เลียงผา
เลียงผา | |
---|---|
เลียงผาใต้ (C. sumatraensis) | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Mammalia |
อันดับ: | Artiodactyla |
วงศ์: | Bovidae |
วงศ์ย่อย: | Caprinae |
สกุล: | Capricornis Ogilby, 1836 |
ชนิด | |
เลียงผา หรือ เยียงผา หรือ โครำ (อังกฤษ: Serows; อีสาน: เยือง) เป็นสกุลของสัตว์กีบคู่สกุลหนึ่ง ในวงศ์ Bovidae วงศ์ย่อย Caprinae คือ วงศ์เดียวกับแพะและแกะ ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Capricornis (/แคป/-ปริ-คอร์-นิส/)
ศัพทมูลวิทยา
[แก้]โดยคำว่า Capricornis นั้นมาจากภาษาลาตินคำว่า "Caprea" แปลว่า "แพะ" และคำว่า "cornis" (κορνης) เป็นภาษากรีก แปลว่า "เขา" รวมความหมายได้ว่า "สัตว์ที่มีเขาอย่างแพะ" ในขณะที่ชื่อสามัญมาจากคำว่า "Saro" ในภาษาเลปชา ของชาวเลปชา ในรัฐสิกขิม ส่วนชื่อสามัญในภาษาไทยสันนิษฐานว่ามาจาก คำว่า "เยียง" แปลว่า "แพะ" เป็นคำที่ยืมมาจากภาษาจีน ในภาษาแต้จิ๋วออกเสียงคำนี้ว่า "เอี๊ยง" (羊) ส่วนภาษาจีนสมัยกลางในยุคราชวงศ์ถังและภาษาจีนกลางรุ่นแรกในสมัยราชวงศ์หยวนมีหลักฐานว่าออกเสียงเป็น "เยียง"[1]
ลักษณะ
[แก้]เลียงผามีลักษณะคล้ายกับกวางผา ซึ่งเดิมก็เคยถูกจัดให้อยู่สกุลเดียวกันมา (ซึ่งบางข้อมูลยังจัดให้อยู่สกุลเดียวกัน[2]) แต่เลียงผามีขนาดใหญ่กว่า มีลักษณะคล้ายแพะแต่มีรูปหน้ายาวกว่า มีลำตัวสั้นแต่ขายาว ตัวเมียมีขนาดเล็กกว่าตัวผู้ มีเขาทั้งตัวผู้และตัวเมีย เขางอกยาวต่อเนื่องทุกปี ลักษณะของกะโหลกเมื่อเปรียบเทียบกับกวางผาที่มีกะโหลกโค้งเว้าแล้ว เลียงผามีกะโหลกแบน ขนตามลำตัวจะแปรเปลี่ยนไปตามอายุ, สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย และชนิดพันธุ์ มีขนหยาบและไม่เป็น 2 ชั้นเหมือนกวางผา ใต้ตามีต่อมน้ำมันใช้สำหรับถูตามต้นไม้หรือโขดหินเพื่อประกาศอาณาเขต พบกระจายพันธุ์อย่างกว้างขวางตั้งแต่เอเชียใต้, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, อินโดนีเซีย จนถึงเอเชียตะวันออก เช่น จีน, ไต้หวัน, ญี่ปุ่น โดยมักอยู่ตามหน้าผาหรือภูเขาสูง หรือตามเกาะต่าง ๆ กลางทะเล[3] มีความสามารถในการปีนป่ายที่สูงชันได้อย่างคล่องแคล่ว โดยสามารถทำความเร็วในการขึ้นที่สูงได้ถึง 1,000 เมตร ด้วยเวลาเพียง 15 นาที[4]
เลียงผา ถือเป็นสัตว์ที่มีความเก่าแก่ที่สุดในวงศ์ย่อยนี้ โดยปรากฏมาตั้งแต่ยุคไพลโอซีนราว 2-7 ล้านปีมาแล้ว [5]
ถิ่นอาศัยของเลียงผา
[แก้]เลียงผาเป็นสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ตามภูเขาที่มีหน้าผาสูงชัน โดยพบว่าเลียงผาจะชอบอาศัยอยู่ตามภูเขาซึ่งปกคลุมด้วยป่าทึบ และพบเลียงผาอาศัยอยู่บริเวณหน้าผากับยอดเขาที่ระดับความสูง 1,000 เมตร ในป่าเบญจพรรณ ในป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี และบริเวณหน้าผาหินชั้นตามลาดเขาในป่าดงดิบเขา เลียงผาสามารถพบได้ในสภาพป่าค่อนข้างหลากหลาย โดยในปัจจุบันสามารถพบร่องรอยของเลียงผาในป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าสนเขา ป่าไผ่ ป่าฟื้นฟูตามธรรมชาติ พื้นที่เกษตร ป่าเบญจพรรณ ไร่ร้าง ป่าเต็งรังและทุ่งหญ้า อย่างไรก็ตาม เลียงผามักใช้พื้นที่ภูเขาที่มีหน้าผาสูงชันมีป่าปกคลุมเป็นหลัก โดยทั่วไปแล้วเลียงผาสามารถอาศัยอยู่ได้ในบริเวณที่มีระดับความสูงตั้งแต่ 200 ไปจนถึงที่ระดับ 2,200 เมตร
ปัจจัยคุกคาม
[แก้]นอกจากการที่ป่าไม้อันเป็นที่พำนักถูกทำลายแล้ว เลียงผายังถูกไล่ล่าเพราะถูกเชื่อว่าเป็นสัตว์ที่ใช้น้ำมันในการรักษาบาดแผลที่ได้รับบาดเจ็บจากการพลัดตกเขาหรือบาดแผลจากการถูกยิงหรือสมานกระดูกที่หักได้ ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ดังนั้นจึงมีการล่าเพื่อเอาน้ำมันเลียงผาใช้ในการรักษาบาดแผลและสมานกระดูก ทำให้ในอดีตเลียงผาถูกล่าเป็นจำนวนมาก เลียงผาแต่ละตัวสามารถสร้างเงินรายได้ให้ผู้ประกอบการขายน้ำมันเลียงผาได้อย่างมหาศาล ด้วยกระบวนการนำหัวและกระดูกของเลียงผาไปต้มกับน้ำมันมะพร้าวแล้วใส่ขวดขนาด 100-150 ซีซี ขายกันในราคาขวดละ 10 บาท รายได้จึงขึ้นอยู่กับปริมาตรน้ำมันมะพร้าวที่ใส่ลงไป นอกจากการล่าแล้วการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยและการบุกรุกป่าเพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตร ทำให้หลายพื้นที่ในปัจจุบันเลียงผาถูกไล่ต้อนให้อยู่ตามภูเขาสูงโดยเฉพาะภูเขาหินปูน นอกจากนี้การทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยบริเวณชายเขาหินปูนที่เลียงผามักจะลงมาหาน้ำและอาหารในที่ต่ำทำให้พื้นที่หากินลดลงและถูกล่าได้ง่ายขึ้น เลียงผาจึงลดจำนวนประชากรลงอย่างมาก นอกจากนี้การระเบิดภูเขาเพื่อการผลิตปูนซีเมนต์และเพื่อการผลิตหินคลุก เป็นการทำลายถิ่นที่อยู่ที่ปลอดภัยของเลียงผาโดยตรง[3]
การจำแนกประเภท
[แก้]- Capricornis crispus
- Capricornis swinhoei
- Capricornis sumatraensis
- Capricornis milneedwardsii
- Capricornis rubidus
- Capricornis thar
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ [ลิงก์เสีย] เลียงผา จากราชบัณฑิตยสถาน
- ↑ "Capricornis". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ. สืบค้นเมื่อ August 8, 2016.
- ↑ 3.0 3.1 สัตว์ป่าน่ารู้ เลียงผา
- ↑ หน้า 19 สังคม/มวย/ฟุตบอลต่างประเทศ/สกู๊ป, คนขี่เสือ โดย พันโชค ธัญญเจริญ. คมชัดลึก ปีที่ 14 ฉบับที่ 4796: วันอาทิตย์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2557
- ↑ Mammal species of the world : a taxonomic and geographic reference (อังกฤษ)
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Capricornis ที่วิกิสปีชีส์