แบตเทิลโทดส์อาร์เคด
แบตเทิลโทดส์อาร์เคด | |
---|---|
ใบปลิวอาร์เคด | |
ผู้พัฒนา | แรร์ |
ผู้จัดจำหน่าย | อิเล็กทรอนิก อาตส์ |
อำนวยการผลิต | คริส สแตมเปอร์ ทิม สแตมเปอร์[1] |
ออกแบบ | เกร็ก เมลส์[1] เควิน เบย์ลิส และคริส ซัตเธอร์แลนด์[2] พีต ค็อกซ์ และคริส สแตมเปอร์ (ฮาร์ดแวร์) |
โปรแกรมเมอร์ | คริส ซัตเธอร์แลนด์[1] |
ศิลปิน | สตีฟ เมลส์[1] เควิน เบย์ลิส[1] |
แต่งเพลง | เดวิด ไวส์[1] |
ชุด | แบตเทิลโทดส์ |
เครื่องเล่น | อาร์เคด |
วางจำหน่าย | ค.ศ. 1994 |
แนว | บีตเอ็มอัป |
รูปแบบ | ผู้เล่นเดี่ยว, หลายผู้เล่น |
แบตเทิลโทดส์อาร์เคด (อังกฤษ: Battletoads Arcade) หรือที่รู้จักในชื่อ ซูเปอร์แบตเทิลโทดส์ (อังกฤษ: Super Battletoads) หรือเพียงแค่ แบตเทิลโทดส์ (อังกฤษ: Battletoads) เป็นเกมอาร์เคดแบบเลื่อนฉาก ค.ศ. 1994 ในซีรีส์แบตเทิลโทดส์ ที่พัฒนาโดยบริษัทแรร์ และเผยแพร่โดยอิเล็กทรอนิก อาตส์ เกมภาคนี้มีผู้เล่นสูงสุดสามคนในฐานะแบตเทิลโทดส์ ที่ต่อสู้กับเอเลียนและสัตว์ฟันแทะกลายพันธุ์ผ่านหกเลเวลเพื่อคุ้มครองจักรวาลจากดาร์กควีน เกมดังกล่าวยังมีด่านแนวตั้งและด่านโบนัส คางคกแต่ละตัวมีการโจมตีที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง และตามธรรมเนียมของซีรีส์นี้ ผู้เล่นสามารถน็อกศัตรูเข้าหาหน้าจอ ในแบบทำลายกำแพงที่สี่
บริษัทแรร์ได้ใช้เสรีภาพมากขึ้นด้วยความรุนแรงและการนองเลือดในแบตเทิลโทดส์อาร์เคดเนื่องจากสินค้านี้ไม่ได้รับการกำหนดไว้สำหรับคอนโซลภายในบ้าน นับเป็นเกมแรกของบริษัทแรร์ที่ใช้กราฟิกส์ 3 มิติ ซึ่งในภายหลังได้นำมาใช้ในดองกีคองคันทรี และคิลเลอร์อินสติงต์ แม้ว่าเกมจะทดลองเล่นได้ดีและมีศักยภาพทางการเงิน แต่ผู้จัดจำหน่ายลังเลที่จะวางจำหน่าย เกมดังกล่าวพิสูจน์แล้วว่าไม่ประสบความสำเร็จในระบบอาร์เคด และบริษัทแรร์ได้ยกเลิกพอร์ตในการผลิต รวมถึงการเปิดตัวเกมบอยพกพาที่เสร็จสิ้นและทดสอบแล้ว การดำเนินการที่ย่ำแย่ของแบตเทิลโทดส์อาร์เคดทำให้แฟรนไชส์หายไป 26 ปี และจบลงด้วยการรีบูตซีรีส์ใน ค.ศ. 2020
แบตเทิลโทดส์อาร์เคดได้รับการเปิดตัวในระบบคอนโซลเมื่อถูกจำลองในแรร์รีเพลย์ ค.ศ. 2015 ซึ่งเป็นการรวบรวมเกมจากประวัติศาสตร์ของบริษัทแรร์สำหรับเอกซ์บอกซ์วัน โดยเหล่านักวิจารณ์แรร์รีเพลย์ต่างประหลาดใจกับคุณภาพของเกมอาร์เคด และบางคนก็มองว่ามันเป็นไฮไลต์ของแพกเกจดังกล่าว
รูปแบบการเล่น
[แก้]แบตเทิลโทดส์อาร์เคด เป็นเกมอาร์เคดบีตเอ็มอัปสโครลิงแบบหยอดเหรียญ[3] เกมนี้มีผู้เล่นสูงสุดสามคนในฐานะแบตเทิลโทดส์ (แรช, พิมเพิล และซิตซ์) โดยต่อยและเตะศัตรูที่กำลังมาถึงผ่านหกเลเวล[4] เพื่อคุ้มครองจักรวาลทางเลือกของพวกเขาจากดาร์กควีน[5] ซึ่งแบตเทิลโทดส์เวอร์ชันอาร์เคดเป็นเกมหลายผู้เล่นแบบร่วมมือกันสามคนเกมแรก[4] ผู้เล่นควบคุมตัวละครด้วยก้านควบคุมแปดทิศทาง และสองปุ่ม (โจมตี และกระโดด)[5] ตัวละครสามารถวิ่งได้หากผู้เล่นดันก้านควบคุมสองครั้งในทิศทางเดียวกัน[6] เหล่าคางคกมีรูปแบบการต่อสู้ที่แตกต่างกัน โดยแรชนั้นว่องไว, พิมเพิลนั้นแข็งแกร่ง และซิตซ์มีความสมดุลของทั้งสองอย่าง[5] ตามธรรมเนียมของซีรีส์ดังกล่าว เหล่าคางคกสามารถน็อกศัตรูให้กระเด็นออกไปนอกจอ โดยดูเหมือนว่าพวกมันจะลอยเข้าหาผู้เล่น ในแบบทำลายกำแพงที่สี่[7][4] เหล่าคางคกยังสามารถกินแมลงวันเพื่อทำให้มีพลังชีวิตใหม่ได้[5] คางคกแต่ละตัวมีพลังและการโจมตีที่เกินจริง[4] ซึ่งแขนขาของพวกมันกลายเป็นวัตถุ เช่น ขวาน และสว่าน[7] ส่วนศัตรูประกอบด้วยเอเลียน, หนูกลายพันธุ์ และตุ๊กตาหิมะ[8]
แต่ละด่านจะมีธีมเฉพาะ เช่น "ถ้ำลอดคริสต์มาส"[4] และฉากสุดท้ายของการต่อสู้กับบอส[8] ซึ่งบอสบางตัว เช่น เจเนอรัลสลอเตอร์ ได้กลับมาจากเกมภาคก่อน[4] บางด่านแตกต่างกันในการนำเสนอและรูปแบบการเล่น บางด่านเป็นเกมต่อสู้ 2.5 มิติ รูปแบบดับเบิลดรากอน ในขณะที่บางด่านเป็นเกมสองมิติอย่างแท้จริง ซึ่งในด่านหนึ่ง เหล่าคางคกจะสวมชุดเจ็ตแพกและลงอุโมงค์ รวมถึงในด่านสุดท้าย เหล่าคางคกจะยิงศัตรูจากยานพาหนะลำหนึ่ง[5] ผู้เล่นยังสามารถทำลายยานอวกาศในด่านโบนัสสไตล์สตรีทไฟเตอร์ II[4] ทั้งนี้ แบตเทิลโทดส์อาร์เคดแสดงในภาพกราฟิกส์แรสเตอร์ความละเอียดมาตรฐานในแนวนอนพร้อมเสียงโมโนหรือสเตอริโอภายในตู้อาร์เคดตั้งตรง[5]
การพัฒนาและการตลาด
[แก้]เกมดังกล่าวพัฒนาโดยบริษัทแรร์ ซึ่งเผยแพร่โดยบริษัทอิเล็กทรอนิก อาตส์ และวางจำหน่ายใน ค.ศ. 1994[3] โดยเป็นเกมที่ห้าในซีรีส์แบตเทิลโทดส์ ซึ่งทิม และคริส สแตมเปอร์ ผู้ก่อตั้งบริษัทแรร์ได้สร้างซีรีส์นี้ขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความสนใจในเต่านินจา ซีรีส์แบตเทิลโทดส์—โดยเฉพาะแบตเทิลโทดส์ดั้งเดิม ค.ศ. 1991 สำหรับนินเท็นโดเอนเตอร์เทนเมนต์ซิสเตม (NES)—ได้กลายเป็นที่นิยมในตัวของมันเอง และนำไปสู่ภาคต่อหลายชุด[4][8] เนื่องจากภาคต่อนี้อยู่ในระหว่างการพัฒนาสำหรับอาร์เคดมากกว่าคอนโซล ทางบริษัทแรร์จึงมีอิสระมากขึ้นในการแสดงภาพความรุนแรง ซึ่งแตกต่างจากภาระผูกพันของพวกเขาในส่วนที่เหลือของซีรีส์ ในขณะที่แบตเทิลโทดส์ดั้งเดิมของนินเท็นโดเอนเตอร์เทนเมนต์ซิสเตมได้เซ็นเซอร์เลือด แบตเทิลโทดส์อาร์เคดได้แสดงเลือดและการตัดหัว (แม้ว่าจะสามารถปิดได้ในสวิตช์ดีไอพีของเกม) ส่วนดาร์กควีนก็ปรากฎในรูปแบบที่ยั่วยวนมากขึ้นเช่นกัน[3] บริษัทแรร์ได้เริ่มทดลองกับกราฟิก 3 มิติในช่วงเวลานี้ และเปลี่ยนไปใช้เพาเวอร์แอนิเมเตอร์ (ต่อมาคือออโตเดสก์ มายา) ทั้งนี้ แบตเทิลโทดส์อาร์เคดเป็นเกมของบริษัทแรร์เกมแรกที่ใช้เพาเวอร์แอนิเมเตอร์ ก่อนที่จะนำมาใช้ในคิลเลอร์อินสติงต์ และดองกีคองคันทรี[9]
แม้จะเสร็จสิ้นแล้ว แต่เกมดังกล่าวยังคงไม่ได้รับการเผยแพร่ "เป็นเวลานาน" ตามคำกล่าวของจอร์จ แอนเดรียส จากบริษัทแรร์ ซึ่งเคยทำงานในเกมนี้ เกมดังกล่าวผ่านการทดสอบการเล่นและขายดีในการทดสอบตลาด แต่การเปิดตัวไม่เป็นไปตามความคาดหวัง[10] นอกจากนี้ บริษัทแรร์ได้สร้างและทดสอบพอร์ตเกมบอยแบบพกพาของแบตเทิลโทดส์อาร์เคด แต่ได้ยกเลิกไปเนื่องจากยอดขายเกมอาร์เคดที่ย่ำแย่[11] ส่วนพอร์ตซูเปอร์แฟมิคอมยังได้รับการวางแผนและยกเลิกเช่นกัน ซึ่งอาจเป็นเพราะเกมอาร์เคดได้รับการตอบรับปานกลาง[4] และเบรนดัน กันน์ จากบริษัทแรร์เคยทำงานที่พอร์ตนี้และกล่าวว่าทีมงานเกือบจะเสร็จสิ้นในระดับแรกแล้วก่อนที่โครงการดังกล่าวจะถูกยกเลิก เขาคิดว่าการตัดสินใจดังกล่าวอาจเชื่อมโยงกับยอดขายปานกลางแต่ก็ไม่แน่ใจ[10] โดยซูเปอร์แบตเทิลโทดส์ในฐานะเกมอาร์เคดดังกล่าวซึ่งเป็นที่รู้จัก[12][13] เป็นเกมที่ได้วางแผนไว้สำหรับทั้งสองพอร์ตนี้[11][14]
แบตเทิลโทดส์อาร์เคดได้รับการเผยแพร่คอนโซลครั้งแรกเมื่อมีการจำลองสำหรับเอกซ์บอกซ์วันโดยเป็นส่วนหนึ่งของเกมรวมแรร์รีเพลย์ ค.ศ. 2015 ที่มีเกม 30 เกมจากประวัติศาสตร์ 30 ปีของบริษัทแรร์[15] โดยในเวอร์ชันแรร์รีเพลย์ มีคุณสมบัติเพิ่มเติม ได้แก่ การตั้งค่าสำหรับคันทินิวแบบไม่จำกัด, ความสามารถในการ "ย้อนเวลา" (และเล่นซ้ำบางส่วน) ตลอดจนโอกาสในการเซฟความคืบหน้าของเกมได้ตลอดเวลา[16]
การตอบรับ
[แก้]แบตเทิลโทดส์อาร์เคด "ล้มเหลวอย่างยับเยิน"[9] โดยมียอดขายปานกลาง[4] คริสโตเฟอร์ ไมเคิล เบเกอร์ (จากออลเกม) เขียนว่าการเปิดตัวเกมอาร์เคดนั้นอาศัยความสำเร็จของเกมภาคก่อนสำหรับเครื่องเกมคอนโซล ซึ่งโดยทั่วไปแล้วลำดับมักจะสลับกัน เขาพบว่าทั้งสองเกมมีความคล้ายคลึงกันในด้านรูปแบบการต่อสู้ที่มีการควบคุมที่เรียบง่าย แต่รู้สึกว่าเกมอาร์เคดมีกราฟิกที่ดีกว่า เขาสังเกตว่าทั้งสองแบบมีการรวมเอฟเฟกต์ของการน็อกศัตรูไปหาผู้เล่นที่อยู่นอกจอด้วย เบเกอร์รู้สึกว่าการโจมตีอันเป็นเอกลักษณ์นั้นน่าสนใจและเพิ่มคุณค่าในการกลับมาเล่นอีกครั้ง โดยรวมแล้วเขาค่อนข้างผิดหวังกับเกมอาร์เคดเกมนี้ เนื่องจากคาดหวังอะไรมากกว่านี้ แต่เขาก็ให้คะแนนแบตเทิลโทดส์อาร์เคดอยู่ที่สี่ดาวจากห้าดาว[7] รวมทั้งออลเกมได้เปรียบเทียบแบตเทิลโทดส์อาร์เคดกับเกมเทอร์เทิลส์อินไทม์และเดอะซิมป์สันส์อาร์เคดเกม[8]
นิตยสารรีโทรเกมเมอร์ได้เขียนระลึกถึงความหลังว่าแบตเทิลโทดส์อาร์เคดเป็นเกมที่ "ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก" แต่เป็นเกมที่ดีที่สุดในซีรีส์ พวกเขาบรรยายถึงเกมนี้ว่า "มีเอกลักษณ์ชัดเจน" หายาก: "สนุกสาน, สีสันสวยงาม และออกแบบมาอย่างดี" นิตยสารรีโทรเกมเมอร์นำเสนอเกมนี้ให้ทัดเทียมกับเกมอาร์เคดของบริษัทโคนามิและเซกา รวมทั้งยังยกย่องอารมณ์ขัน, การต่อสู้ และความมีเอกลักษณ์ของเกมนี้ พวกเขาเสริมอีกว่าภาคอาร์เคดถือเป็นเพลงอำลาของซีรีส์นี้ โดยมีการอ้างอิงถึงช่วงเวลาและด่านต่าง ๆ จากเกมภาคก่อนหน้านี้เป็นจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น ด่านแรกบนยานของดาร์กควีนนั้นก็คล้ายกับฉากเปิดของเกมแบตเทิลโทดส์/ดับเบิลดรากอน และด่านเจ็ตแพกนั้นก็ชวนให้นึกถึงด่าน "วูกีโฮล" ในแบตเทิลโทดส์ภาคแรก นิตยสารฉบับดังกล่าวยังระบุเพิ่มเติมอีกว่าระดับความรุนแรงของเกมทำให้เกมนี้แตกต่างจากเกมซีรีส์ก่อน ๆ และเกมดังกล่าวยังได้รับการตอบรับระดับปานกลางในเวอร์ชันอาร์เคด พวกเขากล่าวถึงการยกเลิกการผลิตสำหรับเครื่องเล่นในบ้านว่าเป็น "โศกนาฏกรรม"[4]
เมื่อผ่านไปยี่สิบปีหลังจากการเปิดตัวครั้งแรก นักวิจารณ์แรร์รีเพลย์หลายรายก็ได้เน้นย้ำถึงเกมแบตเทิลโทดส์อาร์เคดไว้ในการรวบรวมเกมนี้ คริส คาร์เตอร์ (จากเว็บไซต์เดสทรักทอยด์) เขียนว่าเกมนี้ถือเป็นเกมยอดนิยมอย่างไม่คาดคิดในบทวิจารณ์แรร์รีเพลย์ของเขา[15] ส่วนฟิลิป คอลลาร์ (จากเว็บไซต์โพลีกอน) ก็ "ประหลาดใจ" กับเกมนี้เช่นกัน ซึ่งเขาพบว่าสนุกอย่างไม่น่าเชื่อ โดยคอลลาร์ได้จัดอันดับเกมนี้ไว้ใกล้กลาง ๆ ของคอลเลกชันแรร์รีเพลย์[17] รวมถึงทิโมธี เซปพาลา (จากเว็บไซต์อินแกดจิต) รู้สึกขอบคุณที่ได้รับการแนะนำให้รู้จักกับแบตเทิลโทดส์อาร์เคดในแรร์รีเพลย์ เขาคิดว่าเกมนี้เป็นหนึ่งใน "ช่วงเวลาที่ดีที่สุด" ของบริษัทแรร์ และเป็นหนึ่งในสองเกมย้อนยุคที่คุ้มค่าแก่การเล่น[16] ตลอดจนแซม มัชโคเวช (จากเว็บไซต์อาร์สเทคนิคา) ได้ระบุถึงเกมนี้ว่าเป็นหนึ่งในเกมที่หายากที่สุดในเกมรวมนี้[18]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 Rare (1994). Battletoads Arcade (Arcade). Electronic Arts. Scene: Credits.
- ↑ "Battletoads (1994) Arcade credits". MobyGames. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 31, 2021. สืบค้นเมื่อ September 27, 2021.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 Buchanan, Levi (มกราคม 13, 2009). "Battletoads retrospective". IGN. p. 3. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-08-22. สืบค้นเมื่อ August 22, 2015.
- ↑ 4.00 4.01 4.02 4.03 4.04 4.05 4.06 4.07 4.08 4.09 4.10 "The Unconverted: Arcade Games that Never Made It Home – Battletoads". Retro Gamer (86): 82. February 2011.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 "Battletoads". Killer List of Videogames. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 23, 2015. สืบค้นเมื่อ August 22, 2015.
- ↑ "Battletoads controls". AllGame. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 14, 2014. สืบค้นเมื่อ August 23, 2015.
- ↑ 7.0 7.1 7.2 Baker, Christopher Michael. "Battletoads Review". AllGame. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 14, 2014. สืบค้นเมื่อ August 23, 2015.
- ↑ 8.0 8.1 8.2 8.3 Baker, Christopher Michael. "Battletoads synopsis". AllGame. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 14, 2014. สืบค้นเมื่อ August 23, 2015.
- ↑ 9.0 9.1 Milne, Rory (December 2013). "Killer Instinct". Retro Gamer (123): 49, 50.
- ↑ 10.0 10.1 "A Rare Glimpse". Retro Gamer (84): 34. December 2010.
- ↑ 11.0 11.1 Gach, Ethan (กรกฎาคม 6, 2018). "Rare Finished Making a Battletoads for Game Boy That Never Came Out". Kotaku (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ ธันวาคม 21, 2020.
- ↑ IGN Staff (มีนาคม 1, 2001). "Gamecube developer profile: Rare". IGN. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 22, 2015. สืบค้นเมื่อ August 22, 2015.
- ↑ Sarkar, Samit (พฤศจิกายน 10, 2014). "Microsoft files for Battletoads trademark". Polygon. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 22, 2015. สืบค้นเมื่อ August 22, 2015.
- ↑ Jakobs, Benjamin (กรกฎาคม 9, 2018). "Super Battletoads sollte für den Game Boy erscheinen und war zu 100 Prozent fertig". Eurogamer (ภาษาเยอรมัน). สืบค้นเมื่อ ธันวาคม 21, 2020.
- ↑ 15.0 15.1 Carter, Chris (สิงหาคม 3, 2015). "Review: Rare Replay". Destructoid. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 22, 2015. สืบค้นเมื่อ August 22, 2015.
- ↑ 16.0 16.1 Seppala, Timothy (สิงหาคม 7, 2015). "'Rare Replay': gaming classics at their best-worst". Engadget. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 22, 2015. สืบค้นเมื่อ August 22, 2015.
- ↑ Kollar, Philip (สิงหาคม 4, 2015). "Rare Replay countdown: 30 Rare classics ranked from worst to best". Polygon. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 22, 2015. สืบค้นเมื่อ August 22, 2015.
- ↑ Machkovech, Sam (สิงหาคม 3, 2015). "Rare Replay review: Incomplete, but still plenty of timeless gaming smashes". Ars Technica. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 22, 2015. สืบค้นเมื่อ August 21, 2015.
อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref>
ชื่อ "Gamasutra: Ratchet" ซึ่งนิยามใน <references>
ไม่ถูกใช้ในข้อความก่อนหน้า
อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref>
ชื่อ "GameSpot 2020" ซึ่งนิยามใน <references>
ไม่ถูกใช้ในข้อความก่อนหน้า
<ref>
ชื่อ "Kotaku: best looking" ซึ่งนิยามใน <references>
ไม่ถูกใช้ในข้อความก่อนหน้า