ข้ามไปเนื้อหา

เนลสัน แมนเดลา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เนลสัน มันเดลา)

เนลสัน แมนเดลา
เนลสัน ในปี พ.ศ. 2551
ประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ คนที่ 1
ดำรงตำแหน่ง
27 เมษายน พ.ศ. 2537 – 14 มิถุนายน พ.ศ. 2542
รองประธานาธิบดีเฟรเดอริก วิลเลิม เดอ แกลร์ก
ทาบอ อึมแบกี
ก่อนหน้าเฟรเดอริก วิลเลิม เดอ แกลร์ก
ถัดไปทาบอ อึมแบกี
เลขาธิการขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด คนที่ 19
ดำรงตำแหน่ง
3 กันยายน พ.ศ. 2541 – 14 มิถุนายน พ.ศ. 2542
ก่อนหน้าอังเดร พาสทรานา อรังโก
ถัดไปทาบอ อึมแบกี
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด18 กรกฎาคม พ.ศ. 2461
อึมเวโซ, ประเทศแอฟริกาใต้
เสียชีวิต5 ธันวาคม พ.ศ. 2556 (95 ปี)
โจฮันเนสเบิร์ก, ประเทศแอฟริกาใต้
พรรคการเมืองพรรคสมัชชาแห่งชาติแอฟริกา
การเข้าร่วม
พรรคการเมืองอื่น
พรรคคอมมิวนิสต์แห่งแอฟริกาใต้
คู่สมรสเอฟลิน อึนโตโก มาเซ (2487-2500)
วินนี มาดีคีเซลา-แมนเดลา (พ.ศ. 2500-2535)
กราชา ซิมเบนี (พ.ศ. 2541-2556)
ลายมือชื่อ

เนลสัน โรลีลาลา แมนเดลา (คอซา: Nelson Rolihlahla Mandela, [xoˈliɬaɬa manˈdeːla]) เกิดวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2461 ที่ดินแดนปกครองตนเองทรานสไก ประเทศแอฟริกาใต้[1] ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ในช่วงปี พ.ศ. 2537-2542 และเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งตามกระบวนการทางประชาธิปไตยอย่างถูกต้อง ก่อนหน้าการดำรงตำแหน่งนี้นี้ เขาได้เป็นที่รู้จักกันทั้งในและนอกประเทศในฐานะที่เคยเป็นนักเคลื่อนไหวตัวยงเพื่อต่อต้านการถือผิวในประเทศแอฟริกาใต้ จากที่แรกเริ่มเป็นผู้เคลื่อนไหวในทางสันติ ได้กลายมาเป็นผู้นำกลุ่มกองกำลังติดอาวุธของพรรคสมัชชาแห่งชาติแอฟริกา และได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่อต้านใต้ดินโดยใช้อาวุธ เช่น การก่อวินาศกรรม ในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้นำต่างชาติที่นิยมการถือผิวในประเทศแอฟริกาใต้ เช่น มาร์กาเรต แทตเชอร์ และโรนัลด์ เรแกน ได้ประณามกิจกรรมเหล่านี้ว่าเป็นการก่อการร้าย

เขาถูกจำคุกเป็นเวลาทั้งสิ้น 27 ปี ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นการถูกคุมขังในห้องขังเล็ก ๆ บนเกาะโรบเบิน การถูกคุมขังนี้ได้กลายมาเป็นกรณีตัวอย่างของความอยุติธรรมของนโยบายการถือผิวที่ถูกกล่าวถึงไปทั่ว เมื่อเขาได้รับการปล่อยตัวในปี พ.ศ. 2533 นโยบายประสานไมตรีที่เนลสันได้นำมาใช้ทำให้แอฟริกาใต้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่แห่งประชาธิปไตย เป็นที่ยกย่องอย่างสูงภายในประเทศแอฟริกาใต้ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส ชาวแอฟริกันขนานนามสมาชิกชายอาวุโสของตระกูลแมนเดลาอย่างให้เกียรติว่า มาดิบา แต่มักเจาะจงหมายถึงเนลสัน แมนเดลาเท่านั้น เนลสัน แมนเดลา เสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2556 ที่บ้านของเขาในโจฮันเนสเบิร์ก หลังจากเจ็บป่วยมาเป็นเวลานาน

เขาได้รับรางวัลต่าง ๆ มากกว่า 250 รางวัลตลอดช่วงเวลา 4 ทศวรรษ รางวัลที่สำคัญที่สุดคือ รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ประจำปี พ.ศ. 2536

ช่วงแรกของชีวิต

[แก้]

เนลสัน แมนเดลา เป็นผู้สืบทายาทสายหนึ่งของราชวงศ์เทมบู ซึ่งเป็นราชวงศ์ที่ปกครองแคว้นทรานสไกในจังหวัดอีสเทิร์นเคปของประเทศแอฟริกาใต้[2] เขาเกิดที่อึมเวโซ (Mvezo) ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ อยู่ในเมืองอุมตาตา เมืองหลวงของทรานสไก[2] ปู่ทวดของเขาคือ งูเบงคูคา (Ngubengcuka, เสียชีวิตปี พ.ศ. 2375) เป็นผู้ครองแคว้นในตำแหน่ง อิงโคซี เองคูลู (Inkosi Enkhulu) หรือ "กษัตริย์" ของชาวเทมบู[3] โอรสองค์หนึ่งของกษัตริย์มีชื่อว่า แมนเดลา เป็นปู่ของเนลสัน และเป็นที่มาของนามสกุลของเขา อยางไรก็ดี เนื่องจากเขาเป็นบุตรแห่ง อิงโคซี เพียงคนเดียวที่เกิดจากภรรยาจากตระกูล อิกซิบา (หรือบ้างเรียกว่า "ราชวงศ์ฝั่งซ้าย") ดังนั้นผู้สืบตระกูลในสายนี้จึงไม่มีสิทธิ์สืบทอดราชบัลลังก์ของเทมบู

บิดาของแมนเดลาคือ กัดลา เฮนรี อึมพาคันยิสวา (Gadla Henry Mphakanyiswa) มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าหมู่บ้านอึมเวโซ[4] แต่ในช่วงที่ประเทศตกเป็นอาณานิคม เขาถูกยึดตำแหน่งไปและขับไล่ให้ไปอยู่ที่ควูนู อย่างไรก็ดี มพาคันยิสวายังคงเป็นหนึ่งในคณะที่ปรึกษาส่วนพระองค์ของ อิงโคซี อยู่ มีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือจองกินตาบา ดาลินเยโบ (Jongintaba Dalindyebo) ให้ขึ้นสู่ราชบัลลังก์ของเทมบู ดาลินเยโบผู้นี้ต่อมาได้ให้การช่วยเหลือตอบแทนโดยรับตัวแมนเดลาเอาไว้ในอุปถัมภ์หลังจากที่มพาคันยิสวาเสียชีวิต[5] บิดาของแมนเดลามีภริยา 4 คน และมีบุตรทั้งสิ้น 13 คน เป็นชาย 4 คน หญิง 9 คน[5] แมนเดลาเป็นบุตรที่เกิดจาก โนซีคีนี แฟนนี ภริยาคนที่สาม (ตามลำดับอันซับซ้อนของทางราชวงศ์) แฟนนีเป็นบุตรสาวของนเคดามาแห่งตระกูลมเพมวู ธอห์ซา ซึ่งเป็นราชวงศ์ฝั่งขวา เป็นที่ซึ่งแมนเดลาเจริญเติบโตขึ้น[6] ชื่อจริงของแมนเดลาคือ โรลีลาลา มีความหมายว่า "ดึงกิ่งก้านของต้นไม้" หรือเรียกอย่างเป็นกันเองว่า "เจ้าตัวยุ่ง"[7]

โรลีลาลา แมนเดลา เป็นสมาชิกราชวงศ์คนแรกที่ได้ไปโรงเรียน ครูของเขาคือนางสาวอึมดินกานี (Mdingane) เป็นผู้ตั้งชื่อภาษาอังกฤษให้เขาว่า "เนลสัน"[8]

เมื่อแมนเดลาอายุได้ 12 ปี พ่อของเขาเสียชีวิตด้วยวัณโรค[5] และทางราชสำนักของจองกินตาบาได้รับเขาไว้ในอุปถัมภ์[5] แมนเดลาได้เข้าโรงเรียนศาสนาของนิกายเวซเลียนซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับพระราชวัง ตามประเพณีของชาวเทมบู เขาต้องผ่านพิธีศักดิ์สิทธิ์เมื่ออายุ 16 ปี จากนั้นได้เข้าศึกษาต่อที่ Clarkebury Boarding Institute[9] และสำเร็จอนุปริญญาในเวลาเพียง 2 ปีขณะที่หลักสูตรปกติต้องใช้เวลา 3 ปี[9] แมนเดลาเข้ารับตำแหน่งที่ปรึกษาส่วนพระองค์แทนตำแหน่งของบิดา ปี พ.ศ. 2480 แมนเดลาย้ายไปเมืองเฮลด์ทาวน์ และเข้าเรียนในวิทยาลัยเวซเลียนที่ฟอร์ตโบฟอร์ต อันเป็นที่ซึ่งราชวงศ์เทมบูส่วนมากพำนักอยู่[10] เมื่ออายุได้ 19 ปี เขาเริ่มสนใจการชกมวยและการวิ่งแข่งที่โรงเรียน[6]

หลังจากจบการศึกษา แมนเดลาเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีด้านศิลปศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฟอร์ตแฮร์ ที่ซึ่งเขาได้พบกับโอลิเวอร์ แทมโบ แทมโบกับแมนเดลาได้เป็นเพื่อนร่วมงานและเพื่อนสนิทกันไปตลอดชีวิต แมนเดลายังได้เป็นเพื่อนสนิทกับญาติคนหนึ่งชื่อ ไคเซอร์ (Kaiser "K.D.") มาตันซิมา ซึ่งเป็นทายาทของราชวงศ์เทมบูฝั่งขวา และอยู่ในฐานะผู้สืบทอดแคว้นทรานสไก ด้วยตำแหน่งนี้ทำให้เขาเข้าไปเกี่ยวพันกับนโยบาย Bantustan การที่เขาให้การสนับสนุนนโยบายนี้ทำให้เขากับแมนเดลามีความคิดเห็นทางการเมืองขัดแย้งกัน[6] เมื่อแมนเดลาเรียนจบชั้นปีที่หนึ่ง เขาได้เข้าร่วมในสภาผู้แทนนักศึกษา (Students' Representative Council หรือ SRC) เดินขบวนต่อต้านนโยบายของมหาวิทยาลัย จนถูกไล่ออกและไม่ให้กลับมาอีก นอกจากจะยอมรับนโยบายของทางมหาวิทยาลัย[11] แมนเดลาจึงหันไปศึกษาปริญญาตรีด้านกฎหมายหลักสูตรทางไกลกับมหาวิทยาลัยลอนดอน

หลังจากออกจากฟอร์ตแฮร์ไม่นาน กษัตริย์จองกินตาบาก็ประกาศจัดการแต่งงานให้กับแมนเดลาและจัสติส (ราชโอรสและรัชทายาทผู้สืบทอดบัลลังก์) เด็กหนุ่มทั้งสองไม่พอใจกับเรื่องนี้มาก จึงหนีออกไปยังเมืองโจฮันเนสเบิร์ก[12] เมื่อไปถึงที่นั่น แมนเดลาได้เริ่มทำงานเป็นยามเฝ้าเหมือง[13] แต่ต่อมาไม่นานก็ถูกเลิกจ้าง เพราะนายจ้างทราบมาว่าเขาเป็นสมาชิกราชวงศ์ที่หนีมา หลังจากนั้นแมนเดลาได้เข้าทำงานเป็นเสมียนตรวจเอกสารในสำนักงานทนายความแห่งหนึ่งในโจฮันเนสเบิร์กที่มีชื่อว่า Witkin, Sidelsky and Edelman โดยอาศัยเส้นสายของเพื่อนและพี่เลี้ยง คือ วอลเตอร์ ซิซูลู[13] ขณะกำลังทำงานที่นี่ แมนเดลาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยแห่งแอฟริกาใต้โดยการเรียนทางไกล จากนั้นเขาศึกษาต่อทางกฎหมายที่มหาวิทยาลัยวิตวอเตอร์สรันด์ ซึ่งเป็นที่ที่เขาได้พบกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์มากมายที่ต่อมาได้ร่วมขบวนการต่อต้านการเหยียดผิว เช่น โจ สโลโว, แฮร์รี่ ชวาร์ซ และ รูธ เฟิสต์ ระหว่างเวลานี้แมนเดลาอาศัยอยู่ที่เมืองอเล็กซานดรา ทางตอนเหนือของโจฮันเนสเบิร์ก[14]

กิจกรรมทางการเมือง

[แก้]

หลังจากการเลือกตั้ง พ.ศ. 2491 ชัยชนะได้ตกเป็นของพรรคชาตินิยม (National Party) ซึ่งสนับสนุนนโยบายการแบ่งแยกสีผิวอย่างรุนแรง[15] แมนเดลาเริ่มต้นเข้าร่วมมีบทบาททางการเมือง เขาเป็นผู้นำคนสำคัญในโครงการรณรงค์ต่อต้านของสมัชชาแห่งชาติแอฟริกัน (เอเอ็นซี) ในปี พ.ศ. 2495 และเข้าร่วมสมัชชาประชาชนในปี พ.ศ. 2498 ซึ่งมีหลักการพื้นฐานในการต่อต้านการแบ่งแยกสีผิว[16][17] ระหว่างเวลานี้ แมนเดลากับเพื่อนนักกฎหมายคือ โอลิเวอร์ แทมโบ ได้เปิดสำนักกฎหมาย Mandela and Tambo ขึ้น โดยให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่ชนผิวดำผู้ด้อยโอกาสโดยไม่คิดราคาหรือด้วยราคาต่ำ[18]

ผู้มีอิทธิพลต่อแนวคิดของแมนเดลาอย่างมากคือ มหาตมา คานธี ในเวลาต่อมาได้กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้[19][20] แมนเดลาเคยไปเข้าร่วมการประชุมที่นิวเดลี ระหว่างวันที่ 29-30 มกราคม พ.ศ. 2550 ในโอกาสครบรอบ 100 ปีการก่อตั้ง สัตยคราหะ ของคานธี ในแอฟริกาใต้[21]

แมนเดลาเริ่มต้นจากการรณรงค์ต่อต้านรัฐบาลโดยวิธีไม่ใช้ความรุนแรง แต่เขากับเพื่อนร่วมขบวนการกว่า 150 คนถูกจับกุมเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2499 ในข้อหากบฏ การไต่สวนคดีกบฏคราวนี้กินเวลายาวนานมากตั้งแต่ พ.ศ. 2499-2504 และสิ้นสุดลงโดยที่จำเลยทั้งหมดไม่มีความผิด[22] ในระหว่างช่วงปี พ.ศ. 2495-2502 ได้เกิดการก่อตั้งขบวนการคนผิวดำกลุ่มใหม่ขึ้นเรียกว่า "กลุ่มนิยมแอฟริกัน" (Africanist) ขึ้นมาขัดขวางขบวนการเอเอ็นซีเดิม โดยเรียกร้องให้ทำการตอบโต้รัฐบาลของพรรคชาตินิยมอย่างรุนแรงขึ้น[23] ผู้นำเอเอ็นซีในยุคนั้นภายใต้การนำของ อัลเบิร์ต ลูธูลี โอลิเวอร์ แทมโบ และวอลเตอร์ ซิซูลู รู้สึกว่ากลุ่มนิยมแอฟริกันนั้นรุกหน้าเร็วเกินไป ทั้งยังบังอาจท้าทายอำนาจของพวกเขาด้วย[23] ทางกลุ่มผู้นำของเอเอ็นซีได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรหลายฝ่าย ได้แก่ กลุ่มชนผิวขาวกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มคนผิวสี (ลูกผสม) และพรรคการเมืองในอินเดีย ซึ่งเป็นการพยายามสร้างภาพพจน์ให้เหนือกว่ากลุ่มนิยมแอฟริกัน[23] ในปี พ.ศ. 2498 กลุ่มเอเอ็นซีถูกฉีกหน้าในที่ประชุม Freedom Charter Kliptown Conference โดยได้รับเพียงเสียงโหวตเดียวจากที่ประชุมกลุ่มพันธมิตร ด้วยในจำนวนเลขาธิการกลุ่มพันธมิตรทั้งห้ากลุ่มนั้นมีถึง 4 คนที่มีสัมพันธ์อย่างลับ ๆ กับพรรคเกิดใหม่ คือ พรรคคอมมิวนิสต์แอฟริกาใต้ (South African Communist Party; SACP) ซึ่งเป็นมิตรแข็งแรงอยู่กับทางฝ่ายมอสโก[24][25]

เมื่อถึงปี พ.ศ. 2502 ขบวนการเอเอ็นซีสูญเสียการสนับสนุนทางยุทโธปกรณ์ ขณะที่กลุ่มนิยมแอฟริกันภายใต้การสนับสนุนทางการเงินจากกานา และการสนับสนุนทางการเมืองอย่างเด่นชัดจากชนเผ่าบาโซโธซึ่งมีฐานใหญ่อยู่ที่ทรานส์วาล ได้แยกตัวออกไปเป็นกลุ่มแพนแอฟริกันนิสต์คองเกรส (Pan Africanist Congress; PAC) ภายใต้การนำของ รอเบิร์ต โซบูเคว และ โพตลาโค เลบัลโล[26]

กิจกรรมต่อต้านการเหยียดผิว

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2504 แมนเดลาได้ร่วมริเริ่มและเป็นผู้นำกองกำลังติดอาวุธของเอเอ็นซี เรียกชื่อว่า Umkhonto we Sizwe (หมายถึง หอกแห่งชาติ บ้างเรียกย่อว่า MK)[27] เขาจัดการให้มีการลอบวางระเบิดสถานที่สำคัญทางราชการและทางทหารหลายแห่ง และใช้แผนการรบแบบกองโจรถ้าการลอบวางระเบิดล้มเหลว เพื่อให้ยุติการแบ่งแยกสีผิว[28] แมนเดลายังจัดการระดมทุนให้กองกำลัง MK และทำการฝึกฝนทางทหารให้กลุ่มควบคู่กันไป[28]

สมาชิกเอเอ็นซีคนหนึ่งคือ โวลฟี คาเดช เล่าถึงโครงการรณรงค์วางระเบิดที่นำโดยแมนเดลาว่า : "ตอนที่รู้ว่าเราจะเริ่มลงมือในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2504 โดยจะระเบิดสถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์ของการแบ่งแยกผิว เช่น สถานีโดยสาร ศาลปกครองท้องถิ่น และอะไรจำพวกนั้น... ที่ทำการไปรษณีย์ และ.. ที่ทำการรัฐบาล แต่เราต้องทำอย่างระวังเพื่อไม่ให้มีใครได้รับบาดเจ็บ ต้องไม่มีใครเสียชีวิต"[29] แมนเดลาพูดถึงโวลฟีว่า "ความรู้เรื่องการสู้รบและประสบการณ์ต่อสู้มือเปล่าของเขาจะช่วยฉันได้อย่างมาก"[7]

แมนเดลาพูดถึงการยกระดับการต่อต้านไปสู่การใช้กำลังอาวุธนี้เป็นมาตรการสุดท้าย เนื่องจากรัฐบาลได้เพิ่มความรุนแรงในการปราบปรามมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เขาคิดว่าการประท้วงคัดค้านการเหยียดผิวแบบสันติไม่สามารถและไม่มีวันประสบความสำเร็จได้[7][30]

ช่วงต่อมาราวปี พ.ศ. 2523-2532 หน่วย MK ทำสงครามกองโจรกับนโยบายแบ่งแยกสีผิวอย่างรุนแรงจนมีพลเรือนเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก[28] แมนเดลายอมรับกับเอเอ็นซีในภายหลังว่า ในการทำสงครามต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวกลับกลายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เขาวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนในการที่คนในพรรคบางคนพยายามเอาเนื้อความที่ยืนยันความจริงข้อนี้ออกไปเสียจากรายงานของกรรมาธิการสืบสวนข้อเท็จจริงและไกล่เกลี่ยข้อพิพาท (Truth and Reconciliation Commission)[31]

ตราบถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2551 แมนเดลาและสมาชิกพรรคเอเอ็นซีเป็นบุคคลต้องห้ามในการเดินทางเข้าสหรัฐอเมริกา - เว้นแต่เพียงสำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติที่แมนฮัตตัน - เนื่องมาจากการเป็นผู้ก่อการร้ายในการต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้[32][33]

การไต่สวนริโวเนีย

[แก้]

วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2505 แมนเดลาถูกจับหลังจากหลบหนีอยู่นาน 17 เดือน และถูกจำคุกที่เรือนจำโจฮันเนสเบิร์กฟอร์ต[34] เนื่องจากหน่วยข่าวกรองกลางของสหรัฐอเมริกาให้ข้อมูลแก่ตำรวจความมั่นคงถึงถิ่นที่อยู่และการปลอมแปลงตัวของเขา[35][36][37] สามวันต่อมาจึงมีการประกาศข้อกล่าวหาแก่เขาต่อหน้าศาลว่าเป็นผู้นำขบวนการประท้วงของคนงานในปี พ.ศ. 2504 และทำให้ประเทศตกอยู่ในความวุ่นวาย วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2505 แมนเดลาถูกตัดสินจำคุก 5 ปี สองปีต่อมาในวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2507 คณะลูกขุนจึงได้ข้อสรุปโดยประเมินจากความสัมพันธ์ของเขากับขบวนการเอเอ็นซี[38]

ขณะที่แมนเดลาติดคุก ทางตำรวจก็สามารถจับกุมผู้นำคนสำคัญ ๆ ของเอเอ็นซีได้อีกที่ฟาร์มลิลลี่ส์ลิฟ ริโวเนีย ทางตอนเหนือของโจฮันเนสเบิร์ก เมื่อ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2506 แมนเดลาถูกกล่าวหาอีกครั้งในการไต่สวนริโวเนียโดยหัวหน้าอัยการ ดร. เพอร์ซี ยูทาร์ ด้วยความผิดอุกฉกรรจ์ฐานการก่อการร้าย (ซึ่งแมนเดลายอมสารภาพ) และอาชญากรรมอื่น ๆ อันเปรียบได้กับการเป็นกบฏ ซึ่งฝ่ายรัฐบาลสามารถพิสูจน์ได้อย่างง่ายดาย[39] ข้อกล่าวหาที่สองนี้ยังรวมถึงการที่ฝ่ายจำเลยพยายามชักนำการรุกรานจากภายนอกมาสู่แอฟริกาใต้ ซึ่งแมนเดลาปฏิเสธ[39]

แมนเดลาได้ขึ้นให้การในคอกจำเลยเมื่อตอนเปิดการไต่สวนในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2507 ที่ศาลสูงสุดพริทอเรีย เขาได้ตีแผ่เหตุผลที่กลุ่มเอเอ็นซีจำเป็นต้องดำเนินการด้วยความรุนแรง[40] คำให้การของเขาเผยว่ากลุ่มเอเอ็นซีได้พยายามใช้สันติวิธีเพื่อต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวมาเป็นเวลานานหลายปี จนกระทั่งถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ชาร์เพวิลล์[41] จากเหตุการณ์นี้ร่วมกับการลงคะแนนเพื่อจัดตั้งสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ การประกาศภาวะฉุกเฉินในประเทศ และการสั่งแบนกลุ่มเอเอ็นซี ทำให้พวกเขาเหลือทางเลือกแต่เพียงการต่อต้านด้วยการลอบวางระเบิด[41] เพราะการเลือกทำวิธีอื่นใดนอกไปจากนี้จะเป็นเสมือนการยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไข แมนเดลายังคงอธิบายต่อไปอีกว่า พวกเขาได้ก่อตั้งกองกำลังติดอาวุธ Umkhonto we Sizwe ขึ้นในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2504 ซึ่งมีจุดมุ่งหมายจะชี้ให้เห็นความล้มเหลวของนโยบายของพรรคชาตินิยม หลังจากที่เศรษฐกิจในประเทศต้องถูกขู่เข็ญด้วยความไม่เต็มใจของนักลงทุนต่างชาติในการต้องเสี่ยงลงทุนในประเทศ[42] เขาปิดการให้การด้วยถ้อยคำต่อไปนี้:

ตลอดชีวิตของข้าพเจ้า ได้อุทิศตัวเองแก่การต่อสู้เพื่อประชาชนแอฟริกัน ข้าพเจ้าต่อต้านผู้ปกครองผิวขาว และก็ต่อต้านผู้ปกครองผิวดำ ข้าพเจ้ายินดีต่อประชาธิปไตยอันเป็นอุดมคติและสังคมอันเสรี ซึ่งประชาชนทุกหมู่เหล่าสามารถอยู่ด้วยกันอย่างสันติและด้วยความเสมอภาค นี่คืออุดมคติอันข้าพเจ้าหวังจะมีชีวิตอยู่ให้ถึง แต่หากจำเป็น ข้าพเจ้าก็พร้อมจะตายเพื่ออุดมคตินี้[30]

จำเลยในการไต่สวนคราวนี้รวมไปถึงแบรม ฟิสเชอร์, เวอร์นอน เบอร์รังกี, แฮร์รี ชวาร์ซ, โจเอล จอฟฟี, อาร์เทอร์ ชาสคัลสัน และจอร์จ บิโซส[43] ฮาโรลด์ แฮนสัน ได้เข้ามาเป็นทนายแก้ต่างให้ในภายหลังเพื่อขอลดหย่อนโทษ[44] ทุกคนถูกตัดสินว่ามีความผิด ยกเว้นเพียง รัสตี้ เบิร์นสไตน์ พวกเขารอดจากโทษประหารชีวิตไปได้ แต่ก็ถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิตตั้งแต่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2507[44] ข้อกล่าวหาในคดีนี้ยังรวมไปถึงการวางแผนโดยใช้อาวุธ และอีกสี่คดีเกี่ยวกับการลอบวางระเบิด ซึ่งแมนเดลาให้การยอมรับ และการสมคบคิดกับต่างชาติเพื่อรุกรานแอฟริกาใต้ ซึ่งแมนเดลาให้การปฏิเสธ[44]

การถูกคุมขัง

[แก้]
สนามหน้าคุกที่เกาะโรบเบิน
ห้องขังของเนลสัน แมนเดลา บนเกาะโรบเบิน

เนลสัน แมนเดลา ถูกจำคุกที่เกาะโรบเบินเป็นเวลา 18 ปีจากจำนวนการติดคุกทั้งสิ้น 27 ปี[45] ขณะอยู่ในคุก ชื่อเสียงของเขาก็เพิ่มพูนมากขึ้นและกลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในฐานะผู้นำชนผิวดำคนสำคัญที่สุดในแอฟริกาใต้[1] ระหว่างที่อยู่ในเรือนจำนั้น เขาต้องทำงานบนเกาะโดยการขุดเหมืองหินปูน[46] กฎภายในคุกนี้มีง่าย ๆ นักโทษจะแบ่งเป็นกลุ่ม ๆ ตามเชื้อชาติ โดยที่นักโทษผิวดำจะได้รับปันส่วนอาหารในสัดส่วนน้อยที่สุด แต่นักโทษการเมืองจะถูกแยกออกจากนักโทษอาชญากรรมทั่วไปและถือเป็นชั้นต่ำที่สุดยิ่งกว่านักโทษทั้งหมด[47] ซึ่งเรียกว่า "นักโทษกลุ่ม D" แมนเดลาได้อธิบายว่า ทุก ๆ 6 เดือน เขาจะได้รับอนุญาตให้มีคนมาเยี่ยมได้หนึ่งคน และจดหมายหนึ่งฉบับเท่านั้น[48] และเมื่อได้รับจดหมาย การส่งนั้นก็มักจะล่าช้าไปเป็นเวลานานมาก และยังถูกเซ็นเซอร์เสียจนแทบอ่านไม่ได้[7]

ขณะอยู่ในคุก แมนเดลาได้เรียนต่อกับมหาวิทยาลัยลอนดอนผ่านหลักสูตรทางไกล และได้รับปริญญาตรีสาขากฎหมาย[49] ในภายหลังเขาได้รับเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีของมหาวิทยาลัยลอนดอนในการคัดเลือกปี พ.ศ. 2524 แต่ก็แพ้ให้แก่ เจ้าฟ้าหญิงแอนน์[49]

จากบันทึกความทรงจำของแมนเดลาในปี พ.ศ. 2524 Inside BOSS[50] นักสืบเอกชนลับ กอร์ดอน วินเทอร์ ได้บรรยายส่วนที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้องกับแผนการช่วยเหลือแมนเดลาออกจากคุกในปี พ.ศ. 2512 วินเทอร์แทรกซึมเข้าไปในแผนนี้ในฐานะหน่วยสืบราชการลับของแอฟริกาใต้ ซึ่งต้องการให้แมนเดลาหลบหนีออกจากคุกจะได้จัดการยิงเขาทิ้งเสียระหว่างการจับกุม แต่แผนนี้ถูกทำลายไปโดยหน่วยสืบราชการลับของอังกฤษ[50]

เดือนมีนาคม พ.ศ. 2525 แมนเดลาถูกย้ายจากเกาะโรบเบินไปยังเรือนจำโพลส์มัวร์ พร้อมกับกลุ่มผู้นำอาวุโสของเอเอ็นซี คือ วอลเตอร์ ซิซูลู แอนดรูว์ มลังเกนี อาห์เหม็ด คาธราดา และเรย์มอนด์ มฮลาบา[48] ซึ่งเชื่อว่าได้ทำไปเพื่อลดอิทธิพลจากเหล่าผู้นำอาวุโสเหล่านี้ที่มีต่อนักโทษผิวดำอายุน้อยรุ่นใหม่ที่ถูกขังอยู่ที่เกาะโรบเบิน และจัดตั้งกลุ่มขึ้นเรียกว่า "มหาวิทยาลัยแมนเดลา"[51] อย่างไรก็ดี โคบี โคตซี รัฐมนตรีจากพรรคชาตินิยมกล่าวว่าการเคลื่อนย้ายคราวนี้ได้ทำให้เกิดการพบปะอย่างลับ ๆ ขึ้นระหว่างพวกเขากับรัฐบาลแอฟริกาใต้[52]

เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 ประธานาธิบดี พี.ดับเบิลยู. โบทา ได้เสนอเงื่อนไขในการปล่อยตัวแมนเดลาให้เป็นอิสระ โดยให้ยกเลิกการต่อสู้โดยใช้อาวุธ[53] โคตซีกับรัฐมนตรีคนอื่น ๆ ล้วนคัดค้านโบทาเรื่องนี้ โดยกล่าวว่าแมนเดลาไม่มีวันจะยินยอมให้ขบวนการของเขาปลดอาวุธเพื่อแลกกับอิสรภาพส่วนตัว[54] แมนเดลาปฏิเสธข้อเสนอนี้อย่างไม่ไยดี และยังออกแถลงการณ์ผ่านบุตรสาวของเขา ซินด์ซี โดยกล่าวว่า "ฉันจะได้อิสรภาพแบบใดกันขณะที่องค์กรแห่งผองชนยังถูกย่ำยี? มีแต่เสรีชนเท่านั้นที่จะเจรจาได้ นักโทษไม่อาจทำสัญญาใด ๆ ได้"[52]

การพบปะครั้งแรกระหว่างแมนเดลากับรัฐบาลพรรคชาตินิยมเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2528 เมื่อโคบี โคตซี พบกับแมนเดลาที่โรงพยาบาลโฟล์คสในเคปทาวน์ ขณะที่แมนเดลาต้องไปรับการผ่าตัดต่อมลูกหมากที่นั่น[55] ตลอดเวลาสี่ปีต่อมา ก็มีการพบปะกันระหว่างทั้งสองฝ่ายกันอีกหลายครั้ง เป็นพื้นฐานของการติดต่อและเจรจาต่อรองในลำดับถัด ๆ ไป แต่ก็ไม่ได้มีความคืบหน้าอย่างจริงจังมากนัก[52]

ตลอดช่วงเวลาที่แมนเดลาติดอยู่ในคุก มีแรงกดดันทั้งในท้องถิ่นและจากนานาชาติต่อรัฐบาลแอฟริกาใต้เพื่อให้ปล่อยตัวเขา ภายใต้คำขวัญที่ว่า Free Nelson Mandela![56] เมื่อถึงปี พ.ศ. 2532 ประเทศแอฟริกาใต้ก็มาถึงจุดเปลี่ยน เมื่อประธานาธิบดีโบทาป่วยหนักและถูกแทนที่ด้วย เฟรเดอริก วิลเลิม เดอ แกลร์ก[57] เดอ แกลร์ก ได้ประกาศปล่อยตัวแมนเดลาเป็นอิสระในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2533[58]

การปล่อยตัว

[แก้]

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2533 ประธานาธิบดีเฟรเดอริก วิลเลิม เดอ แกลร์ก ยกเลิกประกาศแบนขบวนการเอเอ็นซีและองค์กรต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวกลุ่มอื่น ๆ และประกาศว่าแมนเดลาจะได้รับการปล่อยตัวจากคุกในไม่ช้า[59] แมนเดลาได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำวิกเตอร์ เวอร์สเตอร์ ที่พาอาร์ล (Paarl) เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2533 ซึ่งเหตุการณ์นั้นมีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก[60]

ในวันที่ได้รับการปล่อยตัว แมนเดลาได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อประชาชนทั้งประเทศ[61] เขาประกาศเจตนารมณ์ในการแสวงหาสันติภาพและการประนีประนอมกับชนผิวขาวกลุ่มน้อยในประเทศ แต่ก็ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่ากองกำลังติดอาวุธของเอเอ็นซีจะยังคงอยู่

เขายังกล่าวอีกว่า เป้าหมายหลักของเขาคือการนำสันติภาพมาสู่ชนผิวดำพื้นเมืองซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ และให้สิทธิ์แก่คนเหล่านี้ในการออกเสียงทั้งในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ[61]

การเจรจาต่อรอง

[แก้]
เฟรเดริก เดอ แกลร์ก กับเนลสัน แมนเดลา ในการประชุมประจำปี World Economic Forum พ.ศ. 2535

หลังจากที่แมนเดลาได้รับการปล่อยตัวจากคุก เขาได้กลับมาเป็นผู้นำพรรคเอเอ็นซีระหว่างปี พ.ศ. 2533-2537 และนำพรรคเข้าสู่การเจรจาร่วมหลายพรรค ซึ่งนำไปสู่การเลือกตั้งหลายชนชาติเป็นครั้งแรกของประเทศ[62]

ปี พ.ศ. 2534 พรรคเอเอ็นซีได้จัดการประชุมระดับชาติขึ้นเป็นครั้งแรกในแอฟริกาใต้หลังจากได้รับประกาศยกเลิกการแบนแล้ว และเลือกให้แมนเดลาขึ้นเป็นประธานขององค์กร เพื่อนและสหายเก่าของเขาคือ โอลิเวอร์ แทมโบ ซึ่งเป็นผู้นำขบวนการภายใต้การลี้ภัยมาตลอดเวลาที่แมนเดลาอยู่ในคุก ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นท่านประธานแห่งชาติ (National Chairperson)[63]

บทบาทการเป็นผู้นำของแมนเดลาในการเจรจาร่วมกันกับประธานาธิบดีเฟรเดอริก วิลเลิม เดอ แกลร์ก เป็นที่ประจักษ์อย่างโดดเด่น และทำให้ทั้งสองได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกันในปี พ.ศ. 2536 อย่างไรก็ดี สัมพันธภาพระหว่างคนทั้งสองในบางคราวก็ค่อนข้างตึงเครียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแลกหมัดครั้งใหญ่ใน พ.ศ. 2534 ซึ่งเขาเอ่ยถึงเดอ แกลร์ก อย่างดุเดือดว่าเป็นหัวโจกของ "รัฐบาลเสียงข้างน้อย ไม่มีความน่าเชื่อถือ และนอกกฎหมาย" การเจรจาแตกหักนี้เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์สังหารหมู่ที่บัวปาตง ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2535 แมนเดลานำพรรคเอเอ็นซีออกจากการเจรจา และกล่าวหารัฐบาลของเดอ แกลร์ก ว่าสมรู้ร่วมคิดกับการสังหารหมู่ครั้งนี้[64] แต่การเจรจาก็ได้หวนมาดำเนินสืบต่อหลังจากการสังหารหมู่ที่บิโช ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2535 เมื่อเหตุการณ์ส่อให้เห็นว่ามีแต่เพียงการเจรจากันเท่านั้นจะหลีกเลี่ยงการประจันหน้าที่รุนแรงลงไปได้[7]

หลังจากการลอบสังหารผู้นำพรรคเอเอ็นซี คริส ฮานิ ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2536 ก็มีภัยชนิดใหม่เกิดขึ้นที่อาจนำประเทศไปสู่ความรุนแรงอีกครั้ง[65] แมนเดลาได้กล่าวอ้อนวอนขอให้ประเทศอยู่ในความสงบ ในสุนทรพจน์คราวนั้นเรียกกันว่าเป็นสุนทรพจน์ "ของประธานาธิบดี" แม้ว่าเวลานั้นเขาจะยังไม่ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีของประเทศ

คืนนี้ ข้าพเจ้าขอกล่าวแก่ชาวแอฟริกาใต้ทุก ๆ คน ทั้งผิวดำหรือผิวขาว จากส่วนลึกแห่งจิตใจของข้าพเจ้าโดยแท้ ชายผิวขาวคนหนึ่งที่เต็มไปด้วยอคติและความเกลียดชัง ได้มาถึงประเทศของเราและทำสิ่งที่เลวร้ายเหลือทนต่อประเทศของเรา ทำให้เรากำลังอยู่บนขอบอันหมิ่นเหม่ของหายนะ หญิงผิวขาวคนหนึ่งผู้มีกำเนิดเป็นชาวแอฟริกัน ได้เสี่ยงชีวิตของเธอเพื่อให้เราได้ตระหนักถึงการลอบสังหารนี้ และนำมาซึ่งความยุติธรรม ฆาตกรเลือดเย็นผู้สังหารคริส ฮานิ ได้ส่งคลื่นแห่งความอกสั่นขวัญหายแผ่ออกไปทั่วทั้งประเทศและทั่วโลก... บัดนี้เป็นเวลาที่ชาวแอฟริกันทุกคนจะต้องยืนขึ้นอย่างพร้อมเพรียง เพื่อต่อต้านผู้ที่หมายจะทำลายในสิ่งที่คริส ฮานิ ได้สละชีวิตอุทิศให้ นั่นคือเสรีภาพของพวกเราทุกคน[66]

มีการจลาจลย่อม ๆ เกิดขึ้นหลายครั้งหลังการลอบสังหาร ผู้มีส่วนร่วมในการเจรจาทุกฝ่ายถูกกระตุ้นให้ต้องรีบลงมือปฏิบัติเสียที ไม่นานก็ได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะมีการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยขึ้นในวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2537 หนึ่งปีหลังจากการลอบสังหารคริส ฮานิ พอดี[52]

การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแอฟริกาใต้

[แก้]
เนลสัน แมนเดลา ที่ประเทศบราซิล ในปี พ.ศ. 2541

การเลือกตั้งแบบหลากชนชาติครั้งแรกในแอฟริกาใต้โดยที่พลเมืองทุกคนมีสิทธิเสียงเท่ากัน เกิดขึ้นในวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2537 พรรคเอเอ็นซีชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 62% และแมนเดลาในฐานะผู้นำพรรคเอเอ็นซีได้เข้าพิธีรับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2537 เป็นประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของประเทศ โดยมี เดอ แกลร์ก จากพรรคชาตินิยม และทาโบ อึมแบกี เป็นรองประธานาธิบดีทั้งสองคนในการตั้งรัฐบาลผสมแห่งชาติ[67] เขาเป็นประธานาธิบดีตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2537 จนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2542 ได้เปลี่ยนแปลงกฎหมายเกี่ยวกับการเหยียดสีผิวหรือชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ และได้รับความยกย่องจากนานาชาติสำหรับการอุทิศตนเพื่อการประสานไมตรีทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ[68] แมนเดลาให้การสนับสนุนแก่ชาวแอฟริกันผิวดำให้เข้าร่วมและสนับสนุนทีมสปริงบอกส์ ซึ่งเป็นทีมชาติรักบี้ของแอฟริกาใต้ ในโอกาสที่ประเทศแอฟริกาใต้ได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันรักบี้โลกในปี พ.ศ. 2538[69] หลังจากทีมสปริงบอกส์สามารถเอาชนะทีมรักบี้จากนิวซีแลนด์ได้ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ แมนเดลาเป็นผู้มอบถ้วยรางวัลให้แก่กัปตันทีม ฟรังซัวส์ ปีเยนาร์ ชาวแอฟริกันซึ่งสวมเสื้อทีมสปริงบอกส์กับตัวเลข 6 บนหลังซึ่งเป็นหมายเลขประจำตัวของเขา ภาพนี้เผยแพร่ไปทั่วไปในฐานะก้าวย่างอันสำคัญแห่งการสมานฉันท์ระหว่างชนผิวขาวและผิวดำในแอฟริกาใต้[70]

หลังจากที่เป็นประธานาธิบดี สัญลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของแมนเดลาคือการสวมเสื้อบาติก ที่เรียกกันว่า "เสื้อมาดิบา" แม้กระทั่งในงานพิธีการต่าง ๆ[71] ในการปฏิบัติการทางทหารของแอฟริกาใต้ครั้งแรกหลังจากยุติการแบ่งแยกสีผิว แมนเดลาสั่งการให้กองทัพเคลื่อนเข้าไปเลโซโท ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2541 เพื่อช่วยปกป้องรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี Pakalitha Mosisili หลังจากที่มีการเลือกตั้งอันวุ่นวายและเกิดการประจันหน้ากันระหว่างฝ่ายตรงข้ามกับฝ่ายรัฐบาลที่ไร้เสถียรภาพ[72] นักวิจารณ์จำนวนมากรวมถึงนักรณรงค์ต่อต้านโรคเอดส์ เช่น เอ็ดวิน คาเมรอน ได้วิพากษ์วิจารณ์แมนเดลาอย่างมากในความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลของเขากับการรับมือวิกฤตการณ์โรคเอดส์[73][74] หลังจากที่เขาเกษียณแล้ว แมนเดลายอมรับว่าเขาทำให้ประเทศต้องผิดหวังเนื่องจากมิได้ให้ความสำคัญกับการระบาดของเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์เท่าที่ควร[75][76] นับแต่นั้นแมนเดลาได้ขึ้นพูดในหลายโอกาสเพื่อรณรงค์ต่อต้านการแพร่กระจายของโรคเอดส์[77][78]

การฟื้นฟูเศรษฐกิจ

[แก้]

หลังจากเสร็จสิ้นการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2537 รัฐบาลได้ริเริ่มโครงการพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน (Reconstruction and Development Program; RDP) เพื่อสร้างความเสมอภาคทางเศรษฐกิจแก่ประชาชนหลังสิ้นสุดยุคของการถือผิว ซึ่งเคยมีแต่ความลำบากยากแค้นและไม่ได้รับการเหลียวแล ทำให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมในระดับมหภาคด้วย[79] ขนาดของโครงการนี้อาจเทียบได้กับ "New Deal" ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเมื่อคราววิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรทางการเมืองทุกองค์กร[80]

ระหว่าง พ.ศ. 2537 ถึงต้นปี พ.ศ. 2544 รัฐบาลแอฟริกาใต้ได้ให้ความช่วยเหลือในการสร้างบ้านอยู่อาศัยต้นทุนต่ำมากกว่า 1.1 ล้านหลัง เพื่อรองรับชาวแอฟริกาใต้ 5 ล้านคนจากจำนวนคนยากจน 12.5 ล้านคน[81] ระหว่าง พ.ศ. 2537-2543 ชาวบ้านกว่า 4.9 ล้านคนที่อาศัยอยู่ตามท้องถิ่นสามารถเข้าถึงแหล่งน้ำดื่มสะอาด อีกกว่า 1.75 ล้านครัวเรือนมีไฟฟ้าใช้ สัดส่วนครอบครัวชนบทที่เข้าถึงระบบไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 12% เป็น 42%[81] ปี พ.ศ. 2542 มีครอบครัวที่ได้รับประโยชน์จากการจัดสรรที่ทำกิน 3550 ตารางกิโลเมตร จำนวน 39,000 ครอบครัว เมื่อเทียบกับวาระ 4 ปีของรัฐบาล ประชาชนได้รับที่ทำกินรวม 250,000 คน[81] จากเดือนเมษายน พ.ศ. 2537 ถึงปลายปี 2541 มีคลินิกใหม่ 500 แห่งเพื่อให้บริการสาธารณสุขแก่พลเมือง 5 ล้านคน พร้อมโครงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอและตับอักเสบ เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2541 ซึ่งช่วยให้เด็ก ๆ กว่า 8 ล้านคนมีชีวิตขึ้นมาสู่ระดับมาตรฐานภายในเวลา 2 ปี[81] มีโครงการก่อสร้างถนนและระบบระบายน้ำ ช่วยสร้างงานแก่ประชาชน 240,000 คนตลอดเวลา 5 ปี[81] อย่างไรก็ดี โครงการ RDP ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากว่า กว่า 30% ของบ้านต้นทุนต่ำเหล่านั้นสร้างต่ำกว่ามาตรฐาน[81] ระบบจ่ายน้ำต้องขึ้นกับแม่น้ำและเขื่อนมากมาย[82] และโครงการเว้นการเก็บเงินจากชาวชนบทผู้ยากจนก็ใช้เงินสูงมาก[81] การจัดสรรที่ทำกินสามารถแจกจ่ายที่ดินออกไปได้จริงเพียง 1% และระบบสาธารณสุขไม่มีความสามารถพอจะต่อสู้กับการระบาดของโรคเอดส์ ซึ่งทำให้คุณภาพชีวิตเฉลี่ยของชาวแอฟริกาใต้ลดต่ำลงจาก 64.1% เป็น 53.2% ตั้งแต่ปี 2538 ถึง 2541[81]

การไต่สวนคดีล็อกเกอร์บี

[แก้]

ประธานาธิบดีแมนเดลามีความสนใจอย่างยิ่งที่จะช่วยไกล่เกลี่ยข้อพิพาทอันยาวนานระหว่าง กัดดาฟี แห่งลิเบีย กับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ โดยการร้องขอให้มีการไต่สวนผู้ต้องหาชาวลิเบีย 2 คนซึ่งถูกฟ้องร้องเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2534 ในข้อหาวางระเบิดแพนแอม เที่ยวบิน 103 ที่ระเบิดที่เมืองล็อกเกอร์บีในสกอตแลนด์ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2531 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 270 คน[83] ช่วงต้นปี พ.ศ. 2535 แมนเดลาได้แจ้งข้อเสนออย่างเป็นทางการต่อประธานาธิบดี จอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช เพื่อขอให้ชาวลิเบียทั้งสองได้รับการไต่สวนในประเทศที่สาม บุชตอบรับข้อเสนอนี้อย่างยินดี เช่นกันกับประธานาธิบดีฟร็องซัว มีแตร็อง แห่งฝรั่งเศส และสมเด็จพระราชาธิบดีควน การ์โลส ที่ 1 แห่งสเปน[84] เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2537 - หกเดือนหลังจากเขาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี - แมนเดลาได้ยื่นข้อเสนออย่างเป็นทางการว่า ประเทศแอฟริกาใต้ควรเป็นผู้จัดการไต่สวนคดีวางระเบิดสายการบิน แพน แอม 103[85]

ทว่านายกรัฐมนตรีอังกฤษ จอห์น เมเจอร์ ปฏิเสธข้อเสนอนี้โดยกล่าวว่ารัฐบาลอังกฤษไม่มีความมั่นใจในการไต่สวนของศาลต่างประเทศ[86] เวลาล่วงผ่านไปอีก 3 ปีจนกระทั่งแมนเดลายื่นข้อเสนออีกครั้งต่อผู้สืบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่ คือ โทนี แบลร์ ในคราวที่ท่านประธานาธิบดีไปเยือนลอนดอน ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2540 ถัดมาในปีเดียวกัน ในที่ประชุม การประชุมกลุ่มประเทศเครือจักรภพ (Commonwealth Heads of Government Meeting หรือ CHOGM) ที่เมืองเอดินบะระ ซึ่งจัดขึ้นในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2540 แมนเดลาก็กล่าวเตือนว่า :

ประเทศหนึ่งประเทศใดไม่ควรเป็นทั้งผู้ร้องทุกข์ อัยการ และผู้พิพากษาในคราวเดียว

ข้อสรุปอันประนีประนอมได้ความว่าการไต่สวนจะจัดขึ้นที่ Camp Zeist ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งใช้กฎหมายของสกอต ประธานาธิบดีแมนเดลาเริ่มการเจรจากับนายพลกัดดาฟีให้ส่งมอบตัวผู้ต้องหา (เมกราฮี กับฟีห์มาห์) ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2542[87] เมื่อสิ้นสุดการไต่สวนอันยาวนานกว่า 9 เดือน มีการประกาศคำตัดสินของคณะลูกขุนเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2544 ฟีห์มาห์ไม่มีความผิด แต่เมกราฮีมีความผิดและต้องโทษจำคุก 27 ปีในเรือนจำของสกอตแลนด์ คำอุทธรณ์ครั้งแรกของเมกราฮีถูกปฏิเสธเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2545 อดีตประธานาธิบดีแมนเดลาได้เดินทางไปเยี่ยมเขาที่เรือนจำบาร์ลินนี เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2545

"เมกราฮีโดดเดี่ยวอย่างแท้จริง" แมนเดลากล่าวในการแถลงข่าวสั้น ๆ ที่ห้องเยี่ยมของเรือนจำ "เขาไม่สามารถคุยกับใครได้เลย มันเป็นการประหารทางจิตใจแท้ ๆ เมื่อคน ๆ หนึ่งจะต้องใช้ชีวิตของเขาในการรับโทษอันยาวนานโดยอยู่เพียงลำพังคนเดียว คงจะดีกว่านี้หากเขาได้รับอนุญาตให้ย้ายไปอยู่ในประเทศมุสลิม มีประเทศมุสลิมมากมายที่ทางฝั่งตะวันตกเชื่อใจได้ ครอบครัวของเขาจะได้ไปเยี่ยมเขาได้บ้างหากเขาอยู่ในประเทศ เช่น โมร็อกโก ตูนิเซีย หรืออียิปต์"[88]

ในเวลาต่อมา เมกราฮีได้ย้ายไปยังเรือนจำกรีน็อค และไม่ต้องถูกขังเดี่ยวอีกต่อไป[89] วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2550 คณะกรรมการทบทวนคดีอาชญากรรมแห่งสกอตแลนด์ (Scottish Criminal Cases Review Commission) ได้มีข้อสรุปว่า หลังจากทบทวนการตัดสินโทษของเมกราฮีเป็นเวลา 3 ปี เชื่อได้ว่ามีการตัดสินลงโทษแก่ผู้มิได้กระทำความผิดจริง อ้างตามคำอุทธรณ์ครั้งที่ 2 จากศาลอุทธรณ์คดีอาชญากรรม[90]

ชีวิตครอบครัว

[แก้]

แมนเดลาแต่งงานทั้งสิ้น 3 ครั้ง มีบุตร 6 คน หลานอีก 20 คน และเหลนอีกจำนวนหนึ่ง เขายังเป็นปู่ของ มันดลา แมนเดลา หัวหน้าสภาวัฒนธรรมของมเวโซอีกด้วย[91]

การแต่งงานครั้งที่หนึ่ง

[แก้]

แมนเดลาแต่งงานครั้งแรกกับเอฟลิน อึนโตโก มาเซ ซึ่งเป็นชาวทรานสไกเช่นเดียวกับแมนเดลา แต่ทั้งสองไปพบกันที่เมืองโจฮันเนสเบิร์ก[92] ทั้งสองหย่ากันในปี พ.ศ. 2500 หลังจากแต่งงานกัน 13 ปี ด้วยปัญหาความตึงเครียดนานาประการ เช่นการที่เขาหายตัวไปอยู่เสมอ การทุ่มเทให้กับขบวนการปฏิวัติ รวมไปถึงการที่เธอไปเป็นพยานพระยะโฮวา ลัทธิศาสนาหนึ่งที่จะต้องถือความเป็นกลางทางการเมือง[93] เอฟลิน มาเซ เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2547[94] ทั้งสองมีบุตรชายด้วยกัน 2 คน คือ มาดิบา เทมเบไคล์ (เทมบี) (พ.ศ. 2489-2514) และมัคกาโธ แมนเดลา (พ.ศ. 2493-2548) และบุตรสาว 2 คนซึ่งมีชื่อเดียวกันคือ มาคาซิเว (หรือเรียกว่า มาคิ เกิดปี พ.ศ. 2490 และ พ.ศ. 2496) บุตรสาวคนโตเสียชีวิตตั้งแต่อายุเพียง 9 เดือน ดังนั้นพวกเขาจึงตั้งชื่อบุตรสาวคนที่สองด้วยชื่อเดียวกันเป็นการระลึกถึง[95] ลูก ๆ ทั้งหมดเข้ารับการศึกษาที่วิทยาลัยยูไนเต็ดเวิลด์ที่วอร์เตอร์ฟอร์ดคัมห์ลาบา[96] เทมบีเสียชีวิตในอุบัติเหตุรถยนต์ในปี พ.ศ. 2514 เมื่ออายุได้ 25 ปี ขณะนั้นแมนเดลาถูกจำคุกอยู่ที่เกาะโรบเบิน และไม่ได้รับอนุญาตให้มาร่วมงานศพ[97] ส่วนมัคกาโธเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ ในปี พ.ศ. 2548

การแต่งงานครั้งที่สอง

[แก้]

ภรรยาคนที่สองของแมนเดลาคือ วินนี มาดิคิเซลา-แมนเดลา เป็นชาวทรานสไกเช่นเดียวกัน แต่ก็มาพบกันในเมืองโจฮันเนสเบิร์ก ในขณะที่เธอมาเป็นคนงานผิวดำของเมืองเป็นคนแรก[98] ทั้งสองมีบุตรสาวด้วยกัน 2 คน คือ เซนานี (เซนี) เกิดเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501 และซินด์ซิสวา (ซินด์ซี) แมนเดลา-ฮลองวาเน เกิดในปี พ.ศ. 2503[98] ซินด์ซีมีอายุเพียง 18 เดือนเท่านั้นเมื่อตอนที่พ่อถูกส่งตัวไปยังเกาะโรบเบิน วินนีเกิดความบาดหมางกับครอบครัวของเธออย่างรุนแรงอันสะท้อนถึงความแตกแยกทางการเมืองภายในประเทศ ขณะที่สามีของเธอยอมติดคุกตลอดชีวิตบนเกาะโรบเบิน พ่อของเธอกลับได้เป็นรัฐมนตรีกสิกรรมแห่งทรานสไก[98] ชีวิตแต่งงานจึงต้องจบลงด้วยการแยกกันอยู่นับตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2535 และหย่า ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2539 ซึ่งเป็นผลจากความแตกต่างทางการเมือง[99]

แมนเดลายังคงอยู่อย่างห่อเหี่ยวในคุก ขณะที่ลูกสาวของเขา เซนานี แต่งงานกับเจ้าชายทัมบูมูซี ดลามินิ พระเชษฐาของสมเด็จพระราชาธิบดีสวาติที่ 3 แห่งสวาซิแลนด์ ในปี พ.ศ. 2516[100] แม้เธอจะมีความทรงจำอันแจ่มใสในตัวบิดา ตั้งแต่อายุ 4 ขวบจนถึง 16 ปี แต่ผู้ปกครองแอฟริกาใต้ก็ไม่ยอมให้เธอไปเยี่ยมเขา[101] ครอบครัวดลามินิทั้งสองทำธุรกิจและพำนักในบอสตัน[102] บุตรชายคนหนึ่งของพวกเขาคือ เจ้าชาย เซดซา ดลามินิ (เกิดปี พ.ศ. 2519) ได้รับการศึกษาในสหรัฐอเมริกา และได้เจริญรอยตามรอยเท้าของคุณตาโดยเป็นอาสาสมัครนานาชาติทำงานรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนและงานการกุศลต่าง ๆ[102]

ซินด์ซี แมนเดลา-ฮลองวาเน ได้มีส่วนสำคัญอยู่ในประวัติศาสตร์ของโลก ด้วยขณะอายุ 14 ปี เธอเป็นผู้อ่านคำแถลงการณ์ของแมนเดลาในการปฏิเสธเงื่อนไขปล่อยตัวของเขาในปี พ.ศ. 2528 ปัจจุบันเธอเป็นนักธุรกิจหญิงในแอฟริกาใต้ มีบุตรสามคน คนโตเป็นชาย ชื่อ กาดัฟฟี

การแต่งงานครั้งที่สาม

[แก้]

แมนเดลาแต่งงานใหม่อีกครั้งในวันเกิดปีที่ 80 ของเขาเมื่อ พ.ศ. 2541 กับนางกราชา มาเชล สกุลเดิมก่อนการแต่งงานครั้งแรก ซิมเบนี แม่หม้ายผู้เป็นอดีตภรรยาของ ซาโมรา มาเชล อดีตประธานาธิบดีแห่งโมซัมบิก และพันธมิตรของเอเอ็นซีซึ่งเสียชีวิตในอุบัติเหตุเครื่องบินเมื่อ 12 ปีก่อน[103] การแต่งงานเกิดขึ้นหลังจากการเจรจาต่อรองเป็นเวลาหลายเดือนว่าด้วยเงินสินสอดสำหรับเจ้าสาวอันมากมายมหาศาล ซึ่งต้องมอบให้แก่ฝ่ายตระกูลมาเชล การต่อรองดังกล่าวดำเนินไปในนามของแมนเดลาโดยตัวแทนราชวงศ์ตามประเพณี คือกษัตริย์บูเยเลคายา สเวลิบันซี ดาลินเยโบ[104] พระองค์เป็นหลานของจองกินตาบา ดาลินเยโบ กษัตริย์ผู้จัดงานวิวาห์แบบคลุมถุงชนให้แก่แมนเดลาเมื่อยังหนุ่ม และทำให้เขาต้องหนีไปโจฮันเนสเบิร์กใน พ.ศ. 2483 นั่นเอง[12]

แมนเดลายังคงพำนักอยู่ที่บ้านในควูนู ในอาณาจักรของญาติในราชวงศ์คนหนึ่งที่มีศักดิ์เป็นหลาน ซึ่งเขาออกค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียนให้ และทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวให้ด้วย[105]

หลังเกษียณอายุ

[แก้]

แมนเดลาได้เป็นประธานาธิบดีจากการเลือกตั้งของแอฟริกาใต้ที่อายุมากที่สุด เขาเข้ารับตำแหน่งเมื่ออายุได้ 75 ปี ในปี พ.ศ. 2537 และตัดสินใจไม่รับตำแหน่งอีกเป็นสมัยที่สอง โดยเกษียณตัวเองในปี พ.ศ. 2542 และมี ทาบอ อึมแบกี รับสืบทอดตำแหน่งต่อไป

หลังจากที่เขาเกษียณจากตำแหน่งประธานาธิบดี แมนเดลายังคงอุทิศตนเพื่องานสังคมและงานด้านสิทธิมนุษยชนขององค์กรมากมาย เขาได้แสดงการสนับสนุนต่อขบวนการ Make Poverty History ซึ่งเป็นองค์การนานาชาติ โครงการหนึ่งภายใต้การเคลื่อนไหวนี้ได้แก่ ONE Campaign[106] มีรายการแข่งขันกอล์ฟการกุศลรับเชิญในชื่อ Nelson Mandela Invitational จัดโดยแกรี่ เพลเยอร์ นักกอล์ฟชาวแอฟริกาใต้ สามารถระดมทุนสำหรับองค์การช่วยเหลือเด็ก ๆ ได้ถึง 20 ล้านแรนด์นับถึงปี พ.ศ. 2543[107] การแข่งขันนี้จัดเป็นประจำทุกปีและถือเป็นงานการกุศลที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของแอฟริกาใต้ สามารถสนับสนุนการทำงานของมูลนิธิเนลสัน แมนเดลา เพื่อเด็ก (Nelson Mandela Children's Fund) และมูลนิธิแกรี่ เพลเยอร์ซึ่งทำงานช่วยเหลือเด็ก ๆ ทั่วโลก[108]

แมนเดลาออกเสียงสนับสนุนองค์กร SOS Children's Villages ซึ่งเป็นองค์กรที่ใหญ่ที่สุดในโลกในการเลี้ยงดูเด็กกำพร้าและเด็กที่ถูกทิ้ง[109] แมนเดลาปรากฏตัวในโฆษณาทางโทรทัศน์ในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว ปี พ.ศ. 2549 ซึ่งคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ได้นำคำพูดของเขามากล่าวถึงในโครงการรณรงค์ Celebrate Humanity[110] ดังนี้

ในสิบเจ็ดวัน พวกเขาเป็นเพื่อนร่วมห้อง
ในสิบเจ็ดวัน พวกเขาเป็นเพื่อนร่วมชีวิต
เพียงยี่สิบสองวินาที พวกเขาเป็นคู่แข่งขัน
เป็นสหายสิบเจ็ดวัน เป็นปฏิปักษ์ยี่สิบสองวินาที
โลกช่างมหัศจรรย์เหลือล้น
นั่นคือความหวังที่ข้าพเจ้าเห็นในโอลิมปิกเกมส์

สุขภาพ

[แก้]

เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2544 แมนเดลาได้รับวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก เขาเข้ารับการรักษาโดยรังสีเป็นเวลาเจ็ดสัปดาห์[111] เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2545 แมนเดลาประกาศว่าจะวางมือจากงานสาธารณะทุกชนิด สุขภาพของเขาย่ำแย่ลง และเขาต้องการใช้ชีวิตที่เหลืออย่างสงบกับครอบครัว แมนเดลากล่าวว่าเขามิได้ตั้งใจจะซ่อนตัวจากสาธารณะ แต่เขาต้องการอยู่ในตำแหน่งที่ "ขอเป็นฝ่ายถามว่ายังเป็นที่ต้อนรับหรือไม่ แทนที่จะเป็นฝ่ายถูกโทรตามตัวไปร่วมงานต่าง ๆ คำขอของฉันก็คือ : อย่าโทรมา ฉันจะโทรไปเอง"[112] นับแต่ปี พ.ศ. 2546 เขาปรากฏตัวในที่สาธารณะน้อยลงและไม่ค่อยได้กล่าวอะไรในโอกาสต่าง ๆ นัก[113] ผมเขากลายเป็นสีขาวและเดินช้าลงโดยต้องใช้ไม้เท้าช่วย

ปี พ.ศ. 2546 มีการประกาศข่าวมรณกรรมของแมนเดลาโดยสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ซึ่งเป็นความผิดพลาด เนื่องจากข่าวการมรณกรรมที่เขียนเอาไว้ล่วงหน้า (เช่นกันกับข่าวของบุคคลสำคัญคนอื่น ๆ ) หลุดออกไปจากเว็บไซต์ของซีเอ็นเอ็นเนื่องจากความผิดพลาดด้านการป้องกันข้อมูล[114] ปี พ.ศ. 2550 พวกฝ่ายขวากลุ่มหนึ่งแพร่ข่าวหลอกลวงทางอีเมลและเอสเอ็มเอส โดยอ้างว่าทางการได้ปกปิดข่าวการเสียชีวิตของแมนเดลาเพราะเกรงว่าพวกคนผิวขาวในแอฟริกาใต้จะถูกสังหารหมู่หลังจากที่เขาเสียชีวิต เวลานั้นแมนเดลาอยู่ระหว่างการพักผ่อนที่ประเทศโมซัมบิก[115]

มีการจัดงานฉลองวันเกิดครบรอบปีที่ 90 แก่แมนเดลาตลอดทั่วประเทศในวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 โดยมีการเฉลิมฉลองขนานใหญ่ที่บ้านของเขาที่ควูนู[116] มีการจัดคอนเสิร์ตเป็นเกียรติแก่เขาที่สวนไฮด์ปาร์ก กรุงลอนดอน[117] สำหรับสุนทรพจน์ในวันเกิดของเขา แมนเดลาขอร้องให้บรรดาเศรษฐีช่วยเหลือคนจนทั่วโลกด้วย[116]

เอลเดอร์ส

[แก้]

วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 เนลสัน แมนเดลา, กราชา มาเชล, และเดสมอนด์ ตูตู ได้ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มประกอบด้วยผู้นำโลกในโจฮันเนสเบิร์ก เพื่อระดมสติปัญญาและความเป็นผู้นำของแต่ละคนมาช่วยในการแก้ไขปัญหาอันหนักหนาของโลก เนลสัน แมนเดลา ประกาศการก่อตั้งกลุ่ม ชื่อว่า เอลเดอร์ส (Elders) ในสุนทรพจน์ของเขาในงานฉลองวันเกิดครบรอบปีที่ 89[118]

อาร์ค บิชอป ตูตู รับหน้าที่เป็นประธานกลุ่มเอลเดอร์ส สมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งนี้ยังประกอบไปด้วย กราชา มาเชล, โคฟี อันนัน, เอลา ภัตต์, โกร ฮาร์เลม บรุนด์แลนด์, จิมมี คาร์เตอร์, หลี่จ้าวซิง, แมรี โรบินสัน และ มูฮัมหมัด ยูนุส[119]

"กลุ่มนี้สามารถพูดกันได้อย่างเปิดอก ทำงานด้วยกันทั้งงานเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็นงานอะไรก็ตามที่จำเป็นจะต้องทำ" แมนเดลาให้ความเห็นกับการทำงานของกลุ่ม "เราทำงานด้วยกันเพื่อสร้างความกล้าหาญในที่ซึ่งหวาดกลัว ช่วยกล่อมเกลาข้อตกลงในที่ซึ่งมีข้อขัดแย้ง และบันดาลความหวังในที่ซึ่งท้อถอย"[120]

การต่อต้านโรคเอดส์

[แก้]

นับแต่เขาเกษียณตนเอง หนึ่งในงานที่แมนเดลาให้ความสำคัญอันดับแรก ๆ คืองานเกี่ยวกับการต่อต้านโรคเอดส์ เขาได้ขึ้นกล่าวปิดในการประชุมนานาชาติเพื่อต่อต้านโรคเอดส์ครั้งที่ 13 เมื่อปี พ.ศ. 2543 ที่เมืองเดอร์บา ประเทศแอฟริกาใต้[121] ปี พ.ศ. 2546 เขาได้ให้การสนับสนุนกับโครงการรณรงค์เพื่อระดมทุนสำหรับการต่อต้านโรคเอดส์ ชื่อโครงการว่า 46664 ซึ่งตั้งชื่อตามหมายเลขนักโทษของเขา[122] เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2547 เขาเดินทางมายังกรุงเทพฯ เพื่อขึ้นกล่าวในการประชุมนานาชาติเพื่อต่อต้านโรคเอดส์ ครั้งที่ 14[123] บุตรชายของเขาคือ มัคกาโธ แมนเดลา เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2548[124] กิจกรรมต่าง ๆ ที่แมนเดลาทำเพื่อต่อต้านโรคเอดส์ได้มีการรวบรวมเอาไว้ในหนังสือของสเตฟานี โนเลน ชื่อ 28: Stories of AIDS in Africa

บทบาทต่อการรุกรานอิรัก

[แก้]

ช่วงปี พ.ศ. 2545-2546 แมนเดลาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายต่างประเทศของคณะรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์หลายครั้ง[125][126] รวมถึงการไร้ความสามารถของสหประชาชาติในการเข้าร่วมตัดสินการเริ่มต้นสงครามอิรัก เขากล่าวว่า "เรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมด สิ่งที่บุชกำลังทำ เป็นเรื่องที่น่าเศร้า แต่ขณะนี้บุชกำลังบ่อนทำลายสหประชาชาติ" แมนเดลาระบุว่าเขาจะสนับสนุนการต่อต้านประเทศอิรักก็ต่อเมื่อมีคำสั่งที่มาจากสหประชาชาติเท่านั้น เขายังกล่าวเป็นนัยว่าการที่บุชไม่ยอมทำตามมติสหประชาชาติอาจเพราะมีแรงจูงใจจากการเหยียดชนชั้นและอคติที่มีต่อเลขาธิการสหประชาชาติในขณะนั้น โคฟี อันนัน ก็ได้ "นี่เป็นเพราะเลขาธิการสหประชาชาติคนปัจจุบันเป็นคนดำใช่หรือไม่ พวกเขาไม่เคยทำอย่างนี้เมื่อเลขาธิการเป็นคนขาว"[127]

เขาเรียกร้องให้ประชาชนชาวอเมริกันเข้าร่วมมวลชนประท้วงต่อต้านบุช และเรียกร้องเหล่าผู้นำทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีสิทธิ์วีโต้ในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ให้ต่อต้านบุชด้วย[128] "สิ่งที่ข้าพเจ้าประณามคือ อำนาจหนึ่งในมือของประธานาธิบดีผู้ไร้วิสัยทัศน์และไม่สามารถคิดได้อย่างเหมาะสม กำลังทุ่มโลกใบนี้ให้แหลกพินาศ" เขายังกล่าวโจมตีสหรัฐอเมริกาด้วยเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง "ถ้าจะมีประเทศไหนต้องรับผิดชอบกับความร้ายกาจขนาดที่ไม่อาจกล่าวออกมาได้ที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ ประเทศนั้นก็คือสหรัฐอเมริกา พวกเขาไม่สนใจอะไรเลย"[127]

ความขัดแย้งกับอิสมาอิล เอย็อบ

[แก้]

อิสมาอิล เอย็อบ (Ismail Ayob) คือเพื่อนสนิทและทนายความส่วนตัวของแมนเดลาเป็นเวลายาวนานกว่า 30 ปี ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2548 แมนเดลาขอร้องให้เอย็อบหยุดการขายภาพพิมพ์ลายเซ็นของแมนเดลา ความขัดแย้งนี้รุนแรงขึ้นจนกระทั่งแมนเดลานำความขึ้นร้องต่อศาลสูงของแอฟริกาใต้ในปีเดียวกันนั้น[129] เอย็อบปฏิเสธข้อกล่าวหา และว่าเขาไม่ได้ทำอะไรผิด[130] เขายังอ้างอีกว่าตนตกเป็นเหยื่อของแผนการรณรงค์หาเสียงของทีมที่ปรึกษาของแมนเดลา หรือกล่าวเจาะจงลงไปคือแผนการของจอร์จ บิโซส[131]

ระหว่างปี 2548-2549 เอย็อบ ภรรยา และลูกชายของพวกเขา ได้เป็นเป้าโจมตีสำคัญของทีมที่ปรึกษาของแมนเดลา ความขัดแย้งนี้ถูกนำเสนออย่างกว้างขวางในสื่อต่าง ๆ โดยที่ภาพของเอย็อบออกมาในทางลบ ทีมงานของแมนเดลาโจมตีเอย็อบในการประจันหน้าสาธารณะหลายครั้ง กับมีเสียงเรียกร้องมากมายให้เนรเทศเอย็อบกับครอบครัวออกไปเสีย[132] ฝ่ายจำเลยซึ่งประกอบด้วยอิสมาอิล และซามิลา เอย็อบ (ภรรยาของเขาที่ตกเป็นจำเลยร่วม) แก้ต่างโดยอาศัยเอกสารที่ลงนามโดยแมนเดลา มีเลขานุการของเขาลงนามเป็นพยาน ซึ่งพวกเขาอ้างว่าเป็นหลักฐานลบล้างข้อกล่าวหาของแมนเดลากับทีมที่ปรึกษาของเขา[133]

คดีนี้ขึ้นมาเป็นข่าวพาดหัวอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 เมื่อในระหว่างการพิจารณาไต่สวนที่ศาลสูงของโจฮันเนสเบิร์ก เอย็อบสัญญาว่าจะจ่ายเงินจำนวน 700,000 แรนด์ ให้แก่แมนเดลา ซึ่งเอย็อบได้โอนเงินเข้าในกองทุนหลักทรัพย์สำหรับทายาทของแมนเดลา และกล่าวขออภัย[134][135] แม้ว่าหลังจากนั้นเขาจะออกมากล่าวอ้างอีกว่า ตนเป็นเหยื่อความอาฆาตมาดร้ายของแมนเดลา[136] ผู้สื่อข่าวจำนวนหนึ่งแสดงความเห็นอกเห็นใจแก่เอย็อบ โดยระบุว่าด้วยสถานะทางสังคมของแมนเดลาย่อมไม่อาจทำให้เอย็อบได้รับการปฏิบัติอย่างยุติธรรมนัก[131]

รายละเอียดของคดี

[แก้]

เอย็อบ, จอร์จ บิโซส และวิม เทรนโกฟ เป็นผู้จัดการมรดกของกองทุนมรดกเนลสัน แมนเดลา ซึ่งก่อตั้งขึ้นในการบริหารจัดการเงินจำนวนหลายล้านแรนด์ที่ได้รับบริจาคมาในนามของเนลสัน แมนเดลา จากองค์กรธุรกิจที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง รวมไปถึงตระกูลออพเพนไฮเมอร์ด้วย โดยให้จัดสรรประโยชน์แก่ทายาทบุตรหลานของเนลสัน แมนเดลา[137] ในเวลาต่อมาเอย็อบลาออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกในปี พ.ศ. 2549 ผู้จัดการมรดกอีกสองคนที่เหลือได้ฟ้องร้องเอย็อบในการใช้จ่ายเงินจากกองทุนโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากพวกเขา[138] เอย็อบอ้างว่าเงินดังกล่าวจ่ายไปให้กับกรมสรรพากรของแอฟริกาใต้สำหรับผลประโยชน์ของทายาทของแมนเดลา ผลประโยชน์ของแมนเดลาเอง และจ่ายให้สำนักงานจัดทำบัญชีสำหรับค่าใช้จ่ายทางบัญชีเป็นเวลา 4 ปี[135]

บิโซสกับเทรนโกฟปฏิเสธการอนุมัติจ่ายเงินทั้งในส่วนของทายาทของแมนเดลาและส่วนของสำนักงานบัญชี ผลตัดสินของศาลสรุปว่า เอย็อบจะต้องจ่ายคืนเงินจำนวนนี้ (มากกว่า 700,000 แรนด์) ให้กับกองทุนเนื่องจากไม่ได้หารือกับผู้จัดการมรดกก่อนนำเงินออกไปใช้[139] นอกจากนี้ยังมีการฟ้องร้องว่าเอย็อบหมิ่นประมาทต่อแมนเดลาอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งศาลตัดสินให้เอย็อบต้องขอโทษ[140] อย่างไรก็ดีเป็นที่สังเกตว่า ลายลักษณ์อักษรเหล่านั้นที่กล่าวถึงการที่เนลสัน แมนเดลา เป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากในต่างประเทศหลายบัญชีและไม่ได้จ่ายภาษีจากเงินได้เหล่านั้น มิได้มีต้นเหตุมาจากคำให้การของเอย็อบ แต่มาจากทางฝ่ายของแมนเดลาและจอร์จ บิโซสเอง[141]

ความขัดแย้งกรณีเพชรสีเลือด

[แก้]

บทความใน The New Republic ชุดหนึ่งในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2549 ได้วิพากษ์วิจารณ์เนลสัน แมนเดลา กับการที่เขาให้ความคิดเห็นทางบวกต่อธุรกิจเหมืองเพชรหลายต่อหลายครั้ง ทั้งนี้เพราะความเห็นของเขาเอื้อประโยชน์ให้กับกิจการเพชรสีเลือด (blood diamond)[142] แมนเดลาเขียนจดหมายฉบับหนึ่งถึงเอ็ดเวิร์ด ชวิค ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง เทพบุตรเพชรสีเลือด ใจความในจดหมายตอนหนึ่งว่า

...จะเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างสุดซึ้งหากการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นด้วยความเข้าใจผิดกับข้อเท็จจริง ผลที่เกิดจะทำให้โลกเชื่อไปว่า สิ่งถูกต้องเหมาะสมที่ควรทำคือหยุดการซื้อเพชรจากเหมืองในแอฟริกา... เราหวังว่าความปรารถนาในการเล่าเรื่องราวชีวิตจริงที่สำคัญและน่าจับใจจะไม่ส่งผลบั่นทอนต่อประเทศอุตสาหกรรมด้านเพชรในแอฟริกา และหวังว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อพลเมืองของประเทศเหล่านั้น[143]

บทความใน New Republic ชุดนี้อ้างว่า ข้อคิดเห็นดังกล่าวนี้รวมไปถึงการจุดประเด็นผลักดันและการกล่าวสุนทรพจน์ที่ให้คุณต่ออุตสาหกรรมเพชรหลายครั้งในชีวิตของแมนเดลา รวมถึงช่วงที่เขาเป็นประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ด้วย เกิดขึ้นเนื่องมาจากความสัมพันธ์ของเขากับ แฮร์รี่ ออพเพนไฮเมอร์ อดีตประธานบริหารของ เดอเบียร์ส และเป็นการวางแผนล่วงหน้าสำหรับ "ผลประโยชน์อันคับแคบของประเทศ" ของแอฟริกาใต้ (ซึ่งเป็นผู้ผลิตเพชรรายใหญ่ของโลก)[144]

ซิมบับเว กับรอเบิร์ต มูกาเบ

[แก้]

แม้ว่าทั้งแมนเดลาและรอเบิร์ต มูกาเบ ประธานาธิบดีซิมบับเว จะมีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องอิสรภาพของประเทศ แมนเดลาและมูกาเบกลับไม่ค่อยถูกมองในแบบเดียวกัน มูกาเบผู้ซึ่งปกครองประเทศตั้งแต่ได้รับอิสรภาพใน พ.ศ. 2523 ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนานาประเทศในเหตุการณ์ความรุนแรงในช่วงพุทธทศวรรษที่ 2520 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 3,000 คน, การคอร์รัปชัน การบริหารประเทศอย่างไร้ความสามารถ การกดขี่ทางการเมือง และการเล่นพรรคเล่นพวก ซึ่งทำให้เศรษฐกิจของประเทศล่มสลายในที่สุด[145][146]

แมนเดลาวิพากษ์วิจารณ์มูกาเบใน พ.ศ. 2543 กล่าวถึงผู้นำในทวีปแอฟริกาซึ่งปลดปล่อยประเทศให้เป็นอิสระแต่กลับอยู่ในตำแหน่งนานเกินกว่าจะเป็นที่ยอมรับ[147][148] หลังเกษียณอายุ แมนเดลากล่าวถึงซิมบับเวและปัญหาต่าง ๆ ทั้งภายในและต่างประเทศน้อยลง[113] ซึ่งบางครั้งทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ว่าเขาไม่ยอมใช้อิทธิพลในการชักนำมูกาเบให้ดำเนินนโยบายให้เป็นกลางมากขึ้น[149] จอร์จ บิซอส ทนายของเขา เปิดเผยว่าแมนเดลาถูกเตือนให้ระวังปัญหาสุขภาพ โดยให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดความเครียดเช่นปัญหาการเมืองเหล่านี้[150] ถึงกระนั้นก็ตาม ในปี 2550 แมนเดลาได้พยายามที่จะชักจูงมูกาเบให้ลาออกจากตำแหน่งก่อนที่จะถูกขับไล่อย่างออกุสโต ปิโนเชต์ อดีตประธานาธิบดีแห่งประเทศชิลี แต่มูกาเบกลับไม่ตอบสนองต่อคำเรียกร้องนี้[151]

ช่วงสุดท้ายของชีวิต

[แก้]
เนลสัน แมนเดลา กับประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู.บุช ในห้องทำงานรูปไข่ พฤษภาคม ค.ศ. 2005

เดือนมิถุนายน ค.ศ. 2004 เนลสัน แมนเดลา ขณะอายุ 85 ปี ได้ประกาศ "เกษียณหลังเกษียณอายุ" และถอนตัวจากงานสาธารณะต่าง ๆ เขาบอกว่า "ไม่ต้องโทรหาผม ผมจะโทรไปเอง"[152] มูลนิธิของเขาปฏิเสธการรับงานต่าง ๆ ทั้งการปรากฏตัวต่อสาธารณะและการสัมภาษณ์ แม้เขาจะยังคงพบปะกับเพื่อนฝูงและครอบครัวอยู่สม่ำเสมอ[153]

แมนเดลายังคงมีส่วนในงานต่างประเทศ ปี ค.ศ. 2005 เขาก่อตั้ง Nelson Mandela Legacy Trust[154] เขาเดินทางไปสหรัฐอเมริกา เพื่อขอความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศแอฟริกาใต้ จาก Brookings Institute และ NAACP[154][155] เขาหารือกับฮิลลารี คลินตัน สว.สหรัฐฯ และประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช รวมถึงได้พบบารัก โอบามา ซึ่งขณะนั้นเป็น สว.สหรัฐฯ[155] แมนเดลายังกระตุ้นให้ประธานาธิบดีซิมบับเว โรเบิร์ต มูกาบี ลาออกหลังจากที่เกิดเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศนั้น ซึ่งเมื่อไม่สำเร็จผล เขาได้กล่าวต่อต้านมูกาบีอย่างเปิดเผยเมื่อปี ค.ศ. 2007 เรียกร้องให้ลงจากตำแหน่ง "เพื่อความนับถือและเกียรติยศที่ยังมีเหลืออยู่บ้าง"[156] ปีเดียวกันนั้น แมนเดลา มาเชล และเดสมอน์ ตูตู ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มผู้นำของโลกที่เมืองโจฮันเนสเบิร์กเพื่อระดมสติปัญญาในการแก้ปัญหาอันยากยิ่งของโลก แมนเดลาประกาศการก่อตั้งกลุ่ม "The Elders" ในการกล่าวสุนทรพจน์วันเกิดปีที่ 89 ของเขา[157]

แมนเดลากับ กราชา มาเชล ภรรยาของเขา และ Sri Chinmoy ปราชญ์ชาวอินเดีย

มีการจัดงานเฉลิมฉลองวันเกิดปีที่ 90 ของแมนเดลาตลอดทั่วประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ. 2008 โดยสถานที่จัดงานหลักอยู่ที่เมืองควูนู[116] นอกจากนี้มีการจัดคอนเสิร์ตเพื่อเป็นเกียรติแก่แมนเดลา ที่สวนสาธารณะไฮด์ปาร์ก ในกรุงลอนดอน[158] สุนทรพจน์ที่กล่าวในงานนี้ เนลสัน แมนเดลา ได้ร้องขอให้คนรวยให้ความช่วยเหลือแก่คนจนทั่วโลก[116] แมนเดลายังให้ความช่วยเหลือแก่พรรคเอเอ็นซีอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงเวลาที่มเบคีเป็นประธานาธิบดี ซึ่งในบางงานที่ทั้งสองปรากฏตัวร่วมกัน แมนเดลามักโดดเด่นกว่ามเบคีเสมอ และเขาก็พอใจกับเจค็อบ ซูมา ซึ่งสืบทอดตำแหน่งจากมเบคี แม้มูลนิธิเนลสัน แมนเดลา จะไม่พอใจที่หลานของเขา มันดลา แมนเดลา เข้าไปร่วมกับแรลลี่สนับสนุนซูมาเมื่อปี 2009[159]

งานเขียนอัตชีวประวัติ

[แก้]

หนังสืออัตชีวประวัติของแมนเดลา ชื่อ Long Walk to Freedom ได้ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2537 แมนเดลาเริ่มเขียนบันทึกชิ้นนี้อย่างลับ ๆ ตั้งแต่เขายังอยู่ในคุก[160] ในหนังสือนี้ แมนเดลาไม่ได้เปิดเผยสิ่งใดเกี่ยวกับการสมรู้ร่วมคิดซึ่งเฟรเดอริก วิลเลิม เดอ แกลร์ก อ้างไว้เกี่ยวกับการเกิดเหตุรุนแรงในช่วงคริสต์ทศวรรษ 80 และ 90 หรือความเกี่ยวข้องระหว่างอดีตภรรยา วินนี แมนเดลา ในการหลั่งเลือดคราวนั้นเลย อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาเขาได้ให้ความร่วมมือกับเพื่อนนักข่าวชื่อ แอนโทนี แซมป์สัน ซึ่งสอบถามแมนเดลาเกี่ยวกับเรื่องนี้ และปรากฏเนื้อหาอยู่ในหนังสือ The Authorised Biography[161] ยังมีรายละเอียดเรื่องการสมรู้ร่วมคิดอื่น ๆ ที่แมนเดลาไม่ได้เอ่ยถึง อยู่ในหนังสือเรื่อง Goodbye Bafana[162] ผู้เขียนคือผู้คุมคนหนึ่งบนเกาะโรบเบิน เจมส์ เกรกอรี อ้างว่าได้สนิทสนมกันกับแมนเดลาเมื่ออยู่ในคุก และตีพิมพ์รายละเอียดเรื่องชู้สาวของครอบครัวของเขาในหนังสือ[162] แซมป์สันยืนยันว่าแมนเดลาไม่ได้รู้จักมักจี่กับเกรกอรี แต่เกรกอรีเป็นคนเซ็นเซอร์จดหมายทุกฉบับที่ส่งไปถึงแมนเดลา จึงได้รู้เรื่องราวชีวิตส่วนตัวของเขาอย่างละเอียด แซมป์สันยังยืนยันด้วยว่าผู้คุมคนอื่น ๆ พากันสงสัยว่าเกรกอรีเป็นสายลับของรัฐบาล และแมนเดลาควรจะฟ้องร้องนายเกรกอรีคนนี้[163]

รางวัลแห่งเกียรติยศ

[แก้]

เหรียญรางวัลและอิสริยาภรณ์

[แก้]

แมนเดลาได้รับรางวัลเกียรติยศจากแอฟริกาใต้และจากประเทศต่าง ๆ มากมาย รวมถึงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในปี พ.ศ. 2536 (ร่วมกันกับ เฟรเดอริก วิลเลิม เดอ แกลร์ก)[164] เขาได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Order of Merit และ Order of St. John จากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เหรียญอิสริยาภรณ์แห่งเสรีภาพจากประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช[165][166] ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2548 นครโจฮันเนสเบิร์กได้ทำพิธีมอบกุญแจเมือง อันเป็นการให้เกียรติสูงสุดแก่แมนเดลา โดยจัดพิธีที่เมืองออร์ลันโด โซเวโต ประเทศแอฟริกาใต้[167]

ตัวอย่างการได้รับเกียรติอย่างสูงจากนานาประเทศ ได้แก่ การเดินทางไปเยือนประเทศแคนาดาคราวหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2541 เด็กนักเรียนกว่า 45,000 คนได้มาร่วมต้อนรับอย่างล้นหลามในการขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ที่สกายโดมในเมืองโตรอนโต[168] ปี พ.ศ. 2544 แมนเดลาได้เป็นบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่คนแรกที่ได้รับมอบตำแหน่งพลเมืองกิตติมศักดิ์ของแคนาดา (คนก่อนหน้านี้คือ ราอูล วอลเลนเบิร์ก ผู้ได้รับตำแหน่งพลเมืองกิตติมศักดิ์หลังจากเสียชีวิตแล้ว)[169] นอกจากนี้เขายังได้รับเหรียญตราแห่งแคนาดา (Order of Canada) อันเป็นเครื่องหมายเกียรติยศสูงสุดทางฝ่ายพลเรือนของแคนาดา เป็นหนึ่งในชาวต่างประเทศเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่จะได้รับ[170]

ปี พ.ศ. 2533 เขาได้รับรางวัล Bharat Ratna จากรัฐบาลอินเดีย[171] พ.ศ. 2535 เขาได้รับรางวัลสันติภาพ Atatürk Peace Award จากตุรกี เขาปฏิเสธรางวัลนี้ในคราวแรกเนื่องจากมีการระบุถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ก็ยอมรับในภายหลังเมื่อปี พ.ศ. 2542[172]

บทเพลง

[แก้]

ศิลปินมากมายได้สร้างสรรค์เพลงขึ้นเพื่อมอบให้แก่แมนเดลา หนึ่งในเพลงที่โด่งดังที่สุดคือเพลงของ เดอะสเปเชียลส์ ในเพลง "Nelson Mandela" เมื่อ พ.ศ. 2526 สตีวี่ วันเดอร์ ได้แต่งเพลงอุทิศแก่แมนเดลา คือเพลงรางวัลออสการ์ปี พ.ศ. 2528 ชื่อว่า "I Just Called to Say I Love You" ซึ่งงานเพลงของเขาถูกแบนโดยองค์การกระจายเสียงแห่งแอฟริกาใต้[173] ปี พ.ศ. 2528 เช่นกัน อัลบั้ม Nelson Mandela ของยูส์ซู น'ดัวร์‎ เป็นอัลบั้มเพลงของศิลปินชาวเซเนกัลชุดแรกที่วางจำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกา

ปี พ.ศ. 2531 การงานคอนเสิร์ตฉลองวันเกิดครบรอบ 70 ปีของเนลสัน แมนเดลา ที่สนามกีฬาเวมบลีย์ กรุงลอนดอน เป็นจุดศูนย์รวมการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวครั้งสำคัญ มีนักดนตรีมากมายแสดงการสนับสนุนต่อแมนเดลา[174] เจอร์รี่ แดมเมอร์ ผู้เขียนหนังสือ Nelson Mandela เป็นหนึ่งในคณะผู้จัดงาน[174] ซิมเพิลไมนส์ได้บันทึกเสียงเพลง "Mandela Day" สำหรับการแสดงคอนเสิร์ตครั้งนี้[174] ซานตาน่าบันทึกเสียงดนตรีเพลง "Mandela"[174] เทรซี แชปแมนได้แต่งเพลง "Freedom Now" เพื่อมอบให้แก่แมนเดลา และออกอัลบั้มชื่อ Crossroads[174] ซาลิฟ คีตาจากประเทศมาลี ซึ่งได้ร่วมแสดงในคอนเสิร์ตคราวนี้ได้เดินทางไปเยือนแอฟริกาใต้ และในปี พ.ศ. 2538 ได้บันทึกเพลง "Mandela" ในอัลบั้มของเขาชุด Folon[174] วิตนีย์ ฮูสตัน ได้แต่งเพลงสวดชื่อ "He I Believe" เพื่ออุทิศแก่เขา

ในแอฟริกาใต้ เพลง "Asimbonanga (Mandela)" ("เรายังไม่เห็นเขา") กลายเป็นเพลงที่โด่งดังที่สุดของจอห์นนี เคล็กในอัลบั้ม Third World Child ปี พ.ศ. 2530[175] ฮิว มาเซเคลา ร้องเพลง "Bring Him Back Home (Nelson Mandela)" ขณะลี้ภัยอยู่ในอังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2530[176] เบรนดา ฟาสซี่ ร้องเพลง "Black President" แด่แมนเดลาในปี พ.ศ. 2532 และโด่งดังไปทั่วแม้จะถูกแบนในแอฟริกา[177] นักดนตรีเร็กเกชาวไนจีเรียชื่อ มาเจ็ก ฟาเชกออกเพลงซิงเกิล "Free Mandela" ในปี พ.ศ. 2535 เป็นนักดนตรีไนจีเรียหนึ่งในจำนวนมากมายที่ร้องเพลงเกี่ยวกับการต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวและโดยเฉพาะแด่ตัวแมนเดลาเอง

ปี พ.ศ. 2533 วงร็อกฮ่องกงชื่อ บียอนด์ ออกอัลบั้มเพลงภาษากวางตุ้งที่โด่งดังมาก มีเพลง "Days of Glory" ซึ่งเกี่ยวกับการต่อต้านการเหยียดผิว และมีเนื้อร้องที่กล่าวถึงวีรกรรมการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคของทุกกลุ่มชนของแมนเดลา[178] ปี พ.ศ. 2546 แมนเดลาได้รณรงค์โครงการต่อต้านโรคเอดส์ ชื่อโครงการ 46664 โดยใช้ชื่อโครงการตามหมายเลขนักโทษของตน มีนักดนตรีชั้นนำจำนวนมากร่วมแสดงคอนเสิร์ตเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้[179]

เรื่องราวในชีวิตของแมนเดลาได้นำมาแสดงไว้ในมิวสิกวิดีโอปี พ.ศ. 2549 ในเพลง "If Everyone Cared" ของนิกเคลแบ็ก[180] เพลง "Turn This World Around" ของ Raffi มีแรงบันดาลใจจากสุนทรพจน์ของแมนเดลาเมื่อเขาอธิบายว่าโลกนี้จำเป็นต้อง "หมุนกลับเพื่อเด็ก ๆ ทั้งมวล"[181] นอกจากนี้มีคอนเสิร์ตพิเศษในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบวันเกิดปีที่ 90 ของแมนเดลา ซึ่งจัดขึ้นที่ไฮด์ปาร์ค ลอนดอน เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2551[182]

ภาพยนตร์

[แก้]

ภาพยนตร์เรื่อง Mandela and De Klerk เล่าถึงเรื่องราวการปล่อยตัวแมนเดลาออกจากคุก[183] ผู้แสดงเป็นแมนเดลาคือ ซิดนีย์ พอยเทียร์ ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Goodbye Bafana เล่าเรื่องราวชีวิตของแมนเดลา เปิดฉายรอบปฐมทัศน์ที่งานเทศกาลภาพยนตร์ที่กรุงเบอร์ลิน เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 มี เดนนิส เฮย์สเบิร์ต แสดงเป็นแมนเดลา และได้บันทึกเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างแมนเดลากับ เจมส์ เกรกอรี ซึ่งเป็นผู้คุมของเขาด้วย[184]

ฉากสุดท้ายในภาพยนตร์ปี พ.ศ. 2535 เรื่อง Malcolm X แมนเดลาที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัวหลังจากถูกจำคุกอยู่ 27 ปี ได้มาปรากฏตัวในภาพยนตร์ด้วยในบทของครูโรงเรียนในโซเวโท[185] เขาต้องเอ่ยถึงสุนทรพจน์อันมีชื่อเสียงที่สุดชุดหนึ่งของมัลคอล์ม ซึ่งรวมถึงประโยคว่า : "เราทั้งหลายมีสิทธิ์บนโลกนี้ในฐานะของความเป็นมนุษย์ ควรได้รับยกย่องในฐานะมนุษย์ ควรได้รับสิทธิ์ของมนุษย์ในสังคมนี้ บนโลกใบนี้ ในเวลาปัจจุบันนี้ เราตั้งใจจะทำให้มันเป็นจริง..." และวลีสุดท้ายของประโยคอันมีชื่อเสียงนั้นคือ "...ด้วยทุกวิธีที่จำเป็น"[186] แมนเดลาบอกกับ สไปค์ ลี ผู้กำกับภาพยนตร์ว่า เขาไม่สามารถพูดวลีสุดท้ายนั้นออกมาในการถ่ายทำได้ เพราะรัฐบาลอาพาไทด์จะใช้มันในการโต้ตอบกับเขา ลีตกลงยินยอม ดังนั้นช่วงไม่กี่วินาทีสุดท้ายของฉากนั้นจึงต้องใช้ภาพขาวดำของตัวมัลคอล์มเองขณะพูดวลีสุดท้ายนั้น[186]

แมนเดลากับ ฟรังซัวส์ ปิเยนาร์ กัปตันทีมสปริงบอกส์ เป็นผู้มีบทบาทเด่นในหนังสือของ จอห์น คาร์ลิน ในปี พ.ศ. 2551 เรื่อง Playing the Enemy: Nelson Mandela and the Game that Made a Nation (เล่นกับศัตรู: เนลสัน แมนเดลา กับกีฬาที่สร้างชาติ)[187] โดยจับความสำคัญของบทบาทที่การแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลกปี พ.ศ. 2538 ได้มีชัยชนะต่อประเทศแอฟริกาใต้หลังจากสิ้นสุดยุคแห่งการแบ่งแยกสีผิว คาร์ลินขายสิทธิ์การสร้างภาพยนตร์จากหนังสือนั้นให้แก่ มอร์แกน ฟรีแมน[188] โดยจะสร้างเป็นภาพยนตร์ใช้ชื่อเรื่องว่า The Human Factor[189] (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Invictus[190]) กำกับการแสดงโดย คลินต์ อีสต์วู้ด โดยมีมอร์แกน ฟรีแมน แสดงเป็นแมนเดลา และ แมตต์ เดมอน แสดงเป็นกัปตันปีเยนาร์[188] มีกำหนดออกฉายปลายปี พ.ศ. 2552

นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์โทรทัศน์ของบีบีซีที่กำลังจะออกอากาศ เรื่อง Mrs Mandela ซึ่ง เดวิด แฮร์วูด แสดงเป็นแมนเดลา และโซฟี โอโคเนโด แสดงเป็นอดีตภริยาของแมนเดลา คือวินนี แมนเดลา[191]

อนุสาวรีย์

[แก้]
หุ่นปั้นรูปแมนเดลา ที่ Parliament Square กรุงลอนดอน

วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2544 ได้มีพิธีเปิดอุทยานเนลสัน แมนเดลา ที่มิลเลนเนียมสแควร์ เมืองลีดส์ ประเทศอังกฤษ อย่างเป็นทางการ เนลสัน แมนเดลาได้รับมอบกุญแจเมืองและ "นกฮูกทองคำ" (สัญลักษณ์แทนเมืองลีดส์) เป็นที่ระลึก ขณะกล่าวสุนทรพจน์ขอบคุณที่หน้าศาลาว่าการเมืองลีดส์ต่อหน้าประชาชนกว่า 5000 คน แมนเดลาเผอเรอกล่าวขอบคุณต่อ "ความเอื้ออารีของชาวเมืองลิเวอร์พูล"[192]

วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2547 จัตุรัสแซนด์ตันในเมืองโจฮันเนสเบิร์ก ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น จัตุรัสเนลสัน แมนเดลา โดยมีอนุสาวรีย์หุ่นปั้นรูปเนลสัน แมนเดลา สูง 6 เมตร ตั้งตระหง่านอยู่กลางจัตุรัสนั้นเพื่อเป็นเกียรติต่อรัฐบุรุษแห่งแอฟริกาใต้[193]

วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2550 มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์เนลสัน แมนเดลา ที่จัตุรัสพาเลียเมนต์ กรุงลอนดอน[194] โครงการรณรงค์เพื่อสร้างอนุสาวรีย์นี้เริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 โดยโดนัลด์ วูดส์ นักข่าวชาวแอฟริกาใต้ ที่ถูกขับไล่ออกนอกประเทศจากการดำเนินกิจกรรมต่อต้านการเหยียดผิว แมนเดลากล่าวว่าอนุสาวรีย์นี้มิได้เป็นเพียงตัวแทนของเขาเท่านั้น แต่เป็นตัวแทนของบรรดาผู้ต่อสู้กับความอยุติธรรมทั้งปวง โดยเฉพาะผู้คนในแอฟริกาใต้[195] เขากล่าวเสริมว่า "ประวัติศาสตร์การต่อสู้ในแอฟริกาใต้เต็มไปด้วยเรื่องราวของวีรบุรุษและวีรสตรี พวกเขาบางคนเป็นผู้นำ บางคนก็เป็นผู้ตาม แต่ทุกคนล้วนสมควรได้รับการจดจำ"[196]

หลังจากเหตุแผ่นดินไหวโลมาพรีเอตตา เมื่อ พ.ศ. 2532 ซึ่งทำให้ทางด่วนสองชั้นไซเพรส ส่วนหนึ่งของทางหลวง Nimitz ย่านเมืองโอ๊คแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย พังทลายลง ทางเมืองได้ตั้งชื่อถนนที่สร้างขึ้นทดแทนใหม่ว่า Mandela Parkway เพื่อเป็นเกียรติแก่แมนเดลา

ในเมืองเลสเตอร์ ประเทศอังกฤษ มีสวนเนลสัน แมนเดลา พร้อมคำขวัญว่า "แอฟริกาใต้เป็นของทุกคนที่อาศัยที่นั่น ไม่ว่าดำหรือขาว" อยู่ตรงข้ามที่ตั้งสโมสรรักบี้ เลสเตอร์ ไทเกอร์ ที่ถนนเวลฟอร์ด

แสตมป์

[แก้]

ที่ประเทศลิเบีย เมื่อ 31 ธันวาคม ค.ศ. 1994 ได้ออกดวงตราไปรษณียากร "รางวัลกาดาฟีเพื่อสิทธิมนุษยชน" สำหรับเนลสัน แมนเดลา[197]

อื่น ๆ

[แก้]

ปี พ.ศ. 2547 นักสัตววิทยา เบรนท์ อี. เฮนดริคสัน และ เจสัน อี. บอนด์ ตั้งชื่อสปีชี่ส์ของแมงมุมแอฟริกาใต้ชนิดหนึ่งในตระกูล Ctenizidae ว่า Stasimopus mandelai เพื่อ "เป็นเกียรติแก่เนลสัน แมนเดลา อดีตประธานาธิบดีแห่งแอฟริกาใต้ และหนึ่งในผู้นำทรงคุณธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคของเรา"[198]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 "Nelson Mandela - Biography". The Nobel Foundation. 1993. สืบค้นเมื่อ 2009-04-30.
  2. 2.0 2.1 "South Africa: Celebrating Mandela At 90". AllAfrica.com. 17 July 2008. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  3. Meer, Fatima (16 March 1990). "Book Review - Higher than Hope". Entertainment Weekly. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-12-22. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  4. "President of South Africa: Nelson Mandela". Chalre Associates. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-06-20. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 Aikman, David (2003). Great Souls: Six Who Changed a Century. Lexington Books. pp. 70, 71. ISBN 0739104381.
  6. 6.0 6.1 6.2 Mandela, Nelson (2006). Mandela: The Authorized Portrait. Kansas City, Mo.: Andrews McMeel Pub. p. 13. ISBN 0-7407-5572-2. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-06. สืบค้นเมื่อ 2008-05-26.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 Mandela, Nelson (1994). Long Walk to Freedom. Little, Brown and Company.
  8. Mandela 1996, p. 9. "No one in my family had ever attended school [...] On the first day of school my teacher, Miss Mdingane, gave each of us an English name. This was the custom among Africans in those days and was undoubtedly due to the British bias of our education. That day, Miss Mdingane told me that my new name was Nelson. Why this particular name I have no idea." ("ไม่มีใครในครอบครัวของฉันเคยเข้าโรงเรียนมาก่อน [...] วันแรกที่ไปโรงเรียน ครูของฉันคือนางสาวมดินกานีได้ตั้งชื่อภาษาอังกฤษให้พวกเราทุกคน ซึ่งเป็นประเพณีในหมู่ชาวแอฟริกันในยุคนั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการศึกษาของพวกเราอยู่ใต้อิทธิพลของเจ้าอาณานิคมอังกฤษ วันนั้นคุณอึมดินกานีบอกฉันว่าชื่อใหม่ของฉันคือเนลสัน ทำไมถึงได้เป็นชื่อนี้ฉันก็ไม่รู้")
  9. 9.0 9.1 "Mandela celebrates 90th birthday". BBC. 17 July 2008. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  10. "Healdtown Comprehensive School". Historic Schools Project: South Africa. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-18. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  11. Mandela 1996, pp. 18-19.
  12. 12.0 12.1 Mandela 1996, pp. 10, 20.
  13. 13.0 13.1 "Nelson Mandela Biography - Early Years". Nelson Mandela Foundation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-09. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  14. "Nelson Mandela Children's Fund - Organise". Nelson Mandela Children's Fund. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.[ลิงก์เสีย]
  15. "The 1948 election and the National Party Victory". South African History Online. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  16. "The Defiance Campaign". African National Congress. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-07. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  17. "Congress of the People, 1955". African National Congress. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-10-06. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  18. Callinicos, Luli (2004). Oliver Tambo: Beyond the Engeli Mountains. New Africa Books. p. 173. ISBN 0864866666.
  19. Mandela, Nelson (2000-01-03). "The Sacred Warrior". Time 100: The Most Important People of the Century. นิตยสารไทมส์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-10-20. สืบค้นเมื่อ 2008-05-26.
  20. Bhana, Surendra; Vahed, Goolam (2005). The Making of a Political Reformer: Gandhi in South Africa, 1893–1914. p. 149.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  21. Bhalla, Nita (2007-01-29). "Mandela calls for Gandhi's non-violence approach". รอยเตอร์ส. สืบค้นเมื่อ 2009-11-04.
  22. "Nelson Mandela's Testimony at the Treason Trial 1956-60". African National Congress. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-10-04. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  23. 23.0 23.1 23.2 "ANC - Statement to the Truth and Reconciliation Commission". African National Congress. August 1996. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-05-17. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  24. Shillington, Kevin (2005). Encyclopedia of African History. CRC Press. p. 1449. ISBN 1579582451.
  25. "The Freedom Charter". African National Congress. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-07-03. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  26. Leeman, Bernard (1996). Alexander, Peter; Hutchison, Ruth; Schreuder, Deryck (บ.ก.). The PAC of Azania in Africa Today. The Humanities Research Centre, The Australian National University Canberra: The Australian National University Canberra. ISBN 07315 24918.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: editors list (ลิงก์)
  27. "Umkhonto is Born". African National Congress. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-07-08. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  28. 28.0 28.1 28.2 Whittaker, David J. (2003). The Terrorism Reader (Updated ed.). Routledge. p. 244. ISBN 0415301017.
  29. "Tell me about the bomb at the brickworks - Frontline The Long Walk of Nelson Mandela". PBS.
  30. 30.0 30.1 Mandela, Nelson (1964-04-20). ""I am Prepared to Die" — Nelson Mandela's statement from the dock at the opening of the defence case in the Rivonia Trial". African National Congress. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1997-10-17. สืบค้นเมื่อ 2008-05-26.
  31. "Mandela admits ANC violated rights, too". Financial Times. 1998-11-02.
  32. "BBC News: US shamed by Mandela terror link". 2008-04-10.
  33. "Mandela taken off US terror list". BBC News. 2008-07-01. สืบค้นเมื่อ 2008-07-01.
  34. "5 August - This day in history". The History Channel. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-03. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  35. Blum, William. "How the CIA sent Nelson Mandela to prison for 28 years". Third World Traveller. สืบค้นเมื่อ 2008-05-26.
  36. Stein, Jeff (1996-11-14). "Our Man in South Africa". Salon.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2000-12-08. สืบค้นเมื่อ 2008-05-26.
  37. Weiner, Tim (2007). Legacy of Ashes. Penguin Group. p. 362. ISBN 978-1-846-14046-4.
  38. Katwala, Sunder (11 February 2001). "The Rivonia Trial". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  39. 39.0 39.1 "ANC Lilliesleaf Farm arrests". South African History Online. 11 July 1963. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  40. Mandela, Nelson (20 April 1964). "An ideal for which I am prepared to die". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  41. 41.0 41.1 "The Sharpeville Massacre". Time (magazine). 4 April 1960. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-07-24. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  42. "Manifesto of Umkhonto we Sizwe". African National Congress. 1961-12-16. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-12-17. สืบค้นเมื่อ 2008-05-26.
  43. "Rivonia Trial Papers". Aluka. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  44. 44.0 44.1 44.2 "Toward Robben Island: The Rivonia Trial". African National Congress. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-01-13. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  45. "Mandela's jail overrun by rabbits". BBC. 15 October 2008. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  46. "A monument to Mandela: the Robben Island years". The Independent. 2 September 2007. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  47. Holmes, Steven A. (22 June 1994). "Robben Island Journal; South Africa Ponders Fate of Apartheid's Bastille". นิวยอร์กไทมส์. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  48. 48.0 48.1 Kathrada, Ahmed (2004). Memoirs. Zebra. p. 246. ISBN 1868729184. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  49. 49.0 49.1 "The Big Read: Nelson Mandela: a living legend". Daily Observer. 25 July 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-03. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  50. 50.0 50.1 Winter, Gordon (1981). Inside BOSS. Penguin Books.
  51. Hallengren, Anders (11 September 2001). "Nelson Mandela and the Rainbow of Culture". Nobelprize.org. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  52. 52.0 52.1 52.2 52.3 Sparks, Allister (1994). Tomorrow is Another Country. Struik.
  53. Cowell, Alan (1 February 1985). "South Africa hints at conditional release for jailed black leaders". นิวยอร์กไทมส์. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  54. "Mandela's response to being offered freedom". African National Congress. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-22. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  55. "Key Dates in South African History". Nelson Mandela Children's Fund. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  56. "Free Nelson Mandela". African National Congress. July 1988. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-07-11. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  57. "PW Botha, unrepentant defender of apartheid, dies aged 90". The Independent. 1 November 2006. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  58. Malam, John (2002). The Release of Nelson Mandela: 11 February 1990. Cherrytree Books. ISBN 1842341030.
  59. "1990: Freedom for Nelson Mandela". BBC. 11 February 1990. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  60. Ormond, Roger (12 February 1990). "Mandela free after 27 years". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  61. 61.0 61.1 "Nelson Mandela's address to Rally in Cape Town on his Release from Prison". African National Congress. 11 February 1990. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-07-28. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  62. "A Crime Against Humanity - Analysing the Repression of the Apartheid State". South African History Online. สืบค้นเมื่อ 2008-12-23.
  63. "Profile of Nelson Rolihlahla Mandela". African National Congress. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2004-06-10. สืบค้นเมื่อ 2007-05-08.
  64. "Boipatong Massacre". African National Congress. 1992-06-18. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2001-05-14. สืบค้นเมื่อ 2008-05-26.
  65. "Chris Hani assassinated. (Obituary)". Social Justice. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-03. สืบค้นเมื่อ 2008-12-23.
  66. "Statement of the President of the ANC, Nelson Mandela on the assassination of Martin Chris Hani". 10 April 1993. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-03. สืบค้นเมื่อ 2008-12-23.
  67. "Mandela becomes SA's first black president". BBC. สืบค้นเมื่อ 2008-05-26.
  68. "The Nobel Peace Prize 1993 - Presentation Speech". Nobelprize.org. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  69. "Mandela rallies Springboks". BBC Sport. 6 October 2003. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  70. "How Nelson Mandela won the rugby World Cup". The Daily Telegraph. 19 October 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-25. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  71. Khumalo, Fred (5 August 2004). "How Mandela changed SA fashion". BBC. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  72. Thai, Bethuel (1998-10-04). "Lesotho to hold re-elections within 15 to 18 months". Lesotho News Online. สืบค้นเมื่อ 2008-05-26.
  73. Sampson, Anthony (2003-07-06). "Mandela at 85". The Observer. สืบค้นเมื่อ 2008-05-26.
  74. Robinson, Simon (2007-04-11). "The Lion In Winter". นิตยสารไทมส์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2004-06-06. สืบค้นเมื่อ 2008-05-26.
  75. "Can Mandela's AIDS Message Pierce the Walls of Shame?". Peninsula Peace and Justice Center. 2005-01-09. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-26. สืบค้นเมื่อ 2008-05-26.
  76. Quist-Arcton, Ofeibea (2003-07-19). "South Africa: Mandela Deluged With Tributes as He Turns 85". AllAfrica.com. สืบค้นเมื่อ 2008-05-26.
  77. "Mandela's stark Aids warning". BBC News. 1 December 2000. สืบค้นเมื่อ 2008-12-23.
  78. "Mandela, Anti-AIDS Crusader, Says Son Died of Disease". นิวยอร์กไทมส์. 7 January 2005. สืบค้นเมื่อ 2008-12-23.
  79. The Reconstruction and Development Programme เก็บถาวร 2009-05-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ANC, 1994.
  80. One hundred days of quietude: Critics have been too quick to carp: Mandela's New Deal is solid, if sluggish, says John Carlin[ลิงก์เสีย], John Carlin, The Independent, 18 août 1994.
  81. 81.0 81.1 81.2 81.3 81.4 81.5 81.6 81.7 Tom Lodge, "The RDP: Delivery and Performance" in "Politics in South Africa: From Mandela to Mbeki", David Philip:Cape Town & Oxford, 2003.
  82. Statistics South Africa, "South Africa in Transition", p.75
  83. Brown, Derek (31 January 2001). "Lockerbie trial: what happened when". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  84. McGreal, Chris (11 May 1999). "Mandela shies away from global role in retirement". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  85. "Families say SA trial site acceptable". Dispatch. 1997-10-27. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-08-22. สืบค้นเมื่อ 2008-05-26.
  86. "Mandela's parting shot at Major over Lockerbie". The Guardian. 1999-05-11. p. 13.
  87. "Analysis: Lockerbie's long road". BBC. 2001-01-31. สืบค้นเมื่อ 2008-05-26.
  88. "Mandela appeals on behalf of Lockerbie bomber". guardian.co.uk. 2002-06-10. สืบค้นเมื่อ 2008-05-26.
  89. "Lockerbie bomber 'leaves solitary confinement'". The Daily Telegraph. 25 February 2005. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  90. "Abdelbaset Ali Mohmed Al Megrahi". Scottish Criminal Cases Review Commission. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-03. สืบค้นเมื่อ 2008-05-26.
  91. Soszynski, Henry. "Genealogical Gleanings". University of Queensland. สืบค้นเมื่อ 2008-05-26.
  92. "Nelson Mandela - Timeline". Nelson Mandela Foundation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-12. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  93. "Mandela's life and times". BBC. 16 July 2008. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  94. "Madiba bids final farewell to his first wife". IoL. 8 May 2004. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  95. "Nelson Mandela Biography - Black History". Biography.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-10-16. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  96. "UWC - Presidents and Patrons". United World Colleges. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  97. Smith, Charlene (2004). Mandela: In Celebration of a Great Life. Struik. p. 41. ISBN 1868728285. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  98. 98.0 98.1 98.2 "Winnie Mandela". African National Congress. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-07-22. สืบค้นเมื่อ 2008-10-27.
  99. "Nelson and Winnie Mandela divorce; Winnie fails to win $5 million settlement". Jet. 8 April 1996. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-24. สืบค้นเมื่อ 2008-10-27.
  100. "Swaziland prince and princess attend Boston University". WGBH Boston. 13 May 1987. สืบค้นเมื่อ 2008-10-27.
  101. "Daddy Stayed In Jail. That Was His Job'; Zenani Mandela's Life Without Father". The Washington Post. 8 November 1987. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-25. สืบค้นเมื่อ 2008-10-27.
  102. 102.0 102.1 "AILA International Fellows Program". Center for Strategic & International Studies. สืบค้นเมื่อ 2008-10-27.
  103. "Mandela gets married on 80th birthday". CNN. 18 July 1998. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-14. สืบค้นเมื่อ 2008-10-27.
  104. Ngcukana, Lubabalo. "andela, Kaunda honour king". Daily Dispatch. สืบค้นเมื่อ 2008-10-27.
  105. de Bruyne, Marnix. "Zuidelijk Afrika". Netherlands Institute for Southern Africa. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-22. สืบค้นเมื่อ 2008-05-26.
  106. "2005: The year of Make Poverty History". Make Poverty History. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-05-23. สืบค้นเมื่อ 2007-05-01.
  107. "SA's best to join international stars for charity". Nelson Mandela Invitational. 5 September 2007. สืบค้นเมื่อ 2008-10-27.[ลิงก์เสีย]
  108. "Nelson Mandela Invitational Tees Off". GaryPlayer.com. 14 November 2003. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-25. สืบค้นเมื่อ 2008-10-27.
  109. "Nelson Mandela". SOS Children's Villages. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-06-07. สืบค้นเมื่อ 2008-08-01.
  110. "Celebrate Humanity 2004" (PDF). International Olympic Committee. 2004. สืบค้นเมื่อ 2007-05-01.
  111. "Mandela 'responding well to treatment'". BBC. 2001-08-15. สืบค้นเมื่อ 2008-05-26.
  112. ""I'll call you"". SouthAfrica.info. 2004-06-02. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-25. สืบค้นเมื่อ 2008-05-26.
  113. 113.0 113.1 Carroll, Rory (2006-07-18). "Mandela keeps his opinions to himself as a nation marks its idol's birthday". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 2008-05-26.
  114. "The Smoking Gun: Archive". The Smoking Gun. 2003. สืบค้นเมื่อ 2007-05-01.
  115. Groenewald, Yolandi; Joubert, Pearlie (2007-03-02). "Not yet uhuru". Mail & Guardian.{{cite news}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  116. 116.0 116.1 116.2 116.3 "Nelson Mandela Celebrates 90th Birthday by Urging Rich to Help Poor". FOX News. 18 July 2008. สืบค้นเมื่อ 2008-10-27.
  117. Bingham, John (6 May 2008). "Hyde Park concert to mark Mandela's 90th". The Independent. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-25. สืบค้นเมื่อ 2008-10-27.
  118. "Mandela joins 'Elders' on turning 89". MSNBC. 2007-07-20. สืบค้นเมื่อ 2008-05-26.
  119. "Mandela launches The Elders". SAinfo. 19 July 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-25. สืบค้นเมื่อ 2008-10-27.
  120. "Nelson Mandela announces The Elders". The Elders. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-24. สืบค้นเมื่อ 2008-05-26.
  121. Paul Tebas, MD, "Closing Ceremony," http://www.thebody.com/content/art16140.html เก็บถาวร 2013-05-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  122. "About 46664". 46664.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-11-21. สืบค้นเมื่อ 2008-10-27.
  123. "XV International AIDS Conference - Daily Coverage". Kaisernetwork. 15 July 2004. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-25. สืบค้นเมื่อ 2008-10-27.
  124. "Mandela's eldest son dies of Aids". BBC. 6 January 2005. สืบค้นเมื่อ 2008-10-27.
  125. "Mandela warns Bush over Iraq". BBC. 1 September 2002. สืบค้นเมื่อ 2008-10-27.
  126. Cornwell, Rupert (31 January 2003). "Mandela lambastes 'arrogant' Bush over Iraq". The Independent. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-24. สืบค้นเมื่อ 2008-10-27.
  127. 127.0 127.1 Fenton, Tom (2003-01-30). "Mandela Slams Bush On Iraq". CBS. สืบค้นเมื่อ 2008-05-26.
  128. "Mandela Slams Bush On Iraq". CBS News. 30 January 2003. สืบค้นเมื่อ 2008-12-23.
  129. Chanda, Abhik Kumar (2005-05-10). "Mandela sues over forged sketches". Mail & Guardian. สืบค้นเมื่อ 2008-05-26.
  130. Mabuza, Ernest (2005-07-13). "Ayob denies gain from Mandela art". Business Day. สืบค้นเมื่อ 2008-05-26.
  131. 131.0 131.1 Moya, Fikile-Notsikelelo (2005-08-05). "Poor Ismail Ayob". Mail & Guardian. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-04-28. สืบค้นเมื่อ 2008-05-26.
  132. Keet, Jacques (2005-07-21). "Courts 'have final word on Mandela-Ayob clash'". Business Day. สืบค้นเมื่อ 2008-05-26.
  133. Mabuza, Ernest (2005-07-18). "Bizos behind vicious campaign to discredit, defame me — Ayob". Business Day.
  134. "Ayob to pay back Mandela money". News24. 2007-02-27. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-24. สืบค้นเมื่อ 2008-05-26.
  135. 135.0 135.1 Gordin, Jeremy (2007-03-04). "What caused the Ayob, Mandela spat?". Sunday Independent. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-10-10. สืบค้นเมื่อ 2008-05-26.
  136. Schmidt, Michael (2007-03-03). "Mandela waging a vendetta - Ayob". Pretoria News. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-12-19. สืบค้นเมื่อ 2009-10-23.
  137. "Mandela's lawyers take Ismail to court over money". Mail & Guardian. 25 February 2007. สืบค้นเมื่อ 2008-10-27.
  138. Sefara, Makhudu; Mapiloko, Jackie (2007-03-03). "Madiba set me up, says Ayob". News24. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-24. สืบค้นเมื่อ 2008-05-26.{{cite news}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  139. Adams, Sheena (8 July 2006). "'Ayob tried to cover up unlawful spending'". IOL. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-19. สืบค้นเมื่อ 2008-10-27.
  140. Mkhwanazi, Siyabonga (28 February 2007). "Lawyer to pay back R800000 to Mandela trust". Pretoria News (South Africa). สืบค้นเมื่อ 2008-10-27.[ลิงก์เสีย]
  141. Mabuza, Ernest (2007-03-10). "Ayob Runs Out of Cash But Accuses Mandela Again". Business Day. สืบค้นเมื่อ 2008-05-26.
  142. Bates, Rob (22 June 2006). "Nelson Mandela to speak out for diamond industry". Jewelers' Circular Keystone. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-24. สืบค้นเมื่อ 2008-10-27.
  143. "Half Nelson - Mandela, diamond shill". The New Republic. 2006-12-08. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-08. สืบค้นเมื่อ 2008-05-26.
  144. Snead, Elizabeth (15 June 2006). "Mandela to defend De Beers from bad "Blood"". LA Times. สืบค้นเมื่อ 2008-10-27.
  145. Chimuka, Garikai (14 May 2008). "Gukurahundi and current wave of violence similar". The Zimbabwe Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-11-21. สืบค้นเมื่อ 2008-10-26.
  146. Winter, Joseph (13 March 2002). "Mugabe's descent into dictatorship". BBC. สืบค้นเมื่อ 2008-10-26.
  147. "Mandela expresses anger at Mugabe". The Namibian. 2000-05-08. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2003-05-20. สืบค้นเมื่อ 2008-05-26.
  148. "Mandela repudiates Mbeki on AIDS stance". CNN. 2000-09-29. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-12. สืบค้นเมื่อ 2008-05-26.
  149. Hentoff, Matt (2003-05-23). "Where is Nelson Mandela?". The Village Voice. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-09. สืบค้นเมื่อ 2008-05-26.
  150. Trapido, Michael (2008-06-10). "Why has Nelson Mandela remained silent on Zimbabwe?". Thought Leader. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-07-01. สืบค้นเมื่อ 2008-06-25.
  151. "Mugabe snubs Mandela". News24. 2007-11-05. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-24. สืบค้นเมื่อ 2009-09-26.
  152. Battersby 2011, p. 598; Meredith 2010, p. 593; "I'll call you". SouthAfrica.info. 2 June 2004. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-25. สืบค้นเมื่อ 26 May 2008.
  153. Battersby 2011, p. 598.
  154. 154.0 154.1 Keyes, Allison (17 May 2005). "Mandela, Bush Discuss Education, AIDS in Africa". NPR. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-26.
  155. 155.0 155.1 Hennessey, Kathleen (25 June 2013). "The Obama-Mandela dynamic, reflected in a photo". Los Angeles Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-26.
  156. Battersby 2011, p. 594.
  157. Battersby 2011, p. 600; "Mandela joins 'Elders' on turning 89". MSNBC. Associated Press. 20 July 2007. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-25. สืบค้นเมื่อ 26 May 2008.; "Mandela launches The Elders". SAinfo. 19 July 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-25. สืบค้นเมื่อ 27 October 2008.
  158. Bingham, John (6 May 2008). "Hyde Park concert to mark Mandela's 90th". The Independent. London: Independent Print Limited. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-25. สืบค้นเมื่อ 27 October 2008.
  159. Battersby 2011, pp. 594–597; Meredith 2010, p. 598.
  160. Mandela 1996, p. 144-148.
  161. Ann, Talbot (5 August 1999). "Biography falls short of penetrating myth surrounding ANC leader". International Committee of the Fourth International (ICFI). สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  162. 162.0 162.1 Gilbey, Ryan (14 May 2007). "Whitewashed and watered down". New Statesman. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-04. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  163. Sampson, Anthony (1999). Mandela: The Authorised Biography. HarperCollins. pp. 217.
  164. "The Nobel Peace Prize 1993". Nobelprize.org. สืบค้นเมื่อ 2008-10-26.
  165. "The Order of Merit". Royal Insight. November 2002. สืบค้นเมื่อ 2008-10-26.
  166. "President Honors Recipients of the Presidential Medal of Freedom". The White House. 9 July 2002. สืบค้นเมื่อ 2008-10-26.
  167. "Madiba conferred freedom of Johannesburg". Gauteng Provincial Government. 27 July 2004. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-21. สืบค้นเมื่อ 2008-10-26.
  168. "Mandela and the Children". Rooney Productions. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-08-03. สืบค้นเมื่อ 2008-10-26.
  169. "Mandela to be honoured with Canadian citizenship". CBC News. 19 November 2001. สืบค้นเมื่อ 2008-10-26.
  170. "Order of Canada - Nelson Mandela, C.C." Governor General of Canada. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-20. สืบค้นเมื่อ 2008-10-26.
  171. "Bharat Ratna Award". National Portal of India. สืบค้นเมื่อ 2008-10-26.
  172. "Statement on the Ataturk Award given to Nelson Mandela". African National Congress. 1992-04-12. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-10-01. สืบค้นเมื่อ 2009-07-04. {{cite web}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |acdcessdate= ถูกละเว้น (help)
  173. "Stevie Wonder Music Banned in South Africa". The New York Times. 1985-03-27. สืบค้นเมื่อ 2008-05-26.
  174. 174.0 174.1 174.2 174.3 174.4 174.5 Ketchum, Mike. "The Mandela Concert, Wembley 1988". African National Congress. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-07-09. สืบค้นเมื่อ 2008-12-23.
  175. Drewett, Michael (2006). Popular Music Censorship in Africa. Ashgate Publishing. p. 30. ISBN 0754652912. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  176. Guernsey, Otis L. (21 May 2008). The Best Plays. University of Michigan. p. 347. ISBN 1557830401. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  177. "Brenda Fassie dies". BBC. 2004. สืบค้นเมื่อ 2008-05-26.
  178. Lee, Carmen (2003-06-16). "20 Years Ago Today". Time (magazine). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-14. สืบค้นเมื่อ 2008-05-27.
  179. Sherrod, Lonnie R. (2006). Youth Activism: An International Encyclopedia. Greenwood Press. p. 62. ISBN 0313328129.
  180. Lamb, Bill. "Nickelback - If Everyone Cared". About. สืบค้นเมื่อ 2008-12-23.[ลิงก์เสีย]
  181. Trussell, Jeff. "Freedom Hero: Nelson Mandela". The My Hero Project. สืบค้นเมื่อ 2008-12-23.
  182. "Mandela's 90th birthday year celebrates diversity of ideas". Nelson Mandela Foundation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-29. สืบค้นเมื่อ 2008-05-26.
  183. "Mandela and de Klerk (1997)". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2008-10-26.
  184. "Goodbye Bafana - Sypnosis". Goodbye Bafana - Official site. สืบค้นเมื่อ 2008-10-26.[ลิงก์เสีย]
  185. Cunningham, Matthew (3 June 2004). "Creme cameos". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 2008-10-26.
  186. 186.0 186.1 Guerrero, Ed (1993). Framing Blackness: The African American Image in Film. Temple University Press. pp. 202. ISBN 1566391261.
  187. Carlin, John (2008). Playing the Enemy: Nelson Mandela and the Game that Made a Nation. New York: Penguin Press. ISBN 978-1-59420-174-5
  188. 188.0 188.1 Keller, Bill. - "Entering the Scrum". - The New York Times Book Review. - 17 August 2008.
  189. "The cast of the World Cup film revealed!". Planet Rugby. 24 December 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-27. สืบค้นเมื่อ 2009-01-10.
  190. Invictus (2009) from imdb.com เก็บข้อมูลเมื่อ 20 กันยายน 2552.
  191. Dowell, Ben (11 March 2009). "BBC commissions Winnie Mandela drama". guardian.co.uk. Guardian News and Media. สืบค้นเมื่อ 11 March 2009.
  192. Ian Herbert North (2001-05-01). "Mandela vindicates `loony left' of Leeds for honouring struggle". The Independent. สืบค้นเมื่อ 2008-01-24.
  193. "S. Africa renames Sandton Square as Nelson Mandela Square". Xinhua News Agency. 31 March 2004. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-01-03. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  194. "Nelson Mandela statue is unveiled". BBC News. 29 August 2007. สืบค้นเมื่อ 2008-12-23.
  195. "Broad Parliamentary Support for Trafalgar Square Mandela statue". London. 21 May 2003. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-24. สืบค้นเมื่อ 2008-12-23.
  196. "Mandela salutes apartheid heroes". News24. 2007-08-29. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-27. สืบค้นเมื่อ 2008-05-26.
  197. Libyan Stamps online
  198. Hendrixson, Brent E.; Bond, Jason E. (2004). "A new species of Stasimopus from the Eastern Cape Province of South Africa (Araneae, Mygalomorphae, Ctenizidae), with notes on its natural history" (PDF). Zootaxa. 619: 1–14. สืบค้นเมื่อ 2008-05-26.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)

หนังสืออ่านเพิ่มเติม

[แก้]
  • แอนโทนี แซมป์สัน (Anthony Sampson) ;Mandela: the authorized biography; ISBN 0-679-78178-1 (1999)
  • เนลสัน แมนเดลา;Long Walk to Freedom: The Autobiography of Nelson Mandela; Little Brown & Co; ISBN 0-316-54818-9 (paperback, 1995)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
ก่อนหน้า เนลสัน แมนเดลา ถัดไป
บิล คลินตัน บุคคลแห่งปีของนิตยสารไทม์
(ค.ศ. 1983
ร่วมกับเฟรเดอริก วิลเลิม เดอ แกลร์ก, ยัสเซอร์ อาราฟัต และยิตซัค ราบิน)
สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2