ข้ามไปเนื้อหา

เจ้านายอ้าย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้านายอ้าย
เจ้าฟ้าเมืองน่าน
เจ้าผู้ครองนครน่าน
องค์ที่ 53 แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์
ราชาภิเษก4 ตุลาคม พ.ศ. 2311
ครองราชย์4 ตุลาคม พ.ศ. 2311 - 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2312
รัชกาล9 เดือน 6 วัน
ก่อนหน้าพระเจ้าอริยวงษ์
ถัดไปพระเจ้ามโนราชา
ประสูติณ เมืองเชียงใหม่
พิราลัย10 กรกฎาคม พ.ศ. 2312[1]
ณ บ้านโพธิ์
พระชายาเจ้านางคำขาอรรคราชเทวี[2]
พระราชบุตรเจ้าน้อยวงษ์[3]
พระนามเต็ม
เจ้าเมืองน่าน
ราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์
พระบิดาเจ้าไชยราชา
พระมารดาแม่เจ้านางเทพ[4]

เจ้าหลวงนายอ้าย หรือ เจ้านายอ้าย[5]ทรงเป็นเจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 53 และองค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ ทรงครองนครน่าน ในปี พ.ศ. 2311 ครองราชย์สมบัตินครน่านได้ 7 เดือน ก็ถึงแก่พิราลัย

พระประวัติ

[แก้]

เจ้าหลวงนายอ้าย หรือ เจ้านายอ้าย ประสูติ ณ เมืองเชียงใหม่ ทรงเป็นพระโอรสองค์โตในเจ้าไชยราชากับแม่เจ้านางเทพ (ราชธิดาในพระเจ้าหลวงติ๋นมหาวงศ์ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 51 และปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์) และทรงเป็นพระนัดดา (หลานตา) ในพระเจ้าหลวงติ๋นมหาวงษ์ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 51 ทรงมีพระอนุชาและพระขนิษฐาร่วมพระมารดา 7 พระองค์ ดังนี้

  1. เจ้านายอ้าย ภายหลังเป็น พระเจ้านายอ้าย เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 53
  2. เจ้าสุทธะ พระบิดาใน สมเด็จเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 57
  3. เจ้ามโน ภายหลังเป็น พระเจ้ามโนราชา เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 54
  4. เจ้านางพิมพา เสกสมรสกับ เจ้านรินทร์ (ราชโอรสในพระเจ้าหลวงติ๋นมหาวงศ์ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 51 และปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์)
  5. เจ้านางโนชา
  6. เจ้านางเลิศ พระมารดาใน พระเจ้ามหาวงษ์ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 61
  7. เจ้านางศรีแก้ว

เจ้านายอ้าย ได้ขึ้นครองนครน่าน เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2311 สืบสันตติวงศ์ต่อจาก พระเจ้าอริยวงษ์ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 52 ผู้เป็นพระมาตุลา (ลุง) เฉลิมพระนามเป็น "พระเจ้าหลวงนายอ้าย พระเจ้าเมืองน่าน" เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์

ราชบุตร

[แก้]

เจ้านายอ้าย ทรงเสกสมรสกับเจ้านางคำขา (ราชธิดา องค์ที่ 4 ในพระเจ้าหลวงติ๋นมหาวงษ์ กับแม่เจ้ายอดราชเทวี (ชายาองค์ที่ 2) ทรงมีพระโอรสเพียงพระองค์เดียว คือ เจ้าน้อยวงษ์

พระกรณียกิจ

[แก้]
  • เถิงเดือน 8 ขึ้น 6 ค่ำ ทัพพม่าก็ยกจากเมืองหลวงพระบางมาตั้งอยู่ตีนวัดหลวงลำพางเมืองนคร ลวดรั้งพรรษาอยู่ที่นั้น ก็ขับเอากำลังในลานนาไทยห้าสิบเจ็ดเมืองได้แล้ว ฮอดเดือน 3 ขึ้น 5 ค่ำ จุลศักราชได้ 1126 ตัว ปีกาบสันนั้น ทัพม่านแลลานนาไทยทั้งมวลก็ยกลงไปเมืองอโยทธยาหั้นแล ฝ่ายเมืองน่านนั้น เจ้าอริยวงษ์ก็แต่งหื้อเจ้านายอ้ายตนเปนหลานคุมกองทัพไปตามโปมหามังคละทก คือไปเมืองใต้หั้นแล
  • มาเถิงศักราช 1127 ตัว ปีดับเล้านั้น ท้าวพระยาเจ้านายบ้านเมืองในลานนาไทยทั้งมวลบ่อาจจะอดได้ ก็ซ้ำพร้อมกันฟื้นม่านแถมสู่บ้านสู่เมือง เมื่อลุนหลังเจ้านายอ้ายไปราชการเมืองใต้หั้นแล
  • ฝ่ายเจ้าหลวงอริยวงษ์เมืองน่านก็จัดได้กำลังศึกแล้ว ก็ยกทัพขึ้นรบม่านที่ปากงาวเหนือเวียงน่านนั้น ม่านก็แตกพ่ายหนีไปหั้นแล ในกาลนั้นมหากระษัตริย์อังวะได้รู้ว่าลานนาไทยทั้งมวลพลิกฟื้นสันนั้นแล้ว อยู่มาฮอดจุลศักราช 1129 ตัว ปีเมิงไก๊ ก็แต่งหื้อโปอเสหงวนคือเปนโปโชกมีกำลังหมื่นหนึ่ง ยกทัพขึ้นมาฮอดเชียงใหม่เดือน 3 ขึ้น 10 ค่ำ ยามนั้นพระยาจ่าบ้านเจ้าเมืองเชียงใหม่แลพระเมืองไชยลพูนก็กวาดเอาไพร่ไทยในเมืองเชียงใหม่แลเมืองลพูนมีกำลังสามพัน ก็เอาข้ามอยู่ในเวียงลพูนนั้นแล เมื่อนั้นม่านก็ยกมาแวดวัง ขังอยู่แต่วันเดือน 3 ขึ้น 11 ค่ำ ฮอดเดือน 4 ลง 14 ค่ำ เม็งวันพฤหัศบดี ยามสู่แจ้ง เวียงลพูนก็แตก แลม่านก็จับเอาพระยาจ่าบ้านเชียงใหม่ขังตัวพระเมืองไชยเมืองลพูนนั้นก็ออกหนีพ้นไปเข้าสู่เมืองฮ่อตราบเถิงบัดนี้แล ครั้นว่าม่านได้เวียงลพูนแล้ว ก็ยกกองทัพเข้ามานคร เมืองแพร่ เมืองน่าน มาเถิงเมืองน่านเดือน 5 ลงค่ำ 1 เมืองน่านก็พ่ายหนีไปเมืองลาว อยู่เมืองลาวได้พรรษา 1 พ.ศ. 2311 ตัวก็คืนมาตั้งอยู่เมืองน่านดังเก่าหั้นแล ดังเจ้านายอ้ายตนเปนหลานไปเอาราชการเมืองใต้ ทวยม่านนั้นก็ตีเอาเมืองใต้ได้ในปี พ.ศ. 2310 ครั้นว่าม่านได้เมืองใต้แล้ว ม่านก็เอาเจ้าฟ้าดอกเดื่ออันเปนเจ้าเมืองใต้คืนเมืองอังวะพุ้นหั้นแล เมือทางเมาะตมะทวายแลดังตัวเจ้านายอ้ายนั้นก็เอาติดตามทวยม่านเมืองทางแสนนั้นแล ครั้นเมือเถิงเมืองอังวะแล้วเจ้านายอ้ายก็ได้กราบทูลมหากระษัตริย์เมืองอังะหั้นแล
  • ในศักราชนั้นสิ่งเดียว คือปีเมิงไก๊นั้น ฮ่อก็ยกกองทัพใหญ่ลงมามีกำลังเก้าหมื่น ว่าจักรบเอาเมืองอังวะ ลงมาฮอดเมืองแสนหวีฟ้าหั้น ยามนั้นมหากระษัตริย์อังวะจิงกรุณา หื้อเจ้านายอ้ายเมืองน่านว่าสันนี้ เจ้านายอ้ายได้มาประสบพบราชการพระองค์เราสันนี้ หื้อเจ้านายอ้ายได้เอาราชการเพราะองค์เราออกรบศึกฮ่อก่อนเทือะ ว่าอัน เมื่อนั้นเจ้านายอ้ายก็ออกรบศึกฮ่อกับด้วยหมู่ไปทัพทั้งหลาย ฮ่อก็แตกพ่ายหนีแล้ว ก็ไล่เลยศึกฮ่อขึ้นไป เถิงขัวเหล็กขัวทองพุ้นแล้ว จิงได้กลับลงมากราบทูลมหากระษัตริย์เจ้า มหากระษัตริย์จิงปงอามิศต่อจ่าสวนหื้อเจ้านายอ้ายได้เปนเจ้าเสวยเมืองน่านแล้ว ส่วนว่าเจ้านายอ้ายครั้นว่า ได้รับอามิศต่อแล้ว ก็ทูลลาจากกษัตริย์ กรุงอังวะ แล้วลงมาถึงเมืองน่านทในเดือน กันยายน ในปี พ.ศ. 2311 เจ้าอริยวงษ์ ก็ได้มอบบ้านเมืองให้เจ้านายอ้ายตน ผู้เป็นหลานได้กินเมืองแทนตนใน พ.ศ. 2311 [6]

พิราลัย

[แก้]

เจ้าหลวงนายอ้าย สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. 2311 ณ บ้านโพธิ์ เมื่อครั้งที่ไปราชการเมืองลาว พระองค์ได้ประชวรเป็นพยาธิโรคปัจจุบัน ทรงครองราชย์สมบัติในนครเมืองน่าน 7 เดือน เจ้ามโน ผู้เป็นพระอนุชาได้ขึ้นเสวยราชย์สมบัตินครเมืองน่าน สืบต่อมา

ราชตระกูล

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ราชวงศปกรณ์ พงศาวดารเมืองน่าน (ฉบับพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช), หน้า 156
  2. ราชวงศปกรณ์ พงศาวดารเมืองน่าน (ฉบับพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช), หน้า 148
  3. ราชวงศปกรณ์ พงศาวดารเมืองน่าน (ฉบับพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช), หน้า 148
  4. ราชวงศปกรณ์ พงศาวดารเมืองน่าน (ฉบับพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช), หน้า 148
  5. ราชวงศปกรณ์ พงศาวดารเมืองน่าน (ฉบับพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช), หน้า 148
  6. ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ 10 เรื่องราชวงษปกรณ์ พงษาวดารเมืองน่าน ฉบับพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช พระเจ้านครน่านให้แสนหลวงราชสมภารแต่งไว้สำหรับบ้านเมือง. พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2461. 210 หน้า. หน้า 100-101.
ก่อนหน้า เจ้านายอ้าย ถัดไป
พระเจ้าอริยวงษ์ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 53
และองค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์

(พ.ศ. 2311 - พ.ศ. 2312)
พระเจ้ามโนราชา