ข้ามไปเนื้อหา

พระมหามณเฑียร

พิกัด: 13°44′59″N 100°29′31″E / 13.749807°N 100.492067°E / 13.749807; 100.492067
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เก๋งนารายณ์)
พระมหามณเฑียร
หมู่พระมหามณเฑียร
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทหมู่พระที่นั่งภายในพระบรมมหาราชวัง
เมืองเขตพระนคร, กรุงเทพมหานคร
ประเทศประเทศไทย
เริ่มสร้างพ.ศ. 2325
ผู้สร้างพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
เป็นส่วนหนึ่งของพระบรมมหาราชวัง
เลขอ้างอิง0005574

พระมหามณเฑียร เป็นหมู่พระที่นั่งภายในพระบรมมหาราชวัง โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2325 เพื่อทรงใช้เป็นที่ประทับและเป็นพระราชพิธีมณฑลในพระราชพิธีปราบดาภิเษก เดิมเป็นพระที่นั่งขนาดใหญ่เชื่อมต่อกัน 3 องค์ ชื่อว่า "พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน" ต่อมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามพระที่นั่งใหม่สำหรับแต่ละองค์โดยเป็นนามที่คล้องจองกัน ได่แก่ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย

ปัจจุบัน พระมหามณเฑียรได้ใช้เป็นพระราชพิธีมณฑลสำหรับประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและพระราชพิธีสำคัญอื่น ๆ ในพระมหากษัตริย์ทุกรัชกาลในราชวงศ์จักรีสืบเนื่องกันมา

ประวัติ

[แก้]

หมู่พระมหามณเฑียร เป็นหมู่พระที่นั่งที่ใช้ที่ประทับและเสด็จออกว่าราชการของพระมหากษัตริย์ โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2325 เพื่อทรงใช้เป็นพระราชพิธีมณฑลในพระราชพิธีปราบดาภิเษกและประทับอยู่ตลอดรัชกาล หลังจากนั้นพระมหามณเฑียรได้ใช้เป็นพระราชพิธีมณฑลสำหรับประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ สืบเนื่องกันมาทุกรัชกาลในราชวงศ์จักรี

หมู่พระมหามณเฑียรเป็นพระที่นั่งขนาดใหญ่หมู่แรกที่สร้างขึ้นในพระบรมมหาราชวัง หันหน้าไปทางทิศเหนือ สร้างเป็นแนวตรง และแนวขวางต่อเนื่องกัน โดยมีมุขแล่นถึงกันโดยตลอด ประกอบด้วย หมู่พระวิมานที่บรรทมและท้องพระโรงสำหรับเสด็จออก มีท้องพระโรงหลัง พระปรัศว์ซ้าย พระปรัศว์ขวา หมู่พระมหามณเฑียรนี้สร้างเป็นแบบสถาปัตยกรรมไทย มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงษ์ ตั้งอยู่ต่อเนื่องในเขตพระราชฐานชั้นในและชั้นกลาง เดิมเป็นพระที่นั่งขนาดใหญ่ เชื่อมต่อกัน 3 องค์ ชื่อว่า "พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน" ครั้นต่อมาในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 ได้พระราชทานนามแยกออกเป็นหลัง ๆ คล้องจองกัน คือ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน

สิ่งก่อสร้างภายในหมู่พระมหามณเฑียร

[แก้]
แผนผังหมู่พระมหามณเฑียรอย่างคร่าว ๆ

พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เป็นพระที่นั่งองค์ประธานของพระที่นั่งในหมู่พระมหามณเฑียร ก่อสร้างในรูปลักษณะของสถาปัตยกรรมไทยองค์พระที่นั่งก่ออิฐถือปูน สร้างเป็น 3 องค์แฝด ภายนอกเป็นระเบียงรายล้อมด้วยเสานางจรัลอยู่ทุกด้าน เป็นพระวิมานที่บรรทมของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จประทับอยู่เป็นประจำ

พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นพระที่นั่งต่อกับท้องพระโรงหน้าพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ทางทิศเหนือ ทรงใช้เป็นที่ประทับทรงพระสำราญหรือให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และใช้เป็นพระราชพิธีมณฑลในการประกอบพิธีบรมราชาภิเษกในทุกรัชกาล พระที่นั่งไพศาลทักษิณเป็นที่ประดิษฐานของปูชนียวัตถุสำคัญ 3 อย่าง คือ

  1. พระสยามเทวาธิราช ประดิษฐานอยู่ในพระวิมานตอนกลางองค์พระที่นั่ง ตรงพระทวารเทวราชมเหศวร
  2. พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ เป็นที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงประทับรับน้ำอภิเษกในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ประดิษฐานอยู่เกือบสุดองค์พระที่นั่ง ด้านทิศตะวันออก
  3. พระที่นั่งภัทรบิฐ เป็นที่ประทับรับเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ เครื่องบรมราชูปโภคอันเป็นโบราณมงคล รับพระแสงราชศัสตราวุธ และพระแสงอัษฎาวุธในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ประดิษฐานอยู่ตอนหน้าสุดองค์พระที่นั่ง ด้านทิศตะวันตก

พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย อยู่ติดกับพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ทางทิศเหนือ เป็นท้องพระโรงสำหรับเสด็จออกฝ่ายหน้า เช่น เสด็จออกขุนนาง ออกมหาสมาคม ออกทรงบำเพ็ญพระราชกุลต่าง ๆ พระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นพระราชพิธีมณฑลในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี มีพระราชบัลลังก์ตั้งอยู่ 2 องค์ คือ

  1. พระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมาน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เป็นบุษบกประกอบท้ายเกรินทั้ง 2 ข้าง ที่ท้ายเกรินปักฉัตรลายทอง 7 ชั้น ประดิษฐานอยู่ที่ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย สำหรับพระมหากษัตริย์เสด็จขึ้นประทับ ในวโรกาสเสด็จออกฝ่ายหน้าในงานมหาสมาคม หรือประดิษฐานปูชนียวัตถุในพระราชพิธี ปัจจุบันใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปประจำพระชนมวารของพระมหากษัตริย์ อัครมเหสี ในการพระราชพิธีสำคัญ
  2. พระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เป็นพระราชบัลลังก์ทองขนาดย่อม เมื่อมีพระราชพิธีจะเชิญมาทอดบนพระราชบัลลังก์ภายใต้พระนพปฏลมหาเศวตฉัตรอีกชั้นหนึ่ง ใน พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระมหากษัตริย์จะเสด็จขึ้นประทับบนพระราชบัลลังก์นี้ เพื่อเสด็จออกมหาสมาคมเป็นครั้งแรกในรัชกาลของพระองค์ และในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของทุกปี เพื่อรับการถวายพระพรชัยมงคล

พระที่นั่งเทพสถานพิลาศและพระที่นั่งเทพอาสน์พิไล

[แก้]

พระที่นั่งเทพสถานพิลาศและพระที่นั่งเทพอาสน์พิไล เดิมคือ เรือนพระปรัศว์ซ้ายและขวาที่ต่อกับท้องพระโรงหลังแห่ง พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน สร้างขึ้นตั้งแต่รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระปรัศว์ขวาอยู่ทางตะวันออกของท้องพระโรงและพระปรัศว์ซ้ายอยู่ทางตะวันตกของท้องพระโรง พระที่นั่งทั้ง 2 ใช้เป็นที่ประทับของฝ่ายใน ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามพระที่นั่งทั้ง 2 องค์ โดย พระที่นั่งองค์ทิศตะวันออกพระราชทานนามว่า พระที่นั่งเทพยสถานพิลาศ ต่อมาเปลี่ยนเป็น "พระที่นั่งเทพสถานพิลาศ" และพระที่นั่งองค์ทิศตะวันตกพระราชทานนามว่า "พระที่นั่งเทพอาสน์พิไล"[1]

ลักษณะสถาปัตยกรรมของพระที่นั่งเป็นสถาปัตยกรรมไทยเลียนแบบพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ยกพื้นสูงกว่า 50 เซนติเมตร หลังคามุงกระเบื้องไม่เคลือบสี พระทวารและพระบัญชรไม่มีซุ้มเรือนแก้ว พระปรัศว์ทั้งสองมีกำแพงแก้วล้อมรอบ กำแพงด้านนอกมีหอน้อยเป็นศาลาเล็ก ๆ

ในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดาพระองค์เดียวใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ประสูติ ณ พระที่นั่งเทพยสถานพิลาศแห่งนี้ ซึ่งนับเป็นพระหน่อพระองค์แรกและเป็นเพียงพระองค์เดียวที่ประสูติในหมู่พระมหามณเฑียร

พระที่นั่งดุสิตาภิรมย์

พระที่นั่งดุสิตาภิรมย์ เป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นพลับพลาเปลื้องเครื่องในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินขึ้นทรงพระคชาธารหรือทรงพระราชยาน เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตรา นอกจากนี้ ยังใช้เป็นพิธีมณฑลในการพระราชพิธีต่าง ๆ ในบางโอกาสด้วย


พระที่นั่งราชฤดี ด้านหลังพระที่นั่ง คือ หอพระสุราลัยพิมาน

พระที่นั่งราชฤดี เป็นพระที่นั่งทรงไทยแบบพลับพลาตรีมุข เป็นพระที่นั่งโถง ยกพื้นสูง 70 เซนติเมตร ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้งปิดทอง หลังคามุงกระเบื้องดินเผาเคลือบสี หน้าบันเป็นไม้จำหลักลายรูปพระนารายณ์ทรงสุบรรณ มีกระหนกก้านขดหัวนาคเป็นลายประกอบบนพื้นกระจกสี มีชานยื่นเลยจากองค์พระที่นั่งสองด้าน ด้านเหนือเป็นที่สำหรับพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าเสด็จฯ ออกทรงประกอบพิธีสังเวยเทพยดา ด้านทิศตะวันตกเป็นที่ตั้งแท่นสรงพระมูรธาภิเษกสนาน

พระที่นั่งสนามจันทร์ ด้านหลังเป็นหอพระธาตุมณเฑียรซึ่งสามารถสังเกตเห็นสีหบัญชรบริเวณมุขกระสัน สำหรับพระมหากษัตริย์เสด็จออกให้เข้าเฝ้าเป็นการฉุกเฉินในเวลาวิกาล

พระที่นั่งสนามจันทร์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นที่ประทับสำราญพระอริยาบถ ทรงงานช่างตามที่โปรดปรานเป็นนิจ บางครั้งเป็นที่เสด็จออกขุนนาง แทนการเสด็จออกที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เป็นสถานที่สำหรับกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้าประทับพักก่อนเข้าเฝ้าฯ ในห้องพระโรง เนื่องจากพระที่นั่งสนามจันทร์ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของหอพระธาตุมณเฑียร อันเป็นที่ประดิษฐานพระโกศพระบรมอัฐิ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเครื่องนมัสการ สำหรับถวายบังคมพระบรมอัฐิในการพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ณ พระที่นั่งสนามจันทร์อีกแห่งหนึ่งด้วย

หอพระสุราลัยพิมาน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นที่ประดิษฐานปูชนียวัตถุ เช่น พระบรมสารีริกธาตุ พระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมรกตองค์น้อย พระชัยเนาวโลหะ พระชัยวัฒนประจำรัชกาล และพระพุทธปฏิมากรสำคัญอื่น ๆ

หอพระธาตุมณเฑียร

หอพระธาตุมณเฑียร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ก่อสร้างและตกแต่งเหมือนกับหอพระสุราลัยพิมานทุกประการ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1, 2, 3

ระหว่างหอพระธาตุมณเฑียรกับองค์พระที่นั่งไพศาลทักษิณ มีมุขกระสันต่อเนื่องกัน ผนังด้านเหนือเจาะเป็นช่องพระบัญชรเปิดออกสู่ลานข้างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ด้านทิศตะวันตก เรียกว่า "สีหบัญชร" ใช้เป็นที่พระมหากษัตริย์เสด็จออกให้เข้าเฝ้าเป็นการฉุกเฉินในเวลาวิกาล

หอศาสตราคม

หอศาสตราคม หรือ หอพระปริตร ตั้งอยู่ในกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ตรงข้ามกับพระที่นั่งดุสิตาภิรมย์ รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเห็นพระที่นั่งโถง ลักษณะเดียวกับพระที่นั่งดุสิตาภิรมย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระที่นั่งองค์เดิมแล้วสร้างหอศาสตราคม เพื่อให้พระสงฆ์ฝ่ายรามัญนิกาย ทำพิธีสวดพระพุทธมนต์สัตปริตรคาถาเสกน้ำพระพุทธมนต์ สำหรับสรงพระพักต์ และ น้ำสรง ตลอดทั้งประพรมรอบพระมหามณเฑียร ในอดีตเมื่อมีการศึกสงครามได้ประกอบพิธีปลุกเสกเครื่องรางของขลัง เพื่อมอบเป็นขวัญกำลังใจให้แก่ทหารในการรบ ด้วยเหตุนี้จึงเขียนลายเครื่องอาวุธโบราณไว้ที่บานประตูหน้าต่างทุกบาน

เก๋งนารายณ์

[แก้]

เก๋งนารายณ์ ตั้งอยู่ในกำแพงแก้วของพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานด้านตะวันตกระหว่างพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานและพระที่นั่งไพศาลทักษิณ หลังหอพระธาตุมณเฑียร สันนิษฐานว่า เป็นเก๋งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้สร้างในปลายรัชสมัย สำหรับเป็นที่ทรงงานศิลปกรรม

เก๋งนารายณ์มีลักษณะเป็นอาคารโถงขนาดเล็ก ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า รูปแบบสถาปัตยกรรมจีน มีฝาสามด้าน ด้านหลังเป็นด้านประธาน มีแท่นก่ออิฐฉาบปูน ภายในประดิษฐานรูปปั้นเจ้าแม่ทับทิม และบริวาร

อ้างอิง

[แก้]

บรรณานุกรม

[แก้]
  • สำนักพระราชวัง. พระบรมมหาราชวัง. กรุงเทพ : โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, พ.ศ. 2547. 331 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-8274-98-5

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

13°44′59″N 100°29′31″E / 13.749807°N 100.492067°E / 13.749807; 100.492067