เซบิเช
เซบิเชรูปแบบหนึ่งจากเปรู ใช้เนื้อปลาจำพวกปลากะพง | |
มื้อ | อาหารจานหลัก, อาหารเรียกน้ำย่อย |
---|---|
แหล่งกำเนิด | ประเทศชายฝั่งแปซิฟิกในลาตินอเมริกา[1][2][3][4] |
อุณหภูมิเสิร์ฟ | เย็น; สุก (ลวก) หรือดิบ (แช่น้ำผลไม้สกุลส้ม) |
ส่วนผสมหลัก | เนื้อปลา, น้ำมะนาวหรือน้ำเลมอน, หอมใหญ่หรือหอมแขก, พริก |
เซบิเช (สเปน: ceviche, cebiche, seviche, sebiche)[5][6] เป็นอาหารประเภทยำชนิดหนึ่ง มีรสเปรี้ยวค่อนข้างโดด ประกอบด้วยเนื้อปลาหรืออาหารทะเลดิบแช่ในน้ำผลไม้สกุลส้ม (เช่น น้ำมะนาว น้ำเลมอน น้ำส้มซ่า) เคล้ากับเครื่องปรุงซึ่งได้แก่ พริกหรืออาฆี (พริกชนิด Capsicum baccatum) หอมใหญ่หรือหอมแขกซอย เกลือ และผักชี เนื่องจากอาหารชนิดนี้โดยทั่วไปไม่ผ่านการปรุงให้สุกด้วยความร้อน จึงต้องเตรียมและรับประทานสดเพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะอาหารเป็นพิษ[7] ตามปกติมักเสิร์ฟเซบิเชกับเครื่องเคียงต่าง ๆ ที่ช่วยชูรสชาติของเนื้อปลาให้ดียิ่งขึ้น เช่น มันเทศ ผักกาดหอม ข้าวโพด อาโวคาโด หรือกล้าย[8][9][10] เซบิเชเป็นที่นิยมในภูมิภาคชายฝั่งแปซิฟิกของลาตินอเมริกา[2] แม้ต้นกำเนิดของเซบิเชจะยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อน แต่ในเปรูก็ถือว่าอาหารชนิดนี้เป็นอาหารประจำชาติอย่างหนึ่ง[8]
แม้จะมีร่องรอยทางโบราณคดีที่ชี้ให้เห็นว่ามีการบริโภคอาหารลักษณะคล้ายเซบิเชเมื่อเกือบสองพันปีมาแล้วในเปรู[8] แต่นักประวัติศาสตร์บางคนเชื่อว่า หญิงชาวมัวร์จากกรานาดาที่ติดตามผู้พิชิตดินแดนและนักล่าอาณานิคมชาวสเปนไปด้วยนั้นเป็นผู้นำอาหารต้นกำเนิดของเซบิเชเข้าไปยังเปรู ต่อมาอาหารดังกล่าวได้มีวิวัฒนาการมาเป็นอาหารที่เรียกว่าเซบิเชในปัจจุบัน[4][11] กัสตอน อากูริโอ เชฟชาวเปรู อธิบายเพิ่มเติมว่า ตำแหน่งทางการเมืองอันโดดเด่นที่ลิมาถือครองอยู่เป็นเวลาสี่ร้อยปีในฐานะศูนย์กลางของเขตอุปราชแห่งเปรูได้เปิดโอกาสให้มีการนำอาหารยอดนิยมต่าง ๆ (เช่น เซบิเช) เข้าไปยังอาณานิคมสเปนแห่งอื่นในภูมิภาค และในที่สุดก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของตำรับอาหารท้องถิ่นโดยผสานกับรสชาติและรูปแบบของท้องถิ่นนั้น ๆ[12]
ปัจจุบัน เซบิเชเป็นอาหารยอดนิยมในระดับนานาชาติที่มีวิธีปรุงหลากหลายตลอดทั้งทวีปอเมริกา โดยเริ่มเข้าสู่สหรัฐในคริสต์ทศวรรษ 1980[1] รูปแบบที่หลากหลายที่สุดของเซบิเชปรากฏในชิลี, เปรู, เอกวาดอร์ และโคลอมเบีย แต่ก็สามารถพบรูปแบบอื่น ๆ ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ได้ในพื้นที่ชายฝั่งของปานามา, ฮอนดูรัส, เอลซัลวาดอร์, กัวเตมาลา, เบลีซ, เม็กซิโก, สหรัฐ และประเทศอื่นอีกหลายประเทศ[1][8]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 Rodriguez, The Great Ceviche Book, p. 3
- ↑ 2.0 2.1 González and Ross, Entre el comal y la olla: fundamentos de gastronomía costarricense, p. 171
- ↑ Butler, Cleora's Kitchens, p. 150
- ↑ 4.0 4.1 Peschiera, Cocina Peruana, p. 35
- ↑ "cebiche". Diccionario de la Lengua Española. Real Academia Española. สืบค้นเมื่อ August 28, 2013.
- ↑ "sebiche". Diccionario de la Lengua Española. Real Academia Española. สืบค้นเมื่อ August 28, 2013.
- ↑ Benson et al. Peru p. 78
- ↑ 8.0 8.1 8.2 8.3 "Perú decreta el 28 de junio como el Día del Seviche". El País Internacional (ภาษาสเปน). Lima: Ediciones El País, S.L. September 19, 2008. สืบค้นเมื่อ August 28, 2013.
- ↑ Rodriguez, The Great Ceviche Book, pp. 5-10
- ↑ Harrison, Beyond Gumbo, p. 85
- ↑ Ariansen Cespedes, Jaime. "La facinante historia del Cebiche". Mito, Leyenda y Folklore en la Gastronomia Peruana VI (ภาษาสเปน). Instituto de los Andes. สืบค้นเมื่อ August 28, 2013.
- ↑ Revolución de los gustos en el Perú pp. 80-81
บรรณานุกรม
[แก้]- Bayless, Rick (2000). Mexico One Plate At A Time. Simon & Schuster. ISBN 0-684-84186-X.
- Butler, Cleora (2003). Cleora's Kitchens: The Memoir of a Cook and Eight Decades of Great American Food. Council Oak Books, LLC. ISBN 1-57178-133-1.
- Harris, Jessica B. (2003). Beyond gumbo: Creole fusion food from the Atlantic Rim. Simon & Schuster. ISBN 0-684-87062-2.
- Meyer, Arthur L.; Vann, Jon M. (2003). The Appetizer Atlas: A World of Small Bites. John Wiley and Sons. ISBN 0-471-41102-7.
- Peschiera, Emilio (2005). Cocina Peruana. Ediciones Granica S.A. ISBN 956-8077-30-8.
- Presilla, Maricel (2012). Gran Cocina Latina. W. W. Norton & Company. p. 479. ISBN 978-0-393-05069-1.
- Rodriguez, Douglas (2010-06-08). The Great Ceviche Book. Ten Speed Press. p. 3. ISBN 1-58008-107-X.
- González, Marjorie Ross; Ross, Marjorie (2001). Entre el comal y la olla: fundamentos de gastronomía costarricense. Euned. ISBN 9789968311281.
- "Revolución de los gustos en el Perú". Américas. General Secretariat of the Organization of American States. June 2006.