ข้ามไปเนื้อหา

เอกสารปานามา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ประเทศที่มีนักการเมือง, เจ้าหน้าที่รัฐ หรือบุคคลใกล้ชิด พัวพันกับการรั่วไหลปานามาในวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2559[1]

เอกสารปานามา (อังกฤษ: Panama Papers; สเปน: papeles de Panamá) เป็นชุดเอกสารลับ 11.5 ล้านฉบับที่รั่วไหลจากสำนักกฎหมายและผู้ให้บริการวางแผนธุรกิจสัญชาติปานามาชื่อ มอสสัคฟอนเซคา (Mossack Fonseca) ชุดเอกสารดังกล่าวระบุข้อมูลอย่างละเอียดของบริษัทที่จดทะเบียนนอกประเทศ (offshore company) กว่า 214,000 บริษัท รวมทั้งตัวตนของผู้ถือหุ้นและผู้อำนวยการของบริษัทเหล่านั้น ผู้ที่ถูกระบุตัวตนมีบุคคลและองค์การทางการเมืองที่มั่งมีและทรงอำนาจหลายคนจากหลายประเทศ

เอกสารปานามานี้ได้เปิดโปงการซ่อนเงินของเหล่าข้าราชการผู้ร่ำรวยและได้ระบุถึงหัวหน้ารัฐบาลที่อยู่ในตำแหน่ง ณ ขณะนั้นอยู่ 5 ประเทศได้แก่ อาร์เจนตินา, ไอซ์แลนด์, ซาอุดีอาระเบีย, ยูเครน และ อาหรับเอมิเรตส์ ยังรวมไปถึงข้าราชการของรัฐ, ญาติคนสนิท และบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ใกล้ชิดกับหัวหน้าของรัฐบาลมากกว่า 40 ประเทศเช่น บราซิล, สาธารณรัฐประชาชนจีน, เปรู, ฝรั่งเศส, อินเดีย, มาเลเซีย, เม็กซิโก, ปากีสถาน, โรมาเนีย, รัสเซีย, แอฟริกาใต้, สเปน, ซีเรีย และ สหราชอาณาจักร[1] หลังจากการเปิดเผยเอกสารปานามาได้ 2 วันในวันที่ 5 เมษายน 2559 นายกรัฐมนตรีไอซ์แลนด์ ซิกมึนตืร์ ตาวิด กึนน์เลยค์ซอน ประกาศลาออก[2]

เอกสารที่รั่วไหลออกมานี้ได้รับการสร้างขึ้นนับแต่คริสต์ทศวรรษ 1970 มีขนาด 2.6 เทระไบต์ เอกสารดังกล่าวถูกส่งให้หนังสือพิมพ์เยอรมันชื่อ ซึดดอยท์เชอไซทุง (Süddeutsche Zeitung) ในปี 2558 และต่อมาให้สหพันธ์นักหนังสือพิมพ์สืบสวนระหว่างประเทศ (International Consortium of Investigative Journalists)[3] มีการแจกจ่ายเอกสารดังกล่าวให้นักหนังสือพิมพ์ประมาณ 400 คนในองค์การสื่อ 107 แห่งในกว่า 80 ประเทศเพื่อนำไปวิเคราะห์ รายงานข่าวชุดแรก ๆ ว่าด้วยข้อมูลดังกล่าว ร่วมกับตัวเอกสาร 149 ฉบับ[4] มีการพิมพ์เผยแพร่ในวันที่ 3 เมษายน 2559[5] ในบรรดาการเปิดเผยตามแผน รายการบริษัทสมบูรณ์จะมีการเผยแพร่ในต้นเดือนพฤษภาคม[6]

ภูมิหลัง

[แก้]

มอสสัคฟอนเซคา สำนักงานกฎหมายสัญชาติปานามา และผู้ให้บริการแก่นิติบุคคลนี้ได้ก่อตั้งเมื่อปี 2520 โดยเยือร์เกิน ม็อสซัค และรามอน ฟอนเซกา โมรา[7] การให้บริการของมอสสัคฟอนเซคาได้แก่การจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทนอกประเทศ การบริหารจัดการบริษัทนอกประเทศ และการบริการบริหารทรัพย์สิน (Wealth Management Service)[8] บทความของ ดิอีโคโนมิสท์ ในปี 2555 กล่าวไว้ว่าสำนักงานนี้น่าจะเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมของประเทศ[9] และยังมีพนักงานมากกว่า 500 คนในกว่า 40 สำนักงานทั่วโลก[7] สำนักงานมีลูกค้ามากกว่า 300,000 บริษัทโดยส่วนมากได้จดทะเบียนในสหราชอาณาจักร และเขตแดนกำบังภาษี (tax heaven) ในการปกครองของสหราชอาณาจักร[8]

สำนักงานกฎหมายนอกประเทศมอสสัคฟอนเซคานี้มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของโลก ณ เดือนเมษายน 2559[10] สำนักงานได้ให้บริการแก่สถาบันทางการเงินระดับโลกเช่น ธนาคารดอยซ์แบงก์, เอชเอสบีซี, ซอซีเยเตเฌเนราล, เครดิต สวิส, ยูบีเอส, Commerzbank และ Nordea[7][11] ก่อนหน้าที่เอกสารปานามานี้จะถูกเปิดเผยในเวลาต่อมา หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ ดิอีคอโนมิสต์ ว่ามอสสัคฟอนเซคาเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการเงินนอกประเทศที่ "ไม่ยอมปริปากให้สัมภาษณ์"[9]

บรรษัทกระจายภาพและเสียงแห่งออสเตรเลีย (เอบีซี) เขียนเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2559 ว่า[12]

การมีโครงสร้างแบบเปลือกหอยที่ซับซ้อนของบริษัท และบัญชีทรัสต์หรือบัญชีจัดการสินทรัพย์ (trust account) ทำให้มอสสัคฟอนเซคาสามารถให้บริการแก่ลูกค้าเบื้องหลังหลังกำแพงแห่งความลับที่จะไม่สามารถทะลุทะลวงเสาะหาได้ ความสำเร็จของมอสสัคฟอนเซคาอิงอยู่กับเครือข่ายระดับโลกของนักบัญชี และธนาคารชื่อดังที่ว่าจ้างสำนักงานกฎหมายจัดการดูแลการเงินของลูกค้าผู้ร่ำรวยเหล่านี้ ธนาคารเหล่านี้เป็นสาเหตุสำคัญและเบื้องหลังการมีอยู่ของเหล่าบริษัทที่ยากจะสืบเสาะในอาณาเขตบริเวณกำบังภาษีเหล่านี้ กิจกรรมของสำนักงานส่วนมากนั้นถูกต้องตามกฎหมายและถูกทำนองคลองธรรม แต่การรั่วไหลของเอกสารนี้เป็นครั้งแรกที่ทำให้ทราบถึงกิจกรรมภายในของสำนักงาน และความลับที่จะนำผู้ดำเนินการลับ (shady operators) ไปสู่การแก้ไขปัญหาต่อไป....

การรั่วไหล

[แก้]

กว่าหนึ่งปีก่อนการพิมพ์เผยแพร่การรั่วไหลปานามาในเดือนเมษายน 2559 หนังสือพิมพ์ซึดดอยท์เชอไซทุงได้รับเอกสาร 2.6 เทระไบต์ที่เกี่ยวข้องกับมอสสัคฟอนเซคาจากแหล่งข่าวนิรนาม

ขนาดรวมของเอกสารที่รั่วนั้นใหญ่กว่าการรั่วไหลของโทรเลขภายในสหรัฐอเมริกาในปี 2553 (1.7 จิกะไบต์), การรั่วไหลระหว่างประเทศ (Offshore Leaks) ในปี 2556 (260 จิกะไบต์), การรั่วไหลลักซ์ในปี 2557 (4 จิกะไบต์) และการรั่วไหลสวิสในปี 2558 (3.3 จิกะไบต์) ข้อมูลส่วนใหญ่ประกอบด้วยอีเมล ไฟล์พีดีเอฟ ภาพถ่าย และการคัดข้อมูลจากฐานข้อมูลภายในมอสสัคฟอนเซคา ครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1970 ถึงฤดูใบไม้ผลิปี 2559 การรั่วไหลของเอกสารปานามาให้ข้อมูลของบริษัท 214,000 บริษัท มีแฟ้มหนึ่งแฟ้มสำหรับวิสาหกิจเปลือก (shell firm) แต่ละแห่งซึ่งบรรจุอีเมล สัญญา ใบสำเนา และเอกสารสแกน ข้อมูลที่รั่วไหลประกอบด้วยอีเมล 4,804,618 ฉบับ; ไฟล์รูปแบบฐานข้อมูล 3,047,306 ไฟล์; ไฟล์พีดีเอฟ 2,154,264 ไฟล์; ภาพ 1,17,026 ภาพ; ไฟล์ข้อความ 320,166 ไฟล์ และไฟล์ในรูปแบบอื่น ๆ อีก 2,242 ไฟล์

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 "Panama Papers: The Power Players". International Consortium of Investigative Journalists. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 เม.ย. 2559. สืบค้นเมื่อ 3 เม.ย. 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. "Panama Papers fallout: Iceland's prime minister resigns". CNN. April 5, 2016. สืบค้นเมื่อ April 5, 2016.
  3. Vasilyeva, Natalya; Anderson, Mae (April 3, 2016). "News Group Claims Huge Trove of Data on Offshore Accounts". The New York Times. Associated Press. สืบค้นเมื่อ April 4, 2016.
  4. "DocumentCloud 149 Results Source: Internal documents from Mossack Fonseca (Panama Papers) - Provider: Amazon Technologies / Owner: Perfect Privacy, LLC USA". Center for Public Integrity. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-06. สืบค้นเมื่อ April 4, 2016.
  5. Obermaier, Frederik; Obermayer, Bastian; Wormer, Vanessa; Jaschensky, Wolfgang (April 3, 2016). "About the Panama Papers". Süddeutsche Zeitung. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-03. สืบค้นเมื่อ April 3, 2016.
  6. "The Panama Papers: Data Metholodogy". ICIJ. April 3, 2016. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-04. สืบค้นเมื่อ April 3, 2016.
  7. 7.0 7.1 7.2 Hamilton, Martha M. (April 3, 2016). "Panamanian Law Firm Is Gatekeeper To Vast Flow of Murky Offshore Secrets". International Consortium of Investigative Journalists. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-04. สืบค้นเมื่อ April 4, 2016.
  8. 8.0 8.1 Harding, Luke (April 3, 2016). "The Panama Papers: what you need to know". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-04. สืบค้นเมื่อ April 4, 2016.
  9. 9.0 9.1 "Shells and Shelves". The Economist. April 7, 2012. สืบค้นเมื่อ April 4, 2016.
  10. Garside, Juliette; Watt, Holly; Pegg, David (April 3, 2016). "The Panama Papers: how the world's rich and famous hide their money offshore". The Guardian. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-03. สืบค้นเมื่อ April 3, 2016.
  11. "Nordea bank investigated over tax haven scandal". The Local (Sweden). สืบค้นเมื่อ April 4, 2016.
  12. "Panama Papers and Mossack Fonseca explained". Australian Broadcasting Corporation. April 4, 2016. สืบค้นเมื่อ April 4, 2016.