เอกราชไต้หวัน
เอกราชไต้หวัน (จีน: 台湾独立运动; จีน: 臺灣獨立運動; พินอิน: Táiwān dúlì yùndòng; เวด-ไจลส์: T'ai²-wan¹ tu²-li⁴ yün⁴-tung⁴; อังกฤษ: Taiwanese independence) เป็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องเอกราชให้แก่สาธารณรัฐจีน (Republic of China) ที่ตั้งอยู่บนเกาะไต้หวันหรือที่เรียกโดยทั่วไปว่า ไต้หวัน มีวัตถุประสงค์เบื้องต้นเป็นการยกเลิกชื่อประเทศสาธารณรัฐจีนที่มีรากฐานมาตั้งแต่สมัยแผ่นดินใหญ่และเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นสาธารณรัฐไต้หวัน (Republic of Taiwan) อย่างเป็นทางการ กับทั้งเพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่เอกลักษณ์ของชาติไต้หวัน ปฏิเสธและต่อต้านการรวมประเทศจีนไต้หวันเข้ากับสาธารณรัฐประชาชนจีนหรือที่เรียกโดยทั่วไปว่า ประเทศจีน ทั้งยังปฏิเสธแนวคิดหนึ่งประเทศ สองระบบ (one country, two systems) และความเป็นจีน รวมถึงเรียกให้นานาประเทศรับรองไต้หวันเป็นรัฐเอกราช ปัจจุบัน มีองค์การระหว่างประเทศเพียงแห่งเดียวที่รับรองเอกราชของไต้หวันอย่างเป็นทางการ คือ องค์การชาติและประชาชนซึ่งไร้ผู้แทน (Unrepresented Nations and Peoples Organization) และสิ่งที่น่าจะเป็นความสำเร็จเพียงหนึ่งเดียวอันเนื่องมาจากความเคลื่อนไหวนี้ คือ การได้มาซึ่งข้อมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ 2758 อันว่าด้วยสถานะทางการเมืองของไต้หวัน
ในไต้หวันเอง ความเคลื่อนไหวข้างต้นได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรฟั่นลวี่ (แนวร่วมสีเขียว) ซึ่งประกอบด้วย พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า แต่ถูกพันธมิตรฟั่นหลัน (แนวร่วมสีคราม) ซึ่งนำโดยพรรคก๊กมินตั๋งต่อต้าน เพราะกลุ่มหลังนี้ประสงค์จะคงชื่อประเทศเป็น สาธารณรัฐจีนไว้เนื่องจากเป็นชื่อประเทศที่สืบมาตั้งแต่สมัยแผ่นดินใหญ่และคงไว้ซึ่งสถานะเดิมของสาธารณรัฐจีนตามที่ได้รับฉันทามติเมื่อ ค.ศ. 1992 แม้เป็นสถานะที่ค่อนข้างเคลือบคลุมก็ตาม หรือกลุ่มหลังนี้อาจต้องการให้ไต้หวันหลุดพ้นจากประเทศจีนอย่างช้า ๆ เพราะที่ผ่านมา ประเทศจีนอ้างว่ามีเอกราชเหนือไต้หวันทั้งยังอาศัยการคุกคามทางทหารเสมอ กลุ่มนี้จึงเห็นว่า การประกาศเอกราชเสียทีเดียวอาจนำไปสู่การประเชิญหน้าทางการยุทธระหว่างกองทัพสาธารณรัฐจีนกับกองทัพสาธารณรัฐประชาชนจีน และอาจเอื้ออำนวยให้ประเทศภายนอก เช่น สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น สอดเข้าเกี่ยวข้องมากขึ้น[1]
การใช้คำ "เอกราช" สำหรับไต้หวันนั้นอาจเป็นที่คลุมเครือ เป็นต้นว่า เมื่อผู้สนับสนุนความเคลื่อนไหวนี้กล่าวว่า เห็นชอบกับเอกราชไต้หวัน อาจหมายความว่า บุคคลเหล่านี้เห็นชอบกับความคิดให้สถาปนาสาธารณรัฐไต้หวันอย่างเป็นทางการ หรืออาจหมายความว่า บุคคลเหล่านี้เห็นว่า ปัจจุบัน ไต้หวันเป็นเอกราชอยู่แล้ว แต่สามารถเป็นไวพจน์ของสาธารณรัฐจีนได้ ซึ่งนับเป็นการบอกปัดการอ้างสิทธิของประเทศจีนโดยปริยาย ก็ได้
ตามประวัติศาสตร์แล้ว ในระหว่าง ค.ศ. 1683 ถึง ค.ศ. 1894 ทั้งไต้หวันและประเทศจีนมีชนชาติแมนจูปกครองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเรียก จักรวรรดิชิง ครั้นเกิดสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1895 รัฐบาลชิงทำสนธิสัญญาชิโมโนเซกิ ยกไต้หวันให้เป็นประเทศราชของจักรวรรดิญี่ปุ่น ต่อมาเมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่สองใน ค.ศ. 1945 กองทัพสาธารณรัฐจีนสามารถเข้าครอบครองจีนแผ่นดินใหญ่ไว้ได้เกือบทั้งหมด และได้ยึดไต้หวันกลับคืนไปจากญี่ปุ่น แต่เมื่อรัฐบาลสาธารณรัฐจีนซึ่งฝ่ายกั๋วหมินตั่ง (Kuomintang) จัดตั้งขึ้นนั้นพ่ายแพ้แก่ฝ่ายคอมมิวนิสต์จีนและถูกขับออกจากจีนแผ่นดินใหญ่ รัฐบาลกั๋วหมินตั๋งจึงเหลืออำนาจแต่ในดินแดนไต้หวันและเกาะข้างเคียง แล้วปกครองด้วยนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์มาจนปัจจุบัน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ U.S.-Taiwan Defense Relations in the Bush Administration เก็บถาวร 2006-03-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Heritage Foundation (noting the policy of President George W. Bush toward Taiwan's defense).