ข้ามไปเนื้อหา

เจ้าหญิงกู้หลุน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าหญิงกู้หลุนโซ่วอาน (壽安固倫公主) (ขวา)
เจ้าหญิงกู้หลุนโซ่วเอิน (壽恩固倫公主) (ซ้าย)

เจ้าหญิงกู้หลุน หรือ กู้หลุนกงจู่ (แมนจู: ᡤᡠᡵᡠᠨ ‍ᡳ
ᡤᡠᠩᠵᡠ
, Möllendorff: gurun i gungju, Abkai: gurun-i gungju, จีน: 固倫公主; พินอิน: Gù lún gōngzhǔ) เป็นพระเกียรติยศสำหรับพระราชธิดาในจักรพรรดิราชวงศ์ชิง โดยคำว่า "กูลุน" ในภาษาแมนจู แปลว่า "ประเทศ ราชวงศ์ ชนเผ่า"[1]: 109 

ในช่วงต้นราชวงศ์ชิงพระราชธิดาในจักรพรรดิและหญิงราชนิกูลจะถูกเรียกรวมกันว่า "เก๋อเก๋อ" (格格) ต่อมาเมื่อจักรพรรดิหวงไท่จี๋ขึ้นครองราชย์ ได้มีการเปลี่ยนแปลงในปีฉงเต๋อที่ 1 (ค.ศ. 1636) เลียนแบบธรรมเนียมราชวงศ์หมิง พระราชธิดาในจักรพรรดิถูกเรียกว่า “กงจู่” (公主) ซี่งแปลว่า เจ้าหญิง หรือ เจ้าฟ้าหญิง โดยแบ่งออกเป็น 2 ระดับ:

  • พระราชธิดาในจักรพรรดิที่ประสูติกาลแต่ฮองเฮา (คือพระมเหสีเอก) จะได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าหญิงกู้หลุน (固倫公主)
  • พระราชธิดาในจักรพรรดิที่ประสูติกาลแต่เฟยผิน จะได้รับการสถาปนาเป็น “เจ้าหญิงเหอซั่ว” (和碩公主)[2]

แต่ถึงแม้ว่า "เจ้าหญิงกู้หลุน" (固倫公主) จะเป็นพระอิสริยยศที่โดยปกติแล้วสงวนไว้สำหรับพระราชธิดาโดยชอบธรรมที่ประสูติแต่พระมเหสีเอกเท่านั้น แต่ก็มีกรณียกเว้นที่พระราชธิดาของพระมเหสี พระสนม หรือพระธิดาของพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพิเศษให้เป็นเจ้าหญิงกู้หลุนได้เช่นกัน โดยขึ้นอยู่กับเหตุผลต่าง ๆ เช่น

  • พระราชธิดาองค์ที่ 10 ของจักรพรรดิคังซี เดิมมีพระอิสริยยศเป็น "เจ้าหญิงเหอซั่วฉุนเชวี่ย" (和碩純愨公主) หลังสิ้นพระชนม์ไปหลายปี ในรัชสมัยจักรพรรดิยงเจิ้งจึงได้รับการสถาปนาขี้นเป็น "เจ้าหญิงกู้หลุน" เพื่อเป็นเกียรติแก่ความชอบด้านการทหารของพระสวามีเซ่อเหลิ่ง (策稜)
  • พระราชธิดาองค์ที่ 7 ของจักรพรรดิเฉียนหลง ซึ่งมีพระราชมารดาคือจักรพรรดินีเซี่ยวอี๋ฉุน เดิมเป็นพระมเหสีหลิง และต่อมาเมื่อเจ้าหญิงอภิเษกสมรสได้รับสถาปนาเป็น "เจ้าหญิงกู้หลุนเหอจิ้ง" (固倫與靜公主) เพื่อยกย่องความชอบของราชนิกุลฝ่ายพระสวามี
  • กรณีพระราชธิดาที่ประสูติแต่ฮองเฮา กลับไม่ได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าหญิงกู้หลุน แต่เป็นเพียงเจ้าหญิงเหอซั่ว นั้นคือเจ้าหญิงเหอซั่วเหอเค่อ (和碩和恪公主) พระราชธิดาในจักรพรรดินีเซี่ยวอี๋ฉุน

เจ้าหญิงที่ไม่ได้ประสูติแต่ฮองเฮา รวมถึงพระธิดาของเจ้าชายที่ได้รับการสถาปนาเป็น "เจ้าหญิงกู้หลุน" โดยฝ่าฝืนธรรมเนียมปกติ มักเกิดจากการที่ตัวเจ้าหญิงหรือพระราชมารดาได้รับพระราชทานโปรดจากจักรพรรดิเป็นพิเศษ จึงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกรณีพิเศษ เช่น

  • เจ้าหญิงกู้หลุนหรงโซ่ว (榮壽固倫公主) พระธิดาในกงจงชินหวัง ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น"เจ้าหญิงกู้หลุน" เมื่อวันที่ 2 เดือนอ้าย ถงจื้อศักราชปีที่ 3 ตรงกับวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1864 โดยพระราชเสาวนีย์ของสองไทเฮา คือ พระนางเจ้าซูอันไทเฮา และพระนางเจ้าซูสีไทเฮา

พระรูปเจ้าหญิงกู้หลุน

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 恽丽梅 (1999). 《清代最后一位皇女身份考》. 清史研究 (ภาษาจีนตัวย่อ). 北京市: 中国人民大学. pp. 109–111. ISSN 1002-8587. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 ตุลาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 16 ตุลาคม 2021.
  2. 清史稿》เล่มที่ 114, บันทึกที่ 89:“公主之等二:曰固伦公主,曰和硕公主。”