ข้ามไปเนื้อหา

เกิซตาปู

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตำแหน่งสำคัญรอบ ๆ จัตุรัสเมอร์เดกา ขณะเกิดเหตุการณ์ เมื่อ 30 กันยายน พ.ศ. 2508

เกิซตาปู (อินโดนีเซีย: Gestapu) เป็นคำย่อในภาษาอินโดนีเซียที่ย่อมาจากขบวนการ 30 กันยายนหรือเกอรากันเซ็ปเต็มเบอร์ตีกาปูลุฮ์ (Gerakan September Tiga Puluh) ซึ่งเป็นคำที่ฝ่ายรัฐบาลใช้เรียกกลุ่มที่ก่อรัฐประหารแต่ล้มเหลวเมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2508

รัฐประหารครั้งนี้นำโดยทหารบกและทหารอากาศจำนวนหนึ่ง มีผู้บัญชาการกองพันจากหน่วยรักษาความปลอดภัยของซูการ์โนเป็นหัวหน้า เข้าลักพาตัวนายพลอาวุโสในกองทัพจำนวน 6 คน รวมทั้งพลโทอะฮ์มัด ยานี ผู้บัญชาการทหารบก ผู้ถูกลักพาตัวทั้งหมด ถูกนำไปไว้ที่ฐานทัพอากาศฮาลิม และถูกสังหารในที่สุด ศพถูกนำไปทิ้งน้ำ จากนั้น กลุ่มกบฏได้ประกาศจัดตั้งสภาปฏิวัติ พลตรีซูฮาร์โต นายพลที่สำคัญคนหนึ่งในขณะนั้น และไม่ได้ถูกลักพาตัวได้เข้ายึดอำนาจและปราบปรามกลุ่มรัฐประหารได้ภายใน 2 วัน

พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้ ผู้สนับสนุนและสมาชิกพรรคถูกกองกำลังฝ่ายความมั่นคงและกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงทำร้ายร่างกาย นอกจากนั้น ความเชื่อถือในตัวซูการ์โนลดลง เพราะซูการ์โนไปปรากฏตัวที่ฐานทัพระหว่างเกิดรัฐประหาร การที่เขาไม่ประณามกลุ่มที่สังหารนายพลและยังออกมากล่าวว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องภายในกองทัพ ทำให้คะแนนนิยมของเขาลดลงมาก สุดท้าย ซูการ์โนจึงต้องยอมให้ซูฮาร์โตขึ้นมาบริหารประเทศ และพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียกลายเป็นพรรคนอกกฎหมาย

อ้างอิง

[แก้]
  • ไมเคิล ลีเฟอร์. พจนานุกรมการเมืองสมัยใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กทม. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2548. หน้า 148 - 149

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]