โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด
โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด (อังกฤษ: Banthongyod Badminton School) เป็นโรงเรียนแบดมินตันแห่งแรกในประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ ถนนพุทธมณฑลสาย 3 แขวงบางไผ่ เขตบางแค กรุงเทพมหานคร แต่เดิมเรียกว่าชมรมแบดมินตันบ้านทองหยอด[1]
ประวัติ
[แก้]โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2534 โดยครอบครัวของ กมลา ทองกร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ลูกๆ และเพื่อนๆของลูก มาเล่นแบดมินตัน โดยที่ในขณะนั้น ลูกๆของเธอยังไม่มีสังกัด จึงไม่สามารถลงแข่งขันได้ และด้วยความรักในกีฬาแบดมินตัน จึงได้ก่อตั้งเป็นชมรมขึ้นเอง โดยใช้ชื่อว่า “ชมรมแบดมินตันบ้านทองหยอด” และได้ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกสามัญของสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ส่วนสาเหตุที่ใช้ชื่อนี้ เนื่องจากเป็นธุรกิจของกมลาเอง เพื่อนๆของเธอจึงแนะนำให้ใช้ชื่อนี้ เพราะแสดงถึงความเป็นคนไทยด้วย
โดยในระยะแรก ทางชมรมฯได้ใช้สนามที่สร้างขึ้นเองภายในบริเวณบ้านของกมลา จำนวน 1 สนาม และมีนักกีฬาเพียง 4 คนเท่านั้น โดยมี อ.พรโรจน์ บัณฑิตพิสุทธิ์ เป็นผู้ฝึกสอน จนกระทั่งนักกีฬาเริ่มมีผลงานที่สามารถเข้าถึงรอบก่อนรองชนะเลิศ ในปีถัดมา อ.พรโรจน์ มีความจำเป็นต้องย้ายราชการครู ไปสอนที่จังหวัดกระบี่ จึงได้แนะนำทางชมรมฯให้หาโค้ชมืออาชีพ ที่สามารถทำงานได้เต็มเวลา ทางชมรมฯจึงได้ติดต่อสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทย ซึ่งในขณะนั้น สง่า เมฆนาวิน ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการสมาคมฯ ได้ติดต่อกับสมาคมแบดมินตันแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อขอโค้ชชาวจีนมาฝึกสอนที่ประเทศไทย ขณะนั้น Mr. Hol Zea Chang หัวหน้าผู้ฝึกสอนของสมาคมแบดมินตันแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ส่งประวัติของ Mr. Xie Zhihua (เซี่ย จื่อ หัว) มาให้พิจารณา แล้วจึงตกลงทำสัญญาว่าจ้าง เซี่ย จื่อ หัว มาเป็นโค้ชให้กับทางชมรมฯ
ต่อมา เริ่มมีนักกีฬามาเรียนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทางชมรมฯจึงย้ายไปเช่าสนามแบดมินตันเพชรเกษม 59 และเปิดสอนได้ประมาณ 3 เดือน ก็ทำการย้ายไปเปิดสอนที่สนามแบดมินตันหรรษา และในปี พ.ศ. 2540 ชมรมฯได้ทำการว่าจ้างโค้ชจีนเพิ่มอีก คือ Mr. Liu Ying Gang ผู้ช่วยผู้ฝึกสอนจากสมาคมแบดมินตันแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และต่อมาก็ได้ว่าจ้าง Mrs. Liu Zheng Hui ผู้ฝึกสอนระดับเยาวชนชาวจีน มาสอนที่ชมรมฯ และอบรมผู้ช่วยผู้ฝึกสอนชาวไทยของทางชมรมฯด้วย ชมรมฯได้เช่าสนามที่หมู่บ้านหรรษาอยู่ประมาณ 7 ปี ทางชมรมฯจึงได้ย้ายมาสอนที่โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี และสอนได้อีกประมาณ 4 ปี จำนวนสนามเริ่มไม่พอกับจำนวนนักกีฬา กมลาจึงมีความคิดที่จะสร้างสนามแบดมินตันและเปิดสอนเป็นโรงเรียนแบดมินตันโดยเฉพาะ เพื่อใช้สอนทักษะการเล่นแบดมินตันขั้นพื้นฐานสำหรับเยาวชน และประชาชนทั่วไป ในการออกกำลังกายอย่างถูกวิธี และเน้นนักกีฬาแบดมินตันที่เล่นเพื่อความเป็นเลิศเข้าสู่ระดับชาติ และต่อมาได้ขออนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเป็นโรงเรียนโดยใช้ชื่อว่า “โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด” ในปี พ.ศ. 2546 และเริ่มเปิดใช้เป็นครั้งแรก โดยการใช้ในการจัดการแข่งขันแบดมินตันดาวรุ่งโยเน็กซ์ 2003 [1][ต้องการอ้างอิง]
สิ่งอำนวยความสะดวก
[แก้]โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด จะประกอบไปด้วยสนามแบดมินตันขนาดมาตรฐาน 18 สนาม ซึ่งแบ่งเป็น 2 โรงยิม แบ่งเป็นโรงยิมละ 9 สนาม โรงยิมแรก จะเป็นโรงยิมสีเขียว ซึ่งพื้นสนามเป็นยางคุณภาพมาตรฐานจากประเทศเยอรมัน มีคุณสมบัติยืดหยุ่นสูง สามารถรองรับแรงกระแทกได้ดี และป้องกันการบาดเจ็บหัวเข่า ข้อ และกระดูกต่างๆของนักกีฬาได้ในระยะยาว โรงยิมสีเขียวนี้ จะอนุญาตให้ใช้ได้สำหรับนักกีฬาของโรงเรียนเท่านั้น ส่วนโรงยิมที่ 2 จะเป็นโรงยิมสีฟ้า เป็นพื้นยางคุณภาพจากภายในประเทศ มีคุณสมบัติที่แข็ง ผิวหยาบ และทนทานต่อรองเท้ากีฬาหลายประเภท ใช้สำหรับให้นักกีฬาที่อายุน้อย และประชาชนทั่วไป
นอกจากนี้ โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด ยังประกอบไปด้วยหอพักสำหรับนักกีฬาที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด หรือไกลจากโรงเรียน และสำหรับผู้ฝึกสอนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ มีห้องฟิตเนส และอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน มีโรงอาหาร มีร้านจำหน่ายอุปกรณ์กีฬาแบดมินตันทุกชนิด มีร้านค้า และมีที่จอดรถมากกว่า 100 คัน อีกทั้งยังมีกล้องวงจรปิดกว่า 30 จุด และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ตลอดทั้ง 24 ชั่วโมง[2][ต้องการอ้างอิง]
นักแบดมินตันที่เคยเข้ารับการฝึก
[แก้]- รัชนก อินทนนท์ แชมป์โลกคนแรกของประเทศไทย ประเภทหญิงเดี่ยว และอดีตมือวางอันดับ 1 ของโลก
- ณริฎษาพัชร แลม นักแบดมินตันสัญชาติ ไทย-ฮ่องกง
- พิสิษฐ์ พูดฉลาด
- กาโลรินา มาริน (Carolina Marín) แชมป์โลกชาวสเปน ประเภทหญิงเดี่ยว
- กุลวุฒิ วิทิตศานต์ แชมป์โลกคนแรกของประเทศไทย ประเภทชายเดี่ยว และเป็นนักกีฬาแบดมินตันคนแรกของทีมชาติไทย ที่สามารถคว้าเหรียญเงินจากโอลิมปิก
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 'บ้านทองหยอด'สานฝันปั้นนักแบดสู่ความสำเร็จ เก็บถาวร 2016-04-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนผู้อำนวยการคนปัจจุบัน คือ นาย ภัททพล เงินศรีสุข ประวัติโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด