แดวู ลาโนส
แดวู ลาโนส | |
---|---|
ภาพรวม | |
บริษัทผู้ผลิต | แดวู |
เริ่มผลิตเมื่อ | พ.ศ. 2540 - 2545 (Daewoo) พ.ศ. 2540 – 2563 (CKD and license-built models) |
ตัวถังและช่วงล่าง | |
ประเภท | รถยนต์นั่งขนาดเล็กมาก (Subcompact Car) |
รูปแบบตัวถัง | คอนเวอร์เทเบิล 2 ประตู แฮทช์แบค 3 ประตู แฮทช์แบค 5 ประตู ซีดาน 4 ประตู รถตู้ 2 ประตู |
รุ่นที่คล้ายกัน | โตโยต้า สตาร์เล็ต/เทอร์เซล/ยาริส/วีออส ฮอนด้า แจ๊ซ/ซิตี้ นิสสัน มาร์ช/อัลเมร่า มิตซูบิชิ โคลท์/มิราจ มาสด้า 2 เชฟโรเลต อาวีโอ ฟอร์ด เฟสติวา/เฟียสตา ซูซูกิ คัลตัส/สวิฟท์ ฮุนได โพนี่/เอ็กเซล/แอคเซนท์ เกีย ไรโอ โปรตอน เซฟวี่/ซากา โฟล์กสวาเกน โปโล เฌอรี่ A1 โอเปิล คอร์ซา ไดฮัทสุ ชาเรด ซีตรอง AX/C3/DS3 เปอโยต์ 207/208 เฟียต พุนโต |
ระยะเหตุการณ์ | |
รุ่นก่อนหน้า | แดวู เซียโล |
รุ่นต่อไป | เชฟโรเลต อาวีโอ / แดวู คาลอส |
แดวู ลาโนส (อังกฤษ: Daewoo Lanos) เป็นรถยนต์นั่งขนาดเล็กมาก (Subcompact Car) ที่ผลิตโดย แดวู ผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศเกาหลีใต้ เริ่มผลิตในปี พ.ศ. 2540 โดยออกมาเพื่อทดแทนรุ่นเก่าอย่าง แดวู เซียโล (อังกฤษ: Daewoo Cielo) ออกแบบโดย จอร์เจ็ตโต้ จูจาโร่ (อังกฤษ: Giorgetto Giugiaro) มีฐานการประกอบอยู่ที่ประเทศเกาหลีใต้ ,รัสเซีย ,อียิปต์ ,ยูเครน ,โปแลนด์และเวียดนาม มีตัวถังคอนเวอร์เทเบิล 2 ประตู แฮทช์แบค 3 ประตู แฮทช์แบค 5 ประตู ซีดาน 4 ประตูและรถตู้ 2 ประตู มีเครื่องยนต์ 1.3 ,1.4 ,1.5 และ 1.6 ลิตร ใช้เกียร์ธรรมดา 5 สปีดและเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด ระยะฐานล้อ 2,520 มม. ความยาวรุ่นแฮทช์แบค 4,074 มม. ซีดาน 4,235 มม. รถตู้ 4,247 มม. ความกว้าง 1,678 มม. ความสูง 1,432 มม. รุ่นรถตู้ 1,908 มม.
ที่มาของการพัฒนาแดวู ลาโนส มีดังนี้
แดวู มอเตอร์ส เคยร่วมเป็นพันธมิตรกับเจนเนอรัล มอเตอร์สตั้งแต่ในยุค 1970 จนถึงปี พ.ศ. 2535 แดวู มอเตอร์ส ก็ได้ประกาศยุติความร่วมมือกับ GM ดังนั้นแดวู มอเตอร์สจึงต้องเริ่มต้นพัฒนารถยนต์ด้วยตนเอง โดยพัฒนาออกมาทั้งหมด 3 รุ่นคือ แดวู ลาโนส สำหรับตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็กมาก (Subcompact Car) แดวู นิวบีรา สำหรับตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็ก (Compact Car) และ แดวู เลกันซา สำหรับตลาดรถยนต์นั่งขนาดกลาง (Mid-Size Car) สำหรับโครงการพัฒนาลาโนสเริ่มขึ้นเมื่อฤดูใบไม้ร่วง ปี พ.ศ. 2536 เพื่อทำตลาดแทน แดวู เซียโล (อังกฤษ: Daewoo Cielo) และแข่งขันกับรถยนต์ในตลาด B-Segment กว่า 20 รุ่น โดยเฉพาะคู่แข่งจากยุโรปและญี่ปุ่น เช่น โฟล์กสวาเกน กอล์ฟ ,โอเปิล แอสตร้าและโตโยต้า เทอร์เซล เป็นต้น โดยการออกแบบมีการแข่งขันระหว่าง Studio 4 แห่ง ปรากฏว่าผลงานของสตูดิโอ ITal Design ซึ่งเป็นผลงานของจิโอเจตโต จิวเจียโรได้ถูกนำมาผลิตออกขายจริง ในที่สุด ผ่านไป 30 เดือน หรือ 2 ปีครึ่งหลังจากการทดสอบในสภาพถนนและอากาศทั่วโลก ลาโนสภายใต้รหัสโครงการ T100 ก็ออกสู่ตลาดในปี พ.ศ. 2540 และลูกค้าทั่วโลกโดยเฉพาะแถบยุโรปที่มองหารถยนต์ราคาถูกแต่คุ้มค่า ให้การต้อนรับอย่างดีจนประสบความสำเร็จ จนบริษัท FSO และ AutoVAZ ได้ซื้อลิขสิทธิ์ไปผลิตในโปแลนด์ ภายใต้แบรนด์ของเขาในช่วงปีเดียวกันกับที่ลาโนสออกจำหน่าย มีเครื่องยนต์ให้เลือก 4 ขนาด ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเครื่องยนต์ 1.4 และ 1.6 ลิตร (GM Family 1 E-TEC)
ในประเทศไทย ทางบริษัท ไทยแดวูมอเตอร์เซลส์ จำกัด (ที่ตั้งเดียวกับสำนักงานเก่าของ Renault Thailand บนถนนพระราม 9) เคยนำเข้าแดวู ลาโนสเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2540 ซึ่งแดวู ลาโนส เป็น 1 ใน 3 ของรถยนต์ที่ไทยแดวูมอเตอร์เซลส์มีแผนจะนำเข้ามาจำหน่าย ซึ่งอีก 2 รุ่นก็คือ แดวู นิวบีรา และแดวู เลกันซา แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจในขณะนั้น ยังไม่ทันได้เปิดตัวก็ต้องพับแผนไปก่อน ทำให้ไม่ได้นำมาขาย และทำให้แดวู ลาโนสเป็นรถยนต์รุ่นสุดท้ายของแดวูในไทย โดยลาโนสเวอร์ชันไทยมีทั้งตัวถังซีดานและแฮทช์แบค ชูจุดขายที่การเป็นรถเกาหลีสไตล์ยุโรป เลิกจำหน่ายไปในปี พ.ศ. 2542 เนื่องจากการปิดกิจการรถยนต์แดวูในประเทศไทยทำให้ลาโนสต้องเลิกขายไปด้วย สาเหตุเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในขณะนั้น ทำให้รถจากเกาหลีที่เข้ามาขายในประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ. 2540-2545 โดยเฉพาะฮุนไดและแดวูต้องปิดกิจการ (ฮุนไดกลับมาขายอีกครั้งปี พ.ศ. 2550) ส่วนเกียถึงแม้ว่าจะขาดทุนหนักเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจเช่นเดียวกันแต่ยนตรกิจ คอร์เปอเรชั่นได้เข้ามาสานต่อในปี พ.ศ. 2542
ในตลาดต่างประเทศสถานการณ์ก็ไม่ต่างจากในเมืองไทยมากนัก ถึงแม้จะประสบความสำเร็จในยุโรป เนื่องจากเป็นรถสไตล์ยุโรปที่คุ้มค่าคุ้มราคา แต่ในสหรัฐอเมริกา กลับไม่ประสบความสำเร็จ แถมยังผีซ้ำด้ำพลอยตรงที่ว่าในช่วงที่รถเปิดตัว เกาหลีใต้ ไทยและเอเชียกำลังประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา