ฟ. ฮีแลร์
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
ฟ. ฮีแลร์ | |
---|---|
ฟ. ฮีแลร์ | |
เกิด | ฟร็องซัว ตูเวอแน 18 มกราคม พ.ศ. 2424 (ตำบลช็องปอมีเย เมืองปัวตีเย ประเทศฝรั่งเศส) |
เสียชีวิต | 3 ตุลาคม พ.ศ. 2511 (87 ปี) (โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย) |
อาชีพ | ครูโรงเรียนอัสสัมชัญ (วิชาภาษาฝรั่งเศส ภาษาอังกฤษ) |
ลายมือชื่อ | |
ฟร็องซัว ตูเวอแน (ฝรั่งเศส: François Touvenet; 18 มกราคม พ.ศ. 2424 – 3 ตุลาคม พ.ศ. 2511) ศาสนนามว่า ฟ. ฮีแลร์ (ฝรั่งเศส: F. Hilaire ฟ. อีแลร์) เป็นนักบวชชาวฝรั่งเศสสมาชิกคณะภราดาเซนต์คาเบรียล ทำหน้าที่เป็นครูที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ถือเป็นหนึ่งในสองบุคคลสำคัญของโรงเรียนดังกล่าวร่วมกับเอมิล ออกัสต์ กอลมเบต์[ต้องการอ้างอิง]
ประวัติ
[แก้]ช่วงแรก
[แก้]ฟ. ฮีแลร์ เกิดที่หมู่บ้านแซงต์ โรแมง (Saint Romain) ใกล้เทศบาลจำโปเมีย (Champniers) เมืองปัวตีเย จังหวัดเวียน ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 18 มกราคม ค.ศ. 1881 ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนชั้นต้นที่ตำบลบ้านเกิด จนอายุได้ 12 ปี ความศรัทธาในศาสนาได้บังเกิดขึ้นในดวงจิตของท่าน ใคร่จะถวายตนเพื่อรับใช้พระเป็นเจ้าจึงได้ขออนุญาตบิดามารดาเข้าอบรมในยุวนิสิตสถาน (Novicate) ในคณะเจษฎาจารย์เซนต์คาเบรียล ที่เมืองซังลอลังต์ ซิว แซฟร์ ในมณฑลวังเด เพื่อร่ำเรียนวิชาลัทธิศาสนา วิชาครู และวิชาอื่น ๆ อันควรแก่ผู้จะเป็นเจษฎาจารย์จะพึงศึกษาจนสำเร็จ แล้วจึงประกาศอุทิศตนถวายพระเจ้า ปฏิญาณตนเป็นภราดาคณะเซนต์คาเบรียลเมื่ออายุได้ 18 ปี เพื่อให้ความรู้ในทางศาสนาได้ลึกซึ้งกว้างขวางยิ่งขึ้น หลังจากบวชแล้วก็ได้เดินทางไปที่เมืองคลาเวียส เพื่อศึกษาปรัชญาศาสนาอีกระยะหนึ่ง
เดินทางมายังประเทศไทย
[แก้]ในขณะเมื่อ ฟ. ฮีแลร์ ถือกำเนิดขึ้น ณ ประเทศฝรั่งเศสมาจนถึง ค.ศ. 1885 ซึ่งมีอายุได้ 4 ขวบเศษนั้น ทางประเทศไทย บาทหลวงเอมิล ออกัสต์ กอลมเบต์ ก็ได้ตั้งโรงเรียนอัสสัมชัญขึ้นในกรุงเทพฯ และได้ดำเนินกิจการเรื่อยมาด้วยดี จนถึง ค.ศ. 1900 บาทหลวงกอลมเบต์ ก็ได้เดินทางไปฝรั่งเศส เพื่อเยี่ยมบ้านเกิดของท่าน เพื่อเป็นการพักผ่อนและเพื่อเสาะแสวงหาคณะอาจารย์ที่มีความสามารถในการสอนมารับหน้าที่ปกครองดูแลรักษาโรงเรียนอัสสัมชัญต่อไป
ในการเดินทางไปประเทศฝรั่งเศสในครั้งนั้น บาทหลวงกอลมเบต์ได้ไปพบอัคราธิการของคณะเซนต์คาเบรียล ที่เมืองแซนต์ลอลังต์ และได้เจรจาขอให้เจษฎาจารย์เซนต์คาเบรียลได้รับปกครองโรงเรียนอัสสัมชัญแทน คุณพ่อกอลมเบต์ ต่อไป ซึ่งทางคณะเซนต์คาเบรียลก็ตอบตกลงด้วยดี และได้มอบให้เจษฎาจารย์ 5 ท่าน เดินทางมารับภารกิจนี้ โดยมีเจษฎาจารย์มาร์ติน เดอ ตูร์ เป็นประธาน เจษฎาจารย์ออกุสแตง คาเบรียล อาเบต และ ฟ. ฮีแลร์ เป็นผู้ร่วมคณะ ในจำนวน 5 ท่าน ฟ. ฮีแลร์ เป็นคนหนุ่มที่สุดมีอายุเพิ่งจะย่างเข้า 20 เท่านั้นทั้งยังเป็นเจษฎาจารย์ใหม่ที่เพิ่งอุทิศตนถวายพระผู้เป็นเจ้าในปีที่เดินทางเข้ามานั้นเอง
เจษฎาจารย์คณะนี้ออกเดินทางฝรั่งเศส โดยลงเรือที่เมืองมาร์เชย์ เมื่อวันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 1901 ใช้เวลาเดินทางทั้งสิ้นหนึ่งเดือนกับ 2 วันจนถึงวันที่ 23 ตุลาคม ศกเดียวกันนั้น เรือก็มาถึงกรุงเทพฯ เข้าเทียบท่าห้างบอร์เนียว พอขึ้นจากเรือคุณพ่อแฟร์เลย์มาคอยรับอยู่ จนมาถึงโรงเรียนอัสสัมชัญ
ศึกษาภาษาไทย
[แก้]ด้วยความที่อายุยังน้อย ภาษาอังกฤษก็ยังไม่คล่อง ภาษาไทยก็ไม่ถนัด หน้าที่ที่ ฟ. ฮีแลร์ ได้รับมอบหมายในเบื้องต้นก็คือการสอนภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส ในขณะนั้นก็ศึกษาภาษาไทยควบคู่ไปด้วย อาจารย์ภาษาไทยคนแรกของ ฟ. ฮีแลร์ก็คือ มหาทิม[1] ซึ่งเป็นครูสอนอยู่ที่โรงเรียนอัสสัมชัญอยู่ก่อนแล้ว ท่านมหาทิมยังให้ความรู้ทางด้านขนบธรรมเนียมไทยต่าง ๆ ด้วย นอกจากมหาทิมแล้ว ยังมีครูวัน (พระยาวารสิริ), มหาศุภ ศุภศิริ, ครูฟุ้ง เจริญวิทย์ที่คอยช่วยกันสอนจนท่านสามารถเข้าใจภาษาไทยได้ [2]
กล่าวกันว่าการเรียนภาษาไทยของท่านนั้นเรียนรู้ได้รวดเร็วมาก พระยามไหศวรรย์เคยเขียนถึงท่านว่า “สำหรับข้าพเจ้าคาดว่าครูฮีแลร์เห็นจะเรียนหนังสือไทยภายหลังข้าพเจ้า แต่ข้าพเจ้าไม่อยากพูดถึงการเรียนของเด็กพวกเรานั้นจะมีมานะหมั่นเพียรเทียบกับครูฮีแลร์ได้อย่างไร ท่านเรียนไม่เท่าไร เกิดเป็นครูสอนภาษาขึ้นมาอีก”
เมื่อความรู้ด้านภาษาไทยของท่านพอจะใช้งานได้แล้ว ท่านได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ในการโต้ตอบจดหมายระหว่างโรงเรียนกับทางราชการไทยทั้งหมด และมักจะลงตำแหน่งว่าท่านคือ "รองอธิการโรงเรียนอัสสัมชัญ" ทำให้ท่านเป็นเริ่มเป็นที่รู้จักในแวดดวงราชการไทย เช่น พระยาวิสุทธิ์สุริยศักดิ์ และสมเด็จฯ กรมพระดำรงราชานุภาพ
เมื่อท่านอ่านออกเขียนภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่วแล้ว ท่านจึงทราบว่า “มูลบทบรรพกิจ” แบบเรียนหลวงที่นักเรียนขณะนั้นใช้เรียนกันอยู่ มีเนื้อหาและหลักวิชาที่ไม่ตรงกับความคิดของท่าน ท่านจึงต้องการที่จะแต่งแบบเรียนใหม่ที่ดีกว่าขึ้นมา เพื่อให้นักเรียนได้ใช้เรียนกัน แต่ความรู้ในทางภาษาไทยของท่านยังคงไม่เพียงพอที่จะทำให้แบบเรียนที่ว่านี้สำเร็จได้ด้วยตัวท่านเอง ท่านจึงส่งแบบร่างต้นฉบับไปให้ผู้รู้ในวงการการศึกษาไทย ณ ขณะนั้น ชั่วยกันตรวจพิจารณา เช่น สมเด็จฯ กรมพระดำรงราชานุภาพ โปรเฟสเซอร์ยอร์ช เซเดส์ และบรรดาครูไทยในโรงเรียนอัสสัมชัญ เดิมทีท่านตั้งใจที่จะแต่งแบบเรียนทั้งหมด 2 เล่ม โดยได้แต่งควบคู่กันมาทั้ง 2 เล่มพร้อมกัน[3] แบบเรียนเล่มแรกตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1910 ใช้ชื่อว่า "อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กอ ขอ"
อัสสัมชัญ อุโฆษสาร
[แก้]ฟ. ฮีแลร์ ร่วมงานกับทางมิสซังสยาม เริ่มจัดพิมพ์หนังสือของโบสถ์อัสสัมชัญ ซึ่งมีทั้งภาษาไทย อังกฤษ และฝรั่งเศส รวมอยู่ในเล่มเดียวกันชื่อ "อัสสัมชัญอุโฆษสมัย" ( Echo de L'Assomption) ฉบับแรกออกในวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 1913 เพื่อเสนอเกี่ยวกับข่าวทั่วไปของโรงเรียน และของโบสถ์อัสสัมชัญ เช่น ข่าวเหตุการณ์ ข่าวกีฬา หรือข่าวมรณะ ตลอดจนบทความต่าง ๆ ฟ. ฮีแลร์ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ในการทำหนังสือ และมีสังฆราชเรอเน แปร์โรสเป็นบรรณาธิการ ในระยะแรกจัดพิมพ์ปีละ 4 เล่ม ก่อนปรับลดลงเหลือ 3 และ 2 เล่ม อัสสัมชัญ อุโฆษสมัยตีพิมพ์ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานถึง 28 ปี จนยุติไปเมื่อปี ค.ศ 1941 เนื่องจากไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2
สงครามโลกครั้งที่ 1
[แก้]เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ฟ. ฮีแลร์ถูกเรียกเกณฑ์จากรัฐบาลฝรั่งเศสให้กลับไปช่วยการสงครามในด้านการพยาบาล ฟ. ฮีแลร์ได้ลงเรือโดยสาร โปรดิวซ์ ออกจากรุงเทพเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1914[4] ระหว่างเดินทาง ฟ. ฮีแลร์ได้เขียนจดหมายส่งกลับมาตีพิมพ์ในอัสสัมชัญ อุโฆษสมัย บอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ตามเมืองที่เรือได้แวะจอด เมื่อถึงฝรั่งเศสที่ท่าเมืองมาร์กเซย์แล้ว ท่านก็เดินทางไปประจำการที่เมืองชาโตรู เริ่มต้นหน้าที่ในการสงครามด้วยการ ไม่มีธุระอะไรสำคัญ ช่วยนายทหารบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ และอบรมวิธีการปฐมพยาบาล การอุดเลือด การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ฯลฯ เมื่ออยู่ประจำการได้ 1 เดือน ท่านจึงลงชื่อขอสมัครไปทำหน้าที่พยาบาลตามสนามรบ แต่นายแพทย์ผู้ตรวจร่างกายไม่อนุญาต ด้วยเหตุว่าท่านอาศัยอยู่ในเมืองร้อน ไม่เหมาะจำไปสนามรบซึ่งมีอากาศหนาว[5] ท่านมักจะถูกชาวฝรั่งเศสถามเรื่องของสยามอยู่บ่อยครั้ง ท่านยังระบุว่า ท่านใส่หมวกสีขาวซึ่งนำมาจากกรุงเทพฯ อยู่ตลอดเวลา[6] ราวต้นปี ค.ศ. 1915 ท่านป่วยเป็นโรคไขข้อพิการ ต้องนอนพักรักษาตัวอยู่ 12 วัน จึงหายเป็นปกติ[7]
ฟ. ฮีแลร์ลงชื่อหาทางย้ายตัวเองมาประจำการให้ใกล้กับเมืองบ้านเกิดของท่าน ท่านเข้าประจำการที่โรงพยาบาล "ซูร์มือเอ" ในเมืองบัวเตียร์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ เมื่อถึงเวลานี้แล้ว ไม่มีใครเรียก ฟ. ฮีแลร์ ตามชื่อของท่านอีกต่อไป เพราะมีแต่คนเรียกท่านว่า มองซิเออร์บางกอก ท่านยังนึกเสียดายที่ไม่ได้พกหนังสือภาษาไทยมาอ่านด้วย เพราะท่านเกรงจะลืมภาษาไทย และอยากอ่านเรื่องราวสนุก ๆ อย่าง พระอภัยมณี และลักษณวงศ์[5] ฟ. ฮีแลร์ปลดประจำการเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ. 1915[8] แต่ยังไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้ทันที เนื่องจากติดขัดเรื่องใบอนุญาตเดินทาง ทำให้ท่านต้องเดินทางไปกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก่อนที่จะมารอโอกาสหาเรือโดยสารกลับมากรุงเทพฯ ที่ประเทศสเปน
สานต่ออัสสัมชัญ ดรุณศึกษา
[แก้]ฟ. ฮีแลร์ได้เดินทางกลับเมืองไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1916 ท่านกลับมาสานงานแต่งแบบเรียนต่ออีกครั้ง เพื่อความถูกต้อง ครบถ้วน สมบูรณ์มากขึ้น ฟ. ฮีแลร์จึงติดต่อกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขอให้เป็นพระธุระ ซึ่งพระองค์ก็ทรงช่วยเหลือ โดยมียอร์ช เซเดส์เป็นคนกลางในรับส่งเรื่อง เนื่องจากในบางครั้งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงประทับอยู่ที่หัวหิน พระองค์ทรงประทานความคิดเห็น ข้อแก้ไข ต่าง ๆ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในการพัฒนาอัสสัมชัญ ดรุณศึกษาให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทั้งสองท่านนัดพบกันเพื่อตรวจแก้ไขอัสสัมชัญ ดรุณศึกษาด้วยกันในวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2463 (ค.ศ. 1921) ก่อนที่จะมีการตีพิมพ์เป็นอัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กลาง ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1921)
อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน ปลายก็คงได้มีการจัดเตรียมพิมพ์ไว้แล้วเช่นกัน แต่พอดีกับช่วงเวลานั้น กระทรวงศึกษาธิการได้ชำระอักขรบัญญัติขึ้นมาใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงตัวสะกด พยัญชนะ การันต์ คำศัพท์ต่าง ๆ ซึ่งต้องเปลี่ยนแปลงไปตามนั้นด้วย การพิมพ์อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน ปลายจึงได้ล่าช้าไปจากอัสสัมชัญดรุณศึกษา ตอน กลาง เกือบ 1 ปี แต่ในระหว่างนั้นก็ได้มีการเพิ่มเติมเนื้อหาอีกเพียงเล็กน้อย เพื่อความครบถ้วนสมบูรณ์มากขึ้น เมื่อสำเร็จเสร็จพร้อมดีแล้ว จึงได้ตีพิมพ์อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน ปลาย ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1922)
จากฝีไม้ลายมือในการแต่งหนังสือของท่านนั้น ทำให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โปรดเชิญเข้าเป็นสมาชิกสมาคมวรรณคดี เมื่อวันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2475 ณ ราชบัณฑิตสภา
ตัวอย่างความเชี่ยวชาญในภาษาไทยของเขาจะเห็นตัวอย่างได้จากการแปลสุภาษิตจากภาษาอังกฤษของ Milton
Two folk looking thorugh the same bars, One sees mud, the other stars...
มาเป็นคติสอนใจภาษาไทยที่มีความไพเราะและแพร่หลายคือ
สอง คน ยล ตาม ช่อง คน หนึ่ง มอง เห็น โคลน ตม คน หนึ่ง ตา แหลม คม เห็น ดวง ดาว อยู่ พราว แพรว...
กลับฝรั่งเศสระดมทุนสร้างอนุสรณสถานบาทหลวงกอลมเบต์
[แก้]ภายหลังการมรณภาพของบาทหลวงเอมิล ออกุสต์ กอลมเบต์ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 1933 บรรดาศิษย์เก่าได้ประชุมกันมีวาระให้ดำเนินการสร้างอนุสรณ์สถานบาทหลวงกอลมเบต์ เพื่อเป็นอนุสาวรีย์ที่ระลึก และใช้งานด้านการศึกษาตามเจตนารมณ์ของท่านผู้ก่อตั้งโรงเรียน[10] ประกอบกับ ฟ. ฮีแลร์มีภารกิจส่วนตัวที่ต้องเดินทางกลับฝรั่งเศส ทำให้มีดำริว่า ฟ. ฮีแลร์จะหาทางระดมทุนหาเงินมาสร้างอนุสรณ์สถานนี้จากยุโรป ในขณะที่บรรดาอัสสัมชนิกระดมทุนจากในประเทศไทย
การจากไปฝรั่งเศสในครั้งนี้ของท่าน นับเป็นที่โศกเศร้าของบรรดาอัสสัมชนิกจำนวนมาก ได้มีการจัดงานเลี้ยงน้ำชาอำลาที่สมาคมอัสสัมชัญ ในวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1934 มีผู้มาร่วมงานประมาณ 200 คนเศษ[11] พอถึงวันที่ 2 มิถุนายน โรงเรียนได้หยุดเป็นกรณีพิเศษ อัสสัมชนิกทั้งเก่า ใหม่ ใหญ่ เล็ก ก็รวมตัวกันไปส่งท่านที่ชานชาลาสถานีรถไฟหัวลำโพง ครั้นเวลาประมาณ 16:00 น. รถไฟก็เคลื่อนขบวนออกจากสถานี อัสสัมชนิกทั้งหลายก็ส่งเสียงให้พรท่านเดินทางโดยสวัสดิภาพ ฟ. ฮีแลร์ยืนโบกผ้าเช็ดหน้าอำลา แม้รถไฟแล่นห่างออกไปดูลับตา แต่ยังคงเห็นผ้าเช็ดหน้าผืนน้อยโบกไหว ๆ อยู่อย่างนั้น[12]
ฟ. ฮีแลร์โดยสารรถไฟไปยังสถานีทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีศิษย์เก่าที่พำนักอยู่ทางภาคใต้ไปรับ เพื่อส่งท่านลงเรือกลับฝรั่งเศสต่อไป ในการนั้นบรรดาอัสสัมชนิกได้จัดทำของที่ระลึกเป็นเครื่องถมให้ท่านเป็นกรณีพิเศษอีกด้วย
เมื่อเดินทางถึงฝรั่งเศสแล้ว ท่านได้พำนักอยู่ที่ Missions Etrangères de Paris[13] สถานที่เดียวกับต้นสังกัดของคุณพ่อกอลมเบต์ ฟ. ฮีแลร์เขียนจดหมายเรี่ยไรเงินไปหาองค์กรการกุศลต่าง ๆ ทั่วยุโรป ซึ่งปรากฏว่าเงินที่ท่านเรี่ยไรได้จากต่างประเทศนั้น มากกว่าเงินที่เรี่ยไรได้จากในประเทศไทยเสียอีก เมื่อท่านเดินทางกลับมาประเทศไทยแล้ว ก็รับธุระในการดูแลจัดการด้านจดหมาย และดำเนินการสร้างอนุสรณ์สถานบาทหลวงกอลมเบต์ต่อไปจนเสร็จเรียบร้อยในปี ค.ศ. 1938
การเดินทางไปฝรั่งเศสครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 2 ที่ท่านได้กลับไปยังบ้านเกิดของท่าน และเป็นการจากบ้านเกิดของท่านเป็นครั้งสุดท้าย เพราะหลังจากนี้ ท่านก็มิได้กลับไปฝรั่งเศสอีกเลย
สงครามโลกครั้งที่ 2
[แก้]เมื่อไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สอง โดยอยู่ฝ่ายอักษะร่วมกับเยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น ทำให้บรรดาภราดาทั้งหลายซึ่งถือว่าเป็นชนชาติศัตรูกับไทย ต้องเดินทางออกนอกประเทศไทย ฟ. ฮีแลร์ได้เดินทางไปถึงอินเดียในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1941 เมื่อแรกได้ไปอยู่กับกงศุลที่เมืองปอนดิเชอรรี่ (Pondicherry) รับหน้าที่ในการแปลจดหมายภาษาไทย ต่อมาในเดือนกันยายนท่านได้ย้ายมาพำนักที่เมืองซาเล็ม (Salem) ในรัฐทมิฬนาฑู และได้ย้ายไปประจำการที่เมืองอุทกมณฑล (Ootacamund)[14]
จดหมายที่ ฟ. ฮีแลร์รับผิดชอบแปลให้กับหน่วยข่าวกรองของอินเดียมีตั้งแต่จดหมายจากผู้แทนไทยในต่างประเทศ, พระบรมวงศานุวงศ์ทั้งที่อยู่ในไทย และพลัดถิ่น รวมทั้งจดหมายจากสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีซึ่งพำนักอยู่ในอังกฤษ งานของ ฟ. ฮีแลร์บางครั้งมีน้อยจนต้องเขียนจดหมายไปของานเพิ่มเติมจากหัวหน้าหน่วยที่เดลฮี (ปัจจุบันเรียกว่า เดลลี) บางครั้งก็มีงานด่วนที่เรียกตัว ฟ. ฮีแลร์เข้าไปจัดการธุระ นอกจากนี้ยังแปล และเขียนแผ่นพับสำหรับเครื่องบินสัมพันธมิตรที่เข้ามาโปรยเอกสารสงครามในไทย[15]
การปฏิบัติหน้าที่ของท่านในสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้ ถือว่าท่านเป็นสมาชิก “เสรีไทย” ซึ่งได้รับการยอมรับฐานะนี้อย่างเป็นทางการ สังเกตได้จากบัตรเชิญร่วมงานเลี้ยงเสรีไทยซึ่งระบุชื่อของท่านอย่างชัดเจน[16]
ระดมทุนสร้างตึกสุวรรณสมโภช
[แก้]ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ท่านเดินทางกลับมาประเทศไทยใน เดือนเมษายน ค.ศ 1946 โดยสารเรือมาขึ้นที่ท่าเรือบีไอ ถนนตก ท่านพบว่าโรงเรียนอัสสัมชัญที่เคยสวยงามด้วยตึกใหม่ อย่างตึกกอลมเบต์ ที่ท่านเดินทางไปเรี่ยไรเงินมาเป็นค่าก่อสร้างถึงฝรั่งเศส ต้องเผชิญกับลูกระเบิด พังเสียหายไปแถบหนึ่ง สำรวจแล้วราคาค่าซ่อมนั้น ประเมินออกมาได้สองแสนบาทเศษ แพงกว่าค่าก่อสร้างเสียอีก ทั้งอาคารไม้ชั่วคราว 3 ชั้น อีกหนึ่งในผลงานของท่าน ก็ถูกรื้อย้ายไปเป็นอาคารเรียนที่ศรีราชา
ภารกิจใหม่ของ ฟ. ฮีแลร์ในวาระนี้ จึงเสมือนเป็นการสร้างโรงเรียนใหม่ คือต้องหาเงินมาซ่อมตึกกอลมเบต์ และหาอาคารใหม่สำหรับรองรับนักเรียน สำหรับอาคารใหม่ที่ว่านี้ ต่อมาคือ หอประชุมสุวรรณสมโภช ซึ่ง ฟ. ฮีแลร์เขียนจดหมายไปขอเรี่ยไรไม้สักมาก่อสร้างจากนายกสมาคมโรงเลื่อยแห่งประเทศไทย[17] นอกจากนี้ท่านยังเขียนจดหมายไปขอเรี่ยไรเงินจากบรรดาอัสสัมชนิก และจากต่างประเทศเหมือนเคย ในคราวนี้ยังได้ขอเรี่ยไรเงินจากผู้ปกครองที่จะนำบุตรหลานมาเข้าเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญอีกด้วย โดยอาศัยวิธีกู้เงินจากผู้ปกครองนักเรียน คือใครอุทิศเงินให้โรงเรียนหนึ่งหมื่นบาท บุตรจะเรียนได้โดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียนเลย จนกว่าจะจบหลักสูตร ด้วยวิธีการเช่นนี้ทำให้มีการครหานินทาว่าโรงเรียนอัสสัมชัญเก็บเงินแป๊ะเจี๊ยะ ในสมัยนั้น ฟ. ฮีแลร์ยังมีส่วนร่วมในการตรวจงานการก่อสร้างอาคารหอประชุมสุวรรณสมโภชเป็นระยะ ๆ จนหอประชุมแล้วเสร็จ เปิดใช้งานในปี ค.ศ. 1951
ช่วงบั้นปลาย
[แก้]เมื่อกาลเวลาย่างเข้าทศวรรษที่ 1950 บัดนี้ ฟ. ฮีแลร์ในวัยราว 70 ปี ก็เริ่มป่วยด้วยโรคเบาหวาน ต้องเข้า ๆ ออก ๆ โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์อยู่บ่อยครั้ง[18] แต่อาการก็มิได้ทุเลาลง จนกระทั่งสายตาของท่านเกือบบอดสนิท แต่คุณความดีที่ท่านกระทำมาตลอดชีวิตของท่าน ก็ได้ยินไปถึงรัฐบาลฝรั่งเศส ทางรัฐบาลฯจึงได้มอบเครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์ (Ordre National de la Légion D'honneur) ให้ท่านในวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ. 1952 ที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์
ต่อมาอาการเบาหวานของท่านเริ่มทุเลาลงบ้าง ท่านจึงกลับมาพำนักที่โรงเรียนอัสสัมชัญ คราวนี้ท่านไม่มีหน้าที่การงานประจำแล้ว แต่ยังคงเป็นเสมือนที่ปรึกษากลาย ๆ ให้กับท่านอธิการ[19] เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1958 มีอัสสัมชนิกได้มาแนะนำให้ท่านไปรักษาดวงตาของท่านกับนายแพทย์ชุด อยู่สวัสดิ์ ซึ่งเป็นจักษุแพทย์ที่มีชื่อเสียง การผ่าตัดกระทำในวันที่ 10 มกราคม ค.ศ. 1959 ทำให้ท่านกลับมามองเห็นได้อีกครั้ง[20] เป็นที่ยินดีของอัสสัมชนิกเป็นอย่างมาก จึงได้มีการจัดงานสมโภชรับขวัญท่านเป็นงานใหญ่ในวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ. 1959
ท่านเจษฎาธิการยอห์น แมรีได้แนะนำให้ ฟ. ฮีแลร์ย้ายไปพำนักที่บ้านพักภราดาปลดเกษียณที่ซอยทองหล่อ แต่ท่านก็ไม่ยอมไป ยังขออยู่อาศัยที่โรงเรียนอัสสัมชัญต่อไป[21] ในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตท่าน ท่านมักจะมีอาการหลง ๆ ลืม ๆ จำชื่อลูกศิษย์ไม่ได้ แม้จะขานชื่อให้ฟังแล้วก็ตาม ทั้ง ๆ ที่ท่านเคยมีความจำเป็นเลิศ อันเป็นธรรมดาของโรคชรา
วาระสุดท้าย
[แก้]ในคืนวันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 1968 ท่านนอนไม่หลับ จึงลุกขึ้นมาเดินที่ระเบียงตึกกอลมเบต์ แล้วล้มลง ได้รับการส่งตัวไปโรงพยาบาลคามิลเลียน แพทย์ลงความเห็นว่าเส้นเลือดในสมองแตก จะต้องรักษาตัวอีกนาน จึงได้ย้ายไปรักษาที่โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน แต่แล้วอาการก็มีแต่ทรงกับทรุด ท้ายที่สุด ท่านก็ไปอยู่กับพระเจ้าในวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1968 สิริรวมอายุ 87 ปี[22]
ทางโรงเรียนเชิญศพท่านมาตั้งไปที่หอประชุมสุวรรณสมโภช ทำพิธีมหาบูชามิสซา และเปิดโอกาสให้อัสสัมชนิกและบุคคลทั่วไปเข้ามาแสดงความเคารพท่านเป็นครั้งสุดท้าย วันที่ 9 ตุลาคม พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) เป็นประธานในพิธี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวสดุดีท่านเป็นภาษาฝรั่งเศส เขตร ศรียาภัย กล่าวสดุดีท่านเป็นภาษาไทย บรรดาครู ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน ผลัดกันเชิญหีบศพท่าน เดินเวียนรอบโรงเรียน ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปฝังที่สุสาน อำเภอศรีราชา ขณะที่รถแล่นผ่านถนนสีลมนั้น บรรดานักเรียนโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยได้มาเข้าแถวเคารพต่อศพท่านด้วยความอาลัย หนังสือพิมพ์ต่าง ๆ พากันลงข่าวสดุดีท่านแทบทุกฉบับ[23]
อนุสาวรีย์
[แก้]อนุสารีย์ ฟ. ฮีแลร์ ออกแบบและปั้นโดย อาจารย์สนั่น ศิลากร ลูกศิษย์ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ซึ่งจบการศึกษาจากโรงเรียนประณีตศิลปกรรม ภายหลังได้รับการยกฐานะให้เป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ซึ่งได้รับพระราชทานดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาประติมากรรมคนแรกของประเทศไทย ผลงานที่สำคัญ เช่น อนุสาวรีย์พระบรมราชชนก (โรงพยาบาลศิริราช) อนุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ลพบุรี) และผลงานร่วมกับผู้อื่น เช่น ภาพปั้นนูนบริเวณฐานอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (วงเวียนใหญ่) ภาพปั้นนูนบริเวณฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (ถนนราชดำเนิน) และ รูปปั้นทหารประกอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นต้น
งบประมาณในการสร้างได้รับเงินบริจาคจาก นายมงคล วังตาล (อัสสัมชนิกเลขที่ 2968) เป็นเงินจำนวน 85,000 บาท โดยปั้นเสร็จสมบูรณ์ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2519 ก่อนที่จะนำมาประดิษฐานหน้าตึก ฟ. ฮีแลร์ และประกอบพิธีเปิดอนุสาวรีย์เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ในปีเดียวกัน โดย ฯพณฯ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธี[24]
ในความทรงจำ
[แก้]ความเป็นครูที่ท่านมีให้กับศิษย์ ความเป็นครูของท่านนี้เรียกว่า เป็นสุดยอดของครูเลยก็ว่าได้ เพราะนอกจากสามารถกำราบบรรดานักเรียนจอมทะโมนทั้งหลายแล้ว ยังมีพระคุณที่สามารถผูกใจให้นักเรียนมีทั้งความรัก และความเกรงกลัวต่อตัวท่าน ควรค่าแก่การเคารพต่อศิษย์ทั้งหลาย[25] สามารถชักจูง กล่อมเกลาศิษย์ให้เอาใจใส่ต่อการศึกษา และมีคุณธรรม จริยธรรมอย่างขันแข็ง มีจิตวิทยาอย่างยอดเยี่ยม
อีกด้านที่ทั้งอัสสัมชนิกและสังคมทั่วไปรับรู้ คือ ความสามารถด้านภาษาไทย ของท่าน หลักฐานลำพังเฉพาะการแต่งแบบเรียนอัสสัมชัญ ดรุณศึกษานั้นก็แทบจะเพียงพอแล้ว เพราะได้รับการยอมรับไปทั่ว ทั้งโรงเรียนเอกชน และโรงเรียนรัฐบาล การได้รับเชิญให้เข้าร่วมวรรณคดีสโมสรในปี ค.ศ. 1932 ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ยืนยันว่าแม้แต่ชนชั้นนำของประเทศก็ให้การยอมรับ
การสร้างภาพยนตร์
[แก้]ในโอกาสที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ครบรอบ 130 ปี แห่งการสถาปนาโรงเรียน คณะกรรมการมูลนิธิ บราเดอร์ฮีแลร์ ได้จัดสร้างภาพยนตร์เรื่อง ฟ. ฮีแลร์ เพื่อเชิดชูเกียรติท่านบราเดอร์ ฮีแลร์ ผู้ซึ่งอุทิศตนแก่เยาวชนไทยตลอดชีวิตของท่าน และยังได้เป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจแก่เยาวชนอัสสัมชัญ ในการประพฤติตนที่เปี่ยมด้วยคุณธรรมและความเมตตา ทั้งยังบุกเบิกการศึกษาให้กับเยาวชนไทย จากอัสสัมชัญสู่ “ดรุณศึกษา” แบบเรียนภาษาไทยที่แต่งโดย “ครูฝรั่ง” อันเป็นคุณูปการอันใหญ่หลวงให้กับเด็กไทยทั้งประเทศสืบเนื่องกันมา
“ฟ. ฮีแลร์” เป็นภาพยนตร์ที่เชิดชูจิตเมตตาของความเป็น “ครูผู้สร้างคน” มาตลอดชั่วชีวิตท่าน ด้วยรูปแบบการนำเสนอที่ร่วมสมัย เล่าเรื่องด้วยความเข้มข้น น่าติดตามอยู่ตลอดเวลา ด้วยการแสดงจากนักแสดง เช่น ภรัณยู โรจนวุฒิธรรม และเจสัน ยัง สองนักแสดงนำ ซึ่งสามารถถ่ายทอดแนวคิดและเจตนารมณ์ของ บราเดอร์ฮีแลร์ และครูผู้สร้างคน ทั้ง 2 ยุคสมัยได้อย่างน่าสนใจ กำกับโดย "แหม่ม" มาม่าบลู (สุรัสวดี เชื้อชาติ) กำกับศิลป์โดย เอก เอี่ยมชื่น[26]
โดยในวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2557 คณะกรรมการจัดสร้างภาพยนตร์ ฟ. ฮีแลร์ ครูฝรั่งแห่งสยามประเทศ ในนามมูลนิธิบราเดอร์ฮีแลร์ โรงเรียนอัสสัมชัญ ได้จัดพิธีสักการะบราเดอร์ฮีแลร์ และเปิดกองถ่ายทำภาพยนตร์ ฟ. ฮีแลร์ ครูฝรั่งแห่งสยามประเทศ อย่างเป็นทางการ ณ ห้องประชุม Auditorium ชั้น 9 อาคารอัสสัมชัญ 2003 โรงเรียนอัสสัมชัญ[27]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ สุลักษณ์ ศิวรักษ์. (2512). “ประวัติเจษฎาจารย์ ฟ. ฮีแลร์” ใน อัสสัมชัญอุโฆษสมัย ฉบับที่ระฤกวันมรณภาพครบ 1 ปี, ไม่ปรากฏเลขหน้า.
- ↑ สุลักษณ์ ศิวรักษ์. (2512). “ประวัติเจษฎาจารย์ ฟ. ฮีแลร์” ใน อัสสัมชัญอุโฆษสมัย ฉบับที่ระฤกวันมรณภาพครบ 1 ปี, ไม่ปรากฏเลขหน้า.
- ↑ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สบ.2.50/616 เอฟ ฮิลแลร์ (F.Hilaire ) (21 กุมภาพันธ์ 2461 – 6 ตุลาคม 2473
- ↑ อัสสัมชัญ,โรงเรียน. "ข่าวเบ็ดเตล็ด" ใน อัสสัมชัญ อุโฆษสมัย เล่มที่ 4 ปี 1914. หน้า 266
- ↑ 5.0 5.1 อัสสัมชัญ,โรงเรียน. "เมืองบัวเยียร์ ที่โรงพยาบาล "ซูมือเอร์" ใน อัสสัมชัญ อุโฆษสมัย เล่มที่ 8 ปี 1915. หน้า 162 - 170.
- ↑ อัสสัมชัญ,โรงเรียน. "ข่าวไกลบ้าน" ใน อัสสัมชัญ อุโฆษสมัย เล่มที่ 5 ปี 1914. หน้า 305 - 313.
- ↑ อัสสัมชัญ,โรงเรียน. "ข่าวเบ็ดเตล็ด" ใน อัสสัมชัญ อุโฆษสมัย เล่มที่ 7 ปี 1915. หน้า 135.
- ↑ Bro.Hilaire. "NEWS FROM HOME." The Assumption Echo No.10 March 1916. p. 32
- ↑ ฟ. ฮีแลร์. "ดูถูก" ใน อัสสัมชัญ อุโฆษสมัย ฉบับที่ 65 ปี 1929 http://assumptionmuseum.com/media/1585/b2-65-1929.pdf
- ↑ อัสสัมชัญ,โรงเรียน. "อนุสสาวรีย์ “คุณพ่อ กอลมเบท์”" ใน อัสสัมชัญ อุโฆษสมัย เล่มที่ 79 ปี 1933. หน้า 224 - .228.
- ↑ อัสสัมชัญ,โรงเรียน. "อำลา อาลัย" ใน อัสสัมชัญ อุโฆษสมัย เล่มที่ 82 ปี 1934. หน้า 161 - 166.
- ↑ อัสสัมชัญ,โรงเรียน. "อำลา อาลัย" ใน อัสสัมชัญ อุโฆษสมัย เล่มที่ 82 ปี 1934. หน้า 161 - 166.
- ↑ จดหมายส่วนตัว ห้องเอกสาร มูลนิธิคณะภราดาเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย.
- ↑ จดหมายส่วนตัว ห้องเอกสาร มูลนิธิคณะภราดาเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย
- ↑ จดหมายส่วนตัว ห้องเอกสาร มูลนิธิคณะภราดาเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย
- ↑ จดหมายส่วนตัว ห้องเอกสาร มูลนิธิคณะภราดาเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย
- ↑ จดหมายส่วนตัว ห้องเอกสาร มูลนิธิคณะภราดาเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย
- ↑ เฉลิมวงศ์ ปีตรังสี. (2502). “ประวัติท่านเจษฎาจารย์ ฟ. ฮีแลร์” ใน อนุสรณ์งานสมโภชรับขวัญเจษฏาจารย์ ฟ. ฮีแลร์, หน้า 1 – 9.
- ↑ สุลักษณ์ ศิวรักษ์. (2512). “ประวัติเจษฎาจารย์ ฟ. ฮีแลร์” ใน อัสสัมชัญอุโฆษสมัย ฉบับที่ระฤกวันมรณภาพครบ 1 ปี, ไม่ปรากฏเลขหน้า.
- ↑ นายแพทย์ชุด อยู่สวัสดิ์. (2502). “แก้วตาครูในหมู่ศิษย์” ใน อนุสรณ์งานสมโภชรับขวัญเจษฏาจารย์ ฟ. ฮีแลร์, หน้า 1 – 9.
- ↑ สุลักษณ์ ศิวรักษ์. (2512). “ประวัติเจษฎาจารย์ ฟ. ฮีแลร์” ใน อัสสัมชัญอุโฆษสมัย ฉบับที่ระฤกวันมรณภาพครบ 1 ปี, ไม่ปรากฏเลขหน้า.
- ↑ สุลักษณ์ ศิวรักษ์. (2512). “ประวัติเจษฎาจารย์ ฟ. ฮีแลร์” ใน อัสสัมชัญอุโฆษสมัย ฉบับที่ระฤกวันมรณภาพครบ 1 ปี, ไม่ปรากฏเลขหน้า.
- ↑ สุลักษณ์ ศิวรักษ์. (2512). “ประวัติเจษฎาจารย์ ฟ. ฮีแลร์” ใน อัสสัมชัญอุโฆษสมัย ฉบับที่ระฤกวันมรณภาพครบ 1 ปี, ไม่ปรากฏเลขหน้า.
- ↑ เอกสารโรงเรียนอัสสัมชัญ
- ↑ เจ้าพระยนศรีธรรมาธิเบศ. (2502). “สดุดีภราดาฮีแลร์” ใน อนุสรณ์งานสมโภชรับขวัญเจษฎาจารย์ ฟ. ฮีแลร์, หน้า 29.
- ↑ "ฟ.ฮีแลร์ " ครูฝรั่งแห่งสยามประเทศ "". www.acassoc.com. 2014-10-02. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04.
- ↑ "พิธีสักการะบราเดอร์ฮีแลร์ และเปิดกองถ่ายทำภาพยนตร์ ฟ.ฮีแลร์". swis.assumption.ac.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-12-06. สืบค้นเมื่อ 2022-09-24.
- อุโฆษสาสน์, โรงเรียนอัสสัมชัญ[ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไม่ครบ]
- วรรณกรรม ฟ. ฮีแลร์ เล่มรวม, โรงเรียนอัสสัมชัญ[ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไม่ครบ]
- บาทหลวง ฟ. ฮีแลร์ ประมวลประวัติครู คุรุสภาจัดพิมพ์ร่วมเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี กระทรวงศึกษาธิการ. กรุงเทพฯ โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2532[ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไม่ครบ]