ข้ามไปเนื้อหา

เรือหลวงศรีอยุธยา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เรือหลวงศรีอยุธยา
ประวัติ
ประเทศไทย
ชนิดเรือปืนยามฝั่งชั้นธนบุรี
ชื่อเรือหลวงศรีอยุธยา (HTMS Sri Ayudhya)
ตั้งชื่อตามกรุงศรีอยุธยา
อู่เรืออู่ต่อเรือกาวาซากิ, โกเบ, ประเทศญี่ปุ่น
ปล่อยเรือพ.ศ. 2479
เดินเรือแรก31 กรกฎาคม พ.ศ. 2480
ส่งมอบเสร็จ16 มิถุนายน พ.ศ. 2481
เข้าประจำการ19 กรกฎาคม พ.ศ. 2481
Stricken8 ตุลาคม พ.ศ. 2502
ความเป็นไปอัปปาง 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2494 กลางแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณหน้าป้อมวิชัยประสิทธิ์ ในเหตุการณ์กบฎแมนฮัตตัน
ลักษณะเฉพาะ
ชั้น: เรือปืนยามฝั่งชั้นธนบุรี
ขนาด (ระวางขับน้ำ): 2,350 ตัน (เต็มที่)
ความยาว: 77 m (253 ft)
ความกว้าง: 13.41 m (44.0 ft)
กินน้ำลึก: 4.2 m (14 ft)
ระบบพลังงาน:
ความเร็ว:
  • 15.8 นอต (29.3 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 18.2 ไมล์ต่อชั่วโมง) (เต็มที่)
  • 12.2 นอต (22.6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 14.0 ไมล์ต่อชั่วโมง) (ความเร็วมัธยัสถ์)
  • พิสัยเชื้อเพลิง:
  • 6,493 ไมล์ทะเล (12,025 กิโลเมตร; 7,472 ไมล์) (เต็มที่)
  • 11,100 ไมล์ทะเล (20,600 กิโลเมตร; 12,800 ไมล์) (ความเร็วมัธยัสถ์)
  • อัตราเต็มที่: 234 นาย
    ยุทโธปกรณ์:
    • 4 × ปืน 200/50-ม.ม. (8 นิ้ว)
    • 4 × ปืน 75/51 ม.ม. (3 นิ้ว)
    • 4 × ปตอ. 20 ม.ม.
    เกราะ:
  • กราบเรือ: 2.5 นิ้ว (63.5 ม.ม.)
  • สะพานเดินเรือ: 1 นิ้ว (25 ม.ม.)
  • ป้อมปืน: 4 นิ้ว (102 ม.ม.)
  • เรือหลวงศรีอยุธยา (อังกฤษ: HTMS Sri Ayudhya) เป็นเรือรบประเภทเรือปืนยามฝั่งสังกัดราชนาวีไทย

    มีระวางขับน้ำ 2,350 ตัน เครื่องจักรดีเซล 2 เครื่อง ความเร็วมัธยัสถ์ 12.2 นอต ติดอาวุธปืน 8 นิ้ว ป้อมคู่ จำนวน 2 ป้อม ปืน 3 นิ้ว จำนวน 4 กระบอก ปืน 50 มิลลิเมตร จำนวน 2 แท่น พลประจำเรือ 234 นาย ต่อจากอู่ต่อเรือคาวาซากิ ประเทศญี่ปุ่น ขึ้นระวางประจำการ เมื่อ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 จัดเป็นเรือพี่เรือน้องกับ เรือหลวงธนบุรี ที่ได้ไปเปลี่ยนเวรรักษาการณ์ ณ เกาะช้าง จังหวัดตราด เมื่อเย็นวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2484 และเกิดยุทธนาวีกับฝรั่งเศส (ยุทธนาวีเกาะช้าง) ในเช้าวันรุ่งขึ้น เมื่อเรือหลวงธนบุรีจมไปแล้ว เรือหลวงศรีอยุธยาจึงเสมือนสัญลักษณ์แห่งความกล้าหาญอีกลำหนึ่งของราชนาวีไทย

    เรือหลวงศรีอยุธยา เคยถวายงานเป็นเรือพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (ขณะมีพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช) และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ครั้งเสด็จนิวัติพระนครครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481[1] และเสด็จนิวัติพระนครครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2493 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (ขณะมีพระอิสริยยศเป็น หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร)[2]พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชจึงมีพระปฏิพัทธ์กับเรือพระที่นั่งลำนี้ ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ดังจะเห็นได้จากพระบรมฉายาลักษณ์ที่ทรงต่อเรือหลวงศรีอยุธยาจำลอง ด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง[3]

    เรือหลวงศรีอยุธยา มีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยในกรณีกบฏแมนฮัตตัน เมื่อวันที่ 29-30 มิถุนายน พ.ศ. 2494 เมื่อทหารเรือกลุ่มหนึ่ง นำโดย นาวาตรี มนัส จารุภา ได้นำกำลังทหารเรือส่วนหนึ่งพร้อมด้วยอาวุธปืนกลแมดเสน ซึ่งเป็นอาวุธหนัก บุกจู่โจมจับตัว จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ขณะทำหน้าที่เป็นประธานพิธีรับมอบเรือขุดสันดอนสัญชาติอเมริกันชื่อ "แมนฮัตตัน" จากอุปทูตสหรัฐอเมริกา ที่ท่าราชวรดิฐ ในเวลา 15.00 น. ท่ามกลางแขกเหรื่อผู้มีเกียรติมากมายในพิธี ลงจากเรือแมนฮัตตัน จากนั้นได้นำตัวลงเรือข้ามฟากเพื่อนำขึ้นไปยังเรือหลวงศรีอยุธยา ที่จอดลอยลำอยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเป็นตัวประกัน

    เหตุที่ใช้เรือหลวงศรีอยุธยาเป็นสถานที่กักตัวประกัน ซึ่งเป็นเสมือนหัวใจสำคัญนั้น เพราะคณะผู้ก่อการมั่นใจในประสิทธิภาพของเรือ เพราะเป็นเรือเหล็กหุ้มเกราะ อาวุธเบาไม่สามารถทำอะไรได้ อีกทั้งยังมีอาวุธที่ทรงอานุภาพ คือ ปืนโฟร์ฟอร์ต 8 นิ้ว ยิงวิถีราบ ที่ถือว่ามีอานุภาพสูงกว่าอาวุธของทางทหารบก[4]

    แต่ทว่าแผนการรัฐประหารในครั้งนี้เกิดความผิดพลาด เมื่อไม่เป็นไปตามแผน ซึ่งเรือหลวงศรีอยุธยาจะต้องแล่นผ่านสะพานพระพุทธยอดฟ้า เพื่อไปตั้งกองบัญชาการที่กรมสรรพาวุธทหารเรือ บางนา แต่ทว่าสะพานไม่เปิด จึงกลับลำที่หน้าป้อมวิชัยประสิทธิ์ แล้วแล่นไปจอดลอยลำหน้าท่าราชวรดิฐ ตลอดคืนวันที่ 29 มิถุนายน การปะทะกันยังไม่เกิดขึ้น แต่บรรยากาศของความตึงเครียดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

    ในส่วนตัวของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ถูกจับกุมตัวไป ได้เจรจากับคณะผู้ก่อการที่นำโดย นาวาเอก อานนท์ ปุณฑริกกาภา และ น.ต.มนัส จารุภา ถึงเหตุผลของการกระทำ และเป็นผู้เสนอที่จะออกอากาศโดยบันทึกเสียงจากเส้นลวดบันทึกเสียง แล้วถูกนำไปออกอากาศกระจายเสียงทางวิทยุทหารเรือ ว่าเป็นแถลงการณ์จากนายกรัฐมนตรีด้วยความสมัครใจ ไม่ได้เป็นการบีบบังคับ แต่ทางฝ่ายรัฐบาลได้ออกกระจายเสียงตอบโต้ไปทางวิทยุกรมการรักษาดินแดน ซึ่งทางรัฐบาลได้ตัดสินใจให้ฝ่ายทหารเรือบุกชิงตัวจอมพล ป. กลับคืนมาก่อนรุ่งสาง ไม่เช่นนั้นจะทำการยิงให้เด็ดขาดกันไป แต่ทางทหารเรือปฏิเสธเพราะเกรงว่าจอมพล ป. จะได้รับอันตราย แม้ทาง พลเรือโท ผัน นาวาวิจิต ผู้บังคับการกองเรือรบ ซึ่งถือเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของคณะผู้ก่อการ จะขออาสาขึ้นไปบนเรือเองในเวลารุ่งเช้าเพื่อเจรจากับกลุ่มผู้ก่อการ[4]

    จนกระทั่งเช้ามืดของวันที่ 30 มิถุนายน ทหารฝ่ายรัฐบาลระดมกำลังเข้าโจมตีทหารเรือทุกจุด การยิงต่อสู้เป็นไปอย่างดุเดือดติดต่อกันหลายชั่วโมง เรือหลวงศรีอยุธยาหะเบสสมอจากท่าราชวรดิฐ แล่นขึ้นไปทางเหนือแล้วล่องลงมาเพื่อทำการยิงสนับสนุน ต่อมากองทัพอากาศส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิด บริเวณลานวัดพระยาทำ ขณะทหารกำลังแถวรับคำสั่ง กับบริเวณกรมอู่ทหารเรือ และที่กองเรือรบซึ่งทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิตมากมายทั้งทหารและพลเรือน ถึงตอนนี้เรือหลวงศรีอยุธยา ก็เครื่องยนต์เสียแล้วจากการถูกโจมตีอย่างหนัก มีเครื่องจักรใหญ่ขวาใช้ได้เพียงเครื่องเดียว ก็ล่องลงมาถึงหน้าป้อมวิชัยประสิทธิ์ เพื่อกลับลำ ปรากฏว่าเครื่องกลับจักรขวาเกิดชำรุดขึ้นมาอีก จึงหมดสมรรถภาพที่จะสามารถเคลื่อนไหวต่อไปได้อีก ต้องลอยลำอยู่หน้าป้อมวิชัยประสิทธิ์ ต่อมาฐานที่มั่นของคณะผู้ก่อการที่ท่าราชวรดิฐแตก เป้าการโจมตีจึงมาอยู่ที่เรือหลวงศรีอยุธยาอย่างเดียว

    เรือหลวงศรีอยุธยา ขณะถูกทิ้งระเบิดอย่างหนัก

    จนกระทั่งเวลาประมาณ 15.30 น. กองทัพอากาศ โดย พลอากาศเอก ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี ผู้บัญชาการทหารอากาศ ส่งเครื่องบิน (ฝึก) เอ.ที.6 หรือ ฝ.8 จำนวนมากเข้ามารุมโจมตีเรือหลวงศรีอยุธยา พร้อมทั้งยิงกราดด้วยปืนกล ขณะเดียวกันทหารบกและตำรวจช่วยทำการยิงขัดขวางไม่ให้ทหารประจำเรือขึ้นมายิงต่อสู้เครื่องบินบนดาดฟ้า ภารกิจยิงต่อสู้จึงตกอยู่กับทหารเรือที่อยู่บนป้อมวิชัยประสิทธิ์ และพระราชวังเดิม ซึ่งต้องยิงต่อสู้ทั้งเครื่องบิน และทหารรัฐบาลฝั่งตรงข้าม การต่อสู้ก็มีแต่อาวุธเบา จนในที่สุดเรือก็ไฟไหม้ สถานการณ์ของฝ่ายผู้ก่อการแย่ลงทุกขณะ ทหารเรือ 2 คนประจำเรือจึงตัดสินใจสวมเสื้อชูชีพให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม แล้วนำกระโดดลงน้ำว่ายข้ามมา โดยมีทหารเรือที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์เป็นผู้ยิงคุ้มกันให้ [4]

    จากนั้นทั้งสองฝ่ายจึงเปิดการเจรจากัน ในที่สุด คณะผู้ก่อการก็ยอมรับความพ่ายแพ้โดยการปล่อยตัวจอมพล ป. กลับคืนให้แก่รัฐบาลด้วยความปลอดภัย และแกนนำผู้ก่อการต้องแยกย้ายกันหลบหนีด้วยรถไฟไปทางภาคเหนือก่อนจะเดินเท้าข้ามพรมแดนข้ามไปยังประเทศพม่า[4]

    ในส่วนของเรือหลวงศรีอยุธยา หลังจากเกิดไฟไหม้อยู่เป็นเวลานานก็อัปปางลงที่กลางแม่น้ำเจ้าพระยาในกลางดึกของคืนวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2494 [3]

    ต่อมาซากเรือหลวงศรีอยุธยาได้ถูกกู้ขึ้นมาในวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2502 เมื่อเป็นอันตรายในการเดินเรือ จากคำสั่งคณะรัฐมนตรีที่ 350/21315[5]

    อ้างอิง

    [แก้]
    1. รักชาติ ผดุงธรรม. เบื้องหลังกรณีสวรรคต รัชกาลที่ ๘. กรุงเทพฯ : บางกอกบุ๊ค, 2550. 288 หน้า. ISBN 978-974-8130-47-7
    2. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. กาลานุกรมสยามประเทศไทย 2485-2554. กรุงเทพฯ : โพสต์พับลิบชิง, 2554. 355 หน้า. ISBN 978-974-228-070-3
    3. 3.0 3.1 เรือหลวงศรีอยุธยา เรือธงของราชนาวีไทย
    4. 4.0 4.1 4.2 4.3 วินทร์ เลียววาริณ. ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน. กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2544. 336 หน้า. ISBN 9748585476
    5. เรือจ้างในลำน้ำ

    แหล่งข้อมูลอื่น

    [แก้]