ข้ามไปเนื้อหา

เหรียญดุษฎีมาลา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เหรียญดุษฎีมาลา
มอบโดย พระมหากษัตริย์ไทย
อักษรย่อร.ด.ม.
ประเภทเหรียญบำเหน็จความชอบในราชการ
วันสถาปนาพ.ศ. 2425
ประเทศไทย ราชอาณาจักรไทย
ภาษิตบาลี: สัพ์เพสํ สํฆภูตานํ สามัค์คีวุฏ์ฒิสาธิกา
(ความพร้อมเพรียงแห่งชนผู้อยู่ร่วมกันเป็นหมู่ ยังความเจริญวัฒนาถาวรให้สำเร็จ)
จำนวนสำรับไม่จำกัด
ผู้สมควรได้รับพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทั้งปวง
มอบเพื่อแก่ผู้ทรงคุณวุฒิในทางศิลปวิทยา อันได้แสดงให้ประจักษ์เป็นพิเศษแล้ว
สถานะยังพระราชทานอยู่
ผู้สถาปนาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ประธานพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
สถิติการมอบ
รายแรกแขกอะบูรามซามี
27 ธันวาคม พ.ศ. 2427
รายล่าสุดอรุณ โรจนสกุล
10 เมษายน พ.ศ. 2566
ทั้งหมด589 ราย
ได้รับหลังถึงแก่กรรม2 ราย
ลำดับเกียรติ
สูงกว่าทหาร : เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี เหรียญรามมาลา
รองมาทหาร : เหรียญชัยสมรภูมิ
พลเรือน : เหรียญช่วยราชการเขตภายใน
เสมอทหาร : เหรียญกล้าหาญ
หมายเหตุเหรียญดุษฎีมาลาเป็นเหรียญบำเหน็จในราชการฝ่ายพลเรือนชั้นสูงสุด พระราชทานเป็นกรรมสิทธิ์

เหรียญดุษฎีมาลา เป็นเหรียญราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานเป็นที่ระลึก เรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า เหรียญแพรแถบ เป็นเหรียญบำเหน็จความชอบในราชการ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2425 อันเป็นมหามงคลสมัยครบรอบ 100 ปีที่หนึ่ง นับแต่ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนากรุงเทพมหานครขึ้นเป็นราชธานี และทรงตั้งราชวงศ์จักรียั่งยืนมานานจนถึงสมัยของพระองค์ท่าน

ลักษณะของเหรียญ เป็นแบบกลมรี ด้านหน้ามีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวผินพระพักตร์ทางซ้ายของเหรียญ ใต้รูปมีอักษรโรมัน ด้านหลังมีรูปพระสยามเทวาธิราชทรงพระขรรค์ยืนพิงโล่ตราแผ่นดิน พระหัตถ์ขวาทรงพวงมาลัยจะสวมตรงชื่อผู้ที่ได้รับพระราชทาน วัสดุของเหรียญทำจากทองคำกะไหล่ทองและเงิน ขนาดของเหรียญกว้าง 4.1 ซม. สูง 4.6 ซม. ปัจจุบันเหรียญชนิดนี้ยังไม่พ้นสมัยการพระราชทาน

ประวัติ

[แก้]

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญดุษฎีมาลา เมื่อ พ.ศ. 2425 เนื่องในโอกาสครบรอบการสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานีมาเป็นเวลาครบ 100 ปี เพื่อเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระองค์ทรงสร้าง "เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์" สำหรับพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ และทรงสร้าง "เหรียญดุษฎีมาลา" สำหรับพระราชทานเพื่อเป็นบำเหน็จแก่ผู้มีความชอบในราชการแผ่นดิน โดยแบ่งออกเป็น

  1. เข็มราชการในพระองค์ อักษรย่อ ร.ด.ม. (พ)
  2. เข็มศิลปวิทยา อักษรย่อ ร.ด.ม. (ศ)
  3. เข็มราชการแผ่นดิน อักษรย่อ ร.ด.ม. (ผ)
  4. เข็มกรุณา อักษรย่อ ร.ด.ม. (ก)
  5. เข็มกล้าหาญ อักษรย่อ ร.ด.ม. (ห)

นับเปนครั้งแรกที่ผู้มีความสามารถในศิลปวิทยา จะได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นพิเศษเช่นนี้ทั้ง เป็นการสนองพระบรมราโชบายในการพัฒนาวิชาความรู้เพื่อปรับปรุงประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศ และเมื่อพินิจถึงหลักเกณฑ์การพระราชทาน ก็จะเห็นได้ว่ามีหลักอันเข้มงวดต่างจากเครื่องราชอิสริยาภรณ์อื่น ๆ คือ จะพระราชทานเฉพาะผู้มีฝีมืออย่างเอกอุ อันเป็นคุณประโยชน์ต่อแผ่นดินที่ไม่มีผู้ใดทำได้เสมอหรือดีกว่า ดังปรากฏในพระราชบัญญัติเครื่องอิสริยยศสำหรับความดีความชอบเหรียญดุษฎีมาลา จ.ศ. 1244 พ.ศ. 2425 ว่า

“เข็มที่จาฤกว่าศิลปวิทธยานั้น ไว้สำหรับพระราชทานนักปราชราชกระวี นายช่างแลฝีมือช่างพิเศศต่าง ๆ ที่ได้คิดอย่างสิ่งของที่จะเปนประโยชนทั่วกัน ครั้งแรกคราวแรกฤๅชักนำสิ่งของใด ๆ เข้ามาทำมาสร้างขึ้นในแผ่นดิน เปนผลประโยชนต่อบ้านเมืองแลราชการ ฤๅผู้ที่แต่ง หนังสือตำราวิทธยการต่าง ๆ ที่เปนของเก่าของใหม่ก็ดี ที่เปนคุณต่อแผ่นดิน เปนประโยชนแก่ราชการ เปนผลแก่การค้าขาย ฤๅผู้เปนช่างอย่างฝีมือเอก ที่ได้คิดก็ดี ทำเองก็ดี ปรากฏว่าไม่มี ผู้ใดผู้หนึ่งทำได้เสมอดีกว่า แล้วผู้ทำคุณประโยชนดังกล่าวมานี้ ก็จะทรงพระราชดำริหวินิจฉัย พระราชทานเข็มชนิดนี้ให้ตามฐานานุรูป”

ลักษณะเหรียญ

[แก้]
ลักษณะของเหรียญดุษฎีมาลา ประดับด้วยเข็มความชอบต่างๆ เมื่อแรกสถาปนา ด้านหน้า (ซ้าย) และด้านหลัง (ขวา)

แรกสถาปนา

[แก้]

ในเบื้องต้นเหรียญดุษฎีมาลา แบ่งออกเป็น 4 ชนิด ได้แก่ ทองคำ เงินกาไหล่ทอง เงินเปล่า และสำริด โดยเหรียญทั้ง 4 ชนิดมีเกียรติเสมอกัน ลักษณะเหรียญเป็นรูปไข่ ด้านหน้ามีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประดิษฐานตรงกลาง มีอักษรตามขอบบนว่า "จุฬาลังกรณว์หัส์ส ปรมราชาธิราชิโน" ขอบล่างเป็นใบชัยพฤกษ์ไขว้กัน ด้านหลังเป็นรูปพระสยามเทวาธิราชทรงพระขรรค์ยืนแท่นพิงโล่ห์ตราแผ่นดิน พระหัตถ์ขวาทรงพวงมาลัยจะสวมที่ตรงจารึกชื่อผู้ได้รับพระราชทาน ใต้แท่นมีเลข "๑๒๔๔" อันเป็นปีจุลศักราชที่สร้างเหรียญ และมีอักษรตามขอบว่า "สยามิน์ทปรมราชตุฏ์ฐีป์ปเวทนํอิทํ" ริมขอบเหรียญจารึกอักษรว่า "สัพ์เพสํ สํฆภูตานํ สามัค์คีวุฏ์ฒิสาธิกา" บนเหรียญมีพระขรรค์ชัยศรีกับธารพระกรเทวรูปไขว้กัน มีห่วงยึดกับเหรียญและติดกับแผ่นโลหะจารึกว่า "ทรงยินดี"

คาถาภาษาบาลีที่ปรากฏในเหรียญดุษฎีมาลาแต่ละคาถา มีความหมายดังนี้

  • "จุฬาลังกรณว์หัส์ส ปรมราชาธิราชิโน" (จุฬาลงฺกรณวฺหสฺส ปรมราชาธิราชิโน) หมายถึง (เหรียญนี้เป็น) "ของพระบรมราชาธิราช ทรงพระนามว่า จุฬาลงกรณ์"
  • "สยามิน์ทปรมราชตุฏ์ฐีป์ปเวทนํอิทํ" (สยามินฺทปรมราช ตุฏฺฐีปฺปเวทนํ อิทํ") หมายถึง "สิ่งนี้เป็นเครื่องหมายทรงยินดีแห่งพระบรมราชาผู้ทรงปกครองแผ่นดินสยาม"
  • "สัพ์เพสํ สํฆภูตานํ สามัค์คีวุฏ์ฒิสาธิกา" (สพฺเพสํ สงฺฆภูตานํ สามคฺคี วุฑฺฒิสาธิกา) หมายถึง "ความพร้อมเพรียงแห่งชนผู้อยู่ร่วมกันเป็นหมู่ ยังความเจริญวัฒนาถาวรให้สำเร็จ" คาถานี้เป็นคาถาในตราแผ่นดินของสยาม บทพระนิพนธ์ในสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)

เหรียญดุษฎีมาลาใช้ห้อยกับแพรแถบ โดยริ้วแดงริ้วขาวสำหรับสมาชิกฝ่ายทหารและตำรวจ (หรือพระราชวงศ์) ส่วนริ้วขาวริ้วชมพูสำหรับสมาชิกฝ่ายพลเรือน ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย กับมีเข็มปลายเป็นช่อปทุมทั้ง 2 ข้าง จารึกอักษรชนิดของเหรียญที่ได้รับพระราชทาน เช่น "ศิลปวิทยา" "กล้าหาญ" สำหรับกลัดที่แพรแถบเหนือเหรียญ

แพรแถบย่อเหรียญดุษฎีมาลา ของฝ่ายทหารและตำรวจ
แพรแถบย่อเหรียญดุษฎีมาลา เข็มราชการในพระองค์
แพรแถบย่อเหรียญดุษฎีมาลา เข็มกรุณา
แพรแถบย่อเหรียญดุษฎีมาลา เข็มราชการแผ่นดิน
แพรแถบย่อเหรียญดุษฎีมาลา เข็มกล้าหาญ
แพรแถบย่อเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา
แพรแถบย่อเหรียญดุษฎีมาลา ของฝ่ายพลเรือน
แพรแถบย่อเหรียญดุษฎีมาลา เข็มราชการในพระองค์
แพรแถบย่อเหรียญดุษฎีมาลา เข็มกรุณา
แพรแถบย่อเหรียญดุษฎีมาลา เข็มราชการแผ่นดิน
แพรแถบย่อเหรียญดุษฎีมาลา เข็มกล้าหาญ
แพรแถบย่อเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา

ปัจจุบัน

[แก้]

ตามพระราชบัญญัติเหรียญดุษฎีมาลา พ.ศ. 2484 ได้มีการปรับเปลี่ยนลักษณะเหรียญบางส่วน โดยชนิดของเหรียญมีเพียงเหรียญเงินกาไหล่ทองรูปไข่ ด้านหน้ามีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประดิษฐานตรงกลาง ขอบล่างเป็นใบชัยพฤกษ์ไขว้กัน ด้านหลังเป็นรูปพระสยามเทวาธิราชทรงพระขรรค์ยืนแท่นพิงโล่ห์พระหัตถ์ซ้ายทรงพวงมาลัยจะสวมที่ตรงจารึกชื่อผู้ได้รับพระราชทาน ใต้แท่นมีเลข "๑๒๔๔" ห่วงเหรียญมีพระขรรค์ชัยศรีกับธารพระกรเทวรูปไขว้กัน มีห่วงยึดกับเหรียญและติดกับแผ่นโลหะจารึกว่า "ทรงยินดี"

เหรียญดุษฎีมาลาใช้ห้อยกับแพรแถบกว้าง 3 ซม. โดยริ้วแดงริ้วขาวสำหรับสมาชิกฝ่ายทหารและตำรวจ ส่วนริ้วขาวริ้วชมพูสำหรับสมาชิกฝ่ายพลเรือน ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย กับมีเข็มปลายเป็นช่อปทุมทั้ง 2 ข้าง จารึกว่า "ศิลปวิทยา" สำหรับกลัดที่แพรแถบเหนือเหรียญ สำหรับพระราชทานสตรีใช้ห้อยกับแพรแถบผูกเป็นรูปแมลงปอประดับเสื้อที่หน้าบ่าซ้าย

หลักเกณฑ์การรับพระราชทาน

[แก้]

ตามระเบียบว่าด้วยการขอพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา พ.ศ. 2521 ข้อ 5 กำหนดว่า "ผู้ซึ่งจะได้รับการพิจารณาขอพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา จะต้องมีผลงานประการใดประการหนึ่งดังต่อไปนี้"

  1. คิดค้นความรู้ระบบ กรรมวิธีหรือประดิษฐ์ สิ่งใหม่เป็นผลสำเร็จ
  2. ปรับปรุงความรู้ระบบ กรรมวิธี หรือสิ่งประดิษฐ์ให้ดีขึ้นกว่าเดิมเป็นอันมาก
  3. ได้แสดงให้เป็นที่ปรากฏว่า มีฝีมือและชื่อเสียงยอดเยี่ยมในทางศิลปวิทยา
โดยคณะกรรมการจะได้พิจารณาผลงานของผู้ที่สมควรจะได้รับการพิจารณารับพระราชทานตามสาขาวิชาใดสาขาวิชาหนึ่ง หรือหลายสาขาร่วมกันดังนี้
  1. มนุษยศาสตร์
  2. ศึกษาศาสตร์
  3. วิจิตรศิลป์
  4. สังคมศาสตร์ (นิติศาสตร์ , รัฐศาสตร์ , เศรษฐศาสตร์ , พาณิชยศาสตร์และการบัญชี)
  5. วิทยาศาสตร์
  6. วิศวกรรมศาสตร์
  7. แพทยศาสตร์
  8. เกษตรศาสตร์
  9. สาขาวิชาอื่นตามที่คณะกรรมการพิจารณาเห็นสมควร

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]