ซีเอช-47 ชีนุก
ซีเอช-47 ชีนุก | |
---|---|
ข้อมูลทั่วไป | |
บทบาท | เฮลิคอปเตอร์ลำเลียง |
บริษัทผู้ผลิต | โบอิง โรเตอร์คราฟท์ ซิสเทมส์ |
สถานะ | ประจำการ |
ผู้ใช้งานหลัก | กองทัพบกสหรัฐ กองกำลังป้องกันตนเองทางบกของญี่ปุ่น กองทัพอากาศเนเธอร์แลนด์ |
จำนวนที่ผลิต | มากกว่า 1,179 ลำ[1] |
ประวัติ | |
เริ่มใช้งาน | พ.ศ. 2505 |
เที่ยวบินแรก | 21 กันยายน พ.ศ. 2504 |
สายการผลิต | โบอิง ชีนุก (สหราชอาณาจักร) |
ซี-47 ชีนุก (อังกฤษ: CH-47 Chinook) เป็นเฮลิคอปเตอร์ใบพัดเรียงขนาดหนักสองเครื่องยนต์ มันมีความเร็วสูงสุดที่ 315 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเร็วกว่าเฮลิคอปเตอร์อเนกประสงค์หรือเฮลิคอปเตอร์โจมตีในทศวรรษที่ 2503 หรือแม้แต่บางลำในปัจจุบัน บทบาทของมันคือการขนส่งทหาร ปืนใหญ่ และเสบียงเข้าสู่สมรภูมิ มันมีทางลาดด้านท้ายขนาดใหญ่และตะขอแขวนสินค้าอีกสามจุดที่ด้ายนอก
ชีนุกถูกออกแบบและเริ่มผลิตโดยโบอิง เวอร์ทอลเมื่อต้นทศวรรษที่ 2503 ปัจจุบันมันถูกผลิตโดยโบอิง อินเตอร์เกรทเต็ด ดีเฟนซ์ ซิมเทมส์ ชีนุกได้ถูกขายให้กับ 16 ประเทศ ผู้ใช้รายใหญ่ที่สุดคือกองทัพบกสหรัฐและกองทัพอากาศสหราชอาณาจักรซึ่งใช้โบอิง ชีนุก
การออกแบบและการพัฒนา
[แก้]ในปลายปีพ.ศ. 2499 กระทรวงกองทัพบกได้ประกาศแผนในการหาเฮลิคอปเตอร์เข้ามาแทนที่ซีเอช-37 โมเจฟ ซึ่งใช้เครื่องยนต์ลูกสูบ โดยจะหาลำที่ใช้เครื่องยนต์เทอร์ไบน์เข้ามาแทน การแข่งขันการออกแบบได้เกิดขึ้นและในเดือนกันยายน พ.ศ. 2501 การร่วมกันเลือกของกองทัพบกและกองทัพอากาศก็ทำให้เกิดแนวโน้มในการเลือกเฮลิคอปเตอร์ขนส่งขนาดกลางของเวอร์ทอลให้กับกองทัพบก อย่างไรก็ตามด้วยทุนที่จำกัดในการพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบทำให้การออกแบบเหล่านั้นไม่มากพอต่อความต้องการของกองทัพบก บางคนในกองทัพรู้สึกว่าเฮลิคอปเตอร์แบบใหม่นี้ควรจะเป็นยานพาหนะยุทธวิธีขนาดเบาที่เน้นไปที่บทบาทของเอช-21 และเอช-34 และขนทหารได้ประมาณ 15 นาย อีกปัจจัยหนึ่งเชื่อว่ายานขนส่งแบบใหม่นี้ควรมีขนาดใหญ่กว่าเพื่อที่จะได้ขนปืนใหญ่ได้ ปัญหาเรื่องขนาดเหล่านี้ทำให้ยากในการตัดสินใจ
เวอร์ทอลเริ่มงานกับเฮลิคอปเตอร์ใบพัดเรียงที่ใช้ชื่อว่าเวอร์ทอล โมเดล 107 หรือวี-107 ในปีพ.ศ. 2500[2] ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2501 กองทัพอากาศได้ทำสัญญากับเวอร์ทอลเพื่อสร้างวายเอชซี-1เอขึ้นมา[3] วายเอชซี-1เอถูกทดสอบโดยกองทัพบกเพื่อประเมินข้อมูลด้านกลไลและการปฏิบัติงาน เครื่องบินทั้งสามลำถูกสร้างขึ้นโดยขนทหารได้ 20 นาย อย่างไรก็ดีวายเอชซี-1เอถูกมองว่าหนักเกินไปที่จะใช้สำหรับการโจมตีและเบาเกินไปที่จะทำหน้าที่ขนส่ง การตัดสินใจเกิดขึ้นเพื่อให้เกิดเฮลิคอปเตอร์ขนส่งขนาดหนักและในเวลาเดียวกันก็ทำการพัฒนาฮิวอี้ให้เป็นยานลำเลียงทหารทางยุทธวิธี การตัดสินใจนั้นก็เพื่อคงรูปแบบของปฏิบัติการอากาศยานสำหรับทศวรรษถัดไป ผลที่ตามมาคือแนวคิดปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของกองทัพแตกต่างจากของนาวิกโยธิน เพราะว่ามีความต้องการด้านอุปกรณ์ที่แตกต่างกันในการใช้งาน[4] วายเอชซี-1เอจึงถูกพัฒนาและกลายเป็นซีเอช-46 ซีไนท์สำหรับกองทัพเรือและนาวิกโยธินในปีพ.ศ. 2505
จากนั้นกองทัพได้สั่งซื้อโมเดล 114 ที่ใหญ่กว่าโดยใช้ชื่อว่าเอชซี-1บี วายเอชซี-1บีที่สร้างออกมาก่อนการผลิตทำการบินครั้งแรกในวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2504 ในปีพ.ศ. 2505 เอชซี-1บีได้รับชื่อใหม่ว่าซีเอช-47เอ คำว่า"ชีนุก" (Chinook) นั้นมาจากชนเผ่าชีนุกที่อาศัยอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของแปซิฟิก
ชีนุกมีเครื่องยนต์เทอร์โบชาฟท์สองเครื่องยนต์ ติดตั้งอยู่ที่โคนของใบพัดหลังและเชื่อมติดกันโดยไดรฟท์ชาฟท์ หากเครื่องยนต์เสียไปหนึ่ง อีกเครื่องก็ยังสามารถขับใบพัดทั้งสองต่อไปได้[5]
ขนาดของชีนุกนั้นมาจากการเติบโตของฮิวอี้และช่างเทคนิคของกองทัพบกที่ยืนกรานว่าการโจมตีทางอากาศเป็นสิ่งที่จำเป็น เกิดวิกฤติการโครงการฮิวอี้เมื่อช่างเทคนิคยืนกรานว่าจะไม่ให้มีแบบใหม่ที่เกินไปกว่ายูเอช-1บี ซึ่งนั่นหมายความว่าควรจะมีเฮลิคอปเตอร์แบบใหม่ที่อยู่ระหว่างฮิวอี้และเฮลิคอปเตอร์ขนส่งขนาดกลาง ด้วยการผลักดันฮิวอี้และชีนุก กองทัพได้เร่งโครงการอากาศยานต่อปี[6]
ซีเอช-47 ที่ได้รับการพัฒนาและทรงพลังยิ่งขึ้นถูกพัฒนาตั้งแต่มันเข้าประจำการ
ชีนุกสำหรับการตลาด โบอิง-เวอร์ทอล โมเดล 234 ถูกใช้ไปทั่วโลกสำหรับการขนส่ง ก่อสร้าง ดับไฟป่า และการสำรวจปิโตรเลียม ในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2549 บริษัทเฮลิคอปเตอร์ของโคลัมเบียได้ซื้อแบบสั่งพิเศษของโมเดล 234 จากเวอร์ทอล[7] ปัจจุบันบริษัทกำลังมองหาใบอนุญาตจากสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติเพื่อผลิตแบบสั่งพิเศษ
ชีนุกยังถูกผลิตภายใต้ใบอนุญาตโดยเอลิคอทเตอร์ริ เมอร์ริดิโอนอลลิในอิตาลีและคาวาซากิในญี่ปุ่น
ประวัติการใช้งาน
[แก้]สงครามเวียดนาม
[แก้]ในที่สุดกองทัพบกก็ได้ชีนุกขนาดใหญ่มาเป็นเฮลิคอปเตอร์ขนส่งขนาดกลางและในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509 มีเฮลิคอปเตอร์ 161 ลำถูกส่งมอบให้กับกองทัพ กองพลทหารม้าที่ 1 ของสหรัฐได้นำกองพันชีนุกเข้าร่วมในปีพ.ศ. 2508 และแยกออกมาเป็นกองร้อยในเวลาต่อมา โดยเข้าร่วมในสงครามเวียดนามในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508
ภารกิจส่วนใหญ่ในเวียดนามของชีนุกคือการขนย้ายปืนใหญ่ในภูเขาที่เข้าถึงได้ยาก และคอยเติมเสบียง กองพลทหารม้าที่ 1 พบว่าชีนุกขนได้ไม่เกิน 7 พันปอนด์เมื่อทำงานในเขตภูเขา แต่สามารถบรรทุกเพิ่มได้ 1 พันปอนด์เมื่อทำงานใกล้ชายฝั่ง การออกแบบแรก ๆ ของชีนุกนั้นมีข้อจำกัดเรื่องระบบใบพัดซึ่งไม่สามารถใช้พลังงานได้อย่างเต็มที่ และผู้ใช้ต้องการรุ่นใหม่ที่ดีกว่า
เช่นเดียวกับชิ้นส่วนใหม่ ๆ ชีนุกมีปัญหาในเรื่องของการสอนนักบิน ผู้บัญชาการ นักบิน และหัวหน้าลูกเรือต้องตระหนักเสมอถึงน้ำหนักของทหารในห้องเก็บสินค้า ไม่นานชีนุกก็พิสูจน์ตนเองว่าเหมาะกับการเคลื่อนย้ายปืนใหญ่และเสบียงมากกว่าใช้ลำเลียงทหาร การตัดสินใจช่วงแรก ๆ ที่จะเปลี่ยนไปใช้เฮลิคอปเตอร์ขนาดนี้ฟังดูเป็นสิ่งที่มีเหตุผล[8]
เดิมทีชีนุกมีปืนกลเอ็ม60 ขนาด 7.62 ม.ม.หนึ่งกระบอกที่ข้างใดข้างหนึ่งของลำตัวไว้เพื่อป้องกัน มันมีกรอบเอาไว้เพื่อป้องกันไม่ให้พลปืนพลาดยิงโดนใบพัด เครื่องกรองฝุ่นถูกติดตั้งเข้าไปเพื่อเพิ่มเสถียรภาพของเครื่องยนต์ เมื่อถึงจุดสูงสุดในการใช้งานในเวียดนาม ชีนุกก็มีถึง 22 หน่วยที่ใช้ปฏิบัติการ
สงความอิรัก-อิหร่าน
[แก้]หลังจากข้อตกลงระหว่างโบอิงกับอกุสต้าเกิดขึ้น กองทัพอากาศจักรวรรดิอิหร่านก็ได้ซื้อซีเอช-47ซี 20 ลำในปีพ.ศ. 2514 กองทัพบกจักรวรรดิอิหร่านได้ซื้อซีเอช-47ซี 70 ลำจากอกุสต้าในช่วงปีพ.ศ. 2515–2519 ในปลายปีพ.ศ. 2521 อิหร่านได้วางแผนที่จะสั่งซื้อเพิ่มอีก 50 ลำ แต่ก็ถูกยกเลิกไปเพราะเกิดการปฏิวัติขึ้นเสียก่อน
ประมาณวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2521 ซีเอช-47ซี 4 ลำของอิหร่านได้เจาะทะลุเข้าไปในน่านฟ้าของโซเวียตเป็นระยะ 15–20 กิโลเมตรในเขตทหารของเติร์กเมนิสถาน พวกมันถูกสกัดกั้นโดยมิก-23 เอ็ม แต่หนึ่งลำถูกยิงตก ลูกเรือ 8 คนเสียชีวิต และลำที่สองถูกบังคับให้ลงจอด ชีนุกถูกใช้โดยกองกำลังผู้ภักดีของจักรวรรดิอิหร่าน ในความพยายามเพื่อต่อต้านการปฏิวัติอิหร่านซึ่งเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2522[9]
อิหร่านเสียชีนุกไปอย่างน้อย 8 ลำในช่วงปีพ.ศ. 2523–2531 ขณะทำสงครามกับอิรัก ในวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2525 เครื่องมิราจ เอฟ-1 ของอิรักได้ยิงซีเอช-47 ของอิหร่านตก 3 ลำในขณะที่พวกเขาบินในระดับต่ำเพื่อส่งทหารเข้าไปในแนวหน้า
สงครามฟอล์กแลนด์
[แก้]ชีนุกถูกใช้โดยอาร์เจนตินาและสหราชอาณาจักรในสงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด์เมื่อปีพ.ศ. 2525 กองทัพอากาศอาร์เจนตินาและกองทัพบกอาร์เจนตินาใช้ซีเอช-47ซี 4 ลำซึ่งทำงานทั่วไป ลำหนึ่งของกองทัพบกถูกทำลายขณะจอดโดยแฮริเออร์และอีกลำถูกยึดโดยอังกฤษ ทั้สองลำถูกคืนให้กับอาร์เจนตินาและประจำการอยู่จนถึงปีพ.ศ. 2545[10]
อิรักและอัฟกานิสถาน
[แก้]มีซีเอช-47ดีประมาณ 163 ลำทำหน้าที่ในคูเวตและอิรักในปฏิบัติการดีเซิร์ทชีลด์และพายุทะเลทรายใรปีพ.ศ. 2533-2534[11]
ปัจจุบันซีเอช-47ดีถูกใช้บ่อยครั้งในปฏิบัติการเอ็นดัวริ่งฟรีดอมในอัฟกานิสถานและปฏิบัติการปลดปล่อยอิรักในอิรัก ชีนุกถูกใช้ในภารกิจโจมตีทางอากาศ ส่งทหารเข้าฐานยิ่ง และส่งเสบียง มันยังทำหน้าที่ในการส่งคนเจ็บทางอากาศให้กับกองทัพอังกฤษอีกด้วย มันมักได้รับการคุ้มกันจากเฮลิคอปเตอร์โจมตีอย่างเอเอช-64 อาพาชี่ ซีเอช-47ดีมักมีประโยชน์ในบริเวณภูเขาของอัฟกานิสถานซึ่งความสูงและอุณหภูมิเป็นขีดจำกัดของยูเอช-60 แบล็กฮอว์ก
ชีนุกของฮอลแลนด์ถูกใช้ในคอซอวอ อิรัก และซีเอช-47ดีจำนวนมากถูกส่งเข้าไปในอัฟกานิสถาน ทางของออสเตรเลียก็มีส่วนร่วมในอัฟกานิสถานเช่นกัน
รุ่นต่าง ๆ
[แก้]ซีเอช-47เอ
[แก้]เดิมทีเป็นรุ่นขนาดกลางที่มีเครื่องยนต์ไลคอมมิ่ง ที55-แอล-5 ที่ให้กำลัง 2,200 แรงม้า แต่ถูกแทนที่ด้วยที-55-แอล-7 ที่ให้กำลัง 2,650 แรงม้าหรือที-55-แอล-7ซีที่ให้กำลัง 2,850 แรงม้าแทน ซีเอช-47เอถูกใช้ในกองทัพสหรัฐเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2505 โดยสร้างออกมาทั้งสิ้น 349 ลำ
เอซีเอช-47เอ
[แก้]เดิมทีรู้จักกันในชื่อ Armed/Armored CH-47A มันได้รับชื่ออย่างเป็นทางการว่าเอซีเอช-47เอโดยกองทัพสหรัฐ ย่อมาจาก Attack Cargo Helicopter (เฮลิคอปเตอร์ลำเลียงโจมตี) มีซีเอช-47เอสี่ลำที่ถูกดัดแปลงให้เป็นรุ่นดังกล่าวโดยบริษัทโบอิงเวอร์ทอลเมื่อปีพ.ศ. 2508 มีสามลำที่ถูกส่งเข้ากองทัพเพื่อทำการทดสอบในเวียดนาม โดยอีกหนึ่งลำถูกนำไปทดสอบด้านอาวุธในสหรัฐ ในปีพ.ศ. 2511 มันก็เหลือเพียงหนึ่งลำและต่อมาโครงการก็ถูกยกเลิกไป
เอซีเอช-47เอมีปืนกลเอ็ม60ดีขนาด 7.62x51 ม.ม.หรือเอ็ม-2เอชบี ขนาด .50 คาลิเบอร์ ปืนใหญ่อากาศเอ็ม24เอ1 ขนาด 20 ม.ม.สองกระบอก เครื่องยิงจรวดมาร์ก 4 เก้าท่อสองเครื่องหรือกระเปาะปืนเอ็ม18เอ1 ขนาด 7.62x51 ม.ม.สองกระเปาะ และปืนยิงลูกระเบิดเอ็ม75 ขนาด 40 ม.ม.หนึ่งกระบอก ลำสุดท้ายที่เหลืออยู่ถูกนำไปแสดงในคลังแสงเรดสโตนในรัฐแอลละบามา[12][13][14]
ซีเอช-47บี
[แก้]เป็นรุ่นแก้ไขในขณะที่ทางโบอิงกำลังทำการพัฒนารุ่นซีขึ้นมา รุ่นบีมีเครื่องยนต์ไลคอมมิ่ง ที55-แอล-7ซีที่ให้กำลัง 2,850 แรงม้าสองเครื่องยนต์ มันมีจุดเด่นที่ใบพัดส่วนหลังและลำตัว มันสามารถติดตั้งปืนกลเอ็ม60ดีไว้ที่ทั้งสองประตูและที่ทางลาดท้ายลำได้อีกด้วย บางลำมีแก๊สน้ำตาหรือนาปาล์ม รุ่นบีสามารถติดตั้งรอกและตะขอได้ ชีนุกได้พิสูจน์ว่ามีประโยชน์ในการขนย้ายอากาศยาน มันได้ช่วยเครื่องบินไว้ 12,000 ลำคิดเป็นมูลค่า 3,600 ล้านดอลลาร์ในสงคราม พวกมันถูกผลิตออกมา 108 ลำ
ซีเอช-47ซี
[แก้]รุ่นซีมีเครื่องยนต์และระบบส่งกำลังที่ทรงพลังกว่า[15] มันถูกสร้างออกมาสามลำ ลำแรกใช้เครื่องยนต์ไลคอมมิ่ง ที55-แอล-7ซีที่ให้กำลัง 2,850 แรงม้า รุ่นซูเปอร์ซีใช้เครื่องยนต์ไลคอมมิ่ง ที55-แอล-11 ที่ให้กำลัง 3,750 แรงม้าและมีน้ำหนักรวม 21,000 กิโลกรัมรวมทั้งระบบเพิ่มความเสถียร เนื่องมาจากความยุ่งยากของเครื่องยนต์ ที55-แอล-11 ซึ่งถูกรีบนำเข้าสงคราม พวกมันจึงถูกนำออกชั่วคราวในปีพ.ศ. 2513 และแทนที่ด้วยที55-แอล-7ซีแทนจนกระทั่งเครื่องยนต์แบบเดิมถูกแก้ไข รุ่นเอ บี และซีนั้นไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติให้พลเรือนใช้งานเพราะการทำงานของระบบเพิ่มกำลังไฮดรอลิก ระบบที่ถูกออกแบบใหม่ถูกใส่เข้าไปในรุ่นดีจนได้รับการรับรองและมีชื่อว่าโบอิง โมเดล 243 รุ่นซีถูกสร้างออกมา 233 ลำ
รุ่นเอ บี และซีถูกใช้อย่างกว้างขวางในสงครามเวียดนาม พวกมันเข้ามาแทนที่เอช-21 ชอว์นีในบทบาทเข้าสนับสนุนการโจมตี
กองทัพอากาศอังกฤษมีรุ่นซีที่เรียกว่าชีนุก เอชซี1 รุ่นส่งออกของรุ่นซีของอิตาลีมีชื่อว่าซีเอช-47ซี พลัส
ซีเอช-64ดี
[แก้]ซีเอช-64ดีเดิมทีใช้เครื่องยนต์ที55-แอล-712 สองเครื่องยนต์ แต่ส่วนใหญ่ในปัจจุบันหันมาใช้ที55-จีเอ-714เอแทน รุ่นเอ บี และซีทั้งหมดใช้โครงสร้างเหมือนกันหมด แต่ในรุ่นต่อ ๆ มาจะมีจุดเด่นที่เครื่องยนต์ ด้วยระบบตะขอสินค้าของมัน รุ่นดีจึงสามารถบรรทุกสินค้าภายในได้ถึง 26,000 ปอนด์ เช่น รถไถและตู้สินค้าขนาด 40 ฟุต รุ่นดีถูกนำมาใช้ครั้งแรกในปีพ.ศ. 2522 ในปฏิบัติการจู่โจมทางอากาศมันมักทำหน้าที่เป็นพาหนะลำเลียงปืนใหญ่เอ็ม198 ฮาวไอเซอร์ ขนาด 155 ม.ม.พร้อมกระสุนอีก 30 นัด และลูกเรืออีก 11 นาย นอกจากนี้มันยังมีระบบจีพีเอสอีกด้วย
รุ่นดีของกองทัพบกเกือบทั้งหมดถูกดัดแปลงมาจากรุ่นเอ บี และซี ซึ่งมีทั้งสิ้น 472 ลำที่ถูกดัดแปลงเป็นรุ่นดี รุ่นดีลำสุดท้ายถูกส่งมอบให้กับกองกำลังสำรองสหรัฐในรัฐเท็กซัสเมื่อต้นปีพ.ศ. 2545[16]
กองทัพอากาศอังกฤษมีรุ่นดีที่เรียกว่าชีนุก เอชซี2 และเอชซี2เอ รุ่นเอสดีเป็นรุ่นดัดแปลงของรุ่นดีโดยมีถังเชื้อเพลิงใหญ่ขึ้นและความจุสินค้าที่มากกว่าเดิม มันถูกใช้โดยกองทัพอากาศสาธารณรัฐสิงคโปร์ กองทัพบกกรีซ และสาธารณรัฐประชาชนจีน รุ่นดีจีเป็นรุ่นพัฒนาของรุ่นซีสำหรับกองทัพกรีซ
เอ็มเอช-47ดี
[แก้]เอ็มเอช-47ดีถูกพัฒนาขึ้นสำหรับหน่วยรบพิเศษและสามารถเติมเชื้อเพลิงทางอากาศได้ มันมีระบบโรยตัวและการพัฒนาอื่น ๆ เอ็มเอช-47ดีถูกใช้โดยกองบินปฏิบัติการพิเศษที่ 160 ของสหรัฐ มีเอ็มเอช-47ดี 12 ลำที่ถูกสร้างขึ้นมา มีหกลำที่ดัดแปลงมาจากรุ่นเอและอีกหกลำดัดแปลงมาจากรุ่นซี.[17]
เอ็มเอช-47อี
[แก้]เป็นรุ่นที่ปัจจุบันใช้โดยกองกำลังพิเศษของสหรัฐ มันเริ่มจากต้นแบบที่ผลิตออกมาในปีพ.ศ. 2534 โดยมีเพียง 26 ลำเท่านั้น ทั้งหมดถูกส่งมอบให้กับหน่วยพิเศษที่เรียกว่า"ไนท์สตอลเกอร์ส" (Nightstalkers) ซึ่งตั้งฐานอยู่ที่ป้อมแคมป์เบลล์ในรัฐเคนตักกี้ รุ่นอีถูกดัดแปลงมาจากรุ่นซี เอ็มเอช-47อีนั้นมีความคล้ายคลึงกับเอ็มเอช-47ดี แต่ต่างกันที่มันมีถังเชื้อเพลิงที่เหมือนกับซีเอช-47เอสดีและมีเรดาร์หลบหลีกภูมิประเทศ[18]
ใรปีพ.ศ. 2538 กองทัพอากาศอังกฤษได้สั่งซื้อชีนุก เอชซี3 8 ลำ มันเป็นรุ่นที่มีราคาถูกกว่าเอ็มเอช-47อีสำหรับปฏิบัติการพิเศษ พวกมันถูกส่งมอบในปีพ.ศ. 2544 แต่ไม่เคยเข้าประจำการเนื่องมาจากปัญหาเรื่องระบบอิเล็กทรอนิกส์อากาศที่ไม่เหมาะสม ในปีพ.ศ. 2551 เริ่มมีการลดระดับเอชซี3 ลงให้เป็นเอชซี2 ทำให้พวกมันเข้าประจำการได้ในที่สุด[19]
ซีเอช-47เอฟ
[แก้]รุ่นเอฟนั้นพัฒนามาจากรุ่นดีโดยทำการบินครั้งแรกในปีพ.ศ. 2544 รุ่นแรกในสายการผลิตเปิดตัวในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ที่โรงงานโบอิงในรัฐเพนซิลวาเนียโดยทำการบินครั้งแรกในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2549[20] รุ่นเอฟถูกออกแบบมาให้มีอายุการใช้งานที่มากขึ้นไปจนถึงปีพ.ศ. 2573 ในการพัฒนาทั้งหมดมีเครื่องยนต์ฮันนีเวลล์ที่ให้กำลัง 4,868 แรงม้า ระบบอิเล็กทรอนิกส์อากาศ และโครงสร้างที่เป็นเนื้อเดียวกันเพื่อลดชิ้นส่วนและรวดเร็วขึ้น[21] การสร้างแบบใหม่จะช่วยลดการสั่นสะเทือน จุดเชื่อมต่อที่หลุดได้ และลดการซ่อมแซมและค่าใช้จ่ายการดูแลรักษา นอกจากนี้แล้วมันยังมีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้นอีกด้วย[22] รุ่นเอฟสามารถบินที่ความเร็วมากกว่า 282 กิโลเมตรต่อชั่วโมงโดยบรรทุกสินค้ามากกว่า 9,530 กิโลกรัมได้[23] ระบบอิเล็กทรอนิกส์อากาศยังรวมทั้งห้องนักบินซีเอเอเอส (Common Avionics Architecture System) ของร็อกเวลล์ คอลลินส์และระบบดีเอเอฟซีเอส (Digital Advanced Flight Control System) ของบีเออี ซิสเทมส์[21]
โบอิงได้ส่งมอบรุ่นเอฟจำนวน 48 ลำให้กับกองทัพบกสหรัฐ ในวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2551 โบอิงได้ประกาศว่ากองทัพได้ทำสัญญา 5 ปี โดยมีมูลค่า 4,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสร้างเพิ่มอีก 191 ลำพร้อมกับอีก 24 ทางเลือก[23] ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 เนเธอร์แลนด์ได้กลายเป็นลูกค้าต่างชาติรายแรกที่สั่งซื้อรุ่นเอฟ 6 ลำโดยต่อมาเพิ่มขึ้นเป็น 17 ลำ 6 ลำนี้จะได้รับการติดตั้งห้องนักบินซีเอเอเอสของร็อกเวลล์ด้วยเช่นกัน[24] ในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2552 รัฐบาลอังกฤษได้ประกาศว่าแผนการเฮลิคอปเตอร์ในอนาคตของพวกเขาจะทำการสั่งซื้อซีเอช-47เอฟ 24 ลำ (ต่อมาลดลงเหลือ 14 ลำ) โดยมีการส่งมอบลำสุดท้ายให้กับกองทัพอากาศในปี พ.ศ. 2558[25]
เอ็มเอช-47จี
[แก้]ปัจจุบันเอ็มเอช-47จีกำลังถูกส่งมอบให้กับกองทัพบกสหรัฐ มันคล้ายคลึงกับเอ็มเอช-47อี แต่มีจุดเด่นที่ระบบอิเล็กทรอนิกส์อากาศที่ซับซ้อนกว่าซึ่งรวมทั้งระบบสถาปนิกอิเล็กทรอนิกส์อากาศทั่วไปหรือซีเอเอเอส (Common Avionics Architecture System, CAAS) ระบบซีเอเอเอสเป็นห้องนักบินแก้วแบบทั่วไปที่ใช้ในเฮลิคอปเตอร์มากมายอย่างเอ็มเอช-60เค/แอลและเออาร์เอช-70เอ[26] เอ็มเอช-47จียังจะทำงานร่วมกับระบบใหม่ทั้งหมดของซีเอช-47เอฟอีกด้วย[27]
มันมีพื้นฐานมาจากประสบการณ์ในอัฟกานิสถาน ซีเอช-47 นั้นถูกพบว่ามีประสิทธิภาพมากกว่ายูเอช-60 แบล็กฮอว์กในฐานะเฮลิคอปเตอร์จู่โจม ด้วยขนาดบรรทุก พิสัย และความเร็วที่มากกว่า ชีนุกหนึ่งลำจึงสามารถเข้ามาแทนที่ยูเอช-60 ได้ถึง 5 ลำในบทบาทเดียวกัน[28]
โครงการพัฒนาใหม่จะเข้ามาทำการพัฒนาเอ็มเอช-47ดีและเอ็มเอช-47อีให้กลายเป็นเอ็มเอช-47จีแทน เอ็มเอช-47อีทั้งหมด 25 ลำและเอ็มเอช-47ดีอีก 11 ลำจะได้รับการพัฒนาในปลายปีพ.ศ. 2546 ในปีพ.ศ. 2545 กองทัพได้ประกาศว่าจะทำการขยายกองบินปฏิบัติการพิเศษของตน ซึ่งจะเพิ่มเอ็มเอช-47จีเข้าไปอีก 12 ลำ[29]
เอชเอช-47
[แก้]เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 เอชเอช-47 แบบใหม่ที่มีพื้นฐานมาจากเอ็มเอช-47จี ได้ถูกเลือกโดยกองทัพอากาศสหรัฐ มันถูกสร้างออกมา 4 ลำ โดยแบบผลิตอีก 141 ลำจะเข้าประจำการในปีพ.ศ. 2555[30][31] อย่างไรก็ดีเมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 สัญญาดังกล่าวก็ถูกจัดการโดยจีเอโอและทำให้กองทัพอากาศต้องทำการเลือกใหม่อีกครั้ง[32]
รุ่นส่งออก
[แก้]ซีเอช-47เจเป็นเฮลิคอปเตอร์บรรทุกขนาดกลางของกองกำลังป้องกันตนเองทางบกและกองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศของญี่ปุ่น ซีเอช-47เจเอเป็นรุ่นพิสัยไกลของรุ่นเจ โดยมีถังเชื้อเพลิงที่ใหญ่กว่า ทั้งสองรุ่นถูกสร้างขึ้นภายใต้ใบอนุญาตโดยคาวาซากิ เอชเอช-47ดีเป็นรุ่นสำหรับการค้นหาและช่วยเหลือของกองทัพอากาศสาธารณรัฐเกาหลี
ซีเอช-47ซี ชีนุกแปดลำถูกส่งมอบให้กับกองทัพแคนาดาในปีพ.ศ. 2517 ชีนุกถูกใช้โดยแคนาดาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2517-2534 พวกมันถูกเรียกว่า"ซีเอช-147" เฮลิคอปเตอร์เหล่านี้ต่อมาได้ถูกขายให้กับเนเธอร์แลนด์และปัจจุบันมันถูกใช้งานโดยกองทัพอากาศเนเธอร์แลนด์โดยใช้ชื่อว่าซีเอช-47ดี ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2552 รัฐบาลออสเตรเลียได้เรียกขอการซื้อซีเอช-47เอฟเจ็ดลำ[33] มีการคาดว่าอิตาลีและสหราชอาณาจักรจะสั่งซื้อเพิ่ม แผนในการพัฒนากองบินซีเอช-47ดีในปัจจุบันทั้งหมดให้กลายเป็นรุ่นเอฟได้เกิดขึ้น และสุดท้ายทำให้มีทั้งหมด 20 ลำ
ในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2552 แคนาดาได้ทำสัญญาที่จะซื้อซีเอช-47เอฟ 15 ลำโดยทำการส่งมอบในปีพ.ศ. 2556-2557.[34][35]
รุ่นพลเรือน
[แก้]- โมเดล 234แอลอาร์ (พิสัยไกล) - เป็นเฮลิคอปเตอร์บรรทุกทางการตลาด 234แอลอาร์สามารถทำหน้าที่ได้หลายอย่าง เช่น บรรทุกผู้โดยสารอย่างเดียว บรรทุกสินค้าอย่างเดียว หรือบรรทุกทั้งผู้โดยสารและสินค้า (LR ย่อมาจาก Long Range)
- โมเดล 234อีอาร์ (เพิ่มพิสัย) - เป็นเฮลิคอปเตอร์บรรทุกทางการตลาด (ER ย่อมาจาก Extended Range)
- โมเดล เอ็มแอลอาร์ (หลากบทบาทพิสัยไกล) - เป็นเฮลิคอปเตอร์บรรทุกทางการตลาด (MLR ย่อมาจาก Multi Purpose Long Range)
- โมเดล 234ยูที (ยานขนส่งอเนกประสงค์) -เฮลิคอปเตอร์บรรทุกอเนกประสงค์ (UT ย่อมาจาก Utility Transport)
- โมเดล 414 - เป็นรุ่นส่งออกของซีเอช-47ดี มันมีอีกชื่อหนึ่งว่าซีเอช-47ดี อินเตอร์เนชั่นแนล ชีนุก (อังกฤษ: CH-47D International Chinook)
แบบดัดแปลง
[แก้]ในปีพ.ศ. 2512 มีการทดลองโมเดล 347 เกิดขึ้น มันคือซีเอช-47เอที่มีลำตัวที่ยาวขึ้น ใบพัดสี่ใบ ปีกที่สามารถถอดออกได้ที่ติดตั้งอยู่ที่ส่วนบนของลำตัว และอื่น ๆ มันทำการบินครั้งแรกในวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2513 และถูกพัฒนาต่ออีกหลายปี[36]
ในปีพ.ศ. 2516 กองทัพได้ทำสัญญากับโบอิงเพื่ออกแบบเฮลิคอปเตอร์ยกของขนาดหนัก โดยใช้ชื่อว่าเอ็กซ์ซีเอช-62เอ มันเป็นซีเอช-47 ที่ใหญ่กว่าเดิมและมีโครงสร้างที่คล้ายคลึงกับเอส-64 สกายเครน (ซีเอช-54 ทาร์ฮี) แต่โครงการก็ถูกยกเลิกในปีพ.ศ. 2518 โครงการเริ่มขึ้นอีกครั้งและทำการบินทดสอบในทศวรรษที่ 2523 แต่ก็ไม่ได้รับทุนจากสภาคองเกรสเหมือนเดิม[36] เอชแอลเอชที่มีขนาดใหญ่ขึ้นถูกแยกชิ้นส่วนเมื่อสิ้นปีพ.ศ. 2548[37]
ประเทศผู้ใช้งาน
[แก้]กองทัพ
[แก้]- ออสเตรเลีย
- แคนาดา[38]
- อาร์เจนตินา (ปลดประจำการ)
- อียิปต์
- กรีซ
- อิหร่าน
- อิตาลี
- ญี่ปุ่น
- ลิเบีย
- โมร็อกโก
- เนเธอร์แลนด์
- สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)
- สิงคโปร์
- เกาหลีใต้
- สเปน
- ไทย
- สหราชอาณาจักร
- ดูที่โบอิง ชีกนุก (สหราชอาณาจักร)
- สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
- สหรัฐอเมริกา
- เวียดนาม
- เป็นชีนุกที่ถูกยึดมาจากอดีตกองทัพอากาศเวียดนาม (ปลดประจำการ)
พลเรือน
[แก้]- เฮลิฟอร์ แคนาดา คอร์ป (Helifor Canada Corp) (เช่ามาจากโคลัมเบีย เฮลิคอปเตอร์ส)
- องค์กรป้องกันไฟแห่งชาติไต้หวัน (ปัจจุบันใช้รุ่น 234 สามลำและซีเอช-47เอสดีเก้าลำ)
- อิคาโร แอร์ (เช่ามาจากโคลัมเบีย เฮลิคอปเตอร์ส)
- โคลัมเบีย เฮลิคอปเตอร์ส (ปัจจุบันใช้ 234 เจ็ดลำ)
- อีรา เอวิเอชั่น
- นาซ่า (14 สิงหาคม พ.ศ. 2522 ถึง 20 กันยายน พ.ศ. 2532) [40]
- ทรัมพ์ แอร์ไลน์ส
อุบัติเหตุและเหตุการณ์สำคัญ
[แก้]- ในวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2525 เหตุเกิดที่งานแสดงทางอากาศในเยอรมนี ชีนุกของกองทัพสหรัฐลำหนึ่ง (หมายเลข 74-22292) ซึ่งลำเลียงพลร่มได้ตกลง มีผู้เสียชีวิต 46 ราย ต่อมาพบว่าสาเหตุมาจากการสะสมของเปลือกผลวอลนัทที่ถูกใช้เพื่อทำความสะอาดเครื่องยนต์[41][42][43]
- ในวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529 ชีนุกของบริติช อินเตอร์เนชั่นแนล เฮลิคอปเตอร์สได้ตกลงในสนามบินซัมเบอร์บนเกาะเชทแลนด์ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 45 รายและชีนุกถูกถอนออกจากการให้บริการในทะเลเหนือ[44]
- ผู้พันมารี เธเรส รอสซี เคย์ตัน (อังกฤษ: Marie Therese Rossi Cayton) เป็นหญิงอเมริกันคนแรกที่ได้บินเข้าทำการรบในปฏิบัติการพายุทะเลทรายในปีพ.ศ. 2534 เธอถูกสังหารเมื่อชีนุกของเธอตกในวันที่ 1มีนาคม พ.ศ. 2534[45]
- ในวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2544 ซีเอช-47ดีของกองทัพเกาหลีใต้ได้ทำการติดตั้งรูปปั้นบนสะพานในโซล พวกเขาล้มเหลวในการปลดตะขอจากรูปปั้น ทำให้ใบพัดฟันเข้ากับอนุสาวรีย์จนทำให้ลำตัวของเครื่องชน เฮลิคอปเตอร์ขาดออกเป็นสองท่อน ครึ่งหนึ่งตกลงบนสะพานจนเกิดเพลิงลุกไหม้และอีกครึ่งตกลงสู่แม่น้ำ ลูกเรือทั้งสามคนเสียชีวิต[46]
รายละเอียดของซีเอช-47ดี
[แก้]- ลูกเรือ 3 นาย (นักบิน นักบินผู้ช่วย วิศวกรการบิน)
- ความจุ
- ทหาร 33-35 นาย หรือ
- เปลหาม 24 เตียงและผู้ดูแล 3 คน หรือ
- สินค้าน้ำหนัก 12,700 กิโลกรัม
- ความยาว 30.1 เมตร *
- เส้นผ่าศูนย์กลางใบพัด 18.3 เมตร
- ความสูง 5.7 เมตร
- พื้นที่ใบพัดหมุน 260 ตารางเมตร
- น้ำหนักเปล่า 10,185 กิโลกรัม
- น้ำหนักพร้อมอาวุธ 12,100 กิโลกรัม
- น้ำหนักวิ่งขึ้นสูงสุด 22,680 กิโลกรัม
- ขุมกำลัง เครื่องยนต์เทอร์โบชาฟท์ไลคอมมิ่ง ที55-จีเอ-712 2 เครื่องยนต์ ให้กำลังเครื่องละ 3,750 แรงม้า
- ความเร็วสูงสุด 315 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
- ความเร็วประหยัด 220 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
- พิสัย 741 กิโลเมตร
- ระยะในการขนส่ง 2,252 กิโลเมตร
- เพดานบินทำการ 18,500 ฟุต
- อัตราการไต่ระดับ 1,522 ฟุตต่อนาที
- อาวุธ
- ปืนกลเอ็ม240 ขนาด 7.62 ม.ม.
- ระบบอิเล็กทรอนิกส์อากาศ
- ร็อกเวลล์ ซีเอเอเอส (ในเอ็มเอช-47จีและซีเอช-47เอฟ)
ดูเพิ่ม
[แก้]- การพัฒนาที่เกี่ยวข้อง
- อากาศยานที่เทียบเท่า
อ้างอิง
[แก้]- ↑ CH-47D/F Chinook page, Boeing
- ↑ Origins: Vertol V-107 & V-114, Vectorsite.net, July 1, 2004.
- ↑ Spenser, Jay P. Whirlybirds, A History of the U.S. Helicopter Pioneers. University of Washington Press, 1998. ISBN 0-295-97699-3.
- ↑ "Vietnam Studies, Airmobility 1961-1971". Department of the Army. 1989. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (.html)เมื่อ 2008-12-04. สืบค้นเมื่อ 2008-11-13.
- ↑ Chinook Information and diagrams about the transmission system
- ↑ "Vietnam Studies, Airmobility 1961-1971". Department of the Army. 1989. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-04. สืบค้นเมื่อ 2008-11-13.
- ↑ "Type Certificate Data Sheet No. H9EA" (PDF). Federal Aviation Administration. January 17, 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (.pdf)เมื่อ 2007-06-14. สืบค้นเมื่อ 2007-02-08.
- ↑ "Vietnam Studies, Airmobility 1961-1971". Department of the Army. 1989. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (.html)เมื่อ 2008-12-04. สืบค้นเมื่อ 2008-11-13.
- ↑ "Iranian troops smash four-day siege by Kurds". Lakeland Ledger. 27 August 1979.
- ↑ boeing-vertol CH-47C Chinook in argentina comando de aviacion de ejercito argentino
- ↑ "CH-47D/MH-47E Chinook". Army Technology. SPG Media Limited. 2006. สืบค้นเมื่อ 2006-08-27.
- ↑ [1]. Vectorsite.net
- ↑ Guns a Go-Go. gunsagogo.org
- ↑ Guns a Go-Go. chinook-helicopter.com
- ↑ US Army CH-47A / CH-47B / CH-47C / CH-47D / SOA Chinooks. Vectorsite.net, 1 July 2004.
- ↑ Boeing CH-47D model Chinook helicopters. chinook-helicopter.com
- ↑ Boeing MH-47D model Chinook helicopters. chinook-helicopter.com
- ↑ Boeing MH-47E model Chinook helicopters. chinook-helicopter.com
- ↑ Hoyle, Craig (2008-06-06). "UK starts Chinook HC3 'reversion' work, amid criticism". Flight International. สืบค้นเมื่อ 2009-01-19.
- ↑ "New Boeing CH-47F takes flight", Aerotech News and Review, November 3, 2006, p. 3.
- ↑ 21.0 21.1 "Boeing's New CH-47F Chinook Helicopter Begins Operational Test Flights with U.S. Army", Boeing, February 19, 2007.
- ↑ Holcomb, Henry, "New Look Chinook", Philadelphia Inquirer, August 17, 2007. archive link
- ↑ 23.0 23.1 "Boeing Awarded US Army Contract for 191 CH-47F Chinook Helicopters", Boeing, August 26, 2008.
- ↑ "Boeing Signs Contract for Dutch Chinooks", Boeing, February 15, 2007.
- ↑ "Final new-build Chinook HC6s delivered to UK RAF". Flight Global. 10 December 2015.
- ↑ Warwick, Graham. "Chinook: CAAS unites rotorcraft cockpits". Flight International, 1 April 2008.
- ↑ MH-47E/G Special Operations Chinook product page. Boeing.
- ↑ Air Transportation: Chinook Replaces Blackhawk in Combat
- ↑ http://www.globalsecurity.org/military/systems/aircraft/mh-47g.htm
- ↑ "Boeing Awarded U.S. Air Force Combat Search and Rescue Contract". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-14. สืบค้นเมื่อ 2010-01-03.
- ↑ "HH-47 Combat Search and Rescue (CSAR-X)". Global Security.org.
- ↑ "Bowing To GAO, USAF Likely To Recompete CSAR-X". Aviation Week. 28 February 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 March 2012.
- ↑ "Australia - CH-47F Chinook Helicopters" เก็บถาวร 2010-10-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. DSCA, 23 April 2009.
- ↑ "Boeing Receives $1.15B Contract for 15 Canadian Chinooks, Announces Matching Reinvestment in Industry". สืบค้นเมื่อ 2009-08-11.
- ↑ "Chinooks will fly too late for Afghanistan".
- ↑ 36.0 36.1 Goebel, Greg. "ACH-47A Gunship / Model 347 / XCH-62 HLH (Model 301) / Model 360". Vectorsite.net, 1 December 2009.
- ↑ "XCH-62 with photo". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-11-13. สืบค้นเมื่อ 2010-01-03.
- ↑ Canadian military acquiring new helicopters, drones
- ↑ Boeing: History - Products - Boeing Model 234 Chinook
- ↑ SP-3300 Flight Research at Ames, 1940-1997
- ↑ Description of crash of Chinook 74-22292, Chinook-helicopter.com.
- ↑ Air show safety in the spotlight, BBC, 27 July 2002.
- ↑ "Ursula J. Schoenborn v. The Boeing Company, 769 F.2d 115 (3d Cir. 1985) - a case in the U.S. Court of Appeals for the Third Circuit". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-01. สืบค้นเมื่อ 2010-01-07.
- ↑ Report No: 2/1988. Report on the accident to Boeing Vertol (BV) 234 LR, G-BWFC 2.5 miles east of Sumburgh, Shetland Isles, 6 November 1986
- ↑ "Marie Therese Rossi Cayton" Arlington National Cemetery Website
- ↑ "S. Korean Helicopter Crashes Into Bridge, 3 Killed". People's Daily, 30 May 2001. archive page on Google.com
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- ซีเอช-47เอส/ดี เอ็มเอช-47อี/จี ประวัติของซีเอช-47 และประวัติของชีนุกโมเดล 234 ใน Boeing.com
- ซีเอช-47เอ/บี/ซี เอซีเอช-47เอ ซีเอช-47ดี/เอฟ และซีเอช-47 ชีนุกใน Army.mil เก็บถาวร 2007-11-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ซีเอช-47 ใน GlobalSecurity.org
- ซีคิงและชีนุกใน Vectorsite.net
- "เฮลิคอปเตอร์รุ่นใหม่ของโบอิง ซีเอช-47 ชีนุกพร้อมเข้าทำการรบโดยกองทัพสหรัฐ"
- คลังแสงในปัจจุบันของกองทัพอิตาลี
- ประวัติของซีเอช-47
- ซีเอช-47 ลงจอดตอนกลางคืนในอัฟกานิสถาน เก็บถาวร 2009-08-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน นิตยสารออนไลน์ของไมเคิล ยอน (Michael Yon)