เอนูมาเอลิช
เอนูมาเอลิช (อักษรรูปลิ่มแอกแคด: 𒂊𒉡𒈠𒂊𒇺, อักษรโรมัน: Enūma Eliš, Enuma Elish) เป็นมหากาพย์ที่เล่าถึงการกำเนิดจักรวาลของบาบิโลเนีย ถูกค้นพบในสภาพชิ้นส่วนโดยออสเตน เฮนรี เลอาร์ด นักโบราณคดีชาวอังกฤษจากซากหอสมุดอาชูร์บานิพัลที่เมืองนิเนเวห์ (เมืองโมซูล ประเทศอิรักปัจจุบัน) ในปี ค.ศ. 1849 ต่อมาจอร์จ สมิธ นักอัสซีเรียวิทยาชาวอังกฤษแปลและตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1876 คำว่า "เอนูมาเอลิช" เป็นวลีเปิดเรื่องหมายถึง "เมื่อบนสวรรค์..."[1]
เอนูมาเอลิช มีเนื้อหาประมาณ 1 พันบาท บันทึกเป็นภาษาแอกแคดบนแผ่นดินเหนียว 7 แผ่น[1] แต่ละแผ่นมีเนื้อหาระหว่าง 115–170 บาท จารด้วยอักษรรูปลิ่มซูเมอร์-แอกแคด ลักษณะไม่มีคำคล้องจองและฉันทลักษณ์ แต่เป็นสัมผัสคู่ที่อยู่ในบรรทัดเดียวกันและบางครั้งเป็นบทสี่บาท[2] แม้ว่าจารึกแผ่นที่ 5 ส่วนใหญ่จะยังสูญหาย แต่นักวิชาการสามารถปะติดปะต่อเรื่องราวจน เอนูมาเอลิช มีเนื้อหาเกือบสมบูรณ์[3] มหากาพย์นี้เป็นหนึ่งในแหล่งข้อมูลสำคัญที่เปิดเผยโลกทัศน์ของบาบิโลเนีย[4] จารึกทั้ง 7 แผ่นบรรยายถึงการกำเนิดเทพเจ้า สงครามระหว่างเทพที่จบลงด้วยชัยชนะของมาร์ดุก การก่อเกิดของจักรวาลและโลก การสร้างมนุษย์เพื่อรับใช้เหล่าทวยเทพและบทสรรเสริญมาร์ดุกขนาดยาว[5] ยังไม่ทราบจุดประสงค์เดิมของ เอนูมาเอลิช แต่พบฉบับที่ใช้ในเทศกาลอะกิตูสมัยซิลูซิด[6] มหากาพย์นี้ยังใช้ในการสร้างความชอบธรรมหรืออำนาจสูงสุดของบาบิโลเนียเหนือเมโสโปเตเมียทั้งหมด[7] เอนูมาเอลิช ฉบับหลังมีการเปลี่ยนมาร์ดุกเป็นอัชชูร์ เทพเจ้าหลักของอัสซีเรีย[8]
พบ เอนูมาเอลิช หลายฉบับจากบาบิโลนและอัสซีเรีย ฉบับที่พบที่หอสมุดอาชูร์บานิพัลมาจากสมัยศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสตกาล แต่องค์ประกอบเรื่องอาจย้อนไปไกลถึงสหัสวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาลหรือรัชสมัยพระเจ้าฮัมมูราบีแห่งจักรวรรดิบาบิโลเนียเก่า (1900–1600 ปีก่อนคริสตกาล)[5] ภาพประกอบจากเนื้อหาบางส่วนของ เอนูมาเอลิช มีอายุอย่างน้อยในยุคแคสไซต์ (ประมาณศตวรรษที่ 16–12 ก่อนคริสตกาล)[9][10]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "Enuma Elish". New World Encyclopedia. สืบค้นเมื่อ December 9, 2022.
- ↑ Heidel 1951, p. 15.
- ↑ Heidel 1951, pp. 1–2.
- ↑ Heidel 1951, p. 10.
- ↑ 5.0 5.1 Mark, Joshua J. (May 4, 2018). "Enuma Elish - The Babylonian Epic of Creation". World History Encyclopedia. สืบค้นเมื่อ December 9, 2022.
- ↑ Smith, Jonathan Z. (1982), Imagining Religion: From Babylon to Jonestown, University of Chicago Press, p. 93, ISBN 0-226-76360-9
- ↑ Heidel 1951, p. 11.
- ↑ "Enuma Elish - The Babylonian Creation Story". Grand Valley State University. สืบค้นเมื่อ December 9, 2022.
- ↑ King 1902, pp. lxxiii–lxiv.
- ↑ Heidel 1951, p. 13.