ข้ามไปเนื้อหา

อีทอปส์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ความแตกต่างระหว่างเส้นทางบินที่สั้นกว่าซึ่งบินตามมาตรฐานอีท็อปส์ (เส้นสีเขียวทึบ) และเส้นทางบินสำหรับอากาศยานที่ไม่ใช้อีท็อปส์ (เส้นประสีน้ำเงิน) โดยที่เส้นสีน้ำเงินนั้นมีลักษณะโค้งงอเพราะต้องทำการบินภายในระยะหนึ่ง ๆ จากสนามบินสำรอง

มาตรฐานประสิทธิภาพการทำงานอากาศยานสองเครื่องยนต์แบบขยายระยะ (อังกฤษ: Extended-range Twin-engine Operations Performance Standards) ย่อว่า อีทอปส์ (อังกฤษ: ETOPS, ออกเสียง: /ˈtɒps/) เป็นมาตรฐานความปลอดภัยที่บังคับใช้โดยองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอซีเอโอ) สำหรับการดำเนินการของอากาศยานสองเครื่องยนต์ อีทอปส์เป็นการรับรองความสามารถในการทำการบินด้วยเครื่องยนต์เครื่องเดียวจนถึงสนามบินสำรองได้อย่างปลอดภัย ซึ่งอาจทำการบินด้วยความเร็วและ/หรือความสูงที่ลดลง แต่โดยปกติแล้วจะใช้กับเที่ยวบินเหนือผืนน้ำหรือดินแดนห่างไกล ซึ่งเป็นเส้นทางที่เคยจำกัดเฉพาะอากาศยานสามและสี่เครื่องยนต์[1]: หน้าที่ 9 

ประวัติ

[แก้]

ในปี 1936 สำนักงานการบินพาณิชย์ของสหรัฐ ซึ่งต่อมาเป็นองค์การบริหารการบินแห่งชาติ ได้จำกัดการทำการบินเชิงพาณิชย์ภายในน่านฟ้าสหรัฐให้เหลือเพียง 100 mi (160 km) ไมล์จากสนามบินที่เหมาะสม สำหรับอากาศยานหลายรุ่นในยุคนั้นหมายความว่าจะสามารถทำการบินโดยใช้เครื่องยนต์เดียวได้นานประมาณ 60 นาที[1]: หน้าที่ 10 

ในปี 1953 เมื่อเครื่องยนต์อากาศยานมีความน่าเชื่อถือและประสิทธิภาพดีขึ้น ทางการสหรัฐจึงได้เริ่มบังคับใช้ "กฎ 60 นาที" โดยจำกัดอากาศยานสองเครื่องยนต์ให้อยู่ทำการบินในพื้นที่จากจุดสามารถเปลี่ยนเส้นทางลงจอดได้เป็นเวลา 60 นาที (ด้วยความเร็วเดินทางของเครื่องยนต์เดียว) แต่ก็มีความยืดหยุ่นเพิ่มเติมนอกเหนือจากขีดจำกัดนี้ซึ่งต้องได้รับการอนุมัติเป็นพิเศษ ในขณะเดียวกันองค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศได้แนะนำให้อากาศยานทุกลำมีเวลาเปลี่ยนเส้นทาง 90 นาที ซึ่งหน่วยงานกำกับดูแลและสายการบินนอกสหรัฐอเมริกา หลายแห่งนำไปใช้[1]: หน้าที่ 10 

ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1950 แพนแอมได้นำเครื่องบินคอนแวร์ 240 สองเครื่องยนต์บินข้ามทะเลแคริบเบียนจากบาร์รังกิยา ประเทศโคลอมเบีย ไปยังเมืองคิงส์ตัน ประเทศจาเมกา ต่อมาอาเบนซาได้นำเครื่องบินคอนแวร์ 340 บินจากมาราไกโบ ประเทศเวเนซุเอลา ไปยังอ่าวมอนเตโก ประเทศจาเมกา เคแอลเอ็มได้นำเครื่องบินดักลาส ดีซี-3 บินจากเมือกูราเซา ไปยังซิวดัดทรูอิลโย และนำเครื่องบินคอนแวร์บินจากอารูบาไปยังคิงส์ตัน พร้อมกันนั้นเดลตาแอร์ไลน์ให้บริการเที่ยวบินตรงจากนิวออร์ลีนส์สู่อาบานาด้วยเครื่องบินคอนแวร์ 340 และเที่ยวบินจากอาบานาสู่อ่าวมอนเตโก และเส้นทาง อาวานา–ปอร์โตแปรงซ์–ซิวดัดทรูอิลโล–ซานฮวน[2] ในปี 1948–1952 นิวซีแลนด์แนชนัลแอร์เวย์คอปอเรชันให้บริการเที่ยวบินควายาว 5 1/2 ชั่วโมงจากอาเปียในซามัวตะวันออกสู่ไอตูตากิ ด้วยเครื่องบินดีซี-3 เที่ยวบินนี้บินทำการบินโดยมีช่วงที่ไม่มีสนามบินใด ๆ ตั้งอยู่ใกล้เคียงเป็นระยะทางถึง 685 ไมล์ทะเล ในปี 1963 โพลินีเชียนแอร์เวย์ก็เริ่มให้บริการเที่ยวบินจากอาเปียสู่ไอตูตากิด้วยเครื่องบินเพอร์ซิวาล พรินซ์ และต่อมาในปี 1964 สายการบินก็ให้บริการเที่ยวบินระหว่างฟาเลโอโลและไอตูตากิด้วยเครื่องบินดีซี-3 เป็นระยะทางฃ 768 ไมล์ทะเล (1,422 กิโลเมตร; 884 ไมล์) รายงานจากโอเอจีประจำเดือนมกราคม ค.ศ. 1979 รายงานว่าเครื่องบินฮ็อคเกอร์ ซิดเดลีย์ เอชเอส 748 ของโพลีนีเชียแอร์ไลน์ซึ่งทำการบินในเที่ยวบินจากนีอูเอไปยังราโรตองกา ทำการบินผ่านพื้นที่ไม่ที่มีสนามบินใกล้เคียงถึง 585 nmi (1,083 km; 673 mi)

ในปี 2017 ไอซีเอโอได้ประกาศมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติที่แนะนำสำหรับอีทอปส์ และขอบเขตมาตรฐานอีทอปส์ได้ขยายไปถึงอากาศยานสี่เครื่องยนต์ เช่น โบอิง 747-8[3]

อากาศยานไอพ่นรุ่นแรก

[แก้]

แม้ว่าเครื่องยนต์ไอพ่นรุ่นแรกๆ จะมีความน่าเชื่อถือไม่มากนัก แต่การใช้เครื่องยนต์รุ่นหลังๆ อย่างแพร่หลาย เช่น แพรตแอนด์วิทนีย์ เจที8ดี (เช่นบนแมคดอนเนลล์ดักลาส ดีซี-9 และโบอิง 737) ทำให้เกิดความก้าวหน้าครั้งสำคัญในด้านความน่าเชื่อถือและความปลอดภัย เมื่อมีการพัฒนาเครื่องยนต์ไอพ่นที่สามารสร้างกำลังได้มากกว่าเครื่องยนต์ลูกสูบ อากาศยานขนาดใหญ่ซึ่งเดิมต้องใช้เครื่องยนต์ลูกสูบสี่เครื่องสามารถใช้เครื่องยนต์ไอพ่นได้เพียงสองเครื่องเท่านั้น[1]: หน้าที่ 11 

ในช่วงปลายทศวรรษ 1960 เครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ส่วนใหญ่ใช้เครื่องยนต์ไอพ่น ทำให้เครื่องยนต์ลูกสูบมีบทบาทสำคัญในเที่ยวบินขนส่งสินค้า เช่น เครื่องยนต์เจที8ดีซึ่งใช้ขับเคลื่อนเครื่องบินโบอิง 727 ที่มีสามเครื่องยนต์ เพิ่มความน่าเชื่อถือ กฎ 60 นาทีจึงถูกยกเลิกในปี 1964 สำหรับอากาศยานสามเครื่องยนต์ ซึ่งเปิดทางให้เกิดการพัฒนาเครื่องบินลำตัวกว้างแบบสามเครื่องยนต์ข้ามทวีป เช่น ล็อกฮีด แอล-1011 ไตรสตาร์และแมคดอนเนลล์ดักลาส ดีซี-10 โดย ณ เวลานั้น มีเพียงอากาศยานไอพ่สองเครื่องยนต์เท่านั้นที่ถูกจำกัดด้วยกฎ 60 นาที อากาศยานสามและสี่เครื่องยนต์ครองตลาดเที่ยวบินระยะไกลระหว่างประเทศจนถึงช่วงปลายทศวรรษ 1980

มาตรฐานอีทอปส์ในช่วงแรก

[แก้]
แอร์บัส เอ300บี4 เป็นอากาศยานที่ได้รับมาตรฐานอีทอปส์รุ่นแรกในปี 1977[4]

แอร์บัส เอ300 ซึ่งเป็นอากาศยานไอพ่นลำตัวกว้างลำแรกของโลก ได้ทำการบินเหนือมหาสมุทรแอตแลนติก อ่าวเบงกอล และมหาสมุทรอินเดียภายใต้กฎ 90 นาทีของไอซีเอโอตั้งแต่ปี 1976[1]: หน้าที่ 14 

การรับรอง

[แก้]

การรับรองอีทอปส์มีหลายระดับ โดยแต่ละระดับจะอนุญาตให้อากาศยานทำการบินในเส้นทางที่มีระยะเวลาบินด้วยเครื่องยนต์เดียวจากสนามบินสำรองที่เหมาะสมที่ใกล้ที่สุดเป็นระยะเวลาหนึ่ง ตัวอย่างเช่น หากอากาศยานลำหนึ่งได้รับการรับรองอีทอปส์เป็นเวลา 180 นาที อากาศยานจะได้รับอนุญาตให้บินในเส้นทางใดก็ได้ที่มีระยะเวลาบินไปยังสนามบินสำรองที่เหมาะสมที่ใกล้ที่สุดด้วยเครื่องยนต์เดียวไม่เกิน 180 นาที

การรับรองอีทอปส์จะขึ้นอยู่กับสมรรถนะการทำงานของอากาศยานรุ่นนั้นๆ โดยในปัจจุบันมีการรับรองมาตรฐานอีทอปส์ดังนี้:

  • ETOPS-75
  • ETOPS-90
  • ETOPS-120/138
  • ETOPS-180/207
  • ETOPS-240
  • ETOPS-270
  • ETOPS-330
  • ETOPS-370

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 Getting to Grips with ETOPS (PDF) (Issue V ed.). Airbus. October 1998.
  2. Time Table Images
  3. "ICAO DOC 10085" (PDF).
  4. "Technology leaders (1977–1979)". Aircraft History. Airbus.