลายยุคเฮอังวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ในญี่ปุ่นเสื่อมลง นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างพุทธศาสนานิกายต่างๆในญี่ปุ่น พุทธศาสนานิกายต่างๆทั้งในเมืองเฮอังเกียวและเมืองนาระต่างสะสมกองกำลังไว้เพื่อสร้างฐานอำนาจและเพื่อป้องกันตนเองจากการคุกคามจากสำนักอื่น นำไปสู่การกำเนิดของพระสงฆ์นักรบหรือโซเฮ (ญี่ปุ่น: 僧兵โรมาจิSōhei) โดยเฉพาะกองกำลังโซเฮของวัดเองเรียกุบนเขาฮิเอและวัดมิอิ (ญี่ปุ่น: 三井寺โรมาจิMii-dera) ได้ชื่อว่าเป็นกองกำลังที่เข้มแข็ง ไทระ โนะ คิโยโมริ เข้าต่อสู้กับกองทัพโซเฮของเขาฮิเอแต่ต่อมาได้รับความช่วยเหลือจากกองกำลังกองเขาฮิเอในสงครามเก็มเป ความเสื่อมของพุทธศาสนาในปลายยุคเฮอังนำไปสู่การแยกตัวและการกำเนิดพุทธศาสนานิกายใหม่ๆได้แก่นิกายโจโด หรือนิกายแดนบริสุทธิ์สุขาวดี และนิกายเซ็น

ศาสนาชูเกนโด

[แก้]

ศาสนาชูเกนโด (ญี่ปุ่น: 修験道โรมาจิShugendō) เกิดขึ้นจากการผสมผสานระหว่างการปฏิบัติฝึกตนของพุทธศาสนา พิธีกรรมของวัชรยาน และความเชื่อของศาสนาชินโต ศาสนาชูเกนโดเกิดขึ้นจากเอง โนะ เกียวจะ (ญี่ปุ่น: 役行者โรมาจิEn no Gyōja) นักบวชในยุคนาระผู้ริเริ่มการธุดงค์เป็นฤๅษีบำเพ็ญเพียรตามป่าเขาเพื่อฝึกจิตแสวงหาทางหลุดพ้นพร้อมทั้งบูชาเทพเจ้าในศาสนาชินโตไปด้วยกัน ต่อมาในยุคเฮอังลัทธิชูเกนโดรับพิธีกรรมของพุทธศาสนาวัชรยานไปประกอบด้วย นักบวชในศาสนาชูเกนโดซึ่งอาศัยอยู่ตามป่าเขาเรียกว่า ชูเกงจะ (ญี่ปุ่น: 修験者โรมาจิShugenja) หรือ ยามาบูชิ (ญี่ปุ่น: 山伏โรมาจิYamabushi) ศาสนาชูเกงโดมีต้นกำเนิดและมีศูนย์กลางอยู่ที่ภูเขาโยชินะ (Yoshino จังหวัดนาระในปัจจุบัน) ซึ่งต่อมาเผยแพร่ไปยังภูเขาแห่งอื่นๆในประเทศญี่ปุ่น

ลัทธิอมเมียว

[แก้]
อาเบะ โนะ เซเม (Abe no Seimei) นักพรตในลัทธิอมเมียวผู้มีชื่อเสียงในยุคเฮอัง

ลัทธิอมเมียว หรือ อมเมียวโด (ญี่ปุ่น: 陰陽道โรมาจิOnmyōdō) แปลว่า "วิถีทางแห่งหยินและหยาง" หรือลัทธิหยินหยาง เป็นการนำปรัชญาของลัทธิเต๋ามาผสมรวมกับความเชื่อดั้งเดิมของญี่ปุ่นในศาสนาชินโต ลัทธิอมเมียวเกี่ยวข้องกับโชคลางและโหราศาสตร์การพยากรณ์อนาคต ในยุคเฮอังชนชั้นสูงและราชสำนักญี่ปุ่นมีความเชื่อเกี่ยวกับความโชคดีและความโชคร้าย มีการจ้างนักพรตในลัทธิอมเมียวเพื่อคอยดูแลโชคชะตาของขุนนางและปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายปราบภูตผีปีศาจต่างๆ นักพรตที่รับราชการในราชสำนักญี่ปุ่นเรียกว่าอมเมียวจิ (ญี่ปุ่น: 陰陽師โรมาจิOnmyōji) ซึ่งมีหน้าที่คอยปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้ออกไปจากบ้านเมืองรวมทั้งแปลความหมายของลางบอกเหตุธรรมชาติพยากรณ์เหตุการณ์สำคัญต่างๆ นักพรตอมเมียวจิที่มีชื่อเสียงในยุคเฮอังได้แก่อาเบะ โนะ เซเม (ญี่ปุ่น: 安倍 晴明โรมาจิAbe no Seimei)

สถาปัตยกรรม

[แก้]

รูปแบบสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นในยุคนี้คือ สถาปัตยกรรมแบบชินเด็ง (寝殿造 Shinden-zukuri) หลักๆจะประกอบด้วยเรือนหลัก ( Shinden ) และเรือนต่อขยายด้านตะวันตกและตะวันออก เชื่อมกับเรือนหลักด้วยทางเดินที่มีหลังคาคลุม เรือนหลักจะหันหน้าไปทางทิใต้ซึ่งเป็นทิศมงคลตามคติแบบจีน เรือนทางทิศเหนือนั้นจะจัดให้เป็นที่พำนักของภรรยาหลวงเสมอ ดังนั้นในสมัยนั้นเรียกภรรยาหลวงว่า คิตะโนะคะตะ (北の方 Kita-no-kata - ผู้ที่อยู่ทางทิศเหนือ ) ด้านหน้าเป็นสวนที่ประกอบด้วยสระน้ำ เกาะ เนินเขาจำลอง และสะพาน มีกำแพงดินล้อมรอบหมู่คฤหาสน์ทั้งหมด หลังคานิยมมุงด้วยเปลือกสนที่ซ้อนกันเป็นชั้นหนามากกว่ากระเบื้อง เพราะกระเบื้องแบบจีนนั้นไม่เหมาะกันอากาศของญี่ปุ่น พื้นจะเป็นพื้นไม้กระดาน ไม่มีเสื่อวาง เรือนด้านตะวันออกส่วนใหญ่จะมีทางเดินยาวเชื่อมสู่เรือนตกปลา (釣殿 Tsuri-dono) ที่สร้างเหนือลำธารหรือสระน้ำ

เรือนแบบชินเด็งแต่ละหลัง สามารถแบ่งห้องได้ตั้งแต่ 4 ห้องถึง 9 ห้อง โดยใช้ฉาก หรือ ราวผ้าม่านเป็นเครื่องกั้นหองตามขนาดความต้องการใช้งาน ห้องที่มีข้างฝาและประตูมิดชิดมี 1 ห้องเรียกว่า โมะยะ สถาปัตยกรรมแบบชินเด็งนี้จะเย็นสบายในฤดูร้อน แต่ในฤดูหนาวจะหนาวเย็นมาก[3]

เหตุการณ์ที่สำคัญ

[แก้]
  • ค.ศ. 794 - ย้ายเมืองหลวงไปที่เฮอังเกียว (เมืองเคียวโตะะในปัจจุบัน)
  • ค.ศ. 804 - ส่งพระไซโช (最澄 Saichou) และ คูไก (空海 Kukai) ไปยังประเทศจีนในสมัยราชวงศ์ถังตามคำแนะนำของราชทูตญี่ปุ่น
  • ค.ศ. 805 - พระไซโช เดินทางกลับญี่ปุ่น และก่อตั้งศาสนาพุทธ นิกายเทนได
  • ค.ศ. 806 - พระคูไก เดินทางกลับญี่ปุ่น และก่อตั้งศาสนาพุทธ นิกายชินงอน
    • อำนาจของจักรพรรดิเริ่มสั่นคลอน จากการขึ้นมามีอำนาจของตระกูลฟูจิวาระ ที่ได้รับตำแหน่งสูงในราชสำนัก นอกจากนี้ยังได้อำนาจมาจากการไปแต่งงานกับเชื้อพระวงศ์ของจักรพรรดิด้วย
  • ค.ศ. 884 - โมโททสึเนะ ฟุจิวะระ ได้รับแต่งตั้งเป็น คัมปากุ ตำแหน่งผู้สำเร็จราชการผู้อาวุโส ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของขุนนาง และทำให้ตระกูลฟุจิวะระยึดครองอำนาจในราชสำนัก
  • ค.ศ. 894 - มิจิซาเนะ สุงาวาระ (ซึ่งเป็นตระกูลที่จักรพรรดิทรงให้การอุปถัมภ์เพื่อยับยั้งการมีอำนาจของตระกูลฟูจิวาระ) ได้สั่งระงับการส่งทูตไปเมืองถังของจีน (เนื่องจากการเมืองในจีนกำลังวุ่นวาย) ส่งผลให้การรับวัฒนธรรมจากแผ่นดินใหญ่ยุติลงด้วย แต่ส่งผลทำให้อารยธรรมญี่ปุ่นเริ่มที่จะมีลักษณะและรูปแบบพิเศษเฉพาะเป็นของตนเอง
  • ค.ศ. 901 - สุงาวาระ ถูกเนรทศไปอยู่ที่ดาไซฟุ เกาะคีวชู เนื่องจากถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการวางแผนล้มล้างการปกครอง
    • มีการประดิษฐ์อักษรคานะ โดยพระคูไก ประกอบด้วยพยางค์ทั้งหมด 47 ตัว โดยดัดแปลงมาจากตัวอักษรของจีน และนำมาใช้กันอย่างกว้างขวาง นับเป็นการเปิดทางให้แก่งานเขียนที่มีรูปแบบเป็นของญี่ปุ่นอย่างแท้จริง และมีการใช้กันอย่างแพร่หลายแทนถ้อยคำสำนวนที่ยืมมาจากภาษาจีน
  • ค.ศ. 1010 - ชิกิบุ มุราซากิ เขียนนิยายเรื่อง เกนจิ โมโนงาตาริ
  • ค.ศ. 1016 - มิจินางะ ฟุจิวะระ ได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และตระกูลฟุจิวะระได้ก้าวเข้าสู่ยุคแห่งความรุ่งเรือง
    • กลุ่มขุนนางที่ปกครองในส่วนภูมิภาคได้เริ่มตั้งตนเป็นหัวหน้าของพวกนักรบ หรือ พวกบูชิโด ที่เกิดจากการที่สมาชิกต่างๆของครอบครัวได้จัดตั้งองค์กรทางทหารของตนขึ้นมาทำการปกครองมณฑลต่างๆ
    • ในตอนปลายของศตวรรษที่11 ได้เกิดการต่อสู้ระหว่างกองทหารของพวกนักรบในมณฑลทางเหนือหลายครั้ง และตระกูลมินาโมโตะได้มีชื่อเสียงและอิทธิพลที่สุดในแถบคันโต
  • ค.ศ. 1051 - โยริโยชิ มินาโมโตะ ได้ปราบปรามกลุ่มกบฏของตระกูลอาเบะที่โอชู
  • ค.ศ. 1053 - หอนกฟินิกซ์ในวัดเบียวโดอิน ได้สร้างเสร็จสมบูรณ์
  • ค.ศ. 1083 - โยชิอิเอะ มินาโมโตะ ได้ปราบปรามตระกูลคิโยฮาระที่โอชู
  • ค.ศ. 1086 - จักรพรรดิชิรากาวะ เป็นจักรพรรดิองค์แรกที่สละบัลลังก์ออกบวช แต่ยังกุมอำนาจทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง และต่อมาก็มีจักรพรรดิอีกหลายองค์ที่ทำเช่นเดียวกัน จักรพรรดิชิรากาวะได้แสวงหาวิธีการที่จะต่อต้านอิทธิพลของตระกูลมินาโมโตะ จึงได้แต่งตั้งคนในตระกูลไทระ เป็นที่ปรึกษาของพระองค์
  • ค.ศ. 1156 - ศึกโฮเงน แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองและความมีอำนาจของชนชั้นนักรบ
  • ค.ศ. 1180 - เกิดสงครามเก็มเป เป็นการต่อสู้ระหว่างตระกูลไทระ กับตระกูลมินาโมโตะ ผลคือตระกูลมินาโมโตะ เป็นฝ่ายชนะ และทำให้ตระกูลมินาโมโตะ ขึ้นมามีอำนาจสูงสุดในราชสำนัก
  • ค.ศ. 1185- ตระกูลไทระ ถูกทำลายล้างโดยตระกูลมินาโมโตะ ในศึกดันโนะอุระ[4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Fukutō Sanae, Takeshi Watanabe. From Female Sovereign to Mother of the Nation, Heian Japan, centers and peripheries. 2007
  2. คุโระอิตะ คัตสึมิ, Kokoshi no Kenkyuu, หน้า 6
  3. [http://www.lizadalby.com/LD/TofM_archi.html" Heian 'a architecture "] เก็บถาวร 2015-05-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.โดย Lisa Dalby.tale of murasaki .
  4. " เหตุการณ์สำคัญสมัยเฮอัง " เก็บถาวร 2009-02-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. โดย sss513002.ไทยกู๊ดวิว.