เวิง ถงเหอ
เวิง ถงเหอ | |
---|---|
เสนาบดีสรรพากร (户部尚書) | |
ดำรงตำแหน่ง 3 มกราคม 1886 – 15 มิถุนายน 1898 | |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 1830 |
เสียชีวิต | 1904 (อายุประมาณ 73-74 ปี) |
บุพการี | เวิง ซินฉุน (翁心存) |
ญาติ | เวิง ถงชู (翁同書) |
รางวัล | จอหงวนปี 1856 |
ชื่อเล่น | ชื่อหลังตาย: เวิงกง (文恭) |
เวิง ถงเหอ (จีน: 翁同龢; พินอิน: Wēng Tónghé; เวด-ไจลส์: Weng T'ung-ho; 1830–1904) สมัญญาว่า ชู ผิง (叔平) เป็นบัณฑิตขงจื้อและยังเป็นราชครูในสมัยราชวงศ์ชิง เขาได้เป็นจอหงวนในการสอบขุนนางเมื่อปี ค.ศ. 1856 และภายหลังได้เป็นสมาชิกคนหนึ่งของฮั่นหลินย่วน (翰林院) สถาบันการศึกษาอันทรงเกียรติ
บิดาของเวิง ถงเหอ เป็นข้าราชการที่ถูกกลั่นแกล้งโดยกลุ่มผู้มีอิทธิพลในราชสำนักซึ่งนำโดยซู่ ชุ่น (肃顺) (1816– 1861) อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ. 1861 เกิดกบฏขึ้นและนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงสถานะของซู่ ชุ่นและฝ่ายของเขา รัฐบาลใหม่ซี่งนำโดยเจ้าชายกง หรือกงชินหวังยี่ซิน (奕訢, 恭親王) พระนางซูอันไทเฮา (慈安皇太后) และพระนางซูสีไทเฮา (慈禧太后) ได้แต่งตั้งให้บิดาของเวิง ถงเหอ กลับมารับตำแหน่งสูงในราชการต่อไป[1] และเสียชีวิตลงในปีต่อมา (ค.ศ. 1862)
ปี ค.ศ. 1865 เวิง ถงเหอ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นราชครูของสมเด็จพระจักรพรรดิถงจื้อ (同治)[2] ร่วมกับราชครูอีกคน คือ หวัว เหริน (Wo Ren)[3] ในปี ค.ศ. 1873 จักรพรรดิถงจื้อได้ขึ้นครองราชย์แต่กลับสิ้นพระชนม์ในสองปีต่อมา มีบันทึกของราชครูเวิง ถงเหอ ไว้ว่า สมเด็จพระจักรพรรดิไม่ทรงสามารถอ่านหนังสือได้จบประโยคแม้จะมีพระชนมพรรษาสิบหกพรรษาแล้วก็ตาม[ต้องการอ้างอิง] ทำให้พระนางซูสีไทเฮาทรงพระปริวิตกเกี่ยวกับความหย่อนพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระจักรพรรดิอย่างยิ่ง
เห็นได้ชัดว่าเวิง ถงเหอ ได้รับการปกป้องจากการถูกโจมตีในเรื่องความล้มเหลวของการถวายการศึกษาแก่จักรพรรดิถงจื้อ เพราะเขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นราชครูของสมเด็จพระจักรพรรดิกวังซวี่ (光绪) ผู้สืบทอดต่แหน่งต่อจากสมเด็จพระจักรพรรดิถงจื้อ ในเวลาต่อมาขณะมีพระชนม์ได้ห้าพรรษา[4] ในฐานะราชครูของจักรพรรดิกวังซวี่ เขาได้เน้นการสอนให้องค์จักรพรรดิน้อยมีความเคารพและกตัญญูต่อพระนางซูสีไทเฮาอย่างมาก ทำให้องค์จักรพรรดิน้อยทั้งเคารพและหวาดกลัวพระนางไปพร้อมกัน[5]
พร้อม ๆ กับการเป็นราชครูของสมเด็จพระจักรพรรดิ เวิง ถงเหอ ได้สั่งสมอำนาจทางการเมืองด้วยโดยการรับตำแหน่งสำคัญ ๆ หลายตำแหน่งในการบริหารงานของราชวงศ์ชิง อาทิ ตำแหน่งรองประธานกรรมการสรรพากร และต่อมาได้เป็นประธานด้วย (President of the Board of Revenue) หัวหน้าฝ่ายตรวจการ (Director of the Censorate) และเป็นประธานกรรมการการลงโทษ (President of the Board of Punishment) นอกจากนั้น ในระหว่างปี ค.ศ. 1882–84 เขายังได้ทำหน้าที่ในกรมความลับทหาร (Grand Council) และยังมีส่วนตัดสินใจเข้าร่วมสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง (First Sino-Japanese War)[6]
เวิง ถงเหอ ยังเป็นที่รู้จักในฐานะผู้อุปการะคัง โหย่วเหวย์ (康有為) นักคิด นักเขียน และนักปฏิรูปคนสำคัญชาวจีนในช่วงปลายราชวงศ์ชิง ผู้เผยแพร่แนวความคิดเรื่องการปฏิรูปการปกครองในสมัยนั้น แต่มาในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ. 1898 เวิง ถงเหอ ก็เริ่มปลีกตัวออกห่าง[7] และเนื่องจากความสัมพันธ์นี้ ได้มีการกล่าวว่าพระนางซูสีไทเฮาจึงปลดเวิง ถงเหอ ออกจากราชสำนัก แต่ในความจริงแล้วเป็นองค์สมเด็จพระจักรพรรดิเองที่สั่งปลดเขาออกจากตำแหน่งในเดือนมิถุนายนปี ค.ศ. 1898 เนื่องจากการที่เขาได้โต้เถียงกับพระองค์อย่างรุนแรง[8]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ A Mosaic of the Hundred Days: Personalities, Politics and Ideas of 1898 (Harvard University Study Center, 1984), pgs. 51 & 52
- ↑ Kwong, Luke S.K. A Mosaic of the Hundred Days: Personalities, Politics and Ideas of 1898 (Harvard University Study Center, 1984) pg. 51
- ↑ Seagrave, Sterling Dragon Lady: the Life & Legend of the Last Empress of China (New York: Alfred A. Knopf, 1992) pg. 117
- ↑ Kwong, pg. 45
- ↑ ibid. pg. 50
- ↑ Kwong, pg. 51
- ↑ Kwong, pg. 146
- ↑ Ibid. pg. 162
- Weng Tonghe (1830-1904) Calligraphy Gallery เก็บถาวร 2012-03-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Hummel, Arthur William, ed. Eminent Chinese of the Ch'ing Period (1644-1912). 2 vols. Washington: United States Government Printing Office, 1943.