ข้ามไปเนื้อหา

โรงเรียนปิยมาตย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรงเรียนปิยมาตย์
Piyamart School
ที่ตั้ง
ข้อมูล
ชื่ออื่นPM. หรือ ปยม.
ประเภทเอกชน
คติพจน์อบรมเสริมคนให้ครบ ประสบธรรมอันสูงส่ง
ปัญญาแตกฉานมั่นคง เสริมส่งให้เป็นคนจนสมบูรณ์
สถาปนา10 พฤษภาคม พ.ศ. 2547
รหัส1156100069
ผู้อำนวยการนางสาวพูลศรี ไม้ทอง
ระดับปีที่จัดการศึกษาอนุบาล-ประถมศึกษาปีที่ 6
เว็บไซต์[1]

โรงเรียนปิยมาตย์ เป็นโรงเรียนเอกชนสหศึกษาประเภทสามัญศึกษา ของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก สังกัดคณะนักบวชหญิงอุร์สุลินในประเทศไทย โรงเรียนปิยมาตย์ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียน เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2547 เปิดทำการเรียนการสอนระดับชั้นอนุบาลปีที่ 1-3 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2547 มีนักเรียนชายหญิงซึ่งมาจากหมู่บ้านร่องคำ 11 คน ครูผู้สอนจำนวน 5 คน มีอักษรย่อว่า ปยม.

ประวัติโรงเรียนปิยมาตย์

[แก้]

โรงเรียนตั้งอยู่ที่ 20 หมู่ 12 ถนนพะเยา-วังเหนือ ตำบลแม่นาเรือ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา มีเนื้อที่ประมาณ 11 ไร่ 91 ตารางวา สภาพโดยรอบอาณาเขตด้านเหนือและด้านตะวันตกเป็นทุ่งนา ด้านหน้าโรงเรียนซึ่งเป็นทิศใต้ ติดถนน พะเยา-วังเหนือ ด้านทิศตะวันออกห่างจากทางเข้าหมู่บ้านร่องคำประมาณ 500 เมตร โรงเรียนเปิดสอน เป็นครั้งแรกตามใบอนุญาตเลขที่ 0003/2547 โดยมีนางสาวลดาพร พิชิตพสุธาดล เป็นผู้รับใบอนุญาต และนางสาวสุจิตรา สุวาวัลย์ เป็นผู้จัดการและครูใหญ่ ได้รับเงินสนับสนุนในการดำเนินการจากมูลนิธิปิยมาตย์

โรงเรียนปิยมาตย์เป็นหนึ่งในโรงเรียนเครืออุรสุลินที่มีอยู่ทั่วโลก ซึ่งโรงเรียนปิยมาตย์ได้จัดการศึกษาตามปรัชญาการอบรมการศึกษาแบบอุร์สุลิน บนพื้นฐานของท่านนักบุญอัญจลา เมริชี ผู้ก่อตั้งคณะอุร์สุลิน ท่านเห็นว่าการให้การศึกษาแก่เด็กหญิง เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวด จึงได้ก่อตั้งคณะหญิงสาวผู้อุทิศตนเพื่ออบรมสั่งสอนเด็กหญิง ท่านได้เลือกนักบุญอุร์สุลา เจ้าหญิงพรหมจรรย์ ซึ่งมีตำนานว่า เป็นมรณะสัขขีพลีชีพเพื่อศาสนา เป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์และตั้งชื่อคณะว่า คณะอุร์สุลินการศึกษาของอุร์สุลินนั้น มีมานานกว่า 475 ปี โดยยึดคุณธรรมที่เป็นแก่นหลัก 8 ประการ อันได้แก่ การรับใช้ช่วยเหลือ เจตนารมณ์ของนักบุญอัญจลา ความยุติธรรมในสังคม ชีวิต จิต ความเป็นผู้นำ การพัฒนาบุคคลให้ครบ ความเป็นเลิศทางวิชาการ และใจเปิดกว้างพร้อมปรับเปลี่ยน แม้วันเวลาจะผ่านไปแล้วกว่า 5 ศตวรรษ คณะอุร์สุลิน ยังคงเชื่อมั่นและปฏิบัติตามวิสัยทัศน์ของนักบุญอัญจลา นั่นคือ การให้การศึกษาแก่เยาวชนทุกเพศทุกวัยโดยไม่เลือกชนชั้น ซิสเตอร์คณะอุร์สุลิน 4 ท่านแรกที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย การศึกษาของอุร์สุลิน ได้แผ่ขยายมาถึงประเทศไทย เมื่อปีพุทธศักราช 2467 โดยขณะนั้นมีซิสเตอร์ 4 ท่านได้เริ่มงานที่โรงเรียนกุหลาบวัฒนา จังหวัดกรุงเทพมหานคร แต่ในช่วงสองปีแรก เกิดปัญหาขึ้นมากมาย คณะซิสเตอร์จึงขอความช่วยเหลือไปที่กรุงโรม แต่แล้วก็ไม่ได้รับการตอบสนอง ต่อมา คุณแม่มารี เบอร์นาด แมนเซล ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอธิการิณีมิชชั่นสยาม ท่านได้เข้ามาแก้ไขสถานการณ์ต่าง ๆ ในขณะนั้น จนลุล่วงไปด้วยดี และได้สร้างโรงเรียนสำหรับกุลสตรีแห่งแรก คือ โรงเรียนมาแตร์เดอี ต่อมา พระสังฆราช แปโรส ได้ให้คุณแม่เบอร์หนาด พิจารณาเปิดโรงเรียนที่เชียงใหม่อีกแห่งหนึ่ง เริ่มก่อสร้างต้นปี พ.ศ. 2474 การก่อสร้างเสร็จเรียบร้อย ในต้นปี พ.ศ. 2475 โดยใช้ชื่อว่า เรยีนาเชลีวิทยาลัย ต่อมาในปี 2498 ซิสเตอร์บุญประจักษ์ ทรรทรานนท์ เจ้าคณะอุร์สุลินแห่งประเทศไทยได้เข้าซื้อโรงเรียนแม่พระฟาติมา และได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนวาสุเทวี

ต่อมาในปี พุทธศักราช 2547 ซิสเตอร์สมจิตร์ ครองบุญศรี อธิการิณีเจ้าคณะภาค ในช่วงปี 2532 - 2541 เป็นผู้ริเริ่มการก่อตั้งโรงเรียนปิยมาตย์โดยมอบหมายให้ซิสเตอร์ฟรังซิส เซเวียร์เบลล์ เป็นผู้ดูแลการดำเนินก่อสร้างครั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 ในปีพุทธศักราช 2548 โรงเรียนมีนักเรียนมาสมัครน้อยมาก ทั้งนี้ สืบเนื่องจากความไม่สะดวกในการเดินทางและผู้ปกครองมีฐานะยากจน ไม่สามารถที่จะชำระเงินค่าธรรมเนียมการเรียนรวมถึงค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ตามที่โรงเรียนกำหนดไว้ได้ ประกอบกับทางโรงเรียนยังไม่มีนโยบายที่จะขยายระดับชั้นจนถึงชั้น ประถมศึกษาปีที่ 6 ตามที่ผู้ปกครองต้องการ

วันที่ 12 เดือนพฤศจิกายน 2548 โรงเรียนมีการนำเสนอปัญหานี้ ในระดับคณะกรรมการบริหารของคณะอุร์สุลิน และของโรงเรียนปิยมาตย์ โดยมีนายพนิต ใหม่ประสิทธิกุล ศึกษาธิการอำเภอสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพะเยา เขต 1 ให้คำแนะนำ ซึ่งในที่สุดทางคณะกรรมการบริหารของคณะอุร์สุลินในประเทศไทย ได้มีมติให้โอนกิจการของโรงเรียนปิยมาตย์ให้เป็นของมูลนิธิปิยมาตย์ และเปลี่ยนแปลงประเภทของโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญศึกษา เป็นประเภทการศึกษาสงเคราะห์สำหรับนักเรียนที่ยากจนและเปิดรับนักเรียนที่อยู่ในจังหวัดพะเยา โดยมีเงื่อนไขว่านักเรียนผู้นั้นจะต้องมีฐานะยากจนมาก ไม่มีผู้ปกครองดูแลและบ้านอยู่ไกล นอกจากนั้นทางโรงเรียนยังมีการขยายระดับชั้นเรียนเพิ่มขึ้นจนถึงประถมศึกษาปีที่ 6 โดยเริ่มขยายปีละระดับชั้นเรียน ตั้งแต่ วันที่ 20 เดือนกุมภาพันธ์ 2550 เป็นต้นมา

สำหรับเงินในการสนับสนุนการดำเนินกิจการของโรงเรียนนอกจากรับทางมูลนิธิปิยมาตย์แล้ว ได้มีการดำเนินการขอรับเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวนักเรียน ตามโครงการเรียนฟรี 15 ปี จากรัฐบาล

วันที่ 1 เดือนสิงหาคม 2549 นางสาวลดาพร พิชิตพสุธาดล ได้โอนโรงเรียนให้แก่มูลนิธิปิยมาตย์ ตามหนังสืออนุญาตเลขที่ พย.1-01/2549 และได้แต่งตั้งให้นางสาวศิริลักษณ์ สุวภาพ ลงนาม แทนมูลนิธิปิยมาตย์เป็นผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนปิยมาตย์ ในวันที่ 20 เดือนพฤษภาคม 2551 นางสาว สุจิตรา สุวาวัลย์ ได้ลาออกจากตำแหน่งผู้จัดการและผู้อำนวยการโรงเรียน ตามหนังสือเลขที่ ปยม.1/2551 ได้แต่งตั้งนางสาวอรศรี มนตรี เป็นผู้จัดการ และผู้อำนวยการโรงเรียนปิยมาตย์ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2551-2557

ในวันที่ 30 มิถุนายน 2556 แต่งตั้งให้นางสาวส่องแสง ถิ่นวัลย์ เป็นผู้จัดการ และผู้อำนวยการ จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2558 นางสาวส่องแสง ถิ่นวัลย์ ได้ลาออกจากตำแหน่งผู้จัดการ และผู้อำนวยการ ได้แต่งตั้งให้นางสาวจินตนา ฉัตรสุภางค์ เป็นผู้จัดการ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2558 แต่งตั้งนางสาวพูลศรี ไม้ทอง เป็นผู้อำนวยการ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558 ซึ่งเปิดทำการสอนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยมี นางสาวศิริลักษณ์ สุวภาพ เป็นผู้รับใบอนุญาต เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 นางสาวศิริลักษณ์ สุวภาพ ได้เปลี่ยนแปลงผู้ลงนามแทนผู้รับใบอนุญาต จากนางสาวส่องแสง ถิ่นวัลย์ เป็นนางสาวจินตนา ฉัตรสุภางค์

ในปี 2560 นางสาวศิริลักษณ์ สุวภาพ ได้เปลี่ยนแปลงผู้ลงนามแทนผู้รับใบอนุญาต จากนางสาวจินตนา ฉัตรสุภางค์เป็น นางสาวประภัสสร ศรีวรกุล

อ้างอิง

[แก้]