ฮาโกโรโมะฟูลทัชชอล์ก
ฮาโกโรโมะฟูลทัชชอล์ก (ญี่ปุ่น: 羽衣フルタッチチョーク, แปลตรงตัว 'Hagoromo Fulltouch Chalk', เกาหลี: 하여모 풀터치 분필) เป็นตราสินค้าชอล์กสำหรับกระดานดำที่บริษัทเกาหลีใต้เป็นเจ้าของ เดิมเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทเครื่องเขียนญี่ปุ่น ฮาโกโรโมะ บุงงุ (羽衣 文具)
การผลิตชอล์กเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2475 ซึ่งในปี พ.ศ. 2533 มียอดขายชอล์กสูงสุด 90 ล้านชิ้นต่อปี และเริ่มได้รับความนิยมในระดับนานาชาติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 ชอล์กได้รับความนิยมเป็นพิเศษในหมู่นักคณิตศาสตร์ และได้รับการขนานนามว่าเป็น "โรลส์-รอยซ์ของชอล์ก"[1]
ในปี พ.ศ. 2557 ทากายาซุ วาตานาเบะ (渡部 四郎) ผู้บริหารของฮาโกโรโมะ บุงงุ ไม่ได้เลือกผู้สืบทอดตำแหน่งและปฏิเสธข้อเสนอเพื่อดำเนินตราสินค้าต่อไปจากบริษัทญี่ปุ่นหลายแห่ง ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจปิดบริษัท อย่างไรก็ตาม ชินฮยองซ็อก (신형석) ผู้ก่อตั้งห้างสรรพสินค้า เซจงมล (세종몰) และเป็นผู้นำเข้าชอล์กฮาโกโรโมะแต่เพียงผู้เดียวในเกาหลีใต้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ซึ่งมีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับวาตานาเบะ ชินได้รับอนุญาตให้ดำเนินการผลิตต่อไป โดยได้รับทั้งความรู้และอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการผลิต[2] ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 เซจงมลได้เริ่มดำเนินการผลิตชอล์กฮาโกโรโมะ[3]
Hagoromo Fulltouch Chalk | |||||||
ชื่อเกาหลีใต้ | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
ฮันกึล | 하여모 풀터치 분필 | ||||||
| |||||||
ชื่อภาษาญี่ปุ่น | |||||||
คันจิ | 羽衣フルタッチチョーク | ||||||
|
ประวัติ
[แก้]ฮาโกโรโมะ บุงงุ
[แก้]อดีตสำนักงานและโรงงานของฮาโกโรโมะในเมืองคาซูงาอิ | |
อุตสาหกรรม | อุปกรณ์สำนักงาน |
---|---|
ก่อตั้ง | ตุลาคม พ.ศ. 2475 |
เลิกกิจการ | มีนาคม พ.ศ. 2558 |
สาเหตุ | ถูกซื้อกิจการโดยเซจงมล |
สำนักงานใหญ่ | , ญี่ปุ่น |
ผลิตภัณฑ์ | ชอล์กเขียนกระดานดำ |
ฮาโกโรโมะ บุงงุ ก่อตั้งขึ้นในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2475 ในชื่อ นิฮงโจกุเซโซโชะ (日本チョーク製造所) โรงงานเดิมตั้งอยู่ในเขตนากะ นครนาโงยะ แต่ถูกทำลายในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2487 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 บริษัทได้รับการจัดตั้งขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2490 และเปลี่ยนชื่อเป็น ฮาโกโรโมะ บุงงุ โรงงานผลิตตั้งในเมืองคาซูงาอิ ที่อยู่ใกล้เคียงซึ่งสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2504 และสำนักงานได้ย้ายไปที่นั่นในปี พ.ศ. 2535[4]
ตามข้อมูลของบริษัทวิจัย โตเกียวโชโกะริซาจิ (東京商工リサーチ)[5] บริษัทขายชอล์กได้มากกว่า 90 ล้านชิ้นต่อปีในช่วงที่มียอดขายสูงสุดเมื่อปี พ.ศ. 2533 ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดในประเทศญี่ปุ่นร้อยละ 30[5]
การก่อตั้งห้างสรรพสินค้าเซจงมล
[แก้]ชื่อท้องถิ่น | (주)세종몰 |
---|---|
อุตสาหกรรม | ผลิตเครื่องเขียน |
ก่อตั้ง | พ.ศ. 2552 |
สำนักงานใหญ่ | , เกาหลีใต้ |
ตราสินค้า | 하여모 풀터치 분필 Hagoromo Fulltouch Chalk |
เจ้าของ | ชิน ฮยองซ็อก |
เว็บไซต์ | en |
ในปี พ.ศ. 2546 ชิน ฮยองซ็อก (신형석) ชาวเกาหลีใต้ ครูสอนคณิตศาสตร์ในโรงเรียนกวดวิชา (ฮากว็อน) เดินทางไปเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับระบบโรงเรียนกวดวิชาที่คร่ำเคร่งในญี่ปุ่น ในระหว่างการเดินทางครั้งนี้ เขาได้พบกับชอล์กฮาโกโรโมะเป็นครั้งแรก[6][7] เขากลายเป็นแฟนตัวยงของตราสินค้านี้ทันที[6] เมื่อเขากลับมาเกาหลีใต้พร้อมกับกล่องชอล์กฮาโกโรโมะสีเรืองแสง นักเรียนต่างชื่นชมว่าสีนั้นอ่านได้ง่าย เมื่อชอล์กฮาโกโรโมะหมด เขาจึงค้นหาดูว่ามีธุรกิจใดในเกาหลีใต้ที่นำเข้าตราสินค้านี้มาบ้าง และผิดหวังเมื่อพบว่าไม่มีธุรกิจใดนำเข้ามาเลย[6][7][8] เขายังสอบถามว่าผู้ผลิตรายใดเต็มใจที่จะผลิตสีชอล์กเรืองแสงหรือไม่ และทั้งหมดรายงานปฏิเสธ โดยบางรายอ้างว่าไม่มีตลาดทั้งสำหรับสีดังกล่าวและสำหรับตราสินค้าชอล์กระดับไฮเอนด์[7]
ในปี พ.ศ. 2549 ชินได้ติดต่อ ทากายาซุ วาตานาเบะ ประธานของฮาโกโรโมะ บุงงุ[6][9] ซึ่งลูกสาวคนที่สองของวาตานาเบะสามารถทำหน้าที่เป็นล่ามได้โดยบังเอิญ เนื่องจากเธอพูดภาษาเกาหลีได้คล่องและเคยศึกษาต่อต่างประเทศในเกาหลีใต้มาก่อน[3][9][10] มีรายงานว่าเธอเดินทางไปเกาหลีใต้หลายครั้งต่อปีกับพ่อของเธอ[7][3] ชินได้รับการอนุมัติให้เป็นผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ฮาโกโรโมะในเกาหลีใต้แต่เพียงผู้เดียว ส่งผลให้มีการก่อตั้งห้างสรรพสินค้าเซจงมลในปี พ.ศ. 2552[9] มีรายงานว่าทั้งสองบริษัทสร้างความสัมพันธ์ที่ดีอย่างรวดเร็ว[10] ฮาโกโรโมะประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วในเกาหลีใต้ มีบางรายงานระบุว่าผู้ทำการสอนในโรงเรียนกวดวิชาประมาณร้อยละ 80–90 นำชอล์กนี้มาใช้[7]
การปิดกิจการของฮาโกโรโมะ บุงงุ และการสืบทอดกิจการ
[แก้]ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2557 ทากายาซุ วาตานาเบะ ประธานบริษัทได้ออกแถลงการณ์ประกาศว่าบริษัทจะหยุดผลิตชอล์กในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 และหยุดขายในเดือนมีนาคม 2558[5][11][12] ทากายาซุ วาตานาเบะผู้สืบทอดบริษัทจากบรรพบุรุษ ริวโซ วาตานาเบะ (渡部 隆三) ได้แถลงถึงเหตุผลในการปิดกิจการนี้ รวมถึงข้อเท็จจริงที่ว่า "กระดานดำไม่ใช่บรรทัดฐานในห้องเรียนอีกต่อไป" และ "จำนวนนักเรียนก็ลดลงเช่นกัน" [11] วาตานาเบะยังอ้างถึงสุขภาพที่ทรุดโทรมของเขาเนื่องจากมะเร็งกระเพาะอาหารว่าเป็นสาเหตุหลักของการปิดกิจการนี้[9][13] การประกาศยุติกิจการทำให้มีการซื้อชอล์กจำนวนมาก การกักตุน และการขายชอล์กอีกครั้งในหมู่แฟนคลับของบริษัท[13][14][15] ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2558 วาตานาเบะรายงานว่าการผลิตดำเนินต่อไปนานกว่าที่วางแผนไว้เดิมหนึ่งเดือน และสุดท้ายก็สิ้นสุดลงในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2558[13]
บริษัทฮาโกโรโมะ บุงงุ มีเจ้าของเป็นครอบครัวเดียวสามรุ่น แต่ในปี พ.ศ. 2557 กลับไม่มีผู้สืบทอด[2] ลูกสาวทั้งสามของวาตานาเบะ หรือสามีของพวกเธอไม่มีใครเต็มใจที่จะเข้ามาดูแลธุรกิจนี้[2][7] มีรายงานว่าวาตานาเบะพยายามแบ่งปันอุปกรณ์และสูตรชอล์กของเขากับบริษัทอื่น แต่ไม่พอใจกับคุณภาพผลผลิตของพวกเขา[7][9] บริษัทอุมาจิรุชิ (日本馬印) ผู้ผลิตกระดานดำของญี่ปุ่นที่ต้องการขยายการผลิตชอล์ก ได้ซื้อเครื่องจักรผลิตชอล์กเครื่องหนึ่ง[13][16] อุมาจิรุชิเปิดตัว ดีซีชอล์กดีลักซ์ (DCチョークDX, 'DC Chalk Deluxe')[16][17] แต่ต่อมาได้หยุดการผลิตในช่วงต้นปี พ.ศ. 2563[18]
วาตานาเบะโทรหาชินและแจ้งให้ทราบว่าเขาตั้งใจจะปิดบริษัท และขอโทษที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของชิน[9] ชินถามวาตานาเบะว่าเขาจะเป็นผู้ทำชอล์กต่อไปได้หรือไม่ ในตอนแรกวาตานาเบะปฏิเสธ เขาเตือนชินเกี่ยวกับความยากลำบากของอุตสาหกรรมการผลิต[6] ในที่สุดวาตานาเบะก็ยอมให้เขาทำ ลูกสาวของวาตานาเบะขอบคุณชินอย่างมากที่เข้ามาจัดการ[7]
ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2558 วาตานาเบะขายเครื่องจักรให้กับชินในราคาที่ต่ำมาก เครื่องจักรแต่ละเครื่องมีมูลค่าประมาณ 80 ล้านวอน (80,000 ดอลลาร์สหรัฐ) ขายให้ในราคา 1 ล้านวอน (900 ดอลลาร์สหรัฐ)[7][9] ชินนำเข้าเครื่องจักรในตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุตจำนวน 16 ตู้จากนาโงยะไปยังโพชอน[3][9][19] หลังจากตั้งโรงงานขึ้น วาตานาเบะเดินทางไปเกาหลีใต้ด้วยรถเข็นและแสดงความเห็นชอบโรงงาน เขาสอนชินถึงวิธีทำชอล์ก[7] พนักงานชาวญี่ปุ่นเชื้อสายเกาหลีของฮาโกโรโมะ บุงงุ จำนวนหนึ่งได้เข้ารับตำแหน่งที่ปรึกษาทางเทคนิคเพื่อให้แน่ใจว่าการผลิตนั้นตรงตามต้นฉบับ[10][20] ในปี พ.ศ. 2562 มีรายงานว่าการผลิตชอล์กได้นำเข้าวัตถุดิบจากญี่ปุ่น รวมถึงเปลือกหอย เพื่อสนับสนุนคุณภาพที่สม่ำเสมอ[7] มีข่าวว่าบางคนคิดว่าชอล์กฮาโกโรโมะฟูลทัชใหม่เป็นของปลอม ทำให้มีรายงานว่าวาตานาเบะและชินได้ถ่ายภาพร่วมกันเพื่อแสดงให้เห็นว่าชินได้รับการสนับสนุนจากวาตานาเบะ[20] หลังจากนั้นมีนักคณิตศาสตร์อย่างน้อยหนึ่งคนประเมินชอล์กนี้ว่าแยกแยะไม่ออกจากผลิตภัณฑ์ดั้งเดิม[3]
เพื่อเริ่มดำเนินการเป็นผู้ผลิต ชินได้ลงทุนเริ่มต้นประมาณ 700 ล้านวอนในธุรกิจนี้[9] ในปี พ.ศ. 2559 บริษัทเซจงมลได้เริ่มทำการผลิตชอล์ก[9][10] ยอดขายในแต่ละปีเพิ่มขึ้นจาก 300 ล้านวอนในปี 2559 เป็น 600 ล้านวอนในปี 2560, 900 ล้านวอนในปี 2561[9] และ 2 พันล้านวอนในปี 2562[20] ยอดขายในต่างประเทศปรับเพิ่มจาก 50 ล้านวอนในปี 2559 เป็น 100 ล้านวอนในปี 2560 และ 300 ล้านวอนในปี 2561[9] ในปี 2562 ยอดขายในต่างประเทศอยู่ที่ประมาณร้อยละ 40 ของยอดขายรวม[20] รายงานระบุว่ายอดขายดีขึ้นมาจากสารคดีในต่างประเทศ และการรายงานข่าวเกี่ยวกับตราสินค้าฮาโกโรโมะและการถ่ายโอน[8][19] มีรายงานว่าเซจงมล พยายามวางตำแหน่งชอล์กให้เป็นผลิตภัณฑ์ระดับไฮเอนด์ในตลาด และได้พยายามออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสม[20]
การส่งมอบตราสินค้าฮาโกโรโมะได้รับผลกระทบจากความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่มักตึงเครียด[7] บรรษัทกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งญี่ปุ่น (NHK) รายงานว่าได้ผลิตสารคดีความยาว 30 นาทีที่วิจารณ์การส่งมอบตราสินค้าฮาโกโรโมะว่าเป็นการถ่ายโอนเทคโนโลยีของญี่ปุ่นไปยังต่างประเทศ[7] ชาวเกาหลีใต้บางคนแสดงความไม่เห็นด้วยกับตราสินค้าดังกล่าว เนื่องจากเดิมทีเป็นของญี่ปุ่น[7] ชินและวาตานาเบะปกป้องความสัมพันธ์เชิงบวกของพวกเขาและแสดงความหวังว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของพวกเขาจะดีขึ้น[2] ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 ชินไปเยี่ยมวาตานาเบะและทั้งสองสัญญาว่าจะพบกันอีกครั้งเมื่ออากาศอบอุ่นขึ้น ท่ามกลางข้อจำกัดการเดินทางในช่วงการระบาดทั่วของโควิด-19[10] วาตานาเบะเสียชีวิตในเดือนกรกฎาคมของปีนั้น[3] โดยที่พวกเขาไม่ได้พบกันอีก[10] ตามที่ชินกล่าว วาตานาเบะยังคงให้คำแนะนำชินเกี่ยวกับบริษัทจนกระทั่งเขาเสียชีวิต[6]
รายงานระบุว่าสมาคมชอล์กญี่ปุ่นได้ห้ามการนำเข้าชอล์กฮาโกโรโมะฟูลทัชจากเกาหลีใต้เป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากกังวลว่าจะทำให้ตลาดไม่มั่นคง[20] ในปี พ.ศ. 2560 บริษัทได้เริ่มนำตราสินค้าดังกล่าวเข้าไปยังเวียดนาม นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวยังจำหน่ายในยุโรปและอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ แอมะซอน[20] ในปี พ.ศ. 2563 มีรายงานว่าจีนเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท รองลงมาคือสหรัฐอเมริกา[20] และมีข่าวว่าบริษัทกำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์การเขียนที่สามารถทำงานบนกระจกได้[20] ในปี พ.ศ. 2565 มีรายงานว่าบริษัทกำลังพัฒนาอุปกรณ์การเขียนอื่น ๆ เช่น ปากกา[8]
ความนิยมและสิ่งสืบทอด
[แก้]นักคณิตศาสตร์ สัตยัน เทวาทัส (Satyan Devadoss) ระบุในปี พ.ศ. 2553 ว่าชอล์กฮาโกโรโมะ สามารถเรียกได้ว่าเป็น "ไมเคิล จอร์แดน ของชอล์ก หรือโรลส์-รอยซ์ ของชอล์ก"[1] นักคณิตศาสตร์และศาสตราจารย์ที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น ไบรอัน คอนราด (Brian Conrad) และ เดวิด ไอเซนบัด (David Eisenbud) ก็ชอบผลิตภัณฑ์นี้เช่นกัน[16][21] เมื่อมีการประกาศในปี พ.ศ. 2558 ว่าจะเลิกผลิตชอล์กฮาโกโรโมะ อาจารย์และนักสะสมผลิตภัณฑ์ชอล์กหลายคนก็เริ่มซื้อชอล์กดังกล่าวในปริมาณมาก[22][23] หลังจากที่เซจงมลเข้ามาสืบทอดกิจการ นักคณิตศาสตร์อย่างน้อยหนึ่งคนประเมินชอล์กของเซจงมลว่าไม่สามารถแยกแยะได้จากต้นฉบับ[3] เดวิด ไอเซนบัด เป็นคนแรกที่แนะนำชอล์กนี้ให้กับนักคณิตศาสตร์ชาวอเมริกันและพยายามนำเข้ามายังสหรัฐอเมริกา ซึ่งต่อมาชอล์กดังกล่าวก็วางจำหน่ายบนแอมะซอน[24]
ผลิตภัณฑ์แบบต่าง ๆ
[แก้]ฮาโกโรโมะ บุงงุ วางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชอล์กดังต่อไปนี้:[5][16]
- ฟูลทัชชอล์ก (Fulltouch Chalk): ชอล์กแคลเซียม
- ฟูลทัชลาร์จชอล์ก (Fulltouch Large Chalk): ชอล์กแคลเซียม เส้นผ่านศูนย์กลาง 2 ซม. และยาว 11.3 ซม. มีให้เลือกในสีขาว แดง ส้ม เหลือง เขียว และน้ำเงิน[25]
- ฟูลทัชนิวพอลิ (Fulltouch New Poly): ชอล์กยิปซัม บางครั้งเรียกว่าชอล์กปลาสเตอร์
- ฟูลทัชลูมินัสคัลเลอร์ชอล์ก (Fulltouch Luminous Color Chalk): ชอล์กยิปซัม
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Devadoss, Satyan (16 กันยายน 2010). "Dream Chalk". Mathematics & Statistics department blog (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). Williams College. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 สิงหาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 31 สิงหาคม 2020.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 Kim, Dahee (11 สิงหาคม 2019). "Japan's Hagoromo chalk continues its legacy in S. Korea". Kyodo News+. สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2024.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 Gopal, Trisha; Omanoff, Jacqueline; Chung, Evan (22 สิงหาคม 2020). "How a brand of chalk achieved cult status among mathematicians". CNN. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 สิงหาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 31 สิงหาคม 2020.
- ↑ 会社概要 [Corporate Overview]. Hagoromo Bungu (ภาษาญี่ปุ่น). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 กันยายน 2015. สืบค้นเมื่อ 8 กันยายน 2021.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 Hongo, Jun (20 พฤศจิกายน 2014). "Chalk Maker Runs Out of Blackboard". WSJ (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2019.
- ↑ 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 6.5 곽, 창렬; 김, 세린 (25 มีนาคม 2022). 수학을 풀다가 분필에 빠져들었다… ‘분필계의 롤스로이스’ 아시나요. The Chosun Ilbo (ภาษาเกาหลี). สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2024.
- ↑ 7.00 7.01 7.02 7.03 7.04 7.05 7.06 7.07 7.08 7.09 7.10 7.11 7.12 7.13 [인터뷰] 일제 명품 분필 '하고로모' 인수, 한국서 생산한 학원강사 스토리. 비즈한국 (ภาษาเกาหลี). 16 พฤษภาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2024.
- ↑ 8.0 8.1 8.2 박, 혜림 (18 สิงหาคม 2022). [이슈人이슈] '하고로모 분필' 신형석 세종몰 대표. 인천일보 (ภาษาเกาหลี). สืบค้นเมื่อ 27 กรกฎาคม 2024.
- ↑ 9.00 9.01 9.02 9.03 9.04 9.05 9.06 9.07 9.08 9.09 9.10 9.11 Nam, Hyun-woo (3 กรกฎาคม 2019). "Former cram school teacher keeps legacy of Hagoromo chalk". The Korea Times (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2024.
- ↑ 10.0 10.1 10.2 10.3 10.4 10.5 Ogawa, Takashi (1 มีนาคม 2021). "The South Korean keeping Japan's top chalk from fading out". The Asahi Shimbun (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 27 กรกฎาคม 2024.
- ↑ 11.0 11.1 廃業のご案内 [Information on business closure]. Hagoromo Bungu (ภาษาญี่ปุ่น). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 ตุลาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2019.
- ↑ 木ノ下, めぐみ (29 มิถุนายน 2015). 「チョークのロールスロイス」…講師ら支えた名門業者が廃業 韓国企業が継承へ ["Rolls-Royce of Chalk" ... A prestigious company supported by instructors shuts down]. 産経West (ภาษาญี่ปุ่น). The Sankei News.
- ↑ 13.0 13.1 13.2 13.3 Watanabe, Takayasu (2 กรกฎาคม 2015). "Hagoromo president explains why he closed down his beloved chalk business". Nikkei Asia (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 31 สิงหาคม 2020.
- ↑ Pascaud, May (29 มิถุนายน 2015). "Mathematicians mourn the loss of the 'Rolls-Royce of chalk'". Public Radio International (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2019.
- ↑ "Mathematicians snatch up last boxes of the "Rolls-Royce of chalk"". As It Happens. 16 มิถุนายน 2015. CBC.
- ↑ 16.0 16.1 16.2 16.3 Zhang, Sarah (15 มิถุนายน 2015). "Why Mathematicians Are Hoarding This Special Type of Japanese Chalk". Gizmodo (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2019.
- ↑ "Product - DC Chalk DX". Umajirushi. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 พฤษภาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2019.
- ↑ DCチョークDX生産販売終了のお知らせ. Umajirushi. 26 มกราคม 2020.
- ↑ 19.0 19.1 `딱딱` 풀리는 수학 난제...허준이 필즈상 뒤엔 이 `명품` 있었다. JoongAng Ilbo (ภาษาเกาหลี). 18 กรกฎาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2024 – โดยทาง ZUM 뉴스.
- ↑ 20.0 20.1 20.2 20.3 20.4 20.5 20.6 20.7 20.8 고, 은빛 (7 พฤษภาคม 2020). [넥스트K] 스탠퍼드·베이징大 칠판엔 '명품 K분필'이 있다. Hankyung (ภาษาเกาหลี). สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2024.
- ↑ The World's Best Mathematicians Are Hoarding Chalk. Great Big Story. 2 พฤษภาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2019 – โดยทาง YouTube.
- ↑ Chung, Trisha Gopal,Jacqueline Omanoff,Evan (22 สิงหาคม 2020). "How a brand of chalk achieved cult status among mathematicians". CNN (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 17 สิงหาคม 2024.
- ↑ Great Big Story (2 พฤษภาคม 2019). Why the World’s Best Mathematicians Are Hoarding Chalk. สืบค้นเมื่อ 17 สิงหาคม 2024 – โดยทาง YouTube.
- ↑ "A Rare Chalk in the World of Math: How Tools Change How We Work". DFC (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 21 พฤษภาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2020.
- ↑ Kang, Karen (19 เมษายน 2019). "Hagoromo's High Quality Chalks, Still Beloved by Many in this Digital World". PRWeb (Press release) (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 31 สิงหาคม 2020.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Sejong Mall homepage (ในภาษาอังกฤษ)
- Why the World's Best Mathematicians Are Hoarding Chalk ที่ยูทูบ – วีดิทัศน์ที่ช่วยเพิ่มยอดขายให้กับห้างสรรพสินค้าเซจงมล
- Why Hagoromo Chalk Is So Expensive | So Expensive | Business Insider. Business Insider. 27 กรกฎาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 4 สิงหาคม 2024 – โดยทาง ยูทูบ.