ความประทับใจของพระอาทิตย์ขึ้น
ความประทับใจของพระอาทิตย์ขึ้น | |
---|---|
ศิลปิน | โกลด มอแน |
ปี | ค.ศ. 1872 |
สื่อ | จิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ |
มิติ | 48 cm × 63 cm (18.9 in × 24.8 in) |
สถานที่ | พิพิธภัณฑ์มาร์มอต็องมอแน ปารีส, ฝรั่งเศส |
ความประทับใจของพระอาทิตย์ขึ้น (ฝรั่งเศส: Impression, soleil levant, อังกฤษ: Impression, Sunrise) เป็นภาพวาดสีน้ำมันบนผ้าใบที่วาดโดยโกลด มอแน จิตรกรชาวฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1872 ภาพมีขนาด 48 × 63 เซนติเมตร แสดงภาพทิวทัศน์ท่าเรือเมืองเลออาฟวร์ ปัจจุบันได้รับการจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์มาร์มอต็องมอแนในกรุงปารีส
ในปี ค.ศ. 1872 มอแนเดินทางไปเยี่ยมบ้านเกิดที่เมืองเลออาฟวร์แล้ววาดภาพหลายภาพที่ท่าเรือ มีหกภาพที่แสดงถึงช่วงเวลาย่ำรุ่ง กลางวัน โพล้เพล้ และกลางคืนที่ท่าเรือในมุมมองที่แตกต่างกัน บางจุดวาดจากท่าเรือโดยตรง บางจุดวาดจากห้องพักในโรงแรมที่ใกล้กับท่าเรือ[1] มอแนวาดภาพ ความประทับใจของพระอาทิตย์ขึ้น จากหน้าต่างโรงแรมที่มองออกไปเห็นท่าเรือเลออาฟวร์เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1872[2] ต่อมาภาพนี้ถูกจัดแสดงในนิทรรศการของศิลปินนอกขนบที่กรุงปารีส ปี ค.ศ. 1874 ร่วมกับงานของศิลปินอื่น ๆ เช่น แอดการ์ เดอกา, กามีย์ ปีซาโร, ปีแยร์-โอกุสต์ เรอนัวร์ และอัลเฟรด ซิสลีย์[3] ความประทับใจของพระอาทิตย์ขึ้น เป็นภาพท่าเรือเลออาฟวร์ยามย่ำรุ่ง มีเรือเล็กสองลำที่มีผู้คนบนเรืออยู่ด้านหน้า ด้านหลังมีปล่องควันเรือจักรไอน้ำและจากโรงงานเป็นเงาเลือนราง ด้านบนมีดวงอาทิตย์เป็นจุดสีแดง[4] มีการวิเคราะห์ว่ามอแนใช้ฝีแปรงแบบหยาบและสั้นเพื่อบันทึกชั่วขณะที่วาดมากกว่าจะวาดให้ดูเหมือนจริง[5] มาร์กาเร็ต ลิฟวิงสโตน ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดกล่าวว่า "หากทำให้ภาพนี้กลายเป็นภาพขาวดำ จะพบว่าดวงอาทิตย์ที่ปรากฏในภาพหายไปเกือบหมด" ลิฟวิงสโตนกล่าวเพิ่มว่า เทคนิคที่มอแนใช้ส่งผลต่อเปลือกสมองส่วนการเห็นที่รับรู้ถึงความส่องสว่างและสี ทำให้ผู้ชมมองเห็นดวงอาทิตย์สว่างกว่าจุดอื่น[6]
หลุยส์ เลอรัว นักวิจารณ์ชาวฝรั่งเศสเผยแพร่บทความเกี่ยวกับผลงานในนิทรรศการปี ค.ศ. 1874 ในหนังสือพิมพ์ เลอชารีวารี เขาวิจารณ์ว่า ความประทับใจของพระอาทิตย์ขึ้น เป็นเพียงภาพร่างมากกว่าจะเป็นภาพที่วาดแล้วเสร็จ และกล่าวเชิงเสียดสีว่าเขารู้สึก "ประทับใจ" ภาพนี้ ต่อมาคำว่าประทับใจของเลอรัวได้รับการยอมรับแพร่หลายจนกลายเป็นชื่อลัทธิประทับใจ ขบวนการทางศิลปะช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19[7] ภาพนี้เคยถูกขโมยไปจากพิพิธภัณฑ์มาร์มอต็องมอแนในปี ค.ศ. 1985 ก่อนจะถูกตามกลับคืนมาได้ในปี ค.ศ. 1990[8] และถูกนำกลับไปจัดแสดงในปีต่อมา[9]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Brettell, Richard R. (2000). Impression : painting quickly in France 1860-1890. New Haven [u.a.]: Yale Univ. Press [u.a.] p. 126. ISBN 0300084463.
- ↑ Cigainero, Jake (October 29, 2014). "Paris Exhibition Traces Origins of Monet's 'Impression, Sunrise'". The New York Times. สืบค้นเมื่อ August 8, 2019.
- ↑ Smith, Paul (1994). Impressionism : beneath the surface. New York: H.N. Abrams. p. 8. ISBN 0-81092715-2.
- ↑ "Impression, Sunrise by Monet". WorldAtlas.com. สืบค้นเมื่อ August 8, 2019.
- ↑ Farthing, Stephen (2016). 1001 Paintings You Must See Before You Die. London, Great Britain: Octopus Publishing Group. p. 472. ISBN 9781844039203.
- ↑ D'Alto, Aaron. "Odyssey", Encyclopædia Britannica, December 2007. Retrieved 17 January 2010.
- ↑ Wolfe, Shira. "Art Movement: Impressionism". Artland Magazine. สืบค้นเมื่อ August 8, 2019.
- ↑ "The World's Greatest Art Heists". Forbes. 12 February 2008. สืบค้นเมื่อ 16 November 2010.
- ↑ "Travel Advisory - Stolen Paintings Back in Paris Heists". The New York Times. 28 April 1991. สืบค้นเมื่อ 16 November 2010.