ไท่ผิงเทียนกั๋ว
ไท่ผิงเทียนกั๋ว | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ค.ศ. 1851–ค.ศ. 1864 | |||||||||
อาณาเขต | |||||||||
สถานะ | ราชอาณาจักร | ||||||||
เมืองหลวง | เทียนจิง | ||||||||
ภาษาทั่วไป | จีน | ||||||||
ศาสนา | ทางการ: การบูชาเทวดา ไม่เป็นทางการ: | ||||||||
การปกครอง | การผสานความเชื่อศาสนาคริสต์-เฉินโดยเทวาธิปไตย สมบูรณาญาสิทธิราชย์ | ||||||||
เทียนหวัง (เจ้าฟ้า) | |||||||||
• ค.ศ. 1851–1864 | หง ซิ่วเฉฺวียน | ||||||||
• ค.ศ. 1864 | หง เทียนกุ้ยฝู | ||||||||
เจ้าชั้นรอง | |||||||||
ยุคประวัติศาสตร์ | ราชวงศ์ชิง | ||||||||
11 มกราคม ค.ศ. 1851 | |||||||||
• การยึดหนานจิง | มีนาคม ค.ศ. 1853 | ||||||||
ค.ศ. 1856 | |||||||||
• การเสียชีวิตของหง เทียนกุ้ยฝู | 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 1864 | ||||||||
สกุลเงิน | เชิ่งเป๋า | ||||||||
| |||||||||
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ | จีน |
ไท่ผิงเทียนกั๋ว (จีนตัวย่อ: 太平天囯; จีนตัวเต็ม: 太平天國; พินอิน: Tàipíng Tiānguó; "กรุงเทพมหาสันติ") เป็นชื่อรัฐซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านรัฐบาลราชวงศ์ชิงตั้งแต่ ค.ศ. 1851 ถึง 1864 มีเมืองหลวงอยู่ที่เทียนจิง (天京) หรือปัจจุบันคือหนานจิง (南京) สนับสนุนปฏิบัติการของหง ซิ่วเฉฺวียน (洪秀全) และพรรคพวกซึ่งเรียกตนเองว่า ลัทธิป้ายช่างตี้ (拜上帝教; "ลัทธิบูชามหาเทพ") ในการโค่นล้มราชวงศ์ชิง จนเกิดเป็นสงครามกลางเมืองที่เรียกว่า กบฏไท่ผิงเทียนกั๋ว
หง ซิ่วเฉฺวียน เข้ารีตเป็นคริสต์ศาสนิกด้วยตนเอง แล้วประกาศตนเป็นโอรสองค์ที่สองของพระเป็นเจ้าและเป็นอนุชาของพระเยซู ก่อนนำทัพยึดภาคส่วนสำคัญในจีนตอนใต้ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 จนได้ผู้เข้าร่วมเกือบ 30 ล้านคน ฝ่ายกบฏประกาศจะปฏิรูปสังคม และจะแทนที่ลัทธิขงจื๊อ ศาสนาพุทธ และศาสนาพื้นเมืองจีน ด้วยศาสนาคริสต์ที่มีการบูชาเทวดา แต่ภายหลัง กองทัพรัฐบาลจีนยึดพื้นที่คืนได้เกือบหมด แล้วได้กองทัพฝรั่งเศสกับบริเตนมาช่วยปราบกบฏจนราบคาบ
ภูมิหลัง
[แก้]กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ประเทศจีนภายใต้การปกครองของราชวงศ์ชิงประสบปัญหาหลายประการเนื่องจากภัยทางธรรมชาติ ข้าวยากหมากแพง และพ่ายสงครามกับมหาอำนาจตะวันตก โดยเฉพาะความพ่ายแพ้ยับเยินต่อบริเตนในสงครามฝิ่นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1842 สงครามยังทำให้การขนส่งสินค้าปั่นป่วนและผู้คนมากมายตกงาน ผู้ได้รับผลกระทบจากสภาวะดังกล่าวจึงหันเข้าหาหง ซิ่วเฉฺวียน ชายผู้ขายฝันและมากบารมี
หง ซิ่วเฉฺวียน เป็นบัณฑิตซึ่งสอบตกหลายครั้ง เขามักบอกญาติสนิทมิตรสหายว่า ในความฝัน มีชายผมทองหนวดทองคนหนึ่งมามอบดาบให้แก่เขา และมีชายอีกคนซึ่งอ่อนวัยกว่าคนแรกมาหาเขา และเขาเรียกชายคนหลังนี้ว่า "พี่ชาย" ต่อมาในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 1830 เขาได้อ่านหนังสือหนา 500 หน้าเรื่อง เฉฺวียนชื่อเหลียงหยาน (勸世良言; "พระวจนะแนะโลก") ของเหลียง ฟา (梁發) ชายจีนซึ่งเข้ารีตเป็นโปรเตสแตนต์ จึงเอาความฝันตีความเข้ากับสัญลักษณ์ของศาสนาคริสต์ที่อ่านพบ แล้วเข้าใจว่า ชายผมทองหนวดทองที่มาหาคือพระเทพบิดร ส่วนชายอีกคนคือพระเยซู และความฝันของตนหมายความว่า ตนเป็นบุตรของพระเป็นเจ้า และเป็นน้องชายของพระเยซู โดยทั้งสองพระองค์เสด็จมาชี้แนะให้เขากำจัด "มาร" (ซึ่งเขาตีความว่า หมายถึง ชาวแมนจู) ให้หมดไปจากโลก เขาจึงเห็นเป็นหน้าที่ของตนในอันที่จะเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในประเทศจีนและโค่นล้มราชวงศ์ชิง
ภายหลัง เขาได้คนสำคัญมาร่วมขบวนการ คือ
- หยาง ซิ่วชิง (楊秀清) ซึ่งเดิมขายฟืนขายถ่านอยู่ในกว่างซี (广西) และมักอ้างว่า ตนเป็นปากเสียงของพระผู้เป็นเจ้า[1]
- เฝิง ยฺหวินชาน (馮雲山) ซึ่งก่อตั้งสมาคมลับ เรียก ลัทธิป้ายช่างตี้ ขึ้นในกว่างซี หลังจากเดินทางลงพื้นที่ไปเผยแพร่แนวคิดของหง ซิ่วเฉฺวียน เมื่อ ค.ศ. 1844[2]
หง ซิ่วเฉฺวียน ตั้งตนเป็นประมุขลัทธิป้ายช่างตี้ใน ค.ศ. 1847[3] ลัทธิของเขาขยายตัวมากในปลายคริสต์ทศวรรษ 1840 แนวความคิดของเขา "พัฒนาขึ้นเป็นศาสนาจีนแบบใหม่ซึ่งมีพลวัตมาก...เรียกว่า ศาสนาคริสต์แบบไท่ผิง" เขานำเสนอศาสนาใหม่นี้ว่า เป็นการรื้อฟื้นศาสนาโบราณแบบช่างตี้ (上帝) ที่ถูกลัทธิขงจื๊อและระบอบกษัตริย์บดบังมานาน เจ้าหน้าที่บ้านเมืองเห็นว่า ลัทธิของเขาเป็นภัย จึงปราบปราม ส่งผลให้ขบวนการของเขามุ่งเป้ามาที่การล้มล้างรัฐบาล และนำไปสู่สงครามกลางเมือง[4]
ประวัติ
[แก้]การก่อตั้งรัฐ
[แก้]หง ซิ่วเฉฺวียน เริ่มออกหน้าต่อต้านรัฐบาลในพื้นที่กว่างซีเมื่อ ค.ศ. 1850 ต่อมา หง ซิ่วเฉฺวียน ประกาศตั้งประเทศใหม่ เรียกว่า "ไท่ผิงเทียนกั๋ว" ในวันที่ 11 เดือน 1 (ตรงกับวันที่ 11 มกราคม ค.ศ. 1851) อันเป็นวันคล้ายวันเกิดของตน โดยตั้งตนเป็นกษัตริย์แห่งประเทศดังกล่าว เรียกว่า "เทียนหวัง" (天王; "เจ้าฟ้า")[5] เขาตั้งเฝิง ยฺหวินชาน เป็นที่ปรึกษาในการกบฏ และเป็นผู้บริหารไท่ผิงเทียนกั๋ว แต่ไม่นาน เฝิง ยฺหวินชาน ก็เสียชีวิตใน ค.ศ. 1852[6]
หลังปะทะกับฝ่ายบ้านเมืองหลายครั้ง ความรุนแรงทวีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1851 เกิดเป็นการลุกฮือที่จินเถียน (金田起義) ซึ่งกองทัพราชวงศ์ชิงที่มีกำลังน้อยถูกฝ่ายกบฏของหง ซิ่วเฉฺวียน ที่มีกำลังถึง 10,000 คน โจมตีแตกพ่าย[6] ครั้น ค.ศ. 1853 กองทัพกบฏไท่ผิงเทียนกั๋วยึดหนานจิง ("เมืองใต้") ได้ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น "เทียนจิง" ("เมืองฟ้า") หง ซิ่วเฉฺวียน เอาจวนผู้ว่าราชการมาทำเป็นที่อยู่ของตน เรียก "เทียนหวังกง" (天王宮; "วังเจ้าฟ้า") แล้วสั่งฆ่าชาวแมนจูให้สิ้น ครั้งนั้น มีชาวแมนจูกว่า 40,000 คนถูกสังหารในหนานจิง[7] เริ่มแรก กบฏไท่ผิงเทียนกั๋วประหารแต่ชายชาวแมนจู แล้วบังคับให้หญิงชาวแมนจูไปใช้แรงงานนอกเมืองหนานจิง แต่ภายหลังก็เผาหญิงตายทั้งเป็นตามไปด้วย[8]
หง ซิ่วเฉฺวียน ประสบความสำเร็จในการขยายขอบเขตของไท่ผิงเทียนกั๋วไปทั่วจีนตอนใต้ โดยมีศูนย์กลางอยู่ในหุบผาแม่น้ำแยงซีอันอุดมสมบูรณ์ จากนั้น ฝ่ายกบฏส่งทหารขึ้นเหนือไปยึดเป่ย์จิง เมืองหลวงของราชวงศ์ชิง แต่ล้มเหลว
ความขัดแย้งภายใน
[แก้]ใน ค.ศ. 1853 หง ซิ่วเฉฺวียน ถอนตัวจากการควบคุมนโยบายบริหารไท่ผิงเทียนกั๋ว เอาแต่ออกประกาศที่เขียนด้วยภาษาแบบศาสนา เพราะขัดแย้งกับหยาง ซิ่วชิง ในประเด็นทางนโยบาย และสงสัยหยาง ซิ่วชิง ที่มีทีท่าทะเยอทะยาน วางสายลับไว้ทั่ว และมักออกแถลงการณ์โดยอ้างว่า เป็นรับสั่งของพระเจ้า ฝ่ายผู้สนับสนุนหง ซิ่วเฉฺวียน จับหยาง ซิ่วชิง และพรรคพวก ประหารทั้งตระกูลใน ค.ศ. 1856[9]
เมื่อผู้นำมีปัญหากันเอง สมาชิกหลักในลัทธิของหง ซิ่วเฉฺวียน ก็พากันขยายฐานผู้สนับสนุนของตนไปทางชนชั้นกลางของจีน บ้างก็ไปทางมหาอำนาจยุโรป แต่ไม่สำเร็จทั้งสองทาง เพราะชนชั้นกลางไม่ชอบใจที่ลัทธินี้ต่อต้านประเพณีจีนและคุณธรรมแบบขงจื๊อ ขณะที่ยุโรปก็ตัดสินใจจะเป็นกลาง
ใน ค.ศ. 1859 หง เหรินกาน (洪仁玕) ญาติของหง ซิ่วเฉฺวียน มาเข้าร่วมขบวนการของหง ซิ่วเฉฺวียน และได้รับมอบอำนาจมากมาย หง เหรินกาน วางแผนจะขยายอาณาเขตไท่ผิงเทียนกั๋ว ครั้น ค.ศ. 1860 กบฏไท่ผิงเทียนกั๋วยึดซูโจว (苏州) กับหางโจว (杭州) ทางตะวันออกได้ในยุทธการที่จิงหนาน แต่ยึดช่างไห่ (上海) ในยุทธการที่ช่างไห่ไม่สำเร็จ ทำให้รัฐไท่ผิงเทียนกั๋วเริ่มเสื่อมอำนาจ
การล่มสลาย
[แก้]ยุทธการที่ช่างไห่ดังกล่าวเริ่มขึ้นในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1860 แรกเริ่มดูจะไปได้ดี แต่เมื่อเผชิญหน้ากับกองทัพราชวงศ์ชิงที่ได้ความช่วยเหลือจากทหารยุโรปของนายพลเฟรเดริก ทาวน์เซนด์ วอร์ด (Frederick Townsend Ward) ก็ล้มไม่เป็นท่า[6]
กองทัพราชวงศ์ชิงได้รับการปรับปรุงใหม่ภายใต้การบริหารของเจิง กั๋วฟาน (曾國藩) กับหลี่ หงจาง (李鴻章) ทำให้ยึดพื้นที่คืนจากฝ่ายกบฏได้เกือบหมดในต้น ค.ศ. 1864
เมื่อกองทัพราชวงศ์ชิงมาล้อมหนานจิงใน ค.ศ. 1864 หง ซิ่วเฉฺวียน ประกาศต่อผู้คนว่า พระเป็นเจ้าจะอยู่ข้างพวกเขา แต่ในเดือนมิถุนายน ปีนั้น หง ซิ่วเฉฺวียน เก็บผักป่ามากิน เพราะอาหารในเมืองขาดแคลน การกินผักป่าทำให้เกิดภาวะอาหารเป็นพิษจนเขาล้มป่วยลงถึง 20 วันและเสียชีวิต ไม่กี่วันให้หลัง กองทัพราชวงศ์ชิงยึดหนานจิงได้ เจิง กั๋วฟาน ให้ขุดศพเขาขึ้นมาตรวจสอบแล้วเผาทิ้งไป เถ้ากระดูกที่เหลือให้ยิงออกจากปืนใหญ่กระจายไปทั่วสารทิศ เพื่อที่ร่างเขาจะได้ไม่มีที่พักวิญญาณเป็นหลักแหล่ง เป็นการลงโทษที่ก่อการกำเริบ
สี่เดือนก่อนที่ราชวงศ์ชิงจะยึดหนานจิงได้ หง ซิ่วเฉฺวียน สละตำแหน่งกษัตริย์ให้แก่บุตรชายคนโตวัย 15 ปีของตนชื่อ หง เทียนกุ้ยฝู (洪天貴福) แต่เมื่อบิดาตายและหนานจิงถูกยึด หง เทียนกุ้ยฝู ไม่รู้ที่จะทำประการใดให้รัฐไท่ผิงเทียนกั๋วกลับคืนมาได้ บรรดาญาติพี่น้องของหง ซิ่วเฉฺวียน ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นหวัง (王; "เจ้า") ก็ถูกประหารชีวิตในตำบลจินหลิง (金陵城) ของเมืองหนานจิงนั้น
แม้การยึดหนานจิงใน ค.ศ. 1864 จะเป็นจุดสิ้นสุดของไท่ผิงเทียนกั๋ว แต่การรบรายังไม่ยุติ ทหารกบฏที่เหลืออยู่นับพันยังต่อสู้ต่อต้านรัฐบาลต่อไป ราชวงศ์ชิงต้องใช้เวลาอีก 7 ปีเพื่อปราบกบฏจนราบคาบ ทหารกบฏกลุ่มสุดท้ายที่มีหลี่ ฝูจง (李福忠) เป็นหัวหน้า ถูกปราบปรามในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1871 ในภูมิภาคชายแดนเมืองกว่างซี, กุ้ยโจว (贵州), และหูหนาน (湖南)
การปกครอง
[แก้]ผู้ปกครองสูงสุด
[แก้]"เทียนหวัง" (天王; "เจ้าฟ้า") เป็นตำแหน่งผู้ปกครองสูงสุดในประเทศ ผู้ดำรงตำแหน่งนี้ได้แก่
- หง ซิ่วเฉฺวียน (洪秀全) ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1851 ถึงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1864 ใช้ชื่อรัชศกว่า "ยฺเหวียนเหนียน" (元年; "ปีต้น")
- หง เทียนกุ้ยฝู (洪天貴福) บุตรชายหัวปีของหง ซิ่วเฉฺวียน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1864 ถึงเดือนสิงหาคม ปีเดียวกัน ไม่ทันได้ตั้งรัชศก
ผู้ปกครองชั้นรอง
[แก้]ตำแหน่งรองลงจากเทียนหวัง คือ ผู้ปกครองแว่นแคว้น ซึ่งมอบให้แก่สาวกคนสำคัญของหง ซิ่วเฉฺวียน ได้แก่
- "หนานหวัง" (南王; "เจ้าทักษิณ") ผู้ดำรงตำแหน่ง คือ เฝิง ยฺหวินชาน (馮雲山) ซึ่งถูกสังหารในสงครามเมื่อ ค.ศ. 1852
- "ตงหวัง" (東王; "เจ้าบูรพา) ผู้ดำรงตำแหน่ง คือ หยาง ซิ่วชิง (楊秀清) ซึ่งถูกเจ้าอุดรฆ่าในการรัฐประหารเมื่อ ค.ศ. 1856
- "ซีหวัง" (西王; "เจ้าประจิม) ผู้ดำรงตำแหน่ง คือ เซียว เฉากุ้ย (蕭朝貴) ซึ่งถูกสังหารในสงครามเมื่อ ค.ศ. 1852
- "อี้หวัง" (翼王; "เจ้าภาค") ผู้ดำรงตำแหน่ง คือ ฉือ ต๋าคาย (石達開) ซึ่งถูกราชวงศ์ชิงจับกุมและประหารใน ค.ศ. 1863
- "เป่ย์หวัง" (北王; "เจ้าอุดร") ผู้ดำรงตำแหน่ง คือ เหวย์ ชางฮุย (韋昌輝) ซึ่งถูกสังหารใน ค.ศ. 1856
อื่น ๆ
[แก้]หง ซิ่วเฉฺวียน ยังตั้งพวกพ้องเป็น "หวัง" (王; "เจ้า") อีกหลายคน ได้แก่
- "ก่านหวัง" (干王) ผู้ดำรงตำแหน่ง คือ หง เหรินกาน (洪仁玕) ญาติของหง ซิ่วเฉฺวียน อยู่ในตำแหน่งตั้งแต่ ค.ศ. 1822 จนถูกราชวงศ์ชิงจับกุมและประหารชีวิตใน ค.ศ. 1864
- "จงหวัง" (忠王) ผู้ดำรงตำแหน่ง คือ หลี่ ซิ่วเฉิง (李秀成) ตั้งแต่ ค.ศ. 1823 จนถูกราชวงศ์ชิงจับกุมและประหารใน ค.ศ. 1864
- "จุนหวัง" (遵王) ผู้ดำรงตำแหน่ง คือ ล่าย เหวินกวัง (賴文光) ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ ค.ศ. 1827 จนถึง ค.ศ. 1868
- "ฝูหวัง" (福王) ผู้ดำรงตำแหน่ง คือ
- หง เหรินต๋า (洪仁達) พี่ชายคนที่สองของหง ซิ่วเฉฺวียน ถูกราชวงศ์ชิงจับตัวได้และประหารเสียใน ค.ศ. 1864
- หง เหรินฟู่ (洪仁富) ญาติของหง ซิ่วเฉฺวียน
- "หย่งหวัง" (勇王) ผู้ดำรงตำแหน่ง คือ หง เหรินกุ้ย (洪仁貴) ญาติของหง ซิ่วเฉฺวียน
- "อานหวัง" (安王) ผู้ดำรงตำแหน่ง คือ หง เหรินฟา (洪仁發) พี่ชายคนโตสุดของหง ซิ่วเฉฺวียน
- "อิงหวัง" (英王) ผู้ดำรงตำแหน่ง คือ เฉิน ยฺวี่เฉิง (陳玉成) ตั้งแต่ ค.ศ. 1837 จนถึง ค.ศ. 1862
- ตำแหน่งไม่ทราบ ผู้ดำรงตำแหน่ง คือ เถียน กุ้ย (田貴) ถูกราชวงศ์ชิงจับกุมและประหารใน ค.ศ. 1864
เงินตรา
[แก้]ในปีแรกที่ก่อตั้ง ไท่ผิงเทียนกั๋วผลิตเหรียญกระษาปณ์ เส้นผ่านศูนย์กลาง 23–26 มิลลิเมตร หนักราว 4.1 กรัม ด้านหลังจารึกข้อความว่า "เชิ่งเป่า" (聖寶; "ศักดิ์สิทธิ์และสูงค่า") นอกจากนี้ ยังออกธนบัตรของตนเอง[10]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Spence (1990), p. p. 171.
- ↑ "Feng Yunshan (Chinese rebel leader) - Britannica Online Encyclopedia". Britannica.com. สืบค้นเมื่อ 2013-03-08.
- ↑ "Taiping Rebellion (Chinese history) - Britannica Online Encyclopedia". Britannica.com. สืบค้นเมื่อ 2013-03-08.
- ↑ Reilly (2004), p. 4.
- ↑ China: A New History, John King Fairbank and Merle Goldman. Harvard, 2006.
- ↑ 6.0 6.1 6.2 Spence (1996)
- ↑ Matthew White (2011). Atrocities: The 100 Deadliest Episodes in Human History. W. W. Norton. p. 289. ISBN 978-0-393-08192-3.
- ↑ Reilly (2004), p. 139.
- ↑ Spence 1996, p. 243
- ↑ "Money of the Kingdom of Heavenly Peace". The Currency Collector. สืบค้นเมื่อ 24 March 2016.
บรรณานุกรม
[แก้]- ผลงานที่อ้างถึง
- Reilly, Thomas H. (2004). The Taiping Heavenly Kingdom: Rebellion and the Blasphemy of Empire. Seattle: University of Washington Press. ISBN 0295984309.
- Spence, Jonathan (1996). God's Chinese Son: The Taiping Heavenly Kingdom of Hong Xiuquan. New York: Norton. ISBN 0-393-03844-0.
- ——— (1990). The Search for Modern China. New York: Norton.