ข้ามไปเนื้อหา

เต่าเดือย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เต่าเดือย
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Reptilia
อันดับ: Testudines
วงศ์: Testudinidae
สกุล: Manouria
สปีชีส์: M.  impressa
ชื่อทวินาม
Manouria impressa
(Günther, 1882)
ชื่อพ้อง[2]
  • Geoemyda impressa Günther, 1882
  • Geoemyda latinuchalis Vaillant, 1894
  • Testudo pseudemys Boulenger, 1903
  • Testudo latinuchalis Siebenrock, 1909
  • Testudo impressa Smith, 1922
  • Geochelone impressa Pritchard, 1967
  • Manouria impressa Bour, 1980
  • Manowria impressa Zhou & Zhou, 1991

เต่าเดือย หรือ เต่าควะ (อังกฤษ: Impressed tortoise; ชื่อวิทยาศาสตร์: Manouria impressa) เต่าประเภทเต่าบกชนิดหนึ่ง

เต่าเดือย นับเป็นเต่าบกที่พบได้ในป่าทวีปเอเชียที่มีกระดองสวยงามมากชนิดหนึ่ง โดยมีแผ่นเกล็ดที่กระดองหลังบางแผ่นที่โปร่งแสง แผ่นเกล็ดสันหลังและแผ่นเกล็ดชายโครงยุบลงมาเล็กน้อย แผ่นเกล็ดเหนือต้นคอมีขนาดใหญ่ ตอนปลายแยกออกเป็น 2 ส่วน โคนขาหน้าหุ้มด้วยเกล็ดที่มีลักษณะแหลมคล้ายหนาม ขาหลังคล้ายเท้าช้าง มีเดือยรูปวงกลมและเดือยคล้ายไก่ 1 เดือย ระหว่างโคนขาหลังและโคนหาง แผ่นเกล็ดใต้คอมีขนาดเล็ก แผ่นเกล็ดท้องมีขนาดใหญ่

มีขนาดใหญ่โตเต็มที่ประมาณ 28 เซนติเมตร ความยาวของกระดองท้อง 27 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 2.5 กิโลกรัมหรือมากกว่า กระดองหลังเป็นสีเหลืองส้ม ขอบกระดองเป็นสีเหลือง มีจุดสีน้ำตาลกระจายอยู่ประปราย ตัวผู้และตัวเมียมีสีที่แตกต่างกัน และมีน้ำหนักที่ต่างกันอีกด้วย

เต่าเดือย เป็นเต่าที่อาศัยอยู่ในป่าดิบชื้นทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงจีนตอนใต้ อาจพบได้บนที่สูงถึง 2,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล เป็นเต่าที่กินอาหารจำพวกพืช เช่น หน่อไม้, เห็ดรา เป็นอาหารหลัก โดยมักหากินตามพื้นที่มีความชื้นสูงและมีหญ้าขึ้นรกชัฎ

เป็นเต่าที่ใกล้สูญพันธุ์ในธรรมชาติมากแล้วชนิดหนึ่ง ปัจจุบันเป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ พุทธศักราช 2535[3]

เต่าเดือย เป็นเต่าอีกชนิดหนึ่งที่นิยมเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงสำหรับผู้ที่นิยมเลี้ยงสัตว์เลื้อยคลานหรือสัตว์แปลก ๆ โดยในอดีต มีชื่อเรียกเฉพาะในแวดวงผู้ค้าสัตว์เลี้ยงซึ่งเป็นสัตว์ป่าว่า "เต่าหกพม่า" มีราคาขายเพียงตัวละ 50-100 บาทเท่านั้น ในปี พ.ศ. 2516 โดยจะเป็นเต่าที่ถูกจับมาจากทางพม่า ผ่านทางอำเภอแม่สอด แต่ทว่าก็เป็นเต่าที่เลี้ยงให้รอดยากมากในที่เลี้ยง โดยมากเต่าที่ถูกจับมาขายนั้นมักไม่กินอาหาร หรือเลือกกินเป็นอย่างยิ่ง และในปัจจุบัน ได้มีการค้นพบเต่าเดือยอีกจำพวกหนึ่ง ที่มีขนาดเล็กกว่าเต่าเดือยขนาดปกติ โดยตัวผู้มีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 22 เซนติเมตร น้ำหนักไม่ถึง 2 กิโลกรัม ตัวเมียมีขนาดยาวประมาณ 25 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 2.5 กิโลกรัม พบได้ในป่าตั้งแต่ชายแดนของประเทศไทยแถบจังหวัดตราดต่อเนื่องไปตามแนวเทือกเขาในประเทศกัมพูชาภาคตะวันตก และมีรายละเอียดที่แตกต่างจากเต่าเดือยปกติพอสมควร เช่น ตัวผู้และตัวเมียมีสีสันที่คล้ายกันและลำตัวไล่เลี่ยกัน, ตัวผู้มีเกลล็ดสีแดงที่ขาหลัง, มีสีสันที่สดใสน้อยกว่า และสามารถปรับตัวได้ดีในที่เลี้ยง โดยไม่เลือกอาหารที่จะกินมากนัก ซึ่งยังไม่ได้มีการศึกษาทางวิชาการ จึงอาจเป็นไปได้ว่าเป็นเต่าชนิดใหม่ หรือเป็นชนิดย่อยของเต่าเดือย[4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. จาก IUCN
  2. Fritz Uwe (2007). "Checklist of Chelonians of the World" (PDF). Vertebrate Zoology. 57 (2): 288–289. ISSN 18640-5755. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-17. สืบค้นเมื่อ 29 May 2012. {{cite journal}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  3. เต่าในประเทศไทย โดย วิโรจน์ นุตพันธุ์, สำนักเสริมสร้างเอกลักษณ์แห่งชาติ ทำเนียบรัฐบาล (2543)
  4. หน้า 148-153, เต่าเดือยแคระ เต่าบกชนิดใหม่ของโลก ?. คอลัมน์ V.I.P. โดย กิตติพงษ์ จารุธาณินทร์. นิตยสาร Aquarium Biz ฉบับที่ 38 ปีที่ 4: สิงหาคม 2013

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Manouria impressa ที่วิกิสปีชีส์