ข้ามไปเนื้อหา

เจ้าหญิงแอนน์ พระราชกุมารี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Anne, Princess Royal)
เจ้าหญิงแอนน์
พระราชกุมารี
พระราชกุมารีในปี 2023
ประสูติเจ้าหญิงแอนน์แห่งเอดินบะระ
(1950-08-15) 15 สิงหาคม ค.ศ. 1950 (74 ปี)
พระตำหนักคลาเรนซ์ ลอนดอน ประเทศอังกฤษ
พระสวามีมาร์ก ฟิลลิปส์ (1973–1992)
ทิโมที ลอเรนซ์ (1992–ปัจจุบัน)
พระนามเต็ม
แอนน์ เอลิซาเบธ อลิซ หลุยส์
พระบุตรปีเตอร์ ฟิลลิปส์
ซารา ทินดัลล์
ราชวงศ์วินด์เซอร์
พระบิดาเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ
พระมารดาสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2
ศาสนาคริสตจักรอังกฤษ

เจ้าหญิงแอนน์ พระราชกุมารี (อังกฤษ: Anne, Princess Royal; 15 สิงหาคม ค.ศ. 1950) หรือพระนามเต็ม แอนน์ เอลิซาเบธ อลิซ หลุยส์ (Anne Elizabeth Alice Louise) เป็นพระราชบุตรพระองค์ที่สองและเป็นพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร กับเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ เมื่อแรกประสูติกาล พระองค์อยู่ในลำดับที่สามแห่งการสืบราชสันตติวงศ์สหราชอาณาจักรต่อจากเจ้าหญิงเอลิซาเบธ (พระชนนี – พระยศในขณะนั้น) และเจ้าชายชาลส์ (พระยศในขณะนั้น) พระเชษฐา และเคยอยู่ในลำดับที่สองหลังพระชนนีขึ้นเสวยราชสมบัติ แต่ปัจจุบันทรงอยู่ในลำดับที่สิบเจ็ดแห่งการสืบราชสันตติวงศ์

พระองค์เป็นที่รู้จักการประกอบพระกรณียกิจด้านการกุศลและทรงอุปภัมภ์องค์กรต่าง ๆ กว่า 200 แห่ง รวมทั้งยังมีพระอัจฉริยภาพด้านการขี่ม้า พระองค์ได้รับเหรียญเงินสองเหรียญในปี 1975 และเหรียญทองหนึ่งเหรียญในปี 1971 จากการแข่งขันในรายการการแข่งม้าประเภทอีเวนติ้งชิงแชมป์ยุโรป (European Eventing Championships)[1] และเป็นสมาชิกของราชวงศ์แห่งสหราชอาณาจักรพระองค์แรกที่ทรงเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เจ้าหญิงแอนน์ได้รับพระราชทานอิสริยยศเป็น ราชกุมารี ในปี 1987 และเป็นพระราชกุมารีพระองค์ที่เจ็ด และด้วยทรงได้รับพระราชมานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของทั้งอังกฤษและสกอตแลนด์ทำให้ทรงเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในที่ไม่ใช่สมเด็จพระราชินีและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ ที่ได้รับพระราชทานพระเกียรติยศสูงสุดในประวัติศาสตร์

เจ้าหญิงแอนน์เสกสมรสครั้งแรกกับร้อยเอก มาร์ก ฟิลลิปส์ เมื่อ ค.ศ. 1973 และทรงหย่าเมื่อ ค.ศ. 1992 มีพระบุตรสองคนและพระนัดดาห้าคน ต่อมาพระองค์เสกสมรสหนที่สองกับนาวาโท (ปัจจุบันเป็นพลเรือโท) เซอร์ทิโมที ลอเรนซ์ ราชองครักษ์ในสมเด็จพระราชินีนาถ ซึ่งเสกสมรสกันใน ค.ศ. 1992 เดือนเดียวกับที่ทรงหย่ากับอดีตพระสวามี

พระชนม์ชีพในวัยเยาว์

[แก้]

เจ้าหญิงแอนน์ประสูติเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2493 ณ พระตำหนักแคลเรนซ์ ในลอนดอน เป็นพระธิดาพระองค์เดียวในเจ้าหญิงเอลิซาเบธ ดัชเชสแห่งเอดินบะระ (สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร) และฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ

แอนน์ทรงรับบับติศมาที่ห้องดนตรีในพระราชวังบักกิงแฮม เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2493 มีพระบิดาและพระมารดาทูนหัวคือ เอิร์ลเมานต์แบ็ตเทนแห่งพม่า แอนดรูว์ เอลฟินสโตน สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี เจ้าหญิงแอนดรูว์แห่งกรีซและเดนมาร์ก และเจ้าหญิงมาร์การีตาแห่งกรีซและเดนมาร์ก

ใน พ.ศ. 2491 ก่อนที่เจ้าชายชาลส์ พระเชษฐาของพระองค์จะเสด็จพระราชสมภพไม่นาน สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งสหราชอาณาจักร มีพระราชโองการให้พระราชโอรสธิดาทุกพระองค์ที่ประสูติจากเจ้าหญิงเอลิซาเบธ ดัชเชสแห่งเอดินบะระ จะทรงดำรงพระอิสริยยศเจ้าชายหรือเจ้าหญิงแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่(Great Britain)​และไอร์แลนด์เหนือตั้งแต่แรกประสูติทุกพระองค์

การศึกษา

[แก้]

เจ้าหญิงแอนน์ทรงเริ่มต้นการศึกษาจากชั้นเรียนขนาดเล็กซึ่งเข้ามาถวายพระอักษรที่พระราชวังบักกิงแฮม ใน พ.ศ. 2505 สมเด็จพระราชินีนาถก่อนที่จะเสวยราชย์ย้ายไปประทับที่อื่น แอนน์ทรงรับการศึกษาจากชั้นเรียนส่วนตัวที่ประเทศฝรั่งเศส ในปีถัดมาทรงเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเบนเดน ซึ่งอยู่ในเมืองเคนต์

ชีวิตส่วนพระองค์

[แก้]

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495 พระเจ้าจอร์จที่ 6 พระอัยกาของเจ้าหญิงแอนน์สวรรคต พระมารดาได้เสด็จขึ้นเสวยราชย์ เจ้าหญิงแอนน์ทรงได้รับเลื่อนพระยศขึ้นเป็นเฮอร์รอยัลไฮเนส แต่เนื่องจากขณะนั้นพระองค์ยังทรงพระเยาว์มาก พระองค์จึงมิได้ตามเสด็จฯ พระมารดาไปในพระราชพิธีราชาภิเษก เจ้าหญิงแอนน์ทรงเริ่มบำเพ็ญพระกรณียกิจเป็นครั้งแรกในราว พ.ศ. 2511–2513

กีฬาขี่ม้า

[แก้]

เจ้าหญิงโปรดการทรงม้า และรับสั่งว่าสิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของชีวิตพระองค์ เมื่อพระชันษาได้ 21 ปี เจ้าหญิงแอนน์ทรงชนะการแข่งขันยูโรเปียนอีเวนทิงแชมเปียนชิป (European Eventing Championship) ประจำ พ.ศ. 2514 ซึ่งเป็นการแข่งขันชิงชนะเลิศระดับทวีป[2] และทรงได้รับเลือกให้เป็นนักกีฬาแห่งปีประจำ พ.ศ. 2514 ด้วย[3] เจ้าหญิงทรงเข้าร่วมการแข่งขันเป็นเวลาต่อมากว่า 5 ปี โดยทรงได้รับทูลเกล้าฯ เหรียญเงินที่จากการแข่งขันรายการเดียวกันที่ประเทศเยอรมนีตะวันตก และในการแข่งขันโอลิมปิกปีต่อมาที่ประเทศแคนาดา พระองค์ก็ทรงเข้าร่วมด้วยในฐานะนักกีฬาทีมชาติสหราชอาณาจักร[4]

เจ้าหญิงแอนน์เป็นองค์ประธานสหพันธ์กีฬาขี่ม้านานาชาติระหว่าง พ.ศ. 2529–2537[5]

เสกสมรสครั้งแรก

[แก้]

วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2516 เจ้าหญิงแอนน์ทรงเสกสมรสกับมาร์ก ฟิลิปส์ พระราชพิธีได้รับการถ่ายทอดไปทั่วโลก โดยมีผู้ชมกว่าหนึ่งร้อยล้านคน จากภาพ เด็กผู้ชายที่ประทับยืนด้านซ้ายสุดคือเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด เด็กหญิงด้านขวาสุดคือเลดีซาราห์ แชตโท (พระธิดาในเจ้าหญิงมากาเร็ต) ในวันพระราชพิธีสมเด็จพระราชินีนาถรับสั่งกับมาร์กว่าพระราชทานตำแหน่งให้เป็นเอิร์ล แต่มาร์กปฏิเสธ เชื่อว่าเป็นพระราชประสงค์ของแอนน์ที่จะปกป้องพระโอรสพระธิดาที่จะเกิดในไม่ช้าจากสื่อ

พระโอรสและพระธิดา

[แก้]

เจ้าหญิงแอนน์มีพระโอรสธิดากับมาร์ก 2 คน ทั้งสองคนเกิดวันที่ 15 เช่นเดียวกับเจ้าหญิงแอนน์

พระราชกุมารี

[แก้]

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2530 สมเด็จพระราชินีนาถทรงสถาปนาเจ้าหญิงแอนน์เป็น "ราชกุมารี" ซึ่งเป็นการสถาปนาตำแหน่งนี้ครั้งที่ 7 พระอิสริยยศนี้จะพระราชทานให้เฉพาะกับพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ของพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น สำหรับราชกุมารีพระองค์ก่อนคือเจ้าหญิงแมรี พระราชกุมารีและเคาน์เตสแห่งแฮร์วุด

ใน พ.ศ. 2539 เจ้าหญิงแอนน์เสด็จไปทรงร่วมพระราชกรณียกิจที่ประเทศสกอตแลนด์ ในขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยศักดิ์ทางทหาร ซึ่งมีลำดับพระยศสูงกว่าตำแหน่งของราชกุมารี

การหย่าและเสกสมรสครั้งที่สอง

[แก้]

เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2532 แอนน์และมาร์กประกาศว่าทั้งสองได้แยกกันอยู่มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว และได้หย่าขาดจากกันในเดือนเมษายน พ.ศ. 2535 ในวันที่ 12 เดือนธันวาคมปีเดียวกันนั้นเอง แอนน์ทรงเสกสมรสอีกครั้ง กับทีโมที ลอเรนซ์ นายทหารเรือ ทั้งสองไม่มีพระโอรสธิดาร่วมกัน

พระกรณียกิจ

[แก้]

เจ้าหญิงแอนน์ทรงเริ่มบำเพ็ญพระราชกรณียกิจครั้งแรกเมื่อพระชันษาได้ 18 ปี เมื่อพระองค์ทรงทรงเปิดศูนย์การศึกษาและฝึกฝนที่ชรอปไชร์ พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคม ปีเดียวกันนั้น ทรงตามเสด็จฯ พระมารดาและพระบิดาไปยังประเทศออสเตรเลีย

พระกรณียกิจของเจ้าหญิงแอนน์นั้นมีมากมาย ทรงรับอุปถัมภ์มากกว่า 200 มูลนิธิ

พระอิสริยยศทางทหาร

[แก้]

เหมือนกับเจ้านายพระองค์อื่น แอนน์ทรงดำรงพระอิสริยยศทางการทหารด้วย และใน พ.ศ. 2545 พระองค์ทรงสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นสตรีคนแรกที่ไม่ใช่พระเจ้าแผ่นดินที่ฉลองพระองค์ด้วยชุดจอมพลไปในงานพระศพของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี ทรงเป็นจอมพลหญิงทั้งในประเทศอังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

ฐานันดรและพระอิสริยยศ

[แก้]
ธรรมเนียมพระยศของ
เจ้าหญิงเเอนน์ พระราชกุมารี
ตราประจำพระอิสริยยศ
ตราประจำพระองค์
การทูลHer Royal Highness
(ใต้ฝ่าละอองพระบาท)
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับYour Royal Highness
(พ่ะย่ะค่ะ/เพคะ)

พระอิสริยยศ

[แก้]
  • 15 สิงหาคม พ.ศ. 2493 – 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495 : เฮอร์รอยัลไฮเนส เจ้าหญิงแอนน์แห่งเอดินบะระ (Her Royal Highness Princess Anne of Edinburgh)
  • 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495 – 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2516 : เฮอร์รอยัลไฮเนส เจ้าหญิงแอนน์แห่งสหราชอาณาจักร (Her Royal Highness The Princess Anne)
  • 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2516 – 13 มิถุนายน พ.ศ. 2530 : เฮอร์รอยัลไฮเนส เจ้าหญิงแอนน์ มิซิสมาร์ก ฟิลลิปส์ (Her Royal Highness The Princess Anne, Mrs Mark Phillips)
  • 13 มิถุนายน พ.ศ. 2530 – ปัจจุบัน : เฮอร์รอยัลไฮเนส พระราชกุมารี (Her Royal Highness The Princess Royal)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ในเครือจักรภพ

[แก้]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์และเครื่องอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ

[แก้]

พงศาวลี

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Senior European Championship Results". British Eventing Governing Body. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-11. สืบค้นเมื่อ 15 September 2012.
  2. Searcey, Ian (22 July 2012). "Olympic archive: equestrian Princess Anne (1972)". Channel 4. สืบค้นเมื่อ 14 March 2018.
  3. Corrigan, Peter (14 December 2003). "Bravo for Jonny but Beeb need new act". The Independent. สืบค้นเมื่อ 24 February 2009.[ลิงก์เสีย]
  4. "The Princess Royal and the Olympics". The Royal Family. สืบค้นเมื่อ 14 March 2018.
  5. About FEI – History เก็บถาวร 16 กุมภาพันธ์ 2010 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, FEI official site; retrieved 21 February 2010.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
ก่อนหน้า เจ้าหญิงแอนน์ พระราชกุมารี ถัดไป
เลดีลูอีส วินด์เซอร์
ลำดับการสืบสันตติวงศ์
ราชบัลลังก์สหราชอาณาจักร

ปีเตอร์ ฟิลลิปส์
ดัชเชสแห่งเอดินบะระ ลำดับโปเจียม (ฝ่ายใน)
แห่งสหราชอาณาจักร

เจ้าหญิงเบียทริซ นางเอโดอาร์โด มาเปลลี มอซซี
เจ้าหญิงแมรี
(พ.ศ. 2475–2508)
ราชกุมารี
(The Princess Royal)

(พ.ศ. 2530–ปัจจุบัน)
ยังอยู่ในตำแหน่ง