ข้ามไปเนื้อหา

เว่ย์ จงเสียน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เว่ย์ จงเสียน
เกิด27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1568(1568-02-27)
เสียชีวิต11 ธันวาคม ค.ศ. 1627(1627-12-11) (59 ปี)

เว่ย์ จงเสียน (จีน: 魏忠賢) เป็นขันทีชาวจีนผู้มีชีวิตอยู่ในปลายราชวงศ์หมิง เขาได้รับการกล่าวถึงจากนักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ ฐานะเป็นขันทีที่ฉาวโฉ่ที่สุดในประวัติศาสตร์จีน[1] เขาเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในการรับใช้ในราชสำนักของจักรพรรดิเทียนฉี่ (ค. 1620–1627) เมื่ออำนาจของเขาเทียบเท่ากับองค์จักรพรรดิ

ในรัชสมัยของพระองค์ จักรพรรดิเทียนฉี่ไม่ใส่พระทัยต่อกิจการบ้านเมืองปล่อยให้เว่ย์ จงเสียนใช้อำนาจเกินขอบเขต ออกประกาศแต่งตั้งและปลดขุนนางหลายร้อยคน 1 ในขุนพลที่ได้รับการสนับสนุนจากเว่ย์ จงเสียนคือเหมา เหวินหลง ระหว่างรัชสมัยจักรพรรดิเทียนฉี่ เว่ย์ส่งราชโองการให้หน่วยองครักษ์เสื้อแพรที่นำโดย สฺวี เซี่ยนฉุน (許顯純) ผู้บัญชาการเรือนจำ เพื่อกำจัดข้าราชการที่ทุจริตและศัตรูทางการเมือง สฺวีดำเนินการปราบปรามขบวนการตงหลิน ด้วยการจับกุมและปลดข้าราชการและบัณฑิตที่เกี่ยวข้องหลายร้อยคน รวมถึงโจว ซ่งเจี้ยน โจว ชุนชาง และหยางเหลียน

เมื่อจักรพรรดิฉงเจินขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้รับฎีการ้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมของเว่ย์ จงเสียน และสฺวี เซี่ยนฉุน จักรพรรดิฉงเจินจึงมีพระบัญชาให้หน่วยทหารองครักษ์เสื้อแพรเข้าจับกุมเว่ย์ จงเสียน เว่ย์จึงตัดสินใจจบชีวิตตัวเองด้วยการฆ่าตัวตาย นอกจากนี้ ยังมีพระราชโองการลงโทษขุนนาง 161 คน และประหารชีวิตผู้ร่วมขบวนการของเว่ย์จำนวน 24 คน แม่นมเค่อ ซึ่งเป็นภรรยาของเว่ย์ถูกทุบตีจนตาย ชาวจีนจำนวนมากแสดงความไม่พอใจต่อเหตุการณ์นี้ โดยมีการแต่งเรื่องราวและบทละครเพื่อเสียดสีและวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ในที่สุด ราชวงศ์หมิงก็ล่มสลายพ่ายแพ้ต่อราชวงศ์ชิง

ประวัติ[แก้]

แทบไม่มีใครทราบเกี่ยวกับชีวิตของเว่ย์ก่อนเข้าสู่ราชสำนัก เว่ย์ไม่รู้หนังสือเลยตลอดชีวิต ซึ่งอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเขาเกิดในครอบครัวชนชั้นชาวนาหรือชนชั้นพ่อค้า สันนิษฐานว่าเขาเกิดในปี 1568 ในอำเภอซู่หนิง (100 ไมล์ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงปักกิ่ง) ได้แต่งงานกับหญิงสาวสกุลฟางและตอนตัวเองเมื่ออายุ 21 ปี (บันทึกราชวงศ์หมิงอ้างว่าเขาทำอย่างนั้นเพื่อหนีหนี้การพนันของเขา)[2] ด้วยชื่อเสียงที่โด่งดังในวัฒนธรรมจีนกว่า 400 ปีที่ผ่านมา เรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับชีวิตช่วงต้นของเขาก็ปรากฏขึ้นมากมาย หลายเรื่องแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นอันธพาลและนักพนันตัวยง

ก้าวเข้าสู่ราชสำนัก[แก้]

โดยอาศัยญาติทางฝ่ายแม่ เว่ย์จึงสามารถเข้ารับราชการในพระราชวังต้องห้ามได้ หลังจากเข้ารับราชการในฐานะขันที เขาก็ใช้ชื่อว่า หลี่ จิ้นจง[3][4] ในฐานะขันทีในราชสำนักหมิง เว่ย์จงเสียนค่อย ๆ ได้รับความไว้วางใจจากข้าราชสำนัก ขณะทำงานในตำแหน่งต่าง ๆ ที่ไม่เป็นทางการ ในปี 1605 เขาได้รับมอบหมายให้รับใช้พระสนมหวังและเจ้าชายจู โหย่วเจียว พระโอรสองค์น้อยของพระนาง ซึ่งในที่สุดจะกลายเป็นจักรพรรดิเทียนฉี่[2] ในช่วงที่รับใช้พระสนมหวัง เขาสนิทสนมกับแม่นมเค่อ แม่นมของเจ้าชายจู โหย่วเจียว เมื่อเจ้าชายจู โหย่วเจียวเจริญพระชันษาขึ้น พระองค์ก็ผูกพันกับแม่นมเค่อ และเว่ย์ จงเสียน อย่างมาก โดยปฏิบัติต่อพวกเขาเหมือนพระบิดาพระมารดาแท้ ๆ ของพระองค์เมื่อพระมารดาของพระองค์สิ้นพระชนม์ในปี 1619

เรืองอำนาจ[แก้]

เมื่อจักรพรรดิว่านลี่ และจักรพรรดิไท่ชาง ผู้สืบทอดราชบัลลังก์ต่อจากพระองค์ ทั้งสองสวรรคตพร้อมกันในปี 1620 จึงได้เกิดวิกฤตการสืบราชบัลลังก์ หลังจากการสวรรคตของจักรพรรดิไท่ชาง ทำให้แม่นมเค่อ, เว่ย์ จงเสียน และเจ้าชายจู โหย่วเจียว อยู่ภายใต้การดูแลของ พระสนมหลี่ พระสนมในจักรพรรดิไท่ชาง ซึ่งเจ้าชายจู โหย่วเจียว รู้สึกเกลียดชังเป็นอย่างมาก[2] เช่นเดียวกับ หยางเหลียน ขุนนางฝ่ายตงหลินที่คัดค้านการขึ้นสู่อำนาจของพระสนมหลี่ เกรงว่าแผ่นดินจะตกอยู่ในเงื้อมมือของผู้สำเร็จราชการที่เป็นผู้หญิง (เจ้าชายจู โหย่วเจียว ยังทรงพระเยาว์พระชนม์เพียง 15 พรรษา) ด้วยเหตุนี้ หยางเหลียน จึงบุกเข้าพระราชวังต้องห้าม สถาปนาเจ้าชายจู โหย่วเจียวเป็นจักรพรรดิ[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Wei Zhongxian". Encyclopædia Britannica (Online Academic Edition). Encyclopædia Britannica Inc., 2014.
  2. 2.0 2.1 2.2 Dardess 2002, p. 35
  3. Tsai 1996, p. 4
  4. Mingji Beilüe, Volume 2, Ji Liuqi (計六奇)《明季北略》(卷2):“忠贤,北直河间府肃宁县人,原名李进忠,本姓魏,继父姓李,得宠后因避移宫事,改赐名忠贤。万历四十八年庚申九月初六日,熹宗立,年十六,未婚,乳母客氏,侯田儿之妻,年三十,妖艳。熹宗惑之,封为奉圣夫人,出入与俱。时忠贤渐用事,私杀司礼监王安、于海子,然与客氏尚未合。及熹宗婚,立张氏为皇后,王氏为良妃、段氏为妃,客氏不悦。熹宗赏赉无算。”
  5. Artwell, William (1978). "The T'aichang, T'ienchi, and Ch'ung-chen Reigns". ใน Mote, Frederick; Twitchett, Denis (บ.ก.). Cambridge History of China. Vol. 7 part 1. pp. 585–640. ISBN 9780521243322.
ผลงานที่อ้างถึง
  • Dardess, John W. (2002), Blood and History in China: The Donglin Faction and its Repression, Honolulu: University of Hawai’i Press
  • Wu, H Laura (May 2009). "Corpses on Display: Representations of Torture and Pain in the Wei Zhongxian Novels". Ming Studies. 59 (1): 42–55. doi:10.1179/175975909X466435. S2CID 144247718.
  • Tsai, Shi-shan Henry (1996). The Eunuchs in the Ming Dynasty. Albany, NY: State University of New York Press.