ข้ามไปเนื้อหา

เขตปกครองคณะสงฆ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เขตปกครองคณะสงฆ์ไทย มีการแบ่งการปกครองตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561 มาตรา 20 กำหนดให้คณะสงฆ์ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคม และการจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม

กฎหมายที่ให้อำนาจจัดระบบการปกครองคณะสงฆ์นั้น ได้กำหนดให้ถือว่าผู้ปกครองคณะสงฆ์และไวยาวัจกรเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา พระสังฆาธิการทุกรูป จึงต้องมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานพระราชบัญญัติคณะสงฆ์

การปกครองคณะสงฆ์ตามรูปแบบที่จัดอยู่ในปัจจุบัน นั้น มี 2 ส่วน คือ

  • การปกครองคณะสงฆ์ส่วนกลาง
  • การปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค

การปกครองคณะสงฆ์ส่วนกลาง

[แก้]

การปกครองคณะสงฆ์ส่วนกลาง ได้แก่การดำเนินกิจการคณะสงฆ์และการพระศาสนาในส่วนกลาง มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด โดยมหาเถรสมาคมเป็นองค์กรควบคุมนโยบายหลัก และมีการแบ่งการปกครองแยกย่อยออกมาเป็น หน และ คณะ แยกตามส่วนแห่งนิกายสงฆ์ โดยมีเจ้าคณะใหญ่เป็นผู้บังคับบัญชา

คณะสงฆ์มหานิกาย

[แก้]

แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 4 หน แต่ละหนมีเจ้าคณะใหญ่ปกครอง

  • เขตปกครองคณะสงฆ์หนกลาง มีเจ้าคณะใหญ่หนกลางเป็นผู้บังคับบัญชา ปกครอง 6 ภาค ได้แก่ ภาค 1, ภาค 2, ภาค 3, ภาค 13, ภาค 14 และภาค 15
  • เขตปกครองคณะสงฆ์หนเหนือ มีเจ้าคณะใหญ่หนเหนือเป็นผู้บังคับบัญชา ปกครอง 4 ภาค ได้แก่ ภาค 4, ภาค 5, ภาค 6 และภาค 7
  • เขตปกครองคณะสงฆ์หนตะวันออก มีเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออกเป็นผู้บังคับบัญชา ปกครอง 5 ภาค ได้แก่ ภาค 8, ภาค 9, ภาค 10, ภาค 11 และภาค 12
  • เขตปกครองคณะสงฆ์หนใต้ มีเจ้าคณะใหญ่หนใต้เป็นผู้บังคับบัญชา ปกครอง 3 ภาค ได้แก่ ภาค 16, ภาค 17 และภาค 18

คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย

[แก้]

การปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค

[แก้]

ตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561 ได้กำหนดการปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค ให้จัดแบ่งเขตปกครองเป็น

  1. ภาค
  2. จังหวัด
  3. อำเภอ
  4. ตำบล

และมาตรา 22 ได้กำหนดให้มีพระภิกษุเป็นผู้ปกครองตามชั้นตามลำดับ ดังต่อไปนี้

  1. เจ้าคณะภาค
  2. เจ้าคณะจังหวัด
  3. เจ้าคณะอำเภอ
  4. เจ้าคณะตำบล

เขตปกครองคณะสงฆ์ระดับภาค

[แก้]

ตามข้อ 4 แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2535) ว่าด้วยอำนาจและเขตปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาคกำหนดให้มีจำนวนภาค 18 ภาค และให้รวมเขตปกครองจังหวัดต่าง ๆ เป็นเขตปกครองภาค ดังต่อไปนี้[1]

มหานิกาย

[แก้]
คณะสงฆ์ จำนวนจังหวัด จังหวัดในเขตปกครอง
ภาค 1 4 จังหวัด กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ
ภาค 2 3 จังหวัด พระนครศรีอยุธยา, อ่างทอง, สระบุรี
ภาค 3 4 จังหวัด ลพบุรี, สิงห์บุรี, ชัยนาท, อุทัยธานี
ภาค 4 4 จังหวัด นครสวรรค์, กำแพงเพชร, พิจิตร, เพชรบูรณ์
ภาค 5 4 จังหวัด สุโขทัย, พิษณุโลก, อุตรดิตถ์, ตาก
ภาค 6 5 จังหวัด ลำปาง, เชียงราย, พะเยา, แพร่, น่าน
ภาค 7 3 จังหวัด เชียงใหม่, ลำพูน, แม่ฮ่องสอน
ภาค 8 6 จังหวัด อุดรธานี, หนองคาย, เลย, สกลนคร, หนองบัวลำภู, บึงกาฬ
ภาค 9 4 จังหวัด ขอนแก่น, มหาสารคาม, กาฬสินธุ์, ร้อยเอ็ด
ภาค 10 6 จังหวัด อุบลราชธานี, ศรีสะเกษ, นครพนม, ยโสธร, มุกดาหาร, อำนาจเจริญ
ภาค 11 4 จังหวัด นครราชสีมา, บุรีรัมย์, ชัยภูมิ, สุรินทร์
ภาค 12 4 จังหวัด ปราจีนบุรี, นครนายก, ฉะเชิงเทรา, สระแก้ว
ภาค 13 4 จังหวัด ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี, ตราด
ภาค 14 4 จังหวัด นครปฐม, สุพรรณบุรี, กาญจนบุรี, สมุทรสาคร
ภาค 15 4 จังหวัด ราชบุรี, เพชรบุรี, สมุทรสงคราม, ประจวบคีรีขันธ์
ภาค 16 3 จังหวัด นครศรีธรรมราช, ชุมพร, สุราษฏร์ธานี
ภาค 17 5 จังหวัด ภูเก็ต, ตรัง, กระบี่, พังงา, ระนอง
ภาค 18 6 จังหวัด สงขลา, พัทลุง, สตูล, ปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส

ธรรมยุติกนิกาย

[แก้]

ในคณะธรรมยุตกำหนดให้เขตภาคบางเขตอยู่ใต้การปกครองของเจ้าคณะภาครูปเดียวกัน ดังนี้[2]

ลำดับที่ ภาคที่มีเจ้าคณะภาครูปเดียวกัน จำนวนจังหวัดในเขตปกครอง
1 ภาค 1, ภาค 2, ภาค 3 9 จังหวัด 24 เขต/อำเภอ 50 แขวง/ตำบล
2 ภาค 4, ภาค 5 5 จังหวัด 21 อำเภอ 69 ตำบล
3 ภาค 6, ภาค 7 4 จังหวัด อำเภอ ตำบล
4 ภาค 8 5 จังหวัด 48 อำเภอ 206 ตำบล
5 ภาค 9 4 จังหวัด 38 อำเภอ 150 ตำบล
6 ภาค 10 6 จังหวัด 28 อำเภอ 106 ตำบล
7 ภาค 11 4 จังหวัด 20 อำเภอ 78 ตำบล
8 ภาค 12, ภาค 13 7 จังหวัด อำเภอ ตำบล
9 ภาค 14, ภาค 15 6 จังหวัด 8 อำเภอ 18 ตำบล
10 ภาค 16 3 จังหวัด อำเภอ ตำบล
11 ภาค 17, ภาค 18 4 จังหวัด 22 อำเภอ 34 ตำบล

เขตปกครองคณะสงฆ์ระดับจังหวัด

[แก้]

เขตปกครองคณะสงฆ์ระดับจังหวัด เป็นเขตปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาคชั้นที่ 2 ซึ่งเป็นเขตปกครองพื้นที่จำกัดเฉพาะจังหวัด มีเจ้าคณะจังหวัดเป็นผู้บังคับบัญชา ซึ่งจังหวัดนั้นหมายถึง กรุงเทพมหานคร และจังหวัดนอกจากกรุงเทพมหานคร โดยพื้นที่ทั้งราชอาณาจักรมี 77 จังหวัด รวมกรุงเทพมหานครอยู่ในจำนวนนี้ด้วย ตามความในข้อ 5 แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2535) ว่าด้วยจำนวนและเขตปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค กำหนดไว้ชัดเจนว่า จำนวนและเขตปกครองจังหวัด ให้อนุโลมตามจำนวนและเขตบริหารราชการแห่งราชอาณาจักร คือ

  • คณะมหานิกาย มี 77 จังหวัด ครบตามจำนวนจังหวัดแห่งราชอาณาจักร
  • คณะธรรมยุต มี 59 จังหวัด บางจังหวัดอนุโลมตามเขตบริหารราชการแห่งราชอาณาจักร บางจังหวัดต้องรวมหลายจังหวัดเข้าเป็นหนึ่งจังหวัด การรวมหลายจังหวัดเข้าเป็นหนึ่งจังหวัดนั้น เป็นไปตามมติมหาเถรสมาคม

เขตปกครองคณะสงฆ์ระดับอำเภอ

[แก้]

เขตปกครองคณะสงฆ์ระดับอำเภอ เป็นเขตปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาคชั้นที่ 3 ซึ่งหมายถึงเขตในกรุงเทพมหานครและอำเภอในจังหวัดนอกจากกรุงเทพมหานคร มีเจ้าคณะอำเภอเป็นผู้บังคับบัญชา จำนวนและเขตปกครองคณะสงฆ์ชั้นอำเภอนั้น คณะสงฆ์ต้องเป็นผู้กำหนด แม้ทางราชอาณาจักรมีพระราชกฤษฎีกายกกิ่งอำเภอขึ้นเป็นอำเภอแล้ว อำเภอนั้นเป็นอำเภอทางราชอาณาจักรเท่านั้น หาเป็นอำเภอทางคณะสงฆ์ไม่ ตามความในข้อ 5 แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2535) และในระเบียบมหาเถรสมาคม กำหนดจำนวนและเขตการปกครองอำเภอ พ.ศ. 2573

เขตปกครองคณะสงฆ์ระดับตำบล

[แก้]

เขตปกครองคณะสงฆ์ระดับตำบล เป็นเขตปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาคชั้นที่ 4 ซึ่งหมายถึงแขวงในกรุงเทพมหานคร และตำบลในจังหวัดนอกจากกรุงเทพมหานคร มีเจ้าคณะตำบลเป็นผู้บังคับบัญชา จำนวนและเขตปกครองตำบลนั้น คณะสงฆ์เป็นผู้กำหนด แม้ทางราชอาณาจักรจะมีประกาศกระทรวงมหาดไทยตั้งตำบลแล้วก็ตาม ตำบลนั้นเป็นตำบลทางราชอาณาจักรเท่านั้น หาเป็นตำบลทางคณะสงฆ์ไม่ ตามความในข้อ 5 แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2535) และในระเบียบมหาเถรสมาคม กำหนดจำนวนและเขตปกครองตำบล พ.ศ. 2573

อ้างอิง

[แก้]
  1. "กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2535) ว่าด้วยอำนาจและเขตปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค". วัดโมลีโลกยาราม. 2553. สืบค้นเมื่อ 2 เมษายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. "มติมหาเถรสมาคม ที่ 1/2564 เรื่อง ขออนุมัติแบ่งเขตการปกครองระดับภาคของคณะธรรมยุต" (PDF). สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม. 26 มกราคม 2564. สืบค้นเมื่อ 28 มกราคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)