อุษาบารส
อุษาบารส เป็นวรรณกรรมในดินแดนแถบสยามและดินแดนใกล้เคียงอย่างอาณาจักรอยุธยา ล้านนา ล้านช้าง และรัตนโกสินทร์ มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น อาณาจักรอยุธยาและรัตนโกสินทร์เรียก "อนิรุทธ์" หรือ "อุณรุท" ในเรื่อง อนิรุทธ์คำฉันท์ ในแถบล้านนาเรียก อุสสาบารส และในแถบล้านช้าง (อันรวมถึงดินแดนแถบอีสานในไทย) เรียกว่า อุษาบารส บ้าง อุสาบารส บ้าง และ พะกึด พะพาน บ้าง
ที่มาและสำนวน
[แก้]สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลจากนคัมภีร์สันสกฤตของอินเดียโบราณอยู่หลายเล่มโดยเล่มที่สำคัญคือ คัมภีร์ปุราณะ โดยเล่มที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องราวของอุษาบารส เช่น วิษณุปุราณะ ปัทมปุราณะ ศิวปุราณะ ภาควตปุราณะ อัคนิปุราณะ พรหมไววรรตปุราณะ และครุฑปุราณะ[1] สำนวนของไทยไม่ได้นำเนื้อเรื่องจากสำนวนใดสำนวนหนึ่งในฉบับสันสกฤตโดยตรง แต่ได้นำเนื้อหาจากฉบับต่าง ๆ มาประสมประสานกัน โดยสำนวนที่ใกล้เคียงกับวรรณกรรมสันสกฤตของอินเดียมากที่สุดคือ อนิรุทธ์คำฉันท์ ส่วนสำนวนและสำนวนล้านช้างมีความคล้ายคลึงกัน[2]
อุสสาบารสในฉบับล้านนา ได้รับการกล่าวถึงใน นิราศหริภุญชัย มีเนื้อความเล่าว่าเมื่อหยุดพักการเดินทางในเวลากลางคืน นอกจากมีการเล่นดนตรีแล้วยังมีการอ่านโคลงอุสสาบารสให้ผู้ร่วมขบวนเกวียนมีความบันเทิงใจด้วย เมื่อพิจารณาจากอายุของนิราศหริภุญชัย ซึ่งสันนิษฐานว่าแต่งประมาณ พ.ศ. 2060 วรรณกรรมอุสสาบารสจึงมีมาก่อนหน้านี้แล้ว
กฎหมายสมัยพระเจ้ากือนาที่มีการอ้างถึงวรรณกรรมเรื่องอุสสาบารสนี้ ความตอนหนึ่งว่า "เจ้ามาอยู่เป็นแม่เรือนปั่นฝ้ายบ่พอ 50 น้ำฝ้ายไปวันใดก็เท่าอ้างอุษาบารสและสี่บทโคลงอยู่มาโรงสินว่าอั้น นางโสภาเถียงว่ากู้เงินพี่มาจ่าย ถามเอาเงินแทน ก็ว่าต่อร่อกับกูอ่านหนังสือช่างกูสัง บ่ยืมปากไผมาว่ามาอ่านเดว่าอั้น" และความอีกตอนหนึ่งว่า "อยู่เรือนเพิ่นยุเยียะยุกิน อยู่โถงด้วยหมากสักกาอุสสาสี่บทโคลง อยู่บ่ดีแก่เจ้าชาว่าอั้น"[2] มีความเป็นไปได้ว่าอุสสาบารสในฉบับล้านนาเก่าแก่ที่สุดจากนั้นจึงกระจายตัวไปสู่อยุธยาและล้านช้าง ส่วนอนิรุทธ์คำฉันท์ซึ่งเป็นวรรณคดีแบบลายลักษณ์อักษรที่เก่าแก่ที่สุดของอาณาจักรอยุธยาเชื่อกันว่ามีการประพันธ์ขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชคือ ระหว่าง พ.ศ. 1991–2031[1]
อุษาบารสในฉบับภาคอีสานมีการกระจายตัวปรากฏในจังหวัดต่าง ๆ ใน 8 จังหวัด คือ อุดรธานี เลย กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด อุบลราชธานีและบุรีรัมย์ ปรากฏเป็น 32 สำนวน แบ่งเป็นฉบับใบลาน 28 สำนวน (รวมฉบับที่ปรากฏในประเทศลาว 1 สำนวน) ฉบับที่ปริววรรตแล้ว 4 สำนวน (รวมสำนวนที่ดนุพลไชยสินธุ์ปริวรรตเรื่องจำบัง) ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเนื้อเรื่องเดียวกับอุษาบารส[1]
โครงเรื่อง
[แก้]กษัตริย์องค์หนึ่งไม่มีบุตรธิดา ได้ขอบุตรสาวจากฤาษีมาเลี้ยงแต่ไม่ประสงค์ให้นางพบชายอื่นใดและไม่อยากให้นางมีสามี มีวันหนึ่งนางไปสรงน้ำที่ท่าน้ำ ได้ทำกระทงเสี่ยงสารลอยน้ำไป โอรสของกษัตริย์อีกเมืองหนึ่งเก็บได้จึงได้ตามหาตัวจนพบ ทั้งคู่รักใคร่กันจึงแอบลักลอบอยู่ด้วยกัน เมื่อพระบิดาทราบจึงกริ้วหวังจะประหารพระโอรส แต่เสนาอำมาตย์ห้ามไว้เพราะกลัวจะเกิดสงคราม จึงหาทางออกโดยการท้าพนัน สร้างวัดแข่งขันกันโดยเอาพระราชธิดาเป็นเดิมพัน ผู้สร้างเสร็จช้าจะต้องตาย ฝ่ายโอรสวางแผนวางกลลวงว่าจะสว่างแล้ว ให้ฝ่ายตรงข้ามเลิกสร้าง ทำให้ฝ่ายพระบิดาแพ้จึงต้องสิ้นพระชนม์ไป
ทั้งสองได้กลับมายังเมืองของฝ่ายชาย แต่นางสนมทั้ง 4 เคียดแค้นจึงวางแผนให้ทั้งสองต้องแยกจากกัน แล้วนางสนมต่างเข้าไปต่อว่าทุบตีจนขับไล่นางออกจากเมือง นางได้กลับไปเข้าป่าตามเดิมตามลำพัง เมื่อโอรสได้รู้ความจริงจึงตามมาแต่นางป่วยหนักจนตาย และพระโอรสก็ตรอมใจตาย[3]
สถานที่อันเกี่ยวเนื่อง
[แก้]สถานที่อันเกี่ยวเนื่องจากวรรณกรรม ได้แก่ ภูพระบาทใหญ่ และภูพระบาทน้อย (ในทิวเขาภูพาน) อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี[4] เช่น หอนางอุสา กู่นางอุสา บ่อน้ำนางอุสา วัดลูกเขย วัดพ่อตา และคอกม้าท้าวบารส[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 เชิดชาย บุตดี (กันยายน–ธันวาคม 2555). "ตำนานอุษาบารส ฉบับวัดพระพุทธบาทบัวบก: พัฒนาการของตัวบท และการอธิบายความหมายของพื้นที่ภูมิศาสตร์". วารสารสังคมลุ่มนํ้าโขง. 8 (3).
- ↑ 2.0 2.1 ปิยะพงษ์ โพธิ์เย็น, ศิริสาร เหมือนโพธิ์ทอง. "การศึกษาวิเคราะห์วรรณกรรมชาดกล้านนาเรื่องอุสสาบารส" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
- ↑ "ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับวรรณกรรมเรื่อง อุษาบารส" (PDF).
- ↑ "'อุ้มสม' เสพสังวาส พิธีกรรมขอฝน ในวรรณกรรมโบราณ". มติชนสุดสัปดาห์.
- ↑ "อุทยาน ประวัติศาสตร์ภูพระบาท". สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-02-16. สืบค้นเมื่อ 2023-01-16.