ข้ามไปเนื้อหา

เจ้าหญิงเฮเลนา วิกตอเรียแห่งชเลสวิก-โฮลชไตน์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เฮเลนา วิกตอเรีย
ประสูติ3 พฤษภาคม ค.ศ. 1870(1870-05-03)
วินด์เซอร์ บาร์กเซอร์ ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร
สิ้นพระชนม์13 มีนาคม ค.ศ. 1948(1948-03-13) (77 ปี)
ลอนดอน ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร
ฝังพระศพ17 มีนาคม 1948
โบสถ์น้อยเซนต์จอร์จ ปราสาทวินด์เซอร์
22 มิถุนายน 1948
สุสานหลวงพ็อทชมอร์
พระนามเต็ม
วิกตอเรีย หลุยส์ โซเฟีย ออกัสตา อาเมเลีย เฮเลนา
ราชวงศ์ชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์-เซินเนอร์บอร์-ออกัสเตินบวร์ค
พระบิดาเจ้าชายคริสเตียนแห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์
พระมารดาเจ้าหญิงเฮเลนาแห่งสหราชอาณาจักร

เจ้าหญิงเฮเลนา วิกตอเรีย หรือพระนามเต็ม วิกตอเรีย หลุยส์ โซเฟีย ออกัสตา อาเมเลีย เฮเลนา หรือพระอิสริยยศเดิม เจ้าหญิงเฮเลนา วิกตอเรียแห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์ (อังกฤษ: Princess Helena Victoria, พระอิสริยยศเดิม Princess Helena Victoria of Schleswig-Holstein; 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1870 - 13 มีนาคม ค.ศ. 1948) ทรงเป็นสมาชิกของพระราชวงศ์อังกฤษ โดยเป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย

ชีวิตในวัยเยาว์

[แก้]

เจ้าหญิงเฮเลนา วิกตอเรียประสูติ ณ ตำหนักฟร็อกมอร์ ใกล้ปราสาทวินด์เซอร์ พระชนกของพระองค์คือ เจ้าชายคริสเตียนแห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์ พระโอรสองค์ที่สามในดยุคคริสเตียน ออกุสต์แห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์และเคานท์เตสหลุยส์แห่งเดนส์คโยลด์-ซัมซอเอ ส่วนพระชนนีคือ เจ้าหญิงเฮเลนา พระราชธิดาพระองค์ที่สามและห้าในสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรีย และ เจ้าฟ้าชายอัลเบิร์ตแห่งแซ็กซ์-โคบูร์กและก็อตธา พระชนกและพระชนนีของเจ้าหญิงประทับอยู่ในประเทศอังกฤษ จึงถือว่าพระองค์ทรงเป็นสมาชิกพระองค์หนึ่งของพระราชวงศ์อังกฤษ ตามพระราชหัตถเลขาในปี ค.ศ. 1866 ส่งผลให้เจ้าหญิงทรงดำรงพระอิสริยยศ พระองค์หญิงเฮเลนา วิกตอเรียแห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์ (Her Highness Princess Helena Victoria of Schleswig-Holstein)

เมื่อยังทรงพระเยาว์ เจ้าหญิงประทับอยู่ที่ตำหนักคัมเบอร์แลนด์ อันเป็นที่ประทับของพระชนกในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นผู้ดูแลพระราชวโนทยานวินด์เซอร์ นอกจากนี้พระองค์ซึ่งมีพระนามเรียกเล่นในพระราชวงศ์ว่า "ธอรา" ทรงใช้พระนามว่า "เฮเลนา วิกตอเรีย" อย่างเป็นทางการแทนพระนามทางศาสนาคริสต์ทั้งหกพระนาม

พระกรณียกิจ

[แก้]

เจ้าหญิงเฮเลนา วิกตอเรียไม่เคยทรงอภิเษกสมรสเลย พระองค์ทรงพระดำเนินรอยตามพระชนนีในพระกรณียด้านองค์กรการกุศลต่างๆ มากมาย ซึ่งที่รู้จักมากที่สุดคือ สมาคมสตรีคริสเตียน (YWCA) และสถานพยาบาลเจ้าหญิงคริสเตียนที่เมืองวินด์เซอร์ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เจ้าหญิงทรงก่อตั้งกองกำลังสำรองสตรีแห่งสมาคมสตรีคริสเตียน ในฐานะที่ทรงเป็นองค์ประธาน พระองค์ก็ได้เสด็จเยี่ยมกองทัพอังกฤษในประเทศฝรั่งเศสและทรงได้รับอนุญาตจากลอร์ดคิชเนอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการทหารให้จัดงานเลี้ยงรื่นเริงให้แก่กองทัพ ในระหว่างสงครามโลกทั้งสองครั้ง พระองค์และเจ้าหญิงมารี หลุยส์แห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์ พระขนิษฐาทรงเป็นองค์อุปถัมภ์การดนตรีที่ตำหนักชอมเบิร์ก ซึ่งเป็นที่ประทับในกรุงลอนดอน หลังจากการโจมตีทางอากาศของกองทัพเยอรมันในปี ค.ศ. 1940 เจ้าหญิงทั้งสองพระองค์ทรงย้ายไปประทับยังฟิตซ์มอริสเพลซ จัตุรัสเบิร์คเลย์ ในกรุงลอนดอน

สงครามโลกครั้งที่ 1

[แก้]

ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1917 เมื่อสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 ทรงเปลี่ยนชื่อพระราชวงศ์อังกฤษจากราชวงศ์ซัคเซิน-โคบวร์คและโกทาเป็นราชวงศ์วินด์เซอร์ ในนามของพระญาติและพระกนิษฐภรรดาซึ่งทรงมีสัญชาติอังกฤษ พระองค์ได้ทรงถอดถอนพระอิสริยยศ ฐานันดรศักดิ์ และราชสกุลเยอรมันต่างๆ ออกทั้งหมด เจ้าหญิงเฮเลนา วิกตอเรียและเจ้าหญิงมารี หลุยส์จึงทรงเลิกใช้ราชทินนามทางด้านดินแดน "ชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์-ซอนเดอร์บูร์ก-ออกัสเต็นบูร์ก" ทั้งสองพระองค์ทรงเป็นที่รู้จักเพียงว่า "พระองค์หญิงเฮเลนา วิกตอเรีย" และ "พระองค์หญิงมารี หลุยส์" ซึ่งทำให้มีลักษณะเด่นที่ผิดแผกไปจากการเป็นเจ้าหญิง เพราะไม่ได้ทรงเป็นเจ้าหญิงจากราชวงศ์ใดเลย นอกจากนี้แม้ว่าเจ้าหญิงทั้งสองพระองค์ประสูติเป็นชาวเยอรมัน แต่ก็ทรงมีความเป็นอังกฤษโดยแท้ [1]

ปลายพระชนม์ชีพ

[แก้]

เนื่องด้วยพระพลานามัยที่ไม่สมบูรณ์และการประทับบนพระเก้าอี้รถเข็นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การปรากฏพระองค์ในวโรกาสสำคัญครั้งสุดท้ายของเจ้าหญิงเฮเลนา วิกตอเรีย คือวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1947 ซึ่งเป็นพิธีอภิเษกสมรสของเจ้าหญิงเอลิซาเบธ พระญาติชั้นที่สองกับเรือโทฟิลิป เมานท์แบ็ตเต็น

เจ้าหญิงเฮเลนา วิกตอเรียสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ. 1948 ณ ฟิตซ์มอริสเพลซ จัตุรัสเบิร์คเลย์ กรุงลอนดอน งานพระศพของพระองค์จัดขึ้นที่โบสถ์เซนต์จอร์จ ปราสาทวินด์เซอร์ และพระศพฝังอยู่ที่สุสานหลวงฟร็อกมอร์ พระราชอุทยานวินด์เซอร์ สิริพระชันษา 77 ปี

พระอิสริยยศ และ เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

พระอิสริยยศ

[แก้]
  • 3 พฤษภาคม 1870 - กรกฎาคม 1917: พระองค์หญิงเฮเลนา วิกตอเรียแห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์ (Her Highness Princess Helena Victoria of Schleswig-Holstein)
  • กรกฎาคม 1917- 13 มีนาคม 1948: พระองค์หญิงเฮเลนา วิกตอเรีย (Her Highness Princess Helena Victoria)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]
  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งจักรวรรดิอังกฤษชั้นที่ 1 (Dame Grand Cross of the Order of the British Empire)
  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์วิกตอเรียและอัลเบิร์ต ชั้นที่ 1 (Lady of the Order of Victoria and Albert)
  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์มหามงกุฎแห่งอินเดีย ชั้นที่ 1 (Lady of the Order of the Crown of India)
  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์นักบุญจอห์นแห่งเยรูซาเล็ม ชั้นที่ 1 (Dame Grand Cross of the Order of St. John of Jerusalem)

อ้างอิง

[แก้]
  1. ในฐานะที่เป็นพระนัดดาในดยุคครองนครแห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์ ผ่านทางพระโอรส เจ้าหญิงเฮเลนา วิกตอเรียจะต้องทรงมีฐานันดรศักดิ์ชั้น "Serene Highness" อย่างไรก็ดีในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1866 สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียพระราชทานฐานันดรศักดิ์ชั้น "Highness" ให้แก่พระโอรสธิดาอันประสูติแต่เจ้าชายและเจ้าหญิงคริสเตียนแห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์ นอกจากนั้นพระโอรสและธิดาก็ยังคงเป็นเจ้าชายหรือเจ้าหญิงแห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์ และฐานันดรศักดิ์ Highness สามารถใช้ได้แค่ในประเทศอังกฤษ ไม่ใช่ประเทศเยอรมนี ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1917 ประกาศในข่าวพระราชสำนักได้มีพระราชโองการหนึ่งจัดเตรียมไว้เพื่อพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระญาติทั้งสองเลิกใช้ "แห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์-ซอนเดอร์บูร์ก-ออกัสเต็นบูร์ก" ในพระอิสริยยศของพระองค์ อย่างไรก็ตามยังไม่มีพระราชโองการใดจัดเตรียมไว้ในการนี้เลยและทั้งสองพระองค์ไม่ได้ทรงรับพระราชทานพระอิสริยยศเจ้าหญิงแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์อย่างเป็นทางการด้วย
  • Marlene A. Eilers, Queen Victoria’s Descendants (Rosvall Royal Books, Falköping, 2nd Edition, 1997).
  • Ronald Allison and Sarah Riddell, eds., The Royal Encyclopedia (London: Macmillan, 1992).
  • "Obituary: Princess Helena Victoria, Charity and Social Services," 15 มีนาคม ค.ศ. 1948, หน้า 7.
  • "Royal Titles: German Names Dropped, British Peerages for Princes," The Times 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1917, หน้า 7.