แม่แบบ:บทความคัดสรร/กันยายน 2563
โรคอัลไซเมอร์ เป็นโรคการเสื่อมของระบบประสาทเรื้อรังที่ปกติเริ่มต้นช้า ๆ และค่อย ๆ มีอาการหนักขึ้นตามเวลา เป็นภาวะสมองเสื่อม (ในภาพฝั่งขวา) ที่พบได้บ่อยที่สุดคือประมาณ 60–70% อาการเริ่มแรกที่พบบ่อยที่สุดได้แก่ การจำเหตุการณ์ปัจจุบันไม่ค่อยได้ เมื่อโรคลุกลามมากขึ้น อาการอาจมีปัญหาเรื่องการใช้ภาษา ความงุนงงสับสน (รวมทั้งหลงทางง่าย) อารมณ์แกว่ง เสียแรงจูงใจ ไม่ดูแลตนเองและมีปัญหาพฤติกรรม เมื่ออาการของบุคคลเสื่อมลง ผู้ป่วยมักปลีกตัวออกจากครอบครัวและสังคม การทำงานของร่างกายจะค่อย ๆ เสื่อมลงจนนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด แม้การลุกลามของโรคอาจมีความเร็วแตกต่างกันได้ แต่อายุคาดหมายการคงชีพตรงแบบหลังวินิจฉัยแล้วอยู่ที่ 3 ถึง 9 ปี
ยังไม่ค่อยเข้าใจสาเหตุของโรคอัลไซเมอร์ดีนัก ความเสี่ยงประมาณ 70% เชื่อว่าได้รับมาจากบิดามารดาของผู้ป่วยโดยปกติเกี่ยวข้องกับหลายยีน ปัจจัยเสี่ยงอื่นได้แก่ประวัติได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ โรคซึมเศร้าและความดันโลหิตสูง กระบวนการของโรคสัมพันธ์กับพลาก (plaque) และนิวโรไฟบริลลารีแทงเกิล (neurofibrillary tangle) ในสมอง การวินิจฉัยที่เป็นไปได้อาศัยประวัติความเจ็บป่วยและการทดสอบการรู้ กับการถ่ายภาพทางการแพทย์และการตรวจเลือดเพื่อแยกสาเหตุที่เป็นไปได้อย่างอื่น ไม่มีการรักษาใดหยุดหรือชะลอการลุกลามของโรค แม้การรักษาบางอย่างอาจลดอาการได้ชั่วคราว ผู้ป่วยจำเป็นต้องพึ่งพาขอความช่วยเหลือผู้ป่วยมากขึ้นเรื่อย ๆ และมักเป็นภาระแก่ผู้ดูแล ความกดดันนี้อาจรวมถึงส่วนสังคม จิตวิทยา กายภาพและเศรษฐกิจ โปรแกรมออกกำลังกายอาจเป็นประโยชน์เกี่ยวกับความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวันและอาจสามารถปรับปรุงผลลัพธ์ของโรคได้ ปัญหาพฤติกรรมหรือโรคจิตเนื่องจากภาวะสมองเสื่อมมักรักษาด้วยยารักษาโรคจิต แต่ปกติไม่แนะนำ เพราะมีประโยชน์น้อยและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัย (อ่านต่อ...)
บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: ตารางธาตุ – ไข้หวัดใหญ่ – บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต