ข้ามไปเนื้อหา

จักรพรรดิยงเจิ้ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก อิ้นเจิ้น)
ยงเจิ้ง
จักรพรรดิราชวงศ์ชิง
ครองราชย์27 ธันวาคม ค.ศ. 1722 - 8 ตุลาคม ค.ศ. 1735
(12 ปี 285 วัน)
ก่อนหน้าจักรพรรดิคังซี
ถัดไปจักรพรรดิเฉียนหลง
พระราชสมภพ13 ธันวาคม ค.ศ. 1678(1678-12-13)
เจ้าชายอิ่นเจิง
สวรรคต8 ตุลาคม ค.ศ. 1735(1735-10-08) (56 ปี)
ปักกิ่ง, จักรวรรดิชิง
ฝังพระศพสุสานไท่หลิง สุสานพระราชวงศ์ชิงฝ่ายตะวันออก
จักรพรรดินีจักรพรรดินีเซี่ยวจิ้งเซี่ยน
จักรพรรดินีเซี่ยวเชิ่งเซี่ยน
พระราชบุตร
  • องค์ชายหงฮุย
  • องค์ชายหงจุน
  • องค์ชายหงสือ
  • องค์ชายหงลี่
  • องค์ชายหงจาน
  • องค์ชายหงซาน
  • องค์ชายฟูยี่
  • องค์ชายฟูฮุย
  • องค์ชายฟูเป่ย
  • องค์ชายหงโจ้ว
  • พระราชธิดาพระองค์แรก(ไม่ทราบพระนาม)
  • พระราชธิดาเหอซั่วหวายเค่อ
  • พระราชธิดาพระองค์ที่3(ไม่ทราบพระนาม)
  • พระราชธิดาพระองค์ที่สี่(ไม่ทราบพระนาม)
พระนามเต็ม
Chinese: Aixin-Jueluo Yinzhen 愛新覺羅胤禛
Manchu: Aisin-Gioro In Jen
รัชศก
ยงเจิ้ง (Yongzheng , 1722 - 1735)
พระสมัญญานาม
จักรพรรดิ จิงเถียน Changyun Jianzhong Biaozheng เหวินหวู่ Yingming Kuanren Xinyi Ruisheng Daxiao Zhicheng Xian
敬天昌運建中表正文武英明寬仁信毅睿聖大孝至誠憲皇帝
พระอารามนาม
Qing Shizong
清世宗
ราชสกุลตระกูลอ้ายซินเจว๋หลัว
พระราชบิดาจักรพรรดิคังซี
พระราชมารดาจักรพรรดินีเซี่ยวกงเหริน
ช่วงเวลา

จักรพรรดิยงเจิ้ง (จีน: 雍正皇帝; พินอิน: Yōngzhèng huángdì) หรือจักรพรรดิ "ชิงซื่อจง" จักรพรรดิลำดับที่ 4 ของราชวงศ์ชิงทรงพระราชสมภพเมื่อ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2221 (คังซีปีที่ 17) เป็นพระโอรสลำดับที่ 4 ในจักรพรรดิคังซี มีพระนามเดิมว่า อิ้นเจิน , อิ้นเจวิน (ภาษาจีน : 胤禛)

พระราชประวัติ

[แก้]

ทรงมีพระนามเดิมว่า "อิ้นเจิง" ในตอนเด็กทรงไม่ใช่องค์ชายที่โดดเด่นอะไรนัก แต่เนื่องจากจักรพรรดิคังซีต้องการให้รัชทายาทอิ้นเหริงได้มีความสัมพันธ์อันดีกับพี่น้อง จึงเริ่มส่งตัวรัชทายาทไปศึกษาเล่าเรียนกับองค์ชายอื่นๆบ้าง แต่ปรากฏว่ารัชทายาทมีนิสัยเย่อหยิ่ง ทำให้เข้ากับองค์ชายอื่นๆไม่ได้ ยกเว้นองค์ชายอิ้นเจวิน ที่มีความสนิทสนมด้วย จึงเริ่มมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน พระองค์จึงเริ่มต้นชีวิตราชการโดยการไปช่วยงานที่ตำหนักรัชทายาทเป็นที่แรก ต่อมาได้เคยนำทัพกองธงแดงเข้าช่วยทำศึกปราบข่านแห่งมองโกล และได้กระทำความดีความชอบหลายครั้งทำให้จักรพรรดิคังซีพอพระทัย ในปี 1698 รับพระราชทานฐานันดรศักดิ์เป็น "เป่ยเล่อ" ต่อมาในปี 1709 ได้รับเลื่อนฐานันดรเป็นองค์ชายชั้นหนึ่ง ดำรงพระยศ "เหอซั่วยงชินหวัง" (อ๋องพระมาลาเหล็ก) ที่เป็นฐานันดรสูงสุดที่เชื้อพระวงศ์จะได้รับ โดยรับหน้าที่บริหารจัดการเงินในท้องพระคลัง บริหารและหาเงินรายได้แผ่นดิน พระองค์มีนิสัยซื่อตรงเจ้าระเบียบ ไม่ยอมหักยอมงอ และมุ่งมั่นทุ่มเทในการทำงานสูง และยังได้มาทำหน้าที่ทวงเงินที่เหล่าเชื้อพระวงศ์และขุนนางยืมเงินท้องพระคลังไปจึงทำให้มีเรื่องผิดใจกับใครหลายๆคน ไม่เป็นที่ชื่นชอบขององค์ชายคนอื่นๆนัก นอกจากองค์ชาย 13 (อิ้นเสียง) ที่พระองค์รักดั่งน้องชายแท้ๆ หลังจากการปลดรัชทายาทอิ้นเหริงออกจากตำแหน่งในครั้งที่ 2 ในปี 1712 ทำให้องค์ชายต่างๆแตกแยกหวังขึ้นเป็นรัชทายาทแทนที่ จึงก่อให้เกิดขั้วอำนาจ 2 กลุ่ม ได้แก่กลุ่มของพระองค์ที่มีองค์ชาย 13 เป็นผู้สนับสนุน และกลุ่มขององค์ชาย 8(อิ้นซื่อ)ที่มีองค์ชาย 9(อิ้นถัง)องค์ชาย 10(อิ้นเอ๋อ) สนับสนุนซึ่งได้รวมตัวกันเข้ามาเป็นศัตรูกับพระองค์เพื่อแย่งอำนาจ สถานการณ์ตึงเครียดถึงขนาดที่จักรพรรดิคังซีที่กำลังทรงพระประชวรหนัก ถึงกับมีราชโองการให้ปลดตำแหน่งงานราชการองค์ชายที่มีปัญหาออกจากตำแหน่งทุกคน เพื่อสยบความขัดแย้ง ยกเว้นองค์ชาย 14(อิ้นที) ที่เป็นแม่ทัพไปปราบกบฏ ทำให้มีการเล่าลือกันว่า จักรพรรดิคังซีทรงโปรดองค์ชาย 14 หวังให้เป็นรัชทายาทสืบต่อ แต่เป็นแค่ข่าวลือเท่านั้น

ซึ่งในส่วนของเหตุการณ์แย่งชิงราชสมบัติระหว่างพี่น้องด้วยกันเองนั้น ที่เรียกกันว่า "ศึกสายเลือด" ได้ถูกเล่าขานสืบมาจนปัจจุบัน และนำไปเสริมเติมแต่งเพื่อสร้างเป็นละครโทรทัศน์หรือภาพยนตร์หลายต่อหลายครั้ง

พินัยกรรมคังซีและการขึ้นครองราชสมบัติ

[แก้]

จักรพรรดิยงเจิ้งได้ขึ้นครองราชสมบัติเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 1722 หลังจากวันที่ 20 ธันวาคม 1722 ซึ่งเป็นวันที่จักรพรรดิคังซีสวรรคต ซึ่งในวันนั้น จักรพรรดิคังซีได้มีรับสั่งให้พระองค์เข้าเฝ้าสองต่อสองในห้องบรรทม โดยมี 7 องค์ชายเข้าเฝ้าเบื้องหน้าพระตำหนัก เมื่อสวรรคต จักรพรรดิยงเจิ้งจึงเดินออกมาจากห้องบรรทมเพื่อประกาศการสวรรคต โดยมีหลงเคอตัว ซึ่งเป็นผู้เก็บพระราชพินัยกรรม ออกมาประกาศให้จักรพรรดิยงเจิ้งครองราชสมบัติ ต่อหน้า 7 องค์ชายที่มาเข้าเฝ้าในวันนั้น จนมีข่าวลือเล่ากันว่าพระองค์ร่วมวางแผนกับหลงเคอตัว ปลอมแปลงลายพระหัตถ์ในพินัยกรรมของจักรพรรดิคังซีจากคำว่าองค์ชาย 14 (十四) เป็นคำว่าให้กับองค์ชาย 4 (于四) ขึ้นครองราชย์สืบต่อ แต่เรื่องนี้เป็นเพียงความเชื่อที่บอกต่อกันมา ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยืนยันแต่ประการใด แต่นั่นก็ทำให้พระองค์ได้ฉายาว่าเป็น "จักรพรรดิบัลลังก์เลือด" หรือ "จักรพรรดิทรราช"  (ซึ่งความตรงนี้นักประวัติศาสตร์ยุคปัจจุบันมีความเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะพินัยกรรมของจักรพรรดิคังซี จะมีข้อความ 3 ภาษาในฉบับเดียวกัน แม้จะเปลี่ยนแปลงตัวอักษรฮั่น แต่อักษรแมนจูกับมองโกลที่มีการเขียนคู่กันย่อมไม่สามารถแก้ไขได้ อีกทั้งอักษร 于 นั้นเป็นการเขียนอย่างย่อ ซึ่งปกติจะไม่ใช้ในเอกสารราชการ ต่อมาในยุคปัจจุบัน ทางการจีนได้นำพินัยกรรมฉบับจริงของจักรพรรดิคังซีมาจัดแสดงโดยเนื้อหาในพินัยกรรมไม่ได้ระบุแค่เพียงแต่ลำดับขององค์ชายเฉยๆ แต่ระบุตั้งแต่ ฐานันดรศักดิ์ ลำดับ แล้วตามด้วยชื่อ

แก้ไขกฏมณเทียรบาลในวิธีการสืบราชสันติวงศ์

[แก้]

จากความล้มเหลวในวิธีการแต่งรัชทายาทในสมัยจักรพรรดิคังซี ซึ่งทำให้องค์ชายต่างๆเกิดความแตกแยกกัน เมื่อจักรพรรดิยงเจิ้งขึ้นครองราชย์ สิ่งแรกที่พระองค์กระทำคือ การเปลี่ยนแปลงวิธีการแต่งตั้งองค์รัชทายาทจากการแต่งตั้งโดยเปิดเผย มาเป็นการแต่งตั้งโดยเป็นความลับ วันหนึ่งระหว่างที่ทรงประทับในพระตำหนักเฉียนชิงกง ในเขตพระราชฐานชั้นใน ซึ่งจักรพรรดิราชวงศ์หมิงและชิงประทับที่พระตำหนักแห่งนี้เรื่อยมาถึง 15 พระองค์ ภายในพระตำหนักเฉียนชิงกงตรงหน้าบัลลังค์จะแขวนแผ่นป้าย (正大光明)"เจิ้งต้ากวงหมิง” อักษรในแผ่นป้ายเป็นลายพระหัตถ์จักรพรรดิซุ่นซื้อ จักรพรรดิพระองค์แรกของราชวงศ์ชิงที่ประทับในวังต้องห้าม ที่ได้รับการยกย่องว่าตัวอักษรมีพลังและประณีตสวยงาม เมื่อทรงเงยพระพักตร์ขึ้นทอดพระเนตรจากบัลลังค์ที่ประทับ จะเห็นด้านของแผ่นป้ายเจิ้งต้ากวงหมิงที่มีที่ว่างจากขื่อไม้ จึงทรงคิดวิธีการใหม่ขึ้นมา โดยการจัดทำราชพินัยกรรม 2 ฉบับ ฉบับแรกเก็บไว้กับตัวพระองค์เอง อีกฉบับนึงเก็บไว้ในหีบลับปิดผนึกแล้วนำหีบขึ้นไปเก็บไว้ที่หลังป้ายเจิ้งต้ากวงหมิง และประกาศให้ขุนนางทุกคนรับรู้ว่ามีพระราชพินัยกรรมเก็บไว้หลังแผ่นป้ายนี้ เมื่อใดที่พระองค์สวรรคต ให้ขุนนางนำหีบลับหลังแผ่นป้ายลงมา และนำพินัยกรรมอีกฉบับที่เก็บไว้ที่พระองค์ นำมาเปิดอ่านพร้อมกันทั้ง 2 ฉบับ ผู้ที่จะได้สืบราชสมบัติเป็นจักรพรรดิองค์ต่อไปจะต้องมีชื่อตรงกันในราชพินัยกรรมทั้ง 2 ฉบับนี้

 มีจักรพรรดิที่ได้รับการสืบราชบัลลังค์จากวิธีการนี้ 4 พระองค์ได้แก่ เฉียนหลง เจียชิ่ง เต้ากวง และเสียนเฟิง โดยในยุคของจักรพรรดิเสียนเฟิง ทรงมีพระโอรสพระองค์เดียวคือองค์ชายไจ้ฉุน เมื่อทรงประชวรหนักใกล้สวรรคตจึงแต่งตั้งรัชทายาททางวาจาแก่ขุนนาง ว่าทรงมอบราชสมบัติให้องค์ชายไจ้ฉุนเป็นจักรพรรดิสืบต่อ ทรงพระนาม จักรพรรดิถงจื้อ วิธีการนี้จึงยกเลิกไปเพราะจักรพรรดิถงจื้อก็ไม่มีพระโอรสสืบต่อ

ปัญหาความขัดแย้งตอนต้นรัชกาล

[แก้]

เมื่อได้ครองราชย์ใหม่ๆ ทรงพยายามลดความขัดแย้งกับเหล่าองค์ชายเชื้อพระวงศ์ ทรงนำตัวอดีตรัชทายาทอิ้นเหริงออกจากที่คุมขังพร้อมคืนฐานันดรศักดิ์ให้ และทรงสถาปนาองค์ชายที่รับราชการให้ขึ้นมาสู่ทำเนียบเสนาบดี นั่นคือการสถาปนาองค์ชาย 8 (อิ้นซื่อ) ขึ้นเป็นอัครเสนาบดีดำรงพระยศเป็น "เหอซั่วเหลียนชินหวาง" ในฐานะพระอนุชาจักรพรรดิ และทรงเปลี่ยนพระนามตัวต้นชื่อพระโอรสจักรพรรดิคังซี จากคำว่า "อิ้น" เป็นคำว่า "หยุน" เพียงเพราะไม่อยากให้พระนามจักรพรรดิมีคำที่เหมือนกับพี่น้องคนอื่นๆ เวลาผ่านไปต้องพบกับปัญหาความสัมพันธ์ที่เสื่อมทรามหลายต่อหลายครั้งจากบรรดาขุนนางและเหล่าองค์ชายทั้งหลายที่เป็นพี่น้องด้วยกัน อาทิกรณีขององค์ชาย 14 (อิ้นที) ซึ่งเป็นพระอนุชาแท้ๆ ร่วมพระมารดากับพระองค์ แต่มีความคิดว่าตนเองคือรัชทายาทที่แท้จริงของจักรพรรดิคังซี โดยตอนที่จักรพรรดิคังซีสวรรคต องค์ชาย 14 เป็นแม่ทัพไปปราบกบฏที่ชายแดน จึงไม่ได้มาเข้าเฝ้าและรับทราบรู้เห็นราชโองการแต่งตั้งยงเจิ้งเป็นจักรพรรดิพระองค์ใหม่ เมื่อกลับมาถึงเมืองหลวง จึงได้กระทำการล่วงเกินจักรพรรดิยงเจิ้งหลายครั้ง จึงถูกปลดจากฐานันดรศักดิ์ และยงเจิ้งสั่งกักขังโดยให้ไปอยู่เฝ้าพระศพจักรพรรดิคังซี ณ สุสานหลวงตะวันออก (ชิงตงหลิง) ตลอดรัชกาล แต่มีเหตุการณ์ถึงขั้นรุนแรงแตกหักกับพี่น้อง นั่นคือในปี ค.ศ.1726 เมื่อองค์ชาย 8 (อิ้นซื่อ) ได้กระทำการรวบรวมสมัครพรรคพวกทั้งขุนนางและเชื้อพระวงศ์ทำการปฏิวัติหวังจะบีบให้พระองค์สละพระราชอำนาจ โดยให้เหล่าพี่น้องทายาทจักรพรรดิคังซีองค์อื่นๆร่วมกันบริหารราชการแผ่นดินแทนพระองค์ แต่พระองค์ได้วางแผนซ้อนแผนเอาไว้ แล้วพร้อมกับเปิดเผยการทุจริตขององค์ชาย 8 ทำให้แผนการปฏิวัติไม่สำเร็จ จากเหตุการณ์นี้ องค์ชาย 8 ถูกปลดออกจากฐานันดรศักดิ์ทุกตำแหน่งราชการ ยึดทรัพย์สินทั้งหมดและถูกจองจำในคุก แม้กระทั่งชื่อของตนเองยังถูกริบคืน ยงเจิ้งให้ขุนนางเรียกองค์ชาย 8 ว่า "อาฉีน่า" (ไอ้หมู) องค์ชาย 9 (อิ้นถัง) โดนข้อหาสมรู้ร่วมคิดในการก่อกบฏถูกลงโทษเท่ากับองค์ชาย 8 ก็ถูกขนานนามใหม่ว่า "ซาซีเฮย" (ไอ้หมา) ทั้ง 2 พระองค์สิ้นพระชนม์ในคุกโดยการผูกคอตายในปีนั้นนั่นเอง ส่วนองค์ชาย 10 (อิ้นเอ๋อ) รอดโทษตายมาได้อย่างหวุดหวิดแต่ก็ถูกกักขังในตำหนักตลอดรัชกาล จากเหตุการครั้งนี้ ทำให้องค์ชาย 3 (อิ้นจื่อ) ซึ่งเป็นพระเชษฐาของจักรพรรดิไม่พอใจ มีข้อขัดแย้งกับพระองค์ในเรื่องการที่จักรพรรดิยงเจิ้งไปเปลี่ยนชื่อพี่น้องเป็นไอ้หมูไอ้หมา เพราะมองว่าจักรพรรดิคังซีตั้งชื่อให้ลูกๆ ไม่สมควรไปเปลี่ยนชื่อให้เป็นสัตว์เดรัจฉาน มีการกระทบกระทั่งหลายครั้งยาวนาน จนทำให้จักรพรรดิยงเจิ้งทรงกริ้ว สั่งปลดองค์ชาย 3 ออกจากทุกฐานันดรในปี ค.ศ.1730 ไปอีกคน แถมแม้กระทั่งพระโอรสองค์โตของพระองค์ (ที่ดำรงพระชนม์อยู่) คือองค์ชาย 3 (หงสือ) ที่สนับสนุนแนวคิดขององค์ชาย 8 ก็ถูกปลดออกจากทุกฐานันดร และถูกขับไล่ไปอยู่พื้นที่ห่างไกลทุรกันดารจนสิ้นพระชนม์

พระราชกรณียกิจ

[แก้]

ยงเจิ้งนับว่าเป็นจักรพรรดิที่ขยันขันแข็งมากและได้ปฏิรูปรูปแบบการปกครองการบริหารเอาไว้หลายด้าน กิจวัตรของพระองค์ที่ปฏิบัติเป็นประจำคือ ตื่นบรรทมก่อนฟ้าสาง เข้าบรรทมเกือบเที่ยงคืน (ปกติจักรพรรดิองค์อื่นๆเข้านอนตอน 2 ทุ่มเท่านั้น) เพราะอ่านเขียนตอบฎีกาจนดึกดื่น ใน 1 ปีทรงหยุดงานแค่ 3 วันเท่านั้น ปัจจุบันมีการค้นพบฏีกาในหอประวัติศาสตร์ราชวงศ์ชิงเฉพาะในยุคของพระองค์มากกว่า 40,000 ฉบับ ซึ่งพระองค์ทรงใช้หมึกแดงเขียนตอบฏีกาทุกฉบับด้วย ทรงเขียนตอบกลับขุนนางที่ประจบประแจงหรือรายงานข้อมูลเท็จโดยเขียนตำหนิอย่างไม่ไว้หน้าด้วยถ้อยคำรุนแรง ทรงรวบอำนาจบริหารเข้าสู่ส่วนกลาง จัดสรรระบบภาษี การเงินการคลัง ดูแลช่วยเหลือความเดือดร้อนของราษฎรจากภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นอย่างดี ส่งเสริมการเพาะปลูกและขยายพื้นที่การทำเกษตร การส่งออกสินค้า สร้างระบบเศรษฐกิจที่ดีให้กับประเทศ และขจัดการฉ้อราษฎร์บังหลวง เข้มงวดการทำงานของขุนนาง ลงโทษขุนนางโกงกินอย่างเด็ดขาด โดยพระองค์ทรงถือว่า การที่ได้เห็นขุนนางโกงกินเข้าคุกหรือถูกประหาร และได้เห็นครอบครัวญาติพี่น้องของขุนนางโกงกินหมดเนื้อหมดตัวตกระกำลำบากเป็นความสุขของพระองค์ เหตุการณ์สำคัญที่พระองค์กระทำเพื่อเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดูต่อขุนนางโกงกินคือ กรณีของเหนียงเกิงเหยา ซึ่งเป็นแม่ทัพคนสนิทตั้งแต่สมัยพระองค์ยังเป็นองค์ชาย แถมมีศักดิ์เป็นพี่เขยจักรพรรดิ เพราะยงเจิ้งรับเอาน้องสาวของเขามาเป็นพระสนมนามว่า "เหนียงกุ้ยเฟย" เหนียงเกิงเหยาถือว่าทำความดีความชอบต่อจักรพรรดิยงเจิ้งเป็นอันมาก เป็นแม่ทัพหลักในการขยายดินแดนราชวงศ์ชิงในรัชกาลของพระองค์ จึงเริ่มมีนิสัยกำเริบเสิบสาน ทุจริตโกงกิน รังแกประชาชน เมื่อมีข่าวลือเข้ามาหนาหู เมื่อยงเจิ้งสืบสวนพบว่าเป็นความจริง จึงมีราชโองการปลดเหนียงเกิงเหยา ลดชั้นยศ จากขุนนางชั้นหนึ่ง ลงไปเป็นคนเฝ้าประตูเมือง ริบบรรดาศักดิ์และทรัพย์สิน สุดท้ายเหนียงเกิงเหยาก็จบชีวิตลงในปี ค.ศ.1726 หรือกรณีของหลงเคอตัว ขุนนางผู้เก็บรักษาราชโองการของจักรพรรดิคังซีและเป็นผู้อ่านราชโองการประกาศให้พระองค์เป็นจักรพรรดิ เป็นอัครเสนาบดี และมีศักดิ์เป็นพระญาติของพระองค์ด้วย เมื่อพระองค์ทรงพบว่าหลงเคอตัวได้กระทำการทุจริตเป็นอันมาก ก็ถูกสั่งปลดออกทุกตำแหน่งราชการและลงโทษคุมขังในคุก จะเห็นว่าแม้เป็นคนสนิทของพระองค์หรือมีบุญคุณกับพระองค์มากแค่ไหน ถ้ากระทำผิดกฏหมายก็ถูกลงโทษโดยไม่มีการยกเว้น พระองค์ทรงสนับสนุนคนเก่งคนดีเข้ารับราชการ ควบคุมการสอบเข้ารับราชการด้วยพระองค์เอง จนถือว่าเป็นช่วงสืบทอดยุคความรุ่งเรืองต่อมาใน 3 รัชกาลนี้ (คังซี-ยงเจิ้ง-เฉียนหลง) ในรัชสมัยของพระองค์ผลงานที่โดดเด่นที่สุดคือการปฏิรูปการจัดเก็บภาษี ซึ่งแต่เดิมขุนนางและเชื้อพระวงศ์ไม่ต้องเสียภาษี แต่พระองค์ทรงแก้ไขกฏเกณฑ์นี้ให้มีการเสียภาษีกันทุกคน ใครมีมากก็จ่ายมาก มีน้อยก็จ่ายน้อย จนทำให้ฐานะการคลังของประเทศที่จวนจะล้มละลายในยุคปลายรัชกาลคังซี ซึ่งเหลือเงินในท้องพระคลังไม่ถึง 5 ล้านตำลึง เพิ่มขึ้นจนถึงในวันที่พระองค์สวรรคตมีเงินเหลือมากกว่า 50 ล้านตำลึง จนสามารถยังผลให้ประเทศจีนรุ่งเรืองถึงขีดสุดในยุคของจักรพรรดิเฉียนหลง พระโอรสของพระองค์ที่ครองราชสมบัติต่อมา

อุปนิสัยส่วนตัวหลังครองราชย์

[แก้]

อุปนิสัยส่วนพระองค์ที่แปลกและแตกต่างจากจักรพรรดิองค์อื่นๆ คือการที่พระองค์ทรงชอบการสวดมนต์เป็นประจำทุกวัน ทั้งถือศีลกินเจ จึงมีการเชิญพระลามะจากทิเบตและมองโกลเข้าออกพระราชวังอยู่เสมอๆ และพระองค์เป็นบุคคลที่มีรสนิยมชอบภาพจิตรกรรม โดยเฉพาะภาพเหมือนส่วนบุคคลเป็นอย่างมาก ทรงรับจิตรกรเข้ามาทำงานในพระราชวังมากมายหลายคน รวมถึงจิตรกรชาวตะวันตกด้วย เพื่อให้วาดภาพเหมือนของพระองค์ในอิริยาบทต่างๆ หรือแม้ตอนที่จักรพรรดินีเซี่ยวจิ้งเซี่ยน พระมเหสีคู่พระทัยของพระองค์สิ้นพระชนม์ลง ก็ทรงให้จิตรกรวาดภาพเหมือนของพระนางติดไว้ตามมุมต่างๆในพระราชวังหลายภาพ เพื่อให้ทรงได้ทอดพระเนตรให้หายคิดถึงอยู่เสมอๆ

แต่เดิมจักรพรรดิในราชวงศ์หมิงและชิงจะประทับในพระตำหนักเฉียนชิงกง (乾清宫) อันเป็นที่พระตำหนักใหญ่ โดยในยุคจักรพรรดิคังซีทรงใช้ชีวิตทำงานกินอยู่หลับนอน ประทับอยู่ที่นี่ตลอดพระชนม์ชีพ
เมื่อจักรพรรดิยงเจิ้งครองราชย์ทรงไม่กล้าใช้พระตำหนักเฉียนชิงกงเป็นที่ประทับประจำวัน แต่จะเข้ามาทรงงานในตอนกลางวันบ้างเป็นบางครั้ง เพราะทรงถือว่าเป็นสถานที่ที่จักรพรรดิคังซีประทับ ทรงไม่สบายใจที่จะใช้ข้าวของและห้องส่วนพระองค์ของพระราชบิดา ด้วยพระองค์ไม่กล้าจะยกตัวเองไปเทียบเทียมจักรพรรดิคังซี
จึงทรงเลือกพระที่นั่งหยางซินเตี้ยน (养心殿) แปลว่า พระที่นั่งบำรุงฤทัย เป็นที่ประทับถาวรแทน เพราะพระที่นั่งนี้มีขนาดเล็กกว่า แต่เดิมมีไว้เก็บของและเป็นอาคารห้องเครื่องเสวย จักรพรรดิยงเจิ้งทรงเห็นว่ามีอาคารบริวารล้อมรอบหลายชั้นดังปราการ อาคารเหล่านี้ล้วนมีขันทีอาศัยอยู่ จึงปลอดภัยไม่ต้องระวังคนนอกเข้ามาทำร้าย ทรงดัดแปลงพระที่นั่งนี้ให้มีโถงพระโรงไว้ว่าราชการด้านหน้า แต่ด้านหลังทำเป็นที่บรรทม และมีห้องทรงงานและห้องเครื่องเสวย ซึ่งทำให้พระองค์สะดวกสบายในการใช้ชีวิตในอาคารพระตำหนักเดียวไม่ต้องออกไปไหนไกลๆ
หลังจากที่จักรพรรดิหยงเจิ้งทรงประทับในพระที่นั่งหยางซินเตี้ยนแล้ว ก็ส่งผลให้ฮองเฮาจากเดิมที่ประทับอยู่ในพระที่นั่งคุณหนิงกง (坤宁宫) ที่อยู่หลังพระที่นั่งเฉียนชิงกงก็ต้องย้ายที่ประทับตามด้วย เพื่อจะได้ทรงปรนนิบัติดูแลจักรพรรดิได้ใกล้ๆ
ต่อมากลายเป็นว่า จักรพรรดิเฉียนหลงและจักรพรรดิรุ่นหลังๆก็ใช้พระตำหนักหยางซินเตี้ยนเป็นที่ประทับ เพราะคำนึงถึงความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันเช่นกัน

สิ้นสุดรัชกาล

[แก้]

จักรพรรดิยงเจิ้งสวรรคต ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1735 เป็นการสิ้นพระชนม์อย่างกะทันหัน โดยมีสาเหตุคล้ายกับการสิ้นพระชนม์ของจิ๋นซีฮ่องเต้ทั้งนี้โดยที่พระองค์ทรงพักผ่อนน้อยนอนวันละ 4 ชั่วโมงและทำงานหนักมาก ในช่วงท้ายพระชนม์ชีพมีอาการประชวรบ่อยครั้ง แต่ทรงโปรดโอสถที่มีสารหนูและปรอทเจือปน ที่ปรุงโดยนักพรตหมอผี โดยทรงคิดว่าทำให้ร่างกายกระชุ่มกระชวยมีเรี่ยวแรงทำงานมากขึ้น จึงทำให้เกิดพิษในร่างกายจนสิ้นพระชนม์ รัชทายาทที่สืบทอดบัลลังก์ต่อ คือ องค์ชายลำดับที่ 4 คือ เจ้าชายหงลี่ ซึ่งพระนามเมื่อครั้งขึ้นครองราชย์ คือ จักรพรรดิเฉียนหลง[1] [2]

ก่อนสวรรคตพระองค์ทรงสร้างสุสานหลวงขึ้นมาใหม่อีกแห่งหนึ่งเรียกว่า"สุสานหลวงตะวันตก"(ชิงซีหลิง) โดยไม่ได้ฝังพระศพร่วมกับพระราชบิดาจักรพรรดิคังซี ที่ไปฝังพระศพที่ "สุสานหลวงตะวันออก"(ชิงตงหลิง)จึงทำให้ราชวงศ์ชิงมีสุสานหลวง 2 แห่ง ยังมีให้เห็นจนถึงปัจจุบัน

พระบรมวงศานุวงศ์

[แก้]

พระภรรยาเจ้า

[แก้]
  • พระราชเทวี (贵妃 กุ้ยเฟย)
    • หมายเหตุ ตำแหน่งว่าง เนื่องด้วยพระราชเทวีในตำแหน่งนี้ได้รับการสถาปนาพระยศให้สูงขึ้นในรัชกาลถัดไปหรือสถาปนาพระยศให้สูงขึ้นหลังสิ้นพระชนม์
  • พระอรรคชายา(妃 เฟย)

บาทบริจาริกา

[แก้]
  • พระสนมขั้นหนึ่ง (貴人 กุ้ยเหริน)
    • กัวกุ้ยเหริน (郭貴人)
    • หลี่กุ้ยเหริน (李貴人)
    • อันกุ้ยเหริน (安貴人)
    • ไฮ่กุ้ยเหริน (海貴人)
    • จางกุ้ยเหริน (張貴人)
  • พระสนมขั้นสอง (常在 ฉางจ้าย)
    • นาฉางจ้าย (那常在)
    • หลี่ฉางจ้าย (李常在)
    • หม่าฉางจ้าย (馬常在)
    • ชุนฉางจ้าย (春常在)
    • เกาฉางจ้าย (高常在)
    • ฉางฉางจ้าย (常常在)
    • กูฉางจ้าย (顧常在)
  • พระสนมขั้นสาม (答應 ตาอิ้ง)
    • ซูตาอิ้ง (蘇答應)
    • ยุนตาอิ้ง (雲答應)

พระราชบุตร

[แก้]
    • องค์ชายหงฮุย (弘暉,1697–1704) ตุนชินอ๋อง (端親王) สถาปนาหลังสิ้นพระชนม์;พระโอรสในจักรพรรดินีเสี้ยวจิงเสี้ยน สกุลอูลาน่าล่า
    • องค์ชายหงเฟิน (弘昐,1697–1699) พระโอรสในพระชายาฉี สกุลหลี่
    • องค์ชายหงหยุน (弘昀,1700–1710) พระโอรสในพระชายาฉี สกุลหลี่
    • องค์ชายหงสือ (弘時,1704–1726) พระโอรสในพระชายาฉี สกุลหลี่
    • เป่าชินอ๋ององค์ชายหงลี่ (宝亲王弘曆,1711-1799) ภายหลังเป็นจักรพรรดิ ;โอรสในจักรพรรดินีเสี้ยวเซิ่งเสี้ยน สกุลหนิ่วฮู่ลู่
    • เหอกงชินอ๋ององค์ชายหงโจ้ว (和恭親王弘晝,1712-1770) โอรสในสมเด็จพระมเหสีฉุนเชวี่ย สกุลเกิ่ง
    • องค์ชายฝูอี (福宜,1720–1721) พระโอรสในพระอัครราชเทวีตุนซู่ สกุลเหนียน
    • องค์ชายฝูฮุ่ย (福惠,1721–1728) สถาปนาหลังสิ้นพระชนม์เป็น หวยชินอ๋อง (怀亲王);โอรสในพระอัครราชเทวีตุนซู่ สกุลเหนียน
    • องค์ชายฝูเฝย (福沛,1723) โอรสในพระอัครราชเทวีตุนซู่ สกุลเหนียน
    • กั่วกงจุ้นอ๋ององค์ชายหงเอี้ยน (果恭郡王弘曕,1733–1765) ;พระโอรสของพระชายาเฉียน สกุลหลิว
  • พระราชธิดา
    • องค์หญิงไม่ปรากฏพระนาม (1694) พระธิดาในพระชายาเหมา สกุลซ่ง
    • องค์หญิงเหอซั่วหวายเค่อกงจวู่ (和硕怀恪公主,1695–1717) พระธิดาในพระชายาฉี สกุลหลี่
    • องค์หญิงไม่ปรากฏพระนาม (1706) พระธิดาในพระชายาเหมา สกุลซ่ง
    • องค์หญิงไม่ปรากฏพระนาม (1715-1717) พระธิดาในพระอัครราชเทวีตุนซู่ สกุลเหนียน
  • พระราชธิดาบุญธรรม
    • องค์หญิงเหอซั่วสูเซิ่นกงจวู่ (和硕淑慎公主,1708–1784) พระธิดาในองค์ชายอิ้นเหริง
    • องค์หญิงเหอซั่วเหอฮุ่ยกงจวู่ (和硕和惠公主,1714–1731) พระธิดาในองค์ชายอิ้นเสียง
    • องค์หญิงเหอซั่วตวนรั่วกงจวู่ (和硕端柔公主,1714–1754) พระธิดาในองค์ชายอิ้นลู่

พระสาทิสลักษณ์ที่ยังคงเหลืออยู่

[แก้]

ราชตระกูล

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. [ลิงก์เสีย] เชิงอรรถยุทธภพ (22) : การลอบสังหารหย่งเจิ้งของหลี่ซื่อเหนียง จากผู้จัดการออนไลน์
  2. เชิงอรรถยุทธภพ (18) : กำเนิดศึกสายเลือด จากผู้จัดการออนไลน์[ลิงก์เสีย]
ก่อนหน้า จักรพรรดิยงเจิ้ง ถัดไป
จักรพรรดิคังซี
จักรพรรดิจีน
(พ.ศ. 2265 - พ.ศ. 2278)
จักรพรรดิเฉียนหลง