ข้ามไปเนื้อหา

เอซี มิลาน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เอซีมิลาน)
เอซี มิลาน
ชื่อเต็มAssociazione Calcio Milan
ฉายา"รอสโซเนรี" (แดง-ดำ)
"อิลเดียโวโล" (ปีศาจ)
"ปีศาจแดง-ดำ" (ในภาษาไทย)
ก่อตั้ง13 ธันวาคม ค.ศ.1899[1]
สนามซานซีโร
ความจุ80,018 ที่นั่ง
ประธานเปาโล สกาโรนี
ผู้จัดการทีมแซร์ฌียู กงไซเซา
ลีกเซเรียอา
2023–24อันดับที่ 2
เว็บไซต์เว็บไซต์สโมสร
สีชุดทีมเยือน
สีชุดที่สาม

สโมสรฟุตบอล เอซี มิลาน (อิตาลี: Associazione Calcio Milan) หรือ เอซี มิลาน (A.C. Milan) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า มิลาน เป็นทีมฟุตบอลอาชีพตั้งอยู่ในเมืองมิลาน แคว้นลอมบาร์เดีย ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1899[2][3] สโมสรลงเล่นบนลีกสูงสุดของฟุตบอลอิตาลีหรือเซเรียอาเกือบทุกฤดูกาลยกเว้นในฤดูกาล 1980–81 และ 1982–83[4] เอซีมิลานเคยลงเล่นที่สนามเหย้าหลายแห่งตั้งแต่ก่อตั้ง ก่อนจะย้ายมาสนามปัจจุบันอย่างซานซีโร ตั้งแต่ ค.ศ. 1926 ซึ่งถูกสร้างโดยปิเอโร ปิเรลลี ประธานสโมสรคนที่สอง สนามแห่งนี้ถูกใช้ร่วมกับอินเตอร์มิลานมาตั้งแต่ ค.ศ. 1947 ถือเป็นสนามฟุตบอลที่ใหญ่ที่สุดในอิตาลีด้วยความจุ 75,817 ที่นั่ง สีประจำสโมสรคือสีแดงและสีดำ และมีฉายาซึ่งเป็นที่รู้จักว่า "ปีศาจแดงดำ"

สำหรับการแข่งขันภายในประเทศ มิลานชนะเลิศเซเรียอา 19 สมัย, โกปปาอีตาเลีย 5 สมัย และซูแปร์โกปปาอีตาเลียนา 8 สมัย[5] มิลานยังถือเป็นสโมสรที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของอิตาลี ในแง่ของถ้วยรางวัลระดับทวีปและระดับโลก พวกเขาชนะเลิศถ้วยรางวัลของฟีฟ่าและยูฟ่ารวม 18 ใบ นับเป็นสถิติสูงสุดในอิตาลี[6][7][8][5] และเป็นอันดับ 3 ของโลก (ร่วมกับโบกายูนิออร์ส และ กลุบอัตเลติโกอินเดเปนดิเอนเต) สโมสรชนะเลิศยูโรเปียนคัพ / ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 7 สมัย ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดอันดับสองเป็นรองเพียงเรอัลมาดริด รวมทั้งชนะเลิศอินเตอร์คอนติเนนตัลคัพ 3 สมัย, ยูฟ่าซูเปอร์คัพ 5 สมัย และยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ 2 สมัย ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในทุกรายการของสโมสรอิตาลี และยังเป็นสโมสรแรกของอิตาลีที่ชนะเลิศฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก โดยทำได้ใน ค.ศ. 2007

สโมสรชนะเลิศฟุตบอลลีกสูงสุดครั้งแรกใน ค.ศ. 1901 และชนะเลิศยูโรเปียนคัพครั้งแรกใน ค.ศ. 1963 มิลานครองความยิ่งใหญ่ในประเทศมาตั้งแต่ทศวรรษ 1950 และประสบความสำเร็จสูงสุดภายใต้การบริหารทีมโดยซิลวีโอ แบร์ลุสโกนี ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานสโมสรยาวนาน 31 ปี (ค.ศ. 1986–2017) โดยชนะเลิศถ้วยรางวัล 29 รายการ รวมถึงการชนะเลิศเซเรียอา และยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกหลายสมัย อาร์ริโก ซาคคี พาทีมชนะถ้วยรางวัล 8 รายการในเวลาเพียง 4 ปี ต่อมา ในฤดูกาล 1991-1992 ภายใต้การคุมทีมโดย ฟาบีโอ กาเปลโล สโมสรเป็นแชมป์เซเรียอาโดยไม่แพ้ทีมใดตลอดทั้งฤดูกาล 38 นัด โดยกาเปลโลยังพาทีมคว้าถ้วยรางวัล 9 รายการในทศวรรษ 1990 ซึ่งรวมถึงแชมป์เซเรียอา 4 สมัย และ แชมป์ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก สโมสรประสบความสำเร็จต่อเนื่องจนถึงทศวรรษ 2000 โดยการ์โล อันเชลอตตี ซึ่งพาทีมชนะเลิศถ้วยรางวัล 8 รายการ รวมถึงแชมป์เซเรียอา และยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกสองสมัย ผู้เล่นหลายคนของมิลานได้รับรางวัลบาลงดอร์ โดยเฉพาะตำนานอย่าง มาร์โก ฟัน บัสเติน, รืด คึลลิต และ ฟรังก์ ไรการ์ด โดยทั้งสามคนมีชื่ออยู่ในสามอันดับแรกจากการประกาศรางวัลใน ค.ศ. 1988 ซึ่งเป็นความสำเร็จที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับสโมสรใดมาก่อน[9]

สโมสรเป็นคู่ปรับอย่างเข้มข้นของอินเตอร์ สโมสรร่วมเมือง โดยการพบกันของทั้งคู่ถูกเรียกว่าแดร์บีเดลลามาดอนนีนา นับเป็นหนึ่งในการแข่งขันที่มีผู้ติดตามมากที่สุด[10] และยังเป็นอริกับยูเวนตุส, ฟีออเรนตีนา, อาตาลันตา, นาโปลี, โรมา และเจนัว มิลานเป็นหนึ่งในสโมสรที่มีผู้ติดตามมากที่สุดในอิตาลี และเป็นหนึ่งในสโมสรที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศ[11] สโมสรเป็นสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งจี-14 ซึ่งเป็นกลุ่มของสโมสรฟุตบอลชั้นนำของยุโรป แต่ต่อมาได้ยุบตัวและถูกแทนที่โดยสมาคมสโมสรฟุตบอลยุโรป[12] ปัจจุบันสโมสรอยู่ภายใต้การบริหารทีมโดยเรดเบิร์ดแคปิตอลพาร์ทเนอร์ส บริษัทด้านการลงทุนในสหรัฐ เอซี มิลาน เป็นสโมสรที่มีมูลค่าทีมสูงเป็นอันดับ 14 ของโลกใน ค.ศ. 2024[13]

ประวัติ

[แก้]
เฮอร์เบิร์ต คิลปิน กัปตันทีมคนแรกและหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสโมสร
เอซี มิลานใน ค.ศ. 1901

ยุคก่อตั้งสโมสร (ค.ศ. 1899–1950)

[แก้]

"Saremo una squadra di diavoli. I nostri colori saranno il rosso come il fuoco e il nero come la paura che incuteremo agli avversari."

— 1899, Herbert Kilpin[14][15]

"พวกเราจะเป็นทีมแห่งปีศาจ สีของเราคือสีแดงดุจเปลวเพลิงกับสีดำซึ่งจะชักนำความกลัวมาสู่คู่แข่งของเรา"

— 1899, เฮอร์เบิร์ต คิลปิน

สโมสรฟุตบอลเอซีมิลาน ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1899 โดยชาวอังกฤษสามคน ได้พูดคุยกันที่ห้องหนึ่งในโรงแรม โฮเตล ดู นอร์ และเกิดความคิดที่จะสร้างสโมสรคริกเกตและฟุตบอลชื่อ "Milan Football and Cricket Club” แม้สโมสรจะอ้างว่าวันก่อตั้งของสโมสรคือวันที่ 16 ธันวาคม ทว่าหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าสโมสรน่าจะก่อตั้งไม่กี่วันก่อนหน้านั้น โดยวันที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ 13 ธันวาคม[16] อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกฎบัตรของสโมสรได้สูญหาย วันที่ในการก่อตั้งที่แท้จริงจึงยังเป็นที่อภิปรายกันถึงปัจจุบัน

เพื่อเป็นเกียรติให้แก่ผู้ก่อตั้งชาวอังกฤษ สโมสรจึงมีการสะกดชื่อเมืองมิลาน (Milan) เป็นภาษาอังกฤษ แทนการใช้คำว่ามิลาโน (Milano) ในภาษาอิตาลีซึ่งอยู่ภายใต้ลัทธิฟาสซิสต์อิตาลี ในช่วงแรกของการก่อตั้ง คลับแห่งนี้เน้นไปที่คริกเกตมากกว่า แต่เมื่อข่าวค่อย ๆ แพร่กระจายออกไป ก็มีผู้คนให้การสนับสนุนฟุตบอลมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมี อัลเฟรด เอ็ดเวิร์ดส์ ทำหน้าที่ประธานสโมสรเป็นคนแรก โดยหลังจากที่ไปขึ้นทะเบียนกับสหภาพฟุตบอลอิตาลีแล้ว ทีมก็ได้เข้าร่วมแข่งขันรายการสำคัญ รวมทั้งเริ่มสร้างสร้างสนามเหย้าที่บริเวณทรอตเตอร์ ซึ่งในปัจจุบันก็คือสถานีรถไฟกลางนั่นเอง

สโมสรชนะเลิศฟุตบอลแชมเปียนชิพของอิตาลีครั้งแรกใน ค.ศ. 1901 เป็นการหยุดสถิติชนะเลิศสามสมัยติดต่อกันของทีมชั้นนำในขณะนั้นอย่างสโมสรคริกเกตและฟุตบอลเจนัว ตามด้วยการชนะเลิศอีกสองสมัยใน ค.ศ. 1906 และ 1907[17] มิลานประสบความสำเร็จหลายรายการในช่วงทศวรรษแรก ๆ ของการก่อตั้ง โดยชนะการแข่งขันสำคัญได้แก่ Medaglia del Re, Palla Dapples และ FGNI tournament แต่ไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากสหพันธ์ฟุตบอลอิตาลี ต่อมาใน ค.ศ. 1908 ความขัดแย้งภายในสโมสรนำไปสู่การก่อตั้งสโมสรใหม่ในชื่อ ฟุตบอล คลับ อินแตร์นาซีโอนาเล โดยผู้บริหารและสมาชิกที่แยกตัวออกไปไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่จะใช้นักเตะอิตาลีเพียงอย่างเดียว และต้องการเซ็นสัญญากับนักฟุตบอลต่างชาติ ส่งผลให้มิลานตกต่ำลงหลังจากเหตุการณ์นี้ และไม่ชนะถ้วยรางวัลใหญ่ในประเทศยาวนานจนถึง ค.ศ. 1950 โดยชนะเลิศเพียงการแข่งขันในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งอย่าง Coppa Federale และ Coppa Mauro ในฤดูกาล 1915–16 และ 1917–18 โดยการแข่งขันรายการแรกได้รับการยอมรับว่าเป็นถ้วยรางวัลที่มีชื่อเสียง และมีการแข่งขันสูงแม้จะไม่ได้รับการยอมรับเป็นเกียรติประวัติโดยสหพันธ์ฟุตบอลอิตาลี ใน ค.ศ. 1919 สโมสรได้เปลี่ยนชื่อเป็น “Milan Football Club” จากนั้นใน ค.ศ. 1936 ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “Milan Associazione Sportiva” ต่อมาใน ค.ศ. 1938 เปลี่ยนมาเป็น “Associazione Calcio Milano” สุดท้ายเปลี่ยนมาเป็น “Associazione Calcio Milan” ในปี ค.ศ. 1945 ซึ่งเป็นที่มาของการเรียกชื่อทีมว่า เอซี มิลาน และใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน

เริ่มต้นความยิ่งใหญ่ในเวทียุโรป (ค.ศ. 1950–1970)

[แก้]

สโมสรกลับสู่ความยิ่งใหญ่ในการแข่งขันภายในประเทศในทศวรรษ 1950 ด้วยการนำของสามผู้เล่นตัวหลักชาวสวีเดนอย่าง กันนาร์ เกร็น, กุนนาร์ นอร์ดาห์ล และ นิลส์ ลีดโฮล์ม ถือเป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่สโมสรประสบความสำเร็จมากที่สุด พวกเขาชนะเลิศลีกสูงสุดได้ถึงสี่สมัยใน ค.ศ. 1951, 1955, 1957 และ 1959 รวมทั้งชนะเลิศรายการระดับทวีปที่มีชื่อเสียงในยุคนั้นอย่าง ลาติน คัพ ซึ่งเป็นการแข่งขันระดับนานาชาติสำหรับสโมสรต่าง ๆ ในยุโรปตะวันตกเฉียงใต้ ได้แก่ ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน และโปรตุเกส มิลานยังเป็นสโมสรแรกของอิตาลีที่ร่วมแข่งขันรายการสำคัญอย่างยูโรเปียนคัพซึ่งจัดแข่งขันครั้งแรกในฤดูกาล 1955–56 ก่อนจะเข้าชิงชนะเลิศครั้งแรกในอีกสองปีถัดมา แต่แพ้เรอัลมาดริด

เข้าสู่ทศวรรษ 1960 ถือเป็นจุดเริ่มต้นความยิ่งใหญ่ของหนึ่งในตำนานตลอดกาลอย่างจานนี ริเวรา[18] ซึ่งอยู่กับสโมสรยาวนานถึง 19 ฤดูกาลจนถึงช่วงที่เขาเกษียณตนเองจากการเล่นฟุตบอล โดยใน ค.ศ. 1961 เนเรโอ รอคโค ได้รับการแต่งตั้งให้มาคุมทีมและพาทีมชนะเลิศเซเรียอาในฤดูกาลแรกที่เข้ามา ตามด้วยการชนะเลิศฟุตบอลยุโรปสมัยแรกด้วยการเอาชนะเบนฟิกาในรอบชิงชนะเลิศยูโรเปียนคัพฤดูกาลต่อมา[19] และคว้าแชมป์สมัยที่สองในฤดูกาล 1968–69 ด้วยการชนะอาเอฟเซ อายักซ์ด้วยผลประตู 4–1 ตามด้วยแชมป์อินเตอร์คอนติเนนตัลคัพในปีนั้น ในทศวรรษนี้มิลานยังคว้าแชมป์โกปปาอิตาเลียสมัยแรกโดยเอาชนะปาโดวาใน ค.ศ. 1967 และยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพสองสมัยในฤดูกาล 1967–68 และ 1972–73[20]

สกูเดตโตสมัยที่ 10 และช่วงเวลาตกต่ำ (ค.ศ. 1970–1986)

[แก้]

ในช่วงทศวรรษ 1970 ฟุตบอลอิตาลีมีการประกาศว่าสโมสรที่ชนะเลิศฟุตบอลลีกสูงสุดหรือเซเรียอาครบ 10 สมัยจะได้รับดาวสกูเดตโตเป็นสัญลักษณ์ มิลานจบอันดับสองสามฤดูกาลติดต่อกันตั้งแต่ 1971–73 ก่อนจะคว้าแชมป์สมัยที่สิบได้ในฤดูกาล 1978–79 ซึ่งเป็นปีที่ตำนานอย่างริเวราเกษียณตนเอง และเป็นช่วงเริ่มต้นของอีกหนึ่งตำนานอย่างฟรันโก บาเรซี หนึ่งในผู้เล่นกองหลังที่ดีที่สุดตลอดกาล อย่างไรก็ตาม สโมสรต้องเข้าสู่ช่วงเวลาตกต่ำ โดยมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์อื้อฉาวในการล็อคผลการแข่งขันร่วมกับสโมสรอื่นอย่างอเวลีโน, ลัตซีโย, โบโลญญา 1909, เปรูจา, ปาร์แลโม และ ทารานโต สโมสรถูกลงโทษด้วยการปรับลดชั้นลงไปเล่นในลีกสองอย่างเซเรียบีเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แต่เลื่อนชั้นกลับมาได้ภายในฤดูกาลเดียวด้วยการชนะเลิศเซเรียบี แต่ด้วยผลงานย่ำแย่ มิลานจึงตกชั้นอีกครั้งในฤดูกาล 1981–82 แต่ก็เลื่อนชั้นกลับมาได้ในฤดูกาลเดียวอีกครั้ง เป็นการชนะเลิศเซเรียบีสองสมัยในรอบสามฤดูกาล และจบอันดับหกในเซเรียอาฤดูกาล 1983–84

ซิลวีโอ แบร์ลุสโกนี และยุคทองของสโมสร (ค.ศ. 1986–2012)

[แก้]
เมาโร ทัสซอตติ (ซ้ายล่าง) ถือถ้วยรางวัลยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกร่วมกับฟาบีโอ กาเปลโล ผู้จัดการทีม

ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1986 ซิลวีโอ แบร์ลุสโกนี นักธุรกิจชื่อดังเข้าควบคุมกิจการสโมสร และช่วยให้มิลานรอดพ้นจากภาวะเสี่ยงต่อการล้มละลาย เขาแต่งตั้งผู้จัดการทีมอย่าง อาร์ริโก ซาคคี และยุคนั้นเป็นยุคของสามประสานตำนานชาวดัตซ์อย่าง รืด คึลลิต, มาร์โก ฟัน บัสเติน และ ฟรังก์ ไรการ์ด ร่วมกับผู้เล่นตัวหลักอย่างบาเรซี, เปาโล มัลดีนี, อาเลสซันโดร กอสตากูร์ตา และ โรแบร์โต โดนาโดนี ภายใต้การคุมทีมของซาคคี เอซี มิลาน ชนะถ้วยรางวัลหลายรายการ เริ่มต้นด้วยชนะเลิศสกูเดตโตครั้งแรกในรอบเก้าปีในฤดูกาล 1987–88 ปีต่อมา มิลานชนะเลิศยูโรเปียนคัพสมัยที่สาม และเป็นครั้งแรกในรอบกว่าสองทศวรรษ ด้วยการเอาชนะสเตอัวบูคูเรสตีจากโรมาเนียในรอบชิงชนะเลิศ 4–0 และป้องกันแชมป์ได้ในฤดูกาลต่อมา โดยเอาชนะเบนฟิกาในรอบชิงชนะเลิศ 1–0 ชัยชนะในครั้งนั้น ทำให้มิลานเป็นสโมสรสุดท้ายที่ป้องกันแชมป์ได้ ก่อนที่สถิติจะถูกทำลายโดยเรอัลมาดริดใน ค.ศ. 2017[21] ทีมในยุคนั้นได้รับการขนานนามจากสื่ออิตาลีว่า immortal, (อิมอร์'เทิล) และได้รับการโหวตเลือกให้เป็นทีมที่ดีที่สุดตลอดกาลโดยนิตยสารฟุตบอลชื่อดัง เวิลด์ซอคเกอร์

ซาคคีอำลาทีมในปี 1991 และถูกแทนที่ด้วยฟาบีโอ กาเปลโล ผู้พามิลานครองความยิ่งใหญ่อย่างต่อเนื่อง ด้วยการคว้าแชมป์เซเรียอาอีกสามสมัยติดต่อกันระหว่างฤดูกาล 1992–94 โดยเฉพาะในฤดูกาล 1991-1992 ที่พวกเขาชนะเลิศลีกโดยไม้ทีมใด จากผลงานชนะ 22 นัด และเสมอ 12 นัด และแม้ว่ามิลานจะพ่ายต่อออแล็งปิกเดอมาร์แซย์จากฝรั่งเศส ในรอบชิงชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกฤดูกาล 1992–93 แต่ในปีต่อมา มิลานก็เอาชนะบาร์เซโลนาได้ในรอบชิงชนะเลิศ 4–0 ซึ่งเป็นหนึ่งในนัดการแข่งขันที่ดีที่สุดตลอดกาลของมิลาน ตามด้วยแชมป์เซเรียอาในฤดูกาล 1995–96 และกาเปลโลอำลาทีมไปคุมเรอัลมาดริดใน ค.ศ. 1996 แต่สโมสรยังฉลองวาระครบ 100 ปีการก่อตั้งทีมด้วยแชมป์เซเรียอาฤดูกาล 1998–99 ซึ่งเป็นแชมป์สมัยที่ 16

เปาโล มัลดีนี กัปตันทีมชูถ้วยรางวัลยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกฤดูกาล 2002–03
เอซี มิลาน ฉลองชัยชนะในรอบชิงชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกฤดูกาล 2006–07

มิลานยังครองความยิ่งใหญ่ได้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้การคุมทีมของอีกหนึ่งผู้จัดการทีมดังอย่าง การ์โล อันเชลอตตี ในทศวรรษ 2000 เริ่มต้นด้วยการชนะดวลจุดโทษคู่ปรับอย่างยูเวนตุสในรอบชิงชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกฤดูกาล 2002–03 หลังเสมอกัน 0–0[22] คว้าแชมป์สมัยที่หก ตามด้วยแชมป์เซเรียอาฤดูกาล 2003–04 ด้วยการมีคะแนนเหนือทีมรองแชมป์อย่างโรมาถึง 11 คะแนน แต่สโมสรต้องพ่ายการดวลจุดโทษแก่ลิเวอร์พูลทีมดังจากอังกฤษในรอบชิงชนะเลิศ ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก นัดชิงชนะเลิศ 2005 แม้จะออกนำไปก่อนถึง 3–0 แต่จบลงด้วยผลเสมอ 3–3 การแข่งขันครั้งนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในนัดชิงชนะเลิศครั้งประวัติศาสตร์ ที่อยู่ในความทรงจำของแฟนฟุตบอลทั่วโลก แต่มิลานก็แก้มือด้วยเอาชนะลิเวอร์พูล 2–1 ในอีกสองปีต่อมาคว้าแชมป์สมัยที่ 7[23]

อันเชลอตตีพามิลานชนะเลิศฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลกสมัยแรกในปี 2007 เอาชนะโบกายูนิออร์ส 4–2 ก่อนที่เขาจะลาทีมใน ค.ศ. 2009 เพื่อไปคุมเชลซี โดยเขาอำลาทีมไปด้วยสถิติการเป็นผู้จัดการทีมที่พามิลานชนะมากที่สุดเป็นอันดับสองตลอดกาลจำนวน 420 นัด[24] ในทศวรรษนี้ มิลานมีผู้เล่นระดับโลกเป็นแกนหลักหลายราย อาทิ อันดรีย์ แชวแชนกอ, อันเดรอา ปีร์โล, แกลเรินส์ เซดอร์ฟ, อาเลสซันโดร เนสตา, กาก้า, กาฟู และ ฟีลิปโป อินซากี

สโมสรถูกตั้งข้อหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ล็อคผลการแข่งขัน (กัลโชโปลี) อีกครั้ง สหพันธ์ฟุตบอลอิตาลีมีหลักฐานเพียงพอที่จะตั้งข้อหาต่อรองประธานสโมสรอย่างอาดริอาโน กัลลีอานี บทลงโทษเบื้องต้นคือการตัด 15 คะแนนและตัดสิทธิ์แข่งขันฟุตบอลยุโรปฤดูกาล 2006–07 อย่างไรก็ตาม สโมสรได้ยื่นอุทธรณ์ซึ่งได้รับการลดโทษเหลือการตัดคะแนน 8 คะแนน และได้แข่งขันฟุตบอลยุโรป ในช่วงเวลาที่สโมสรถูกลงโทษจากเหตุการณ์กัลโชโปลี เป็นช่วงที่คู่อริอย่างอินเตอร์ครองความยิ่งใหญ่ในประเทศ ด้วยการคว้าแชมป์เซเรียอาห้าสมัยติดต่อกัน แต่ด้วยการเซ็นสัญญากับผู้เล่นอย่าง ซลาตัน อิบราฮีมอวิช, โรบินยู และ อาเลชังดรี ปาตู ร่วมกับผู้เล่นมีประสบการณ์อีกหลายราย ส่งผลให้มิลานกลับมาคว้าแชมป์ลีกได้ในฤดูกาล 2010–11 ถือเป็นแชมป์ครั้งแรกในรอบเจ็ดฤดูกาล และเป็นสมัยที่ 18

เปลี่ยนเจ้าของทีม และตกต่ำอีกครั้ง (ค.ศ. 2012–2019)

[แก้]
เสื้อของเปาโล มัลดีนี, กาก้า และ ซลาตัน อิบราฮีมอวิช ในพิพิธภัณฑ์สนามซานซีโร

หลังการคว้าแชมป์เซเรียอา ฤดูกาล 2010–11 สโมสรมีปัญหาทั้งภายในและนอกสนาม กอปรกับผลงานที่ตกต่ำลง โดยไม่สามารถทำอันดับไปแข่งขันฟุตบอลยุโรปได้เลยหลายปีติดต่อกัน ในช่วงเวลานี้ ถ้วยรางวัลเดียวของสโมสรคือซูแปร์โกปปาอีตาเลียนา 2016 จากการดวลจุดโทษชนะยูเวนตุส มิลานในขณะนั้นคุมทีมโดยวินเชนโซ มอนเตลลา

ในวันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ. 2016 มีการลงนามเบื้องต้นร่วมกับบริษัทด้านการลงทุนของจีนอย่าง สปอร์ต อินเวสต์เมนท์ ลักซ์ นำโดย หลี่ หย่งหง โดยเป็นการขายหุ้นสโมสรกว่า 99% ในราคาประมาณ 520 ล้านยูโร รวมถึงการปรับปรุงการเงินของสโมสรด้วยการชำระหนี้จำนวน 220 ล้านยูโร การทำสัญญาเสร็จสิ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 2017 โดยบริษัทการลงทุนของสหรัฐได้อนุมัติเงินกู้จำนวน 303 ล้านยูโรให้แก่หลี่[25] อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 2018 หลี่ล้มเหลวในการดำเนินตามแผนการชำระคืนเงินกู้ของเขา โดยปฏิเสธที่จะชำระเงินจำนวน 32 ล้านยูโรให้ตรงเวลาเพื่อรีไฟแนนซ์หนี้เงินกู้จำนวน 303 ล้านยูโรที่เป็นหนี้กับบริษัทของสหรัฐ เป็นผลให้ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2018 หลี่ถูกถอดชื่อจากการเป็นเจ้าของกิจการร่วมโดย Rossoneri Sport Inv. Lux.[26][27]

มอนเตลลาถูกปลดจากตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2017 จากผลงานย่ำแย่และถูกแทนที่โดยเจนนาโร กัตตูโซ อดีตผู้เล่นของสโมสร[28] มิลานผ่านเข้าไปเล่นในยูฟ่ายูโรปาลีก ฤดูกาล 2018–19 แต่ถูกตัดสิทธิ์จากการแข่งขันฟุตบอลยุโรปจากการละเมิดกฎการเงินไฟแนนเชียล แฟร์ เพลย์[29] สโมรสรอุทธรณ์ต่อศาลอนุญาโตตุลาการการกีฬา และได้รับการยกเลิกโทษดังกล่าวในวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 2018[30] ในการคุมทีมเต็มฤดูกาลครั้งแรกของกัตตูโซ เขาพาทีมมีผลงานโดดเด่นด้วยการทำอันดับติด 4 อันดับแรกเป็นส่วนมากตลอดทั้งฤดูกาล แต่แม้ว่าสโมสรจะชนะการแข่งขันสี่นัดสุดท้าย พวกเขาก็พลาดการทำอันดับไปแข่งขันยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกไปเพียงคะแนนเดียว[31] ส่งผลให้กัตตูโซลาออก[32] และแทนที่โดย มาร์โก เกียมเปาโล และสโมสรถูกตัดสิทธิ์จากการแข่งขันรายการยุโรปอย่างเป็นทางการอีกครั้ง จากการทำผิดกฎไฟแนนเชียล แฟร์ เพลย์ ในช่วงฤดูกาล 2014–2017 และ 2015–2018[33]

ค.ศ. 2019–ปัจจุบัน

[แก้]
ผู้สนับสนุนของสโมสร ออกมาฉลองหลังทีมคว้าแชมป์เซเรียอาสมัยที่ 19 ณ มหาวิหารดูโอโม อาสนวิหารมิลาน

เกียมเปาโลถูกปลดหลังคุมทีมได้เพียง 4 เดือน จากการพาทีมแพ้การแข่งขัน 4 จาก 7 นัดแรก สเตฟาโน ปิโอลี เข้ามาคุมทีมต่อ และภายหลังฟุตบอลลีกกลับมาแข่งขันต่อหลังจากยุติไปในช่วงไวรัสโคโรนา 2019 มิลานมีผลงานยอดเยี่ยมไม่แพ้ทีมใด 10 นัดติดต่อกัน ซึ่งเป็นการชนะได้ถึง 7 นัดรวมทั้งชนะทีมใหญ่อย่างโรมา ยูเวนตุส และลัตซีโย ส่งผลให้ผู้บริหารล้มเลิกความตั้งใจในการเซ็นสัญญากับรัล์ฟ รังนิค และขยายสัญญากับปีโอลีออกไปอีกสองปีแทน[34] ปีโอลีพาทีมคว้ารองแชมป์เซเรียอาในฤดูกาล 2020–21 เป็นอันดับที่ดีที่สุดในรอบ 9 ปี ได้สิทธิ์กลับไปแข่งขันยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ฤดูกาล 2021–22 เป็นครั้งแรกในรอบ 7 ฤดูกาลหลังสุด

มิลานคว้าแชมป์เซเรียอาสมัยที่ 19 ในฤดูกาล 2021–22 โดยต้องตัดสินกันในนัดสุดท้ายของฤดูกาล ถือเป็นแชมป์ครั้งแรกในรอบ 11 ปี ผู้เล่นตัวหลักอย่าง ราฟาแอล ลีเยา คว้ารางวัลผู้เล่นทรงคุณค่าของลีก นอกจากนี้ ไมค์ แมญ็อง และ ปีโอลี ได้รับรางวัลผู้รักษาประตูยอดเยี่ยมและผู้จัดการทีมยอดเยี่ยมตามลำดับ[35] ในฤดูกาลต่อมา พวกเขาแพ้อินเตอร์ในซูแปร์โกปปาอีตาเลียนา 2022 ด้วยผลประตู 0–3 และเข้าถึงรอบรองชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกฤดูกาล 2022–23 แต่ก็แพ้อินเตอร์ด้วยผลประตูรวมสองนัด 0–3 และจบอันดับ 4 ในเซเรียอา ต่อมาใน ฤดูกาล 2023–24 มิลานจบด้วยตำแหน่งรองแชมป์ด้วยคะแนนตามหลังอินเตอร์ถึง 19 คะแนน และตกรอบฟุตบอลถ้วยทุกรายการส่งผลให้สโมสรประกาศปลดปิโอลีเมื่อสิ้นสุดฤดูกาล และถูกแทนที่โดยเปาลู ฟอนเซกา ในฤดูกาล 2024–25 เขาอยู่ในตำแหน่งได้ไม่ถึง 6 เดือน และถูกปลดในวันที่ 29 ธันวาคม ค.ศ. 2024 โดยพามิลานอยู่ในอันดับ 8 ของตาราง แซร์ฌียู กงไซเซา เข้ามาคุมทีมต่อ[36] กงไซเซาคุมทีมนัดแรกในวันที่ 3 มกราคม ค.ศ. 2025 ซึ่งมิลานเอาชนะยูเวนตุส 2–1 ในรอบรองชนะเลิศซูแปร์โกปปาอีตาเลียนา ฤดูกาล 2024[37] และมิลานคว้าแชมป์ได้เป็นสมัยที่ 8 จากการเอาชนะอินเตอร์ในรอบชิงชนะเลิศ 3–2 แม้จะตามหลังไปก่อน 0–2[38] กงไซเซาถือเป็นผู้จัดการทีมที่พาสโมสรคว้าถ้วยรางวัลได้เร็วที่สุดจากการคุมทีมเพียง 2 นัด

สีและตราสัญลักษณ์

[แก้]
ตราอาร์ม เมืองมิลาน ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของสโมสรตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงประมาณทศวรรษ 1940

สโมสรมีสีประจำทีมคือสีแดงและดำ ซึ่งใข้เป็นสีหลักมาแทบจะตลอดในหน้าประวัติศาสตร์ตั้งแต่การก่อตั้ง เฮอร์เบิร์ต คิลปิน กัปตันทีมคนแรกและหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสโมสรเป็นผู้เลือกสีดังกล่าว เพื่อสื่อถึงความฮึกเหิมและเป็นการข่มขวัญคู่ต่อสู้ จึงเป็นที่มาของชื่อเล่นสโมสรที่เรียกว่า Rossoneri

อีกชื่อหนึ่งที่เป็นที่นิยมเรียกสโมสรคือ Devil สื่อถึงฉายาปีศาจแดง-ดำ ตามธรรมเนียมในฟุตบอลอิตาลี สโมสรจะได้รับมอบดาวเหนือโลโก้ทีม หลังจากสโมสรคว้าแชมป์ลีกได้ครบ 10 สมัย ใน ค.ศ. 1979 จึงได้รับดาวบนโลโก้อย่างเป็นทางการ ตามปกติแล้ว โลโก้ของของสโมสรจะแสดงธงประจำเมืองมิลานซึ่งแต่เดิมเป็นธงของแอมโบรสแห่งมิลานเสมอ โดยจะอยู่ถัดจากแถบสีแดงและสีดำ ตราสัญลักษณ์สมัยใหม่ที่ใช้ในปัจจุบันแสดงถึงสีของสโมสรและธงของ Comune di Milano โดยมีตัวย่อ ACM ที่ด้านบนและปีก่อตั้ง (1899) ที่ด้านล่าง[39] นับตั้งแต่ก่อตั้งสโมสร ชุดแข่งสโมสรยังไม่ปรากฎตราสัญลักษณ์ใด ๆ นอกจากธงประจำเมืองมิลาน จนเริ่มมีการใช้โลโก้รูปปีศาจในทษวรรษ 1980 ตราสโมสรปรากฏอย่างชัดเจนบนแถบเสื้อการแข่งขันในปี 1995–96 และเป็นต้นแบบที่ใช้มาถึงปัจจุบัน

นับตั้งแต่ก่อตั้ง ชุดเหย้าของเอซี มิลาน มักประกอบด้วยเสื้อเชิ้ตลายทางสีแดงและสีดำ รวมกับกางเกงขาสั้นสีขาวและถุงเท้าสีดำ ในช่วงหลายทศวรรษซึ่งแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงจนถึงปัจจุบัน ในช่วงทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 20 ชุดแข่งชุดแรกของมิลานเป็นเสื้อเชิ้ตผ้าไหมเรียบง่ายที่มีแถบบาง ๆ โดยมีตราประจำเมืองมิลานที่เย็บบริเวณหน้าอก ตั้งแต่ปี 1910 เป็นต้นมา ลายทางได้ขยายใหญ่ขึ้นตามรูปแบบเดิมซึ่งยังคงไม่เปลี่ยนแปลงจนถึงปลายทศวรรษ 1950 ระหว่างฤดูกาล 1979–80 และ 1980–81 เสื้อแข่งของเอซี มิลาน มีการเพิ่มนามสกุลของผู้เล่นไว้เหนือตัวเลขเป็นครั้งแรกในฟุตบอลอิตาลี[40] ในยุคแรกของการบริหารทีมโดย ซิลวีโอ แบร์ลุสโกนี มีการปรับลายทางบนเสื้อให้เป็นขนาดกลาง และสีของถุงเท้าก็เปลี่ยนเป็นสีขาว โดยเป็นสีเดียวกับกางเกงขาสั้นซึ่งต้องการสื่อถึงความทันสมัยและดูมีระดับมากขึ้น และมีการปรับโทนสีแดงและดำบนเสื้อให้มีความโดดเด่นยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถเห็นได้จากระยะไกลและในโทรทัศน์

ชุดเยือนของมิลานมักเป็นสีขาวล้วน บางครั้งตกแต่งด้วยการเฉดสีและแถบหลายประเภท โดยส่วนใหญ่จะเป็นแถบสีแดงและดำแนวตั้งหรือแนวนอน[41] ซึ่งชุดสีขาวเป็นสีที่กลุ่มผู้สนับสนุนยกย่องว่าเป็นสีนำโชคให้สโมสรในรอบชิงชนะเลิศฟุตบอลยุโรป โดยมิลานชนะการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศยูโรเปียนคัพและยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกได้ถึงหกจากแปดครั้ง โดยแพ้เพียงอาเอฟเซ อายักซ์ และ ลิเวอร์พูลในปี 1995 และ 2005 ตามลำดับ และสโมสรชนะรอบชิงชนะเลิศรายการนี้จากการใส่ชุดเหย้าสีแดงและดำได้เพียงหนึ่งจากสามครั้ง

ผู้ติดตาม

[แก้]

เอซี มิลาน เป็นหนึ่งในทีมฟุตบอลที่มีผู้ติดตามมากที่สุดในประเทศและในโลก จากผลสำรวจโดยสื่อนประเทศอย่าง la Repubblica นับตั้งแต่ก่อตั้ง กลุ่มผู้สนับสนุนมักมาจากชนชั้นแรงงาน ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเล่นสโมสรว่า ‘คาสเซียวิด’ (Casciavid) ซึ่งแปลว่า ‘ไขควง’ มาจากการที่พวกเขาเป็นชนชั้นแรงงาน ต้องพกอุปกรณ์อย่างไขควงหรือประแจเป็นเครื่องมือในการทำงาน และเนื้อตัวมักเปรอะเปื้อนคราบน้ำมันจากโรงงานอุตสาหกรรมเสมอ ๆ[42] ในขณะที่ผู้สนับสนุนของทีมคู่แข่งอย่างอินเตอร์มักมาจากชนชั้นกลางไปจนถึงผู้มีฐานะร่ำรวย กลุ่มผู้สนับสนุนของมิลานยังเป็นหนึ่งในกลุ่มอุลตร้าที่เก่าแก่ที่สุดกลุ่มหนึ่งภายใต้ชื่อ Fossa dei Leoni[43] กลุ่มอุลตร้าของสโมสรมีชื่อเรียกในปัจจุบันว่า Brigate Rossonere กลุ่มอุลตร้าของสโมสรไม่เคยมีส่วนร่วมกับกิจกรรมหรือการเคลื่อนไหวทางการเมืองในเหตุการณ์ใดเป็นพิเศษ แต่สื่อมักจะโยงพวกเขาว่าเป็นตัวแทนสัญลักษณ์ของการเมืองฝ่ายซ้าย จนกระทั่งการมาถึงของเจ้าของทีมอย่าง แบร์ลุสโกนี ทำให้แนวคิดนี้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

จากผลสำรวจใน ค.ศ. 2010 เอซี มิลาน เป็นสโมสรจากอิตาลีที่มีผู้ติดตามและสนับสนุนมากที่สุดในทวีปยุโรป และมากเป็นอันดับเจ็ดของโลกด้วยผู้ติดตามกว่า 18.4 ล้านคน สโมสรมีจำนวนผู้ชมการแข่งขันเฉลี่ยเป็นอันดับที่ 13 ในบรรดาสโมสรยุโรปฤดูกาล 2019–20[44]

สโมสรคู่อริ

[แก้]
อาดรียานู ขณะโหม่งทำประตูในการแข่งขันแดร์บีเดลลามาดอนนีนา 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2009

สโมสรหลักที่ถือเป็นคู่แข่งของมิลานคือเพื่อนบ้านอย่างอินเตอร์ การพบกันของสองสโมสรมีชื่อการแข่งขันว่า แดร์บีเดลลามาดอนนีนา โดยเป็นชื่อที่มีที่มาจากมารีย์ (มารดาพระเยซู) ซึ่งมีรูปปั้นประดิษฐานอยู่ที่อาสนวิหารมิลาน หนึ่งในสถานที่ ๆ เป็นที่รู้จักมากที่สุดในประเทศ ทั้งสองทีมพบกันครั้งแรกในรอบชิงชนะเลิศฟุตบอลถ้วยใน ค.ศ. 1908 ซึ่งเป็นรายการท้องถิ่นที่จัดขึ้นในสวิตเซอร์แลนด์ โดยมิลานเอาชนะไปด้วยผลประตู 2–1[45] ความเป็นอริของสองสโมสรเข้มข้นขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในทศวรรษ 1960 เมื่อทั้งสองทีมแย่งกันครองความยิ่งใหญ่ และประสบความสำเร็จทั้งในการแข่งขันในและต่างประเทศ ในช่วงเวลานั้น สองทีมคว้าแชมป์ลีกสูงสุดรวมกันห้าครั้ง และถ้วยยูโรเปียนคัพอีกสี่ใบ นอกจากนี้ ผู้จัดการทีมทั้งสองฝ่ายอย่าง เนเรโอ รอคโค และ เอเลนิโอ เอร์เรรา ยังเป็นที่รู้จักในยุคนั้นจากการนำระบบคาเตนัคโช ซึ่งเป็นระบบแทคติกที่เน้นเกมรับมาใช้ในฟุตบอลอิตาลี ทั้งสองทีมยังมีผู้เล่นระดับโลกอย่างจานนี ริเวรา, โจวันนี ตราปัตโตนี, โฌแซ อัลตาฟีนี (เอซี มิลาน), ซานโดร แมซโซลา, จาชินโต ฟัคเค็ตติ และ ลุยส์ ซัวเรซ (อินเตอร์)

การแข่งขันมักเต็มไปด้วยความดุเดือดทั้งบรรยากาศในและนอกสนาม มักปรากฎพลุหรือป้ายแบนเนอร์ในสนามรวมถึงการใช้พลุแฟลร์ซึ่งบางครั้งนำไปสู่สถานการณ์ที่รุนแรง และมีกลุ่มผู้สนับสนุนถูกลงโทษบ่อยครั้ง เช่น การแข่งขันนัดที่สองของรอบก่อนรองชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกฤดูกาล 2004–05 ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2005 โดยผู้สนับสนุนของอินเตอร์ได้โยนพลุแฟร์ลงมาโดนไหล่ของดีดา ผู้รักษาประตูมิลาน[46]

การแข่งขันกับยูเวนตุสมีความเข้มข้นไม่แพ้กัน ทั้งสองทีมถือเป็นสองสโมสรที่ประสบความสำเร็จสูงสุดและมีจำนวนผู้ติดตามมากที่สุดในอิตาลี โดยมิลานและยูเวนตุสมักแย่งแชมป์เซเรียอาและฟุตบอลถ้วยในประเทศบ่อยครั้งนับตั้งแต่ทศวรรษ 1950 โดยมิลานถือเป็นอีกหนึ่งทีมนอกเหนือจากอินเตอร์ที่เคยชนะยูเวนตุสในการแข่งขันนัดสำคัญ โดยในเซเรียอาฤดูกาล 1971–72 และ 1972–73 ยูเวนตุสคว้าแชมป์ไปโดยมีคะแนนมากกว่ามิลานเพียงแค่แต้มเดียว ต่อมาในทศวรรษ 1990 หลังจากยุคความยิ่งใหญ่ของนาโปลีและมาราโดนา ทั้งสองทีมผลัดกันคว้าแชมป์เซเรียอาได้ถึงแปดจากสิบฤดูกาล ซึ่งในช่วงนั้นเป็นยุคที่ทั้งสองทีมเต็มไปด้วยผู้เล่นระดับโลก การแข่งขันครั้งสำคัญในฟุตยอลยุโรปที่ชัดเจนที่สุดในทศวรรษ 2000 คือรอบชิงชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก โดยมิลานเอาชนะได้จากการยิงลูกโทษหลังเสมอกันด้วยผลประตู 0–0 คว้าแชมป์เป็นสมัยที่หก

สโมสรอื่น ๆ ที่เป็นอริกับมิลาน ได้แก่ เจนัว ซึ่งทั้งสองทีมพบแย่งความสำเร็จในฟุตบอลลีกสูงสุดในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 รวมถึงฟีออเรนตินา, อาตาลันตา และ นาโปลี

เกียรติประวัติ

[แก้]
ถ้วยรางวัลของสโมสรจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์มอนโดมิลาน

มิลานเป็นหนึ่งในสโมสรที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในอิตาลี พวกเขาชนะเลิศการแข่งขันในประเทศถึง 34 รายการ อีกทั้งยังเคยต่อยอดความสำเร็จในระดับทวีป มิลานได้รับสิทธิ์ในการติดดาวบนชุดแข่งขันเพื่อเป็นเกียรติแก่สโมสรที่ชนะเลิศสกูเดตโตมาแล้วอย่างน้อย 10 สมัย นอกจากนี้ สโมสรยังประดับตราแสดงจำนวนครั้งที่ชนะเลิศถ้วยระดับทวีปบนแขนเสื้อเนื่องจากพวกเขาชนะเลิศยูโรเปียนคัพมากกว่า 5 สมัย[47]

เกียรติประวัติของเอซี มิลาน
ประเภท การแข่งขัน ชนะเลิศ (สมัย) ฤดูกาล
ประเทศอิตาลี ระดับประเทศ เซเรียอา 19 1901, 1906, 1907, 1950–51, 1954–55, 1956–57, 1958–59, 1961–62, 1967–68, 1978–79, 1987–88, 1991–92, 1992–93, 1993–94, 1995–96, 1998–99, 2003–04, 2010–11, 2021–22
เซเรียบี 2 1980–81, 1982–83
โกปปาอีตาเลีย 5 1966–67, 1971–72, 1972–73, 1976–77, 2002–03
ซูแปร์โกปปาอีตาเลียนา 8 1988, 1992, 1993, 1994, 2004, 2011, 2016, 2024
ยุโรป ระดับทวีปยุโรป ยูโรเปียนคัพ/ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 7 1962–63, 1968–69, 1988–89, 1989–90, 1993–94, 2002–03, 2006–07
ยูโรเปียนคัพวินเนอร์สคัพ 2 1967–68, 1972–73
ยูโรเปียนซูเปอร์คัพ / ยูฟ่าซูเปอร์คัพ 5s 1989, 1990, 1994, 2003, 2007
โลก ระดับโลก อินเตอร์คอนติเนนตัลคัพ 3s 1969, 1989, 1990
ฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก 1 2007
  •       ชนะเลิศมากที่สุด
  • s ชนะเลิศมากที่สุดร่วมกัน

ผู้เล่นชุดปัจจุบัน

[แก้]
ณ วันที่ 31 กรกฎาคม ค.ศ. 2024[48]

หมายเหตุ: ธงชาติที่ปรากฏบ่งบอกให้ทราบว่าผู้เล่นคนนั้นสามารถเล่นให้กับชาติใดตามกฎของฟีฟ่าตามความเหมาะสม เพราะผู้เล่นบางคนอาจถือสองสัญชาติ

เลข ตำแหน่ง สัญชาติ ผู้เล่น
2 DF ประเทศอิตาลี ดาวีเด คาลาเบรีย (กัปตันทีม)
4 DF แอลจีเรีย อิสมาเอล เบนนาเซอร์
7 FW ประเทศสเปน อัลบาโร โมราตา
8 MF ประเทศอังกฤษ รูเบน ลอฟตัส-ชีก
9 FW เซอร์เบีย ลูกา ยอวิช
10 FW ประเทศโปรตุเกส ราฟาแอล ลีเยา
11 MF สหรัฐอเมริกา คริสเตียน พะลิซิก
14 MF ประเทศเนเธอร์แลนด์ ทิยานี ไรน์เดอร์ส
16 GK ประเทศฝรั่งเศส ไมค์ เมญอง
17 FW ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โนอาห์ โอคาฟอร์
18 MF ประเทศอิตาลี เควิน เซโรลี
19 DF ประเทศฝรั่งเศส ธีโอ เอร์นองเดซ (รองกัปตันทีม)
20 DF ประเทศสเปน อเล็กซ์ จิเมเนซ
เลข ตำแหน่ง สัญชาติ ผู้เล่น
21 FW ไนจีเรีย ซามูเอล ชุควูเซ
22 DF ประเทศบราซิล เอเมอร์สัน
23 DF ประเทศอังกฤษ ฟีกาโย โทโมรี
24 DF ประเทศอิตาลี อาเลสซันโดร โฟลเรนซี
28 DF ประเทศเยอรมนี มาลิค เทียว
29 MF ประเทศฝรั่งเศส ยูซุฟ ฟอฟานา
31 DF เซอร์เบีย สตราฮินยา ปาฟโลวิช
32 DF ประเทศอังกฤษ ไคล์ วอล์กเกอร์ (ยืมตัวจาก แมนเชสเตอร์ซิตี)
42 DF ประเทศอิตาลี ฟีลิปโป แตร์รัชชาโน
46 DF ประเทศอิตาลี มัตเตโอ กับเบีย
57 GK ประเทศอิตาลี มาร์โก สปอร์ติเอลโล
80 MF สหรัฐอเมริกา ยูนุส มูซาห์
90 FW ประเทศอังกฤษ แทมมี อับราฮัม

ทำเนียบประธานสโมสร

[แก้]
เปาโล สกาโรนี ประธานสโมสรคนปัจจุบัน
 
ปี ชื่อประธานสโมสร
1899-1909 อัลเฟรด เอ็ดเวิร์ดส์
1909 จานนิโน คัมเปริโอ
1909-1928 ปิเอโร ปิเรลลี
1928-1929 ลุยจิ ราวาสโก
1929-1933 มาริโอ แบร์นัซโซลี
1933-1935 ลุยจิ ราวาสโก
1935-1936 ปิเอโตร อันโนนี
1936-1939 เอมิลิโอ โคลอมโบ
1939-1940 อาคิลเล อินแวร์นิซซี
1940-1944 อุมแบร์โต ตราบัตโตนี
1944-1945 อันโตนิโอ บูซินี
1945-1954 อุมแบร์โต ตราบัตโตนี
1954-1963 อันเดรีย ริซโซลี
1963-1965 เฟลิเซ ริวา
1965-1966 เฟเดริโก ซอร์ดิลโล
 
ปี ชื่อประธานสโมสร
1966-1967 ลุยจิ คาร์ราโร
1967-1971 ฟรังโก คาร์ราโร
1971-1972 เฟเดริโก ซอร์ดิลโล
1972-1975 อัลบิโน บูติชคี
1975-1976 บรูโน ปาร์ดี
1976-1977 วิตตอริโอ ดุยนา
1977-1980 เฟลิเซ โคลอมโบ
1980-1982 กาเอตาโน โมรัซโซนี
1982-1986 จูเซ็ปเป ฟารินา
1986 โรซาริโอ โล แวร์เด
1986-2004 ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี
2004-2006 คณะบอร์ดบริหาร
2006-2008 ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี
2008-2012 คณะบอร์ดบริหาร
2012-2017 ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี
2017 Li Yonghong
2018– เปาโล สกาโรนี

ทำเนียบผู้จัดการทีม

[แก้]
 
ปี ชื่อผู้จัดการทีม
1900-1906 ประเทศอังกฤษ เฮอร์เบิร์ท คิลพิน
1906-1907 ประเทศอิตาลี ดานิเอเล่ อันเจโลนี่
1907-1911 ประเทศอิตาลี จานนิโน่ คัมเปริโอ้
1911-1912 คณะบอร์ดบริหาร
1912-1913 ประเทศอิตาลี ปิเอโร่ เปเวเรลลี่
1913-1915 คณะบอร์ดบริหาร
1915-1916 ประเทศอิตาลี กุยโด้ โมด้า
1916-1918 ไม่มีผู้จัดการทีม
1918-1919 คณะบอร์ดบริหาร
1919-1921 ประเทศอิตาลี กุยโด้ โมด้า
1921-1922 ไม่มีผู้จัดการทีม
1922-1924 ประเทศออสเตรีย เฟอร์ดี้ ออปเปนไฮม์
1924-1926 ประเทศอิตาลี วิตตอริโอ้ ปอซโซ่
1926 ประเทศอิตาลี กุยโด้ โมด้า
1926-1928 ประเทศอังกฤษ เฮอร์เบิร์ต เบอร์เกสส์
1928-1931 ประเทศออสเตรีย เองเกิลเบิร์ต โคนิก
1931-1933 ประเทศฮังการี ยอสเซฟ บานาส
1933-1934 ประเทศฮังการี ยอสเซฟ วิโอล่า
1934-1936 ประเทศอิตาลี อดอลโฟ่ บาลอนชิเอรี่
1936-1937 ประเทศอังกฤษ วิลเลี่ยม การ์บัตต์
1937-1938 ประเทศออสเตรีย เฮอร์มันน์ เฟลส์เนอร์
ประเทศฮังการี ยอสเซฟ บานาส
1938 ประเทศฮังการี ยอสเซฟ บานาส
1938-1940 ประเทศฮังการี ยอสเซฟ วิโอล่า
1940-1941 ประเทศอิตาลี กุยโด้ อาร่า
ประเทศอิตาลี อันโตนิโอ บูซินี่
 
ปี ชื่อผู้จัดการทีม
1941-1943 ประเทศอิตาลี มาริโอ้ มัญญอซซี่
1943-1945 ประเทศอิตาลี จูเซ็ปเป้ ซานตากอสติโน่
1945-1946 ประเทศอิตาลี อดอลโฟ่ บาลอนชิเอรี่
1946-1949 ประเทศอิตาลี จูเซ็ปเป้ บิโกญโญ่
1949-1952 ประเทศฮังการี ลายอส ซีซเล่อร์
1952 ประเทศสวีเดน กุนน่าร์ เกร็น
1952-1953 ประเทศอิตาลี มาริโอ้ สเปโรเน่
1953-1954 ประเทศฮังการี เบล่า กุตต์มัน
1954 ประเทศอิตาลี อันโตนิโอ บูซินี่
1954-1956 อุรุกวัย เอคตอร์ ปูริเชลลี่
1956-1960 ประเทศอิตาลี จูเซ็ปเป้ วิอานี่
1960-1961 ประเทศอิตาลี เปาโล โตเดสคินี่
1961-1963 ประเทศอิตาลี เนเรโอ รอกโก
1963-1964 อาร์เจนตินา หลุยส์ คาร์นิญ่า
1964-1966 ประเทศสวีเดน นิลส์ ลีดโฮล์ม
1966 ประเทศอิตาลี โจวานนี่ คัตตอซโซ่
1966-1967 ประเทศอิตาลี อาร์ตูโร่ ซิลเวสตรี้
1967-1972 ประเทศอิตาลี เนเรโอ รอกโก
1972-1974 ประเทศอิตาลี เชซาเร่ มัลดินี่
1974 ประเทศอิตาลี โจวานนี่ ตราปัตโตนี่
1974-1975 ประเทศอิตาลี กุสตาโว่ จาญโญนี่
1975 ประเทศอิตาลี เนเรโอ รอกโก
1975-1976 ประเทศอิตาลี เปาโล บาริซอน
1976 ประเทศอิตาลี โจวานนี่ ตราปัตโตนี่
1976-1977 ประเทศอิตาลี จูเซ็ปเป้ มาร์คิโอโร่
 
ปี ชื่อผู้จัดการทีม
1977 ประเทศอิตาลี เนเรโอ รอกโก
1977-1979 ประเทศสวีเดน นิลส์ ลีดโฮล์ม
1979-1981 ประเทศอิตาลี มัสซิโม่ จาโคมินี่
1981 ประเทศอิตาลี อิตาโล่ กัลบิอาติ
1981-1982 ประเทศอิตาลี ลุยจิ ราดิเซ่
1982 ประเทศอิตาลี อิตาโล่ กัลบิอาติ
ประเทศอิตาลี ฟรานเชสโก้ ซากัตติ
1982-1984 ประเทศอิตาลี อิลาริโอ้ คัสตาญเญ่อร์
1984 ประเทศอิตาลี อิตาโล่ กัลบิอาติ
1984-1987 ประเทศสวีเดน นิลส์ ลีดโฮล์ม
1987 ประเทศอิตาลี ฟาบีโอ กาเปลโล
1987-1991 ประเทศอิตาลี อาร์ริโก ซาคคี
1991-1996 ประเทศอิตาลี ฟาบีโอ กาเปลโล
1996 อุรุกวัย ออสก้าร์ ตาบาเรซ
1996-1997 ประเทศอิตาลี จอร์โจ้ โมรินี่
1997 ประเทศอิตาลี อาร์ริโก ซาคคี
1997-1998 ประเทศอิตาลี ฟาบีโอ กาเปลโล
1998-2001 ประเทศอิตาลี อัลแบร์โต ซักเกโรนี
2001 ตุรกี ฟาทีห์ เทริม
2001 ประเทศอิตาลี เชซาเร่ มัลดินี่
ประเทศอิตาลี เมาโร่ ตัสซอตติ
2001-2009 ประเทศอิตาลี คาร์โล อันเชลอตตี
2009-2010 ประเทศบราซิล เลโอนาร์ดู
2010-2014 ประเทศอิตาลี มัสซีมีเลียโน อัลเลกรี
2014 ประเทศเนเธอร์แลนด์ แกลเรินส์ เซดอร์ฟ
2014–2015 ประเทศอิตาลี ฟิลิปโป อินซากี
2015–2016 เซอร์เบีย ซินิชา มิฮายลอวิช
2016 ประเทศอิตาลี คริสเตียน บล็อคคี
2016–2017 ประเทศอิตาลี วินเชนโซ มอนเตลลา
2017–2019 ประเทศอิตาลี เจนนาโร กัตตูโซ
2019 ประเทศอิตาลี มาร์โก จิอัมเปาโล
2019–2024 ประเทศอิตาลี สเตฟาโน ปีโอลี
2024 ประเทศโปรตุเกสเปาโล ฟอนเซกา
2024– ประเทศโปรตุเกสแซร์ฌียู กงไซเซา

ทำเนียบกัปตันทีม

[แก้]
 
ปี ชื่อกัปตันทีม
1899-1908 ประเทศอังกฤษ เฮอร์เบิร์ต คิลปิน
1908-1909 ประเทศอิตาลี เกโรลาโม ราดิเซ
1909-1910 ประเทศอิตาลี กุยโด โมดา
1910-1911 ประเทศเบลเยียม มักซ์ โทเบียส
1911-1913 ประเทศอิตาลี จูเซ็ปเป ริซซี
1913-1915 ประเทศเบลเยียม หลุยส์ ฟาน แฮช
1915-1916 ประเทศอิตาลี มาร์โก ซาลา
1916-1919 ประเทศอิตาลี อัลโด เคเวนินี
1919-1921 ประเทศอิตาลี อเลสซานโดร สคาริโอนี
1921-1922 อาร์เจนตินา ประเทศอิตาลี เชซาเร โลวาติ
1922-1924 ประเทศอิตาลี ฟรานเชสโก โซลเดรา
1924-1926 ประเทศอิตาลี ปิเอโตร บรอนซินี
1926-1927 ประเทศอิตาลี จานอันเจโล บาร์ซาน
1927-1929 ประเทศอิตาลี อับดอน สการ์บี
1929-1930 ประเทศอิตาลี อเลสซานโดร สเคียโนนี
1930-1933 ประเทศอิตาลี มาริโอ มัญญอซซี
1933-1934 ประเทศอิตาลี คาร์โล ริกอตติ
1934-1936 ประเทศอิตาลี จูเซ็ปเป โบนิซโซนี
1936-1939 ประเทศอิตาลี ลุยจิ แปร์แวร์ซี
1939-1940 ประเทศอิตาลี จูเซ็ปเป โบนิซโซนี
1940-1941 ประเทศอิตาลี บรูโน อาร์คารี
 
ปี ชื่อกัปตันทีม
1941-1942 ประเทศอิตาลี จูเซ็ปเป เมอัซซา
1942-1944 ประเทศอิตาลี จูเซ็ปเป อันโตนินี
1944-1945 ประเทศอิตาลี เปาโล โตเดสคินี
1945-1949 ประเทศอิตาลี จูเซ็ปเป อันโตนินี
1949-1952 ประเทศอิตาลี อันเดรีย โบโนมี
1952-1953 ประเทศอิตาลี คาร์โล อันโนวาซซี
1953-1954 ประเทศอิตาลี โอเมโร โตญญอน
1954-1956 ประเทศสวีเดน กุนนาร์ นอร์ดาห์ล
1956-1961 ประเทศสวีเดน นิลส์ ลีดโฮล์ม
1961-1962 ประเทศอิตาลี ฟรานเชสโก ซากัตติ
1962-1966 ประเทศอิตาลี เชซาเร่ มัลดินี
1966-1975 ประเทศอิตาลี จานนี ริเวรา
1975-1976 ประเทศอิตาลี โรเมโอ เบเนตติ
1976-1979 ประเทศอิตาลี จานนี ริเวรา
1979-1980 ประเทศอิตาลี อัลแบร์ติโน่ บิก้อน
1980-1981 ประเทศอิตาลี อัลโด้ มัลเดร่า
1981-1982 ประเทศอิตาลี ฟูลวิโอ โคลโลวาติ
1982-1997 ประเทศอิตาลี ฟรังโก บาเรซี
1997-2009 ประเทศอิตาลี เปาโล มัลดินี
2009-2013 ประเทศอิตาลี มัสซิโม อัมโบรซินี
2013-2019 ประเทศอิตาลี ริคาร์โด้ มอนโตลิโว่
2019-2021 ประเทศอิตาลี อเลสซิโอ้ โรมัญโญลี่
2021- ประเทศอิตาลี ดาวิเด้ คาราเบลีย

ผู้สนับสนุนทีม

[แก้]

ผู้สนับสนุนหน้าอกเสื้อ

[แก้]

เอซี มิลาน เริ่มมีสปอนเซอร์ติดหน้าอกเสื้ออย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1981 ซึ่งรายชื่อสปอนเซอร์หน้าอกเสื้อของมิลาน มีดังต่อไปนี้

 
ปี ผู้สนับสนุนหน้าอกเสื้อ
1981-1982 Pooh Jeans
1982-1983 Hitachi
1983-1984 Olio Cuore
1984 Rete 4
1984-1985 Oscar Mondadori
1985-1987 Fotorex U-Bix
1987-1992 Mediolanum
1992-1994 Motta
1994-2006 Opel
2006-2010 Bwin
2010-2020 Fly Emirates

ผู้สนับสนุนชุดแข่งขัน

[แก้]

เอซี มิลาน เริ่มมีผู้สนับสนุนชุดแข่งขันอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี ค.ศ. 1978 โดยรายชื่อดังต่อไปนี้

 
ปี สปอนเซอร์ชุดแข่งขัน
1978-1979 Adidas
1979-1980 Adidas – Linea Milan
1980-1982 Linea Milan
1982-1984 NR
1984-1985 Rolly Go
1985-1986 Gianni Rivera
1986-1990 Kappa
1990-1993 Adidas
1993-1998 Lotto
1998-2018 Adidas
2018-2023 PUMA

สถิติสโมสรที่น่าสนใจ

[แก้]

ผู้เล่นที่ลงเล่นมากที่สุดตลอดกาล

[แก้]
เปาโล มัลดีนี เจ้าของสถิติลงเล่นมากที่สุดของสโมสร
อันดับ ชื่อนักเตะ จำนวนนัด
1. ประเทศอิตาลี เปาโล มัลดีนี 902
2. ประเทศอิตาลี ฟรังโก บาเรซี 719
3. ประเทศอิตาลี อเลสซานโดร คอสตาคูร์ตา 663
4. ประเทศอิตาลี จานนี ริเวรา 658
5. ประเทศอิตาลี เมาโร ตัสซอตติ 583
6. ประเทศอิตาลี มัสซิโม อัมโบรซินี 469
7. ประเทศอิตาลี เกนนาโร กัตตูโซ 468
8. ประเทศเนเธอร์แลนด์ คลาเรนซ์ ซีดอร์ฟ 432
9. ประเทศอิตาลี อันเจโล อันกวิลเลตติ 418
10. ประเทศอิตาลี เชซาเร มัลดินี 412
11. ประเทศอิตาลี เดเมตริโอ อัลแบร์ตินี 406
12. ประเทศอิตาลี อันเดรีย ปีร์โล 401
13. ประเทศสวีเดน นิลส์ ลีดโฮล์ม 394
14. ประเทศอิตาลี อัลเบริโก เอวานี 393
15. ประเทศอิตาลี โรแบร์โต โดนาโดนี 390
16. ประเทศอิตาลี โจวานนี ตราปัตโตนี 351
17. ประเทศอิตาลี โอเมโร โตญญอน 342
18. ประเทศอิตาลี ลุยจิ แปร์แวร์ซี 341
19. ประเทศเยอรมนี คาร์ล-ไฮนซ์ ชเนลลิงเกอร์ 334
20. ประเทศอิตาลี เซบาสเตียโน รอสซี 330

ผู้เล่นที่ทำประตูมากที่สุดตลอดกาล

[แก้]
อันดับ ชื่อนักเตะ จำนวนประตู
1. ประเทศสวีเดน กุนนาร์ นอร์ดาห์ล 221
2. ยูเครน อังเดร เชฟเชนโก 175
3. ประเทศอิตาลี จานนี ริเวรา 164
4. ประเทศบราซิล ประเทศอิตาลี โฮเซ อัลตาฟินี 161
5. ประเทศอิตาลี อัลโด โบฟฟี 136
6. ประเทศอิตาลี ฟิลิปโป อินซากี 126
7. ประเทศเนเธอร์แลนด์ มาร์โก ฟาน บาสเทน 124
8. ประเทศอิตาลี จูเซ็ปเป ซานตากอสติโน 106
9. ประเทศอิตาลี ปิเอริโน ปราติ 102
10. ประเทศบราซิล กาก้า 100
11. ประเทศเบลเยียม หลุยส์ ฟาน แฮช 98
12. ประเทศอิตาลี อัลแบร์ติโน บิกอน 90
13. ประเทศสวีเดน นิลส์ ลีดโฮล์ม 89
14. ประเทศอิตาลี เรนโซ บูรินี 88
15. ประเทศอิตาลี ปิเอโตร วีร์ดิส 76
16. ประเทศอิตาลี มาร์โก ซิโมเน 75
17. ประเทศอิตาลี อัลโด เคเวนินี 73
18. ประเทศอิตาลี ปิเอโตร อาร์คารี 70
19. ประเทศอิตาลี ดานิเอเล มัสซาโร 70
20. ประเทศอิตาลี โจวานนี โมเรตติ 68

ผู้เล่นที่ได้รับรางวัลบาลงดอร์

[แก้]
กาก้า ยอดผู้เล่นชาวบราซิล คว้ารางวัลบาลงดอร์ในฐานะผู้เล่นเอซี มิลาน

เอซี มิลาน เป็นสโมสรที่มีผู้เล่นเคยได้รับรางวัลบาลงดอร์มากที่สุด 8 ครั้ง ได้แก่

การแข่งขันในกัลโช เซเรีย อา

[แก้]
  • ชนะในบ้านที่สกอร์มากที่สุด : ชนะ ปาแลร์โม 9-0, 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1951
  • ชนะนอกบ้านที่สกอร์มากที่สุด : ชนะ เจนัว 8-0, 5 มิถุนายน ค.ศ. 1955
  • แพ้ในบ้านที่สกอร์มากที่สุด : แพ้ ยูเวนตุส 1-6, 6 เมษายน ค.ศ. 1997
  • แพ้นอกบ้านที่สกอร์มากที่สุด :แพ้ อเลสซานเดรีย 1-6, 26 มกราคม ค.ศ. 1936
  • จำนวนคะแนนที่ได้มากที่สุดภายใน 1 ฤดูกาล (ชนะได้ 3 คะแนน)  : 82 คะแนน (2003-04, 34 นัด)
  • จำนวนคะแนนที่ได้มากที่สุดภายใน 1 ฤดูกาล (ชนะได้ 2 คะแนน)  : 60 คะแนน (1950-51, 38 นัด)
  • จำนวนคะแนนที่ได้น้อยที่สุดภายใน 1 ฤดูกาล (ชนะได้ 3 คะแนน)  : 43 คะแนน (1996-97, 34 นัด)
  • จำนวนคะแนนที่ได้น้อยที่สุดภายใน 1 ฤดูกาล (ชนะได้ 2 คะแนน)  : 24 คะแนน (1981-82, 30 นัด)
  • จำนวนนัดที่ชนะมากที่สุดภายใน 1 ฤดูกาล : 28 นัด (2005-06, 38 นัด)
  • จำนวนนัดที่ชนะน้อยที่สุดภายใน 1 ฤดูกาล : 5 นัด (1976-77, 30 นัด)
  • จำนวนนัดที่แพ้น้อยที่สุดภายใน 1 ฤดูกาล : 0 นัด (1991-92, 34 นัด)
  • จำนวนนัดที่แพ้มากที่สุดภายใน 1 ฤดูกาล : 15 นัด (1930-31, 30 นัด)
  • จำนวนนัดที่เสมอมากที่สุดภายใน 1 ฤดูกาล : 17 นัด (1976-77, 30 นัด)
  • จำนวนนัดที่เสมอน้อยที่สุดภายใน 1 ฤดูกาล : 3 นัด (1949-50, 38 นัด)
  • จำนวนประตูที่ทำได้มากที่สุดภายใน 1 ฤดูกาล (ทีม)  : 118 ประตู (1949-50, 38 นัด)
  • จำนวนประตูที่ทำได้น้อยที่สุดภายใน 1 ฤดูกาล (ทีม)  : 21 ประตู (1981-82, 30 นัด)
  • จำนวนประตูที่เสียน้อยที่สุดภายใน 1 ฤดูกาล (ทีม)  : 12 ประตู (1968-69, 30 นัด)
  • จำนวนประตูที่เสียมากที่สุดภายใน 1 ฤดูกาล (ทีม)  : 62 ประตู (1932-33, 34 นัด)
  • จำนวนผลต่างประตูที่มากที่สุดภายใน 1 ฤดูกาล : +73 ประตู (1949-50, 38 นัด)
  • จำนวนผลต่างประตูที่น้อยที่สุดภายใน 1 ฤดูกาล : -10 ประตู (1981-82, 30 นัด)
  • จำนวนประตูที่ทำได้มากที่สุดภายใน 1 ฤดูกาล (นักเตะ)  : 35 ประตู - ประเทศสวีเดน กุนนาร์ นอร์ดาห์ล (1949-50, 38 นัด)
  • ไม่เสียประตูนานที่สุด : 929 นาที (ประเทศอิตาลี เซบาสเตียโน รอสซี) เริ่มตั้งแต่ 19 ธันวาคม ค.ศ. 1993 (ชนะ กาญารี 2-1), จนถึง 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1994 (ชนะ ฟอจจา 2-1)
  • ชนะติดต่อกันมากที่สุด : 10 นัด เริ่มตั้งแต่ 28 มกราคม ค.ศ. 1951 (ชนะ ซามพ์โดเรีย 2-0) จนถึง 1 เมษายน ค.ศ. 1951 (แพ้ ปาโดวา 1-2)
  • ไม่แพ้ติดต่อกันมากที่สุด : 58 นัด เริ่มตั้งแต่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 1991 (เสมอ ปาร์มา 0-0) จนถึง 21 มีนาคม ค.ศ. 1993 (แพ้ ปาร์มา 0-1)

การแข่งขันในโกปปาอีตาเลีย

[แก้]
  • ชนะในบ้านที่สกอร์มากที่สุด : ชนะ ปาโดวา 8-1, 13 กันยายน ค.ศ. 1958
  • ชนะนอกบ้านที่สกอร์มากที่สุด : ชนะ โคโม 5-0, 8 มิถุนายน ค.ศ. 1958
  • แพ้ในบ้านที่สกอร์มากที่สุด : แพ้ โรมา 0-4, 21 พฤศจิกายน ค.ศ. 1979
  • แพ้นอกบ้านที่สกอร์มากที่สุด : แพ้ ฟิออเรนตินา 0-5, 13 เมษายน ค.ศ. 1940

การแข่งขันในฟุตบอลสโมสรยุโรป

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "A.C. Milan - History". A.C. Milan. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-15. สืบค้นเมื่อ 2010-01-11.
  2. "History". acmilan.com. Associazione Calcio Milan. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 October 2010. สืบค้นเมื่อ 4 October 2010.
  3. Neil Heath (17 November 2009). "AC Milan's Nottingham-born hero". BBC. สืบค้นเมื่อ 4 October 2010.
  4. "AC Milan's Nottingham-born hero" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2009-11-17. สืบค้นเมื่อ 2023-10-01.
  5. 5.0 5.1 "Honours". acmilan.com. Associazione Calcio Milan. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 October 2010. สืบค้นเมื่อ 4 October 2010.
  6. "International Cups Trivia". Rec.Sport.Soccer Statistics Foundation. สืบค้นเมื่อ 18 December 2016.
  7. Conn, Tom (21 ธันวาคม 2014). "Real Madrid match A.C. Milan and Boca Juniors with 18 international titles". Inside Spanish Football. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 ธันวาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 22 ธันวาคม 2014.
  8. "Milan loses the throne. Al Ahly is the most successful club in the world". Football Magazine. 22 February 2014. สืบค้นเมื่อ 22 December 2014.
  9. Leiva, Juanma (2023-05-10). "AC Milan vs Inter: which Champions League semi-finalist is the bigger club?". AS USA (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  10. "Is this the greatest derby in world sports?". The Roar (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  11. "Soccer Team Valuations". forbes.com. Forbes. 30 April 2008. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 September 2010. สืบค้นเมื่อ 4 October 2010.
  12. "ECA Members". ecaeurope.com. European Club Association. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 June 2010. สืบค้นเมื่อ 4 October 2010.
  13. "Forbes 2024 Global Soccer Team Valuations - Ranked List". Forbes (ภาษาอังกฤษ).
  14. Citato in Matteo Chiamenti, Il papà del Milan เก็บถาวร 31 ธันวาคม 2021 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Milan News.it, 8 settembre 2010
  15. Citato in Exclusive New ACMilan Jersey 2012/13, Il papà del Milan เก็บถาวร 31 ธันวาคม 2021 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, youtube.com, 20. September 2012
  16. "La nascita di un mito". www.magliarossonera.it.
  17. "History of the AC Milan". AC Milan (ภาษาอังกฤษ).
  18. "FIFA Tournaments - Players & Coaches - Gianni RIVERA - Player Profile - FIFA.com". web.archive.org. 2015-10-09. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-10-09. สืบค้นเมื่อ 2023-10-01.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  19. 1963 European Cup Final - Milan V Benfica (1963), สืบค้นเมื่อ 2023-10-01
  20. "Honours | AC Milan". web.archive.org. 2010-10-07. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-10-07. สืบค้นเมื่อ 2021-05-09.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  21. Bandini, Nicky (2013-05-24). "The great European Cup teams: Milan 1989-90". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 2023-10-01.
  22. "Teams of the Decade #14: Milan 2002-07 | Zonal Marking". web.archive.org. 2013-05-21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-21. สืบค้นเมื่อ 2023-10-01.
  23. UEFA.com. "Season 2006/07 | UEFA Champions League 2006/07". UEFA.com (ภาษาอังกฤษ).
  24. "AC Milan Roster and Player Profiles 2023/24". AC Milan (ภาษาอังกฤษ).
  25. Mesco, Manuela (2017-04-13). "Berlusconi Completes Sale of AC Milan Soccer Club to Chinese Investor". Wall Street Journal (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0099-9660. สืบค้นเมื่อ 2023-10-01.
  26. "Elliott Ushers in New Chapter at AC Milan". www.businesswire.com (ภาษาอังกฤษ). 2018-07-10.
  27. "The final countdown – Yonghong Li must pay €32 million today or lose Milan | English News | Calciomercato.com". www.calciomercato.com.
  28. sport, Guardian (2017-11-27). "Milan sack Vincenzo Montella and put Gennaro Gattuso in charge". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 2023-10-01.
  29. UEFA.com (2018-06-27). "CFCB Adjudicatory Chamber renders AC Milan decision | Inside UEFA". UEFA.com (ภาษาอังกฤษ).
  30. "Ufficiale, Milan in Europa League: accolto il ricorso al Tas". corrieredellosport.it (ภาษาอิตาลี). 2018-07-20.
  31. "Football: AC Milan miss out on top-four finish in Serie A despite win over SPAL". The Straits Times (ภาษาอังกฤษ). 2019-05-27. ISSN 0585-3923. สืบค้นเมื่อ 2023-10-01.
  32. Jones, Matt. "Gennaro Gattuso Announces 'Painful' Decision to Step Down as AC Milan Manager". Bleacher Report (ภาษาอังกฤษ).
  33. Ravelli, Arianna (2019-06-28). "Milan fuori dall'Europa League". Corriere della Sera (ภาษาอิตาลี).
  34. "AC Milan boss Pioli signs new contract". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2023-10-01.
  35. "THE MVPs OF THE SERIE A 2021/2022 | News | Lega Serie A". web.archive.org. 2022-05-30. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-05-30. สืบค้นเมื่อ 2023-10-01.
  36. "Comunicato Ufficiale: Sergio Conceição". AC Milan (ภาษาอิตาลี).
  37. Milan, AC Milan came from behind to beat Juventus 2-1 in Sergio Conceicao's first game in charge to set up a Supercoppa Italiana final against rival Inter. "Milan rallies to book derby date in final". beIN SPORTS (ภาษาNew Zealand English).
  38. "Inter 2-3 AC Milan: Rossoneri produce stunning comeback to lift 50th trophy". SempreMilan (ภาษาอังกฤษ). 2025-01-06.
  39. "¤ Weltfussballarchiv | club profile | Italy | AC Milan ¤". web.archive.org. 2011-09-16. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-16. สืบค้นเมื่อ 2023-10-01.
  40. Redazione (2020-06-11). "Sono passati 40 anni dalla prima volta dei nomi sulle maglie". Gli Eroi del Calcio (ภาษาอิตาลี).
  41. "AC Milan News - Latest and real time updates". AC Milan (ภาษาอังกฤษ).
  42. จันทวิชชประภา, สมศักดิ์ (2021-02-16). "เอซี มิลาน vs อินเตอร์ มิลาน : เชื้อชาติกับชนชั้นที่แตกต่าง สู่การแบ่งเมืองเป็นสองสี". The 101 World (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  43. "view from the terrace: ULTRA NEWS". web.archive.org. 2008-06-18. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-18. สืบค้นเมื่อ 2023-10-01.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  44. Browning, Oliver (2020-02-12). "The 50 football clubs with the highest average attendance in the world this season". GiveMeSport (ภาษาอังกฤษ).
  45. Seal, Brian (2016-10-22). "A derby on neutral ground". Howler Magazine (ภาษาอังกฤษ).
  46. "Milan game ended by crowd trouble" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2005-04-12. สืบค้นเมื่อ 2023-10-08.
  47. "Top 5 UEFA's Badge of Honour Winners". About.com. 25 July 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 November 2006.
  48. "Men's First Team". acmilan.com. Associazione Calcio Milan. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 June 2016. สืบค้นเมื่อ 4 July 2023.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]