เลขทะเบียนวัตถุอวกาศสากล
เลขทะเบียนวัตถุอวกาศสากล (อังกฤษ: International Designator) หรือที่รู้จักในนามของ เลขทะเบียน COSPAR (COSPAR ID) และในสหรัฐอเมริกาใช้ เลขทะเบียน NSSDC ID (NSSDC ID) เป็นระบบที่ใช้ในการกำหนดเลขประจำตัวของวัตถุประดิษฐ์ทั้งหมดที่ถูกส่งขึ้นไปในอวกาศ ซึ่งได้แก่ ดาวเทียม ยานสำรวจอวกาศ ชิ้นส่วนจรวด และส่วนประกอบอื่นๆ ที่ใช้ในการส่ง ระบบนี้เป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญาอวกาศ (Outer Space Treaty) ซึ่งถูกร่างภายใต้การอุปถัมภ์ของสหประชาชาติในการระบุรายละเอียดของวัตถุที่ถูกส่งขึ้นไปโคจรนอกโลก ระบบเลขทะเบียนแรกที่ใช้งานถูกกำหนดโดย
ระบบเลขทะเบียนนี้จะรู้กันดีว่าคือระบบของ COSPAR ซึ่งเป็นชื่อย่อของคณะกรรมาธิการว่าด้วยการวิจัยด้านอวกาศ (Committee on Space Research) ซึ่งก่อตั้งโดยสภาวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศ (International Council for Science, ICSU) ระบบของ COSPAR จัดเป็นระบบทะเบียนวัตถุอวกาศระบบแรก ซึ่งคิดค้นขึ้นโดยมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในปี ค.ศ. 1958 ในขณะนั้นจะใช้อักษรกรีกในการระบุดาวเทียม ยกตัวอย่างเช่น ดาวเทียมสปุตนิก 1 ถูกระบุเป็น 1957 α2[1] ระบบเลขทะเบียนของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดถูกใช้ในการระบุดาวเทียมที่ส่งขึ้นอวกาศมาจนถึงปี ค.ศ. 1962 หลังจากนั้นได้มีปรับปรุงระบบให้ทันสมัยขึ้นและเริ่มมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1963 โดยดาวเทียมดวงแรกที่ถูกลงทะเบียนในระบบใหม่คือดาวเทียม Luna E-6 No.2 หรือที่รู้จักกันในชื่อสปุตนิก 25 เลขทะเบียนคือ 1963-001B[2] นอกจากนี้ยังมีการระบุหมายเลขทะเบียนแบบใหม่ย้อนหลังให้กับดาวเทียมที่ถูกส่งไปก่อนหน้านี้ เช่นในเว็บไซต์ NSSDC แม้ว่าดาวเทียมเหล่านี้จะไม่ได้อยู่ในวงโคจรอีกแล้วก็ตาม
สำหรับรายการจำแนกวัตถุอวกาศที่ใช้ในสหรัฐอเมริกาจะอยู่ในการกำกับดูแลของศูนย์ข้อมูลวิทยาศาสตร์อวกาศแห่งชาติ (National Space Science Data Center: NSSDC) ซึ่งเป็นหน่วยงานขององค์การนาซา[3]
โครงสร้างของเลขทะเบียน COSPAR
[แก้]เลขทะเบียน COSPAR สามารถแบ่งออกเป็นสามชุดย่อย ได้แก่
- ชุดแรกคือตัวเลขปี ค.ศ. ของวัตถุที่ถูกส่งขึ้นอวกาศ
- ชุดที่สองคือตัวเลขลำดับครั้งที่มีการส่งขึ้นอวกาศในปีนั้น
- ชุดสุดท้ายคือตัวอักษรเฉพาะของดาวเทียมซึ่งเริ่มต้นด้วย A
ตารางด้านล่างคือตัวอย่างของเลขทะเบียนวัตถุอวกาศในโครงการสำคัญๆ
โครงการ | ชิ้นส่วนวัตถุ | หมายเลขแค็ตตาล็อกดาวเทียม หรือ เลขทะเบียน NORAD | เลขทะเบียน COSPAR | ปี ค.ศ. ที่ส่ง | ลำดับครั้งที่ส่งในปีปฎิทิน | ตัวอักษรเฉพาะของดาวเทียม ชิ้นส่วนจรวด และส่วนประกอบอื่นๆ |
---|---|---|---|---|---|---|
การส่งดาวเทียมดวงแรกของโลก | ส่วนที่ 2 ของจรวด R-7 Semyorka | 00001 | 1957-001A | 1957 | 001 | A |
ดาวเทียมสปุตนิก 1 | 00002 | 1957-001B | B | |||
การส่งจรวด Ariane 5 ในวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 2008 | ดาวเทียม Hot Bird 9 | 33459 | 2008-065A | 2008 | 065 | A |
ดาวเทียม W2M | 33460 | 2008-065B | B | |||
กระสวยอวกาศ Sylda | 33461 | 2008-065C | C | |||
ส่วนที่ 2 ของจรวด Ariane 5 | 33462 | 2008-065D | D | |||
การส่งดาวเทียมไทยคม 8 ในวันที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ. 2016 | ดาวเทียมไทยคม 8 | 41552 | 2016-031A | 2016 | 031 | A |
ส่วนที่ 2 ของจรวด Falcon 9 R/B | 41553 | 2016-031B | B |
ข้อบ่งใช้
[แก้]- วัตถุที่ส่งขึ้นอวกาศไม่สำเร็จจะไม่ถูกลงทะเบียนไว้ แต่จะถูกจำแนกไว้ในชื่อแบบไม่เป็นทางการ เช่น การส่งดาวเทียม Vanguard SLV1 จะบันทึกว่า VASGL1
- วัตถุที่บินในวงโคจรย่อย (sub-orbital flight) จะไม่ถูกลงทะเบียนไว้
- กระสวยอวกาศที่เดินทางกลับมายังพื้นโลกจะมีหมายเลขทะเบียนแยกในการบินแต่ละครั้ง
- ชิ้นส่วนขนาดเล็กที่หลุดออกมาจากยานหรือดาวเทียมแล้วเข้าสู่วงโคจรอย่างอิสระจะไม่ถูกลงทะเบียนไว้
- หมายเลขแค็ตตาล็อกดาวเทียม (Satellite Catalog Number หรือ SATCAT no.) หรืออดีตคือ NORAD ID เป็นระบบหมายเลขอีกระบบหนึ่งที่ใช้ในการคิดตามวัตถุในอวกาศเพื่อหลีกเลี่ยงการชน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Ephemeris of satellite 1957 alpha 2". nasa_techdoc_19900066808.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่า|archiveurl=
(help)CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "Luna Ye-6". Gunter's Space Page. 11 December 2017. สืบค้นเมื่อ 17 June 2019.
- ↑ "NASA - NSSDCA - Master Catalog". nssdc.gsfc.nasa.gov. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-09-25.