ข้ามไปเนื้อหา

เหยี่ยวออสเปร

นี่คือบทความคุณภาพ คลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เหยี่ยวออสเปร
เหยี่ยวออสเปรยืนบนรัง
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
Eukaryota
อาณาจักร: สัตว์
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
ชั้น: สัตว์ปีก
อันดับ: เหยี่ยว
Accipitriformes
วงศ์: Pandionidae
สกุล: Pandion

(Linnaeus, 1758)
สปีชีส์: Pandion haliaetus
ชื่อทวินาม
Pandion haliaetus
(Linnaeus, 1758)
ขอบเขตของ Pandion haliaetus
ชื่อพ้อง

Falco haliaetus Linnaeus, 1758

เหยี่ยวออสเปร (อังกฤษ: osprey, sea hawk, fish eagle) เป็นนกล่าเหยื่อที่กินปลาเป็นอาหาร มีขนาดใหญ่ ยาว 60 เซนติเมตร ช่วงปีกกว้าง 2 เมตร ขนส่วนบนเป็นสีน้ำตาล ศีรษะและส่วนล่างมีสีค่อนข้างเทา มีสีดำบริเวณตาและปีก

เหยี่ยวออสเปรมีการกระจายพันธุ์เป็นวงกว้าง ชอบทำรังใกล้กับแหล่งน้ำ แม้ว่าในทวีปอเมริกาใต้จะเป็นเพียงแค่นกอพยพนอกฤดูผสมพันธุ์ แต่ก็ถือว่าสามารถพบได้ทุกทวีปยกเว้นทวีปแอนตาร์กติกา

เหยี่ยวออสเปรกินปลาเป็นอาหาร จึงพัฒนาลักษณะทางกายภาพเฉพาะและแสดงพฤติกรรมที่เป็นเอกลักษณ์เพื่อช่วยในการล่าและการจับเหยื่อ จึงส่งผลให้มีสกุลและวงศ์เป็นของตนเองคือ สกุล Pandion และ วงศ์ Pandionidae มี 4 ชนิดย่อยที่ได้รับการยอมรับ แม้จะมีนิสัยชอบในการทำรังใกล้แหล่งน้ำ แต่เหยี่ยวออสเปรก็ไม่ใช่อินทรีทะเล

อนุกรมวิธาน

[แก้]

เหยี่ยวออสเปรเป็นหนึ่งในหลายชนิดที่ได้รับการบรรยายและจัดจำแนกโดยคาโรลัส ลินเนียสในงานสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18 ของเขาที่ชื่อ ระบบธรรมชาติ (Systema Naturae) ลินเนียสได้ตั้งชื่อเหยี่ยวชนิดนี้ว่า Falco haliaeetus[2] ส่วนสกุล Pandion ได้รับการบรรยายและจัดจำแนกโดย มารี ชูเลย์ เซซาร์ ซาวีญย์ (Marie Jules César Savigny) นักสัตววิทยาชาวฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1809[3]

เหยี่ยวออสเปรมีความแตกต่างจากนกล่าเหยื่อในเวลากลางวันชนิดอื่นหลายประการ คือ นิ้วเท้าของมันยาวเท่ากัน กระดูกข้อเท้าเป็นร่างแห และกรงเล็บหมุนรอบได้แทนที่จะเป็นร่อง เหยี่ยวออสเปรและนกเค้าเท่านั้นที่นิ้วเท้าด้านนอกสามารถพลิกกลับได้ ช่วยให้มันจับเหยื่อด้วยสองนิ้วเท้าด้านหน้าและสองนิ้วเท้าด้านหลัง โดยเฉพาะช่วยให้มันจับปลาตัวลื่นๆได้[4] เหยี่ยวออสเปรยังคงสร้างปัญหาให้กับนักอนุกรมวิธาน มันเป็นสมาชิกเพียงชนิดเดียวของวงศ์ Pandionidae และอยู่ในอันดับ Falconiformes ส่วนผังอื่นวางมันไว้ข้างเหยี่ยวและนกอินทรีในวงศ์ Accipitridae ซึ่งด้วยตัวมันเองสามารถพิจารณาเป็นกลุ่มของอันดับ Accipitriformes หรือมิฉะนั้นก็รวมกับ Falconidae ในอันดับ Falconiformes อนุกรมวิธานซิบลีย์-อัลควิสต์ (Sibley-Ahlquist taxonomy) ได้วางมันไว้ร่วมกับนักล่าที่หากินกลางวันชนิดอื่นในอันดับ Ciconiiformes ซึ่งเป็นอันดับที่มีขนาดใหญ่มาก แต่วิธีนี้ขัดกับการจำแนกกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่มีบรรพบุรุษร่วมกันแต่ไม่ได้รวมทายาททั้งหมดไว้ในกลุ่ม[5]

การจัดจำแนก

[แก้]
ชนิดย่อยอเมริกัน
ชนิดย่อยออสเตรเลียเป็นชนิดย่อยที่มีความแตกต่างมากที่สุด

เหยี่ยวออสเปรที่พบทั่วโลกเป็นชนิดเดียวกันทั้งหมด แม้ว่าจะมีชนิดย่อยอยู่สองสามชนิดแต่ไม่มีการแบ่งแยกที่ชัดเจน มี 4 ชนิดย่อยที่เป็นที่ยอมรับแม้ว่าจะมีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย และ ITIS มีรายชื่อเพียงสองชนิดแรกเท่านั้น[3]

  • P. h. haliaetus (Linnaeus, 1758) – พบในทวีปยูเรเชีย[6]
  • P. h. carolinensis (Gmelin, 1788) – พบในทวีปอเมริกาเหนือ มีขนาดใหญ่ที่สุด สีของลำตัวเข้มที่สุด และสีที่อกจางกว่าชนิด haliaetus[6]
  • P. h. ridgwayi (Maynard, 1887) – พบในหมู่เกาะแคริบเบียน สีบริเวณหัวและอกจางกว่าชนิด haliaetus และเป็นเพียงชนิดเดียวที่สีแต้มบริเวณตาจาง[6] เป็นนกประจำถิ่น ชื่อวิทยาศาสตร์ตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่ โรเบิร์ต ริดก์เวย์ (Robert Ridgway) นักวิหควิทยาชาวอเมริกัน[7]
  • P. h. cristatus (Vieillot, 1816) – พบตามชายฝั่งทะเลและแม่น้ำขนาดใหญ่ของประเทศออสเตรเลียและรัฐแทสเมเนีย มีขนาดเล็กที่สุด เป็นนกประจำถิ่น[6]

ซากดึกดำบรรพ์

[แก้]

ในปัจจุบัน พบนก 2 ชนิดในสกุล Pandion จากซากดึกดำบรรพ์[8] หนึ่งคือ Pandion homalopteron ได้รับการตั้งชื่อโดย สทูอาร์ต แอล. วอร์เทอร์ (Stuart L. Warter) ในปี ค.ศ. 1976 จากซากดึกดำบรรพ์กลางสมัยไมโอซีน ช่วงอายุบาร์สโตเวียน (Barstovian) พบในสิ่งทับถมภาคพื้นสมุทรในตอนใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ชนิดที่สองคือ Pandion lovensis ได้รับการจำแนกในปี ค.ศ. 1985 โดย โจนาทาน เจ. เบกเคอร์ (Jonathan J. Becker) จากซากดึกดำบรรพ์ช่วงอายุตอนปลายคลาเรนโดเนียน (Clarendonian) ที่พบในรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นไปได้ที่จะเป็นตัวแทนของสายสกุลที่แยกออกมาจาก P. homalopteron และ P. haliaetus มีการค้นพบซากกรงเล็บดึกดำบรรพ์จากตะกอนชั้นหินสมัยไพลโอซีนและสมัยไพลสโตซีนในรัฐฟลอริดาและรัฐเซาท์แคโรไลนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ซากดึกดำบรรพ์ของนกวงศ์ Pandionidae ที่เก่าแก่ที่สุดเป็นซากดึกดำบรรพ์ในสมัยโอลิโกซีน หมวดหินเจเบลเกทรานิ (Jebel Qatrani Formation) เมืองฟายุม (Faiyum) ประเทศอียิปต์ แต่ซากดึกดำบรรพ์ก็ไม่สมบูรณ์พอที่จะระบุสกุลได้[9] ซากกรงเล็บดึกดำบรรพ์อื่นๆ ได้รับการค้นพบในสิ่งทับถมสมัยโอลิโกซีนตอนต้น ลุ่มน้ำไมนทซ์ ประเทศเยอรมนี และได้รับการจำแนกในปี ค.ศ. 2006 โดยเกอร์รัลด์ ไมร์ (Gerald Mayr)[10]

ศัพทมูลวิทยา

[แก้]

ชื่อสกุล Pandion ตั้งตามชื่อกษัตริย์ในเทพปกรณัมกรีก แพนดีออน (Pandion) แห่งเอเธนส์และเป็นปู่ของธีสซูส (Theseus) ผู้ซึ่งกลายร่างเป็นนกอินทรี[11] ชื่อลักษณะ haliaetus มาจากภาษากรีกโบราณ ἁλιάετος"อินทรีทะเล/ออสเปร"[12]

ที่มาของคำว่า Osprey (ออสเปร) นั้นไม่แน่ชัด[13] คำนี้มีบันทึกครั้งแรกราวปี ค.ศ. 1460 กลายมาจากภาษาแอนโกล-ฝรั่งเศส ospriet และภาษาละตินยุคกลาง คำว่า avis prede ซึ่งแปลว่า "นกล่าเหยื่อ" โดยมาจากภาษาละตินคำว่า avis praedæ แม้ว่าพจนานุกรมภาษาอังกฤษ ฉบับออกซฟอร์ดบันทึกว่ามีความเชื่อมโยงกับภาษาละตินคำว่า ossifraga หรือ "นักหักกระดูก" ของพลินิผู้อาวุโส[14][15] ซึ่งคำนี้หมายถึงแร้งเครายาว (Lammergeier)[16]

ลักษณะ

[แก้]
ขณะบินพร้อมปลาที่จับได้ในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา
คู่นกที่รังเทียมในรัฐออริกอน สหรัฐอเมริกา

เหยี่ยวออสเปรหนัก 0.9–2.1 กิโลกรัม ยาว 50–66 เซนติเมตร ช่วงปีกกว้าง 127–180 เซนติเมตร[17] ส่วนบนมีสีน้ำตาลเข้มเป็นมัน อกมีสีขาวบางครั้งมีลายสีน้ำตาล และส่วนล่างเป็นสีขาวล้วน หัวมีสีขาว มีหน้ากากสีน้ำตาลเข้มพาดจากตาไปถึงคอด้านข้าง[18] ม่านตาเป็นสีทองถึงน้ำตาล และเยื่อหุ้มเป็นสีฟ้าอ่อน ปากสีดำ หนังโคนปากสีฟ้า ขามีสีขาว อุ้งเล็บสีดำ[4] หางสั้น ปีกเรียวยาวขนยาวปลายปีก 4 เส้น ขนสั้น 15 เส้นซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของนกชนิดนี้[19]

ความแตกต่างทางเพศไม่ชัดเจน แต่ในตัวผู้ที่โตเต็มวัยมีลักษณะต่างจากตัวเมียคือลำตัวเพรียวกว่า ปีกแคบกว่า แถบคาดอกของตัวผู้จะแคบจางกว่าตัวเมียหรือไม่มีเลย และขนปีกด้านในของตัวผู้จะจางเสมอกัน มันเป็นการง่ายที่จะแยกเพศในคู่นกแต่ยากที่จะแยกเพศเมื่อนกอยู่ตามลำพัง[19]

นกวัยอ่อนระบุบได้จากไรขนสีเนื้อบนชุดขนส่วนบน ชุดขนส่วนล่างมีสีเนื้อ และขนเป็นริ้วลานบนส่วนหัว ระหว่างฤดูใบไม้ผลิ แถบขีดใต้ปีกและแถบขีดบนขนปีกเป็นเครื่องบ่งชี้ที่ดีว่าเป็นนกวัยอ่อนเพราะเหมือนมันสวมเสื้ออยู่[18]

ขณะบิน ปีกของเหยี่ยวออสเปรจะโค้ง ปลายปีกห้อยลงมาเหมือนนกนางนวล เสียงร้องดัง "ชีป ชีป" หรือ "ปิ๊ว ปิ๊ว" ถ้าถูกรบกวนใกล้กับรังจะร้องอย่างบ้าคลั่งดัง "ชีรีก!"[20] เสียงร้องของเหยี่ยวออสเปร

การกระจายพันธุ์และถิ่นอาศัย

[แก้]
Pandion haliaetus
ขณะบิน

เหยี่ยวออสเปรมีการกระจายพันธุ์เป็นวงกว้างเกือบจะทั่วโลก พบในพื้นที่เขตอบอุ่นและเขตร้อนของทุกทวีปยกเว้นทวีปแอนตาร์กติกา ในทวีปอเมริกาเหนือเหยี่ยวแพร่พันธุ์จากรัฐอะแลสกาและรัฐนิวฟันด์แลนด์ลงใต้ไปจนถึงรัฐรอบอ่าวเม็กซิโกและรัฐฟลอริดา เมื่อฤดูหนาวจะย้ายลงใต้จากทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกาไปจนถึงประเทศอาร์เจนตินา[21] ในฤดูร้อนจะพบทั่วทั้งยุโรปเหนือในสแกนดิเนเวียและสกอตแลนด์แต่ไม่พบในไอซ์แลนด์ และในฤดูหนาวจะพบในแอฟริกาเหนือ[22] ในประเทศออสเตรเลีย โดยมากเหยี่ยวออสเปรจะเป็นนกประจำถิ่นพบทั่วไปตามแนวชายฝั่งทะเล แม้ว่ามันจะเป็นนกอพยพนอกฤดูผสมพันธุ์ในทางตะวันออกของรัฐวิกตอเรียและรัฐแทสเมเนียด้วยก็ตาม[23] การกระจายพันธุ์ของมันมีช่องว่างถึง 1,000 กิโลเมตรระหว่างชายฝั่งของที่ราบนัลลาบอร์ (Nullarbor Plain) ระหว่างเขตขยายพันทางตะวันตกที่ไกลที่สุดในรัฐเซาท์ออสเตรเลียและเขตขยายพันธุ์ที่ใกล้ที่สุดไปทางตะวันตกในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย[24] ในเกาะของมหาสมุทรแปซิฟิก มันสามารถพบได้ในเกาะบิสมาร์ก (Bismarck) หมู่เกาะโซโลมอน และนิวแคลิโดเนีย และยังมีการพบซากดึกดำบรรพ์ของนกโตเต็มวัยและนกวัยอ่อนในประเทศตองงาซึ่งอาจสูญพันธุ์ไปโดยฝีมือของมนุษย์[25] มันอาจมีพิสัยข้ามไปถึงประเทศวานูอาตูและประเทศฟิจิเช่นกัน เหยี่ยวออสเปรเป็นนกอพยพในฤดูหนาวและนกพลัดหลงในทุกพื้นที่ของเอเชียใต้[26] และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากประเทศพม่าไปถึงอินโดจีน และ ตอนใต้ของประเทศจีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศฟิลิปปินส์[27]

พฤติกรรม

[แก้]

อาหาร

[แก้]
ลักษณะการพุ่งโฉบ จับเหยื่อ และโผบินขึ้นไปพร้อมเหยื่อของเหยี่ยวออสเปรในประเทศอินเดีย

อาหารของเหยี่ยวออสเปรเป็นปลาถึง 99% [28] โดยปกติแล้วมันสามารถจับปลาหนักได้ถึง 150–300 กรัม ยาว 25–35 เซนติเมตร แต่น้ำหนักปลาที่สามารถจับได้อยู่ในช่วง 50 ถึง 2,000 กรัม

เหยี่ยวออสเปรจะมองเห็นเหยื่อเหนือน้ำ 10-40 เมตร หลังจากนั้นนกจะโฉบลงไปและแหย่ขาจุ่มลงไปในน้ำเพื่อจับเหยื่อ[29] เหยี่ยวออสเปรมีการปรับตัวเป็นพิเศษโดยเฉพาะสำหรับจับปลา ด้วยนิ้วเท้าด้านนอกที่พลิกกลับได้ ใต้นิ้วเท้ามีรูปร่างคล้ายเข็ม[30] รูจมูกปิดได้เพื่อกันน้ำเข้าระหว่างการพุ่งโฉบ และเกล็ดย้อนกลับบนกรงเล็บทำหน้าที่คล้ายหนามเพื่อช่วยยึดสิ่งที่มันจับได้

บางคราว เหยื่อของเหยี่ยวออสเปรอาจเป็นสัตว์ฟันแทะ กระต่าย สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ นกชนิดอื่นๆ[31] และสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก[32]

การสืบพันธุ์

[แก้]

แหล่งผสมพันธุ์วางไข่ของเหยี่ยวออสเปรเป็นทะเลสาบน้ำจืด หรือชายฝั่งน้ำกร่อย บนก้อนหินที่โผล่พ้นน้ำทะเลใกล้ชายฝั่งของเกาะร็อตท์เนสท์ (Rottnest Island) บริเวณชายฝั่งของรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย มีประมาณ 14 แห่งถูกใช้เป็นสถานที่ทำรังซึ่งในปีหนึ่งๆจะมีการใช้ 5-7 แห่ง และหลายแห่งมีการซ่อมแซมเพื่อใช้งานทุกฤดู และบางแห่งใช้มานานถึง 70 ปี รังมีขนาดใหญ่ สร้างจากกิ่งไม้ เศษไม้ และสาหร่ายทะเล โดยสร้างบนง่ามต้นไม้ แท่งหิน เสาสาธารณูปโภค รังเทียม หรือ เกาะแก่งใกล้ชายฝั่ง[28][33] โดยทั่วไปเหยี่ยวออสเปรจะโตเต็มที่และเริ่มผสมพันธุ์เมื่ออายุ 3-4 ปี แต่ในบางพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของประชากรของเหยี่ยวออสเปรสูง เช่น อ่าวเชซาพีค (Chesapeake Bay) ในสหรัฐอเมริกา และขาดแคลนสิ่งก่อสร้างที่สูงพอเหมาะสำหรับการทำรัง นกจะเริ่มผสมพันธุ์เมื่อมีอายุ 5-7 ปี ถ้าไม่มีสถานที่สำหรับทำรังวางไข่ เหยี่ยวออสเปรที่เป็นวัยรุ่นจะถูกบังคับให้ยืดการผสมพันธุ์วางไข่ออกไปอีก เพื่อลดปัญหานี้ บางครั้งจึงมีการสร้างสถานที่ที่เหมาะสมให้กับนกเพื่อสร้างรัง[34]

รังเทียมที่ได้รับการออกแบบจากองค์กร Citizens United to Protect the Maurice River and Its Tributaries, Inc. กลายเป็นรังเทียมมาตรฐานของรัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา ด้วยแบบของรังเทียมและวัสดุหาได้ง่ายจึงมีการนำไปใช้เป็นจำนวนมากในหลายๆพื้นที่ที่มีภูมิประเทศต่างกันไป[35]

โดยปกติเหยี่ยวออสเปรมีคู่เพียงตัวเดียวตลอดชีวิต แต่ก็มีกรณีที่มีคู่มากกว่าหนึ่งตัวบันทึกไว้ซึ่งพบเห็นได้ยาก[36] ฤดูผสมพันธุ์ขึ้นกับสถานที่โดยกำหนดได้จากเส้นรุ้ง ในตอนใต้ของประเทศออสเตรเลียจะเป็นฤดูใบไม้ผลิ (กันยายน-ตุลาคม) ในตอนเหนือของประเทศออสเตรเลียเป็นเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม และในตอนใต้ของรัฐควีนส์แลนด์เป็นฤดูหนาว (มิถุนายน-สิงหาคม)[33] ในฤดูใบไม้ผลิคู่นกจะเริ่มใช้เวลาร่วมกันถึง 5 เดือนในการเลี้ยงดูลูก เหยี่ยวเพศเมียจะวางไข่ 2-4 ฟองในเดือนแรก และทำการกกไข่เพื่อให้ความร้อนแก่ไข่ ไข่มีสีขาว มีจุดหนาสีน้ำตาลแดง มีขนาดประมาณ 6.2 x 4.5 เซนติเมตร และหนักประมาณ 65 กรัม[33] ไข่ให้เวลาประมาณ 5 สัปดาห์ในการฟักเป็นตัว

ลูกนกเกิดใหม่มีน้ำหนัก 50-60 กรัม ใช้เวลาเลี้ยงดูประมาณ 8-10 สัปดาห์ จากการศึกษาบนเกาะจิงโจ้ (Kangaroo Island) ตอนใต้ของประเทศออสเตรเลียเวลาเฉลี่ยที่ใช้เลี้ยงดูลูกนกอยู่ที่ 69 วัน จากการศึกษาเดียวกันพบว่าเฉลี่ยแล้วมีลูกนกที่โตเต็มที่ 0.66 ตัวต่อปีต่ออาณาเขตครอบครอง และ 0.92 ตัวต่อปีต่อรัง มีนกวัยอ่อน 22 % ที่สามารถรอดตายอาศัยอยู่บนเกาะหรือกลับมาเมื่อโตเต็มที่เพื่อผสมพันธุ์[36] เมื่ออาหารขาดแคลน ลูกนกที่ฟักตัวแรกมีหวังจะรอดตายมากที่สุด ปกติเหยี่ยวออสเปรช่วงชีวิต 7-10 ปี แต่ก็มีนกบางตัวที่มีอายุยืน 20-25 ปี เหยี่ยวออสเปรที่อายุมากที่สุดในยุโรปมีอายุมากกว่า 30 ปี ในอเมริกาเหนือ นกเค้าหูยาวและนกอินทรีหัวล้าน (และนกอินทรีชนิดอื่นที่มีขนาดใกล้เคียง) เป็นศัตรูหลักของลูกนกและนกวัยอ่อน[32] พบปรสิตพยาธิตัวแบน (Scaphanocephalus expansus และ Neodiplostomum spp.) ในเหยี่ยวออสเปรตามธรรมชาติ[37]

การอพยพ

[แก้]

เหยี่ยวออสเปรในทวีปยุโรปจะอพยพไปทวีปแอฟริกาในฤดูหนาว[38] นกเหยี่ยวในสหรัฐอเมริกาและประเทศแคนาดาจะอพยพไปทวีปอเมริกาใต้ แต่ก็มีบางตัวที่รั้งอยู่ในรัฐทางตอนใต้สุดของสหรัฐอเมริกา เช่น รัฐฟลอริดา และ รัฐแคลิฟอร์เนีย[39] และก็มีเหยี่ยวออสเปรบางตัวในรัฐฟลอริดาอพยพไปทวีปอเมริกาใต้[40] เหยี่ยวออสเปรในออสตราเลเซียมักจะเป็นนกประจำถิ่น

จากการศึกษาเหยี่ยวออสเปรในประเทศสวีเดนแสดงว่าเหยี่ยวเพศเมียจะอพยพไปทวีปแอฟริกาก่อนเพศผู้ พบนกอพยพผ่านจำนวนมากระหว่างการย้ายถิ่นในฤดูใบไม้ร่วง ความผันแปรของเวลาและช่วงเวลาในฤดูใบไม้ร่วงมีความไม่แน่นอนมากกว่าในฤดูใบไม้ผลิ แม้ว่าการอพยพปกติจะกระทำในเวลากลางวัน แต่ก็มีการบินอพยพในเวลากลางคืนโดยเฉพาะในการบินข้ามน้ำ ครอบคลุมโดยเฉลี่ย 260-280 กม./วัน มากที่สุด 431 กม./วัน[41] นกเหยี่ยวในยุโรปอาจมีการอพยพย้ายถิ่นฐานไปเอเชียใต้ในฤดูหนาว เคยมีการพบเหยี่ยวออสเปรที่สวมแหวนที่ข้อเท้าของประเทศนอร์เวย์ในทางตะวันตกของประเทศอินเดีย[42]

สถานะการอนุรักษ์

[แก้]

เหยี่ยวออสเปรมีการกระจายพันธุ์กว้างกินพื้นที่ถึง 9,670,000 กม.2 แค่ในแอฟริกาและอเมริกา คาดกันว่าทั่วโลกมีประชากรเหยี่ยวออสเปรถึง 460,000 ตัว ถึงแม้ว่าจำนวนประชากรทั่วโลกจะไม่มีการระบุบแน่ชัด แต่ก็เชื่อว่ายังไม่เข้าเกณฑ์การลดลงของจำนวนประชากรของบัญชีแดงของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (การลดลงของจำนวนประชากรต้องมากกว่า 30% ใน 10 ปีหรือ 3 รุ่น) และด้วยเหตุนี้เหยี่ยวออสเปรจึงถูกจัดสถานะเป็นความเสี่ยงต่ำ[43] มีหลักฐานการลดจำนวนลงในระดับภูมิภาคในรัฐเซาท์ออสเตรเลียซึ่งเป็นถิ่นอาศัยดั้งเดิมในอ่าวสเพนเซอร์ (Spencer Gulf) และตามแม่น้ำมูร์เรย์ (Murray River) ช่วงล่างซึ่งไม่พบเหยี่ยวมาหลายทศวรรษแล้ว[24]

ในตอนปลายของคริสต์ศตวรรษที่ 19 และตอนต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 20 การคุกคามต่อประชากรเหยี่ยวออสเปรหลักๆคือการเก็บกินไข่และการล่านกที่โตเต็มวัยโดยนกนักล่าชนิดอื่น[32][44] แต่การลดลงอย่างรุนแรงของจำนวนประชากรในหลายพื้นที่ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1950 และ 1960 บางส่วนนั้นเกิดจากผลกระทบที่เกิดขึ้นในระบบสืบพันธุ์จากยาฆ่าแมลง เช่น DDT[45] ยาฆ่าแมลงส่งผลต่อกระบวนการเผาผลาญแคลเซียมของนกเป็นผลให้เปลือกไข่บาง แตกง่าย หรือ ไข่ฝ่อไม่เป็นตัว[21] เพราะการห้ามใช้ DDT ในหลายประเทศในตอนต้นของคริสต์ทศวรรษที่ 1970 และการรบกวนที่ลดลง ทำให้เหยี่ยวออสเปรและนกล่าเหยื่อชนิดอื่นที่ได้รับผลกระทบเพิ่มจำนวนขึ้น[28] ในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย สถานที่ทำรังบนคาบสมุทรไอร์ (Eyre Peninsula) และเกาะจิงโจ้กำลังเสี่ยงต่อการคุกคามจากสันทนาการชายหาดที่ไม่มีการจัดการและการพัฒนาเมืองที่รุกล้ำเข้ามา[24]

ในเชิงวัฒนธรรม

[แก้]
นกวัยอ่อนบนรังเทียม

นีซอส (Nisos) กษัตริย์แห่งเมการา (Megara) ในตำนานเทพเจ้ากรีกได้กลายร่างเป็นอินทรีทะเลหรือเหยี่ยวออสเปรและเข้าจิกตีพระธิดาของตนหลังจากทราบว่าพระธิดาได้ตกหลุมรักไมนอส (Minos) กษัตริย์แห่งครีต[46]

พลินิผู้อาวุโส นักเขียนชาวโรมันได้บันทึกว่าพ่อแม่ของเหยี่ยวออสเปรจะให้ลูกบินถึงอาทิตย์เพื่อทำการทดสอบ ซึ่งไม่เป็นความจริง[47]

อีกตำนานหนึ่งที่กล่าวถึงเหยี่ยวออสเปร มาจากงานเขียนของอัลเบอร์ตัส แม็กนัสและบันทึกใน Holinshed's Chronicles ซึ่งเขียนว่านกมีเท้าข้างหนึ่งเป็นพังผืดและอีกข้างเป็นกรงเล็บ[44][48]

มีความเชื่อในสมัยยุคกลางกันว่าปลานั้นถูกสะกดโดยเหยี่ยวออสเปร ทำให้ปลาหงายท้องยอมให้จับแต่โดยดี[44] ซึ่งความเชื่อนี้ได้รับการอ้างอิงโดยเชกสเปียร์ในองก์ที่ 4 ฉากที่ 5 ของ Coriolanus:

I think he'll be to Rome

As is the osprey to the fish, who takes it

By sovereignty of nature.

กวีชาวไอริช วิลเลียม บัสเลอร์ เยตส์ (William Butler Yeats) ได้ใช้เหยี่ยวออสเปรพเนจรสีเทาเป็นตัวแทนของความเสียใจใน The Wanderings of Oisin and Other Poems (1889)[47]

ในมุทราศาสตร์ เหยี่ยวออสเปรวาดแสดงในรูปนกอินทรีสีขาว[48] และเมื่อไม่นานมานี้ นกได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการตอบสนองในเชิงบวกต่อธรรมชาติ[44] และเป็นรูปที่ปรากฏบนแสตมป์มากกว่า 50 ดวง[49] ถูกใช้เป็นชื่อตราสินค้าหลายชนิด ชื่อทีมกีฬา (เช่น ทีมออสเปร (Ospreys) กีฬารักบี้ ทีมมิสซูลา ออสเปร (Missoula Osprey) กีฬาเบสบอล ทีมซีแอตเทิล ซีฮอว์ก (Seattle Seahawks) กีฬาอเมริกันฟุตบอล และ นอร์ท ฟลอริดา ออสเปร (North Florida Ospreys) ทีมกีฬามหาวิทยาลัย) หรือเป็นตัวนำโชค (เช่น ทีมสกีเมืองเจอราลด์ตัน (Geraldton) ในประเทศออสเตรเลีย มหาวิทยาลัยนอร์ท ฟลอริดา (University of North Florida) มหาวิทยาลัย ซาลี เรกกินา (Salve Regina University) วิทยาลัยวากเนอร์ (Wagner College) มหาวิทยาลัยนอร์ท แคโรไลนา (University of North Carolina) ที่วิลมิงตัน และวิทยาลัยริชาร์ด สตอกตัน (Richard Stockton College)[50][51]

อ้างอิง

[แก้]
  1. BirdLife International (2021). "Pandion haliaetus". IUCN Red List of Threatened Species. 2021: e.T22694938A206628879. doi:10.2305/IUCN.UK.2021-3.RLTS.T22694938A206628879.en. สืบค้นเมื่อ 9 March 2022.
  2. Linnaeus, C (1758). Systema naturae per regna tria naturae, secundum classes, ordines, genera, species, cum characteribus, differentiis, synonymis, locis. Tomus I. Editio decima, reformata. Holmiae. (Laurentii Salvii). p. 91. F. cera pedibusque caeruleis, corpore supra fusco subtus albo, capite albido (ละติน)
  3. 3.0 3.1 "Pandion haliaetus ". Integrated Taxonomic Information System. สืบค้นเมื่อ 2007-09-05.
  4. 4.0 4.1 Terres, J. K. (1980). The Audubon Society Encyclopedia of North American Birds. New York, NY: Knopf. pp. 644–646. ISBN 0394466519.
  5. Salzman, Eric (December 1993). "Sibley's Classification of Birds". Birding. The Johns Hopkins University Press. 58 (2): 91. doi:10.2307/2911426. JSTOR 10.2307/2911426. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-08-13. สืบค้นเมื่อ 2007-09-05.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 Tesky, Julie L. (1993). "Pandion haliaetus ". U.S. Department of Agriculture, Forest Service. สืบค้นเมื่อ 2007-09-06.
  7. Barrow, M. V. (1998). A passion for Birds: American ornithology after Audubon. Princeton, NJ: Princeton University Press. ISBN 0691044023.
  8. Avibase Pandion entry Accessed on 2 December 2010
  9. Olson, S. L. (1985). Avian Biology Vol. III (Chapter 2. The fossil record of birds). Academic Press.
  10. Mayr, G. (2006). "An osprey (Aves: Accipitridae: Pandioninae) from the early Oligocene of Germany". Palaeobiodiversity and Palaeoenvironments. 86 (1): 93–96. doi:10.1007/BF03043637.
  11. Graves, R (1955). "The Sons of Pandion". Greek Myths. London: Penguin. pp. 320–323. ISBN 0-14-001026-2.
  12. LSJ, s.v. ἁλιάετος เก็บถาวร 2021-12-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  13. Livingston, C.H. (1943). "Osprey and Ostril". Modern Language Notes. 58 (2): 91–98. doi:10.2307/2911426. JSTOR 2911426.
  14. Morris, W (1969). The American Heritage Dictionary of the English Language. Boston: American Heritage Publishing Co., Inc. and Houghton Mifflin Company.
  15. "Osprey". Online Etymology Dictionary. สืบค้นเมื่อ 2007-06-29.
  16. J. Simpson; E. Weiner, บ.ก. (1989). "Osprey". Oxford English Dictionary (2nd ed.). Oxford: Clarendon Press. ISBN 0-19-861186-2.
  17. Ferguson-Lees & Christie, Raptors of the World. Houghton Mifflin Company (2001), ISBN 978-0-618-12762-7
  18. 18.0 18.1 "Osprey". Connecticut Department of Environmental Protection. 1999. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-09. สืบค้นเมื่อ 2007-09-30.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  19. 19.0 19.1 Forsman, Dick (2008). The Raptors of Europe & the Middle East A Handbook of Field Identification. Princeton University Press. pp. 21–25. ISBN 0856610984.
  20. Peterson, Roger Tory (1999). A Field Guide to the Birds. Houghton Mifflin Company. p. 136. ISBN 978-0395911761.
  21. 21.0 21.1 Bull J, Farrand, J Jr (1987). Audubon Society Field Guide to North American Birds:Eastern Region. New York: Alfred A. Knopf. p. 469. ISBN 0-394-41405-5.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  22. Hume R (2002). RSPB Birds of Britain and Europe. London: Dorling Kindersley. pp. 89. ISBN 0-7513-1234-7.
  23. Simpson K, Day N, Trusler P (1993). Field Guide to the Birds of Australia. Ringwood, Victoria: Viking O'Neil. p. 66. ISBN 0-670-90478-3.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  24. 24.0 24.1 24.2 Dennis, TE (2007). "Distribution and status of the Osprey (Pandion haliaetus) in South Australia". Emu. 107 (4): 294–299. doi:10.1071/MU07009. ISSN 0158-4197.
  25. Steadman D, (2006). Extinction and Biogeography in Tropical Pacific Birds, University of Chicago Press. ISBN 978-0-226-77142-7
  26. Rasmussen, P. C. & J. C. Anderton (2005). Birds of South Asia. The Ripley Guide. Vols 1 & 2. Smithsonian Institution and Lynx Edicions.
  27. Strange M (2000). A Photographic Guide to the Birds of Southeast Asia including the Philippines and Borneo. Singapore: Periplus. p. 70. ISBN 962-593-403-0.
  28. 28.0 28.1 28.2 Evans DL (1982). "Status Reports on Twelve Raptors:Special Scientific Report Wildl. No. 238". U.S. Dept. Interior, Fish and Wildl. Serv. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  29. Poole, A. F., R. O. Bierregaard, and M. S. Martell. (2002). Osprey (Pandion haliaetus). In The Birds of North America, No. 683 (A. Poole and F. Gill, eds.). The Birds of North America, Inc., Philadelphia, PA.
  30. Clark, W. S. & B. K. Wheeler 1987. A field guide to Hawks of North America. Houghton Mifflin, Boston. ISBN 0-395-36001-3
  31. Goenka, DN (1985). "The Osprey (Pandion haliaetus haliaetus) preying on a Gull". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 82 (1): 193–194.
  32. 32.0 32.1 32.2 Kirschbaum, K.; Watkins P. "Pandion haliaetus". University of Michigan Museum of Zoology. สืบค้นเมื่อ 2008-01-03.
  33. 33.0 33.1 33.2 Beruldsen, G (2003). Australian Birds: Their Nests and Eggs. Kenmore Hills, Qld: self. p. 196. ISBN 0-646-42798-9.
  34. "Osprey". Chesapeake Bay Program. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2001-03-08. สืบค้นเมื่อ 2008-12-02.
  35. "Osprey platform plans". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-04-11. สืบค้นเมื่อ 2010-06-27.
  36. 36.0 36.1 Dennis, TE (2007). "Reproductive activity in the Osprey (Pandion haliaetus) on Kangaroo Island, South Australia". Emu. 107 (4): 300–307. doi:10.1071/MU07010.
  37. Hoffman, Glenn L. (1953). "Scaphanocephalus expansus (Crepl.), a Trematode of the Osprey, in North America". The Journal of Parasitology. 39 (5): 568.
  38. Mullarney, Killian; Svensson, Lars, Zetterstrom, Dan; Grant, Peter. (2001). Birds of Europe. Princeton University Press. 74–5 ISBN 0-691-05054-6
  39. "Migration Strategies and Wintering Areas of North American Ospreys as Revealed by Satellite Telemetry" (PDF). Newsletter Winter 2000. Microwave Telemetry Inc. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-01-22. สืบค้นเมื่อ 2008-12-02.
  40. Martell, M.S.; Mcmillian, M.A.; Solensky, M.J.; Mealey, B.K. (2004). "Partial migration and wintering use of florida by ospreys". Journal of Raptor Research. 38 (1): 55–61.
  41. Alerstam, T., Hake, M. & Kjellén, N. 2006. "Temporal and spatial patterns of repeated migratory journeys by ospreys เก็บถาวร 2009-12-19 ที่ WebCite" Animal Behaviour 71:555–566. (PDF)
  42. Mundkur,Taej (1988). "Recovery of a Norwegian ringed Osprey in Gujarat, India". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 85 (1): 190.
  43. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ IUCN
  44. 44.0 44.1 44.2 44.3 Cocker, Mark; Mabey, Richard (2005). Birds Britannica. London: Chatto & Windus. pp. 136–141. ISBN 0-7011-6907-9.
  45. Ames, P (1966). "DDT Residues in the eggs of the Osprey in the North-eastern United States and their relation to nesting success". J. Appl. Ecol. British Ecological Society. 3 ((Suppl.)): 87–97. doi:10.2307/2401447.
  46. Ovid, Metamorphoses 8.90
  47. 47.0 47.1 de Vries, Ad (1976). Dictionary of Symbols and Imagery. Amsterdam: North-Holland Publishing Company. p. 352. ISBN 0-7204-8021-3.
  48. 48.0 48.1 Cooper, JC (1992). Symbolic and Mythological Animals. London: Aquarian Press. p. 170. ISBN 1-85538-118-4.
  49. "Osprey". Birds of the World on Postage Stamps. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-08. สืบค้นเมื่อ 2008-01-01.
  50. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-19. สืบค้นเมื่อ 2010-09-09.
  51. "UNCW Facts". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-05-06. สืบค้นเมื่อ 2009-04-16.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]