ข้ามไปเนื้อหา

แมรี เคแซต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก แมรี คาซาท)
แมรี เคแซต

แมรี สตีเวนสัน เคแซต (อังกฤษ: Mary Stevenson Cassatt; 22 พฤษภาคม ค.ศ. 1844 - 14 มิถุนายน ค.ศ. 1926) เป็นจิตรกรสมัยอิมเพรสชันนิสม์คนสำคัญของสหรัฐอเมริกาในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึง 20 มีความเชี่ยวชาญทางการเขียนภาพสีน้ำมัน และการทำภาพพิมพ์ มักจะวาดภาพชีวิตทั้งทางการสังคมและการส่วนตัวของผู้หญิงโดยเน้นความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งระหว่างแม่และลูก แมรี เคแซตใช้เวลาส่วนใหญ่ในประเทศฝรั่งเศส และเมื่อย้ายไปอยู่ปารีสแมรีก็ทำความรู้จักกับแอดการ์ เดอกา ผู้มีอิทธิพลต่องานเขียนของเคแซต ต่อมาแมรีก็ได้แสดงผลงานร่วมกับจิตรกรอิมเพรสชันนิสม์คนอื่น ๆ

เบื้องต้น

[แก้]

เคแซตเกิดที่แอลลิเกนีในรัฐเพนซิลเวเนียซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของพิตส์เบิร์ก จากครอบครัวที่มีฐานะดี บิดาของเคแซตโรเบิร์ต ซิมพ์สัน เคแซตเป็นนายหน้าค้าหุ้นและผู้เก็งการลงทุนในการซื้อขายที่ดิน ส่วนแม่แคทเธอริน เคลโซ จอห์นสันมาจากครอบครัวนายธนาคาร นามสกุลเดิมของครอบครัวคือ "Cossart"[1] เคแซตเป็นลูกหนึ่งในเจ็ดคนที่สองคนเสียชีวิตตั้งแต่ยังเป็นทารก ครอบครัวย้ายไปทางตะวันออก เริ่มด้วยแลงคาสเตอร์ในเพนซิลเวเนีย ต่อมาก็ย้ายไปในบริเวณฟิลาเดลเฟียที่เคแซตเริ่มการศึกษาเมื่ออายุได้หกปี เคแซตเป็นญาติห่าง ๆ กับศิลปินรอเบิร์ต เฮนรี (Robert Henri)[2]

เคแซตเติบโตขึ้นมาในสิ่งแวดล้อมที่ถือว่าการเดินทางท่องเที่ยวเป็นสิ่งสำคัญในการศึกษา และใช้เวลาห้าปีในยุโรปเที่ยวเยี่ยมเมืองหลวงหลายเมืองรวมทั้งลอนดอน, ปารีส และเบอร์ลิน ขณะที่อยู่ต่างประเทศเคแซตเรียนภาษาเยอรมันและฝรั่งเศส และเริ่มเรียนการวาดเส้นและดนตรีเป็นครั้งแรก[3] เคแซตได้มีโอกาสพบกับศิลปินฝรั่งเศสหลายคน เช่น ฌ็อง-โอกุสต์-ดอมีนิก แอ็งกร์, เออแฌน เดอลาครัว, ฌ็อง-บาติสต์ กอโร (Jean-Baptiste-Camille Corot) และกุสตาฟว์ กูร์แบ (Gustave Courbet) อาจจะที่งานแสดงสินค้าโลกที่ปารีสในปี ค.ศ. 1855 นอกจากนั้นผู้ที่มีงานแสดงที่นั่นก็ได้แก่แอดการ์ เดอกา และกามีย์ ปีซาโร ทั้งสองผู้ต่อมาเป็นทั้งผู้ร่วมงานและผู้ที่เคแซตนับถือ[4]

แม้ว่าครอบครัวจะต่อต้านการเป็นจิตรกรอาชีพ แต่เคแซตก็เริ่มเข้าศึกษาการเขียนภาพที่สถาบันวิจิตรศิลป์แห่งเพนซิลเวเนีย (Pennsylvania Academy of the Fine Arts) ในฟิลาเดลเฟียเมื่ออายุได้สิบห้าปี[5] ส่วนหนึ่งของความกังวลของบิดามารดาของเคแซตก็คือจะเป็นโอกาสที่ทำให้ได้รับความคิดเกี่ยวกับสิทธิสตรีและความเป็นอยู่แบบโบฮีเมียของนักศึกษาศิลปะชายบางคน แม้ว่า 20% ของนักเรียนจะเป็นสตรีแต่ส่วนใหญ่มีทัศนคติว่าศิลปะเป็นสิ่งที่มีค่าทางสังคมและมีเพียงไม่กี่คนที่คิดจะยึดเป็นงานอาชีพเช่นเคแซต[6] เคแซตร่ำเรียนต่อไปแม้ในระหว่างสงครามกลางเมืองอเมริกัน ในบรรดานักเรียนรุ่นเดียวกันก็มีทอมัส เอคินส์ ผู้ที่ต่อมาได้เป็นผู้อำนวยการของสถาบันผู้ที่ค่อนข้างจะมีปัญหา

"พายเรือเล่น" (The Boating Party) ค.ศ. 1893-1894
"ฤดูร้อน" ราว ค.ศ. 1894

เพราะความหมดความอดทนกับความเชื่องช้าในบทเรียนและทัศนคติที่ออกจะปกป้องของนักศึกษาผู้ชายและอาจารย์ เคแซตตัดสินใจเรียนการเขียนจากงานของจิตรกรเอกด้วยตัวเอง เคแซตต่อมากล่าวว่า สถาบัน "ไม่ให้การศึกษาอะไร" นักเรียนสตรีไม่ได้รับอนุญาตให้วาดจากแบบจริงจนต่อมาภายหลัง และการศึกษาก็เพียงวาดจากรูปหล่อ[7]

เคแซตตัดสินใจหยุดการศึกษาและย้ายไปปารีสแม้ว่าบิดาจะคัดค้านในปี ค.ศ. 1866 กับมารดาและเพื่อนของครอบครัวที่ทำตัวเป็นพี่เลี้ยง[8] เพราะสตรียังไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าศึกษาในสถาบันวิจิตรศิลป์ (École des Beaux-Arts) เคแซตจึงเรียนเป็นการส่วนตัวจากอาจารย์จากสถาบัน[9] และได้รับเข้าศึกษากับฌอง-เลออง เจอโรม (Jean-Léon Gérôme) ผู้ที่เป็นอาจารย์ที่รู้จักกันว่าเป็นผู้เน้นการวาดตามความเป็นจริงและการวาดหัวเรื่องแปลก ๆ สองสามเดือนต่อมาเจอโรมก็รับทอมัส เอคินส์เข้าเป็นนักเรียนด้วย[9] เคแซตเพิ่มฝึกด้วยการก็อปปีงานของจิตรกรสำคัญ ๆ ในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ซึ่งเป็นที่ที่ใช้เป็นที่พบปะระหว่างชายฝรั่งเศสและนักเรียนสาวอเมริกันเช่นเดียวกับเคแซต ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้นั่งตามคาเฟที่จิตรกรอาวองการ์ดใช้เป็นที่พบปะกัน การพบปะกันเช่นนี้ก็ทำให้พบเนื้อคู่บ้างเช่นอิลิซาเบท เจน การ์ดเนอร์ (Elizabeth Jane Gardner) ผู้ที่ได้พบและแต่งงานกับจิตรกรสถาบันคนสำคัญวีลียาม-อาดอลฟ์ บูกโร (William-Adolphe Bouguereau)[10] สังฆ

ในปลายปี ค.ศ. 1866 เคแซตก็เข้าเรียนการเขียนภาพในชั้นเรียนกับชาลส์ จอชัว แชปลิน (Charles Joshua Chaplin) ผู้มีชื่อเสียงทางการเขียนภาพชีวิตประจำวัน ในปี ค.ศ. 1868 เคแซตก็ศึกษากับตอมา กูตูร์ (Thomas Couture) ผู้มีความชำนาญในการเขียนภาพแบบโรแมนติคและภูมิทัศน์เมือง[11] นักเรียนถูกนำไปวาดภาพนอกสถานที่จากชีวิตจริงโดยเฉพาะภาพชีวิตชาวนาหรือชาวบ้านที่ทำกิจการประจำวัน ในปี ค.ศ. 1868 ภาพเขียนภาพหนึ่งของเคแซต "คนเล่นแมนโดลิน" ได้รับการยอมรับเป็นครั้งแรกโดยคณะกรรมการสำหรับ นิทรรศการศิลปะแห่งปารีส (Salon de Paris) งานชิ้นนี้เป็นงานแบบศิลปะจินตนิยมของฌ็อง-บาติสต์ กอโร (Jean-Baptiste-Camille Corot) และคูทัวร์[12] และเป็นภาพเขียนหนึ่งในสองภาพจากสิบปีแรกของการเขียนที่มีหลักฐานในปัจจุบัน[13] วงการศิลปะในฝรั่งเศสในขณะนั้นกำลังอยู่ในระหว่างการเปลี่ยนแปลง โดยมีจิตรกรผู้นำขบวนการเปลี่ยนแปลงเช่นกูร์แบร์และเอดัวร์ มาแน ที่พยายามแยกตัวจากธรรมเนียมการเขียนแบบสถาบัน ไปเป็นกระบวนการเขียนแบบอิมเพรสชันนิสม์ที่เพิ่งจะริเริ่มขึ้น อีไลซา ฮาลดิแมนเพื่อนของเคแซตเขียนถึงบ้านว่า "ศิลปินเริ่มทิ้งลักษณะการเขียนแบบสถาบันและพยายามหาแนวทางใหม่ของตนเอง ซึ่งทำให้ทุกอย่างยุ่งเหยิงไปหมด"[10] ส่วนเคแซตยังคงเขียนภาพแบบเดิมและส่งงานไปแสดงในนิทรรศการอยู่กว่าสิบปีแต่ด้วยความอึดอัดกระวนกระวายที่เพิ่มขึ้น

เคแซตเดินทางกลับสหรัฐปลายฤดูร้อนปี ค.ศ. 1870 เมื่อสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียเริ่มคุกรุ่นขึ้นและไปพักอยู่กับครอบครัวที่อัลทูนา บิดาของเคแซตยังคงต่อต้านความคิดที่เคแซตเลือกอาชีพเป็นจิตรกร ยอมจ่ายค่าใช้จ่ายค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ให้แต่ไม่ยอมจ่ายค่าอุปกรณ์การเขียนภาพ[14] เคแซตแสดงภาพสองภาพในหอศิลป์ในนครนิวยอร์กและมีผู้แสดงความสนใจแต่ไม่มีผู้ซื้อ นอกจากนั้นเคแซตก็ยังมีความรู้สึกอึดอัดที่ไม่มีภาพเขียนที่จะใช้ศึกษาขณะที่พำนักอยู่ที่บ้านฤดูร้อน และคิดว่าจะเลิกการเขียนภาพเพื่อหาอาชีพที่เลี้ยงตัวได้ เคแซตเขียนจดหมายในปลายเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1871 ว่า "ฉันเลิกสตูดิโอที่มี และฉีกภาพเหมือนของพ่อทิ้ง และยังไม่ได้แตะต้องแปรงมาหกอาทิตย์ได้แล้ว และจะยังคงไม่หยิบแปรงจนกว่าจะเห็นหนทางที่จะกลับไปยุโรป ฉันรู้สึกกระวนกระวายที่จะไปทางตะวันตกในฤดูใบไม้ร่วงและไปหางานทำแต่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะไปที่ไหน"[15] เคแซตเดินทางไปชิคาโกเพื่อไปลองเสี่ยงดูแต่ก็ไปสูญเสียภาพเขียนไปกับเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ในชิคาโก (Great Chicago Fire) ในปี ค.ศ. 1871[16] หลังจากนั้นไม่นานงานของเคแซตก็ได้รับความสนใจโดยอัครบาทหลวงแห่งพิตส์เบิร์กที่จ้างให้วาดภาพของภาพเขียนของอันโตนิโอ ดา คอร์เรจจิโอที่พาร์มาในประเทศอิตาลีโดยให้เงินล่วงหน้าพอสำหรับค่าเดินทางและค่าใช้จ่ายระหว่างที่อยู่ที่นั่น ด้วยความตื่นเต้นเคแซตเขียนว่า "โอ ฉันตื่นเต้นที่จะได้ทำงานจนมือไม้สั่นไปหมดและต้องร้องไห้ด้วยความตื่นเต้นที่จะได้เห็นภาพที่งดงามอีกครั้งหนึ่ง[17] จากนั้นเคแซตก็ออกเดินทางไปยุโรปพร้อมกับเอมิลี ซาร์เทนเพื่อนศิลปินจากครอบครัวศิลปินมีชื่อจากฟิลาเดลเฟียอีกครั้งหนึ่ง

อิมเพรสชันนิสม์

[แก้]
"ชา" โดยแมรี เคแซต ค.ศ. 1880 พิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์, บอสตัน

ภายในสองสามเดือนหลังจากที่กลับไปยุโรปในฤดูใบไม้ร่วงของปี ค.ศ. 1871 แล้วอนาคตของเคแซตก็ดูจะดีขึ้น ภาพเขียน "สตรีสองคนโยนดอกไม้ในคาร์นิวาล" ได้รับการต้อนรับดีในการแสดงในนิทรรศการที่ซาลอนในปี ค.ศ. 1872 และมีผู้ซื้อ งานของเคแซตเป็นที่รู้จักกันในพาร์มาและได้รับการสนับสนุนจากวงศิลปินที่นั่น: "ผู้คนในพาร์มาพูดถึงกันแต่มิสเคแซตและภาพเขียนของเธอ และทุก ๆ คนต่างก็ต้องการทำความรู้จักกับเธอ"[18]

หลังจากเขียนงานที่ได้รับจ้างจากอัครบาทหลวงแล้ว เคแซตก็เดินทางไปมาดริดและเซบิยา ไปเขียนภาพเขียนเกี่ยวกับสเปนที่รวมทั้งภาพ "นักเต้นรำโพกผ้าลูกไม้" (Spanish Dancer Wearing a Lace Mantilla) ในปี ค.ศ. 1873 ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะอเมริกันแห่งชาติของสถาบันสมิธโซเนียน ในปี ค.ศ. 1874 เคแซตก็ตัดสินใจตั้งถิ่นฐานในฝรั่งเศส และต่อมาน้องสาวก็ตามมา สองคนพักอยู่ในอพาร์ตเม้นท์เดียวกัน

เคแซตยังคงบ่นเรื่องการเมืองของการยอมรับภาพเข้าแสดงในนิทรรศการการแสดงภาพของซาลอน และรสนิยมที่ยังเป็นอนุรักษนิยมของสถาบัน เคแซตออกความเห็นอย่างเปิดเผยตามรายงานของซาร์แทง และมีความเห็นว่างานเขียนของศิลปินสตรีมักจะถูกละเลยนอกจากศิลปินจะรู้จักคนในวงการหรือมีผู้พิทักษ์ในคณะกรรมการ[19] ความผิดหวังก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเมื่องานเขียนสองชิ้นที่เขียนในปี ค.ศ. 1875 ถูกปฏิเสธโดยคณะกรรมการแต่มาได้รับการยอมรับในปีต่อมา หลังจากที่เคแซตเพียงทำให้ฉากหลังเข้มขึ้นเท่านั้น เคแซตมีปากมีเสียงกับซาร์แทงผู้มีความเห็นว่าเคแซตออกจะเห็นแก่ตัวและมีความเห็นอย่างออกนอกหน้าจนเกินไป ในที่สุดทั้งสองก็แยกกัน หลังจากนั้นเคแซตก็ตัดสินใจเปลี่ยนจากการเขียนภาพชีวิตประจำวันไปเป็นการเขียนหัวเรื่องที่เป็นที่นิยมกันเพื่อให้ได้งานจ้างในการเขียนภาพเหมือนเพิ่มขึ้นจากชาวอเมริกันชาวสังคม แต่ก็ไม่มีผลเท่าใดนักในระยะแรก[20]

ในปี ค.ศ. 1877 งานทั้งสองชิ้นได้รับการปฏิเสธจากสถาบันซึ่งทำให้เป็นครั้งแรกในเจ็ดปีที่เคแซตไม่มีงานแสดงในนิทรรศการ[21] ในช่วงเวลาที่ต่ำที่สุดในงานอาชีพของเคแซต ๆ ก็ได้รับคำเชิญจากแอดการ์ เดอกาให้มาแสดงภาพเขียนร่วมกับจิตรกรอิมเพรสชันนิสต์ซึ่งเป็นกลุ่มจิตรกรที่มีงานแสดงศิลปะของตนเองที่เริ่มในปี ค.ศ. 1874 อย่างเป็นที่เล่าลือ กลุ่มจิตรกรอิมเพรสชันนิสต์ (หรือที่เรียกว่า "กลุ่มอิสระ" หรือ "กลุ่มต่อต้าน") ที่เป็นกลุ่มศิลปินที่ไม่มีหลักการอย่างเป็นทางการและหัวเรื่องและวิธีการการสร้างศิลปะของสมาชิกในกลุ่มก็แตกต่างจากกันเป็นอันมาก แต่สิ่งที่คล้ายคลึงกันคือความนิยมการวาดภาพนอกสถานที่ซึ่งต่างกับช่างเขียนยุคก่อนหน้านั้นที่มักจะเขียนภาพภายในห้องเขียนภาพ และการใช้สีที่สดใสมีชีวิตชีวา (vibrant color) ในฝีแปรงโดยตรงบนผ้าใบโดยไม่มีการผสมบนจานสีก่อน ซึ่งเป็นการใช้ตาผู้ดูผสมเอาด้วยตนเองในลักษณะของ "อิมเพรสชันนิสม์" -- ลักษณะที่เกิดจากความประทับใจของผู้ดูเอง

"ภาพเหมือนของมิสเคแซตนั่งถือไพ่" โดยเดอกา ราว ค.ศ. 1876-1878, สีน้ำมันบนผ้าใบ

จิตรกรอิมเพรสชันนิสต์ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงโดยนักวิจารณ์ศิลปะอยู่หลายปี เฮนรี เบคอนเพื่อนของเคแซตมีความเห็นว่าจิตรกรอิมเพรสชันนิสต์มีหัวรุนแรงและเป็นผู้ "ได้รับเชื้อโรคอะไรสักอย่างในดวงตา"[22] กลุ่มนี้ก็มีแบร์ต มอรีโซ (Berthe Morisot) เป็นจิตรกรสตรีคนหนึ่งอยู่แล้ว ผู้ที่ต่อมามาเป็นเพื่อนและเพื่อนร่วมอาชีพของเคแซต

เคแซตชื่นชมงานเขียนของเดอกาอยู่แล้วโดยเฉพาะในการใช้พาสเตลซึ่งสร้างความประทับใจให้แก่เคแซตเป็นอันมาก และเคแซตเล่าว่าทุกครั้งเมื่อเห็นงานของเดอกาในตู้กระจกหน้าร้านของนักขายศิลปะในปี ค.ศ. 1875 ก็จะ "เอาจมูกเข้าไปจรดกระจกเพื่อจะดูดดื่มทุกสิ่งทุกอย่างจากงานศิลปะของเดอกา" เคแซตกล่าวต่อมาว่างานของเดอกาเป็นงานที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของตนเอง และกล่าวว่าเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นศิลปะอย่างที่ต้องการจะเห็น[23] ฉะนั้นเมื่อได้รับคำเชิญจากเดอกาเคแซตก็ยอมรับด้วยความยินดีและเริ่มเตรียมงานเขียนสำหรับการแสดงครั้งต่อไปในปี ค.ศ. 1878 ที่หลังจากถูกเลื่อนเพราะงานมหกรรมโลกก็เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน ค.ศ. 1879 เคแซตมีความรู้สึกว่าเข้ากับกลุ่มจิตรกรอิมเพรสชันนิสต์ได้ดีในทางปรัชญาและความกระตือรือร้น และมีความเห็นด้วยในการประกาศว่า: "เราจะดำเนินหน้าต่อไปในการต่อสู้ด้วยกำลังทั้งหมดของเรา"[24] แต่เคแซตไม่สามารถพบปะกับกลุ่มศิลปินนี้ตามคาเฟได้โดยไม่ทำให้เป็นที่ดึงดูดความสนใจของผู้คน จึงจำต้องพบกับเพื่อนศิลปินเป็นการส่วนตัวหรือในการแสดงนิทรรศการ หลังจากนั้นเคแซตก็เริ่มตั้งความหวังว่าจะขายภาพเขียนให้กับชาวปารีสผู้มีรสนิยมสูงที่นิยมงานสมัยใหม่ ลักษณะงานเขียนของเคแซตในช่วงสองปีหลังก็เริ่มแสดงการตอบรับอย่างธรรมชาติ (spontaneity) มากขึ้น เดิมเคแซตเป็นศิลปินที่ทำงานในห้องเขียนภาพแต่ต่อมาก็มักเห็นจะถือสมุดร่างติดตัวไปทุกหนทุกแห่ง และเริ่มวาดภาพสิ่งที่เห็นรอบตัว[25]

"เป็นแม่" ราว ค.ศ. 1890
"เด็กหญิงบนเก้าอี้สีน้ำเงิน" ค.ศ. 1878

ในปี ค.ศ. 1877 พ่อแม่ของเคแซตก็มาพบกับเคแซตที่ปารีสและกลับไปกับลิเดียน้องสาว แมรีซาบซึ้งในคุณค่าของความเป็นเพื่อนของน้องสาวเพราะทั้งสองคนต่างก็เป็นโสด แมรีตัดสินใจตั้งแต่เริ่มแรกแล้วว่าการแต่งงานเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะกับการมีอาชีพ ลิเดียผู้ที่เคแซตใช้เป็นแบบบ่อย ๆ ป่วยกระเสาะกระแสะอยู่เสมอและในที่สุดก็เสียชีวิต การเสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1882 ก็ทำให้เคแซตหมดกำลังใจที่จะการเขียนภาพอยู่ระยะหนึ่ง[26]

พ่อของเคแซตเห็นว่าเคแซตควรจะหารายได้ให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายสำหรับห้องเขียนภาพแลอุปกรณ์การเขียนด้วยตนเองซึ่งขณะนั้นยังเป็นรายได้เพียงเล็กน้อย ด้วยความกลัวที่จะต้องเขียนภาพโหลขายเพื่อจุนเจือค่าใช้จ่ายเคแซตก็เริ่มพยายามเขียนงานที่มีคุณภาพดีขึ้นสำหรับงานนิทรรศการครั้งต่อไป ภาพที่ดีที่สุดที่เขียนในปี ค.ศ. 1878 ก็ได้แก่ "ภาพเหมือนของศิลปิน" (ภาพเหมือนตนเอง), "เด็กหญิงบนเก้าอี้สีน้ำเงิน" (Little Girl in a Blue Armchair) และ "อ่านฟิกาโร" (ภาพเหมือนของแม่)

เดอกามีอิทธิพลต่อการเขียนของเคแซตเป็นอันมาก และทำให้เคแซตกลายมาเป็นผู้มีความสามารถในการใช้พาสเตล และสร้างงานที่ดีที่สุดหลายชิ้นจากการการเขียนด้วยพาสเตล นอกจากนั้นเดอกาก็ยังเป็นผู้มีฝีมือชั้นครูในวิธีพิมพ์กัดกรด (etching) ยังแนะนำการสร้างงานชนิดนี้ให้แก่เคแซตด้วย เดอกาและเคแซตทำงานเคียงข้างกันอยู่ระยะหนึ่งซึ่งเป็นผลให้งานการวาดเส้น (draftsmanship) ของเคแซตมีคุณภาพดีขึ้น เดอกาพิมพ์ภาพชุดที่มีเคแซตเป็นแบบของการเดินทางไปลูฟวร์ เคแซตมีความรู้สึกต่อเดอกาแต่ก็ทราบถึงความจุกจิกเจ้าอารมณ์ของเดอกาพอที่จะไม่หวังอะไรจากความรู้สึกมากนัก เดอกาผู้ชอบแต่งตัวดีและวางท่าหรูมักจะเป็นมาเป็นแขกในงานเลี้ยงอาหารค่ำที่ที่พักของเคแซต[27]

การแสดงนิทรรศการของกลุ่มจิตรกรอิมเพรสชันนิสต์ในปี ค.ศ. 1879 เป็นงานที่ประสบความสำเร็จมาที่สุดสำหรับศิลปินตั้งแต่จัดตั้งมาแม้ว่าจะไม่มีงานเขียนของปีแยร์-ออกุสต์ เรอนัวร์ , อัลเฟรด ซิสลีย์, เอดวด มาเนท์ และพอล เซซานน์แสดงก็ตาม เพราะทั้งสามคนยังพยายามเข้าแสดงนิทรรศการของซาลอน จากการหนุนและการจัดการแสดงนิทรรศการโดยกุสตาฟ เคลเลโบท์ (Gustave Caillebotte) กลุ่มจิตรกรอิมเพรสชันนิสต์ก็สามารถทำเงินได้กำไรจากการขายภาพเขียนแม่ว่าจะยังได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากนักวิจารณ์ศิลปะก็ตาม "Revue des Deux Mondes" บรรยายนิทรรศการว่า, "เดอกาและเคแซตอย่างไรก็ตามก็เป็นศิลปินเพียงสองคนที่ทำให้การแสดงค่อยน่าสนใจขึ้นบ้างและในการแสดงศิลปะของความเสแสร้งที่เป็นเพียงศิลปะหน้าร้านกับการแต้มสีเล่นอย่างทารก"[28]

เคแซตแสดงภาพเขียนสิบเอ็ดชิ้นที่รวมทั้ง "La Loge" นักวิจารณ์ติการใช้สีของเคแซตว่าจัดเกินไปและภาพเหมือนก็ตรงเกินโดยไม่ยกยอผู้เป็นแบบ แต่การวิจารณ์ที่ได้รับก็ไม่รุนแรงเท่าการวิจารณ์ของงานของโกลด มอแน เคแซตใช้กำไรที่ได้จากการขายภาพในการซื้อภาพเขียนภาพหนึ่งของเดอกาและอีกภาพหนึ่งของมอแน[29]

เคแซตยังคงแสดงภาพเขียนในนิทรรศการของกลุ่มจิตรกรอิมเพรสชันนิสต์ต่อมาในปี ค.ศ. 1880 และ ปี ค.ศ. 1881 และเป็นสมาชิกผู้มีบทบาทในวงจิตรกรอิมเพรสชันนิสต์มาจนถึงปี ค.ศ. 1886 ในปี ค.ศ. 1886 เคแซตส่งภาพเขียนสองภาพไปแสดงในนิทรรศการภาพเขียนจิตรกรอิมเพรสชันนิสม์ครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาที่จัดโดยตัวแทนซื้อขายศิลปะปอล ดูว์ร็อง-รุแอล (Paul Durand-Ruel) ต่อมาเมื่อเพื่อนของเคแซตลุยซีน เอลเดอร์ (Louisine Elder) สมรสกับเอช. โอ. เฮฟไมเยอร์ (H.O. Havemeyer) ในปี ค.ศ. 1883 เคแซตก็แนะนำให้ทั้งคู่สะสมศิลปะอิมเพรสชันนิสม์ ซึ่งทั้งสองก็เริ่มสะสมงาน อิมเพรสชันนิสม์อย่างเป็นจริงเป็นจัง งานสะสมเหล่านี้ส่วนใหญ่ในปัจจุบันเป็นของพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิตันในนครนิวยอร์ก[30]

ในช่วงนี้เคแซตเขียนภาพเหมือนของบุคคลในครอบครัวหลายภาพที่รวมทั้ง "ภาพเหมือนของอเล็กซานเดอร์ เคแซต และโรเบิร์ต เคลโซ ลูกชาย" (ค.ศ. 1885) ที่เป็นภาพที่ถือว่าเป็นภาพที่ดีที่สุด ลักษณะการเขียนของเคแซตก็วิวัฒนาการต่อไป และเริ่มแยกจากการเขียนแบบอิมเพรสชันนิสม์ไปเป็นการเขียนที่ง่ายขึ้นและตรงขึ้น และขณะเดียวกันก็เริ่มออกแสดงงานเขียนของตนเองในห้องแสดงภาพในนิวยอร์กด้วย หลังจากปี ค.ศ. 1886 เคแซตก็แยกตัวจากขบวนการศิลปะอิมเพรสชันนิสม์มาเป็นการทดลองวิธีเขียนต่าง ๆ

บั้นปลาย

[แก้]
"อาบน้ำให้เด็ก" (The Child's Bath) โดยเคแซต ค.ศ. 1893 สถาบันศิลปะแห่งชิคาโก

ความมีชื่อเสียงของเคแซตมาจากการเขียนที่เต็มไปด้วยพลัง (rigorously drawn), การวาดจากการสังเกต แต่เป็นงานเขียนในหัวข้อแม่และลูกก็ยังเป็นงานเขียนที่ยังไม่ค่อยแสดงความรู้สึกทางอารมณ์ (sentimental) เท่างานสมัยต่อมา งานเขียนแรกในหัวข้อนี้คืองาน "แม่อุ้มการ์ดเนอร์" (Gardner Held by His Mother)[31] แม้ว่าเคแซตจะเขียนภาพหัวข้อนี้มาก่อนหน้านั้น ภาพเขียนหลายภาพในระยะแรกเป็นภาพเขียนของญาติ, เพื่อน หรือลูกค้า แต่ในระยะหลังเคแซตมักจะใช้แบบอาชีพใน งานเขียนของเคแซตในระยะหลังทำให้นึกถึงภาพเขียนพระแม่มารีและพระบุตรของสมัยยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาอิตาลี หลังจากปี ค.ศ. 1900 เคแซตก็เขียนแต่แม่กับลูกเกือบทั้งหมด[32]

ในปี ค.ศ. 1891 เคแซตก็แสดงงานเขียนที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองของงานภาพพิมพ์จารเข็ม (drypoint) และภาพพิมพ์อย่างสีน้ำ (aquatint prints) ที่รวมทั้งภาพ "ผู้หญิงอาบน้ำ" และ "ช่างทำผม" ซึ่งมีแรงบันดาลใจมาจากงานของจิตรกรญี่ปุ่นที่นำไปแสดงในปารีสในปีก่อนหน้านั้น เคแซตรู้สึกดึงดูดในความง่ายและความชัดเจนในการออกแบบแบบญี่ปุ่น และการใช้สีพิมพ์ ในการตีความหมายของการเขียนแบบญี่ปุ่นของเคแซต เคแซตใช้แสดงตรง ใช้สีแพสเทล และเลี่ยงการใช้สีดำ (ซึ่งเป็นสีต้องห้ามของอิมเพรสชันนิสม์) เอ. เบรสคินแห่งสถาบันสมิธโซเนียนตั้งข้อสังเกตว่าภาพพิมพ์ชุดนี้เป็น "งานที่เป็นตัวของตัวเองที่สุดของเคแซต… ที่เพิ่มบทใหม่ในประวัติศาสตร์ของเลขนศิลป์ (graphic arts) …ซึ่งตามลักษณะงานแล้วยังไม่มีผู้ใดสามารถเท่าเทียมได้"[33]

คริสต์ทศวรรษ 1890 เป็นช่วงที่เคแซตมีงานเขียนมากที่สุดและเป็นช่วงที่เต็มไปด้วยความสร้างสรรค์มากที่สุด ทางด้านส่วนตัวเคแซตเองก็มีความคิดเห็นรุนแรงลดน้อยลงกว่าเดิมและกลายเป็นตัวอย่างของจิตรกรอเมริกันรุ่นต่อมา ที่รวมทั้งลูซี เอ. เบคอน (Lucy A. Bacon) ผู้ที่เคแซตแนะนำให้รู้จักกับกามีย์ ปีซาโร

แม้ว่ากลุ่มจิตรกรอิมเพรสชันนิสต์จะยุบตัวไปแต่เคแซตก็ยังการติดต่อกับสมาชิกบางคนอยู่รวมทั้ง เรอนัวร์, มอแน และปิซาร์โร[34] ในศตวรรษใหม่เคแซตก็มีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้แก่ผู้สะสมศิลปะรายใหญ่ ๆ หลายคนแต่เคแซตมีข้อแม้ว่าบุคคลเหล่านี้ต้องอุทิศงานเหล่านี้ให้แก่พิพิธภัณฑ์ศิลปะในสหรัฐอเมริกาในที่สุด แต่ความมีชื่อเสียงของเคแซตก็เชื่องช้าในสหรัฐอเมริกา แม้แต่ในบรรดาญาติพี่น้องด้วยกันเองเคแซตก็มิได้รับการยอมรับเท่าใดนักและถูกครอบงำโดยชื่อเสียงของพี่ชาย[35]

พี่ชายของเคแซตอเล็กซานเดอร์ เคแซต (Alexander Cassatt) (ประธานของการรถไฟเพนซิลเวเนียระหว่างปี ค.ศ. 1899 จนเสียชีวิต) เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1906 ซึ่งทำความโศรกเศร้ามาให้เคแซตเป็นอย่างมากเพราะทั้งสองคนมีความใกล้ชิดกันแต่เคแซตก็ยังผลิตงานอย่างมากมายมาจนถึงปี ค.ศ. 1910[36] งานในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1900 เป็นงานที่เพิ่มการแสดงความมีอารมณ์ (sentimentality) มากขึ้น งานเขียนของเคแซตเป็นที่นิยมกันในสังคมและนักวิจารณ์ศิลปะแต่ในช่วงนี้เคแซตมิได้สร้างงานที่แตกต่างไปจากวิธีการเขียนที่เคยทำมา และเพื่อนฝูงในกลุ่มจิตรกรอิมเพรสชันนิสต์ผู้ที่เคยเป็นให้แรงบันดาลใจและการวิพากษ์วิจารณ์ก็เริ่มมาเสียชีวิตกันไป เคแซตเองก็ไม่ยอมรับขบวนการศิลปะใหม่เช่นศิลปะอิมเพรสชันนิสม์สมัยหลัง, คติโฟวิสต์ และบาศกนิยม[37]

การเดินทางไปอียิปต์ในปี ค.ศ. 1910 ทำความประทับใจให้แก่เคแซตในด้านความงามของศิลปะโบราณที่ตามมาด้วย "วิกฤติการณ์ทางการสร้างสรรค์" นอกจากการเดินทางจะทำให้เหนื่อยแล้วเคแซตก็ยังประกาศว่ารู้สึก "หมดแรงจากพลังของศิลปะนี้" และกล่าวต่อไปว่าตนเอง "...พยายามต่อสู้แต่ก็พ่ายแพ้ เพราะ[ศิลปะโบราณนี้]เป็นศิลปะอันยิ่งใหญ่ที่อดีตทิ้งไว้ให้ ...ฝีมืออันด้อยอย่างฉันจะทำอย่างไรจึงจะมีผลต่อตัวฉันเองได้เช่นนั้น"[38]

ในปี ค.ศ. 1911 เมื่อได้รับการตรวจว่าเป็นเบาหวาน, โรคไขข้อ, อาการปวดเส้นประสาท (neuralgia) และโรคต้อ เคแซตก็มิได้ชะลอตัวลง แต่หลังจากปี ค.ศ. 1914 เคแซตก็จำต้องหยุดเขียนภาพเมื่อเริ่มมองไม่เห็น และหันไปให้ความสนใจกับการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีแทนที่ ในปี ค.ศ. 1915 เคแซตก็แสดงงานเขียนสิบแปดชิ้นในงานนิทรรศการที่สนับสนุนขบวนการ

เพื่อแสดงความซาบซึ้งในผลงานทางศิลปะที่สร้างรัฐบาลฝรั่งเศสก็มอบเครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์ ให้แก่เคแซตในปี ค.ศ. 1904 เคแซตเสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ. 1926 ใกล้ปารีสและถูกฝังไว้ที่ Mesnil-Théribus ในฝรั่งเศส

อ้างอิง

[แก้]
  1. Nancy Mowll Mathews, Mary Cassatt: A Life, Villard Books, New York, 1994, p. 5, ISBN 0-394-58497-X.
  2. Perlman, Bennard B., Robert Henri: His Life and Art, page 1. Dover, 1991.
  3. Mathews, 1994, p. 11
  4. Robin McKown, The World of Mary Cassatt, Thomas Y. Crowell Co. , New York, 1972, pp. 10-12, ISBN 0-690-90274-3
  5. Mathews, 1994, p. 26
  6. Mathews, 1994, p. 18
  7. McKown, 1974, p. 16
  8. Mathews, 1994, p. 29
  9. 9.0 9.1 Mathews, 1994, p. 31
  10. 10.0 10.1 Mathews, 1994, p. 32
  11. Mathews, 1994, p. 54
  12. Mathews, 1998, p. 47
  13. Mathews, 1998, p. 54
  14. Mathews, 1998, p. 75
  15. Mathews, 1994, p. 74
  16. McKown, 1974, p. 36
  17. Mathews, 1994, p. 76
  18. Mathews, 1994, p. 79
  19. Mathews, 1998, pp. 104-105
  20. Mathews, 1994, p. 96
  21. Mathews, 1998, p. 100
  22. Mathews, 1994, p. 107
  23. Mathews, 1998, p. 114
  24. Mathews, 1994, p. 118
  25. Mathews, 1994, p. 125.
  26. Mathews, 1998, p. 163
  27. McKown, 1974, pp. 63-64
  28. McKown, 1974, p. 73
  29. McKown, 1974, pp. 72-73
  30. Mathews, 1994, p. 167
  31. Mathews, 1998, p. 182 and note, p. 346
  32. National Museum of American Art, 1985, p. 106
  33. McKown, 1974, pp. 124-126.
  34. McKown, 1974, p. 155.
  35. McKown, 1974, p. 182.
  36. Mathews, 1998, p. 281
  37. Mathews, 1998, p. 284
  38. Mathews, 1998, p. 291

ข้อมูลเพิ่มเติม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

สมุดภาพ

[แก้]