ข้ามไปเนื้อหา

ไชโยโปรดักชั่นส์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บริษัท ไชโยโปรดักชั่นส์ จำกัด
ประเภทบริษัทจำกัด
อุตสาหกรรมภาพยนตร์, ละครโทรทัศน์, โฆษณา, วีดิทัศน์
ก่อตั้งพ.ศ. 2509
สำนักงานใหญ่464 ถนนสุคนธสวัสดิ์ แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร
บุคลากรหลักสมโพธิ แสงเดือนฉาย - ผู้ก่อตั้ง
พีระศิษฎ์ แสงเดือนฉาย - ประธานกรรมการบริหาร
ผลิตภัณฑ์สื่อภาพยนตร์, สื่อโทรทัศน์, สื่อโฆษณา, สินค้าเกี่ยวกับภาพยนตร์ต่าง ๆ

บริษัท ไชโยโปรดักชั่นส์ จำกัด (อังกฤษ: Chaiyo Productions Co., Ltd.[1]) หรือชื่อเดิม ไชโยภาพยนตร์ เป็นบริษัทผลิตผลงานด้านสื่อประเภทภาพยนตร์ และละครโทรทัศน์ รวมถึงสื่อโฆษณา สัญชาติไทย ก่อตั้งโดย สมโพธิ แสงเดือนฉาย โดยชื่อ "ไชโย" หมายถึง "ชัยชนะ" เป็นชื่อที่ได้รับการตั้งจาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในปี พ.ศ. 2509 จากการที่สมโพธิเคยได้ทำงานใกล้ชิดกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ในฐานะช่างภาพของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ จนกลายเป็นบุคคลสนิท[2]

ประวัติ

[แก้]

ไชโยโปรดักชั่นส์ มีผลงานครั้งแรกเป็นละครโทรทัศน์ คือ เรื่อง ไกรทอง เมื่อปี พ.ศ. 2513 ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 ซึ่งเป็นเรื่องราวของนิทานพื้นบ้านเกี่ยวกับมนุษย์และจระเข้ ที่เป็นที่รู้จักกันดี โดย สมโพธิได้ใช้สเปเชียลเอฟเฟกส์ผสมกับการนำเสนอแบบลิเก ทำให้ได้รับความนิยมอย่างมากจนเรตติ้งขึ้นเป็นละครอันดับหนึ่งของปีนั้น (นำแสดงโดย ปรีดา จุลละมณฑล ดามพ์ ดัสกร มาลาริน บุนนาค ขวัญตา บัวเปลี่ยนสี) และทำให้ได้มีผลงานเรื่องถัดมา ปี พ.ศ. 2514 คือ พระอภัยมณี[3] (นำแสดงโดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ คมน์ อรรฆเดช รจนา นามวงศ์ ขวัญตา บัวเปลี่ยนสี ปริม ประภาพร รัตนาภรณ์น้อย อินทรกำแหง) ต่อมาจึงได้มีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก คือ ท่าเตียน ในปี พ.ศ. 2516 ซึ่งเป็นเรื่องราวของยักษ์วัดแจ้งสู้กับยักษ์วัดโพธิ์ เมื่ออกฉายประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ทำรายได้อย่างมาก และยังมีผลงานในแนวเดียวกันออกมาอีกหลายเรื่อง ซึ่งทุกเรื่องประสบความสำเร็จทั้งสิ้นกับภาพยนตร์แนวสัตว์ประหลาด, ซูเปอร์ฮีโร่ หรือแฟนตาซี ที่ต้องใช้สเปเชียลเอฟเฟกส์จำนวนมาก ในช่วงที่รุ่งเรือง กล่าวกันว่าเมื่อใดที่สัญลักษณ์ของไชโยภาพยนตร์ปรากฏ คือ รูปสิงโตคู่ ผู้ชมโดยเฉพาะเด็ก ๆ จะวิ่งมาจองพื้นที่นั่งดูในแถวหน้าเป็นจำนวนมาก โดยมีผลงานทั้งสิ้น 16 เรื่อง บางเรื่องยังได้ร่วมสร้างกับบริษัทของต่างประเทศ เช่น สึบุรายะโปรดักชั่น ของญี่ปุ่น และได้ออกฉายยังต่างประเทศ[3]

ไชโยโปรดักชั่นส์ มีที่ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 464 ถนนสุคนธสวัสดิ์ แขวงและเขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร และมีโรงถ่ายตั้งอยู่ที่ ถนนพหลโยธิน กิโลเมตรที่ 52 ตำบลเชียงรากน้อย อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา[1] ซึ่งใช้เป็นโรงถ่ายทำมาตั้งแต่อดีต ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นที่พักอาศัยของสมโพธิ และใช้เป็นที่เก็บสินค้าและสิ่งต่าง ๆ เกี่ยวกับอุลตร้าแมนกว่า 1 ล้านชิ้น โดยเรียกว่า "อุลตร้าแมนแลนด์"[3]

ปัจจุบัน ไชโยโปรดักชั่นส์ มิได้สร้างภาพยนตร์แล้ว โดยผลงานเรื่องสุดท้าย คือ กิ้งก่ากายสิทธิ์ ในปี พ.ศ. 2528[4] (ในปี พ.ศ. 2544 และ พ.ศ. 2547 มีการแสดงโชว์ อุลตร้าแมนมิลเลเนี่ยม ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี[5] และในปี พ.ศ. 2550 มีการสร้างซีรีส์ชุด โปรเจกต์อุลตร้าแมน ร่วมกับบริษัทของจีน แต่มิได้เผยแพร่เนื่องจากติดปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์[6]) แต่ได้ดำเนินการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ต่าง ๆ โดยไม่มีผลงานของบริษัทจัดจำหน่ายอีกแล้วในตลาด เนื่องจากสมโพธิได้จัดเก็บหมด โดยตั้งใจว่าจะออกเผยแพร่เป็นดีวีดีแบบบลูเรย์ ก็ต่อเมื่อปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ของอุลตร้าแมนได้จบลงและได้มีการสร้างใหม่อีกครั้งในนามบริษัท[4]

ผลงาน

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 "บริษัท ไชโย โปรดักชั่นส์ จำกัด". smelink.net. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-18. สืบค้นเมื่อ 13 December 2015.
  2. "เผยโฉม 'ยอดมนุษย์' ผู้ปราบมาร อภิบาลคนดี". ผู้จัดการออนไลน์. 10 November 2006. สืบค้นเมื่อ 13 December 2015.[ลิงก์เสีย]
  3. 3.0 3.1 3.2 "ลายกนก ย้อนหลัง 08 พฤศจิกายน 2558 ตอน บันไดชีวิต สมโพธิ แสงเดือนฉาย". เนชั่นทีวี. 8 November 2015. สืบค้นเมื่อ 9 November 2015.[ลิงก์เสีย]
  4. 4.0 4.1 "ลายกนก ย้อนหลัง 15 พฤศจิกายน 2558 ตอน บันไดชีวิต สมโพธิ แสงเดือนฉาย (2)". เนชั่นทีวี. 15 November 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 16 November 2015.
  5. Legal Victories for Tsuburaya Productions « SciFi Japan เก็บถาวร 2021-01-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
  6. "Project Ultraman Trailer (Ultraman Millenium)". ยูทิวบ์. 10 July 2013. สืบค้นเมื่อ 17 November 2015.