ข้ามไปเนื้อหา

เจ้าหญิงเทะตินมะละ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เทะตินมะละ
ประสูติ13 ตุลาคม ค.ศ. 1894(1894-10-13)
กัลกัตตา อินเดียของบริเตน
สิ้นพระชนม์1965 (อายุ 70–71)
ร่างกุ้ง พม่าของบริเตน
ภัสดาเฮอร์เบิร์ต เบลลามี (สมรส 1878; เสียชีวิต 1957)
พระบุตรจูน โรส เบลลามี
ราชวงศ์โก้นบอง
พระบิดาลี่นบีนมี่นต้า
พระมารดาคีนแม
ศาสนาพุทธนิกายเถรวาท

เจ้าหญิงเทะตินมะละ (พม่า: ထိပ်တင်မလတ်; 13 ตุลาคม ค.ศ. 1894–1965) หรือ ทินทินมะละ เป็นพระธิดาของลี่นบีนมี่นต้า และเป็นพระนัดดาของกะนองมี่นต้า[1] นับเป็นเจ้านายชั้นอนุวงศ์ของราชวงศ์โก้นบอง[2]

พระประวัติ

[แก้]

พระชนม์ชีพช่วงต้น

[แก้]

เจ้าหญิงเทะตินมะละประสูติเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ค.ศ. 1894 ณ กัลกัตตา อินเดียของบริเตน เป็นพระธิดาลำดับที่สองของลี่นบีนมี่นต้า ประสูติแต่คีนแม (หรือ เยนาตาคีนคีนจี) พระชายา โดยเทะตินมะละเป็นพระนัดดาของกะนองมี่นต้า เป็นพระปนัดดาของพระเจ้าแสรกแมง และเป็นพระญาติวงศ์ของพระเจ้าสีป่อ[1] พระองค์สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมศึกษาสำหรับสตรีในอลาหาบาด นับว่าเป็นเจ้าฝ่ายในผู้มีการศึกษาดีและตรัสภาษาอังกฤษได้คล่องพระองค์หนึ่ง[3]

มอริซ คอลลิส (Maurice Collis) ผู้พิพากษาและนักประพันธ์ชาวสหราชอาณาจักร กล่าวถึงเทะตินมะละในหนังสือ Trials in Burma (1928) ระบุว่า "...พระองค์ประทับบนโซฟา เธอเป็นเจ้าหญิงผู้ทรงสิริโฉม สวมฉลองพระองค์กระโปรงทำจากผ้าไหมสีน้ำเงินละเสื้อแจ็กเก็ตผ้าลินินสีขาว พระฉวีผ่องพรรณราวกับสีของข้าวโพด พระเนตรกลมโตเป็นประกาย และมีพระกรเรียวงาม..." ส่วนมกุฎราชกุมารวิลเฮ็ล์มแห่งปรัสเซีย ทรงกล่าวถึงเทะตินมะละหลังทรงพบกับเจ้าหญิงพระองค์นี้เมื่อทรงร่วมงานสมาคมที่อลาหาบาด ว่าเป็นสุภาพสตรีที่ "โดดเด่น" ที่สุดที่พระองค์เคยพบเห็นระหว่างเสด็จประพาสตะวันออกไกล[4]

ว่าที่พระราชินีแห่งสิกขิม

[แก้]
เจ้าหญิงเทะตินมะละ และจูน โรส เบลลามี พระธิดาเพียงคนเดียว

เจ้าหญิงเทะตินมะละในวัยดรุณีแรกรุ่น ทรงเริ่มติดต่อกับซิดก็อง ทูร์กู นามคยาล (Sidkeong Tulku Namgyal) พระโอรสของพระเจ้าทูต็อบ นามคยาล (Thutob Namgyal) กษัตริย์แห่งสิกขิม ครั้นเมื่อครอบครัวของของลิมบินมินตานิวัตกรุงย่างกุ้งไปแล้ว เจ้าชายซิดก็องก็ยังเสด็จไปเยี่ยมที่พม่าเมื่อ ค.ศ. 1912 จากนั้นทั้งสองพระองค์จึงวางแผนที่จะจัดพระราชพิธีเสกสมรส โดยได้รับการอนุญาตจากทั้งฝ่ายสหราชอาณาจักรและลิมบินมินตา โดยกำหนดการการจัดพระราชพิธีดังกล่าวใน ค.ศ. 1913 ทว่าพระราชพิธีเสกสมรสถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนดเนื่องจากพระอาการประชวรของพระเจ้าทูต็อบ นามคยาล

ครั้นทูต็อบ นามคยาล พิราลัยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1914 ซิดก็อง ทูร์กู นามคยาลขึ้นเสวยราชสมบัติสืบพระบิดาทันที และวางแผนที่จะอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงเทะตินมะละในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1915 ซึ่งทั้งสองพระองค์มีพระราชหัตถเลขาติดต่อกันไปมาเพื่อแสดงถึงความรัก และความยินดีกับชีวิตคู่ที่กำลังจะมาถึง

พระเจ้าซิดก็องถึงแก่พิราลัยในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1914 เนื่องจากพระหทัยพิการในห้องบรรทม ขณะพระชนมายุ 35 พรรษา ในเอกสารของสหราชอาณาจักรอธิบายไว้ว่า "เป็นเหตุการณ์ลึกลับ" (mysterious circumstances)[5][6]

เสกสมรส

[แก้]

เจ้าหญิงเทะตินมะละเสกสมรสกับเฮอร์เบิร์ต เบลลามี (Herbert Bellamy) นักเพาะพันธุ์ม้าและเจ้ามือรับแทงม้าในบอมเบย์ กัลกัตตา ปัตตาเวีย และสิงคโปร์ นอกจากนี้เขายังเป็นเจ้าของสนามม้าเมเมียว และนักสะสมกล้วยไม้ชาวออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ค.ศ. 1921 ทั้งสองมีบุตรสาวด้วยกันเพียงคนเดียวคือ จูน โรส เบลลามี หรือยะดะหน่านะเม เกิดใน ค.ศ. 1932[7]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Hopkins, Harry (1952). New World Arising: A Journey of Discovery Through the New Nations of South-east Asia (ภาษาอังกฤษ). H. Hamilton.
  2. Collis, Maurice (21 May 2015). Trials in Burma (ภาษาอังกฤษ). Faber & Faber. ISBN 978-0-571-31011-1.
  3. Myint-u, Thant (3 February 2011). The River of Lost Footsteps. ISBN 9780571266067.
  4. Trials in Burma Google Books. Maurice Collis. 21 May 2015. ISBN 9780571310111.
  5. "A Royal Proposal of Marriage". Endangered archives blog (ภาษาอังกฤษ). 20 January 2017. สืบค้นเมื่อ 22 December 2017.
  6. "When a Burmese princess almost became the Queen of Sikkim". www.lostfootsteps.org (ภาษาอังกฤษ).
  7. "Myanmar's Constitutional Collision Course". The Irrawaddy. 1 December 2015.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]