ข้ามไปเนื้อหา

เนตรปรียา ชุมไชโย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เนตรปรียา (มุสิกไชย) ชุมไชโย (หรือ ครูเคท) เป็นอดีตผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี[1] ผู้ประกาศข่าว เป็นพิธีกร เป็นนักเขียน ศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนถึง มศ. 4 จากนั้นสอบเทียบมศ. 5 ในปีเดียวกันและเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษา จบปริญญาตรี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สาขาวิชาการธนาคารและการเงิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ปริญญาโทบริหารธุรกิจ MBA (International Marketing) Loyola Marymount University, California, USA และปริญญาเอกบริหารธุรกิจ (DBA) International Marketing, University of South Australia และปริญญาเอกใบที่สอง จิตวิทยาการปรึกษา (Ph.D,CP.) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ[2]

เข้าสู่วงการโทรทัศน์จากการเป็นพิธีกรและผู้ประกาศข่าวภาคภาษาไทยและอังกฤษ เมื่ออายุ 19 ปี และยังเป็นผู้ประกาศข่าวรายการ 11 ข่าวเศรษฐกิจ ทางช่อง 11 เป็นพิธีกรรายการ Good Morning Thailand ทางช่อง 9 ผู้รายงาน ข่าว CNN World Report ผู้ดำเนินรายการกรองสถานการณ์ทางช่อง 11 พิธีกรรายการ Small Talk ทางช่อง 5 รายการก้าวทันธุรกิจส่งออกทางไอทีวี และยังเป็นพิธีกรในงานเปิดตัวสินค้า

เธอมีชื่อเสียงจากผลงานเขียน ที่ชื่อ "เรียนภาษาอังกฤษกันเข้าไป แต่พูดไม่ได้สักที" และอื่นๆ ซึ่งออกมา 7 เล่ม เริ่มพิมพ์ครั้งแรกเมื่อกลางปี 2542 และได้รางวัล Best Seller (4 รางวัล) ของสำนักพิมพ์อมรินทร์พริ้นติ้ง เมื่อปี 2543 โดยผลงานชิ้นนี้ที่ได้เริ่มตีพิมพ์คอลัมน์ในนิตยสารเปรียว และแพรวสุดสัปดาห์ หลังจากมีชื่อเสียงมากขึ้น เธอยังจัดพูดทอล์กโชว์ "ครูเคท ทอล์คแอนด์โชว์" ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และจัดครั้งที่ 2 ซึ่งมีประมาณ 700 ที่นั่ง จัดไป 3 รอบ ยังได้รับเชิญจากทั้งหน่วยงานเอกชน และรัฐบาลในเรื่องการเรียนภาษาอังกฤษ ยังเป็นพิธีกรเปิดตัวสินค้าใหม่ หรืองานที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษแปลกันสดๆ รวมทั้งงานเป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้า

ครูเคทเคยเป็นข้าราชการของกระทรวงพาณิชย์ กรมส่งเสริมการส่งออกกระทรวงพาณิชย์ โดยดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการหลายสำนัก เช่น สำนักโลจิสติกส์การค้า สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักพัฒนาผลิตภัณฑ์และมูลค่าเพิ่ม และ สำนักให้คำปรึกษาธุรกิจระหว่างประเทศ มีความเชี่ยวชาญด้านการตลาดและโลจิสติกส์การค้าระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ยังได้เคยดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆ เช่น รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล (รัฐบาล พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์) รองโฆษกกระทรวงพาณิชย์ รองโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ ช่วยราชการรองนายกรัฐมนตรี (นายปองพล อดิเรกสาร) ช่วยราชการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล) เป็นต้น

นอกจากงานประจำแล้ว ครูเคทยังเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้ปฏิวัติการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทย จากวิธีการท่องศัพท์และไวยากรณ์ เป็นวิธีการเรียนภาษาอังกฤษด้วยวิธีธรรมชาติซึ่งเทคนิคที่พัฒนาโดยครูเคทถือเป็นต้นตำหรับในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษด้วยวิธีธรรมชาติผ่านการทำงานของสมองระดับจิตใต้สำนึกทำให้สิ่งที่ได้เรียนรู้ถูกบันทึกในความทรงจำระยะยาวในสมองและพร้อมนำออกมาใช้ได้อย่างอัตโนมัติ จึงไม่ต้องคิดผ่านภาษาไทยแล้วแปลเป็นภาษาอังกฤษ

นอกจากนี้ ครูเคทยังได้รับรางวัล Women of Year 2002 จากนิตยสาร Cosmopolitan และ รางวัล Working Women of Year 2002 จากนิตยสาร Working Women และรางวัล Nivea Thailand Most Influential Women 2009 (รางวัลผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลทางความคิดของคนไทย)

สำหรับบทบาทด้านสื่อสารมวลชน ครูเคทเป็นผู้ประกาศข่าวและผู้ดำเนินรายการ ทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษ หลายรายการ อย่างต่อเนื่องมากว่า 20 ปี โดยเป็นผู้ดำเนินรายการต่างๆ อาทิเช่น เป็นผู้ประกาศข่าว 11 เศรษฐกิจ เป็นผู้ดำเนินรายการ จับตาสถานการณ์ กรองสถานการณ์ หมายเหตุประเทศไทย และสายตรงทำเนียบ เป็นต้น นอกจากนี้ ครูเคทยังเคยเป็นผู้ประกาศข่าวภาคภาษาอังกฤษ ทางโทรทัศน์รายการแรกของประเทศไทย “Good Morning Thailand” ช่อง 9 อสมท.  “Newsline” สวท. 11 และ ผู้ดำเนินรายการ ASEAN Talk และ ASEAN BIZ ของสถานีโทรทัศน์ ASEAN TV ซึ่งออกอากาศในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย

ปัจจุบัน ครูเคทเป็นผู้ก่อตั้งและประธานที่ปรึกษา บริษัท Inspiring Wisdom จำกัด  เพื่อพัฒนาธุรกิจและทรัพยากรมนุษย์ และ เป็นผู้อำนวยการ โรงเรียนสอนภาษาครูเคท และศูนย์จิตวิทยาคำปรึกษา ให้บริการคำปรึกษาและจิตบำบัด เป็นนักจิตวิทยาประจำ ooca.co เป็นวิทยากรให้กับหน่วยงานต่างๆด้านการค้าระหว่างประเทศ การสื่อสาร การเป็นผู้นำ การขจัดความขัดแย้ง ฯลฯ รวมทั้งเป็นคอลัมนิสต์ “คนดังนั่งเขียน” บทความจิตวิทยาในไทยรัฐออนไลน์ และผู้ดำเนินรายการวิทยุ “คลินิกสุขใจ” FM90.5 (เสาร์ 7.00-8.00 น.) รายการ “พฤหัสนัดเม้า” (พฤหัสบดี 19.00-20.00 น.) Facebook fanpage: Kate Inspirer และรายการ “Family Talk” (อังคาร 10.00-10.30 น.) Facebook fanpage: Mother&Care

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ครม.อนุมัติแผนการตลาดทั้งใน-ตปท.กระจายผลผลิตลองกองแก้ปัญหาราคาตกต่ำ
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-03-03. สืบค้นเมื่อ 2021-02-19.
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย, เล่ม ๑๒๒ ตอนที่ ๑๑ ข หน้า ๑๔๒, ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๔๘
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย, เล่ม ๑๑๙ ตอนที่ ๒ ข หน้า ๖๑, ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]