ข้ามไปเนื้อหา

ไมเคิล แจ็กสันกับประเทศไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ไมเคิล แจ็กสัน เป็นนักร้องซึ่งที่รู้จักของคนไทย จากกระแสวัฒนธรรมการเต้นมูนวอล์กทั่วโลก และการเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับเครื่องดื่มเป๊ปซี่ นอกจากนี้เขายังถูกอ้างชื่อในเพลง ทับหลัง ของคาราบาว ใน พ.ศ. 2531 อีกด้วย เมื่อเขาเดินทางมาประเทศไทย ด้วยกระแสความคลั่งไคล้ที่มีแฟนติดตามไปทุกแห่งหน ทำให้เขาเป็นศิลปินต่างชาติคนแรกที่มีคนไทยชื่นชอบและจดจำได้มากที่สุด

คอนเสิร์ตในประเทศไทย

[แก้]

ไมเคิลเคยเดินทางมาแสดงคอนเสิร์ตในประเทศไทย 2 ครั้ง โดยครั้งแรกในกลางปี พ.ศ. 2536 เป็นการโปรโมตปิดอัลบั้ม Dangerous กำหนดการแสดง 2 รอบ ในวันที่ 24 สิงหาคม และ 25 สิงหาคม ที่สนามศุภชลาศัย โดยทางบริษัท เทโรเอ็นเตอร์เทนเมนต์ เป็นผู้จัด ซึ่งก่อนการแสดงได้มีการโปรโมตทางช่อง 3 เป็นรายการพิเศษเกี่ยวกับไมเคิล แจ็กสัน มี เมทินี กิ่งโพยม เป็นพิธีกร โดยออกอากาศในช่วงเที่ยงของวันเสาร์-วันอาทิตย์ อยู่นานนับเดือน

คอนเสิร์ตในครั้งนี้เป็นคอนเสิร์ตที่ได้รับความสนใจอย่างท่วมท้นจากชาวไทย และกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอยู่ช่วงหนึ่ง ถึงความเหมาะสมของการจัดแสดง เพราะบางส่วนเห็นท่าเต้นลูบเป้าของไมเคิลไม่เหมาะสมต่อวัฒนธรรมไทยและเมื่อเดินทางมาถึง ไมเคิลได้แต่งตัวแปลก ๆ เมื่อลงจากเครื่องบินส่วนตัวด้วยผ้าปิดหน้า อีกทั้งต้องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์จัดแสดงเป็นจำนวนมาก และราคาบัตรที่เข้าชมก็นับว่าแพงมากด้วย คือ 500, 800, 1,000, 1,500 และ 2,500 บาท (บัตรคอนเสิร์ตมีสีแบ่งตามราคา ได้แก่ สีทอง, สีเงิน และสีทองแดง) โดยคอนเสิร์ตวันแรกจบลงด้วยดี แต่ในวันที่ 25 สิงหาคม ไมเคิล แจ้งว่าป่วย ขอเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 26 สิงหาคม แต่เมื่อมาถึงก็ขอเลื่อนไปอีก สร้างความไม่พอใจแก่แฟน ๆ จนเกิดเป็นจลาจลย่อย ๆ หน้าสนาม ซึ่งต้องใช้เทปเสียงของเจ้าตัวมาเปิดยืนยันว่าป่วยจริง ๆ ขอเลื่อนไปเป็นวันที่ 27 สิงหาคม อีกที คราวนี้เมื่อถึงวันที่ 27 สิงหาคมจริง ๆ ก็สามารถจัดการแสดงได้และจบลงด้วยดี ซึ่งปรากฏการณ์คอนเสิร์ตในครั้งนี้นับเป็นการแสดงคอนเสิร์ตที่ใหญ่ที่สุดของนักร้องชาวต่างประเทศระดับโลกครั้งแรกของไทย และต่อมาก็ได้มีศิลปิน นักร้องต่างประเทศทยอยเดินทางมาแสดงคอนเสิร์ตในประเทศไทยเรื่อย ๆ ตราบจนปัจจุบัน ซึ่งหลังจากเดินทางออกจากประเทศไทยแล้ว ไมเคิลก็ได้เดินทางต่อไปยังประเทศบรูไน เพื่อเปิดแสดงคอนเสิร์ตที่นั่น โดยมีสุลต่านบรูไนเป็นผู้จัดและเปิดให้ประชาชนเข้าชมฟรี สำหรับทัวร์คอนเสิร์ตนี้ ไมเคิล แจ็กสัน ได้บริจาคผลกำไรทั้งหมดจากการแสดงจำนวน 70 รอบ รวมถึงในประเทศไทย ให้แก่มูลนิธิการกุศลต่าง ๆ รวมทั้งมูลนิธี "ฮีลเดอะเวิลด์" ที่เขาตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือเด็กที่ประสบภัยสงครามและโรคร้ายทั่วโลก เขายังได้บริจาคเงิน 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่มูลนิธิกองทุนการศึกษาและพัฒนาเยาวชนเพื่อสนับสนุนโครงการอาหารกลางวันเด็กในชนบทอีกด้วย

ครั้งที่ 2 เป็นคอนเสิร์ตโปรโมตอัลบั้ม HIStory โดยแสดงแบบกลางแจ้งที่เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 เปิดแสดง 2 รอบเช่นเคย ถึงแม้ว่าครั้งนี้จะไม่ได้รับความสนใจเท่าครั้งแรกและบัตรก็จำหน่ายไม่หมดทุกที่นั่ง แต่ผู้ชมยังคงเข้าไปชมอย่างหนาแน่น โดยเพลงที่นำมาแสดงในครั้งนั้นได้แก่ Scream, They Don't Care About Us, You Are Not Alone, Beat It, Billie Jean, Heal The World, Childhood และเพลงอื่น ๆ ร่วม 20 เพลง[1]

การมาเยือนประเทศไทยครั้งนี้ ไมเคิลได้เข้าเยี่ยมสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าและโรงเรียนสำหรับเด็กตาบอด เขาได้บริจาคเงิน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมกับซื้อของเล่นและของขวัญให้แก่เด็ก ๆ โฆษกของสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าได้ให้สัมภาษณ์ว่า "เด็ก ๆ ไม่ได้รู้จักเขาในฐานะดาราดัง สำหรับพวกเขา ไมเคิลเป็นเพียงผู้ชายที่มีจิตใจดีคนหนึ่ง เขาเป็นผู้ที่นำความหวังมาให้"[2]

อิทธิพลต่อศิลปินไทย

[แก้]
ไมเคิล ตั๋งในงาน "ไมเคิล แจ็กสัน, ยู อาร์ น็อท อโลน" ณ ชั้นจี ดิ ออฟฟิเศส แอท เซ็นทรัลเวิลด์

ไมเคิล แจ็กสัน ยังเป็นนักร้องผู้มีอิทธิพลในวงการเพลงทั้งทางด้านการร้องและเต้นแก่นักร้อง ศิลปินไทยมากมาย อาทิเช่น เบิร์ด ธงไชย, บี้ เดอะสตาร์, กอล์ฟ ไมค์, ติ๊ก ชีโร่, เจมส์ เรืองศักดิ์, เจ เจตริน, ใหม่ เจริญปุระ, ทาทายัง, เทพ โพธิ์งาม, ชิน ชินวุฒ, น้อย วงพรู, บาซู, ทัช ณ ตะกั่วทุ่ง, ไมเคิล ตั๋ง, ตู้ ดิเรก, ไหมไทย ใจตะวัน ฯลฯ[3] รวมถึงนักมายากลอย่าง สำลี สังวาลย์[4]

ปฏิกิริยาหลังไมเคิลเสียชีวิต

[แก้]

วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ไมเคิล แจ็กสันได้เสียชีวิตระหว่างเตรียมแสดงคอนเสิร์ต ดิส อิส อิท กลายเป็นข่าวในความสนใจของคนทั้งโลก ในประเทศไทยมีผู้โพสข้อความไว้อาลัยบนเว็บไซด์และตั้งคำถามถึงชีวิตส่วนตัวของเขาซึ่งก็ได้คลายข้อสงสัย รวมถึงการสัมภาษณ์ความรู้สึกของเหล่าศิลปินดาราหลายคนในรายการโทรทัศน์ โดยมีการถ่ายทอดสดงานไว้อาลัยของไมเคิลไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย การจากไปอย่างกระทันหันของเขาสร้างความตกใจแก่แฟนๆและศิลปินชาวไทยหลายคน โดยมีการจัดงานไว้อาลัยไมเคิล เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ณ ชั้นจี ดิ ออฟฟิเศส แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ในชื่อ "ไมเคิล แจ็กสัน, ยู อาร์ น็อท อโลน" มีศิลปินมาร่วมงานอย่าง ติ๊ก ชีโร่ เรืองศักดิ์ ลอยชูศักดิ์ ไมเคิล ตั๋ง อาร์ท วาเคชั่น และ Paul Ewing ศิลปินอิสระจากอังกฤษ ผู้ที่เคยร่วมเล่นดนตรีกับไมเคิล แจ็กสัน และกุดจี่ กวีลูกโลกสีเขียว เป็นผู้อ่านกลอน งานเริ่มต้นด้วยการให้แขกที่มาร่วมงาน ร่วมวางพวงมาลัยซึ่งเป็นสื่อในการไว้อาลัยแก่ ไมเคิล แจ็กสัน จากแฟนเพลงชาวไทย พร้อมร่วมเขียนคำไว้อาลัย ต่อด้วยการฉายภาพแสดงสดและมิวสิกวิดีโอของไมเคิล จากนั้นมีการพูดคุยถึงไมเคิลโดยกูรูวงการเพลงและแฟนพันธุ์แท้ของไมเคิล ในหัวข้อ "ทำไมใครๆ ถึงเรียกไมเคิล แจ็กสันว่า คิงออฟป๊อป" และมุมมองของสื่อมวลชนที่มีต่อคิงออฟป๊อป และเพลงไมเคิลมีอิทธิพลอย่างไรต่อคนไทย ปิดท้ายด้วยให้ อมิตา มาเรีย ยัง ตัวแทนศิลปิน กล่าวคำไว้อาลัย โดยมีจอห์น รัตนเวโรจน์เป็นต้นเสียง[5] พร้อมเชิญทุกคนร่วมร้องเพลง "ยู อาร์ น็อท อโลน" เป็นการไว้อาลัยสุดท้าย นอกจากนี้ ในรายการทรู อคาเดมี่ แฟนเทเชีย ซีซั่นที่ 6 สัปดาห์ที่ 3 ได้นำเพลงของไมเคิล ให้นักล่าฝันขับร้อง เพื่อเป็นการรำลึกถึงไมเคิลด้วย โดยคอนเสิร์ตมีขึ้นเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ณ ธันเดอร์โดม เมืองทองธานี

อ้างอิง

[แก้]