ข้ามไปเนื้อหา

แรมซีย์ แมกดอนัลด์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก แรมเซย์ แมคโดนัล)
แรมซีย์ แมกดอนัลด์
แมกดอนัลด์ในปี พ.ศ. 2454
นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร
ดำรงตำแหน่ง
5 มิถุนายน พ.ศ. 2472 – 7 มิถุนายน พ.ศ. 2478
กษัตริย์พระเจ้าจอร์จที่ 5
ก่อนหน้าสแตนลีย์ บอลด์วิน
ถัดไปสแตนลีย์ บอลด์วิน
ดำรงตำแหน่ง
22 มกราคม พ.ศ. 2467 – 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2467
กษัตริย์พระเจ้าจอร์จที่ 5
ก่อนหน้าสแตนลีย์ บอลด์วิน
ถัดไปสแตนลีย์ บอลด์วิน
หัวหน้าพรรคแรงงาน
ดำรงตำแหน่ง
22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2465 – 1 กันยายน พ.ศ. 2474
ก่อนหน้าจอห์น รอเบิร์ต คลินส์
ถัดไปอาเธอร์ เฮนเดอร์สัน
ดำรงตำแหน่ง
6 กันยายน พ.ศ. 2454 – 5 สิงหาคม พ.ศ. 2457
ก่อนหน้าจอร์จ นิโคล บานส์
ถัดไปอาเธอร์ เฮนเดอร์สัน
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด12 ตุลาคม พ.ศ. 2409
ลอซีเมาท์ มอรีเชียร์ สกอตแลนด์
เสียชีวิต9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2480 (71 ปี)
มหาสมุทรแอตแลนติก บนเรือ Reina del Pacifico
ศาสนาเพรสไบทีเรียน
พรรคการเมืองพรรคแรงงาน (ถึง พ.ศ. 2474)
พรรคแรงงานแห่งชาติ
คู่สมรสมากาเรต แกลดสโตน
ลายมือชื่อ

เจมส์ แรมซีย์ แมกดอนัลด์ (อังกฤษ : James Ramsay MacDonald; 12 ตุลาคม พ.ศ. 2409 - 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2480) เป็นนักการเมืองชาวสกอตและเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรคนแรกจากพรรคแรงงาน (Labour Party) สองสมัยคือ ใน พ.ศ. 2467 และระหว่าง พ.ศ. 2472 - พ.ศ. 2474 ทั้งยังเป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลแห่งชาติระหว่าง พ.ศ. 2474 - 2478 เขาเป็นผู้ผลักดันสำคัญที่ทำให้พรรคแรงงานกลายเป็นพรรคสำคัญอันดับสองในอังกฤษแทนที่พรรคเสรีนิยม

ประวัติ

[แก้]

เกิดในหมู่บ้านชาวประมงที่ลอซีเมาท์ (Lossiemouth) ในมณฑลมอรีเซียร์ (Morayshire) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสกอตแลนด์ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2409 มารดาชื่อแอนน์ แรมซีย์ เป็นสาวรับใช้และแรงงานรับจ้างในไร่.[1]ซึ่งไม่ได้ผ่านการสมรสแต่เชื่อกันว่าบิดาของเขาคือชาวนารับจ้างชื่อ จอห์น แมกดอนัลด์ เขาเข้าเรียนที่โรงเรียนประจำหมู่บ้านที่เดรนี (Drainie) และจบการศึกษาขั้นต้นเมื่ออายุ 12 ปี แต่เขาก็ยังคงอยู่ที่โรงเรียนต่อไปอีก 6 ปี โดยทำหน้าที่ผู้ช่วยสอน (Pupil Teacher)

ใน พ.ศ. 2428 เขาเดินทางไปบริสทัลเพื่อหางานทำ ณ ที่นี้เขาได้พบเห็นกิจกรรมของสหพันธ์สังคมประชาธิปไตย (Social Democratic Federation) จึงทำให้เขาเริ่มซึมซับความคิดแบบฝ่ายซ้าย ในปีต่อมาเขาได้เดินทางเข้ากรุงลอนดอนและสมัครเป็นสมาชิกของสมาคมเฟเบียน ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มปัญญาชนสังคมนิยมแนวหลักของอังกฤษ เขามีหน้าที่เป็นเสมียนทั่วไปในสำนักงานเฟเบียน และเขาก็เข้าเรียนในหลักสูตรปริญญาด้านวิทยาศาสตร์ภาคค่ำไปด้วย

ชีวิตการเมือง

[แก้]

ใน พ.ศ. 2437 เขาทำงานเป็นผู้สื่อข่าว และได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคแรงงานอิสระ (Independent Labour Party) ซึ่งเพิ่งจัดตั้งได้ไม่นาน โดยสมัครที่เมืองเซาท์แทมป์ตัน ในปีต่อมาเขาก็ลงสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาสามัญในสังกัดพรรคนี้ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

ต่อมาใน พ.ศ. 2443 เขาได้รับตำแหน่งเลขาธิการพรรคคนแรกของคณะกรรมาธิการผู้แทนชนชั้นแรงงาน หรือ LRC (Labour Representtation Committee) ซึ่งเป็นสหพันธ์ขององค์กรสังคมนิยมต่างๆ และเป็นองค์กรนำร่องของพรรคแรงงานที่จะเริ่มปรากฏอย่างเป็นทางการในเวลาต่อมา

ในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2449 เขาเป็นผู้สมัครจาก LRC ที่ได้รับเลือกเข้าสภาสามัญจากจำนวนสมาชิกของ LRC ที่ได้รับเลือกทั้งสิ้น 29 คน หลังจากประสบความสำเร็จ LRC ก็ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อพรรคเป็นพรรคแรงงานอย่างเป็นทางการ

ห้าปีต่อมาเขาได้ทำหน้าที่แทนแคร์ ฮาร์ดี ผู้นำพรรคแรงงานคนแรกในสภาสามัญ แต่ต่อมาเขาก็ถูกบังคับให้ลาออกเพื่อหลีกทางให้อาเทอร์ เฮนเดอร์สัน และด้วยความที่เขามีทัศนะทางการเมืองแตกต่างจากนโยบายของอังกฤษในขณะนั้น ทำให้เขาไม่ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภามนการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 ยุติลงในปลายปี พ.ศ. 2461

อย่างไรก็ดีเขาก็สามารถกลับเข้าไปนั่งในสภาสามัญได้ใหม่ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2352 นอกจากนี้เขายังได้รับเลือกให้เป็นผู้นำสมาชิกสภาของพรรคแรงงานซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านอีกด้วย

ต่อมาในปี พ.ศ. 2466 ได้มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่เนื่องจากแอนดรู โบนาร์ ลอว์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และสแตนลี บอลด์วินเข้ารับตำแหน่งแทน แต่ต่อมาก็ไม่สามารถบริหารงานได้อย่างสะดวกเนื่องจากสมาชิกสภาจากพรรคอื่นๆ ไม่สนับสนุน จนต้องจัดการเลือกตั้งขึ้นใหม่อีกครั้ง ผลปรากฏว่าพรรคอนุรักษนิยมยังได้รับชัยชนะเหนือพรรคอื่นๆ แต่ก็เป็นครั้งแรกที่จำนวนเสียงของพรรคอนุรักษนิยมที่ได้ยังน้อยกว่าจำนวนเสียงรวมกันของพรรคแรงงาน และพรรคเสรีนิยม เฮอร์เบิร์ต เฮนรี แอสควิท อดีตนายกรัฐมนตรีและผู้นำพรรคเสรีนิยมจึงได้เสนอเข้าร่วมสนับสนุนพรรคแรงงาน ดังนั้น ในวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2467 เขาจึงได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกที่มาจากพรรคแรงงาน และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะเดียวกันด้วย

นายกรัฐมนตรีสมัยแรก

[แก้]

ในการบริหารประเทศครั้งแรก เขาสนใจด้านต่างประเทศมากกว่าเรื่องภายในประเทศ โดยเฉพาะการประสบความสำเร็จในการช่วยคลี่คลายวิกฤตการณ์ที่ฝรั่งเศสและเบลเยียมเข้ายึดแคว้นรูห์ของเยอรมนี รัฐบาลของเขาได้โน้มน้าวให้ฝรั่งเศสตกลงยอมรับแผนการดอวส์[2] นอกจากนี้ รัฐบาลของเขายังริเริ่มการจัดทำพิธีสารเจนีวาว่าด้วยความมั่นคงและการลดอาวุธต่อที่ประชุมใหญ่ของสันนิบาตชาติ[3] ผลงานที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การสามารถยับยั้งการเกิดเหตุการณ์รุนแรงในไอร์แลนด์ได้สำเร็จ โดยการตกลงยกเลิกหนี้สินที่เสรีรัฐไอร์แลนด์มีอยู่กับอังกฤษ แลกกับการที่เสรีรัฐไอร์แลนด์ยอมยุติการเรียกร้องให้ 6 มณฑลทางเหนือที่รวมเรียกว่า เขตอัลสเตอร์ กลับคืนไปรวมกันดังที่เคยเป็นมาก่อน

อย่างไรก็ดี การที่รัฐบาลของเขาให้การรับรองสหภาพโซเวียตที่สถาปนาขึ้นภายหลังการปฏิวัติในรัสเซีย การทำสนธิสัญญาการค้าและการที่รัฐบาลอังกฤษจะให้สหภาพโซเวียตกู้เงิน[4] ทำให้นักการเมืองพรรคอนุรักษนิยมและพรรคเสรีนิยมต่างก็ไม่เห็นด้วยกับท่าทีนี้ของรัฐบาล พรรคเสรีนิยมที่เคยสนับสนุนรัฐบาลของเขาจึงถอนตัวออก ยิ่งเมื่อรัฐบาลของเขาล้มเหลวในการดำเนินคดีกับ เจ อาร์ แคมเบลล์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เกี่ยวกับเรื่อง “จดหมายซีโนเวียฟ” ทำให้เกิดความหวั่นระแวงของประชาชนว่ารัฐบาลของเขาฝักใฝ่สหภาพโซเวียตก็ยิ่งเพิ่มขึ้น

ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปปลาย พ.ศ. 2467 พรรคอนุรักษนิยมได้เสียงข้างมากในสภา จำนวน 415 เสียง ขณะที่พรรคแรงงานได้ 152 เสียง และพรรคเสรีนิยมได้ 42 เสียง เขาจึงลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี ในการบริหารประเทศครั้งแรกไม่ถึง 10 เดือน สแตนลีย์ บอลด์วิน จากพรรคอนุรักษนิยมได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 2

อ้างอิง

[แก้]
  1. Marquand, David: Ramsay MacDonald, London, 1977, หน้า. 4, 5
  2. Marks, Sally "The Myths of Reparations" หน้า 231-255 จาก Central European History, Volume 11, Issue # 3, กันยายน พ.ศ. 2521 หน้า248.
  3. Limam: The First Labour Government, 1924, หน้า. 173
  4. Hansard (1924), vol. 169, cols. 768-9