เลียงผาเหนือ
เลียงผาเหนือ | |
---|---|
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Mammalia |
อันดับ: | Artiodactyla |
วงศ์: | Bovidae |
วงศ์ย่อย: | Caprinae |
สกุล: | Capricornis |
สปีชีส์: | C. milneedwardsii |
ชื่อทวินาม | |
Capricornis milneedwardsii David, 1869 |
เลียงผาเหนือ (อังกฤษ: Chinese serow, Southwest china serow, Mainland serow; ชื่อวิทยาศาสตร์: Capricornis milneedwardsii[2]) เป็นสัตว์กีบคู่ชนิดหนึ่ง จำพวกเลียงผา
พบกระจายพันธุ์ในประเทศจีนทางใต้ ภูมิภาคอินโดจีน พม่า และรัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย ในประเทศไทยพบได้ในตอนเหนือของประเทศ และพบได้ทั่วทุกภาคยกเว้นภาคกลางและภาคใต้[2]
เลียงผาเหนือ มีขนที่หยาบสีเทาอมดำเหมือนเลียงผาใต้ อุณหภูมิระหว่างขนกับชั้นผิวหนังมีความแตกต่างกัน มีแผงคอที่พาดผ่านระหว่างเขาไปตรงกลางของด้านหลัง เขาโดยเฉพาะในเพศผู้จะโดดเด่น มีสีอ่อน ความยาวประมาณ 6 นิ้ว และมีความยาวโค้ง เลียงผาเหนือมีขนาดลำตัวที่ใหญ่มาก เมื่อเติบโตเต็มที่มีความยาวกว่า 6 ฟุต และมีส่วนสูง 3 ฟุต จากกีบเท้าจนถึงหัวไหล่ และมีน้ำหนักประมาณ 150 กิโลกรัม ขาทั้งสี่ตั้งแต่หัวเข่าลงไปจนถึงกีบมีสีน้ำตาลอมแดง
พบอาศัยอยู่ตามภูเขาสูงและบริเวณที่มีหน้าผาสูงชัน สามารถอาศัยและปีนป่ายได้ดีในพื้นที่ที่มีความขรุขระ แต่ก็สามารถพบได้ว่าบางครั้งพบในที่รา่บ ว่ายน้ำได้ดี และสามารถว่ายน้ำข้ามทะเลไปยังอาศัยยังเกาะแก่งต่าง ๆ ได้อีกด้วย
ปกติแล้วเลียงผาเหนือมักอาศัยอยู่เพียงลำพังตัวเดียวหรือเป็นกลุ่มเล็ก ๆ กินหญ้า, หน่อไม้ และใบไม้ต่าง ๆ เป็นอาหาร สัตว์ที่ค่อนข้างหวงถิ่น มีการเดินตรวจตราถิ่นอาศัยเป็นประจำ มีการประกาศอาณาเขตหากินอย่างชัดเจนด้วยการถ่ายมูล มักออกหากินตั้งแต่ช่วงเวลาเช้าตรู่และเวลาโพล้เพล้พลบค่ำ เลียงผาเหนือมักจะให้กำเนิดลูกอ่อนระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม มีระยะเวลาการตั้งท้องนาน 8 เดือน[1]
อ้างอิง
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Capricornis milneedwardsii ที่วิกิสปีชีส์