ข้ามไปเนื้อหา

พญาภูคา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เจ้าหลวงพญาภูคา)
พญาภูคา
ปฐมวงศ์กษัตริย์นครรัฐน่าน
เจ้าผู้ครองเมืองย่าง
ราชาภิเศกขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 พ.ศ. 1812
ครองราชย์พ.ศ. 1812 - พ.ศ. 1880
รัชกาล68 ปี[1]
ก่อนหน้าสถาปนาราชวงศ์
ถัดไปพญาเก้าเกื่อน
ประสูติพ.ศ. 1800 ณ เมืองเงินยาง[2]
พิราลัยพ.ศ. 1880 พระชนมายุ 80 พรรษา[3]
พระชายาพระนางจำปาชายา
พระราชบุตร2 พระองค์
ราชวงศ์ราชวงศ์ภูคา[4]

พญาภูคา ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ภูคา ทรงปกครองเมืองย่าง ครองราชย์ พ.ศ. 1812 - พ.ศ. 1880 ดำรงราชย์สมบัติ 68 ปี[5]

พระประวัติ

[แก้]

ตามตำนานพงศาวดารเมืองย่าง[6] เจ้าหลวงพญาภูคาเดิมเป็นชาวเมืองเงินยาง (สันนิษฐานว่าสืบเชื้อสายมาจากอาณาจักรหิรัญเงินยาง หรืออำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย) ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 18 พญาภูคา และชายา ชื่อนางพญาจำปา หรือแก้วฟ้า พร้อมด้วยราษฏรประมาณ 220 คน ได้อพยพจากเมืองเงินยางลงมาทางใต้ มาหยุดพักตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ ที่ห้วยเฮี้ย (น้ำกูน) (ปัจจุบัน ต.ศิลาเพชร)[7]แล้วให้ราษฎรเหล่านั้นไปสำรวจพื้นที่ดูว่า ที่ไหนเห็นสมควรที่จะตั้งเมืองได้ พวกราษฏรเหล่านั้นได้เดินไปสำรวจจนถึงเมืองล่าง (ปัจจุบัน ต.ศิลาเพชร) ในเมืองล่างแห่งนี้ได้มีพวกเขมรมาก่อตั้งเมืองอยู่ก่อนแล้ว แล้วก็เป็นเมืองที่ร้างไปคงเหลืออยู่ขณะนั้นหมู่บ้านเดียว คือ บ้านกำปุง หรือบ่อตอง (ปัจจุบันคือ บ้านป่าตอง) มีประมาณ 40 หลังคาเรือน พลเมืองส่วนมาก เป็นพวก ลัวะ หรือเขมร ซึ่งพวกเขมรได้พร้อมใจกันสร้างวัดขึ้นมาวัดหนึ่ง ตั้งชื่อว่า วัดมณี[8]ขณะนี้เป็นวัดร้างไปแล้วคง เหลือแต่ซากอิฐผุพังให้เห็นเท่านั้น

พระกรณียกิจ

[แก้]

ด้านการเมือง/การปกครอง

[แก้]

เจ้าหลวงพญาภูคา ได้ขยายอาณาเขตการปกครองโดยส่งราชบุตรบุญธรรมสององค์ คือ ให้เจ้าขุนนุ่นผู้พี่ไปสร้างเมืองจันทบุรี หลวงพระบาง ส่วนเจ้าขุนฟองผู้น้องไปสร้าง เมืองวรนครเมืองปัว และในสมัยพญาการเมือง หลานเจ้าหลวงพญาภูคาได้ย้ายเมืองจากวรนครไปสร้างเมืองที่เวียงภูเพียงแช่แห้งเมื่อ ปี พ.ศ. 1902 และก็ได้มีการโยกย้ายเมืองอีกครั้งไปสร้างที่บ้านห้วยใคร้ นั่นก็คือเมืองน่าน ในปัจจุบัน ในรัชกาลของ เจ้าหลวงภูคาได้ขยายเขตการปกครองออกไปดังนี้

  • ทิศเหนือถือเอาศาลเมืองล่างเป็นเขต
  • ทิศใต้จรดเมืองสุโขทัย
  • ทิศตะวันออกจรดเขตเมืองหลวงพระบาง
  • ทิศตะวันตกจรดเขตพม่า

ด้านศาสนา

[แก้]

1. สร้างวัดมณี ปี พ.ศ. 1816 พญาภูคา นำราษฎรปฏิสังขรณ์ และบูรณะวัดมณี เพื่อให้เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเมืองย่าง รวมทั้งได้นิมนต์พระมหาเถระองค์หนึ่งซึ่งจาริกมาจากกรุงสุโขทัย ให้เป็นเจ้าอาวาสวัดมณี แล้วต่อให้จัดทำเหมืองนาทุ่งแหนและนามุขขึ้น เมื่อทำเหมืองเสร็จเรียบร้อยแล้วก็เกณฑ์เอาราษฎร ถางป่าทางทิศตะวันตกเฉียงบ้านกำปุงขึ้นไป และพากันบุกเบิกทำเป็นนาขึ้น เรียกว่าทุ่งแหนและนามุขจนทุกวันนี้ สถานที่นั้นเป็นสระน้ำใหญ่ มีปลาและเต่าและสัตว์น้ำต่าง ๆ มีเป็นอันมากซึ่งพญาภูคาหวงแหนไว้มิให้คนใดทำอันตรายสัตว์น้ำที่มีอยู่ในสระ นี้ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นจะทำอันตรายใด ๆ ทั้งสิ้นในปีหนึ่งจะมีการจับปลาในสระนี้ครั้งหนึ่ง ถ้าจะจับปลาในสระนี้แล้วจำเป็นต้องหาท้าวขุนหมื่นขุนแสนมาเป็นผู้ดูแล และเก็บเอาปลาจากผู้ที่จับได้ครั้งหนึ่งในขณะนั้นยังมีนางคนหนึ่งชื่อนางมุข จับปลาได้มาก แต่ได้เอาปลาไปช่อนไว้ที่บ่อน้ำหมายว่าจะไม่ให้ใครเห็น ในเมื่อคนทั้งหลายได้หนีหมดแล้ว นางก็ได้เอาปลาจากบ่อน้ำขึ้นมา มีชายคนหนึ่งเห็นเข้าจึงถามว่า นางเอาปลาซ่อนไว้ที่ไหนนางบอกว่าซ่อนไว้ในบ่อน้ำ ถ้าอย่างนั้นท่านจงชำระบ่อน้ำให้สะอาดดีกว่าเดิม นับแต่นั้นมาจึงได้เรียกว่า "บ่อน้ำนางมุข" หรือ เรียกว่า "บ่อน้ำนามุข" จนทุกวันนี้

2. สร้างวัดวัดพระธาตุเบ็งสกัด พ.ศ.1826

มีตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับองค์พระธาตุซึ่งปรากฏในสมุดข่อย กล่าวว่า[9] เมื่อครั้งที่พญาภูคาต้องการจะสร้างเมืองขึ้นใหม่ให้แก่บุตรบุญธรรม จึงได้ให้ผู้คนไปหาชัยภูมิสร้างเมืองใหม่ จนกระทั่งได้ที่บริเวณแห่งหนึ่งซึ่งเป็นที่พอพระทัย แล้วสร้างเมืองขึ้นใหม่ ตั้งให้ขุนฟองเป็นผู้ครองเมือง ขนานนามว่า “เมืองวรนคร” พญาภูคาทรงมีความเลื่อมใสในพุทธศาสนา ประสงค์จะสร้างเจดีย์ไว้ใกล้กับเมืองใหม่ จึงได้ให้ผู้คนไปหาบริเวณที่เหมาะสมเพื่อสร้างเจดีย์ จึงพบบริเวณที่ดินเป็นลานกว้างมีบ่อน้ำอยู่ตรงกลางกว้างประมาณ 1.5 เมตร

พญาภูคาได้เสด็จไปดูและนำไม้รวกแหย่ลงไปในบ่อนั้น ปรากฏว่าไม้ที่แหย่ลงไปขาดเป็นท่อน ๆ เมื่อเห็นอัศจรรย์จึงรับสั่งให้สร้างพระเจดีย์ครอบบ่อน้ำ ซึ่งสร้างขึ้นแบบธรรมดาขนาดกว้าง 7 เมตร สูง 20 เมตร พร้อมกับสร้างวิหารหลังหนึ่งอยู่ในแนวเดียวกับองค์เจดีย์เมื่อสร้างเจดีย์แล้วเสร็จในปี พ.ศ.1826 จึงได้เชิญนายญาณะ อุปสมบทเป็นเจ้าอาวาส ทำพิธีฉลองพร้อมเมืองใหม่ ในตอนกลางคืนของงานฉลองนั้นได้เกิดสิ่งมหัศจรรย์ขึ้น ปรากฏแสงไฟเรืองรองพุ่งออกมาจากยอดพระธาตุ เมื่อเห็นดังนั้น พญาภูคาจึงได้ตั้งชื่อวัดแห่งนี้ว่า “วัดพระธาตุเบ็งสกัด” หลังจากนั้นมาสมัยขุนฟองครองเมืองวรนคร ท่านก็ได้บำนุบำรุงวัดพระธาตุเบ็งสกัดจนสิ้นรัชสมัย

เมื่อเข้าไปในบริเวณวัดพระธาตุเบ็งสกัด จะพบโบราณสถานของวัด ได้แก่ พระวิหาร ซึ่งสร้างอยู่ติดกับองค์เจดีย์ ซึ่งมีลักษณะเป็นวิหารปิดมีหลังคา 2 ชั้น 2 ตับ มุงด้วยแป้นเกล็ดเป็นศิลปะแบบไตลื้อ ส่วนองค์เจดีย์เป็นงานสถาปัตยกรรมของช่างชาวน่าน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยของพญาภูคา ประมาณปี พ.ศ.1826 องค์พระธาตุได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ในสมัยของพญาอนันตยศ มีการบูรณะลายทองเสาวิหารและเพดาน แท่นพระประธาน รวมถึงสร้างกำแพงแก้วรอบองค์พระธาตุ เมื่อปี พ.ศ.2400 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2487 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนวัดพระธาตุเบ็งสกัดให้เป็นโบราณสถานแห่งชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 61 ตอนที่ 65 ต่อมาในปี พ.ศ.2533 คณะกรรมการหมู่บ้านโดยนายสุชาติ พลจร ผู้ใหญ่บ้านแก้ม ได้ทูลเกล้าถวายฏีกาแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อขอพระราชทานจัดหาทุนทรัพย์ซ่อมแซมพระวิหารซึ่งชำรุดทรุดโทรมมาก จนกระทั่งปี พ.ศ.2536 กรมศิลปากร ได้ทำการตรวจสอบและทำโครงการบูรณะวิหารวัดพระธาตุเบ็งสกัด จนได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2538 หากมีโอกาสเดินทางไปยังอำเภอปัว จังหวัดน่าน ลองแวะไปนมัสการองค์พระธาตุเบ็งสกัด สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวไตลื้อแห่งเมืองปัว

บทความโดย จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ด้านการพัฒนา

[แก้]

ได้ฟื้นฟูบูรณะเมืองล่างซึ่งเป็นเมืองร้างให้เจริญรุ่งเรือง ขุดสระเก็บน้ำ และขุดเหมืองฝาย เพื่อให้มีน้ำเพียงพอแก่การอุปโภคบริโภคและการเกษตร ประชาชนอยู่ดีกินดีบารมีแผ่ไปทั่วสารทิศ ทำให้ชาวเชียงแสน และชาวไทยลื้อสิบสองปันนาอพยพมาพึ่งบารมี และอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข และใน ปี พ.ศ. 1870 พญาภูคา และเสนาอำมาตย์ ได้เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงสุโขทัยได้เข้าเฝ้าพระร่วงเจ้า พระร่วงเจ้าทรงพอพระทัย จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้พญาภูคา เป็นพ่อพญาภูคาครองเมืองล่าง นับแต่นั้นมากรุงสุโขทัย และเมืองล่าง จึงมีความสัมพันธ์อย่างดียิ่ง

อ้างอิง

[แก้]
  1. http://historicallanna01.blogspot.com/2011/05/ blog-post_20.html?m=0
  2. http://historicallanna01.blogspot.com/2011/05/blog-post_20.html?m=0
  3. http://historicallanna01[ลิงก์เสีย]. blogspot.com/2011/05/blog-post_20.htmlm=0
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-08-10. สืบค้นเมื่อ 2019-08-10.
  5. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2024-03-29. สืบค้นเมื่อ 2020-11-27.
  6. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-07. สืบค้นเมื่อ 2019-08-10.
  7. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-08-10. สืบค้นเมื่อ 2019-08-10.
  8. http://tumbonsilapet.blogspot.com/2015/02/blog-post_24.html?m=1
  9. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-12-03. สืบค้นเมื่อ 2020-01-31.
ก่อนหน้า พญาภูคา ถัดไป
นครรัฐน่าน ก่อนประวัติศาสตร์ เจ้าผู้ครองเมืองย่าง รัชกาลที่ 1

ราชวงศ์ภูคา
(พุทธศตวรรษที่ 18)

พญาเก้าเกื่อน รัชกาลที่ 2