โลนจี
ชายชาวพม่าสวมโลนจี | |
ประเภท | ผ้านุ่ง |
---|---|
วัสดุ | ไหม, ฝ้าย |
ถิ่นกำเนิด | ประเทศพม่า |
โลนจี (พม่า: လုံချည်; เอ็มแอลซีทีเอส: lum hkyany; ออกเสียง: [lòʊɰ̃dʑì]) เป็นผืนผ้าที่ใช้กันแพร่หลายในประเทศพม่า มีความยาวราว 2 เมตร (6.6 ฟุต) และกว้าง 80 เซนติเมตร (2.6 ฟุต) มักเย็บเป็นรูปทรงกระบอก สวมรอบเอว ลากยาวไปถึงเท้า และยึดด้วยการพับผ้าแล้วเหน็บโดยไม่ผูกเป็นปม ในสมัยโบราณนักสู้ และเหว่ จะผูกผ้าไว้ในเวลาแข่ง[1] เทคนิคการพับนี้ยังคงใช้ในปัจจุบันเมื่อผู้คนเล่น ชี่นโล่น
ประวัติศาสตร์
[แก้]โลนจีสมัยใหม่ซึ่งเป็นผ้าชิ้นเดียวทรงกระบอก เป็นผ้าที่เพิ่งนำเข้ามาในพม่าไม่นานนี้ ผ้าชนิดนี้ได้รับความนิยมในช่วงอาณานิคมของอังกฤษ แทนที่ผ้า ปาโซ และ ทะเมน ในสมัยก่อนอาณานิคมได้สำเร็จ[2] คำว่า โลนจี เดิมหมายถึง โสร่ง ที่ผู้ชายชาวมลายูสวมใส่[3]
ยุคก่อนอาณานิคม ปาโซของผู้ชาย ผืนผ้ามีความยาว 9.1 เมตร (30 ฟุต) เรียกว่า ตองเช ปาโซ (တောင်ရှည်ပုဆိုး) และไม่ได้เย็บ เช่นเดียวกับทะเมนของสตรี ผืนผ้ามีความยาว 1.4 เมตร (4 ฟุต 7 นิ้ว) มีแถบผ้าฝ้ายหรือกำมะหยี่สีเข้มเย็บไว้ที่ขอบด้านบน ผืนผ้ามีลายอยู่ช่วงกลาง และมีผ้าแดงหรือผ้าขาวเย็บติดไว้ที่ชายผ้าลากยาวลงมาด้านล่าง[4][5] ปาโซเป็นที่นิยมสวมใส่โดยผู้ชายพม่าในคริสต์ศตวรรษที่ 19[6][7] ปริมาณผ้าของปาโซเป็นสัญลักษณ์ของสถานะทางสังคม[7]
ผู้มาเยือนชาวตะวันตกที่มาเยือนย่างกุ้งในคริสต์ศตวรรษที่ 19 บันทึกว่า:
ผู้ชายเกือบทุกคนเปลือยถึงเอว หรือสวมเสื้อแจ็กเก็ตผ้าลินินสีขาวตัวเล็กแบบผ่า พร้อมด้วยปาโซขนาดหนาพันแน่นรอบเอว และมัดรวมกันเป็นมัดใหญ่หรือปมด้านหน้า[8]
เมื่อไปเยือนเมืองอมรปุระ เฮนรี ยูล ได้บรรยายถึงปาโซของผู้ชายและทะเมนของสตรี ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่สำคัญที่สุดในท้องถิ่น มีการจ้างงานคนในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ผ้าไหมนำเข้าจากจีน[6] เขาบันทึกว่า:
ผ้าปาโซมักจะมีความยาวประมาณ 9 ถึง 10 หลา การทำขึ้นเพื่อใช้งาน จะนำผ้าทอผืนยาวมาตัดแบ่งครึ่ง แล้วเย็บต่อกันให้กว้างขึ้นเป็นสองเท่า พันรอบเอวโดยไม่ต้องผูกเชือก[6]
อย่างไรก็ตาม เมื่อเริ่มการปกครองแบบอาณานิคม พม่าตอนล่างและเขตเมืองก็เริ่มมีการนำโลนจีแบบมาเลย์และอินเดียเข้ามาใช้มากขึ้น ซึ่งสวมใส่ได้สะดวกกว่า[4][5]
รูปแบบและการออกแบบ
[แก้]ในพม่าโลนจีที่ผู้ชายสวมใส่เรียกว่า ปาโซ (ပုဆိုး) ขณะที่ผู้หญิงสวมใส่เรียกว่า ทะเมน หรือ ทะบี (ထဘီ) หากว่ากันอย่างเคร่งครัดแล้ว ชุดเหล่านี้ไม่ถือเป็นชุดที่สวมใส่ได้ทั้งชายและหญิง เนื่องจากวิธีการสวมใส่ รวมถึงลวดลายและการแต่งชุดจะแตกต่างกันระหว่างเพศ
ผู้ชายจะสวมปาโซแบบสมัยใหม่โดยรวบผ้าทั้งสองข้างแล้วพับเหน็บที่เอวใต้สะดือเล็กน้อย ส่วนชุดสตรีมักจะมีความยาว 3 ศอก 1 นิ้ว (ราว 1.5 เมตร) แต่สมัยก่อนก็ยังไม่ได้เย็บเช่นเดียวกับชุดผู้ชาย มักสวมห่อรอบตัวโดยพับกว้างครั้งเดียวด้านหน้าแล้วเหน็บปลายผ้าเข้าด้านหนึ่ง หรือห่อจากด้านหลังช่วงสะโพกแล้วเหน็บฝั่งตรงข้ามเอว โดยปกติจะสวมทับด้วยเสื้อพอดีตัวยาวถึงช่วงเอว
ชายผ้าจะยาวขึ้นหรือสั้นลงตามแฟชั่นในสมัยนั้น แม้ว่าจะไม่ยาวเหนือเข่าก็ตาม โดยทั่วไปแล้วโลนจีจะขายแบบไม่เย็บ แต่ปัจจุบันมีจำหน่ายแบบพร้อมใส่ โดยอาจเย็บแบบเดียวกับกระโปรงสไตล์ตะวันตก การคลายและการเหน็บโลนจีมักจะพบเห็นได้ในที่สาธารณะทั้งกับผู้ชายและผู้หญิง โดยผู้หญิงจะดูไม่สะดุดตาเมื่อเทียบกับผู้ชาย
ลวดลายและผ้า
[แก้]ปาโซของผู้ชายโดยทั่วไปจะเป็นลายทางหรือลายตาราง อาจต่างกันไปตามสีพื้น และอาจสวมกลับหัวหรือกลับด้านได้โดยไม่มีความแตกต่าง ทะเมนของสตรีมีแถบผ้าดิบสีดำเรียกว่า อะเทะ ซี่น (အထက်ဆင့်, แปลว่า แถบบน) สำหรับเอว นอกจากนี้ยังมีหลากสีสันและลวดลายดอกไม้อีกด้วย
ผ้าฝ้ายเป็นวัสดุพื้นฐาน แต่ผ้าทุกประเภททั้งนำเข้าและในประเทศ สามารถทำเป็นโลนจีได้[9] ผ้าหลายชนิดสามารถทำเป็นผ้าทะเมนได้ ผ้าบาติกของประเทศอินโดนีเซียแม้จะมีราคาแพง แต่ก็ได้รับความนิยมมาหลายทศวรรษ ชุดผ้าบาติก (ပါတိတ်) ที่มีส่วนบนและส่วนล่างรูปแบบเดียวกัน ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วง ค.ศ. 1980
สำหรับพิธีการและโอกาสพิเศษ ผู้สวมใส่จะใช้ผ้าไหมที่ดีที่สุด ผ้าไหมที่ประณีตที่สุดเรียกว่า อะเชะ (အချိတ်) เป็นลายลอนคลื่นที่สวยงามและสลับซับซ้อนหลากสีสันจากช่างทอเมืองอมรปุระ ผ้าไหมมักจะสวมใส่ในงานแต่งงาน โดยเจ้าบ่าวและเจ้าสาวมักจะสวมชุดที่สีเข้ากัน[10] ผู้ยากไร้อาจเก็บผ้าไหมแบบดั้งเดิมไว้ใช้สำหรับโอกาสพิเศษ
ในสมัยโบราณ ผ้าไหมเป็นเครื่องแต่งกายของราชวงศ์และข้าราชบริพาร โดยผ้าปาโซและผ้าทะเมนของราชวงศ์จะปักลวดลายอย่างวิจิตรด้วยทอง เงิน ไข่มุก และอัญมณีล้ำค่า ปัจจุบันสามารถพบเห็นการจำลองเหล่านี้ได้บนละครเวที ซะปเว (ဇာတ်ပွဲ)
ผ้าทอและลวดลายของชาติพันธุ์ระดับภูมิภาคนั้นมีมากมายและเป็นที่นิยม ได้แก่ ยะไข่โลนจี, มอญโลนจี, กะชีนโลนจี, อี้นเล่โลนจี, ยอโลนจี, ทวายโลนจี และอื่น ๆ[11][12][13]
ปาโซผ้าไหมแต่ไม่ใช่ อะเชะ ที่ผู้ชายสวมใส่ในโอกาสพิเศษเรียกว่า บางเกาะปาโซ (บางกอก), กะลาปาโซ (อินเดีย) ที่มักจะยาวและสวมใส่โดยคนที่ตัวสูง, กากา ซิน หมายถึงลายตารางกว้างสีดำ สีน้ำตาล และสีขาวที่เจ้าของร้านชาชาวอินเดียสวมใส่ โลนจีที่ผ่านกระบวกการ Mercerisationfrom จากอินเดียเป็นที่นิยมเนื่องจากเนื้อผ้ามีความทนทานมากกว่า
ประโยชน์และความสะดวก
[แก้]โลนจีเหมาะกับสภาพอากาศเพราะทำให้มีอากาศถ่ายเท และช่วยคลายร้อนจากแสงแดด ผ้าไหมมีคุณสมบัติพิเศษในการเก็บความอบอุ่นช่วงฤดูหนาว และเย็นสบายในฤดูร้อน
โลนจีเป็นชุดที่ใช้งานได้หลากหลาย ผู้ชายมักจะเหน็บส่วนล่างของปาโซไว้ด้านบน โดยรวบด้านหน้าแล้วสอดเข้าระหว่างขาทั้งสองไปด้านหลังตรงเอว เรียกว่า ปาโซ คาดองไจ (ပုဆိုးခါးတောင်းကျိုက်) เช่นเดียวกับโดติ มักจะใช้สวมใส่ขณะปีนป่ายหรือเล่นกีฬาแทนการเปลี่ยนเป็นกางเกงขาสั้น[14] ทหารในสมัยโบราณจะสวมปาโซในลักษณะนี้ไม่ว่าจะสวมเพียงตัวเดียวหรือสวมทับกางเกงขายาวก็ตาม
ในพื้นที่ชนบท มักพบเห็นผู้ชายพับผ้าปาโซไว้บนไหล่ข้างหนึ่งในขณะอาบน้ำ หรือสำหรับใช้เป็นเบาะรองสะพายข้างหรือรองของหนักด้านหลัง สตรีเมื่ออาบน้ำเพียงแค่สวมทะเมนให้สูงแล้วเหน็บไว้ใต้รักแร้เพื่อปกปิดหน้าอกก่อนจะถอดเสื้อออก อาจเห็นพวกเขาใช้ทะเมนเป็นทุ่นลอยน้ำในแม่น้ำโดยกักอากาศไว้แล้วใช้มือรวบแน่นด้านล้าง พวกเขาใช้ผ้าปาโซของผู้ชายหรือผ้าชิ้นยาวม้วนและขดเป็นเบาะบนศีรษะสำหรับเทินหม้อน้ำ ฟืน ตะกร้า และถาด ซึ่งเป็นวิถีปกติของการขายสินค้าหาบเร่ริมถนน
การเปลี่ยนชุดทำได้ง่ายเพียงแค่ก้าวเข้าไปในโลนจีตัวใหม่และดึงขึ้น ในขณะเดียวกันก็คลายและปล่อยตัวเก่าออก หรือจะสวมตัวใหม่จากหัวลงมาก็ได้ อย่างไรก็ตาม แม้ในที่ส่วนตัว ผู้หญิงก็เปลี่ยนเสื้อผ้าโดยไม่ถอดชุดออกทั้งหมด พวกเธอจะสวมผ้าทะเมนหนึ่งผืนในขณะเปลี่ยนชุดใหม่ อาจเห็นผู้หญิงบางคนดึงผ้าทะเมนขึ้นทีละนิดในขณะลุยน้ำลึกลงแม่น้ำเพื่อไม่ให้เปียก การซักและรีดผ้าเป็นเรื่องง่ายดาย เพราะผ้าเป็นทรงกระบอก แขวน รีด พับ และวางซ้อนกันได้ง่ายโดยใช้พื้นที่ในตู้เสื้อผ้าเพียงเล็กน้อย
และเหว่
[แก้]ในสมัยโบราณ นักสู้และเหว่แบบดั้งเดิมจะสวมโลนจีในการแข่งขัน[1] นักสู้จะสวมชุดขาสั้นที่เรียกว่า ปาโซ คาดองไจ (ပုဆိုးခါးတောင်းကျိုက်) เพื่อให้สามารถใช้ขาและเตะได้ ปัจจุบันการแข่งขันและเหว่นักสู้จะสวมกางเกงขาสั้น
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Matthew Carter (December 23, 2018). "Lethwei Fighters Wear Skirts!". Lethwei World.
- ↑ Thant Myint-U (2008). The River of Lost Footsteps: A Personal History of Burma. Macmillan. pp. 182. ISBN 9780374531164.
- ↑ Judson, Adinoram (1893). Judson's Burmese-English dictionary. Government of Burma.
- ↑ 4.0 4.1 Ferrars, Max; Bertha Ferrars (1900). Burma. S. Low, Marston and Company.
- ↑ 5.0 5.1 Imperial gazetteer of India. Vol. 10. Superintendent of Government Printing. 1908. p. 46.
- ↑ 6.0 6.1 6.2 Sir Henry Yule (1858). A narrative of the mission sent by the governor-general of India to the court of Ava in 1855: with notices of the country, government, and people. Smith, Elder and co. pp. 154.
- ↑ 7.0 7.1 Bowie, Katherine A. (February 1993). "Assessing the Early Observers: Cloth and the Fabric of Society in 19th-Century Northern Thai Kingdoms". American Ethnologist. 20 (3): 138–158. doi:10.1525/ae.1993.20.1.02a00070. JSTOR 645416.
- ↑ Annie Brassey; Mary Anne Broome (23 December 2010). The Last Voyage, to India and Australia, in the Sunbeam. Cambridge University Press. p. 121. ISBN 978-1-108-02471-6.
- ↑ "Myanmar Longyi". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-06-23.
- ↑ Bird, George W (1897). Wanderings in Burma. London: F J Bright & Son. p. 48.
- ↑ "Inle longyi inc. video". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-06.
- ↑ "Yaw longyi from Gangaw inc. video". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-03-13.
- ↑ "Dawei longyi from Tanintharyi inc. video". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-06.
- ↑ Marshall, Andrew (2002). The Trouser People. Washington DC: Counterpoint. jacket photo,30. ISBN 9781582431208.