ข้ามไปเนื้อหา

ไอ. เอ็ม. เพ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ไอ.เอ็ม. เป)
ไอ. เอ็ม. เพ
(Ieoh Ming Pei)
ในลักเซมเบิร์ก ปี 2006
เกิด26 มีนาคม พ.ศ. 2460
กว่างโจว สาธารณรัฐจีน
เสียชีวิต16 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 (102 ปี)
สัญชาติชาวอเมริกันเชื้อสายจีน
ศิษย์เก่า
รางวัลRoyal Gold Medal
AIA Gold Medal
Presidential Medal of Freedom
Pritzker Prize
ผลงานสำคัญห้องสมุดจอห์น เอฟ. เคนเนดี, บอสตัน
อาคารตะวันออก แนชันแนลแกลเลอรีออฟอาร์ท
พีระมิดลูร์ฟ, ปารีส
แบงค์ออฟไชนาทาวเวอร์, ฮ่องกง
พิพิธภัณฑ์ศิลปะอิสลาม (โดฮา)

ไอ. เอ็ม. เพ (I. M. Pei - Ieoh Ming Pei) หรือ เป้ย์ ยวี่หมิง (จีนตัวย่อ: 贝聿铭; จีนตัวเต็ม: 貝聿銘; พินอิน: Bèi Yùmíng) (26 เมษายน พ.ศ. 2460 – 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2562) สถาปนิกชาวอเมริกันเชื้อสายจีน ผู้ได้รับรางวัลพริตซ์เกอร์ซึ่งเป็นรางวัลระดับโลกสูงสุดของสถาปัตยกรรมในปี พ.ศ. 2526 งานออกแบบของ ไอ.เอ็ม. เพ มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์น โดยมีการใช้ หิน คอนกรีต แก้ว และเหล็กเป็นส่วนใหญ่ เขาถือว่าเป็นศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ในด้านสถาปัตยกรรมสมัยใหม่[1]

เป้ย์เกิดที่เมืองกว่างโจว ประเทศจีน และเติบโตในฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ เป้ย์มีความชื่นชอบภาพยนตร์จากสหรัฐฮเมริกา โดยเฉพาะนักแสดง บัสเตอร์ คีตันและบิง ครอสบี เป้ย์เรียนรู้ภาษาอังกฤษด้วยตนเองจากการอ่านพระคัมภีร์ไบเบิลและบทประพันธ์ของชาร์ลส ดิกเคนส์

ต่อมาเมื่อปี ค.ศ. 1935 เป้ย์ได้ย้ายไปสหรัฐอเมริกา และเข้าศึกษาต่อในวิทยาลัยสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย แต่ไม่นานเป้ย์ก็ลาออกและย้ายไปศึกษาที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ เขาได้เริ่มเกิดความรู้สึกไม่นิยมสถาปัตยกรรมวิจิตรศิลป์ และใช้เวลาว่างศึกษาสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ โดยเฉพาะสถาปนิกเลอกอร์บูซีเย หลังจากจบการศึกษาจาก MIT แล้ว เขาไปศึกษาต่อด้านสถาปัตยกรรมที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่ทำให้เป้ย์ได้ร่ำเรียนเรียนกับสถาปนิกแนวหน้าของโลก คือ มาร์เชล บรูเออร์ และวอลเตอร์ โกรเปียส เป้ย๋ได้ทั้งความรู้จากอาจารย์ชั้นนำของสถาบันเบาเฮาส์ และได้บรรยากาศทางวิชาการของฮาร์วาร์ด และ MIT ไปพร้อม ๆ กัน เมื่อปี ค.ศ. 1942 เขาแต่งงานกับ ไอลีน ลู ผู้เป็นสถาปนิกเช่นกัน มีบุตรธิดารวมทั้งสิ้น 4 คน

เขาทำงานร่วม 10 ปี ในนิวยอร์กให้กับนักธุรกิจคนดังด้านอสังหาริมทรัพทย์ อย่าง วิลเลียม เซกเคนดอร์ฟ ก่อนที่จะมาเปิดสำนักงานสถาปนิกของตัวเองที่ชื่อ I. M. Pei & Associates ซึ่งต่อมาเปลี่ยนมาเป็น Pei Cobb Freed & Partners ผลงานของเขาในยุคต้น ๆ เช่น โรงแรมลองฟองพลาซ่า ในวอชิงตันดีซี และตึกเขียวในเอ็มไอที เขามีชื่อเสียงจากการออกแบบอาคาร ศูนย์วิจัยบรรยากาศสหรัฐฯ ในโคโลราโด, ห้องสมุดจอห์น เอฟ. เคนเนดี ในรัฐแมสซาชูเซตส์, ศาลาว่าการเมืองดัลลาส และอาคารตะวันออกของหอศิลป์แห่งชาติ, วอชิงตัน ดี.ซี.

เขากลับมาประเทศจีนเป็นครั้งแรกหลังจบการศึกษาในปี 1974 ซึ่งเขาได้ออกแบบโรงแรมที่ Fragrant Hills ต่อมาอีก 15 ปีถัดมา เขากลับมาจีนอีกครั้ง และได้ออกแบบ แบงค์ออฟไชน่าทาวเวอร์ ซึ่งเป็นตึกระฟ้าชื่อดังอันเป็นสัญลักษณ์ของฮ่องกง ต่อมาในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 เขาตกเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์จากผลงานการออกแบบ พีระมิดลูฟร์ ในลานด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ กรุงปารีส ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เขาได้ออกแบบ มอร์ตัน เอช. เมเยอร์สัน ซิมโฟนี ในดัลลาส, พิพิธภัณฑ์มิโฮในญี่ปุ่น และพิพิธภัณฑ์ศิลปะอิสลาม (โดฮา) ในกาตาร์

เป้ย์ได้รับรางวัลมากมานหลายรางวัลในสาขาสถาปัตยกรรม เช่น รางวัลเหรียญทองเอไอเอในปี 1979, รางวัลเพรเมียมอิมพีเรียลสาขาสถาปัตยกรรมในปี 1989 และรางวัลความสำเร็จสูงสุด จากพิพิธภัณฑ์ออกแบบแห่งชาติ คูเปอร์-ฮิววิตต์ ในปี 2003 และเป้ยได้รับรางวัลสูงสุดในวงการสถาปัตยกรรม รางวัลพริตซ์เกอร์ ในปี 1983[2]

แนวความคิดในการออกแบบ

[แก้]
พีระมิดแก้วกลางลานอันเป็นทางเข้าหลักพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ ผลงานที่มีชื่อเสียงของ ไอ.เอ็ม. เพ

ไอ. เอ็ม. เพ มีแนวความคิดว่าสถาปนิกควรคำนึงถึงสภาพภูมิอากาศและส่วนสำคัญทางประวัติศาสตร์ ในสมัยที่เขาเรียนเขาได้ทำวิทยานิพนธ์เรื่องพิพิธภัณฑ์ศิลปะจีนในเซี่ยงไฮ้ งานสถาปัตยกรรมของไอ. เอ็ม. เพ เป็นความคลาสสิกสมัยใหม่ เขาพอใจที่จะทำงานใดใช้ปริมาตรที่ชัดเจน รูปทรงเรขาคณิตอย่างง่ายของวัสดุประเภท กระจก หิน ฯลฯ และการออกแบบที่คำนึงถึงบริบทเดิมที่เฉพาะตัว มากกว่าที่จะเป็นสถาปัตยกรรมใหม่ที่โดดเด่น อย่างเช่นการออกแบบพิพิธภัณฑ์ลูฟร์, บอสตัน ที่ออกแบบต่อเติม-ขยายเพิ่มจากอาคารเดิม

ในการออกแบบส่วนต่อขยายของอาคารแบบแนบจิตคิดให้มีความเข้ากันกับสิ่งแวดล้อม ทั้งในอาคารเดิม สิ่งที่ชุมชนบริเวณนั้นต้องการ ตลอดจนลักษณะความเขียวขจีของต้นไม้ในบริเวณ

ไอ. เอ็ม. เพ มีชื่อเสียงมากด้านงานออกแบบพิพิธภัณฑ์ (ตั้งแต่ช่วง ปี ค.ศ. 1970 เป็นต้นมา) ผลงานต่าง ๆ ของเขาที่ผ่านมาแสดงออกถึงศักยภาพความอัจฉริยะในด้านนี้อันเป็นที่ยอมรับ

ในการออกแบบพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เยอรมนีในเบอร์ลิน ก่อนรับงาน ไอ. เอ็ม. เพ สำรวจบริเวณพื้นที่อย่างมีระบบ ทำความเข้าใจอย่างแม่นมั่นถึงสภาพแวดล้อม เพื่อให้สถาปัตยกรรมที่เขาออกแบบมีความสัมพันธ์กับลักษณะของบริเวณเมือง เขาศึกษาลักษณะของผู้คนที่เดินใช้งานบริเวณนั้น กำหนดการเข้าถึงอาคาร มุมมอง ทางเข้าอย่างเหมาะสม

เหตุผลหนึ่งที่งานสถาปัตยกรรมพิพิธภัณฑ์ของ ไอ.เอ็ม. เพ ประสบความสำเร็จก็เพราะมีความงามที่ดึงดูดใจประชาชน ทั้งในลักษณะเมื่อแรกพบและหลังจากได้เข้าสัมผัสเรียนรู้ดูงานภายในอาคาร ประชาชนจะมีความเพลิดเพลินพอใจในตัวสถาปัตยกรรมพิพิธภัณฑ์เองพอ ๆ กับตัวผลงานศิลป์ที่ติดตั้งไว้ในนั้น[3]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Wiseman, p. 11; Diamonstein, p. 145.
  2. "ประวัติ ไอ. เอ็ม. เพ ที่เว็บ PritzkerPrize.com". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-08-31. สืบค้นเมื่อ 2010-04-13.
  3. การออกแบบพิพิธภัณฑ์ของไอ.เอ็ม.เป, ต่วยตูน พิเศษ ฉบับที่ 381 เดือนพฤศจิกายน 2549.