ข้ามไปเนื้อหา

สิบพยัคฆ์กวางตุ้ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก 10 พยัคฆ์กวางตุ้ง)

สิบพยัคฆ์กวางตุ้ง (อังกฤษ: Ten Tigers of Canton, Ten Tigers of Guangdong, จีน: 廣東十虎, ออกเสียงสำเนียงแต้จิ๋ว: กังตั้งจับโฮ่ว) หรือในบางครั้งเรียกว่า สิบพยัคฆ์เส้าหลิน เป็นชื่อเรียกกลุ่มคนสิบคนในแถบมณฑลกวางตุ้ง ที่เชี่ยวชาญในวิชากังฟูหรือวูซู มีบทบาทในช่วงยุคราชวงศ์ชิง (ค.ศ. 1644ค.ศ. 1912) ด้วยความที่เป็นผู้ต่อต้านราชวงศ์ชิงที่กดขี่ชาวฮั่นและการรุกรานประเทศจีนของชาวตะวันตกในแบบมวยกังฟูของสำนักเส้าหลิน

สมาชิกกลุ่มสิบพยัคฆ์กวางตุ้ง

[แก้]
  • หวง ฉีอิง (Wong Kei-Ying, 黃麒英, พินอิน: Huáng Qíyīng) เป็นบุตรของหวง ไท่ ผู้เป็นศิษย์ของลูกศิษย์ของหง ซีกวน เป็นผู้ใช้เพลงมวยที่เรียกว่า เพลงมวยสกุลหง เป็นบิดาของหวง เฟยหง ผู้ซึ่งกลายเป็นปรมาจารย์กังฟูและวีรบุรุษที่มีชื่อเสียงในเวลาต่อมา
  • ซู ชาน (So Chan, 蘇燦, พินอิน: Sū Càn) หรือที่รู้จักดีในชื่อ "ยาจกซู" (Beggar So, 蘇乞兒) เป็นบุตรชายของคหบดีผู้มั่งคั่งในมณฑลกวางตุ้ง ซู ชาน ในวัยเด็กเป็นคนไม่รู้หนังสือเพราะถูกเลี้ยงมาด้วยการตามใจ แต่ได้เข้ารับราชการจากการติดสินบน ต่อมาเรื่องราวนี้ได้ถูกเปิดโปง ทำให้เขาและครอบครัวต้องกลายเป็นยาจกเร่ร่อน ต่อมาได้เป็นบุตรบุญธรรมของหัวหน้าพรรคกระยาจก และเป็นผู้คิดค้นวิชาหมัดเมา (醉拳) จากการถูกจับกรอกเหล้าเข้าปาก ต่อมาได้ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคกระยาจก นับเป็นหัวหน้าพรรคกระยาจกคนสุดท้าย และเป็นผู้หนึ่งที่ถ่ายทอดวิชาหมัดเมานี้ให้แก่หวง เฟยหง ด้วย
  • ทิ เคียวซา (Tiit Kiu Saam, 鐵橋三, พินอิน: Tiě Qiáo Sān) หรือ เหลียงควง เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1813 ในแถบกวนตง เป็นบุตรชายคนที่สามของตระกูลเหลียง ฝึกกังฟูตั้งแต่เด็กกับพระวัดเส้าหลิน เป็นผู้คิดค้นวิชาหมัดเหล็กและตะขอเหล็ก ซึ่งวิชานี้ได้ชื่อว่าเป็นเพลงมวยในแบบแข็งกร้าว ต่างจากหมัดเมาของซู ชาน ที่ได้ชื่อว่า เป็นวิชาที่อ่อนหยุ่น และได้รับการกล่าวขานว่าเป็นผู้ที่ห้าวหาญที่สุดในบรรดาทั้งสิบและถูกยกให้เป็นผู้นำกลุ่ม
  • ทิ จี้เฉิน (Tiit Chi Chan, 鐵指陳, พินอิน: Tie Zhi Chen) มีประวัติลึกลับ ไม่รู้ชื่อที่แท้จริง เชื่อว่าปกปิดชื่อตนเองจากช่วงสงครามฝิ่น เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังจากวิชาดรรชนีเหล็ก
  • ซู เฮ็กโฮ้ว หรือภาพยนตร์เรื่องสิบจ้าวพยัคฆ์กวางตุ้ง ในปี 1980 เรียกว่า ซู เฮยหู่ (Su Haak Fu, 蘇黑虎, พินอิน: Su Hei Hu) หรือในฉายาว่า "เสือดำ" เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงมาจากวิชากรงเล็บพยัคฆ์ (黑虎拳) ที่พัฒนามาจากท่วงท่าของเสือดาวหรือเสือดำ ได้รับการกล่านขานว่าเป็นวิชาเพลงหมัดที่โหดเหี้ยมมาก
  • หวัง เอี้ยนหลาน (Wong Yan-Lam, 王隱林, พินอิน: Wáng Yǐnlín) เจ้าของฉายา "สิงโตคำรามแซ่หวัง" เป็นผู้ที่ได้รับการกล่าวขานว่ามีวิชาที่แปลกประหลาดที่สุดในบรรดาสิบคน เนื่องจากในวัยเด็กได้ร่ำเรียนวิทยายุทธมาจากพระสายธิเบต จึงถูกเรียกว่าเป็นวิชานอกรีต สนิมสนมกับหวง ฉีอิง มากที่สุด จากการที่ได้เรียนกับพระธิเบตมา ทำให้ดัดแปลงเพลงมวยสกุลหงที่คิดค้นโดย หง ซีกวน ผสมกันขึ้นมาเป็นเพลงมวยกะเรียนขาว (白鶴拳) ซึ่งต่อมา หวง เฟยหง ก็ได้ร่ำเรียนวิชานี้ด้วยในวัยเด็ก
  • หวง เติ้งเข่อ (Wong Ching Ho, 黃澄可, พินอิน: Huang Cheng Ke) เจ้าของฉายา "ศีรษะเหล็ก" เป็นลูกศิษย์ของสาขาวัดเส้าหลินในแถบกวางตุ้ง มีวิชาศีรษะอรหันต์เหล็กด้วยการใช้ศีรษะกระทุ้งไปที่ท้องน้อยของคู่ต่อสู้
  • ถัน หมิ่น (Tam Chai Hok, 譚濟鶴, พินอิน: Tan Ji He) ในวัยเด็กเป็นคนใจร้อนวู่วาม จนปู่ของเขาไม่อาจสอนวิชาให้ แต่เนื่องจากมีพรสวรรค์และมีความสนใจเรียนรู้จึงแอบฝึกจนชำนาญเพลงมวยสกุลถันอันประกอบไปด้วย สามหมัด สามเท้าคลี่คลาย ซึ่งแม้ว่าจะมีแค่หกกระบวนเพลงแต่ก็สามารถพลิกแพลงได้ร้อยแปดประการจนไร้ผู้ต่อต้าน จนได้รับฉายาว่า "จอมยุทธสามขา" นับถือกันฉันพี่น้องร่วมอุทรกับหลี่ หยุนเชา เคยมีฟู่เซิงมารับบทในสิบจ้าวพยัคฆ์กวางตุ้ง ของชอว์บราเดอร์
  • หลี่ หยุนเชา (Lai Yun Chiu, 黎仁超, พินอิน: Li Ren Chao) เป็นบุตรชายของเศรษฐีแซ่หลี่ เนื่องจากครอบครัวได้ผิดใจกับขุนนางกังฉินจนเป็นเหตุให้ต้องกำพร้าบิดามารดา จึงฝึกวิชาเพื่อล้างแค้น ได้ชื่อว่าเป็นคนที่สุขุม เยือกเย็นที่สุดในบรรดาทั้งสิบมีท่าไม้ตายประจำตัว คือ ฝ่ามือทรายเหล็ก ที่สามารถฝึกถึงขั้นเหนี่ยวรั้งพลังฝ่ามือได้ดั่งใจ ตี้หลุงเคยรับบทในสิบจ้าวพยัคฆ์กวางตุ้ง
  • โจว ไท่ (Chow Tai, 鄒泰, พินอิน: Zou Tai) เป็นคนเดียวในบรรดาสิบคน ที่มีอาวุธใช้ คือ พลอง มีชื่อเสียงมาจากการการเอาชนะบอดี้การ์ดของพ่อค้าฝิ่นชาวตะวันตก เนื่องจาก โจว ไท่ เป็นบุคคลที่ต่อต้านการค้าฝิ่น มีท่าไม้ตาย คือ "พลองปฐมจักรพรรดิ์ล่าวิญญาณ" (Soul-Chasing Staff of the First Emperor)

เรื่องเล่าขานและในวัฒนธรรมร่วมสมัย

[แก้]

อย่างไรก็ดี เรื่องราวของสิบพยัคฆ์กวางตุ้งนั้นได้ถูกเล่าขานสืบต่อกันมาและได้มีการแต่งเติมเป็นสีสันต่าง ๆ เข้าไปจนดูเหมือนตำนานหรือนิทานมากกว่าความเป็นจริง ซึ่งในวัฒนธรรมร่วมสมัยได้มีการแต่งเป็นนิยายกำลังภายในและภาพยนตร์หรือซีรีส์ในแนวเดียวกันนี้อย่างมาก อาทิ Iron Monkey ในปี ค.ศ. 1977 และปี ค.ศ. 1993 และ Iron Monkey 2 ในปี ค.ศ. 1996 และซีรีส์ เรื่อง Heroes Ten Tigers of Canton (英雄廣東十虎) ของ ATV ในปี ค.ศ. 2007

โดยเฉพาะในส่วนของซู ชาน หรือ ยาจกซู จะมีการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์หรือซีรีส์มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น Drunken Master ที่นำแสดงโดย เฉินหลง ในปี ค.ศ. 1978, King of Beggars นำแสดงโดย โจว ซิงฉือ ในปี ค.ศ. 1992, Hero Among Heroes นำแสดงโดย เจิ้น จื่อตัน ในปี ค.ศ. 1993, ซีรีส์ชุด Kung fu Beggar ในปี ค.ศ. 2006 และ True Legend นำแสดงโดย จ้าว เหวินจั๋ว ในปี ค.ศ. 2010 เป็นต้น

อ้างอิง

[แก้]